แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมชาติต้องการให้ใช้รูปขันธ์เพียงเท่านี้ ธรรมชาติไม่ได้บอกให้ยึดมั่นว่ารูปขันธ์นี้เป็นของฉัน แต่เพราะอวิชชาที่ครอบงำจิตของมนุษย์ ก็เลยไปยึดมั่นถือมั่นว่ามันเป็นตัวตนว่ามันเป็นของเรา เช่นเดียวกับสังขารขันธ์ ความนึกคิด ธรรมชาติไม่ได้บอกว่าให้นึกคิดไปแล้วให้เกิดปัญหาแก่ใจ คือทำให้ใจนี้เกิดเป็นทุกข์ เพราะความคิดนั้น ธรรมชาติไม่ได้บอก ความคิดก็คิดเมื่อจำเป็นจะต้องคิด เช่น คิดเรื่องการทำงาน คิดเรื่องการจัดครอบครัว หรือว่าคิดเรื่องการเล่าเรียน แต่พอคิดเสร็จ หยุด เรียกว่าปิดสวิตช์เลย แต่นี่ที่เราเป็นทุกข์เพราะเราไม่หยุดใช่ไหมคะ เราเอาสังขารขันธ์ที่ธรรมชาติให้มาเพื่อใช้ประโยชน์ตามหน้าที่มาใช้เกินหน้าที่ โปรดเข้าใจ ใช้เกินหน้าที่ ใช้ความจำเป็น เช่นเดียวกับเวทนาขันธ์ เขาให้รู้สึกเท่านั้น รู้สึกว่ามันเป็นอะไร แล้วก็แล้วกัน สัญญาก็เพียงแต่รู้ รู้สำคัญมั่นหมาย แต่ไม่ใช่ไปยึดเอา แต่นี่เพราะอวิชชาที่ครอบงำจิต ทำให้ไปยึด ยึดเอาว่าขันธ์ห้าที่เป็นกองของมันอยู่ มาเป็นตัวเป็นตน เพราะฉะนั้นที่บอกว่าสังขารขันธ์มันมามากมายเหลือเกิน มาจากไหน ก็มาเพราะอวิชชาที่เราไม่เคยศึกษามัน ปล่อยให้มันเข้ามารบกวนจิตตลอดเวลา จนกระทั่งทำให้เกิดความนึกคิดจนหยุดไม่ได้ ก็คือนิวรณ์ตัวสำคัญ นี่คืออุทธัจจะกุกกุจจะ แต่เมื่อใดคิดแล้วหดหู่ เหี่ยวแห้ง ก็กลายเป็นถีนมิทธะ เห็นไหมคะ วิธีจะแก้ไขก็คือขั้นแรกด้วยการตามลมหายใจ จนควบคุมลมหายใจให้จิตสงบได้ แล้วก็คุ้ยหาทันทีว่านิวรณ์ตัวไหนกำลังรบกวน จัดการกับมัน แล้วมันจะค่อยๆหายไป ไม่ใช่สังขารขันธ์มันทำพิษ อวิชชาทำพิษ แล้วเราจะได้พูดถึงเรื่องของอวิชชาต่อไปค่ะ
คำถาม - การที่ฝึก ขณะที่ฝึกสังเกตลมหายใจทุกขณะ เมื่อตอนที่รู้สึกหัวเราะ ลมหายใจออกจะแรง หลังสำรวจและสำรวจดูในใจจะฟู แต่เมื่อฝึกหายใจสั้นและยาวแรง สำรวจดูใจแล้วนิ่ง แต่ที่เคลื่อนไหวคือกาย เนื่องจากอะไร ที่สังเกตนั้นถูกหรือไม่
