แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
[00:50] สิ่งใดที่เราเข้าไปยึดมั่นถือมั่น สิ่งนั้นนี่จะไม่ก่อให้เกิดทุกข์นี่ไม่มีหรอก อันนี้ถือว่าเป็นสัจธรรมเลย ความยึดมั่นถือมั่นนี่เป็นสาเหตุแห่งความทุกข์ที่แท้จริง คำว่า..ยึดมั่นถือมั่น.. นี่ก็คือ เข้าไปติดเข้าไปเกาะเพื่อให้สิ่งนั้นได้อย่างใจเรา เมื่อเราชอบก็ต้องอยู่กับเรานานๆ อย่าพลัดพรากจากเราไปไหน ถ้าเราไม่ชอบใจเราก็คิดผลักไส ทำลาย ทำร้าย อันนี้คือความยึดมั่นถือมั่น แล้วสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนี่เค้าไม่ได้อย่างใจเราหรอก เค้าก็มีแต่การเปลี่ยนแปลง เลื่อนไหลไปเรื่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร อันนี้เป็นกฎธรรมชาติ ถ้าเราเข้าไปติดเข้าไปเกาะเราก็อยากให้ดั่งใจเรา สิ่งที่มันไม่เที่ยงก็อยากให้มันเที่ยงแท้แน่นอน อันนี้ทุกข์แล้ว สิ่งที่มีความทุกข์ก็อยากให้มีความสุข สิ่งที่ไม่มีตัวไม่มีตนก็อยากให้มีตัวมีตนนี่ อาการที่ทำแบบนี้ก็ถือว่าเป็นความยึดมั่นถือมั่นเพื่อให้ถูกใจเรา แต่บางทีสิ่งนั้นนี่มันไม่ถูกใจเราหรอก มันถูกตามธรรมชาติ มันถูกตามธรรมชาติไม่ถูกอย่างเรา เราก็ไปเกาะไปเกี่ยวไปยึดติด ใจก็เป็นทุกข์ ถ้าเราไปฝืนกฎของธรรมชาติที่เค้าเป็นอย่างนั้นเอง นี่กฎของธรรมชาตินี่ถือว่าเฉียบขาดมาก ถือว่าเป็นพระเจ้าในพุทธศาสนาก็ได้..คือกฎของธรรมชาติ เราใช้ชีวิตแบบฝืนกฎของธรรมชาติ..ใจเราต้องเป็นทุกข์ เราลองสำรวจดูได้เลยว่า จิตใจเรานี่เวลาเค้ามีความทุกข์ขึ้นมาเมื่อไหร่ล่ะก็ ลองคิดเล่นๆ นะ คิดสาวหาเหตุดู เหตุที่ทำให้เราเป็นทุกข์นี่ไม่เกินความยึดมั่นถือมั่นหรอก อาจจะยึดมั่นถือมั่นด้วยความอยาก อยากให้เป็นอย่างนั้นอยากให้เป็นอย่างนี้ หรือความไม่อยาก ไม่อยากให้เป็นอย่างนั้นไม่อยากให้เป็นอย่างนี้ ความอยากและไม่อยากนี้แหละเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น อันนี้ในจิตใจนะ สรุปแล้วกายกับจิตนี่แหละเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น ที่ทำให้เราต้องเป็นทุกข์ ลองสำรวจดู อันนี้คือความจริง
