แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
ลำดับขั้นตอนเข้าถึงธรรมของหลวงพ่อเทียน
วันที่ 24 พฤษภาคม 2568 มีคณะพระภิกษุและคณะศรัทธาญาติโยมจากเมืองไทย จากเมืองจีน คณะที่มาร่วมงานหลวงพ่อเทียน หลวงพ่อทอง เป็นวันรำลึกถึงหลวงพ่อทอง อาภากโร อดีตเจ้าอาวาสวัดสนามใน
อาตมามีโอกาสได้มาร่วม ซึ่งเป็นการจัดงานระหว่างวันที่ 21 พฤษภาคม ถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2568 เป็นการรำลึกถึงหลวงพ่อทอง อาภากโร ซึ่งท่านเป็นผู้ที่ดูแลพิธีการปฏิบัติ และเป็นการรำลึกถึงสิ่งที่ท่านได้มีความเกี่ยวข้องหรือสิ่งที่ท่านได้พร่ำสอนกับพวกเราที่เป็นศิษย์ยานุศิษย์ ก็เลยมีการมาปฏิบัติบูชา
ช่วงนี้เราก็ปฏิบัติไปด้วย แล้วก็ฟังข้อคิดฟังความเห็นฟังสิ่งที่เป็นสาระเป็นประโยชน์ในด้านของการที่เราได้มาเกี่ยวข้องในภาคปฏิบัติ หรือวิธีการเจริญสติของหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ เป็นการปรารภถึงการมรณภาพที่เป็นการจากไปของหลวงพ่อทอง ซึ่งท่านเป็นผู้ที่มีปฏิปทาในการที่จะรักษาต่อยอดคำสอนหลวงปู่เทียนมาตั้งแต่ที่ท่านได้เข้ามาศึกษาที่ท่านได้เข้ามาปฏิบัติ
เมื่อท่านเข้าใจหลักคำสอน หรือว่าเข้าถึงการได้สติปัฏฐาน ได้เข้าถึงจิตใจแล้ว ท่านก็ทำหน้าที่ในการที่จะช่วยงานหลวงปู่เทียน ในการที่จะเผยแผ่ ในการที่จะอนุรักษ์ ในการที่จะให้สิ่งนี้เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ จะดูได้จากความเป็นไปจากปฏิปทาของหลวงพ่อ ท่านบวชมาตั้งแต่ปี 2504 จนถึงปี 2567 ที่ท่านมรณะเมื่อปีที่แล้ว รวมแล้วก็ตั้ง 60 กว่าปีเลย ท่านบวช 2504 มาถึง 2567 ก็ 63 ปีแล้ว ถือว่าท่านอยู่ในร่มผ้ากาสาวพัสตร์ ท่านอยู่ในปฏิปทาในการเป็นอยู่ ในการทำหน้าที่ซึ่งดูแลสิ่งที่เป็นภายในภายนอกควบคู่กันไป
แล้วก็ท่านมีโอกาสได้ไปเผยแผ่ที่ต่างประเทศ เป็นการทำหน้าที่ที่จะนำสิ่งที่เป็นแสงสว่าง สิ่งที่เป็นสัจจธรรมไปสู่สังคมหรือไปสู่บุคคลที่มีโอกาสที่มีความสนใจ หลวงพ่อทองท่านยืนหยัดในหลักการการปฏิบัตแบบหลวงปู่เทียน ซึ่งท่านยืนหยัดว่าเป็นสัจธรรม เป็นสิ่งที่ทำให้ตัวท่านเข้าถึงความมีธรรม หรือเข้าถึงความที่ท่านมีความสงสัย แต่ก่อนทั้งลังเลทั้งสงสัย ท่านไม่มั่นใจ
พอท่านได้มาประสบพบเห็นหลักธรรมหรือหลักสติปัฏฐานแล้วท่านก็มีความมั่นใจ ท่านพูดกับหลวงพ่อเทียนว่า หลวงพ่อจะใช้อะไรผมก็ใช้ได้ เพราะตัวท่านยอมรับว่าท่านได้ชีวิตใหม่ หรือได้สิ่งที่ทำให้มีความมั่นใจหายสงสัยในชีวิตจิตใจหรือในหลักธรรม ท่านก็เลยยืนหยัดจนวาระสุดท้าย พวกเราก็เลยได้มาสานต่อ วันนี้มาสานต่อเจตนาหรือสานต่อหลักธรรมที่จะนำไปใช้กับชีวิต ที่จะนำไปใช้กับพวกเรา
