แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
... การเห็นและการรู้ความคิดเป็นสองสิ่งที่แตกต่างกัน การรู้คือการเข้าไปในการคิด
และความคิดก็คงดำเนินต่อไป แต่เมื่อเราเห็นความคิดเราสามารถหลุดออกจากความคิดนั้นได้ ...
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
[01:02]ได้สนทนากับญาติธรรม ได้มาพูดคุยกัน เรื่องที่พูดคุยสนทนานั้นก็เกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติการเจริญสตินี่แหละ ปัญหาส่วนมากที่พบในการเจริญสติก็คือ เรื่องของการเห็นความคิด บางท่านบอกว่า มันคิดมาก คิดเยอะ คิดทีไรมันก็ฟุ้งไปกับความคิด บางทีก็รู้นะรู้ว่ามันคิด แต่ว่ามันไม่ออกจากความคิดได้ ทั้งๆ ที่รู้ว่ามันคิด แต่ก็ยังติดอยู่ในความคิด ยิ่งอยากจะออกจากความคิดมันก็ไม่ออก..แต่รู้ เหมือนอย่างกับจะฟุ้ง บางทีเหมือนคนจะเป็นบ้า..เนี่ย..เนี่ยคิด ถ้าหากว่ารู้ความคิดต่อไปนี่สงสัยจะเป็นบ้า เพราะว่ามันคิดมากเหลือเกิน เวลาหลงก็หลงนาน ทั้งๆ ที่ตั้งใจไว้แล้วเนี่ย วันนี้รู้ว่าเราตั้งใจไว้แล้วว่าเราจะเจริญสตินะ พอเริ่มต้นว่าจะเจริญสตินะมันก็มีสติขึ้นมาบ้าง แต่วันทั้งวันเนี่ย..ในชีวิตประจำวันนี่มันไม่มีสติเลย ลืม..หลงลืมสติไปนาน มารู้ตัวอีกทีก็ตอนก่อนจะนอน โอ้..วันนี้ตั้งใจว่าจะเจริญสติ แต่เพิ่งมารู้ตอนที่ก่อนจะนอนนี่ คือหลงไปนาน นี่ทั้งผู้เก่าผู้ใหม่ ผู้มาปฏิบัติใหม่ๆ คือผู้เริ่มต้น และก็ผู้ที่ปฏิบัตินานแล้ว ก็จะมีปัญหาแบบนี้ คือฟุ้งซ่านแล้วก็ไม่ยอมหยุด อันนี้คือปัญหา บางทีเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ชีวิตของเราในแต่ละวันนี่เราใช้ความคิดมาก อันนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดา
การทำงาน การใช้ชีวิต มันก็ต้องใช้ความคิดนี่แหละเป็นธรรมดา เราเคยชินที่จะใช้ความคิด ไม่ได้กลับมาดูตัวเอง การค้าขายอันนี้ก็ต้องใช้ความคิด เพราะต้องพบปะผู้คนมากหน้าหลายตา การเป็นครู การเป็นหมอเป็นพยาบาล อันนี้ก็ต้องใช้ความคิดมาก ต้องมีลูกศิษย์ลูกหา การบริหารงาน บริหารงานบริหารคนนะ อันนี้ก็ต้องใช้ความคิดมาก นี่แต่ละวันนี่เราเคยชินที่จะต้องใช้ความคิด อันนี้ก็ไม่ผิดนะ นี่เป็นเรื่องธรรมดา ถือว่าเป็นความเคยชิน แต่เราไม่เคยมีความเคยชินที่จะกลับมาดูตัวเราเอง