[03:43] ถ้าเราใช้ชีวิตแบบฝืนกฎของความเป็นจริงละก็ หมายถึงเข้าไปยึดมั่นถือมั่นนะ เราก็เป็นทุกข์เป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าหากว่าเราใช้ชีวิตแบบเข้าใจกฎของธรรมชาติ คือใช้ชีวิตแบบสอดคล้องกับกฎของธรรมชาติ ความทุกข์ก็จะไม่เกิดขึ้นเลย อย่างกายกับจิตของเรานี่..ที่ว่าเป็นของเรานี่นะ เค้ามีความเปลี่ยนแปลงตามกฎเกณฑ์ของเค้า ถ้าเราทำความเข้าใจและก็ใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เราก็จะไม่เป็นทุกข์ คือไม่ฝืนน่ะ แล้วเรื่องจิตใจยิ่งแล้วเลย ใจนี่มันเปลี่ยนแปลงมาก ขึ้นๆ ลงๆ ฟูๆ แฟบๆ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ ถ้าเราทำความเข้าใจว่า..อ๋อ นี่เป็นเรื่องธรรมดานะ ทำความเข้าใจและรู้จักยอมรับมัน เราก็จะไม่เป็นทุกข์เพราะความเปลี่ยนแปลงของจิตใจ การปฏิบัติธรรมนี่ถือว่าเป็นการเผชิญหน้ากับความเป็นจริง นักปฏิบัติธรรมนี่คือผู้ที่เรียนรู้ความจริง ไม่หนีความจริง ไม่ฝืนกฎของความเป็นจริง รู้จักยอมรับ ไม่ว่าสิ่งที่ปรากฏนั้นอาจจะถูกใจเรา..เราก็ยอมรับได้ ไม่ถูกใจเรา..ก็ต้องยอมรับได้ รับรู้รับทราบเอาไว้อันนี้คือความจริง เราจะได้รู้ความจริงไง เมื่อรู้ความจริงแล้วเราจะไม่ยึดมั่นถือมั่นเลย รู้จักปล่อยวาง อ๋อ..เค้าเป็นอย่างนั้นเองนะ จิตก็จะเบาสบาย..ใช่มั้ย ไม่หนักไม่เครียด ตัณหาของคนทั่วไปนี่ จะว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมหรือไม่ปฏิบัติธรรมก็ตาม ก็จะมีอยู่อย่างนี้ มีความอยากและก็ความไม่อยากอย่างนี้แหละ ยิ่งนักปฏิบัติธรรมยิ่งแล้วเลย พอเริ่มปฏิบัติธรรม..บอกว่าเริ่มนี่ อ้าว..ไปปฏิบัติธรรมกัน อ้าว..มาปฏิบัติธรรมกัน เจริญสติพร้อมๆ กันนี่ จิตที่เราตั้งไว้ก็คืออยากให้มันสงบ..ใช่มั้ย เริ่มต้นด้วยความอยาก อยากให้มันสงบ อันนี้เป็นความยึดมั่นถือมั่นแล้วนะ คือต้องการให้มันสงบ ตามอำนาจของความอยากคือตัณหานั่นเอง หรือบางทีคนที่เริ่มเข้าใจธรรมะหน่อย เริ่มปฏิบัติเป็นหน่อย..เอ้า ก็เกิดความไม่อยากอีกเวลาจิตใจมันคิดฟุ้งซ่านไม่สงบ ก็พยายามต่อต้านผลักไสออกไป จะเอาชนะให้ได้ จะฆ่าความฟุ้งซ่านให้ได้ มันไปทั้งซ้ายทั้งขวาเลย ทั้งความอยากให้สงบและก็ไม่อยากให้มันฟุ้งซ่าน อันนี้ก็เป็นความยึดมั่นถือมั่นอีกอย่างหนึ่งนะ ยึดมั่นถือมั่นในความอยาก อยากให้มันดี มันก็เป็นทุกข์อ่ะ การปฏิบัติจึงมีการบังคับกดข่มเคร่งเครียด จิตใจจึงรู้สึกหนักๆ