ซึ่งอาตมาเองก็เป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องในหลักของการปฏิบัติ เท่าที่อาตมาได้มาเกี่ยวข้องได้มาศึกษาได้มาลงสนาม ได้รับอานิสงส์ของการปฏิบัติมาโดยลำดับ คือได้รับสิ่งที่มีความเป็นชีวิตใหม่ ชีวิตจิตใจที่ลังเลที่ฟุ้งซ่านที่วิตกที่ไม่มั่นใจที่เป็นคนคิดมาก เป็นคนที่เรียกว่าไม่เข้าใจในชีวิต ก็เปลี่ยนได้ อาตมาเองมาปฏิบัติในช่วงที่เรียกว่าช่วงกลางๆ ของคำสอน พอช่วงปี 2530 ได้เข้ามาร่วมก็เลยได้โอกาสได้ปฏิบัติอย่างที่พวกเราปฏิบัติ เข้าใจรูปนาม
เข้าใจรูปนามแล้วก็มาเข้าใจปรมัตถ์ เข้าใจปรมัตถธรรมแล้วก็เลื่อนขึ้นไปเรื่อยๆ ดูเข้าไปเรื่อยๆ ดูจิตดูใจ ดูสิ่งที่เป็นธรรมชาติ ที่เป็นเรื่องของกายเรื่องของใจ ปฏิบัติอยู่กับหลักของสติปัฏฐาน 4 ยืน เดิน นั่ง นอน คู้ เหยียด เคลื่อนไหว กระพริบตา หายใจ ก้มเงย เอียงซ้ายเอียงขวา หรือการที่เราเคลื่อนไหวทางกายเคลื่อนไหวทางจิต เราก็เป็นลักษณะรู้เห็นในสิ่งที่เรากระทำ เป็นการเรียนรู้จากของจริง เมื่อผิดก็เอามาเป็นครู เมื่อถูกก็มาเป็นครู คือทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับกายกับใจ
อาตมาก็ดูว่าอะไรเป็นอะไร แต่ไม่ทิ้งหลักการ การที่เราไม่ทิ้งหลักคือหลักปฏิบัติ เพราะว่าเป็นการกำหนดสติหรือรู้สึกตัวไปกับการเคลื่อนไหว ไม่ว่าเราจะอยู่ในอิริยาบถใดเราก็กำหนด ซึ่งจนปัจจุบันนี้อาตมามีความมั่นใจว่า หลักธรรมคำสอนหลวงปู่เทียนที่หลวงปู่ทองเอามาถ่ายทอด หรือมารักษาเอาไว้มาดูแลมาเผยแผ่นี้ เป็นสิ่งที่สำคัญ
อาตมามองเห็นว่าเป็นแก่นหรือเป็นหลักหรือเป็นคำสอนที่เข้าได้กับชีวิตจิตใจ แล้วก็ทำให้ชีวิตจิตใจเปลี่ยนแปลง ซึ่งถ้าเราเข้าใจตรงนี้แล้วทุกคนจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของชีวิต เพราะว่าสิ่งนี้มันจะเข้าไปสู่ด้านในที่เราเรียกว่า เหมือนเปิดประตู
ที่เราเรียกว่าเปิดประตูใจ หรือเปิดประตูเข้าไปดู ว่าสิ่งที่เป็นจิตใจสิ่งที่เป็นภายใน มีอะไรเป็นที่ตั้ง มีอะไรเป็นเครื่องประกอบ มีอะไรเป็นการเกี่ยวข้องกัน ก็จะมองเข้าไปเห็นความคิด เห็นอารมณ์ เห็นการที่จะเป็นตัวภายใน แล้วก็เห็นตัวที่เป็นภายนอกเกี่ยวข้อง คือเห็นกายเห็นใจนั่นแหละ
หลักธรรมคำสอนของหลวงพ่อเทียน ท่านจะเป็นลักษณะไม่ได้ไปอ้างอิงในตำรา แต่ก็ไม่ผิดเพี้ยนไปจากตำรา ซึ่งเมื่อเราปฏิบัติไป ๆ เราจะไปเข้าใจตำรา เข้าใจปริยัติ หรือเข้าใจคำพูด ที่เป็นภาษาที่เป็นชื่อเป็นศัพท์เป็นแสงของภาษา เราจะเข้าใจ แล้วก็สิ่งนั้นก็เป็นสิ่งที่มีในชีวิตเรา สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เราเข้าถึงได้
ท่านเหมือนกับว่า ทำสิ่งที่มันยากหรือทำสิ่งที่มันอยู่ไกลให้มาอยู่ใกล้ๆ หรือทำสิ่งที่มันยากให้ง่ายขึ้น สิ่งที่เราไปไม่ถึงให้มีตัวช่วย เรียกว่ามีตัวที่จะมาเสริม ให้สติสมาธิปัญญาของเราลึกเข้าไปสู่การรู้แจ้ง หรือการประจักษ์แจ้งในสิ่งที่เป็นสัจธรรม ซึ่งอาศัยว่าเราอยู่กับฐาน อยู่กับสติ อยู่กับความรู้สึกระลึกรู้ แต่ตัวรู้สึกระลึกรู้จะเป็นการเชื่อมไปสู่ด้านใน ที่เราเรียกว่าปรมัตถธรรม