เรายังไม่เคยที่จะมีสติรู้กายรู้ใจของเราเลย เรามักจะส่งจิตออกข้างนอก เรื่องการทำงานเคยชินที่จะขาดสติ ไม่เคยคิดที่จะมีสติ แม้แต่อยู่คนเดียวก็ตาม ไม่มีอะไรทำ ยิ่งแล้วใหญ่เลย ยิ่งไม่มีอะไรทำนี่เราก็จะต้องหาเรื่องคิดแล้ว คิดโน้นคิดนี้ บางทีใจมันสบายๆ อยู่นะ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ว่าแต่พอหาเรื่องคิดมันก็..อ้าว..เท่ากับหาเรื่องทุกข์แล้ว ใจต้องเป็นทุกข์ ต้องวิ่งไปวิ่งมาเพราะความคิดนี้แหละ อันนี้เป็นความเคยชิน ให้เราทำความเข้าใจว่า อ๋อ..เป็นเรื่องธรรมดานะ ไอ้เรื่องความคิดมากนี่เรื่องธรรมดา ทีนี้ว่าเรามีวิธีการนะที่จะออกจากความคิด หรือมีสติขึ้นบ่อยครั้ง [04:49] เพื่อจะสามารถพัฒนาการเจริญสตินี่ได้มากขึ้นกว่าเก่า บางทีเราต้องอาศัยรูปแบบ ต้องอาศัยรูปแบบซักหน่อย คือต้องมีการฝึกหัด มีแบบฝึกให้กับตัวเรา รูปแบบต่างๆ ของการเจริญสตินี่มีมาก ให้เราเลือกใช้ได้ เรารู้ว่าเราเป็นผู้ใหม่ก็ต้องอาศัยรูปแบบเป็นเครื่องช่วย รูปแบบการเจริญสตินี่ก็เช่นว่า การเดินจงกรม เดินแต่ละก้าวนี่ให้รู้สึกตัว ให้รู้ตัวว่าเรากำลังเดิน ซัก ๑๑ ก้าวนี่ก็ได้นะ เราต้องหาเวลา รูปแบบนี่ต้องอาศัยเวลา นี่..ปลีกตัวเราอยู่คนเดียว ในช่วงเวลาของการฝึกปฏิบัตินี่ การมารู้ลมหายใจ ลมหายใจมันก็เป็นรูปแบบนะ หายใจเข้านี่ก็รู้สึก ตอนที่หายใจออกก็ให้รู้สึกตัวไปด้วย หายใจเข้าก็รู้หายใจออกก็รู้
หรือว่าจะเคลื่อนไหวมือตามจังหวะ แล้วก็มีสติตามรู้ในการเคลื่อนไหวของมือ ทุกครั้งที่มือมันเคลื่อนเราก็รู้สึก มีสติรู้สึกตัวขณะมือกำลังเคลื่อนไหวไปมา นี่ก็ถือเป็นอีกรูปแบบหนึ่งนะ มันจะต้องมีฐานให้จิตนี่เกาะ ฐานของกายเคลื่อนไหวนี่แหละ สำหรับทำให้จิตนี่เกาะได้นาน จิตจะได้ตั้งมั่นไม่หลงไปไหน มีที่เกาะมีที่รู้อยู่ เป็นการสร้างความเคยชินที่จะรู้สึกอยู่กับตัวเรา บางทีมันก็ต้องมีความคิดอะไรปรุงแต่งในขณะที่เรากำลังรู้สึกตัวกับการเคลื่อนไหวของกาย เมื่อมันคิดมาเราก็รู้ได้ เพราะฐานของจิตในขณะนั้นนี่ให้สติมันเกาะรู้ ให้จิตเกาะรู้ก็ได้ จิตรู้จิต แล้วเราก็วางมันซะ กลับมารู้ที่ฐานกายไว้ก่อน คือต้องให้ชำนาญนะ ต้องเจริญสติไปกับฐานกายในรูปแบบให้ชำนาญ พอรูปแบบเราชำนาญแล้วนี่เราก็จะได้เห็นจิตเห็นความคิด เห็นธรรมะ เห็นอารมณ์ต่างๆ มากมาย สติเราต้องตั้งมั่น รู้สึกอยู่กับตัวเราให้มากๆ เราก็ฝึกอย่างนี้ไป หาเวลาฝึกรู้กายตามรูปแบบให้ชำนาญ แล้วต่อไปเราก็รู้จิต รู้อะไรต่างๆ อีกมากมาย ให้มันเคยชินตรงนี้ก่อน บางทีเราข้ามขั้นตอน ทำให้เราหลงลืมสติไปได้มากนะ ทั้งผู้เก่าผู้ใหม่มันจะต้องเริ่มต้นจากขั้นต้นๆ เหมือนขึ้นต้นไม้นะ ขึ้นต้นไม้เราต้องก้าวจากพื้น ไปเกาะที่ต้นแล้วค่อยๆ ปีนป่าย พอถึงระยะหนึ่งเราก็ค่อยๆ แยก อ๋อ..ไปกิ่งโน้นกิ่งนี้ มันเกิดความชำนาญ เกิดความเคยชินจากการขึ้นต้นขั้นพื้นฐาน แล้วต่อไปเราก็จะเกิดความชำนาญ จะแยกกิ่งสาขาออกไป อันนี้พูดถึงการปีนต้นไม้นะ การเจริญสติก็เหมือนกัน ถ้าเรายังไปไม่ได้ เราต้องอาศัยรูปแบบขั้นต้นๆ ลองทำดูสิครับ
บางทีมันข้ามขั้นไปมันก็ฟุ้งมากก็มี ผมเองก็เคยนะปฏิบัติแบบข้ามขั้นตอน อย่าว่าแต่การปฏิบัติเลย แม้แต่การเรียนหนังสือนี่ ผมเริ่มต้นจากเรียนหนังสือในเรือ เนี่ย..คุณพ่อคุณแม่สอน เรียนอ่านออกเขียนได้ บวกลบคูณหารได้ ก็ถึงเกณฑ์ที่จะเข้าโรงเรียน พอมาเข้าโรงเรียนนี่คุณครูเห็นว่า..อ้อ..อ่านออกเขียนได้แล้วนี่ ไม่ต้องเรียน ป. ๑ หรอก ขึ้นไปเรียน ป. ๒ เลย โอ๊..เราก็ดีใจเนาะ ได้ขึ้นชั้น ป. ๒ เลย ป. ๑ ไม่ต้องเรียนแล้ว พอขึ้นชั้น ป. ๒ เราก็เรียนดีนะ แต่พอขึ้น ป. ๓ เท่านั้นเอง โอ๋..การเรียนนี่อ่อนมาก อายุภาวะของเรามันก็ไม่เท่ากับเด็กที่เรียนจากเกณฑ์ขึ้น ป. ๓ จริงๆ หรอก เราก็เรียนอ่อนมาตลอด ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาถือว่าหลักไม่ดีฐานไม่ดี เรียนอ่อนจนกระทั่งเรียนจบ มันก็มาแบบไม่ค่อยดีนะ เกือบตกมาตลอด มาดีตอนเรียนจบนี่ มันจะมีอายุขึ้นมาหน่อย การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน มาฝึกเจริญสตินี่ ศึกษาหลายวิธี ก็มาชอบใจวิธีหลวงพ่อเทียนนี่ หลวงพ่อเทียนเนี่ยเน้นให้ทำความรู้สึกตัวมากๆ เอากายที่เคลื่อนไหวนี่แหละมาเป็นฐานที่ตั้งของสติ ให้มันรู้สึกตัวมากๆ บ่อยๆ แล้วก็ไปเห็นจิตเห็นคิด พอความรู้สึกตัวมันตื่นรู้มากๆ นี่จะเห็นจิตที่มันคิด ไปเพียรทางจิตคือดูจิตเลย เนี่ย..