คนที่เจริญสตินี่หรือทำสมาธิก็ตาม ดูเถอะ..ถ้าเราทำแล้วมันเครียดมันหนัก ปวดศีรษะ แน่นหน้าอก ปวดตามหัวไหล่ อึดอัด บางทีคลื่นไส้อาเจียนเลย อันนี้เกิดจากว่าเราไปยึดมั่นถือมั่น ไปกดทับ กดทับให้มันสงบ ขับไล่ความคิดความปรุงแต่งฟุ้งซ่านในจิตใจเรา นี่ธรรมชาติลงโทษให้เราเป็นทุกข์ละ แต่ถ้าเราเจริญสติเพียงแค่รู้เฉยๆ โอ..มันสงบก็รู้มัน มันไม่สงบก็รู้มัน มันเผลอมันหลงลืมก็รู้ อันนี้ใจเรามันจะผ่อนคลายนะ ถ้าใจคนที่ปฏิบัติแล้วผ่อนคลายสบายๆ รู้สึกตัวอยู่สบายๆ เบาๆ ไม่เคร่งเครียด อันนี้ถือว่าถูกทางแล้ว การปฏิบัติธรรมนี่ก็เพื่อความพ้นทุกข์ ไม่ใช่เพื่อการหาทุกข์ใส่ตัวเรา นี่คือความผ่อนคลาย แม้ว่าเราทำแบบปกติแล้ว ไม่ไปยึดมั่นไม่ยึดติดอะไร ไม่ต้องการอะไร นี่แค่รู้เฉยๆ ถ้าเราไปบังคับกดข่ม แทนที่จิตมันจะสงบกลับฟุ้งซ่านหนักเข้าไปอีก แต่ว่าเราเพียงแค่รู้สึกตัวเฉยๆ รู้เฉยๆ รู้สึกอย่างนี้ ก็เกิดความสงบได้ง่าย..ใช่มั้ย และจิตมันไม่เครียด มันเป็นปกติ การปฏิบัติธรรมมันก็เป็นเรื่องยากเป็นธรรมดานะ มันก็ต้องมีความยากบ้าง ง่ายบ้างก็มี บางคนบอก โอ..การปฏิบัติธรรมนี่ง่ายนะ อันนั้นก็ถูกของเค้า บางคนปฏิบัติแล้ว โอ..มันยากเหลือเกินนี่ ทำได้ยากมาก มันก็ถูกอีกละ อันนี้เป็นเรื่องธรรมดาเลยนะ เป็นความจริงที่เราต้องเผชิญ มีทั้งความยากความง่าย การทำอะไรก็ตามนี่มันก็มีสองอย่าง ไม่ยากก็ง่าย ถ้าเราอยากจะหนีความยากความง่ายละก็ ไม่ต้องทำอะไรเลย มันก็ไม่ได้อะไร เพราะฉะนั้นไม่เป็นไรหรอก มันยากก็ดีนะ บางทีมันก็เกิดการท้าทาย อะไรก็ตามที่มันง่าย ทำง่ายไปซะหมดนี่ บางทีมันจืดมันเซ็ง..ใช่มั้ย อะไรๆ ก็ง่ายๆ บางทีมันจืดมันเซ็ง บางทีมันเบื่อๆ มันไม่ค่อยมีรสชาติเลย แต่ถ้าการกระทำบางอย่างนี่มีความยาก โอ..มันมีรสชาติมาก มันเกิดการท้าทาย ง่ายก็อย่าประมาท ถ้าเกิดความยากก็อย่าท้อแท้ ท้าทายมัน ถ้าเกิดการท้าทายนี่มันจะมีความกระตือรือร้น กระตือรือร้นที่จะเอาชนะสิ่งนี้ให้ได้ ความยากความลำบากมันจะแค่ไหนกัน คิดท้าทายซะบ้าง โอ..กิเลสตัวน้อยๆ บางที เอ้า..ไม่มีตัว มองไม่เห็น มองไม่เห็นตัวนี่มันซะแค่ไหนกัน มันจะเท่าไหร่กัน ต้องรู้จักที่ว่า..เขียนเสือให้วัวกลัวซะบ้าง มองภูเขาเป็นกองทรายเล็กๆ ซะบ้าง มันอยู่ที่ใจเราวิธีคิด โอ..มันไม่เท่าไหร่หรอก ไม่เป็นไรหรอก อย่างนี้ยังไหว..ใช่มั้ย
