แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
[01:56] เราก็มาฟังในสิ่งที่เป็นประโยชน์เพราะว่าจะได้นำเอาไปใช้ในการดำรงชีวิต เป็นหน้าที่ของผู้ฟัง ส่วนหน้าที่ของผู้พูดก็พูดในสิ่งที่รู้ ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่รู้ แล้วก็มีอยู่ เพื่อว่าจะได้แบ่งปันกัน อย่างเช่นเรื่องการปฏิบัติธรรมนี่ ทุกท่านก็มีการปฏิบัติธรรม ในเนื้อในตัวเรานี่ก็คือเรื่องของธรรมะทั้งนั้น บางท่านอาจจะนึกปฏิเสธว่า เราไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็ได้ ธรรมะไม่จำเป็นสำหรับเรา คำพูดอย่างนี้แสดงว่าเราไม่เข้าใจชีวิต ไม่เข้าใจตัวเรา ไม่เข้าใจธรรมะ อาจจะมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องชีวิตกับธรรมะ เราคิดว่าสองสิ่งนี่ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แยกกันอยู่ ชีวิตก็คือชีวิต ธรรมะก็คือธรรมะ ชีวิตเป็นเรื่องของตัวเรา ธรรมะเป็นเรื่องของพระของวัด อะไรอย่างนี้นะ อาจจะแบ่งแยกอย่างนั้นนะ บางทีเราก็ไม่เข้าใจ ธรรมะนี่ก็คือธรรมชาตินะ ความหมายของธรรมะนี่ก็หมายถึงธรรมชาติ ตัวเราก็เป็นธรรมชาติ สิ่งรอบๆ ตัวเราก็เป็นธรรมชาติ รูปธรรมก็เป็นธรรมชาติ นามธรรมก็เป็นธรรมชาติ ไม่ใช่รูปไม่ใช่นามนี่ก็เป็นธรรมชาติ ก็คือธรรมะ ธรรมะกับธรรมชาติก็คือสิ่งเดียวกัน กุศลก็เป็นธรรมะ อกุศลก็เป็นธรรมะ สิ่งที่เรารู้ได้ว่าอันไหนกุศลอันไหนอกุศล ทั้งสองอย่างนี้ธรรมะทั้งนั้น แล้วสิ่งที่ไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศลอันนี้ก็คือธรรมะ รวมทั้งหมดทั้งโลกทั้งจักรวาลนี้คือธรรมะทั้งหมดเลย รวมทั้งตัวเราด้วย ธรรมะคือธรรมชาติ ต้นไม้ ภูเขา ธรรมชาติทั้งนั้นเลย เราต้องมีการปฏิบัติธรรมชาติให้ถูกต้อง ยกตัวอย่างเช่น กายกับใจของเรานี่ กายกับจิตที่เป็นชีวิตของเรานี่ อันนี้ก็คือธรรมชาติ คือธรรมะ เราต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง ถ้าเราปฏิบัติกายกับจิตไม่ถูกต้องนี่ ก็จะเกิดปัญหา ก็เป็นทุกข์ไป อย่างเช่นเรื่องของกายนี่ ร่างกายของเรานี่ก็คือธรรมชาติ ก็เป็นธรรมะที่เราต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง เช่นในอิริยาบถต่างๆ เรานอนนานเกินไปก็ปวดก็เมื่อยนะ มันก็เป็นทุกข์แล้ว จะต้องปฏิบัติต่อเค้าให้ถูกต้อง ต้องมีการเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง ลุกขึ้นนั่ง ลุกขึ้นยืน แล้วก็ลุกขึ้นเดิน เพื่อต้องการเปลี่ยนอิริยาบถ เพื่อแก้ทุกข์