หลวงพ่อเทียนต้องมีการเคลื่อนไหวเป็นหลัก แล้วค่อยไปดูจิต แล้วก็ข้ามขั้นตอนเลย ไอ้จะมาเคลื่อนไหวกายเดินจงกรมนี่มันเป็นไปไม่ได้หรอก เราเดินไม่ได้ ยกมือสร้างจังหวะ ๑๔ จังหวะ ก็ลองทำดูมันก็ทำไม่ได้หรอกเพราะมือมันแข็งแรงอยู่ข้างเดียว อีกข้างหนึ่งมันยกไม่ค่อยขึ้น ก็คงทำไม่ได้หรอกรูปแบบที่ท่านแนะนำมา นี่เรามันมีอีกแบบหนึ่งนี่คือการไปดูจิตดีกว่า เอาเข้าขั้นที่สองนี่ดูจิตเลย ตั้งสติ แล้วก็ดูจิต ก็ดูได้นะดูได้ทั้งคืนเลยนะ ยันสว่างแล้วยังดูไม่เลิก อ๋อ..รู้สึกเพลียอ่อนเพลีย มันฟุ้งซ่าน มันสงสัย มันตึงเครียด มันทุกข์น่ะ โอ๋..เราคงจะดูจิตไม่เป็นแน่ มันฟุ้งไปตลอดทั้งคืน อันนี้มันคือการดูจิตแบบไม่มีหลักของเรา เพราะเราดูไม่เป็น ไม่มีหลักในการดู สติยังไม่ตั้งมั่น ยังไม่มีความชำนาญ จิตยังไม่เป็นกลางจะไปดูจิตได้ยังไง ก็เลยเกิดความท้อแท้ ฟุ้งซ่าน ท้อถอยความเพียร มันไม่อยากปฏิบัติเพราะเราทำไม่เป็น อาศัยที่ว่าเราไม่มีทางเลือกนะ ไม่มีทางเลือก ถ้ามีทางเลือกล่ะก็เราคงไม่ทำ ทำอย่างอื่นซะ แต่เราไม่มีทางเลือกก็ต้องทำตรงนี้
นั่นก็โชคดีได้คำแนะนำที่หลวงพ่อคำเขียนท่านแนะนำมา [11:38]ท่านให้มาเริ่มต้นจากการดูกาย อ๋อ..ดูกายเคลื่อนไหว เนี่ย..นอนพลิกมือแล้วก็รู้สึกตัว รู้สึกตัวไปกับการเคลื่อนไหวของมือ อิริยาบถนอน ให้รู้เฉยๆ เริ่มต้นจากฐานกายเลย เราก็เอ้อ..มาเริ่มต้นใหม่ รู้กายไปสักพักหนึ่งเดี๋ยวมันก็มีความคิดขึ้นมา เราก็เห็นมันคิด เห็นมันคิดนะไม่ใช่ว่ารู้มันคิด ถ้ารู้ว่ามันคิดล่ะก็เราก็จะหลงไปในความรู้นั้นเลย หลงไปในความคิด เข้าไปอยู่ในความคิด ถ้ารู้ความคิดจะเข้าไปอยู่ในความคิด เข้าไปเป็นผู้คิด มันก็คิดมาก ก็ฟุ้ง ไม่รู้จักจบ แต่ถ้าเราเห็นความคิดเราก็จะไม่เข้าไปอยู่ในความคิด เมื่อเราเห็นงูมันเลื้อยมาเราก็ไม่ได้ไปเป็นงู เราเห็นงูเราก็หลบหลีกได้ เราเห็นความคิดเราก็ทิ้งมันซะ แล้วกลับมารู้ที่กายเคลื่อนไหว มารู้กายเห็นกายที่มันเคลื่อนไหวนี่ มันคิดอีกเราก็เห็น แล้วก็ทิ้งมัน กลับมารู้ที่กายเคลื่อนไหว..ใช่มั้ย การที่เราเห็นความคิดแล้วก็ทิ้งแล้วก็กลับมารู้ที่กาย เนี่ย..มาเห็นกายดูกายมาเป็นหลักนี่ เท่ากับเป็นการสอนจิตนะ สอนจิตว่าอย่าไปนะ อย่าไปกับความคิด กลับมาๆ ตรงนี้ มันมีฐานน่ะ มีฐานที่ตั้งของจิต จิตมันก็มีที่อยู่ ก็ไม่ฟุ้งไปกับความคิดนะ ความคิดมันก็ลดน้อยลงไปได้ มันเกิดดับๆ น้อยลงไป สติมันก็มากขึ้น