ปรมัตถธรรม คือการมองเห็นระหว่างการกระทำของกายของใจที่เป็นปัจจุบัน กำลังเป็น กำลังทำ กำลังพูด กำลังคิด เรียกว่าเห็นขณะกำลังเกิดขึ้น ท่านเรียกว่าเป็นปรมัตถ์
ฉะนั้นการปฏิบัติธรรมก็จะมีหลักสูตรที่เราได้ยินคำว่า หลักสูตรสูตรสำเร็จ ที่เป็นชื่อม้วนเทปสูตรสำเร็จอึดใจเดียว สูตรสำเร็จนำสู่ปัญญา สู่สำเร็จลัดนิ้วมือเดียว อะไรที่เราได้ยินกันที่เราไปเอามาพูดเป็นภาษา แต่ว่าสิ่งที่เราได้ปฏิบัติก็จะผ่านไปตามขั้นตอน ตามที่อาตมาเข้าใจคือเป็นไปตามขั้นตอน อย่างแรกก็คือเข้าใจรูปนาม สิ่งที่เป็นรูปนามคือเป็นการที่จะนำไปสู่การเปิดประตูใจเลย การเปิดประตูดูด้านใน
เพราะฉะนั้นลำดับแรกของการแสวงหาคือ เรามาอยู่กับความรู้สึก หรืออยู่กับสติ เคลื่อนไหวก็กำหนดรู้ เดินก็กำหนดรู้ ยกมือก็กำหนดรู้ ยืน เดิน นั่ง นอน คู้ เหยียด กระพริบตา หายใจ ก้มเงย หรือแม้แต่ทำกิจวัตรประจำวัน ทานอาหาร หรือทำงานเก็บกวาดเช็ดถู เกี่ยวข้องกับกายกับใจ เราจะดูกลับมาที่ความรู้สึก หรือกลับมาที่สติ เพราะฉะนั้นในหลักของหลวงปู่เทียน ท่านจะเป็นลักษณะได้พบสิ่งนี้โดยการแสวงหาของท่าน
เกี่ยวข้องกับหลวงพ่อเทียนคือ ท่านเป็นผู้มีความสนใจในหลักของพระพุทธศาสนามาตั้งแต่เป็นเด็ก ท่านเป็นเด็กซึ่งยังไม่อายุ 10 ขวบ ท่านบอกว่าก่อนจะไปนาก่อนจะไปไหน ผ่านวัดท่านก็จะขึ้นไปกราบ หรือเอาดอกไม้ไปที่วัด หรือไปหาพระอาจารย์ชื่อว่ายาครูคำผอง ซึ่งเป็นพระประจำบ้าน
พอท่านอายุ 10 ขวบ ยาครูคำผองไปขอจากบิดาของท่าน ขอหลวงพ่อเทียนมาบวชเป็นเณรอุปฐาก ซึ่งจะได้ฝึกสอนความรู้ สิ่งที่เป็นภาคปฏิบัติ ทั้งหลวงพ่อเทียนก็เหมือนกับว่าได้รับประสบการณ์จากยาคูคำผองได้มาอุปฐาก ได้มาบวชเป็นสามเณร 1 ปีกับ 6 เดือน ก็ถือว่าเป็นหลักที่ท่านได้มาอยู่ใกล้ชิดกับยาครูคำผอง ได้ฝึกกรรมฐาน ฝึกวิธีการรพุทโธ วิธีการดูลมหายใจ แล้วก็วิธีการนับ 1 2 3 วิธีการอานาปานสติ วิธีการสัมมาอะระหัง
ท่านบอกว่าท่านได้ฝึกมา แต่จะไปเกี่ยวข้องลักษณะที่ว่าฝึกแล้วจะเป็นผู้มีความเหมือนกับเป็นสิ่งซึ่งพิเศษ เหมือนกับมุ่งไปทางอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ มองเพ่งกระสินธ์ุ เพ่งแสงพระอาทิตย์ หรือเสกคาถา ไปทางที่จะไปเป็นเครื่องรางของขลัง ในช่วงแรกๆ ท่านก็เข้าใจอย่างนั้นว่าศาสนาคือจะทำให้เป็นผู้พิเศษ มีหูทิพย์ตาทิพย์ สามารถที่จะดำดินบินบน หรือว่ามีคุณพิเศษ ท่านจนได้ไปเรียนคาถาใส่หนังบังฟัน วัวธนูครูหน้าน้อย ได้ไปเรียนแล้วก็ได้ไปทางนั้น
