แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
[01:14] ขณะนี้จิตใจของเรายังคงเป็นปกติดีอยู่มั้ย?
เรื่องร่างกายนี่ก็เป็นเรื่องธรรมดานะ มันก็ย่อมมีความเจ็บป่วยเป็นโน้นเป็นนี้ เมื่อยล้าอ่อนแรงเป็นธรรมดา ดีแล้ว..นี่เป็นธรรมชาติของเค้าส่วนของร่างกาย ก็ดูแลเค้าพอสมควรนะ..เป็นหน้าที่ของเรา แต่ที่สำคัญนะก็คือ ต้องที่จิตใจ ใจเรานี่เป็นสิ่งที่สำคัญมากเป็นที่สุดแล้ว เราต้องดูแลเค้าให้มาก เพราะใจเรานี่เป็นที่ตั้งของความสุขของความทุกข์ ใจเราเป็นที่ตั้งของความรู้และก็ความหลง ลองดูซิว่าขณะนี้เรากำลังรู้หรือกำลังหลง กำลังรู้สึกตัว ฟังอยู่หรือกำลังหลงลืมตัวไปกับความคิดนึกปรุงแต่ง กลับมา กลับมาสู่บ้านของเรา บ้านของจิตใจ คือความเป็นปกติ ชีวิตที่เป็นปกติ คือชีวิตที่มีความรู้สึกตัว รู้อยู่ ดูอยู่ นี่คือความปกติของจิต เราไม่ต้องไปทำใจให้เป็นปกติหรอก เพียงแต่เรารู้สึกตัวว่าเรากำลังทำอะไร กำลังคิดอะไร อันนี้เท่ากับเป็นการพาจิตพาใจเราสู่บ้านของเรา คือความเป็นปกติ
เราลองประเมินดูก็ได้ว่าชีวิตที่ผ่านมานี่เรามีความรู้สึกตัวมาก หรือมีความหลงลืมตัวมาก เราก็พอจะประเมินดูได้นะ แต่ก็ไม่เป็นไรหรอกที่ผ่านไปแล้วก็แล้วไป แต่ตอนนี้เราสามารถที่จะสร้างภาวะของความเป็นปกติ คุ้มครองจิตใจเราให้มีความสุขได้ ชีวิตเรานี่มีการก้าวเดินไป ก้าวเดินทางด้านร่างกายและก็จิตใจ ก้าวเดินทางกายคือการเคลื่อนไหวไปข้างหน้า พัฒนาไม่หยุดยั้งกับร่างกาย จิตใจก็เช่นเดียวกัน จิตใจเราก็มีการก้าวเดินเหมือนกัน คือการพัฒนาทางด้านจิตใจ การก้าวเดินทางด้านร่างกายหรือจิตใจนี่ก็ตาม เราต้องเดินไปด้วยความรู้สึกตัว คิดไปด้วยความรู้สึกตัว ชีวิตเรานี่จะปลอดภัยมากถ้าเราใช้ชีวิตด้วยความรู้สึกตัว ความปลอดภัยในชีวิตของเรานี่จะมีมาก ความผิดพลาดก็จะไม่เกิดขึ้น
[04:41] ทุกครั้งที่เราดำเนินชีวิตด้วยความรู้สึกตัวนี่เราจะเริ่มรู้จักตัวของเรา รู้เรื่องของกาย รู้เรื่องของจิต เป็นเรื่องของตัวเรา เมื่อเรารู้จักตัวเราแล้วนี่ สิ่งที่ตามมานี่คือความสุข
