แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
...ความทุกข์เกิดที่จิต เพราะเห็นผิดเมื่อผัสสะ
ความทุกข์จะไม่โผล่ ถ้าไม่โง่เมื่อผัสสะ
ความทุกข์เกิดไม่ได้ ถ้าเข้าใจเรื่องผัสสะ...
ท่านพุทธทาสภิกขุ
[01:11] การสอนคนมีวิธีการสอนได้หลายวิธีด้วยกัน บางทีเราก็ใช้วิธีการพูดให้ฟัง บางทีก็เป็นการสอน ทำตัวอย่างให้ดู อยู่ให้เห็น หรือจะเย็นให้ได้สัมผัส อันนี้ก็เป็นวิธีการสอนอย่างหนึ่ง ซึ่งเราสามารถที่จะสัมผัสได้ การพูดให้ฟัง การทำตัวอย่างให้ดู นี่สำคัญมาก เป็นการชี้ให้ทำ ต่างกันนะ พูดให้คิดกับชี้ให้ทำ อย่างเมื่อกี้นี้มีคำขึ้นต้นที่ว่า "ความทุกข์อยู่ที่จิต เพราะทำผิดเมื่อผัสสะ" บางทีเราก็สงสัย เอ..ผัสสะ.. นี่หมายถึงอะไร ผัสสะ..นี่ก็คือการกระทบ ต้องมีตากระทบกับรูปที่มากระทบทางตา แล้วก็มีวิญญาณที่จักขุประสาทนี่ ที่กระทบกันแล้วนี่ก็เกิดวิญญาณ คือการรู้ คือการเห็นทางตา มีประสาทตาด้วย แล้วก็มีรูปมากระทบทางตา แล้วก็มีการเกิดวิญญาณ..เห็น อันนี้ละเรียกว่า..ผัสสะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็เป็นผัสสะทั้งนั้น คือการกระทบ ถ้าเราขาดสติ ไม่มีสติในการกระทบแต่ละครั้งๆ นี่ ทางทวารไหนก็ตาม ใจก็จะเป็นทุกข์นะ ถ้ามีสติเมื่อไหร่ละก็ทุกข์ก็จะไม่เกิดขึ้น ถ้าขาดสติในการกระทบละก็เกิดทุกข์ทันที นี้ก็เป็นวิธีการสอนอย่างหนึ่ง ซึ่งสอนแล้วก็ชี้ให้ทำให้ปฏิบัติได้ทันทีเลย
ผมเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่งนะนานแล้ว ก็มีกระทาชายนายหนึ่งซึ่งฉลาดในการสอนคน สอนแบบพูดให้ฟัง แล้วก็ทำตัวอย่างให้ดูด้วย ท่านก็ไปในที่ชุมชนที่มีคนผ่านไปมามากมาย ท่านไปหาพริก..พริกขี้หนูนี่ พริกเผ็ดๆ นี่ เอามาวางไว้เป็นกองๆ รอบตัว เอาวางไว้แล้วก็หยิบพริกทีละเม็ดนี่ขึ้นมาเคี้ยว แล้วก็คายทิ้ง หยิบพริกขึ้นมาเคี้ยว แล้วก็คายทิ้ง เหมือนจะหาอะไรสักอย่างหนึ่ง เม็ดแล้วเม็ดเล่าที่ท่านเคี้ยวพริกแล้วก็คายทิ้ง จนน้ำตานี่เล็ดน้ำลายไหล เอ..แต่ก็ยังไม่ท้อถอยนะ ทำอย่างนั้นเรื่อยไป คนที่ผ่านมานี่เขาก็นึกแปลกใจ ก็หยุดดูว่าชายผู้นี้นี่เขาทำอะไรนะ มานั่งเคี้ยวพริกแล้วก็คายทิ้งๆ จากหนึ่งคนที่มายืนดูนี่ ก็กลายเป็นสองคนสามคน มุงดูกันเต็มเลยนี่ อันนี้เป็นเรื่องธรรมดานะ ในสมัยนี้ก็มีมากใครทำอะไรแปลกๆ นี่ โอ..คนชอบไปยืนดู แปลกดี อยากจะรู้ๆ