นี่ก็คือเป็นการปฏิบัติธรรม แก้ทุกข์ให้กับธรรมชาติ ถึงเวลาเราหิวเราก็ต้องกิน ต้องกินเพื่อให้ร่างกายนี่อยู่ได้ การกินอาหารนี่ถือเป็นการปฏิบัติธรรมเหมือนกัน ต้องกินให้ถูกต้องตามเวลา ถ้ากินไม่ถูกต้องหรือไม่กินตามเวลานี่ร่างกายก็มีปัญหาเหมือนกัน มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนมากมาย ถึงเวลานอนก็ต้องนอน ต้องมีการพักผ่อนให้ร่างกายนี่ได้พักผ่อน ถ้าเราพักผ่อนตามเวลา พอสมควรแก่เวลานี่ถือเป็นการปฏิบัติธรรมกับร่างกายอย่างถูกต้อง เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็มีการแก้ไขเยียวยารักษาร่างกาย ให้ร่างกายนี้เป็นปกติ การพักผ่อน ออกกำลังกาย การขับถ่ายใช่มั้ย การถ่ายอุจจาระปัสสาวะก็ให้เป็นไปตามปกติ ถึงเวลาถ่ายแล้วไม่ถ่ายหรือถ่ายไม่ออก มันจะเกิดปัญหานะ แปลว่าเราปฏิบัติธรรมชาติของร่างกายไม่ถูกต้อง เท่ากับว่าเราไม่ได้ปฏิบัติธรรม สิ่งเดียวกันคือธรรมะคือธรรมชาติ อันนี้คือส่วนร่างกาย และส่วนจิตใจล่ะ จิตใจก็เช่นเดียวกัน จิตใจก็เป็นธรรมะ ก็คือธรรมชาติ ใจ..เราจะปฏิบัติต่อเค้าได้อย่างไร ใจต้องรักษาไว้ให้เป็นปกติ ปกติของจิตโดยธรรมชาตินี่เค้าเฉยๆ เป็นปกติอยู่ เค้าไม่วุ่นวาย เค้าจึงได้มีความสุขสงบเย็น แต่ถ้าเค้ามีกิเลสมาครอบงำ อาจจะผ่านเข้ามาทางตา ทางหู แล้วมุ่งเข้าสู่ใจ เค้าจะครอบงำจิตใจให้เร่าร้อนเศร้าหมอง กิเลสความโลภ ความโกรธ ความหลง ความพอใจไม่พอใจ ก็ครอบงำจิตใจ ใจก็เลยเป็นทุกข์เพราะว่าไม่ปกติ อันนี้ก็เป็นธรรมะ เป็นธรรมะที่ฝ่ายทำให้เราเป็นทุกข์ ฝ่ายอกุศลที่เป็นฝ่ายบาป อันนี้ก็คือธรรมะ แต่ธรรมะที่เราควรจะละ ลดละเลิก เพราะว่าฝ่ายบาปฝ่ายอกุศลนี่เราทำไปแล้วพูดไปแล้วคิดไปแล้วก็นำพาจิตใจให้เป็นทุกข์ เป็นเหตุของความทุกข์ เราต้องละ
ส่วนฝ่ายบุญกุศล จิตใจที่เป็นบุญเป็นกุศลทำไปแล้วพูดไปแล้วคิดไปแล้วที่เป็นฝ่ายบุญกุศลนี่ ก็มีผลทำให้เป็นสุข เราต้องหมั่นเจริญให้มากๆ ทำให้มากๆ อันนี้เป็นธรรมที่ต้องเจริญ คือฝ่ายกุศล ผู้ที่จะรักษาจิตให้เป็นปกติได้นั้นก็คือตัวสติ สติเป็นเครื่องกั้นกระแสของกิเลสไม่ให้เข้ามาสู่จิตใจเรา เป็นการปฏิบัติทางจิต ปฏิบัติธรรมทางกายก็คือการดูแลกายให้เป็นปกติให้เป็นธรรมชาติ ปฏิบัติธรรมทางจิตก็คือรักษาจิตให้เป็นปกติไม่ให้ถูกกิเลสครอบงำ เป็นเรื่องในเนื้อในตัวเราทั้งนั้นเลย เป็นเรื่องชีวิตของเราจริงๆ ซึ่งแยกกันไม่ออก เรามักจะบอกว่า เราไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็ได้ ก็คงจะหมายถึงว่าเรื่องของการฝึกจิต เรื่องของการทำกรรมฐานก็ได้ อันนั้นก็ถูกอยู่ แต่ก็ยังถูกไม่หมดนะ บางคนอาจจะสงสัยว่า เอ..เรานี่ทำไมปฏิบัติธรรมจึงเนิ่นช้าเห็นผลได้ยากเหลือเกิน นี่มันลำบากเหลือเกินในการปฏิบัติ การทำได้มากได้น้อย ยากง่ายนั้น มันก็ขึ้นอยู่กับกิเลสของเรา อุปนิสัยของเรา ถ้าเรามีกิเลสมากก็อาจจะช้าหน่อยหรือลำบากหน่อย คนที่มีกิเลสน้อยอันนี้ก็จะปฏิบัติได้ง่าย ปฏิบัติได้ผลไว ขึ้นอยู่กับกิเลสที่เป็นเครื่องสะสมในจิตใจเรา มันเป็นอยู่ที่อุปนิสัยของเรา ถ้าอุปนิสัยของเรานี่ชอบที่จะยึดติด ยึดมั่นถือมั่น ย้ำคิด หมกมุ่น บางทีก็ทำให้จิตใจเรามันมีกิเลสท่วมทับอยู่นาน ยากที่จะเอาออก แต่ไม่ใช่จะเอาออกไม่ได้นะ ได้..