แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
[00:56] ผู้ใดทำใจให้ถึงความเป็นกลางได้ ผู้นั้นก็จะพ้นจากทุกข์ทั้งปวง เรียกว่าเป็นคำที่หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ได้กล่าวเอาไว้สำหรับผู้ที่ต้องการความพ้นทุกข์ เราตอนนี้นี่รู้สึกว่าจิตใจเรานี่เป็นกลางบ้างรึเปล่า ความเป็นกลางของจิตใจนี่เราอย่าไปคิดหา บางทีเราคิดเอานี่ยิ่งทำให้ใจเราไม่เป็นกลางใหญ่ รักษาภาวะของความเป็นปกติของใจเราไว้ ภาวะของความเป็นปกตินี่คือความเป็นกลาง ซึ่งมีอยู่ก่อนแล้วนะความเป็นกลางนี่ ความปกติของจิตที่ไม่ขึ้นไม่ลง ไม่ยินดีไม่ยินร้าย รู้สึกตัวอยู่ เป็นกลางๆ เป็นปัจจุบันอย่างนี้แหละที่จะเป็นปกติสบายๆ ทุกข์ยังไม่เกิดขึ้นนะ ถ้าปล่อยให้ความคิดมาครอบงำเมื่อไหร่ละก็ เดี๋ยวเริ่มแล้วเริ่มไม่เป็นกลางแล้ว เริ่มไม่เป็นปกติแล้ว ชีวิตเรานี่ต้องการเพียงแค่นี้ก็มีความสุขแล้ว อันที่จริงแล้วถ้าเราสำรวจดูชีวิตเราดีๆ นะ เราจะพบว่าชีวิตต้องการเพียงภาวะที่สมดุลระหว่างกายกับจิต อันนำมาซึ่งความปลอดโปร่งสบายใจ อาจจะต้องการเพียงแค่นี้ก็ได้ เพียงแต่ว่าเราต้องมีเวลาที่จะหันกลับมาดูตัวเอง มาดูกายดูใจเราด้วยความรู้สึกตัวนี่ เราก็จะได้คำตอบ ถ้าเราอาศัยสติหยั่งรู้ลงไปที่กายของเรา เราจะรู้ว่าร่างกายของเรานี่ไม่ต้องการอะไรมากเลยนะ กายไม่ต้องการอะไรมากเลย ขอเพียงแค่ปัจจัยสี่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย แล้วก็ยารักษาโรค อย่างพอดีไม่ขาดไม่เกิน ถ้าขาดไปก็มีปัญหา มากเกินไปก็มีปัญหาอีก อาจจะมีส่วนประกอบของกายก็คือ การออกกำลังกาย กายนี่ต้องมีการเคลื่อนไหวนะ การพักผ่อน การขับถ่าย การอยู่ในอากาศที่ปลอดโปร่งถ่ายเทได้สะดวก ชีวิตส่วนกายนี่ต้องการเพียงแค่นี้ นอกนั้นเป็นส่วนเกินทั้งนั้น ต้องการแค่ปัจจัยสี่ การออกกำลังกาย การพักผ่อน การขับถ่าย การอยู่ในอากาศที่ปลอดโปร่ง เพียงแค่นี้กายก็อยู่ได้แล้ว เรียกว่าเป็นความพอดีทางด้านร่างกาย ส่วนความพอดีของแต่ละคนแต่ละท่านนั้นอาจจะต่างกันบ้าง
อย่างเช่นว่าเรื่องอาหาร บางคนอาจจะทานอาหารชามเดียวอิ่มแล้ว อันนี้คือพอดีของเค้า บางคนต้อง ๒ ชาม บางคนต้อง ๓ ชาม จึงจะเกิดความพอดี การนอนก็เหมือนกัน การนอนการพักผ่อนนี่ แต่ละคนนี่มีความต้องการทางด้านร่างกายให้เกิดความพอดีต่างกัน อาจจะไม่เท่ากัน การใช้เครื่องนุ่งห่ม บางคนต้องใช้หลายชุดตามสมมติจึงเกิดความพอดี บางคนอยู่ในอากาศหนาวในถิ่นที่มีอากาศหนาว ก็ต้องใช้เสื้อผ้ามากหน่อย ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของแต่ละบุคคล คือเรื่องของความพอดีนี่ไม่มีใครบอกใครได้นะ ว่าต้องขนาดนี้เท่านี้นะเป็นมาตรฐาน ไม่ใช่ ความพอดีเราต้องกลับมาดูตัวเรา เราจะเข้าใจว่าตัวเรานี่ต้องการความพอดีแค่ไหน เช่นนักปฏิบัติธรรมบอกว่า เราจะทานอาหารแค่ไหนจึงจะเพียงพอต่อร่างกาย ไม่ต้องไปถามใคร เราต้องรู้เอง เราต้องนอนขนาดไหนจึงจะพอดี เราต้องรู้เอง พียงแต่เราอาศัยความรู้สึกตัวนี่สำรวจลงไปที่กายที่ใจเรา เราก็จะได้คำตอบ นี่ก็ส่วนร่างกาย ส่วนจิตใจนั้นถ้าเรามีความรู้สึกตัวระลึกรู้ลงไปที่จิตใจ เราจะรู้ว่าจิตใจนี่เค้ามีความเป็นปกติพอดีอยู่ก่อนแล้ว มีอยู่ก่อนแล้ว แต่ที่ทำให้จิตใจเราไม่ปกติไม่เกิดความพอดีนั้น อันนี้ก็ต้องยกให้เจ้าความคิดที่นำเอาตัณหาความพอใจความไม่พอใจมาสู่จิตใจ ทำให้จิตใจต้องแบกภาระของความไม่พอดี ทำให้ร่างกายต้องเหน็ดเหนื่อย เมื่อจิตใจเหน็ดเหนื่อยแล้วไม่เพียงพอนะ เพราะตัณหาปรุงแต่งนี่ก็ใช้ร่างกายไปทำงานไปทำหน้าที่ จึงเกิดการเหน็ดเหนื่อย ตัณหานี่เค้าไม่พอดีหรอกก็ดิ้นรนทะยานอยากเรื่อยไป ก็เป็นทุกข์ ทำให้ร่างกายกับจิตใจนี่ไม่เกิดภาวะสมดุล เบียดเบียนต่อกัน กายเบียดเบียนจิต จิตก็เบียดเบียนกาย ไม่เกิดความพอดี แต่ถ้าเรามีความรู้สึกตัว รู้อยู่ดูอยู่ เห็นอยู่ที่จิตใจเรา ความรู้สึกตัวนี่จะทำหน้าที่ขับไล่ตัณหาออกไปจากจิตใจ ภาวะเป็นปกติเป็นกลางก็จะเกิดขึ้นในจิตใจทันทีเมื่อมีความรู้สึกตัว
จิตก็จะเป็นอิสระ มีสติปัญญาเข้าไปแทนที่ตัณหา ความพอดีนี่เกิดจากความรู้สึกตัว ความรู้สึกตัวนี่ก็ทำให้กายให้จิตนี่อยู่ในภาวะที่พอดี คือพอแล้วดี ตัณหานี่มีแต่ความดิ้นรนทะยานอยาก ไม่มีความพอดีคือไม่พอมันจึงไม่ดี ฉะนั้นถ้าหากว่าเราจะแสวงหาก็แสวงหาไปเถอะ แต่ขอให้แสวงหาด้วยความรู้สึกตัว จะแสวงหาแบบพอดี ไม่มากไปไม่น้อยไป จะใช้จ่ายจับจ่ายใช้สอยก็ใช้ไปเถิด แต่ขอให้จับจ่ายใช้สอยด้วยความรู้สึกตัว เราก็จะใช้สอยอย่างพอดี ความพอดีนี่ทำให้เกิดภาวะที่สมดุลทั้งกายและจิต ความรู้สึกตัว ความพอดี หรือความพอเพียง ความสันโดษ อันนี้เป็นความหมายเดียวกัน ตกลงเริ่มต้นที่ความรู้สึกตัวนะ เพราะความรู้สึกตัวนี่เกิดขึ้นที่จิตใจ เมื่อจิตใจพอดีแล้วกายก็พอดี การแสวงหาก็จะพอดี ไม่เบียดเบียนตัวเอง ไม่เบียดเบียนคนอื่นให้เดือดร้อน แล้วก็ไม่เบียดเบียนทรัพยากรธรรมชาติด้วย ความรู้สึกตัวทำให้เกิดความเป็นกลาง จะเรียกว่าเป็นทางสายกลางก็ได้ อันนี้เป็นหลักธรรมนำพาชีวิตเลยนะ หลักธรรมนำพาชีวิตให้พอเพียง ก็คือความรู้สึกตัวนี่ เมื่อมีความรู้สึกตัวก็เกิดทางสายกลางขึ้นในจิตใจเรา เพราะฉะนั้นชีวิตของเรานี่ไม่ต้องการอะไรมาก ต้องการภาวะที่สมดุลทางด้านร่างกายและจิตใจไม่ให้เบียดเบียนกัน ใจก็จะมีความสุข บางทีเราคิดมากพูดมากทำมาก ตัณหาก็มากมันก็เหนื่อยมาก บางทีก็ทุกข์มากด้วย แต่ถ้าเรารู้จักที่จะเลิกการดิ้นรนแสวงหาโดยการที่จะเอาชนะความคิด เอาชนะความดิ้นรนตามความอยากที่เราเคยทำมา พอใจในสิ่งที่เรามีเราเป็นอยู่นี่ เพียงแค่นี้ชีวิตเราก็จะมีความสุข สุขพอดีด้วย สำคัญมาก เพราะว่าไม่ว่าเราจะดิ้นรนแสวงหาไปมากสักเพียงใดก็ตาม สิ่งเหล่านี้เราก็เอาติดตัวไปไม่ได้หรอก เค้าไม่ใช่ของเรานะ เราหามามากเท่าไหร่นี่เหลือเท่าไหร่นี่มันก็ไม่ใช่ของเรา เค้าเป็นของธรรมชาติ เค้าจะติดตัวเราไปไม่ได้เลย คือเราตายไปนี่จะติดตัวเราไปไม่ได้ นอกจากบุญกุศลหรือคุณงามความดีที่เราได้สั่งสมเอาไว้
สิ่งเหล่านี้แหละเป็นแก่นสารสาระของชีวิตที่แท้จริงที่จะติดตัวเราไป ในความรู้สึกของผมนี่การแสวงหาไม่ว่าเป็นรายรับกับการจับจ่ายใช้สอยหรือว่ารายจ่าย สองอย่างนี่ถ้าสมดุลกันละก็ มันก็มีความพอดีก็ไม่เดือดร้อน โดยเฉพาะรายจ่ายนี่สำคัญ รายรับนี่ไม่สำคัญนะ ถ้าเรารับมามากได้มามากถ้าใช้จ่ายมากก็หมดเหมือนกัน แต่ถ้าเรามีรายรับน้อยแต่เราใช้จ่ายน้อยมันก็จะมีส่วนเหลือ ยิ่งถ้าเรามีรายรับมากมีรายได้มากแต่เราใช้จ่ายน้อยมันก็มีเหลือมาก สำคัญนะที่รายจ่าย รายรับนี่ไม่สำคัญเท่ารายจ่าย [11:53] เพราะฉะนั้นหลักธรรมนี่ ที่นำพาชีวิตพอเพียงนั้น จะว่าไปแล้วก็คือทางสายกลาง สรุปลงที่ความรู้สึกตัว อันนี้ถือว่าเป็นหลักธรรมนำพาชีวิตที่พอเพียง ตามทัศนะของผมนะ ถ้าเราปฏิบัติตามนี้ได้ละก็ชีวิตเราจะมีความเป็นปกติอย่างพอเพียง อย่างไรก็ตามเราต้องมีเวลานะ หันกลับมาดูตัวเอง หันกลับมาดูกายดูใจของเราด้วยความรู้สึกตัว เราก็จะได้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องความพอเพียงหรือทางสายกลาง.