ถ้าเราคิดแบบนี้นี่ โอ..อุปสรรคต่างๆ นี่มันแทบจะล้มละลายเลยนะ เพราะใจเรามันมีกำลังใจเหนืออุปสรรคเหล่านั้น มันยากก็ไม่เป็นไรหรอก เรื่องเล็ก เอาเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็กซะ เราจะมีความกระตือรือร้นที่จะทำในสิ่งนั้น มันมีรสชาติ การปฏิบัติธรรมก็เป็นอย่างนี้แหละ ยากก็ท้าทาย มันไม่ใช่ว่าเราจะยากคนเดียวหรอก ไม่ใช่ว่าเราจะยากคนเดียวหรอก โอ..มันยากทุกๆ คนแหละ ครูบาอาจารย์ แม้แต่พระพุทธเจ้า ท่านก็ยากลำบากมาก่อน นี่พระสาวก ครูบาอาจารย์ เพื่อนของเรา มันยากด้วยกันทั้งนั้น โอ..ยิ่งผมนี่ยิ่งยาก การมีชีวิตที่ผิดปกติ ร่างกายผิดปกติทุพพลภาพ เพียงแค่การใช้ชีวิตก็ยากแล้ว แต่ความยากนี่มันนำมาสู่ความทำให้เรารู้จักอดทน เข้มแข็ง ดูตัวเรามีคุณค่ามากยิ่งขึ้น อุปสรรคนี่เป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว เมื่อก่อนว่ายาก โอ..ถ้าเราฝ่าฟันไปได้ละมันไม่ยากหรอก มันเกิดความรู้ เห็นมั้ย.. การใช้ชีวิตนี่ แม้แต่การปฏิบัติธรรมนี่ก็ยาก ผมมีอิริยาบถไม่สม่ำเสมอ มีแต่นอนกับนั่ง ยืนก็ไม่ได้ เดินก็ไม่ได้ ดูแล้วมันดูจะยากกว่าคนอื่น แต่ไม่เป็นไรหรอก ไม่เป็นไร ยิ่งเห็นทุกข์บ่อยๆ มันก็ยิ่งเห็นธรรมะ เห็นทุกข์นี่เห็นธรรมะ เห็นความลำบากนี่มีสิทธิ์ที่จะพ้นทุกข์ได้ พ้นความลำบากได้ ถ้าเราไม่ยากไม่ลำบากแบบนี้เราคงจะไม่มาสนใจธรรมะหรอก เราคงจะประมาทหลงระเริงไปกับสิ่งโลกๆ แล้วก็ยึดมั่นถือมั่นแบกทุกข์มากกว่าเดิม หนีความจริง..เห็นมั้ย อุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในตัวเรานี้ โอ..กลายเป็นสิ่งที่ยั่วเย้าจิตใจเรา ต้องเอาชนะมันให้ได้ โดยการให้รู้เท่าทันมัน แล้วความยากความลำบากจะกลายเป็นสิ่งท้าทาย เพราะฉะนั้นพวกเรานี่ที่ปฏิบัติธรรมอย่าคิดว่ามันยาก มันยากก็ดีเราจะได้รู้จักเอาชนะมัน มันสบายก็ดีเพราะเป็นบุญของเรา มันเกิดการท้าทายได้ทั้งนั้นเลย ไม่มีวิธีการปฏิบัติธรรมแบบไหนหรอกที่ง่ายแบบไม่มีอุปสรรคเลย วิธีแบบไหนที่ไม่มีอุปสรรคเลย..ไม่มีหรอก มันมีทั้งนั้น จะมีมากมีน้อยนี่ขึ้นอยู่กับการวางจิตวางใจของเรา