ตอบ - ที่บอกว่าหายใจสั้น ยาว แรง ใจนิ่ง แต่ไม่ใช่นิ่งสงบใช่ไหมคะ มันนิ่ง คือมันนิ่งจากสิ่งที่ถูกรบกวนในขณะนั้น แต่ไม่ใช่นิ่งสงบ ทำไมมันนิ่ง เพราะไม่ถูกรบกวน หรือว่ารบกวนไม่ได้ เพราะความแรงของลมหายใจมันขับไป อันนี้ถูก แต่ไม่ใช่นิ่งสงบ แต่ที่เคลื่อนไหวคือกาย ก็ถูกแล้ว เมื่อหายใจแรง หายใจสั้นแรง กายนี้มันก็มีความเคลื่อนไหวเนื่องจากแรงสะท้อนของลม ของความเคลื่อนไหวของหายใจนั้น ที่สังเกตนี้ถูกไหม ก็ถูก แต่อย่าลืมว่าไม่ใช่นิ่งสงบนะคะ ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ไม่ใช่นิ่งสงบ
คำถาม - ขณะที่นั่งสมาธิ ที่บอกกฎกรรมฐานตอนค่ำคืนก่อนนั้น ทีแรกก็กำหนดลมหายใจยาว แล้วก็ฟังพูดไปด้วย ฟังคำพูดไปด้วย นั่งไปสักครู่รู้สึกว่าลืมลมหายใจ มีช่วงหนึ่งที่สะดุ้งตื่นว่าขณะนี้กำลังนั่งสมาธิอยู่ โดยในช่วงนั้นก็ยังนั่งตัวตรง ก็เริ่มกำหนดลมหายใจใหม่ อยากทราบว่าช่วงที่ลืมแล้วเกิดสะดุ้งตื่นนั้นเป็นช่วงที่หลับหรือกำลังมีสมาธิ ตอบ - คิดว่าหลับมากกว่า เพราะถ้าเป็นสมาธิคงไม่สะดุ้งนะคะ นี่ก็เป็นสิ่งสังเกต
คำถาม - ทำอย่างไรจะสามารถเปลี่ยนทัศนคติของคนที่คิดว่าธรรมะไม่จำเป็น ไม่สำคัญ ขอเพียงไม่ทำให้ใครเดือดร้อนก็พอแล้ว แต่เขาจะไม่ทดลองปฏิบัติ
ตอบ - ก็อย่าไปเดือดร้อนกับเขาเลย เราปฏิบัติของเราก่อน แล้วก็ทำให้เขาเห็นเป็นตัวอย่าง นั่นแหละแล้วเขาจะสนใจ เช่น อย่างเราเคยเป็นคนขี้โกรธ ขี้งอน บัดนี้พอปฏิบัติออกไปกลายเป็นคนใจเย็น ยิ้มได้ หัวเราะได้ นั่นแหละเขาจะเกิดสนใจ นี่เธอไปทำอะไรมา แต่ก่อนนี่แหมเธอล่ะงอนแฟดไปเลย เดี๋ยวนี้ไม่เห็นเป็นอย่างนั้นเลย เพราะฉะนั้นมีคำถามสองสามคำถามเกี่ยวกับการที่อยากจะดึงผู้อื่นให้มาสนใจในธรรมะ คำตอบก็คือทำตัวอย่างให้เขาดูนะคะ ท่านผู้มีเจตนาดีที่อยากกลับออกไปก็อยากจะไปสอนเพื่อนฝูง แนะนำผู้อื่นต่อไป ขอบอกว่า รอไว้ก่อน รอไว้ก่อน ยังไม่ต้อง ทำของเราเอง ฝึกของเราเอง จนกระทั่งคล่องแคล่วว่องไว แล้วถึงค่อยไปบอกคนอื่นเขา เพราะในขณะที่เราเองยังไม่มั่นคง พอไปบอกไปอธิบายแล้วเขาก็เถียง เขาก็แย้งต่างๆ เขาก็มีปัญญาของเขาเหมือนกันหนิ เรายังไม่แม่น ยังไม่มั่น ประเดี๋ยวก็เลยไม่รู้อธิบายไปทางไหน นั่นอย่างหนึ่ง แล้วก็การปฏิบัติที่แทนที่เราจะมีผลให้เขาเห็น เขาก็บอก อุ๊ยเธอออกมาก็เหมือนเดิม ยังช่างพูดช่างเถียงเหมือนเดิม ฉันไม่เห็นเธอแปลกออกไป แล้วจะมาชวนฉันไปปฏิบัติทำไม เพราะฉะนั้นทำเป็นตัวอย่างให้เขาดู ดีที่สุด ไม่ต้องพูดเลย ไม่ต้องไปอธิบายเลย อย่างตัวดิฉันเองเนี่ยเมื่อออกจากบ้านทีแรก สารภาพจริงๆ เรียนหลวงพ่อเลย