ความสุขนี่จะเกิดขึ้นได้นะเมื่อเรารู้จักตัวเรา เพราะว่าทุกครั้งที่รู้จักตัวเรานี่ปัญหาต่างๆ นี่จะไม่เกิดขึ้น แม้ว่าจะเกิดปัญหาไม่ว่าจะเป็นทางด้านร่างกายหรือจิตใจก็ตาม เจ้าความรู้สึกตัวนี่เค้าจะช่วยแก้ไข อย่างน้อยไม่เข้าไปเป็นกับปัญหา ไม่เข้าไปผูกพันพันตูกับปัญหา เป็นเพียงแค่รู้ รู้เท่าทันในปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วก็จะพบวิธีการแก้ปัญหา แก้ไข ใจก็จะเป็นสุขเมื่อปัญหาเหล่านั้นถูกแก้ไขได้ นี่เป็นเพราะว่าความรู้สึกตัวนี่นำพาชีวิตเราไป ทำใจให้เป็นปกติผลจะเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อเรามีการปฏิบัติธรรมหรือมีความรู้สึกตัวนี่ ชีวิตเรานี่จะมีความพอดีนะ การปฏิบัติธรรมทำให้เกิดความพอดี การเจริญสติก็ทำให้เกิดความพอดี เมื่อมีความพอดีเกิดขึ้นในจิตใจเรา ก็มีความเป็นปกติ การใช้ชีวิตก็ใช้อย่างเป็นปกติ ปกติของชีวิตเราอย่างไรขึ้นอยู่กับแต่ละคน วิถีชีวิตแต่ละคนนี่ต่างกัน
ในความต่างของชีวิตก็มีความปกติอยู่ในตัวเดียวกัน การเข้าสู่สังคม การพบปะพูดคุย อันนี้ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เราจะเข้าสู่สังคม เข้าสู่การพูดคุยสนทนากัน ถ้าเราเข้าสู่เหตุการณ์เหล่านี้สถานการณ์เหล่านี้ด้วยความหลงลืมตัวนี่ ก็จะเกิดปัญหา การพูดคุยนี่มันจะมีแต่ความหลง เพราะว่าสังเกตดูมั้ย..เวลาเราพบปะเพื่อนฝูงพูดคุยกันหลายๆ คนนี่ ถ้าเรามีความหลงลืมตัวเมื่อไหร่ละก็ โอ..มันจะมีความพูดมาก ก็จะกลายเป็นคนพูดมาก บางทีแย่งกันพูด อันนี้เพราะขาดสตินะ การพูดเยอะพูดมาก แย่งกันพูดนี่ อันนี้คือทำให้เราขาดสติได้ง่าย แล้วความปกติของการสนทนานี่ก็จะเกิดขึ้นเหมือนกันนะ แต่เป็นความปกติของความวุ่นวาย ถ้าเรามีสติก่อนจะพูดสักหน่อย เราจะเห็นความคิด ความคิดที่คิดอยากจะพูดน่ะ โอ..สติมันจะเห็นนะ โอ..นี่มันอยากจะพูดนี่ สติจะเห็นความคิดอยากจะพูด บางทีไม่ต้องพูดเลย เพราะว่าสิ่งที่จะพูดนี่บางทีมันไร้สาระ ไม่ต้องพูดก็ได้ เค้าจึงบอกว่า
[08:08] ก่อนพูดต้องคิดทุกครั้ง คิดก่อนจะพูด ต้องคิดก่อน แต่บางทีพอคิดแล้วไม่ต้องพูดก็ได้ นี่แสดงว่าคิดแล้วไม่ต้องพูดก็ได้ อันนี้คือสติเข้ามาช่วยแล้ว
บางครั้งนี่การพูดมากก็มีโอกาสผิดมากได้เหมือนกัน คำพูดบางคำนี่บางทีทำให้เราช้ำใจไปนาน ช้ำใจไปกระทั่งตลอดชีวิตก็มีนะ เราไม่น่าพูดคำๆ นี้ไปเลย เราไม่ควรพูดคำๆ นี้ไปเลย เมื่อพูดไปแล้ว โอ..เรากลับกลายมาต้องแก้ไข มาเป็นทุกข์เพราะคำพูดของเรา อันนี้เพราะพูดด้วยการขาดสติ ถ้าเรามีสติแล้วนี่เราจะเป็นผู้พูดที่ดี แล้วก็เป็นผู้ฟังที่ดี เพราะฉะนั้นก่อนจะพูดในวงสนทนาให้มีความรู้สึกตัวก่อน บางทีเราจะไม่ต้องพูดอะไรเลย มีแต่ความรู้สึกตัว..