ออกได้ อาจจะช้าหน่อย ลำบากหน่อย อันนี้ต้องยอมรับ บางท่านนี่อาจจะสะสมกิเลสไว้น้อย จิตใจนี่เป็นคนที่ชอบปล่อยๆ วางๆ ไม่ค่อยยึดติดอะไร ไม่ค่อยมีความสำคัญมั่นหมายอะไรมากมายนัก ชีวิตแบบสบายๆ ไม่เครียด ไม่เป็นคนเจ้าทุกข์ ไม่เป็นคนขี้โกรธนี่ อันนี้ก็จะปฏิบัติธรรมได้ง่าย ได้ผลไว เห็นผลไว อันนี้ก็เป็นเรื่องจริง พระพุทธองค์ท่านยังอุปมาไว้นะถึงความโกรธนี่ บางคนนี่โกรธแต่ก็หายไวมาก โกรธปุ๊บก็หายได้ไว บางทีโกรธตอนเช้าๆ สายๆ ลืมแล้ว หายแล้วเห็นมั้ย เหมือนรอยขีดลงไปในน้ำเห็นมั้ย พอขีดปั๊บรอยนั้นก็ลบเลือนหายไปเลย ไวมาก
บางท่านเวลาเกิดความโกรธ โอ..บางทีโกรธตอนเช้า กว่าจะหายก็ต้องตอนเย็นตอนค่ำ หรือข้ามวันข้ามคืน โกรธเป็นวันอย่างนี้ อันนี้ก็เหมือนกับรอยขีดลงไปในดิน อาจจะตั้งอยู่ได้นานหน่อยกว่าจะลบเลือนหายไป ส่วนบางท่านนี่ โอ..โกรธข้ามวันข้ามเดือนข้ามปี บางทีอาจจะไปหายตอนที่ก่อนจะตายก็ได้ความโกรธนี้ โกรธอยู่นั่นแล้ว ผูกโกรธ อาฆาตพยาบาท ยอมไม่ได้อย่างนี้ยอมไม่ได้ บางทีอาฆาตกันข้ามภพข้ามชาติเลย โกรธข้ามภพข้ามชาติ โกรธข้ามปี อันนี้อุปมาเหมือนอย่างกับว่ารอยขีดในหินนะ คงทนยากที่จะลบเลือน เพราะฉะนั้นอุปนิสัยของการสั่งสมนี่มันต่างกัน แต่ละคนว่าสั่งสมกิเลสมากน้อยแค่ไหนนี่มันต่างกัน ถ้ากิเลสน้อยก็ปฏิบัติง่ายหน่อย ปล่อยปละละวางได้ง่าย ถ้ากิเลสมากก็ต้องช้าหน่อยยากหน่อย แต่ก็ทุกอย่างนี่มันไม่เที่ยงหรอก มีขึ้นแล้วมันก็สามารถที่จะหมดไปได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมนี่จะต้องมีความอดทน มีความขยัน เพื่อจะขูดเกลาเอากิเลสออกจากจิตใจของเรา ซึ่ง [11:37] จิตใจเค้านี่เป็นปกติอยู่แล้ว เรียกได้ว่าเราควรจะมาแก้ไขอุปนิสัยของเรา การแก้ไขอุปนิสัยของเรานี่ก็ต้องอาศัยการเจริญสตินี่แหละ เพราะฉะนั้นทุกชีวิตนี่ต้องปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมเราต้องอาศัยความเพียร มันเป็นประโยชน์กับตัวเรา เมื่อปฏิบัติธรรมแล้วนี่เราจะเข้าใจตัวเรามากยิ่งขึ้น เข้าใจตัวเรา เห็นตัวเรา ใช้ตัวเราอย่างถูกต้อง ปฏิบัติธรรมแล้วก็จะแก้ปัญหาชีวิตได้ แก้ปัญหาตัวเราได้ แล้วก็สามารถที่จะแบ่งปันผู้อื่นให้เค้าได้รับประโยชน์จากสิ่งที่เราได้ปฏิบัติและก็ทำมา เพราะฉะนั้นท่านผู้ฟังอย่าแบ่งแยก อย่าแบ่งแยกว่า เอ้อ..เราไม่ต้องปฏิบัติธรรมหรอกไม่ใช่เรื่องของเรา ไม่ใช่หรอกเราต้องปฏิบัติธรรม เพราะว่าตัวเรานี่คือธรรมะ ชีวิตคือธรรมะ ธรรมะคือชีวิต ไม่สามารถแยกออกจากกันได้.