หลวงพ่อท่านอาจารย์ชา พอไปถึงก็เรียนท่าน ขอมาอยู่เงียบๆ ไม่อยากพูดกับใครทั้งนั้น อยู่ในโลกพูดมามากแล้ว ขอมาหยุดพูด มาปฏิบัติ มาอยู่เงียบ หลวงพ่อท่านก็ไม่ว่าอะไร ท่านก็ปล่อยให้อยู่เงียบ ไปถึงท่านอาจารย์สวนโมกข์ ก็เรียนท่านอีกเหมือนกัน ขออยู่เงียบ ไม่พูด ไม่เกี่ยวข้องกับใคร ท่านก็หัวเราะหึหึ คือท่านเป็นครูบาอาจารย์ ท่านก็คงรู้ธรรมชาตินิสัยของผู้ปฏิบัติใหม่ทั้งนั้น มีต่างๆกัน แต่เสร็จแล้วที่กลายมาเป็นคนพูดธรรมะ บอกธรรมะนี่ เหตุปัจจัยแท้ๆ เพราะว่าสวนโมกข์เป็นวัดเปิด ท่านอาจารย์สวนโมกข์ท่านมีเจตนาที่จะสร้างสวนโมกข์เพื่อประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจจะปฏิบัติธรรมโดยไปใช้สถานที่ ท่านก็จัดสถานที่ที่จะเป็นเครื่องมือในการศึกษาธรรม แต่ไม่มีการสอน ไม่มีการอบรม ท่านถือว่าผู้ที่จะไปอยู่เป็นผู้ที่มีพื้นความรู้ในการปฏิบัติอยู่แล้ว เว้นแต่ว่าเมื่อเวลาที่มีผู้คนไปเป็นกลุ่ม กลุ่มครูบาอาจารย์ นิสิตนักศึกษา หรือว่าแพทย์หรือว่าหมอ หรือว่ากลุ่มคนทั่วไป ก็ไปขอให้จัดรายการให้ แล้วก็ต่อมาก็มีพวกฝรั่งที่มาติดใจการสอน ก็เลยมีการจัดการอบรมมาเป็นประจำเป็นเวลาหลายปี เจ็ดแปดปีแล้วที่ทำกันมา ตอนแรกๆก็ถูกขอให้สอน ท่านอาจารย์ขอให้พูดธรรมะ แล้วก็ท่านองค์อื่นก็มาขอให้ช่วยสอน บอกไม่สอน ไม่พูด เพราะไม่อยากเป็นบัณฑิตสกปรก เรียนท่านอาจารย์เลยไม่อยากเป็นบัณฑิตสกปรก บัณฑิตสกปรกก็คือดีแต่สอนเขา ตัวเองทำไม่ได้ ท่านอาจารย์ท่านก็ไม่ว่าอะไร ท่านก็ปล่อยไปอีกพักนึง
แล้ววันหนึ่งท่านก็ให้พระถือโน้ตสั้นๆมาบอกว่าให้พูดธรรมะกับนักศึกษากลุ่มนี้หน่อย พูดเท่าที่รู้ ท่านเขียนบอก คือพูดธรรมะเท่าที่รู้ เพราะท่านรู้ว่าจะต้องไปโต้เถียงกับท่านอีกว่าไม่รู้ ยังไม่รู้ ยังไม่สอน ท่านก็บอกพูดเท่าที่รู้ แล้วท่านก็บอกว่าเราขึ้นบันไดขั้นนึงเราก็จูงเขาไปขั้นนึง สองขั้นก็จูงเขาสองขั้น สามขั้นก็จูงเขาสามขั้น อะไรที่เราไม่รู้ก็อย่าพูด ท่านบอก ที่ไม่รู้ก็ไม่ต้องพูด พูดแต่ที่เรารู้ แล้วก็ไปเถียงท่านว่าไม่อยากเป็นบัณฑิตสกปรก อยากจะรู้แจ้งเห็นจริงเสียก่อน ท่านก็ถามว่าแล้วเมื่อไหร่ พอท่านถามว่าเมื่อไหร่ เราก็ไม่รู้ว่ามันเมื่อไหร่ ถ้าคอยเมื่อไหร่เราถึงจะบรรลุ ท่านก็คงอยากจะบอกว่า เราก็เห็นแก่ตัว