พออายุ 45 ปีท่านได้มาฝึกแนวการเคลื่อนไหวหรือการเจริญสติ การหยุดการค้าขาย เพราะว่าท่านเป็นพ่อค้ามีเรือกลไฟ แรกๆ ก็มีเรือถ่อขายของทางเวียงจันทน์ ทางหนองคาย ทางฝั่งน้ำโขง บางทีก็ลงไปถึงหลวงพระบาง บางทีก็ไปถึงนครพนม ไปตามลำน้ำโขง อุดรหนองคาย ต่อมาท่านก็เลยซื้อเรือกลไฟ แล้วก็เป็นพ่อค้าจนเป็นผู้มีฐานะคือประสบความสำเร็จในด้านการค้าขาย แต่ว่าท่านก็ยังไม่ทิ้งหลักของการปฏิบัติ ยังไม่ทิ้งหลักของศาสนา
เมื่อท่านเดินทางไปตามลำน้ำโขงบางทีก็ได้มีโอกาสสนทนากับพระสายกรรมฐาน หรือว่าท่านก็มีอุปนิสัยชอบทำบุญ ชอบเข้าวัด ชอบที่จะทำเกี่ยวข้องกับศาสนา บางทีก็เป็นผู้นำ ซึ่งอุปนิสัยของหลวงพ่อเทียนท่านจะเป็นเหมือนผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นผู้นำ ตั้งแต่เป็นหนุ่มเวลามีงานบุญบ้านบุญเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมตามหมู่บ้าน ถ้าท่านไปร่วมท่านก็จะเป็นผู้นำพาไหว้พระ พาถวายทาน พาเกี่ยวข้องกับหลักตั้งแต่เป็นหนุ่มเลย ตั้งแต่ที่ท่านสึกมาเป็นเซียง ถ้าบวชเป็นเณรถ้าสึกแล้วท่านบอกว่าจะเรียกว่า “เซียง” ถ้าบวชถ้าบวชเป็นพระสึกแล้วก็จะเรียกว่า “ทิด” เพราะฉะนั้นท่านก็เลยเกี่ยวข้อง แล้วท่านก็ได้เป็นผู้ใหญ่บ้าน หลวงปู่เทียนเป็นผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้นำ
ช่วงท่านบวชเป็นพระ 6 เดือน ท่านก็ทำกรรมฐาน ท่านว่าเดินธุดงค์ คนเฒ่าคนแก่ให้ทำท่านก็ทำ เดินธุดงค์ของท่านก็คือไปในที่ที่ไม่ไกลจากหมู่บ้าน เช่นไปพักตามหัวไร่ปลายนา ไม่ไกลจากชาวบ้านพอบิณฑบาตได้ ไปนอนอยู่ที่ป่าตามกระท่อมเถียงนาตามหัวไร่ อยู่อย่างนั้น แล้วบางทีก็เข้าอยู่ในศีลเข้าอยู่ในโบสถ์ ฉันข้าวเอกา(มื้อเดียว)อะไรพวกนี้ ท่านบวชอยู่ 6 เดือนท่านก็ได้สึก
สึกมาก็มามีครอบครัว แต่งงานมีครอบครัวบิดามารดาจัดหาให้ เป็นญาติกัน แม่บ้านของหลวงพ่อเทียมชื่อแม่หอม แม่หอมเป็นลูกพี่ลูกน้องกับหลวงพ่อเทียน แม่ของแม่หอมเป็นน้องของพ่อหลวงพ่อเทียน ซึ่งหลวงพ่อเทียนจะเรียกแม่ของภรรยาว่าอาเพราะเป็นน้องของพ่อ แล้วทางผู้หลักผู้ใหญ่ก็จัดให้มีครอบครัว
ท่านก็อยู่เป็นผู้นำ เป็นผู้ใหญ่บ้านถึง 3 สมัย คือเขาเลือกให้ท่านเป็นผู้นำในบ้านบุโฮม อำเภอเชียงคาน บ้านท่านจะเป็นร้านค้าที่คนในหมู่บ้านไป เหมือนกับเป็นศูนย์รวมของการค้าขายทั้งที่อยู่บ้าน แล้วก็ไปตามลำน้ำโขงฝั่งลาวฝั่งไทย
จนท่านได้เห็นความจริงว่า มีเงินมีทองมีสมบัติ ประสบผลสำเร็จทางด้านค้าขาย แต่ใจก็ยังทุกข์อยู่ คือกังวลอยู่กับเรื่องเงินเรื่องทอง กับการค้าการขาย ประสบสิ่งต่างๆ บางทีก็พอใจไม่พอใจ ท่านก็จะอยู่ในหลักธรรมดูไปด้วย ก็เลยเป็นลักษณะอยากจะแสวงหาจริงจัง