ฟังอยู่ เมื่อมีโอกาสก็พูดได้ แต่ก็จะพูดแบบไม่มาก พูดเท่าที่จำเป็น พูดมากสติมันก็น้อย ถ้ามีสติแล้วนี่คำพูดจะไม่มาก จะมีคำพูดที่ชัดเจนแล้วก็..ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน
สังคมของการพูดนี่สำคัญนะ จะต้องมีความรู้สึกตัว แล้วสิ่งที่เป็นปกติอย่างหนึ่งก็คือ เราต้องทำงาน เราต้องทำงาน..ชีวิตต้องใช้กำลังงาน ใช้ความคิด งานบางอย่างนี่เราต้องใช้คำพูด แล้วก็ต้องใช้ความคิด แต่ไม่เป็นไรหรอก จะพูดก็ตาม จะคิดก็ตาม ให้มีสติด้วย ให้สลับกับการมีสติ พูดไป อ่ะ..สติเกิดตาม ก่อนจะพูด เอ้า..มีสติเกิดด้วย เวลาคิดก็อย่าลืมที่จะมีสติ ตามรู้ตามดูหลังจากที่คิด เพราะความคิดนี่จะเกิดพร้อมสติไม่ได้นะ ต้องคิดก่อนแล้วจึงจะมีสติตามรู้ว่าจิตคิดอะไร หรือบางทีสติเกิดก่อนแล้วค่อยคิดตามหลัง ทุกครั้งที่จิตคิดนี่เราอย่าเผลอ อย่าปล่อยให้จิตคิดในเรื่องงานเรื่องสิ่งทั้งหลาย การทำงานนี่บางทีคิด ต้องใช้ความคิดบางทีเราเคยชินนะ เคยชินไปกับความคิด โอ..คิดมากเลย แล้วก็เผลอไป ปล่อยจิตปล่อยใจให้ตกไปในเกลียวของความคิด บางทีจิตจะเหนื่อย ถ้าเรามีสติแอบๆ ดูจิตใจเราบ้าง ขณะคิดอะไรเพลินๆ นี่เราลองแอบๆ ดูจิตใจเรา รู้สึกอย่างไร พอใจหรือไม่พอใจ คิดอะไร แอบดูจิตใจเราขณะคิดบ้าง สตินี่ช่วยตัดความคิดนะ ทำให้จิตนี่ผ่อนคลายชั่วขณะหนึ่ง บางทีเราคิดเพลินนะ คิดไปทำให้จิตใจเราเครียดเราก็ไม่รู้ตัว [11:27] แต่ถ้าเราลองแอบๆ ดูความคิดเรา รู้สึกตัวดูซิว่าเราคิดอะไร ในช่วงของการแอบดูความคิดแอบดูจิตใจเรานี่ เป็นช่วงของการทำให้จิตใจเรานี่ผ่อนคลาย ความคิดจะไม่เกิดขึ้นในขณะนั้น เป็นการช่วยจิตช่วยใจเราไม่ให้ปรุงแต่งจนทำให้จิตใจเครียด
ทุกครั้งที่จิตคิดนี่เราดูเถอะ
คนที่มีความรู้สึกตัวนี่จะเห็นว่าจิตนี่เป็นทุกข์ เมื่อจิตคิดจิตก็ทุกข์แล้วเพราะมีการเกิดดับ มันเกิดเมื่อมันคิด มันดับเมื่อมันไม่คิด มันรู้สึกตัวคือการเกิด พอหมดความรู้สึกตัวไปจิตก็ดับ กลายเป็นความหลง อะไรเกิดขึ้นในจิตใจนี่จิตก็ต้องเป็นทุกข์แล้ว คิดจิตก็เป็นทุกข์แล้ว มีสติแอบดูเค้าซักหน่อย รู้เค้าซักหน่อยเป็นการช่วยจิตช่วยใจ เจ้าความรู้สึกตัวนี่แหละเค้าช่วยป้องกันจิตใจ ไม่ให้ไปเสพติดอารมณ์ ทำให้จิตใจเราเกิดความผ่อนคลาย นิสัยของจิตใจเรานี่มันชอบสำส่อนคือไปกับอารมณ์ไม่เลือก เวลามีอารมณ์ดีมากระทบ อ้า..