แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
... ชีวิตของเรามีตัวรู้กับตัวหลงเท่านั้น ถ้ามีตัวรู้ตัวหลงก็ไม่มี ต้นตอของอกุศลทั้งหลายมันเกิดจากความหลง ...
หลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ
[01:01] การใช้ชีวิตของเราแต่ละวันนี่ เราควรจะสร้างความดี เป็นการใช้ชีวิตที่เสริมสร้างความดี เราต้องสร้างความดีไว้ให้มากๆ เพื่อเป็นบารมี จะได้นำพาชีวีของเรานี่ไปสู่ความพ้นทุกข์ การเสริมสร้างบารมีมีหลายอย่าง เป็นคุณงามความดีทั้งหมดเลย การฟังธรรมนี่ อันนี้ก็เป็นการสร้างความดี สร้างบารมีเอาไว้ ฟังในสิ่งที่เป็นประโยชน์ แล้วยิ่งฟังแล้วนำเอาไปปฏิบัติก็เป็นการสร้างบารมีโดยตรงเลย เป็นบารมีเพื่อการพ้นทุกข์ เพราะว่าการปฏิบัติธรรมแต่ละครั้งแต่ละหนเป็นการได้สัมผัส ได้เข้าไปรู้ของจริงในตัวของเรา สัมผัสกับสติ สัมผัสกับความสุขความทุกข์ สัมผัสกับรูปนาม สัมผัสกับกุศลอกุศล จะสัมผัสได้ด้วยการปฏิบัติ ลงมือปฏิบัติ สัมผัสลงไปที่การเจริญสติ เจริญสติ เรียกว่าสติปัฏฐานสี่ สติปัฏฐานสี่ก็คือ กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นการปฏิบัติสติปัฏฐานสี่ได้ครบถ้วนบริบูรณ์ โดยเฉพาะเรื่องการเจริญสติ การเจริญสติเนี่ยก็คือการสร้างตัวรู้นี่เอง เพื่อจะให้ตัวหลงไม่เกิดขึ้น ถ้ามีตัวรู้เมื่อไหร่ล่ะก็ตัวหลงไม่มีโอกาสได้เกิดขึ้น ไอ้ที่ว่าเป็นตัวๆ นี่เป็นสมมตินะ มันไม่มีตัวไม่มีตนหรอก การสร้างความรู้สึกตัวให้มีขึ้นในตัวเรานี่แหละเป็นการสร้างตัวรู้ ก็ต้องทำให้บ่อยๆ เจริญให้บ่อยๆ เนืองๆ เมื่อเราเจริญสติเนืองๆ บ่อยๆ แล้วนี่ มันจะเกิดความเคยชินที่จะมีสติ สติจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ แทบจะไม่ต้องสร้างเลยต่อไปนะ
[03:28] ทุกครั้งที่รู้สึกตัวนี่สติก็จะเกิดขึ้น สะสมเอาไว้เรื่อยๆ นี่ ไม่เจตนาสร้าง ความรู้สึกตัวก็จะเกิดขึ้นมาเอง มันจะเป็นอัตโนมัติ จะเป็นธรรมชาติ จะเป็นชีวิต เป็นชีวิตที่เป็นธรรมดาที่มีแต่ความรู้สึกตัว ความหลงลืมตัวก็จะไม่เกิดขึ้น ความเคยชินเรื่องความหลงลืมตัวนี่ก็จะหายไปด้วย จะมีแต่ความรู้สึกตัว มันเผลอไปนิดหน่อยก็กลับมารู้ได้..เนี่ย ไม่ใช่ว่ามันจะไม่เกิดความหลง ก็ย่อมมีอยู่ อาจจะมีช่วงระยะเวลาที่สั้นๆ ตัวรู้จะเกิดได้ยาว เมื่อหายไปก็เกิดขึ้นมาใหม่ได้ง่ายๆ สร้างตัวรู้ เจริญสติบ่อยๆ เนืองๆ จะเกิดความเคยชิน ไม่ต้องทำที่ไหน ทำที่ตัวเรานี่แหล่ะ ที่กายที่จิต ในอิริยาบถต่างๆ อิริยาบถใหญ่ๆ การนอน การนั่ง การยืน การเดิน ก็มาใช้รู้สึกตัวได้ หรืออิริยาบถย่อยๆ น้อยๆ การกระพริบตา การหายใจ การเคี้ยวอาหาร การหยิบการฉวย แม้แต่การขับรถยนต์ ก็สามารถที่จะเจริญสติได้ เป็นอิริยาบถย่อยๆ มีนะ..