เมื่อท่านอายุประมาณ 40 ปี ท่านได้ยินข่าวว่ามีธรรมะแบบเคลื่อนไหวเกิดขึ้นจากหลวงพ่อปาน เพราะท่านค้าขายแถบหนองคายเวียงจันทน์ หลวงพ่อปานนี้ท่านเป็นภิกษุชาวลาว ซึ่งอายุปีเดียวกับหลวงพ่อเทียน แต่ว่าคล้ายๆ เดือนเหมือนกับเกิดก่อนเกิดหลังแต่เป็นปีเดียวกัน ซึ่งได้ยินว่ามีวิธี “ติงนิ่ง” คือยกมือขึ้นก็ติง ถ้าหยุดก็ว่านิ่ง เป็นภาษาลาวเขาเรียกติงนิ่ง หลวงพ่อเทียนได้ยินก็เลยไปสนทนา
ท่านว่าท่านไปสนทนากับหลวงพ่อมหาศรีจันทร์ตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึง 6 โมงเช้า เหมือนกับว่าท่านสนิทกับหลวงพ่อมาหาศรีจันทร์ หลวงพ่อมหาศรีจันทร์เป็นภิกษุอีกรูปหนึ่งซึ่งท่านเป็นพระกรรมฐานแบบหนองคายแบบฝั่งลาว ท่านเลยไปรับได้ยินธรรมะจากหลวงพ่อมหาปานเรื่องของติงนิ่ง เลยมาสนทนากับหลวงพ่อเทียน สนทนาไปจนสว่างแล้วท่านพูดขึ้นมาว่า ถ้าจะพูดคุยกันหรือจะถามกันเรื่องธรรมะมันไม่หายสงสัย ถ้าอยากหายสงสัยอยากเข้าใจก็ต้องมาปฏิบัติเอาเอง
ท่านบอกว่าท่านเอาคำนี้ไปคิดปีสองปีเลย เหมือนกับว่าหาทางที่จะมาได้หายสงสัย ในที่สุดท่านมีโอกาสท่านก็เลยได้มาปฏิบัติ อันนั้นคือเรื่องประวัติของหลวงปู่เทียนแต่ก็ยาว ท่านปฏิบัติจนมาเข้าใจรูปนาม ฉะนั้นในเส้นทางการเป็นเส้นทางธรรมของหลวงปู่เทียนต้องผ่านรูปนาม เราจะสังเกตได้ว่าผู้มาปฏิบัติต้องเข้าใจรูปนามเอาไปศึกษา
อย่างหลวงพ่อทองท่านไปปฏิบัติกับหลวงปู่เทียนเป็นเดือนสองเดือน ประมาณสองเดือนท่านเข้าใจ เดือนแรกท่านยังไม่เข้าใจท่านก็มาขอเก็บอารมณ์ท่านก็เข้าใจรูปนาม อย่างหลวงพ่อคำเขียนเบื้องต้นท่านเข้าใจเรื่องรูปเรื่องนาม อย่างหลวงพ่อบุญธรรมท่านก็จะเข้าใจเรื่องรูปเรื่องนาม
เรื่องรูปเรื่องนามนี้เป็นต้นๆ เหมือนกับเป็นโครงสร้างหลักของกรรมฐาน ซึ่งเป็นเหมือนว่าเปิดประตู เปิดประตูจะได้มองเห็นด้านใน คือเปิดประตูไปดูใจ รูปนามนี้คืออะไร
อาตมาเองก็เหมือนกัน มาปฏิบัติแต่ก่อนไม่เข้าใจ คือเราจะคิดหามัน มันไม่หายสงสัยเรื่องรูปเรื่องนามนี้ เราจะต้องปฏิบัติแล้วก็ดูความรู้สึกไปด้วย พอเราไปเปิดประตูมองด้านใน จะมีช่วงหนึ่งอย่างอาตมานี้ตอนเช้าอาตมานั่งเหมือนกับเป็นฤดูหนาว ก็นั่งปฏิบัติยกมือไปยกมือมา แล้วก็เห็นตัวที่มันเป็นภายในเป็นตัวสั่ง เหมือนกับเราพลิกมือขึ้นมันต้องมีใจมาเกี่ยวข้อง สั่งให้ยก สั่งให้เอามือเข้ามา
เลยมาสังเกตดู โอ้..ตัวที่มันสั่งให้รูปเคลื่อนคือตัวใจ มีตัวหนึ่งเคลื่อน มีตัวหนึ่งเป็นตัวสั่ง ตัวนี้จะเป็นเหมือนผู้กำกับหรือผู้ทำหน้าที่เป็นผู้ที่จะควบคุมดูแลหรือเป็นผู้กำกับให้กายทำ ไม่ว่าเราจะเคลื่อนไหวจะเกี่ยวข้องกับตัวที่เป็นจิตใจ ใจจะเป็นตัวสั่ง ตัวนี้เป็นตัวเคลื่อน แต่ตัวสั่งที่อยู่กับตัวเคลื่อนคือใจก็มาเห็นตรงนี้ คือเห็นรูปเห็นนามของอาตมา
