แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
[01:00] อานิสงส์ ก็คือ ผลที่เราจะได้รับ อานิสงส์ของบุญ อันนี้ถือว่าเป็นอานิสงส์ แต่ว่าผลที่เราจะได้รับเกิดขึ้นที่จิตใจของเรา เป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตใจ เรื่องของบุญ เรื่องของธรรมะ อย่างเช่น ถ้าเราทำบุญเราให้ทาน อานิสงส์ของทานคืออะไร คือเกิดมาเป็นคนรวย มีทรัพย์สมบัติทรัพย์สินเงินทอง อันนี้เป็นอานิสงส์ เรารักษาศีล ๕ ศีล ๘ อานิสงส์ที่เราจะได้รับหรือผลที่จะได้รับก็คือ ไปเกิดในสวรรค์ เป็นเทวดา เกิดเป็นนางฟ้า หรืออานิสงส์ของการภาวนา ภาวนานี่ก็คือการปฏิบัติธรรม การทำกรรมฐาน การทำสมาธิ การทำวิปัสสนา อานิสงส์คือผลที่ได้รับก็คือ ไปสู่มรรค ผล นิพพาน อะไรอย่างนี้ เป็นนิพพานไป อันนี้คือผลที่เราจะได้รับนะ ส่วนทางด้านวัตถุนั้นนะ อานิสงส์การทำงาน จะเป็นได้รับเงินเดือน ได้รับผลงาน ประสบผลสำเร็จ งานสำเร็จ อันนี้เป็นทางวัตถุ แต่ทางด้านธรรมะนั้น ผลเกิดที่ด้านจิตใจ ได้ทางใจ แต่ละอย่างนี่ก็อานิสงส์ก็แตกต่างกัน คือผลที่จะได้รับถ้าหากว่าถึงที่สุดแล้วก็ หมายถึงว่าปฏิบัติธรรมนะ อย่างทำกรรมฐานถึงที่สุด จะได้อานิสงส์ทางด้านจิตใจก็คือ จิตสะอาด สว่าง สงบ จะได้ว่าเป็นความสุขสูงสุดเลยก็ได้ ถ้าเป็นความสุขนะ อันที่จริงก็คือ ความสะอาด ความสว่าง ความสงบ นี่ก็เหนือสุขเหนือทุกข์แล้วล่ะ พ้นไปแล้ว เรียกว่าเป็นนิพพานก็ได้
ส่วนการให้ทาน อย่างเช่นว่าผลของการให้ทาน อานิสงส์ของทานนี่ ก็มีเหมือนกันนะ มีทางด้านจิตใจ แต่ว่ายังไม่มากพอเท่ากับการรักษาศีล ศีลนี่อานิสงส์ ผลคือสูงกว่า ส่วนการภาวนานี่สูงสุดเลย การให้ทานอย่างเช่นการบริจาคเงิน ก่อสร้างวัตถุอย่างเช่นสร้างโบสถ์ สร้างพระ ทุกท่านก็เคยได้ทำมาเหมือนกัน การทำบุญการให้ทาน การสร้างโบสถ์การสร้างพระ อันนี้ก็ถือว่าเป็นบุญเป็นความสุขทางด้านจิตใจ ภูมิอกภูมิใจ ใจเป็นสุข เรียกว่าเป็นอานิสงส์ แต่ว่ายังสู้การภาวนาไม่ได้ การภาวนานี่มีอานิสงส์สูงกว่านั่น จะได้รับผลมากกว่านั้น เพราะอะไร เพราะว่าการสร้างโบสถ์ก็ดี การสร้างพระก็ดี บางทีจิตใจเรานี่ยังมีความโลภความโกรธความหลงอยู่ เราสร้างโบสถ์เราสร้างพระ บางทีเราก็เกิดความภูมิใจพอใจคุยอวด และก็มีจารึกชื่อลงไปด้วย ต้องจารึกชื่อด้วยนะ ถ้าไม่จารึกชื่อนี่ไม่ได้ ก็ยังเป็นความโลภอยู่ ความโลภ โอ..