เราก็จะไม่ได้ทำตัวเพื่อเป็นประโยชน์กับใครเลย นี่ก็เพราะเหตุปัจจัยของสิ่งแวดล้อม มันก็เลยเป็นเหตุปัจจัยให้ต้องพูด ต้องเกี่ยวข้องกับผู้คนโดยดิฉันเองไม่ต้องการเลย ไม่ต้องการจะเป็นอย่างนี้เลย อยากจะอยู่ของเราคนเดียวเงียบๆ ปฏิบัติของเรา เราก็ยังไม่ได้ไปถึงไหนเลย แต่เหตุปัจจัยมันทำให้เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นก็จึงอยากเสนอแนะท่านทั้งหลายที่มีเจตนาดีต่อเพื่อนมนุษย์นะคะ เก็บเจตนาดีเอาไว้ก่อน ทำตัวอย่างให้เขาดู เขาศรัทธาด้วยตัวอย่างแล้วเขามาหาเอง ตอนนี้แหละเป็นโอกาส แล้วก็มีพวกแหม่มหลายคน เข้ามาถามว่า ทำไมถึงเก็บตัวอยู่แต่ในสวนโมกข์ ทำไมถึงไม่ออก เอาธรรมะออกไปแจกข้างนอกบ้าง เขาคงนึกเหมือนอย่างพวกมิชชันนารีใช่ไหมคะ มิชชันนารีที่เขาออกไปประกาศธรรมะ ไปร้องเรียกชาวบ้านให้มาฟังธรรมะของเขา ก็ถามเขาบอกว่า นี่ถามจริงๆนะถ้าสมมติว่าฉันไปพบคุณที่กลางถนนน่ะ ที่กรุงเทพฯ แล้วฉันก็กวักมือร้องเรียก มานี่หน่อย มานี่หน่อย จะบอกอะไรให้ฟัง แหมสิ่งนี้มันดีจริงๆนะ มาฟังธรรมะหน่อย จะบอกอะไรให้ฟัง ถามจริงๆเหอะ มาฟังไหม มีเวลาฟังไหม เห็นไหมคนกรุงเทพที่เขาเดินกันตามถนนหนทาง เราไปฉุดมือให้เขาฟัง เขาจะฟังไหม เพราะเขาไม่พร้อม เขาไม่ฟัง เขาต้องการไปดูหนัง ไปฟังดนตรี ไปซื้อของมากกว่าที่เขาจะมาฟัง เพราะฉะนั้นขอให้รอจังหวะ เมื่อเขามาด้วยความสมัครใจนั่นแหละ เราจึงค่อยพูดเราจึงค่อยบอก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เคยเร่ขายธรรมะ และพระองค์ไม่ทรงขอร้องด้วยว่าใครจะต้องมาฟังธรรมะฉัน จะต้องมาเป็นลูกศิษย์ฉัน ไม่เคยเลย พระองค์ทรงบอกแต่มันเป็นอย่างนี้ มันดีอย่างนี้ ถ้าสนใจจะปฏิบัติตาม ก็ปฏิบัติตามให้ถูกต้อง ฉะนั้นทำตัวอย่างให้เขาดู นี่คือการสอนที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด
คำถาม - ถ้าในขณะที่นั่งทำสมาธิ มีสัตว์มีพิษเช่นตะขาบกัด จะปล่อยให้กัดหรือว่าจะลุกหนี
ตอบ - ไม่น่าถามเลยนะคะ ไม่น่าถามเลย เรามาฝึกปฏิบัติธรรมเพื่อให้มีปัญญายิ่งขึ้น มีปัญญา ไม่ใช่มาปฏิบัติธรรมเพื่อให้ไม่มีปัญญา เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าไม่มีปัญญาก็นั่งให้มันกัดไปเถอะ ไม่ต้องคิดลุกหนี
คำถาม - การถือศีลแปด จำเป็นหรือไม่ที่ต้องนุ่งขาวห่มขาว