ก็มีชายคนหนึ่งนึกสงสัยว่านี่ คนนี้มานั่งเคี้ยวพริกเพื่ออะไรกัน ก็ถามว่า คุณๆ คุณทำไปทำไมนี่ คุณทำอะไรอยู่นี่ ชายคนนี้ก็ไม่ตอบหรอก ก็หยิบพริกขึ้นมาแล้วก็เคี้ยวๆ แล้วก็คายทิ้ง น้ำหูน้ำตาไหลอย่างนั้นแหละ แล้วก็อีกคนหนึ่งก็ถามว่า คุณทำเพื่ออะไร คุณจะบ้าหรือ กระทาชายนายที่เคี้ยวพริกก็บอกว่า อ้อ..เรากำลังแสวงหาพริกที่มีรสหวานนะ นี่เป็นการสอนเลยนะ เรากำลังแสวงหาพริกที่มีรสหวาน ท่านผู้ที่อยู่ใกล้สถานที่นั้นก็บอกว่า ท่านจะบ้าหรือ ท่านจะหาพริกที่ไหนที่มีรสหวานนะ ไม่มีหรอกในโลกนี่ ตรงนี้แหละ..กระทาชายนายนี้ก็เลยเลิก หยุด..ที่จะหยิบพริกขึ้นมาเคี้ยว ถือโอกาสสอนเลยว่า พวกท่านก็เหมือนกันนะ สอนเลยนะ..ท่านก็เหมือนกันนี่ ท่านมุ่งแต่จะแสวงหาความสุข ซึ่งความสุขในโลกนี้ก็ไม่มีเหมือนกันนะ มันก็เหมือนอย่างกับเรานี่ นั่งเคี้ยวพริกเพื่อจะหาพริกที่มีรสหวานนะ ในโลกนี้ไม่มีหรอกความสุข เชิญท่านแสวงหาไปเถอะไม่มีวันเจอ นี่ก็เป็นการสอน น่าคิดนะ กระทาชายนายนี้ฉลาดในการที่จะสอนคน
ซึ่งเราเองก็เคยได้ยินได้ฟังว่า [06:08] พระพุทธองค์นี่ท่านก็ตรัสสอนเรื่องนี้เหมือนกันท่านบอกว่า ในโลกนี้ไม่มีอะไรเกิดไม่มีอะไรดับ นอกจากทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นที่ดับลง นอกจากทุกข์แล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้นไม่มีอะไรดับไป อันนี้เป็นสัจธรรม แสดงว่าความสุขไม่มีหรอกในโลก มีแต่ความทุกข์ จะมีทุกข์มากทุกข์น้อยเท่านั้นเอง ถ้าหากว่ามีความสุขแสดงว่าทุกข์มันน้อย
สุขะ แปลว่าทนง่าย
ทุกะ แปลว่าทนได้ยาก
สุขไม่มี มีแต่ทุกข์น้อยลง
ไม่ใช่กับอุณหภูมินะ..ความร้อนนี่มีแต่ร้อนมากร้อนน้อย ความเย็นไม่มีนะ มีแต่ร้อนมากร้อนน้อย ถ้าร้อนน้อยละก็เย็น..ถือว่าเย็นนะ นี่ถือว่าเป็นสัจธรรมเหมือนกัน เป็นวิธีการสอน เพราะว่าพระพุทธองค์ท่านจะทรงแสดงว่า กายกับจิตนี่ที่เรายึดถือว่าเป็นตัวเรานี่ เป็นที่ตั้งแห่งกองทุกข์ ก็จะต้องคอยแก้ไข ต้องคอยเยียวยา ต้องคอยดูแลเขาอยู่เรื่อยๆ เป็นภาระ กายจิตเป็นที่ตั้งแห่งกองทุกข์ ถ้าเราสามารถที่จะปล่อยวางกายปล่อยวางจิตเสียได้ละก็ ความทุกข์ใจก็จะไม่เกิดขึ้นเลย
อันนี้เป็นวิธีการ การจะปล่อยวางกายปล่อยวางจิตได้นั้นจะต้องมีการปฏิบัติธรรม มีการเจริญสติ ทุกข์ใจก็จะหมดไป ถึงแม้ว่าทุกๆ ท่านนี่จะต้องดำเนินชีวิตอยู่ในกองทุกข์นี้แล้ว ก็ไม่เป็นไรนะ เรายังมีสิทธิ์ที่จะเลือกได้ มีสิทธิ์ที่จะเลือกที่จะออกจากความทุกข์ได้ ถ้าเราใช้ชีวิตแบบไม่สร้างเหตุของความทุกข์ คือความโลภ ความโกรธ ความหลง ตัณหานี่แหละก็คือเป็นที่มาแห่งความทุกข์ ถ้าเราอยู่ด้วยการลดละตัณหา ลดละกิเลสได้เมื่อไหร่ละก็ ทุกข์มันก็จะคลายลงเหมือนกัน จะกลายเป็นความเย็น จากร้อนกลายเป็นเย็นได้เหมือนกัน แต่ถ้าเราใช้ชีวิตแบบสร้างเหตุของความทุกข์ คือโลภให้มากเข้าไว้ โกรธให้มาก หลงให้มากนี่ ทุกข์มันก็จะเกิดขึ้นที่จิตใจเราไปจนตายเลย