ส่วนของหลวงพ่อเทียนท่านเห็นขณะแมลงป่องตกลงมาใส่ขาท่าน ท่านไม่ปัด ท่านใส่กางเกงขาสั้นพอมันตกแล้วท่านก็ไม่ปัด มันมีลูกอยู่ที่ท้อง แมลงป่องมันจะอุ้มลูกมันไว้เหมือนแมลงมุม ลูกโตแล้วแต่มันมีขาไปอุ้มเอาไว้ เวลาตกลงมาถูกขาท่านแล้วมันก็กระจายลูกมันก็วิ่งกระจาย ส่วนตัวแม่มันนั้นหมอบอยู่ ที่นี้พอท่านมาดูขาท่าน อ้าว..ขาเราก็เป็นรูป แมลงป่องก็เป็นรูป
แมลงป่องมาทำให้ท่านเข้าใจรูปนามว่า ตัวรูปตัวนามมันอยู่ด้วยกัน ที่มันโกรธ ที่มันทำร้ายกัน หรือที่มันอะไร เพราะมีใจสั่ง ท่านก็เลยเป็นต้นของการเปิดประตู ท่านจะเปรียบตรงนี้ว่าเหมือนรอบปฐมฤกษ์
การเข้าใจรูปนามท่านเปรียบเหมือนปฐมฤกษ์ คำว่าปฐมฤกษ์ท่านเปรียบเหมือนรำวง บ้านท่านเวลาจัดงานจะมีรำวง เวลารำวงรอบแรกจะเหมือนปฐมฤกษ์คือรำฟรียังไม่ต้องซื้อบัตร เป็นลักษณะรำฟรีเปิดฟอร์คือเป็นปฐมฤกษ์ ทีนี้รอบต่อไปใครจะเข้าไปรำต้องซื้อบัตร ต้องมีการที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องในการรำวง ก็เหมือนเราจะเกี่ยวข้องไปทางด้านใน
เราก็ต้องมีการเข้าใจหลักของตัวปรมัตถ์ ก็เหมือนกับเปิดประตูเข้าไปดูถึงจะเห็นได้ ท่านก็เลยมาเข้าใจความคิด มาเห็นความคิด แล้วก็มาเห็นปรมัตถ์ เห็นวัตถุ เห็นปรมัตถ์ เห็นอาการ ท่านบอกว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นวัตถุ แต่สิ่งที่จะตั้งอยู่ได้ต้องมีวัตถุ เช่น ต้นไม้ บ้านเรือน สิ่งปลูกสร้างหรืออะไรต้องตั้งอยู่บนพื้นดิน
เพราะฉะนั้นในด้านของจิตใจ ในด้านของร่างกาย ในด้านของธรรมชาติ ก็ต้องมีวัตถุคือมีที่ตั้ง ในขณะที่กำลังเคลื่อนไหว ในขณะที่เรากำลังกระทำ กำลังพูด กำลังคิด ก็ต้องมีหลักของที่ตั้ง ที่ตั้งของการปฏิบัติเรียกว่าวัตถุ แล้วก็มีปรมัตถ์ คือขณะกำลังเกิด กำลังเป็นอยู่มีอยู่ ท่านเรียกว่าปรมัตถ์ แล้วก็อาการคือความเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างจะมีความเปลี่ยนแปลง จะเหมือนกับว่าเป็นลักษณะเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยของธรรมชาติ มันต้องมีอาการ
อาการนี้ก็คือความเปลี่ยนแปลง หรือเป็นอาการที่อยู่กับปรมัตถ์ เป็นอาการที่อยู่กับวัตถุ พอท่านเข้าใจตรงนี้แล้วท่านก็จะเข้าใจ ไปเห็นโลภะ โทสะ แล้วก็โมหะ เห็นตรงนั้น แล้วก็ไปเห็นขันธ์ 4 ขันธ์ 4 คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือไม่ได้เป็นขันธ์ 5 ถ้าขันธ์ 5 ก็จะมีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ถ้าขันธ์ 4 จะมีเวทนาขึ้นไป คือมีแต่ฝ่ายนามธรรมทั้ง 4 ขันธ์
ท่านเห็นตอนนั้นก็เลยนอน ประมาณ 3-4 ทุ่มท่านก็นอน นอนแล้วก็ตื่นขึ้นมาตอนเช้าที่ว่าเป็น 11 ค่ำ ท่านมาเดินจงกรม มาต่อยอดจากที่ท่านปฏิบัติเมื่อวานคือวัน 10 ค่ำ มาเข้าใจเรื่องของศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ ขันธ์แปลว่าหมวดหมู่ ข้นธ์แปลว่ารองรับ ขันธ์แปลว่ากลุ่มก้อน เป็นลักษณะที่มันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เช่นศีลขันธ์เกี่ยวข้องกับความเป็นปกติ
ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ เพราะฉะนั้นท่านเลยมาเข้าใจได้ยินคำว่า ศีลเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างหยาบ สมาธิเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างกลาง ปัญญาเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างละเอียด
ท่านมาเข้าใจตรงนี้เหมือนกับว่า เส้นทางของธรรมะพอเปิดประตูแล้วมันจะเห็นสิ่งที่อยู่ด้านใน แต่การเห็นของท่านเป็นเวลาที่ไม่หลายวัน ขอกรรมฐานวัน 8 ค่ำ วัน 9 ค่ำท่านก็ทำทั้งวัน พอ 10 ค่ำท่านมาเข้าใจ 11 ค่ำก็เข้าไปสู่ส่วนลึกซึ่งหลังจากเกี่ยวข้องกับขันธ์
ขันธ์ท่านแปลว่าถี่แปลว่ารองรับ ท่านพูดว่าท่านมีผ้าทอเป็นผ้าอาบน้ำ แถวอีสานเขาจะมีฟืม ฟีมคือเครื่องทอผ้าเหมือนกับที่เราเห็น ภาษาอีสานเขาเรียกตำหูกคือทอ เขาจะเรียกฟืมว่าขัน ฟีม 40 ฟืม 20 ฟืม 30 ถ้าฟืม 40 จะเป็นผ้าที่หนา ถ้าเอาฟืม 40 มาทอผ้าโสร่งผ้าไหมผ้าอะไรเนี่ยเอาไปห่อน้ำน้ำแทบจะไม่หยดเพราะว่ามันถี่
พอท่านมาเห็นขันธ์ที่เกี่ยวข้องกับศีลขันธ์สมาธิขันธ์ ท่านก็เลยว่า โอ้..แปลว่าถี่แปลว่ารองรับ ถ้าขันถี่เอาไปตักน้ำก็ไม่รั่ว ถ้าขันสะอาดเอาไปใส่ข้าวใส่อาหารตักบาตรก็ได้ ถ้าขันสกปรกหรือขันแตกก็ใช้ไม่ได้ ท่านก็เลยมาเข้าใจ เริ่มวงอยู่ด้านใน คือเข้าสู่ประตูใจ เข้าไปดูด้านในแล้ว จากนั้นก็เลยพูดถึงการเห็นว่าตามลำดับ จนมาเห็นกิเลส ตัณหา อุปทาน แล้วก็กรรม
กิเลส ตัณหา อุปทาน กรรม มันเป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในจิตในใจในชีวิตของตัวท่านของคนทุกคน แต่ตอนที่ยังไม่เห็นก็ยังไม่เข้าใจ กิเลสแปลว่าเครื่องเศร้าหมอง คำว่าเศร้าหมองอะไรที่ทำแล้วใจหงุดหงิดใจรำคาญ ใจปฏิคะ หรือเกิดความขุ่นมัวจิตใจไม่ผ่องใส ถ้าเป็นภาษาเขาจะเรียกว่ากิเลสแปลว่าเครื่องเศร้าหมอง
ตัณหาแปลว่าความอยาก อยากเป็นอยากมี หรือบางทีก็ไม่อยากเห็นไม่อยากเจอ เลือกทั้งดึงเข้าทั้งผลักออก เรียกว่าเป็นตัณหา คือเกี่ยวข้องกับใจ ใจเป็นยินดีอยากดึงเข้ามา ใจไม่พอใจอยากผลักออกไป ท่านก็เรียกว่าตัณหา ภาวะตัณหา วิภวตัณหา ทั้งอยากเป็นทั้งอยากมี ทั้งไม่ชอบทั้งผลักหนี ทั้งวิ่งหนีทั้งไล่ตาม
เอ๊ะ..จิตใจคนเราเป็นอย่างนี้ เป็นอุปทาน เหมือนกับว่ามันไปบวกกับความจำ สัญญาจำได้ แล้วก็เป็นสัญชาตญาณของชีวิตคนก็จะไปเกี่ยวข้อง กับมาประกอบกับความคิด กับอารมณ์ กับกิเลส กับตัณหา มีอุปทานมาประกอบ ทำให้เกิดความสู่การกระทำเรียกว่ากรรม