ตอบ - ก็ไม่จำเป็น อันนี้แล้วแต่ความสะดวกและความเหมาะสม
คำถาม - ขณะนั่งสมาธิให้ใจจดจ่อที่ลมหายใจ หรือพุทโธด้วย ก็ตอบแล้วนะคะ จะยิ้มน้อยๆขณะนั่งสมาธิได้หรือไม่
ตอบ - ได้ ควรยิ้มเพื่อผ่อนคลายนะคะ ถ้าไม่ยิ้มมันก็เครียด
คำถาม - มีความเห็นอย่างไรกับคำพูดที่ว่าอ่อนไหวแต่ไม่อ่อนแอ ทั้งสองคำนี้ต่างกันอย่างไร
ตอบ - อ่อนไหวก็คือคนที่หวั่นไหวง่ายนั่นแหละค่ะ อะไรกระทบนิดนึงมันก็สะดุ้ง มันรู้สึกสะกิด มันรู้สึกเจ็บ เจ็บมากเจ็บน้อยอยู่เรื่อย อ่อนไหว คนอ่อนไหวก็คือคนอ่อนแอ ก็อยากจะเปลี่ยนคำสองคำนี้ว่า อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอดีกว่า อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ เขาเข้มแข็ง เขาเด็ดขาด เขารู้จักตัดสินใจว่าเมื่อใดควรทำอะไร ฉะนั้นอ่อนโยนดี แต่แข็งกระด้างใช้ไม่ได้ คนแข็งกระด้างก็ไม่ใช่คนเข้มแข็งใช่ไหมคะ ไม่ใช่คนเข้มแข็ง ถ้าเข้มแข็งแล้วไม่ต้องแสดงความกระด้าง แต่แสดงการกระทำที่ถูกต้องมากกว่า
คำถาม - การที่เราเป็นคนขี้สงสาร และชอบเห็นอกเห็นใจผู้อื่น โดยเฉพาะคนตกทุกข์ได้ยาก และเพื่อนที่มีจิตใจเศร้าหมอง ซึ่งจ้องแต่จะมาปรับทุกข์กับเราทำให้ตัวเราเองเป็นแหล่งสะสมปัญหาที่พยายามแก้ปัญหาให้ผู้อื่น หรืออย่างน้อยก็ช่วยปลอบใจให้เขาคลายทุกข์ โดยที่ตัวเองต้องมานั่งกลุ้มใจไม่สบายใจไปกับสิ่งเหล่านั้น ถือเป็นการหาทุกข์ใส่ตัวหรือไม่
ตอบ - แน่นอนที่สุดเลย หาทุกข์ใส่ตัว เหมือนกับเรายังว่ายน้ำไม่แข็งแล้วอาสาไปช่วย ไปสอนว่ายน้ำ หรือไปช่วยคนที่กำลังตกน้ำ มันก็เลยป๋อมแป๋มป๋อมแป๋มจมไปด้วยกัน เพราะฉะนั้นอันนี้ก็หวังว่าต่อไปจะไม่ทำอย่างนี้ เมื่อจำเป็นจะต้องฟังปัญหาแนะนำปัญหา ก็ฟังแต่หู เอาแต่หูฟัง ไม่ต้องเอาเข้ามาใส่ที่ใจ แล้วก็ใช้สติปัญญาแนะนำเขา เท่าที่เห็นถูกต้อง ถ้ามิเช่นนั้นเราก็ต้องเป็นทุกข์เป็นบ้าไปกับเขาด้วย ก็คือต้องมีสติในขณะฟัง และถ้ามันมากเกินไปก็บอกเขาได้ ใครมาก็บอกตอนนี้เหนื่อยแล้ว วันนี้มีโควตาสามคน เกินสามคนแล้วไม่ฟังต่อ เอาไว้พรุ่งนี้นะ เราึคาจะพูดได้ทำได้ ถ้าเราปล่อยให้เราเป็นทุกข์ก็แสดงว่าเราไม่มีธรรมะ เราไม่ได้ใช้ธรรมะช่วยแก้ไข
คำถาม - จะทำอย่างไรให้คนที่มีตัวตนคือมีอีโก้สูง หรือพวก Self-center เอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง ให้รู้จักลดละตัวตน แล้วเพิ่มความมีน้ำใจให้มากขึ้น