เพราะฉะนั้นมันลำบากบ้างมันยากบ้างมันก็ดี มันเกิดการท้าทาย ทำให้ชีวิตนี่มันมีรสชาติ การปฏิบัติธรรมที่มีรสชาติต้องผ่านอุปสรรค ถ้าเราทำให้มันสนุกก็สนุกได้ มันสนุกนะการปฏิบัติธรรมที่มันยากๆ สนุก มันจะกลายเป็นชีวิตที่มีชีวา..ชีวิตที่มีชีวา ถ้าเราใช้ชีวิตแบบไม่มีชีวานี่ มันก็เซ็งๆ เบื่อๆ มันก็ไม่กระตือรือร้น มันไม่มีรสชาติ ชีวิตที่มีชีวานี่เป็นชีวิตที่มีรสชาติ โดยเฉพาะเรื่องการเจริญสตินี่ [13:07] การเจริญสตินี่มันเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้พบกับความเป็นจริง สตินี่ทำให้เรากล้าหาญที่จะเผชิญหน้ากับความเป็นจริง แม้ว่าสิ่งนั้นอาจจะถูกใจเราหรือไม่ถูกใจเรา เราก็รู้จักที่จะยอมรับแล้วก็ทำความเข้าใจ แล้วก็เอาชนะสิ่งนั้นได้ด้วยการรู้เท่าทัน แล้วก็รู้จักปล่อยวาง ความยึดมั่นถือมั่นมันก็ค่อยๆ จางคลายไป มันก็ใช้ชีวิตแบบมีความสุขได้ เพราะฉะนั้นการเจริญสตินี่สำคัญมาก ผู้ที่ปฏิบัติใหม่ๆ นี่ก็อย่าไปคิดอะไรมาก อย่าไปตั้งใจคิด อย่าไปเจตนาคิด เวลานี้ไม่ใช่เวลาคิด เป็นเวลาเจริญสติ เราจะได้เห็นความคิดได้ง่ายๆ เห็นจิตเห็นใจได้ง่ายๆ เพราะถ้าเราไปตั้งใจคิดแล้วนี่มันจะสับสนระหว่างความคิดที่เราตั้งใจคิดด้วยสติ กับความคิดที่มันปรุงแต่งขึ้นมา มันจะเกิดการสับสนว่า เอ้อ..อันไหนเป็นของจริง..ใช่มั้ย อย่าเพิ่งไปเจตนาคิด ปล่อยให้มันคิดปรุงแต่งมาโดยธรรมชาติ เราก็คอยรู้มัน คอยรู้มัน อ๋อ..คิดแล้วนี่ เราก็รู้ ผ่านแล้ว มันโกรธเราก็รู้ มันเกิดความอยากความไม่อยากเราก็รู้ แค่รู้เฉยๆ จิตมันก็จะผ่านไปอย่างผ่อนคลาย เป็นปกติ สำคัญนะนี่ อยากให้พวกเราได้ทำตรงนี้ให้มากๆ ขยันสร้างสตินี่ หมั่นเอาจิตใจของเราออกจากความทุกข์ซะบ้าง ออกจากความโกรธ ออกจากความทุกข์ ออกจากความหลง เราจะโกรธจะทุกข์จะหลงไปจนตายหรือ เราต้องสมัครใจจะลาออกจากสิ่งเหล่านี้ซะบ้าง การลาออกนั้นก็ไม่ใช่อะไร ก็เพียงแต่มาขยันทำความรู้สึกตัว ขยันเจริญสติ รู้กายรู้จิตไปเรื่อยๆ เท่ากับเป็นการประกาศลาออกไปเรื่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ อย่างนี้แบบไม่ต้องไปหวังผลอะไร ผลของการปฏิบัตินี่จะเกิดมาเป็นอย่างไรนั้นไม่สำคัญเท่ากับว่าเราได้ลงมือปฏิบัติแล้ว.