จิตใจเราก็ไปกับอารมณ์ดี ดีใจพอใจ..ใช่มั้ย เผลอเพลินไปเลย มันก็เหน็ดเหนื่อยเหมือนกันนะ ความคิดดีๆ อารมณ์ดีๆ บางทีอารมณ์ไม่ดีมากระทบ ความหงุดหงิดความไม่พอใจไม่สบายใจมากระทบจิตใจ จิตใจเราก็ไปกับอารมณ์ที่ไม่ดี..ใช่มั้ย จะไม่เรียกว่าสำส่อนได้อย่างไร คือไปไม่เลือก อันนี้เป็นธรรมชาติของเขานะ อารมณ์ดี เอ้า..ก็ไปกับเค้า อารมณ์ไม่ดีก็ไปกับเค้า เป็นจิตที่สำส่อน
หลวงพ่อคำเขียนนี่ใช้คำพูดที่หนักกว่าผมอีก ท่านบอกว่าเป็นโสเภณีจิต แต่ว่าความรู้สึกตัวนี่เค้าจะช่วยจิตใจได้ตอนนี้ ช่วยป้องกันจิตใจไม่ให้ไปเสพอารมณ์นานเกินไป ทุกครั้งที่มีความรู้สึกตัวนี่จิตก็จะเป็นปกติ กลับบ้านปลอดภัย ไม่เหน็ดเหนื่อยไปกับอารมณ์ เพราะฉะนั้นการทำงานนี่อย่าลืมรู้สึกตัวด้วย ความรู้สึกตัวนี่ช่วยกายช่วยใจเราให้เป็นปกติ ให้เกิดความพอดี ความพอดีของกายนี่ก็คือเมื่อเวลาเหน็ดเหนื่อยแล้วก็หยุดพัก ก็จะเกิดความพอดี ความพอดีของจิตเมื่อคิดเหน็ดเหนื่อยคิดมาก เมื่อมีความรู้สึกตัวนี่ก็จะรักษาภาวะของจิตให้เกิดความพอดี คือเป็นปกติ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมคือการทำกายทำใจให้เกิดความพอดี จะพอดีได้นั้นต้องมีความรู้สึกตัว
การปฏิบัติธรรมนี่ต้องช่วยกายช่วยใจนะ ช่วยกายช่วยใจ รักษากายใจให้เป็นปกติ เมื่อเหน็ดเหนื่อยทางกายก็หยุดพัก เมื่อเหน็ดเหนื่อยทางจิตต้องเปลี่ยนอิริยาบถ ไปมองสิ่งอื่น ไปทำสิ่งอื่นซะบ้าง เพื่อเป็นการช่วยกายช่วยใจให้เป็นปกติ อันนี้เป็นการปฏิบัติธรรม แต่การช่วยกายช่วยใจนั้นอย่าช่วยฟรีๆ อย่าช่วยโดยสัญชาตญาณต้องเติมความรู้สึกตัวลงไปด้วย การเติมความรู้สึกตัวไปกับการเคลื่อนไหวของกาย ไปกับการคิดนึกของจิต เมื่อจิตคิดก็รู้สึกตัว เมื่อกายเคลื่อนไหวไปทำอะไรก็รู้สึกตัว เป็นการสร้างนิสัยที่ดี นิสัยที่จะรู้สึกตัว จะเกิดความเคยชินแบบใหม่ เคยชินที่จะรู้สึกตัวนำหน้าความเคยชินที่จะหลงลืมตัว
[15:36] เมื่อเราใช้ชีวิตด้วยความรู้สึกตัวแล้วความเคยชินที่จะมีสติไม่หลงลืมตัวก็จะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ นี่แหละคือการใช้ชีวิตแบบปกติและก็พอเพียง พอสมควร พองาม ทำให้จิตใจเราเกิดความสุขและก็ความสบาย.