ขณะปัจจุบันนี้ท่านผู้ฟังบางท่านอาจจะฟังไปด้วยแล้วก็ขับรถไปด้วย นั่งอยู่บนรถยนต์ฟังธรรมไป แล้วก็เจริญสติไปด้วย ขับรถนี่ก็เจริญสติได้ แต่ว่าขอให้เอาสติเป็นผู้ขับรถ ตั้งสติก่อนสตาร์ท สตาร์ทก็มีสติ จับพวงมาลัยก็มีสติ ปิดประตูก็มีสติ จะเข้าเกียร์เหยียบคลัทช์เหยียบคันเร่งเหยียบเบรกก็มีสติรู้ตัวอยู่ อยู่กับปัจจุบันอยู่กับการขับรถ มีประโยชน์นะ ติดไฟเขียวไฟแดง อ้อ..รู้สึกตัว ดูจิตดูใจเรา หงุดหงิดมั้ยเวลาที่มันเกิดไฟแดงนี่ ใจมันรีบร้อนมั้ย กลัวจะไปไม่ทันบ้าง แล้วก็คิดปรุงแต่งต่างๆ อันนี้นำเอามาที่จะเจริญสติได้ เพราะฉะนั้นอย่าขับรถฟรีๆ อย่าคิดฟรีๆ รู้สึกตัวไปกับการขับรถกับปัจจุบัน ในแดนงานของเรานี่เราสามารถสร้างตัวรู้ได้ ในขณะที่กำลังขับรถให้เป็นการปฏิบัติธรรม
การรู้นี่ขอให้รู้แต่ละขณะๆ รู้รูปก็รู้ที่เฉพาะรูปในขณะนั้น นามอย่าเพิ่งไปสนใจ ในปัจจุบันนั้นเดี๋ยวนั้นเฉพาะหน้า เรารู้ได้ที่รูปเคลื่อนไหวก็รู้ตรงนั้นก่อน อย่าเพิ่งไปสนใจกับนาม แต่ถ้ามันเกิดความคิดนึกเป็นอาการของนามขึ้นมาของจิตของใจนี่ เราก็อย่าไปสนใจเรื่องรูปมารู้ที่ความคิดซึ่งขณะนั้นนี่ความคิดเกิดขึ้นแล้ว สติรู้ตรงนั้นทันที ถ้ามันไม่คิดไม่ปรุงแต่ง อ้อ..กลับมารู้รูป รู้ได้แต่ละขณะๆ อย่ารู้ขณะเดียวสองอย่าง รู้คนเดียวสองอย่างนั้นไม่ได้ เพราะจิตนี่เค้ารับอารมณ์ได้ขณะเดียว แต่ละขณะๆ ไม่ซ้อนกัน อะไรเกิดก่อนรู้ก่อน อะไรเกิดทีหลังรู้ทีหลัง สิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้ารู้ตรงนั้นก่อน ถ้าเราไปคิดรู้ในสิ่งที่มันยังไม่เกิดอันนั้นเป็นความคิด ไม่ใช่ปัจจุบัน เราพลาดปัจจุบันนะ รูปเกิดก่อนรู้ก่อน นามเกิดก่อนรู้นาม รู้กายเคลื่อนไหว..อ้า..นี่เกิดก่อน เรามาคิดนึก..อ้อ..รู้ความคิด เราก็วางกายมารู้ที่ความคิด แต่ละขณะๆ จะได้เป็นกอบเป็นกำ อย่ารับซ้อนกัน รู้ทีละอย่างๆ รู้ไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ เป็นการสะสม สะสมสติ เมื่อสติมีขึ้นมากๆ มันก็จะเกิดปัญญา เราต้องฝึกรู้ฝึกดู ฝึกที่จะละ โดยเฉพาะเรื่องละกิเลสนี่สำคัญมาก มันเกิดความโกรธเกิดความหงุดหงิดอะไรขึ้นมานี่ ฝึกที่จะรู้แล้วก็ปล่อยวางมัน ฝึกละกิเลสบ่อยๆ นี่ปัญญาก็จะเต็มนะ เมื่อก่อนกิเลสเต็ม เดี๋ยวนี้เรามีสติรู้ทันกิเลส อ้อ..กิเลสมันหมดปัญญาก็มาแทนที่ ความทุกข์ที่มีอยู่นี่ก็จะลดน้อยลงไป เบาบางลงไป จิตใจก็จะสงบเยือกเย็น ผ่องใส อันนี้เป็นการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน ทำได้ทุกที่ทุกเวลา แม้ขณะขับรถยนต์