[13:21] การมีฐานที่ตั้งของจิตใจได้นี่ มันทำให้จิตนี่ไม่หลงนาน แม้ว่าหลงไปแล้วก็กลับมาได้ง่ายเพราะมีที่กลับมีที่อยู่ แล้วเป็นปัจจุบันมาก เกิดภาวะที่เป็นปัจจุบัน สติชัดเจน เห็นกายชัด เห็นความคิดชัด มันเห็นว่า อ๋อ..มันมีกายเคลื่อนไหว เห็นกายเคลื่อนไหวอยู่ข้างนอก เห็นจิตที่รู้อยู่ข้างใน ได้เห็นกายเคลื่อนไหวข้างนอก เห็นจิตที่รู้ข้างในนี่ มันเห็นรูปเห็นนามเลยนะ เห็นรูปเห็นนาม มันแยกรูปแยกนาม แล้วใครเป็นผู้เห็น ก็คือจิตนี่แหละ จิตเห็นกายเคลื่อนไหวอยู่ข้างนอก เห็นจิตที่มันคิดปรุงแต่งอยู่ข้างใน จิตเป็นผู้เห็น..ใช่มั้ย แยกรูปแยกนาม มันก็ได้หลักของการปฏิบัติ เนี่ย..เริ่มต้นมาจากการเจริญสติในรูปแบบรู้กายเคลื่อนไหว เริ่มต้นธรรมดาๆ มันก็พัฒนาขึ้นมาเห็นปัจจุบัน เห็นรูปเห็นนาม เห็นทุกข์ของรูปเห็นทุกข์ของนาม เห็นความคิด การปฏิบัติก็เลยพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าญาติธรรมท่านใดเวลาเจริญสติแล้วมันฟุ้งมาก มันหลงนานนี่ เราลองมาอาศัยรูปแบบดู รูปแบบอะไรก็ได้ที่เราชอบใจ คนที่ปฏิบัติดีแล้ว ดูจิตได้แล้ว ไม่ต้องมีรูปแบบ สามารถทำในชีวิตประจำวันตามธรรมชาติได้ก็ดีนะ ทำไปเรื่อยๆ ดีแล้ว นี่ปฏิบัติดีแล้ว ทำไปเรื่อยๆ ไม่ต้องอาศัยรูปแบบก็ได้ แต่ถ้าคนที่ยังไปไม่ได้ เอ้า..ลองกลับมาเริ่มต้นอาศัยรูปแบบรู้กายไปก่อน
[15:09] ตำรานี่เค้าว่าไว้ดีแล้ว ครูบาอาจารย์ท่านสอนถูกต้องแล้ว แต่บางทีนี่เรายังทำไม่ได้ ตำราก็ถูกตามตำรา ครูบาอาจารย์ก็ถูกตามครูบาอาจารย์ แต่จริตของเรานี่มันไม่ตรง เราต้องมาฝึกมาดูตัวเราเอง เราต้องรู้จักตัวเรา ลองดูซิว่าเราถนัดแบบไหน จริตมีแบบไหน เราต้องฝึกที่จะทำเอาเองบ้าง ผลสุดท้ายนี่รูปแบบต่างๆ นี่เราก็ต้องทิ้งทั้งหมด เราไม่สามารถยึดมั่นถือมั่นมันได้ ต้องปล่อยวาง แต่ต้องอาศัยเค้าก่อนในขั้นเริ่มต้น อย่างกับว่าเราเรามีช้อนอยู่คันตักอาหารทานแล้ว ต้องรู้จักวาง อย่าเอาช้อนนี่ติดตัวไป..ไม่ต้อง วางเอาไว้ซะ เมื่อจำเป็นต้องใช้ก็หยิบเอามาใช้ รูปแบบก็เช่นเดียวกัน เมื่อใช้แล้วก็อย่าไปยึดติดในรูปแบบนะ รู้จักปล่อยรู้จักวาง ผลสุดท้ายนี่รูปแบบของการปฏิบัติก็ไม่มีหรอก เป็นเพียงแค่เครื่องอาศัย เป็นเพียงอุบายในการเจริญสติเท่านั้นน่ะ ไม่มีใครเข้าถึงธรรมได้ มีแต่สติปัญญาเท่านั้นที่จะเข้าถึงธรรม ผลสุดท้าย..ธรรมเท่านั้นที่จะเข้าถึงธรรม..