ตอบ - ก็ต้องเอาธรรมะออกสู่ แต่ว่าด้วยการทำตัวอย่างให้เขาเห็น แต่ในการทำตัวอย่างให้เขาเห็นก็ประเดี๋ยวก็จะถามอีกว่า พอเขาเห็นเรามีน้ำใจ เขาก็เลยตักตวงเอาไม่รู้หมด เราก็ต้องใช้สติปัญญาในการที่จะให้ เผื่อแผ่ ว่าให้ขนาดไหนมันถึงจะพอเหมาะพอดีไม่ให้เกินไป เมื่อเราจะให้ ทำบุญทำทานก็ต้องมีหลักว่า ไม่ทำบุญทำทานอย่างชนิดที่ทำให้เขาเห็นแก่ตัว หรือทำให้เขาขี้เกียจ ทำให้เขาเป็นคนไม่รู้จักช่วยตัวเอง นั่นเป็นการช่วยเหลือคนในทางที่ไม่ถูกต้อง เราต้องช่วยเพื่อเป็นคล้ายๆกับว่าเป็นหนทาง เป็นบันไดที่ให้เขาได้รับความช่วยเหลือ อันนี้เพื่อช่วยตัวเขาต่อไปข้างหน้านะคะ
คำถาม - จะทำอย่างไรให้เพื่อนที่ไม่มีความจริงใจและเลือกคบหาเฉพาะคนที่ทำประโยชน์ให้กับตนเอง ได้กลายเป็นคนที่มีน้ำใจและมีน้ำใสใจจริงกับคนอื่น
ตอบ - พูดง่ายๆก็คือว่าทำอย่างไรที่จะให้เพื่อนเห็นแก่ตัวและก็ไม่มีความจริงใจเนี่ยรู้จักมีความจริงใจและก็ไม่เห็นแก่ตัวมากนัก ลดลง ถ้าเขาพร้อมที่จะรับฟัง เราก็คงจะพอพูดกับเขาได้ อย่างน้อยก็ชี้ให้เขาเห็นว่าการประพฤติปฏิบัติเป็นคนเห็นแก่ตัว ไม่มีน้ำใจ แล้วก็ไม่จริงใจ คนอื่นเขามองอย่างไร ทำให้ได้รับความเกลียดชัง ความไม่เชื่อ ไว้เนื้อเชื่อใจอย่างไร ถ้าเขาพร้อมที่จะรับฟังแล้วเราก็แสดงตัวอย่างให้เขาดู แต่ถ้าเขายังไม่พร้อม ก็เห็นว่าจะต้องปล่อยไปก่อนอีกเหมือนกันนะคะ แต่ก็เป็นดัชนีชี้ให้เห็นว่า เห็นไหมศีลธรรมเป็นสิ่งที่เราต้องการในสังคม และศีลธรรมจะมั่นคงก็ต้องมีปรมัตถธรรมเป็นรากฐาน
คำถาม - มีบุคคลบางจำพวกที่มีความคิดเห็นว่าศาสนาเป็นของเก่าแก่ คร่ำครึล้าสมัย หรือเป็นเรื่องของคนแก่ คนมีความทุกข์ แต่ในเมื่อเรามีความคิดเห็นตรงข้าม โดยที่เราเห็นว่าศาสนาเป็นสิ่งจำเป็น และเราต้องการจะชี้แนะให้เขาเห็นและปฏิบัติตามในสิ่งที่เราคิดว่าเป็นสิ่งดี ไม่ทราบว่าจะไปแนะนำบุคคลพวกนี้อย่างไรถึงจะไม่ให้เขามองว่าเราเป็นคนแก่ คนคร่ำครึ
ตอบ - อยากจะแนะนำแต่ยังกลัวเขาจะว่า นี่แหละเราก็ยังมีตัวในการจะไปแนะนำเขาอยู่นั่นเอง เราจึงกลัวเขาจะว่า แต่ก็เหมือนอย่างที่พูดแล้วนั่นแหละค่ะว่า ทำตัวอย่างให้เขาดู จนมันเหมาะ จังหวะเหมาะ โอกาสเหมาะถึงค่อยแนะนำเขาบอกเขา