แต่ถ้าเราอยู่แบบปฏิบัติธรรมมีสติ ลดละเหตุของความทุกข์ในจิตในใจได้เมื่อไหร่ละก็ ความเย็นอกเย็นใจก็จะเกิดขึ้น จะเรียกว่าเป็นความสุขก็ได้ สมมติเรียกว่าคือความสุข คือความเย็นอกเย็นใจ เพราะทุกข์มันคลายไปจนกระทั่งหมด ซึ่งในชีวิตประจำวันนี่เราสามารถทำได้ ทำได้เดี๋ยวนี้เลยนะ เพียงแต่ขอให้เราย้อนกลับมาดูตัวเรา ให้เรารู้จักพอใจเสียหน่อย พอใจในสิ่งที่เรามีพอใจในสิ่งที่เราเป็น พอใจในงานที่เราทำ พอใจในผลของงาน พอใจในสิ่งตอบแทนค่าตอบแทนที่เราได้รับ
แค่เรามีความพอใจนี่ใจเราก็จะเริ่มมีความสุขแล้ว บางทีก็ต้องยอมรับ รู้จักยอมรับสถานภาพในความมีความเป็นของเรา
เราเกิดมามีร่างกายเป็นแบบนี้ มีความเจ็บไข้ได้ป่วย มีความพิกลพิการ รู้จักยอมรับเสีย อ้อ..มันเป็นเรื่องธรรมดานะ การยอมรับนี่ทำให้ใจผ่อนคลาย ยอมรับในงานที่เรากระทำ บางทีงานที่เราทำนี่เป็นงานสุจริตแต่ใจเราไม่ชอบนะ ถ้ามันสุจริตละก็ โอ..ดีแล้ว รู้จักยอมรับ เราก็จะทำงานแบบมีความสุขได้เหมือนกัน งานสุจริตไม่เบียดเบียนใครให้เดือดร้อน ได้ค่าตอบแทนเพียงแค่นี้ เรายอมรับไปเสียใจก็จะมีความสุข นี่ช่วยเราได้ บางทีเราต้องรู้จักปล่อยวาง ปล่อยวางสิ่งที่ค้างคาใจ ความโกรธความหงุดหงิด ความไม่พอใจ อึดอัดขัดเคือง ที่ใดก็ตามบุคคลใดก็ตามที่ทำให้เราไม่สบายใจละก็ เรารู้จักปล่อยวางเสียบ้าง มีสิ่งค้างคาใจเป็นอารมณ์ที่เราติดยึดอยู่ เราลองปล่อยวางดูเสียบ้างสิ ใจเราก็จะสบายนะ พอมันสบายมันก็มีความสุข สุขน้อยๆ อยู่ในจิตใจเรา
รู้จักให้อภัย ไม่เป็นไรหรอก..เรื่องแค่นี้ไม่เป็นไรหรอก ให้อภัยเสีย
ให้อภัยแล้วนี่ใจเราก็จะเย็นลง เลิกที่จะจับตาดูผู้อื่นเสียบ้าง บางทีเราหาความสุขไม่ได้เพราะว่าเรามุ่งแต่จะจับตาดูผู้อื่นจับผิดผู้อื่น การจับตาดูผู้อื่นค้นหาความผิดของผู้อื่นนี่ ชีวิตเราจะไม่มีความสุขเลย เป็นทางตันของชีวิตเลย เพราะว่าถ้าเราจับตาดูใครก็ตามถ้าเขาทำความดี บางทีเราก็อิจฉาเขา..