กรรมนี้เขาเรียกว่าการกระทำ ทำด้วยกาย ทำด้วยวาจา ทำด้วยใจ ทำด้วยกายเรียกว่ากายกรรม ทำด้วยวาจาเรียกว่าวจีกรรม ทำด้วยใจเรียกว่ามโนกรรม ฉะนั้นคำว่ากรรมเป็นกลางๆ ถ้าทำดีก็เรียกกุศลกรรม ถ้าทำไม่ดีก็เรียกอกุศลกรรม ฉะนั้นมันจึงนำไปสู่การเกี่ยวข้องกิเลส ตัณหา อุปทาน แล้วก็กรรม พอท่านเข้าใจตรงนี้ท่านก็ลึกเข้าไปอีก เกี่ยวข้องกับคำว่าอาสวะ
อาสวะคือความยินดีในอารมณ์ พอใจในอารมณ์ เช่นเราโกรธเรายินดี เราถึงไปว่าไปด่าไปขัดแย้งไปทะเลาะกันข้ามวันข้ามคืน เรียกว่าไม่รู้จักสลัดสิ่งที่อยู่ภายในออก ที่จริงมันเกิดขึ้นจากใจเกิดขึ้นจากจิต แต่เราไม่รู้จักว่ามันอยู่ที่จิต เราก็จะวิ่งหาข้างนอก ไปด่าไปว่าหรือไปเอาข้างนอก ที่จริงถ้าเราเข้าใจอาสวะ เราวางตรงภายในคือจิตเราไม่ไปยึดในอารมณ์นั้น มันก็จะหลุด เรียกว่ากามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ คือความยินดีในอารมณ์
พอเข้าใจตรงนี้แล้วก็จะเป็นลักษณะมีคำว่า อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขาเกิดขึ้น คือความเบา ความเบาของจิต จิตที่เคยหนัก เคยยึด เคยติด เคยข้องกับอารมณ์กับความเป็นอดีตอนาคต เป็นลักษณะที่มันติดมันหนักมันคาอยู่ในใจ
แล้วพอเข้าในเรื่องอธิ อธิแปลว่ายิ่ง อธิศีลคือศีลอันยิ่ง อธิจิตคือจิตอันยิ่ง อธิปัญญาคือปัญญาอันยิ่ง แล้วไปบวกกับคำท้ายๆ ว่าสิกขา อธิคือยิ่ง แต่ไปตรงสิกขาจะเป็นคำว่าถลุง ถลุงก็เหมือนกับว่าเปลี่ยนแปลง ย่อยสลาย สิ่งที่มันมาคามาติดอยู่ที่ใจเรา มันมีตัวถลุงหรือตัวย่อยตัวเปลี่ยน เช่นเราโกรธมันมีตัวไปเปลี่ยนไม่ให้โกรธ เราหงุดหงิดมันมีตัวไปเปลี่ยนไม่ให้มีความหงุดหงิด จิตใจมันติดขัดมันยึดมันฟุ้งซ่านมันวิตกลังเล มันจะมีตัวนี้ไปถลุง
ต่อมาจะใช้คำว่า เกิดญาณปัญญา คือเมื่อมันเบา มันถลุง มันย่อย มันเปลี่ยน แล้วก็จะมีญาณปัญญามารองรับ ว่าสิ่งนี้ไปเกี่ยวข้องกับการกระทำ หรือไปเกี่ยวข้องกับกาย กับใจ กับวาจา ที่ท่านใช้คำว่า ทำด้วยกาย ทำด้วยวาจา หรือทำด้วยใจ เป็นลักษณะนั้น
เพราะฉะนั้นพอตรงนั้นแล้วท่านก็เลยว่า คือมันจะเกิดอาการให้เห็นมีญาณมารองรับ ในตำราในหลักสูตรนักธรรมเอกหรือหลักสูตรอะไร เขาก็จะบอกว่า จิตหลุดแล้วญาณย่อมมี
คือไม่ใช่เราคิดเอาว่าจิตเราหลุด ไม่ใช่เราคิดเอาว่าเราพบทางมีแสงสว่างมีอะไร แต่มันจะมีตัวมายืนยันในการเป็นอยู่ ที่มันเบา ที่มันโล่ง ที่มันไม่ไปประกอบครบองค์ เหมือนกับกายทำแต่วาจาไม่ทำก็มี ใจคิดแต่กายไม่เกี่ยวข้องก็มี อย่างนี้จะเป็นการแยก เห็นสิ่งที่เรามีความละเอียดของการเป็นอยู่
ซึ่งท่านก็เลยไปเข้าใจในหลักที่ว่า คำว่ากรรมฐาน มีวิปัสสนากรรมฐาน สมถกรรมฐาน สมถท่านว่ามันไม่มีอารมณ์ มันเป็นลักษณะกดเอาไว้ แต่วิปัสสนานี้มีอารมณ์ คือเห็น วิปัสสนาคือเห็นไม่ใช่หลับไม่ใช่กดทับ แต่เห็นสิ่งที่เข้ามาในการเกี่ยวข้อง ทางหู ทางการรู้สึกนึกคิด จะต้องเห็น เห็นประจักษ์ คือเห็นแจ้งตามความเป็นจริง ท่านเรียกว่าวิปัสสนา.