การปฏิบัตินี่เราต้องดูตัวเอง ดูตัวเองมากๆ จับผิดตัวเอง การจับผิดตัวเองนี่คือการรู้เท่าทันเรื่องของกายเรื่องของจิต เรื่องของตัวเรา ถ้ามองข้างนอกบ่อยๆ ดูข้างนอกบ่อยๆ นี่ก็จะหลงลืมตัวเรา ในขณะเดียวกันถ้าเราดูตัวเราบ่อยๆ มันก็จะไม่ค่อยสนใจสิ่งภายนอก ดูตัวเองให้มากๆ ดูข้างนอกน้อยๆ สติจะเกิดขึ้น นี่การปฏิบัติคือการดูตัวเอง ถ้าเราทำไปๆ จนติดไปเรื่อยๆ จิตใจมันเริ่มผ่อนคลาย เริ่มสบายๆ ทุกข์ลดลงนี่ถือว่าถูกทางแล้ว แต่ถ้ายิ่งทำยิ่งทุกข์ ยิ่งทำยิ่งเครียด ยิ่งทำยิ่งสงสัยยิ่งฟุ้งซ่าน คือยิ่งทำนี่ทุกข์ยิ่งเพิ่มขึ้นอันนี้ไม่ถูกละ เราต้องแก้ไขใหม่ ฟังใหม่ เปลี่ยนใหม่ เริ่มต้นทำใหม่ ยิ่งทำก็ยิ่งสบายๆ บางท่านสงสัยว่า เอ๊..ทำไมยิ่งทำไปจึงยิ่งเครียด ยิ่งทุกข์ ไม่เห็นได้ผลเลย อันนี้ถือว่าอาจจะไม่ถูกทางก็ได้ อาจจะเพ่งเกินไป ตั้งใจมากเกินไป จะเอาให้ได้ จะรู้ให้ได้ มีตัณหาฉาบทาอยู่เบื้องหลัง เพื่อให้มันชัดเจน อะไรอย่างนี้นะ ก็ทำให้จิตใจมันเครียด ตั้งใจจนเกินไป เอาจริงเอาจัง จนมีอาการเพ่งจ้อง อันนี้เกิดจากตัณหา จะไม่มีความสุขในการปฏิบัติ จะไม่สะดวก ไม่ผ่อนคลาย นี่จะบอกได้เลยว่านี่เราเพ่งเกินไปแล้ว บางคนถามว่า เอ๊ะ..ครูบาอาจารย์ทักมาว่าเธอนี่เพ่งไปนะ เอ๊ะ..เราจะรู้ได้ไงว่าเราเพ่ง เราทำบ่อยๆ เจริญสติบ่อยๆ เราจะเข้าใจว่า อ๋อ..นี่มันเพ่งไปแล้ว อันนี้หลงไปแล้ว อันนั้นตึงไปนะ อันนี้หย่อนไปนะ พอรู้ที่ตึงคือเพ่ง รู้ที่หย่อนคือเผลอ มันก็จะพบทางสายกลางด้วยตัวของเราเอง
ไม่มีใครจะเปลี่ยนจิตใจเรานี่ให้ลงทางสายกลางได้ นอกจากเราจะมีประสบการณ์ในการปฏิบัติ ต้องมีประสบการณ์ในการปฏิบัติเอาเอง มันเพ่งเกินไปก็ไม่เป็นไร ถ้ารู้ว่าเราเพ่ง อ้อ..จิตมันก็ลงสายกลางแล้ว รู้ว่าเพ่ง อ้อ..สายกลางเกิดขึ้นแล้ว อันนี้เผลอไปแล้ว รู้ว่าเผลอนี่ จิตมันก็เป็นกลาง..ใช่มั้ย แค่รู้นี่จิตมันก็วิ่งมาสายกลางแล้ว บางทีมันสงสัย เอ๊..นี่เราเพ่งไปรึเปล่า ให้มีสติรู้ทันในปัจจุบันไว้ว่า เราสงสัยแล้ว อ้อ..นี่เราสงสัยแล้ว นี่ล่ะคือสายกลาง คือรู้ในอาการที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าเดี๋ยวนั้น รู้ว่าเราสงสัย จิตมันก็พ้นออกมาจากความสงสัยต่อหน้าต่อตา ไม่เป็นไรหรอกมันเกิดอะไรขึ้นเราก็รู้มัน แค่รู้นี่มันก็หลุดออกมาจากอารมณ์ อุปสรรคต่างๆ จะเพ่งก็ดี จะเผลอก็ดี จะทุกข์ จะง่วง จะคิด จะขี้เกียจ จะท้อแท้ หมดกำลังใจ เราถือว่าสิ่งนี้คืออุปสรรค ของผู้ที่ปฏิบัตินะ แต่ผู้ที่รู้ธรรมะแล้วนี่คงไม่มีอุปสรรค เราจงมองอุปสรรคต่างๆ เป็นครูสอนธรรมะที่ดี อุปสรรคคือครูสอนธรรม อย่าไปรังเกียจ อย่าไปต่อต้าน ถ้าเราไปต่อต้าน ไปรังเกียจ ไปทำลายอุปสรรคนี่ เท่ากับว่าเราอกตัญญูนะ ทำลายครูสอนธรรมะเข้าแล้ว อกตัญญูแล้ว อุปสรรคต่างๆ นี่ให้เรามาเรียนรู้ อย่างเช่นความทุกข์นี่ ทุกขเวทนาทางกายนี่บางคนบอกว่า..โอ๊..มันแย่เลย เป็นอุปสรรคเหลือเกินปฏิบัติไม่ได้ ทุกข์ทางกายนี่แหล่ะเป็นครูสอนธรรมะได้อย่างดีเลย เป็นครูสอนธรรม เพราะกายเค้าบอก บอกตรงๆ ว่าเค้าเป็นทุกข์แล้ว บอกตรงๆ กายแสดงอาการออกมาว่าเป็นทุกข์แล้ว เราก็มีสติรู้ว่า..อ๋อ..ทุกข์นี่มันเที่ยงมั้ย ทุกข์นี่บังคับบัญชาได้รึเปล่าเนี่ย เค้าสอนธรรมะให้เรา อย่าไปทำลาย ให้เราได้เรียนรู้ เรียนรู้แต่อย่าเลียนแบบ ต่างกันนะ เรียนรู้ทุกข์กับเลียนแบบทุกข์นี่ โอ้..มันต่างกันลิบลับเลย
[13:07] เรียนรู้ทุกข์คือการเป็นผู้ดูทุกข์ คือความเข้าใจ ถ้าเลียนแบบทุกข์นี่คือเราเข้าไปเป็นทุกข์แล้วนะ ครูสอนธรรมะ สอนให้เราเรียนรู้ อย่าสอนให้เลียนแบบ ทุกข์เรียนรู้ ถ้าหากว่าเลียนแบบเข้าไปเป็นทันทีเลย เพราะเค้าสอนให้บอกว่าอย่าเลียนแบบนะ ถ้าเลียนแบบเรานี่เราเป็นทุกข์แน่นอน ถ้าใครเลียนแบบเราท่านจะเป็นทุกข์ แต่ถ้าใครเรียนรู้เราล่ะก็ท่านจะพ้นจากทุกข์ ครูจึงบอกว่า..เธอจงทำตามที่ครูสอน แต่เธออย่าทำตามที่ครูทำ ปกติครูสอนนี่ถูกต้องสอนดี แต่ที่ครูทำให้ดูนี่ไม่ถูกต้องก็มีนะ ที่ครูสอนน่ะ..อ๊า..เธออย่าดื่มสุรานะมันไม่ดีหรอก แต่ครูเองก็ยังดื่ม..ใช่มั้ย ครูสอนถูกต้อง แต่สิ่งที่ครูทำบางทีอาจจะไม่ถูกต้อง คุณพ่อก็เหมือนกัน พ่อของเรานี่ถือว่าเป็นครูคนแรก เป็นครูคนแรก ครูคนแรกอาจจะสอนเราว่า อ้า..เธออย่าตื่นสาย คุณพ่อสอนว่าเธออย่าตื่นสาย ไม่ดีหรอก บางทีพ่อก็ตื่นสายนะ เพราะฉะนั้น เธอจงทำตามที่พ่อสอน แต่เธออย่าทำตามที่พ่อทำ เราต้องรู้จักแยกแยะ การสอนที่ดีนั้น แม้แต่ว่าเราจะพูดดีสักหลายร้อยหนหลายร้อยครั้ง ก็สู้การทำให้ดูหนึ่งครั้งไม่ได้ พูดตรงๆ ก็คือ อยากให้เค้าดีก็จงทำดีให้เค้าดู อันนี้คือหลักในการสอนนะ เพราะฉะนั้น ก็ขอให้พวกเรานี่สร้างบารมีธรรม โดยการปฏิบัติธรรมเจริญสติให้มากๆ จะได้เกิดปัญญา เปรียบเสมือนมีน้ำเอาไว้ดับไฟ คือกิเลสและกองทุกข์ที่จะมาถึงเราในวันข้างหน้าสืบต่อไป.