นี่เราได้ทำบุญไปแล้วนะนี่ ก็ยังเป็นความโลภในบุญที่เราทำอยู่ ยังมีกิเลส หรือบางทีเราสร้างไปแล้ว ใครมาว่าเราไม่ดี เอ..ไม่น่าจะบริจาคเงินไปมากมายขนาดนั้น เสียเงินเปล่าๆ พอใครมาตำหนิติเตียนเข้านี่ โอ..เราก็โกรธแล้ว เกิดความไม่พอใจในวัตถุที่เราสร้าง เราสร้างโบสถ์ไป เอ..โบสถ์นี่นานแท้กว่าจะเสร็จ สร้างตั้งนานแล้วไม่เห็นจะเสร็จซักที เห็นมั้ย..จิตใจหงุดหงิดอีกแล้ว หรือบางทีมีใครมาตำหนิว่าไม่ดีเลยนี่ทรงนี้ไม่สวย พระพุทธรูปปั้นรูปนี้ไม่สวย เห็นมั้ย..บางทีเราก็ไม่พอใจ ก็ยังมีความโกรธอยู่ ยังมีกิเลส มีความโลภ ความโกรธ ความหลง มีความรัก ความชัง การสร้างโบสถ์สร้างพระการให้ทาน ก็ยังมีความโลภความโกรธความหลง ยังตัดกิเลสไม่ได้ กิเลสนี่เป็นเหตุของความทุกข์ ถ้าตัดกิเลสไม่ได้ล่ะก็เราก็ต้องมีทุกข์อยู่ในจิตใจเราร่ำไป ส่วนการภาวนาอย่างเช่นการเจริญสติ อันนี้มีอานิสงส์มาก ทำให้จิตใจสะอาด สว่าง สงบ เป็นนิพพานชั่วขณะก็ว่าได้
อย่างเช่นเวลาเราเจริญสตินะ สมมติว่าเวลาเราหายใจเข้านี่ เรามีสติรู้นะ หายใจออกเรามีสติรู้ ลมเข้าก็รู้ลมออกก็รู้ แค่เพียงรู้หนึ่งเดียวนี่สังเกตดูจิตใจเรา แค่รู้เฉยๆ นี่จิตก็เป็นปกติ มีความสะอาดอยู่ในสภาวะที่รู้ มีความสว่างคือรู้แจ้งอยู่ในสภาพที่รู้นั้น แล้วจิตใจก็สงบ สงบอยู่ในตัวรู้นั่นแหละ กิเลส ความโลภความโกรธความหลงก็ไม่เกิดขึ้นในขณะนั้น ทุกครั้งที่เรารู้สึก เวลากายเคลื่อนไหวเรามีสติรู้ เวลาจิตคิดนึกอะไรขึ้นมามีสติรู้ว่า อ้อ..นี่จิตคิดแล้ว แค่รู้นี่นะ..มีทั้งสติมีทั้งสมาธิแล้วก็มีทั้งปัญญาอยู่ในขณะจิตเดียวกัน จะเรียกว่าเป็นมรรคเป็นผลอยู่ในขณะนั้นก็ได้ เพราะจิตขณะที่รู้อยู่นี่จิตเป็นปกติไม่มีอะไรปรุงแต่ง มีแต่สภาวะที่รู้ล้วนๆ ใช่มั้ย..ไม่มีกิเลส ไม่มีความโลภไม่มีความโกรธไม่มีความหลง พ้นทุกข์ได้ในขณะนั้น แค่ช่วงระยะแค่ลัดนิ้วมือเดียว เสี้ยววินาทีเดียวคือรู้สึก แค่มีสติรู้สึกตัวขณะเดียวเท่านั้นเอง โอ..จิตใจเรานี่ไปไกลเลย เป็นการตัดกิเลส สิ้นภพ สิ้นชาติ ในขณะที่เรารู้สึกตัวนี่แหละ นี่ขณะแค่ชั่วขณะเดียวของจิตเท่านั้นเอง พัฒนามากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าเราสามารถทำให้ต่อกันไปเรื่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ ทำบ่อยๆ รู้สึกบ่อยๆ นี่นะ เราก็จะได้อานิสงส์ของการภาวนานี่บ่อยๆ คือความสะอาด ความสว่าง ความสงบ ความเป็นปกติของจิตบ่อยๆ จะมีบุญมากขนาดไหน จะเรียกว่าเป็นบุญที่ยอดบุญเหนือทุกข์ก็ว่าได้ เพราะฉะนั้นเราทำบุญก็ทำไปเถอะ จะสร้างพระสร้างโบสถ์ สร้างวัดให้ทานก็ทำไป ไม่เป็นไรทำไปเถอะ มีประโยชน์เป็นบุญ แต่อย่าลืมการภาวนาด้วย การรักษาศีล เราต้องจับเอายอดบุญเหนือทุกข์ซึ่งเป็นบุญสูงสุด มีประโยชน์มากการให้ทานการรักษาศีลการภาวนา แม้แต่การฟังธรรมอันนี้ก็ถือว่าเป็นบุญ การศึกษาธรรมะ ฟังแล้วก็ลองพิจารณาดูและศึกษาดู อันนี้ถือว่าเป็นบุญ แล้วเราก็นำเอาไปปฏิบัติ นั่นถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก บางท่านอาจจะได้แต่ศึกษาได้แต่ฟัง แต่ไม่เคยปฏิบัติ เราก็ได้บุญแค่การฟังการศึกษา แต่บุญอานิสงส์จากการปฏิบัตินั้นเราจะไม่ได้เลย
บางท่านก็ลงมือปฏิบัติเลย ปฏิบัติเลยเจริญสติเลย แต่ไม่ค่อยได้ศึกษา ปฏิบัติเลย อันนี้ถือว่าดีเหมือนกันนะ แต่ว่าอาจจะหลงทิศหลงทางได้ [09:42] เพราะฉะนั้นเราก็ต้องฟังให้เข้าใจแล้วก็นำเอาไปปฏิบัติ จะได้ประโยชน์ทั้งสองอย่างคือ เข้าใจถูกต้อง แล้วก็เวลาเอาไปปฏิบัติก็ไม่หลงทิศหลงทาง พระพุทธองค์ยังทรงอุปมาผู้ที่เข้ามาสู่การปฏิบัติธรรมนี่ หรือเข้ามาสนใจธรรมะนี่มีอยู่ ๔ ประเภท ท่านยกตัวอย่างเกี่ยวกับเรื่องหนู หนูขุดรู หนูประเภทที่ ๑ คือขุดแต่ไม่อยู่ ประเภทที่ ๒ คืออยู่แต่ไม่ขุด ส่วนประเภทที่ ๓ คือทั้งขุดทั้งอยู่ หนูประเภทที่ ๔ คือไม่ขุดและก็ไม่อยู่ พระพุทธองค์ท่านยกตัวอย่างหนู หนูประเภทแรกคือขุดรูแต่ไม่อยู่รูนี่ การขุดรูก็คือการศึกษาธรรมวินัย ศึกษาธรรมะแต่ว่าไม่ยอมอยู่รู การอยู่รูคือการปฏิบัติ คือได้แต่ศึกษา ฟัง อ่าน คิด แต่ไม่ได้ลงมือปฏิบัติเลย อันนี้หนูประเภทแรก ก็ดีนะแต่ยังไม่ดีมาก ยังไม่ดีกว่า ประเภทที่ ๒ คืออยู่รูแต่ไม่ยอมขุด อยู่รูแต่ไม่ยอมขุดรู ก็คือลงมือปฏิบัติเลย มาถึงก็ตั้งท่าปฏิบัติทันทีเลย ไม่ได้ศึกษามาก่อน บางทีก็หลงทิศหลงทางเหมือนกันนะ แต่ก็ยังดีนะยังได้อานิสงส์จากการปฏิบัติ ประเภทที่ ๓ ก็คือ ทั้งขุดรูคือทั้งศึกษา แล้วก็ทั้งอยู่รูแล้วก็ปฏิบัติด้วย ศึกษาด้วยแล้วก็ปฏิบัติด้วย อันนี้พระพุทธองค์ท่านสรรเสริญ คือศึกษาฟังให้เข้าใจแล้วก็ลงมือปฏิบัตินะ อ่านแผนที่แล้วก็ลงมือเดินด้วย ทำหน้าที่เดินด้วย ประเภทที่ ๔ ประเภทที่ไม่ยอมขุดคือไม่ศึกษาเลย ไม่สนใจธรรมะเลย หันหลังให้เลย แล้วก็ไม่ยอมอยู่ ไม่ยอมขุดรูและก็ไม่ยอมอยู่รู ศึกษาก็ไม่ศึกษานะแล้วก็ไม่ปฏิบัติด้วย หันหลังให้พระสัทธรรมไปเลย อันนี้ถือว่าเสียประโยชน์ในการเกิดมานะ แล้วท่านผู้ฟังอยู่ประเภทไหน ก็ยกระดับให้ แค่การฟังนี่ก็ถือว่าเป็นการศึกษาแล้ว เราไม่ต้องศึกษามากมาย ไม่ต้องไปเข้าห้องเรียนเรียนหนังสือกันเป็นวันๆ ไม่ต้องอย่างนั้นเลย เราศึกษาเฉพาะตัวการปฏิบัตินะ ศึกษาให้เข้าใจว่าการเจริญสตินี่ทำอย่างไร มีวิธีทำกันอย่างไร ทำที่ไหน ทำเมื่อไหร่ ศึกษาวิธีการเอาไว้ พอเราเข้าใจวิธีการแล้วเราก็ลงมือปฏิบัติ เพื่อให้เข้าถึงธรรม เข้าถึงสัจธรรม คือเราขุดรูด้วยแล้วก็อาศัยอยู่ด้วย ได้ประโยชน์ทั้งสองอย่าง
เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมะไม่ต้องศึกษามากมาย ฟังไปเถอะ..ฟังแล้วก็น้อมนำเอามาปฏิบัติด้วย ถือว่าเป็นการศึกษาด้วย แล้วก็ปฏิบัติด้วย การให้ทานก็ดีอันนี้มีอานิสงส์ มีผลทางด้านจิตใจคือมีความสุข การรักษาศีลก็ดี ทำให้จิตใจนี่เป็นสมาธิไม่เบียดเบียนใคร มีการสงบ มีความภูมิอกภูมิใจในศีลของเรา แต่ดีที่สุดก็คือการภาวนา คือการมาเจริญสติ การทำสมาธิ การทำวิปัสสนา ก็มีประโยชน์ มีประโยชน์ทั้งนั้น ขอให้เราสำคัญว่าเราต้องลงมือทำ แล้วก็ได้ศึกษา เราต้องป้องกันไว้ก่อน เราอย่าประมาทนะ การป้องกันที่เหตุดีกว่าการไปแก้ไขที่ปลายเหตุ เราเน้นเรื่องการป้องกัน อย่างเช่นเวลาเรามีความทุกข์ เราจะไปแก้ไขความทุกข์นี่ แสดงว่าเราไปแก้ที่ปลายเหตุแล้ว บางทีก็หนักหนาสาหัส บางทีแก้ไขไม่ได้เลย สู้เราป้องกันทุกข์ไว้ก่อนดีกว่า การป้องกันความทุกข์ การให้ทานการรักษาศีลการภาวนานี่เป็นการป้องกันความทุกข์ ดีกว่าการแก้ไขที่เหตุ เราป้องกันความเจ็บไข้ได้ป่วยยังดีกว่าการรักษาความป่วยไข้ การรักษาบางทีรักษาไม่ได้ รักษาไม่หายก็มีนะ เพราะฉะนั้นการป้องกันนี่ ป้องกันความป่วยไข้มีวิธีการต่างๆ เราศึกษาแล้วเราป้องกัน ป้องกันที่เหตุจะได้ไม่ต้องไปแก้ที่ผลหรือปลายเหตุ เพราะฉะนั้นการภาวนาการเจริญสตินี่ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญนะ สติคือชีวิต ถ้าขาดสติเมื่อไหร่ล่ะก็เท่ากับเราขาดชีวิต เจริญเอาไว้ให้มากๆ ตอนเรายังไม่มีความทุกข์ตอนนี้ก็ไม่เป็นไรหรอก เราป้องกันไว้ก่อน เตรียมสติเตรียมปัญญาเอาไว้ ป้องกันเอาไว้ย่อมดีกว่าการที่เราจะไปแก้ไขที่ปลายเหตุ.