ใช่ไหม เราจะจับผิดเขานี่ ถ้าเขาทำความดีไปอิจฉาเขา อิจฉานี่ใจเรานี่จะไม่มีความสุข เขาถึงได้ว่าอิจฉาตาร้อน แล้วจะนอนไม่หลับ แล้วก็ไม่มีความสุข ถ้าหากเขาทำความผิดทำความชั่ว เราไปจับตาดูเขา บางทีเราสมน้ำหน้าเขา บางทีเราหงุดหงิดสมน้ำหน้า มันไม่ดีหรอกไปจับตาดูคนอื่นจับผิดคนอื่นนะ เราจะไม่มีความสุขเลย สู้เราหันมาจับตาดูตัวเรา ดูกายดูใจเราด้วยสติ รู้เท่าทันปัญหาที่เกิดขึ้นในจิตในใจเรา รู้เท่าทันปัญหาที่ค้างคาใจเรา แล้วก็ละเหตุของปัญหานั้นเสีย ละที่เหตุเลย ปัญหาก็จะค่อยๆ หมดไปๆ..ใช่ไหม เหมือนไฟที่ลุกโชน แต่เราค่อยๆ เอาเชื้อไฟออกเสีย ไฟนั้นก็จะดับลง เราก็จะใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสงบเย็น เป็นความสุขแล้ว สุขในทางธรรม สุขในทางธรรมะเป็นความสุขอย่างยิ่งเลย สุขสงบเย็น เป็นความสุขที่เกิดจากจิตไม่มีกิเลสนี่ โอ..เป็นความสุขที่แท้จริงเลย เพื่อไปเป็นความสุขที่สูงสุดเลยก็ว่าได้
ผู้ที่จะแสวงหาความสุขนี่อาจจะพบได้ ถ้าเราปฏิบัติตัวเองให้ถูกต้อง เพราะว่าชีวิตเรานี่เกิดมาในกองทุกข์ ถ้าหากว่าเรารู้จักแสวงหาความสุขในกองทุกข์นี้ได้ละก็ จิตใจเราก็จะผ่อนคลายนะ จะสบาย
[12:57] ความสุขนี่สามารถเรียนรู้ได้จากความทุกข์ ผมยังเคยชอบที่หลวงพ่อพุทธทาสได้พูดไว้เสมอว่า นิพพานนี่เราหาได้จากวัฏสงสารนะ นิพพานมีได้ในวัฏสงสาร วัฏสงสารไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด กงกรรมกงเกวียนแห่งกองทุกข์ แต่ว่าในการเวียนว่ายตายเกิดนั้น มีนิพพานอยู่ในนั้นด้วยนะ ถ้าเราหาดูดีๆ คือในวัฏสงสาร เพราะฉะนั้นเรานักแสวงหาความสุข ถ้าเรายังมีความทุกข์อยู่ไม่เป็นไรหรอก เรายังมีโอกาสที่จะออกจากทุกข์ได้ ด้วยการมาปฏิบัติธรรมนี่แหละ ถ้ายังไม่ผิดหวังยังไม่ท้อแท้จนเกินไปละก็ อาจจะสมหวังก็ได้ อย่าท้อแท้ อย่าท้อถอย ในการที่จะดำเนินชีวิตเพื่อให้ชีวิตได้มีความสุข เรามีโอกาสเป็นอย่างนั้นได้ แม้ว่ากระทาชายนายหนุ่มคนนั้นบอกว่าความสุขไม่มีหรอก มันมีแต่ความทุกข์ ดูสิพริกแต่ละเม็ดนี่มันมีแต่ความเผ็ดความร้อน กินไปก็เผ็ดร้อน น้ำตาเล็ดน้ำลายไหล แต่นั่นเมื่อก่อนนะ แต่เดี๋ยวนี้นี่พริกที่หวานนี่มันก็มีนะ..ใช่ไหม ไม่น่าเชื่อนะ พริกนี่เม็ดใหญ่เสียด้วย หวานทานแล้วอร่อยนี่ มันก็ยังมีได้..ใช่ไหม เพราะฉะนั้นพริกไม่จำเป็นต้องเผ็ดร้อนเสมอไปหรอก พริกที่หวานมันก็ยังมีเหมือนกัน เช่นเดียวกันแม้ว่าเราอยู่ในความทุกข์ก็ตาม เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในกองทุกข์ก็ตาม ก็ยังมีนิพพานซ่อนอยู่ในสิ่งนั้นเหมือนกัน ซึ่งมีอยู่ก่อนทุกข์ด้วยซ้ำไป ดังที่พระพุทธองค์ท่านตรัสเป็นพุทธภาษิตไว้ว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง.