แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ
คุณแม่คะ คราวที่แล้วนะคะ ก่อนที่จะมาพูดถึงเรื่องวิปัสสนาภาวนาคืออะไรนะคะ ก็คุณแม่ก็ได้ตอบปัญหาธรรมะที่ผ่านมาก็ได้ตอบปัญหาในหัวข้อที่ถามมาว่า ชีวิตคืออะไร ชีวิตต้องการอะไร ชีวิตมาจากไหนและจะไปไหนนะคะ สำหรับวันนี้ดิฉันก็ขอเรียนถามคุณแม่ว่า วิปัสสนาภาวนาคืออะไรคะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง
ธรรมะสวัสดีค่ะ อันที่จริงคำถามนี้เป็นคำถามที่ค้างมานานแล้วใช่ไหมคะ ตั้งแต่เราพูดเรื่องสมาธิภาวนา แต่เผอิญก็พูดได้เพียงแค่การทำความสงบให้เกิดขึ้นที่ใจ ก็ไม่มีโอกาสที่จะพูดถึงวิปัสสนาภาวนา เพราะว่าสมาธิภาวนานั้นก็คือการปฏิบัติหรือฝึกอบรมเพื่อทำให้จิตใจเจริญ เป็นจิตใจที่ก้าวหน้า ก้าวหน้าอยู่ด้วยธรรมะ นั่นก็คือหมายความว่ามีความสะอาด มีความสว่าง มีความสงบ สะอาดอะไร ก็คือสะอาดจากการรบกวนของกิเลส ความโลภ โกรธ หลง สะอาดจากตัณหาคือความอยาก แล้วก็สะอาดจากการยึดมั่นถือมั่น ที่ว่าสะอาดจากก็หมายความว่า เมื่อใดที่จิตใจถูกกลุ้มรุมด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือถูกกลุ้มรุมด้วยความอยากอย่างชนิดหยุดไม่ได้มันก็ดิ้นรน หรือด้วยความยึดมั่นถือมั่นอยู่ตลอดเวลามันก็หนักเหน็ดเหนื่อย ฉะนั้นมันก็สะอาดไม่ได้ อย่างนั้นในทางธรรมเราเรียกว่าใจสกปรกนะคะ ทีนี้การมาฝึกสมาธิภาวนา ก็เพื่อให้จิตใจสะอาดดังกล่าวแล้ว เมื่อสะอาดแล้วมันก็จะมีแต่ความสว่าง ความสว่างเกิดขึ้นจากการที่รู้เท่าทันต่อความเป็นจริง ซึ่งการที่จะรู้เท่าทันต่อความเป็นจริง ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาตินี้ ต้องอาศัยวิปัสสนาภาวนา เพื่อว่าเมื่อมีความสะอาด มีความสว่าง แล้วก็ความสงบก็จะได้เกิดขึ้น จิตใจอย่างนี้เป็นจิตใจที่มีคุณค่า มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อมนุษย์ทุกคน เราได้พูดถึงวิธีการปฏิบัติสมาธิภาวนาในด้านการทำความสงบ หรือเรียกว่าสมถะ โดยถือเอาว่ามีวิธีการอย่างใดที่ได้เคยฝึกปฏิบัติมาในเรื่องการทำสมาธิภาวนา แล้วก็รู้สึกได้ผล ท่านผู้ฟังก็ใช้วิธีการอันนั้นได้นะคะ ให้จิตใจสงบนิ่งมั่นคงแน่วแน่ แล้วก็เป็นจิตใจที่สะอาด ว่องไว พร้อมที่จะทำการงาน ทีนี้การงานที่จะทำ ถ้าเป็นการงานทางโลกก็สุดแล้วแต่ จะทำการงานที่ทำงานหรือจะทำการงานที่บ้าน ทีนี้ถ้าหากว่าเป็นการทำงานในทางธรรม นั่นก็คือหมายความว่า จิตที่มีความนิ่ง มั่นคง สงบ แน่วแน่ ว่องไว อย่างนี้เป็นจิตที่เป็นพื้นฐานที่พร้อมที่จะปฏิบัติในด้านวิปัสสนาภาวนาต่อไป
ทีนี้วิปัสสนาภาวนาคืออะไร ก็คือการปฏิบัติฝึกฝนอบรมจิต เพื่อให้จิตนั้นเกิดปัญญาภายใน จนกระทั่งสามารถเห็นแจ้งหรือว่าเข้าถึงในสัจธรรม คือความจริงของธรรมชาติ ก็อาจจะมีความสงสัยนะคะว่าที่เราเรียกว่าความจริงของธรรมชาตินี้คืออะไร สงสัยไหมคะว่าความจริงของธรรมชาตินี้คืออะไร ส่วนมากเราจะรู้จักแต่ธรรมชาติ แล้วก็เมื่อพูดถึงธรรมชาติก็มักจะนึกถึงภูเขา ต้นไม้ ทะเลทราย น้ำ อะไรเหล่านี้เป็นต้นใช่ไหมคะ ว่านี่คือความเป็นจริงของธรรมชาติ ที่จริงตัวเรานี้ก็คือธรรมชาติ ทุกสิ่งที่อยู่ในจักรวาลนี้ล้วนแล้วแต่เป็นธรรมชาติทั้งนั้น ทีนี้เราเห็นธรรมชาติที่ล้อมรอบตัวเรา เรารู้จักตัวเราว่านี่เป็นตัวฉัน แต่จะมีผู้ใดสักกี่ท่านที่สามารถเข้าใจแล้วก็มองเห็นความจริงที่แฝงอยู่ในธรรมชาตินั้น เพราะฉะนั้นการปฏิบัติวิปัสสนาจะช่วยให้ผู้ที่สนใจในทางนี้สามารถเข้าถึงความจริงหรือสัจธรรมของธรรมชาติได้ ถ้าพูดอย่างง่าย ๆ นะคะ ความจริงของธรรมชาติ อธิบายอย่างแรกก็คือ ปรากฏการณ์ของธรรมชาติที่มีอยู่เอง แล้วก็เป็นอยู่เอง แล้วก็อยู่อย่างนั้น ไม่มีใครไปจัดการกับความจริงหรือสัจธรรมของธรรมชาติได้ มันจะเป็นอยู่อย่างนั้น มีอยู่อย่างนั้นตามเหตุปัจจัย แต่ผู้ใดจะไปบังคับควบคุมให้ความจริงที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปตามความต้องการของตนไม่มีใครทำได้ ความจริงของธรรมชาติอยู่เหนือการควบคุมของมนุษย์ ดังนั้นจึงเรียกความจริงของธรรมชาตินี้ว่ากฎของธรรมชาติ เป็นกฎที่มีอยู่ในตัวของธรรมชาติเอง ธรรมชาติจะตั้งใจสร้างขึ้นหรือไม่ก็ตาม แต่มันมีอยู่อย่างนั้น แล้วก็กฎของธรรมชาติที่มีอยู่ในธรรมชาตินี้ เป็นสิ่งที่ถ้าธรรมชาติอยากจะบอกแก่มนุษย์ ก็อยากจะบอกว่า นี่แหละ มีตาดูหูฟัง ก็ฟังสิ่งที่เป็นความจริงของธรรมชาติ ดูสิ่งที่เป็นความจริงของธรรมชาติ จนกระทั่งมันซึมซาบเข้าในจิตใจของตน ทีนี้ปรากฏการณ์ที่กล่าวถึงนี้เป็นปรากฏการณ์ที่ต่างจากปรากฏการณ์ภายนอก ปรากฏการณ์ภายนอกก็ เช่น ฝนตก แดดออก ฟ้าร้องนะคะ นี่แผ่นดินไหว เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งผู้ที่อยู่ในอาณาบริเวณนั้น ๆ คือ อยู่ในอาณาบริเวณที่ฝนตก ที่ฟ้าร้อง ที่แผ่นดินไหว หรือที่แดดออก ก็จะได้เห็นหรือได้รับรู้ได้ ด้วยตาเนื้อ เห็นด้วยตาเนื้อ รับรู้ได้ด้วยหูเนื้อ แต่อาณาบริเวณที่เกิดขึ้นนั้นจำกัด ไม่ได้ทั่วถึงทั้งจักรวาลพร้อมกันในทันที นั่นเป็นปรากฏการณ์ภายนอก แต่ปรากฏการณ์ภายในที่เป็นกฎของธรรมชาตินี้เกิดขึ้นทุกขณะ ตลอดเวลาเลย ขณะนี้ที่เรานั่งอยู่ในห้องส่งนี่ ก็มีปรากฏการณ์ของธรรมชาติ หรือกฎของธรรมชาติเกิดขึ้นทุกขณะ เช่นเดียวกับท่านผู้ฟังที่กำลังฟังอยู่นี้ จะนั่งอยู่ที่ใดก็ตาม กฎของธรรมชาติกำลังเกิดขึ้น แสดงตัวของมันเองอยู่ทุกเวลา เพียงแต่ว่ามนุษย์จะเข้าถึงหรือไม่ จะสัมผัสกับความจริงหรือไม่ ฉะนั้นกฎของธรรมชาติจึงยุติธรรมอย่างยิ่ง ที่ว่ายุติธรรมก็คือ ไม่มีการเลือกที่รักมักที่ชัง จะเกิดขึ้นทุกขณะ เกิดขึ้นทุกแห่ง เกิดขึ้นทุกกาลเวลา เกิดขึ้นทุกสถานที่ เหมือน ๆ กันหมด แต่ผู้ใดที่จะสามารถรู้ได้ เห็นได้ เข้าถึงได้ ในกฎธรรมชาตินี้ ก็จะต้องเฉพาะผู้ที่มีตาในที่ฝึกอบรมแล้วเท่านั้น เพราะฉะนั้นเมื่อพูดถึงตาใน คุณประสบพรก็คงทราบว่าไม่ได้หมายถึงตาเนื้อสองข้างนี่ใช่ไหมคะ ตาเนื้อสองข้างนี้มันเห็นอะไรก็เห็นทื่อ ๆ ตามที่สมมติเรียกกัน เช่น เห็นถ้วยแก้ว อ้อ นี่เรียกว่าถ้วยแก้ว ถ้าใครจะไปเรียกว่า อื้อ อันนี้ไม่ใช่หรอก อันนี้เค้าเรียกว่าแจกัน ก็เถียงทะเลาะกันใหญ่เชียว เพราะว่าเห็นตามสมมติ แต่ตาในที่ฝึกอบรมแล้วนั้นเป็นตาที่เห็นที่ใจ หรืออีกอย่างหนึ่งจะเรียกว่าตาใจก็ได้ ตาเนื้อจะใช้ประโยชน์ในการที่จะดูปรากฏการณ์ภายใน หรือที่เป็นกฎของธรรมชาตินั้นมองไม่เห็นนะคะ
ทีนี้ตาใจหรือตาในมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร อาจจะเป็นคำถามที่ท่านผู้ฟังรู้สึกสงสัยก็ได้ คำตอบก็คือ ตาใจหรือตาในนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการปฏิบัติหรือฝึกอบรมสมาธิภาวนาเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่อยู่เพียงในแค่ระดับของสมถภาวนา คือนิ่งสบายอยู่กับความสงบ แต่จะอาศัยใช้จิตที่สงบนั้นคิดใคร่ครวญธรรมที่เป็นสัจธรรมให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นวิธีการที่จะปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาก็คือเมื่อผู้ปฏิบัติท่านใดได้ฝึกอบรมให้จิตนิ่ง สงบ มั่นคง ว่าง ว่างคือปลอดโปร่งจากการรบกวนของกิเลสตัณหา อุปาทานดังกล่าวแล้วเป็นเบื้องต้น ก็กล่าวได้ว่าจิตเช่นนั้นเป็นจิตที่มีพลัง เข้าใจคำว่ามีพลังใช่ไหมคะ มันมีพลังที่จะทำอะไรได้ดี ได้เร็ว ได้สำเร็จ มากกว่าจิตที่ระส่ำระสาย จิตที่ดิ้นรน จิตที่ขาดสมาธิ เพราะฉะนั้นจิตอย่างนี้เป็นจิตที่มีพลัง พร้อมที่จะทำการงาน คือการพิจารณาหรือใคร่ครวญธรรม เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติก็ควรที่จะได้ควบคุมจิต ให้เป็นจิตที่มีพลัง เกิดจากความนิ่ง ความสงบ มั่นคง ผ่องใส ว่าง เบาสบาย แล้วใช้จิตนั้นเพ่งลงไป เพ่งจดจ่อพิจารณาอยู่แต่ในกฎของธรรมชาติ กฎของธรรมชาติคืออะไร ถ้าเราจะเรียกชื่อ จะเรียกชื่อว่าอะไร ในที่นี้ก็อยากจะขอเสนอแนะให้ทราบว่า กฎของธรรมชาติที่ควรจะรู้จักชื่อ ก็คือกฎที่เรียกว่า ไตรลักษณ์และกฎอิทัปปัจจยตา
กฎไตรลักษณ์ก็คือแสดงถึงลักษณะอันเป็นธรรมดาสามประการ ไตรสามใช่ไหมคะ ลักษณ์ก็คือลักษณะ ลักษณะอันเป็นธรรมดาสามประการ ซึ่งเป็นสัจธรรม เพราะเกิดขึ้นอยู่เสมอ เกิดขึ้นอยู่ทุกขณะ ทุกเวลา ทุกหนทุกแห่ง นั่นก็คือเมื่อแยกออกมา อนิจจัง ความไม่เที่ยง ทุกขัง ความทนอยู่ไม่ได้ อนัตตา ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน นี่เป็นลักษณะธรรมดาสามอย่างสามประการที่แสดงให้มนุษย์รู้อยู่ตลอดเวลา แต่มนุษย์ไม่ได้สังเกต จะรู้ก็เพียงแต่ว่า โอ๊ย มันไม่เที่ยง อนิจจังมันไม่เที่ยง คือรู้ที่ปาก พูดที่ปาก แต่มันไม่ซึมซาบเข้าไปถึงใจ ทำไมถึงว่าไม่ซึมซาบเข้าไปถึงใจ ก็เพราะว่าพอมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากความต้องการ เปลี่ยนไปจากความพอใจยินดีที่เคยได้เคยมี ก็แหม ฮึดฮัดกัดฟัน โกรธเคือง หงุดหงิด จนบางทีออกมาเป็นผรุสวาจาหรือกิริยาท่าทางที่ไม่น่าดู นี่ก็เพราะเห็นอนิจจังแต่ปาก แต่ไม่เคยได้เพ่งดูอนิจจัง คือ ความไม่เที่ยงที่เป็นสภาวะของความเป็นจริงที่เกิดขึ้นอยู่ทุกขณะ ไม่ได้เคยเพ่งดูเลย จึงไม่สามารถจะเห็นทุกขัง คือความทนอยู่ไม่ได้ของสิ่งนั้น สิ่งนั้น สิ่งนั้นทุกสิ่ง รวมทั้งตัวเราด้วยคือตัวมนุษย์ทุกคนด้วย เมื่อไม่เห็นอนิจจัง ก็ไม่เห็นทุกขัง เมื่อไม่เห็นทุกขัง ย่อมไม่มีวันจะเห็นอนัตตาคือความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เพราะฉะนั้นมนุษย์ส่วนมากจึงมีความทุกข์ ทุกข์อย่างยิ่งเพราะยึดมั่นถือมั่นในความเป็นอัตตาตัวตน ตัวฉัน อะไร ๆ ก็ฉัน พวกของฉัน เพื่อนของฉัน ลูกของฉัน งานของฉัน ของฉันมาก่อนทั้งนั้น แล้วก็ทุกข์เพราะฉันนี่แหละ คือทุกข์เพราะอัตตาตัวตน นี้ก็คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ไม่ได้ลองฝึกฝนอบรมในเรื่องของวิปัสสนาภาวนา ที่จะลองเอาจิตใจนี่เพ่งดูลงไป
การเพ่งนั้นทำอย่างไร การเพ่งนั้นก็คือรวบรวมสติ รวบรวมความรู้สึกทั้งหมดให้นิ่งจดจ่ออยู่ที่จุด ๆ เดียว จุด ๆ เดียวนั้นอยู่ที่ภายใน แล้วก็ดูลงไปโดยไม่คิด ดูก็คือเอาสติดู เอาความรู้สึกดู จดจ่อลงไปในสภาวะของความไม่เที่ยงที่มันเกิดขึ้น ความไม่เที่ยง ความไม่คงที่ ความเปลี่ยนแปลงเช่นอะไรบ้าง ดู ดูลมหายใจที่หายใจอยู่นี้ ถ้าหาอะไรดูไม่ได้ ลมหายใจที่หายใจอยู่นี้เที่ยงไหม คงที่ไหม คำตอบก็คือไม่มีคงที่ ไม่เที่ยง เพราะประเดี๋ยวมันก็เข้า ประเดี๋ยวมันก็ออก นี่คือแบบฝึกหัดง่ายที่สุด ที่จะฝึกดูอนิจจังหรือเพ่งจดจ่อไปเพื่อจะให้เห็นอนิจจัง ฉะนั้นรวบรวมจิตนั่งสงบนิ่ง เพ่งดูที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ก็จะสัมผัสได้ว่า ประเดี๋ยวก็สั้น ประเดี๋ยวก็ยาว ประเดี๋ยวก็หยาบ ประเดี๋ยวก็ละเอียด ใช่ไหมคะ ประเดี๋ยวก็เร็ว ประเดี๋ยวก็ช้า นี่แม้แต่ลมหายใจที่ว่าเป็นของเรา มันก็ยังเปลี่ยนแปลงไป มันยังไม่คงที่ จากลมหายใจ ดูความรู้สึกที่เกิดขึ้น คงที่ไหม ประเดี๋ยวชอบ ประเดี๋ยวไม่ชอบ ประเดี๋ยวอยากได้ ประเดี๋ยวไม่เอาแล้ว ประเดี๋ยวรัก ประเดี๋ยวชัง ประเดี๋ยวพอใจ ประเดี๋ยวไม่พอใจ สารพัด เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา แล้วแต่ละคนก็บอกว่า จิตของฉัน นี่เป็นจิตของฉัน แต่จิตของฉันทำไมมันถึงเปลี่ยนอย่างนี้ นี่แหละมันเป็นสภาวะที่แสดงถึงอนิจจังให้เห็น จากนั้นก็ลองดูร่างกายนี้ตัวตนนี้ มีอะไรเที่ยงคงที่บ้าง ผิวพรรณ หน้าตา ผม เล็บ ฟัน หนัง อย่างที่ท่านบอกให้ดูกรรมฐาน ไม่มีอะไรเที่ยงเลย ผิวพรรณเมื่อเด็ก ๆ เล็ก ๆ อ่อน ใส เกลี้ยง น่ารัก พอเป็นวัยรุ่น เปล่งปลั่ง ผิวเนียน น่าชม พอย่างเข้าสี่สิบ ห้าสิบเป็นไงบ้าง ท่านผู้ฟังที่นั่งฟังอยู่ อยู่ในวัยผู้ใหญ่ย่อมจะมองเห็นเอง พอส่องกระจกเข้าไม่อยากบอกเลยว่านี่ตัวเรา นี่ตัวฉัน แต่มันก็ใช่ เพราะคนคนเดียวนี่แหละ นี่ก็คือที่พูดมานี้ก็เป็นตัวอย่างที่จะฝึกเพ่งลงไปดูอนิจจัง
การเพ่งคือการจดจ่อจิตลงไปที่จุดเดียว ดูความไม่เที่ยงของทุกสิ่งที่ได้ประสบทั้งภายในและภายนอก จนจิตนั้นซึมซาบในสภาวะของความเป็นอนิจจัง อ๋อ มันเกิดขึ้นอย่างนี้เอง มันเป็นลักษณะอันธรรมดาที่ไม่มีใครไปจัดการกับมันได้ มันจะต้องเป็นอยู่อย่างนี้ตลอดไป เมื่อใดที่ท่านผู้ใดเพ่งดูอนิจจังอยู่อย่างนี้ด้วยจิตที่สงบ นี่แหละคือการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา เพื่อพยายามที่จะให้เข้าถึงความจริงของธรรมชาติหรือกฎของธรรมชาติ กฎไตรลักษณ์ที่เริ่มด้วยอนิจจัง เมื่อดูอนิจจังไปจนซึมซาบ ซึมซาบในความเปลี่ยนแปลง ก็จะค่อย ๆ เห็นสภาวะของทุกขัง คือความทนอยู่ไม่ได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย จะให้สาวเสมอ สวยเสมอ หนุ่มเสมอ หล่อเสมอ มันเป็นไปไม่ได้ มันต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย นี่คือทุกขังในไตรลักษณ์ แสดงให้เห็นถึงความทนอยู่ไม่ได้ เมื่อค่อย ๆ ซึมซาบในอนิจจัง ก็จะค่อย ๆ ซึมซาบในทุกขังทีละน้อยทีละน้อย พอซึมซาบทั้งอนิจจัง ทั้งทุกขัง ไม่ช้าหรอกค่ะ ก็จะค่อย ๆ เห็นในความเป็นอนัตตา คือความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ความรู้สึกที่เคยหลงยึดมั่นถือมั่น หรือจะพูดว่า ตู่เอา ตู่เอาว่ามันเป็นของฉัน มันเป็นฉัน มันเป็นของฉัน จะค่อย ๆ จางคลาย เพราะมันประจักษ์ที่ใจชัดเจนว่า โอ๊ย มันเปลี่ยนแปลง บังคับไม่ได้ มันทนอยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นดูไปจริง ๆ เถอะ มันหาใช่ตัวใช่ตนจริง ๆ ไม่ มันเป็นแต่เพียงสมมติเรียกว่าตัวตนเท่านั้น นี่ก็เป็นเรื่องของกฎไตรลักษณ์ที่อธิบายอย่างคร่าวๆ แล้วก็เสนอแนะแนวทางในการพิจารณานิดหน่อย พอให้เข้าใจการปฏิบัติ
ทีนี้กฎของธรรมชาติอีกกฎหนึ่งซึ่งมีความสำคัญมาก คือกฎอิทัปปัจจยตา ซึ่งเรียกง่าย ๆ ว่า คือกฎแห่งเหตุและผล เป็นกฎแห่งเหตุและผล กฎนี้เป็นหลักของพุทธศาสนาทีเดียวนะคะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสอยู่เสมอว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ผลอย่างใดจะต้องมาจากเหตุปัจจัยอย่างนั้น เพราะฉะนั้นถ้าประสงค์ผลที่เป็นไปในทางที่จะนำความสุข ความสบาย ความปลอดโปร่งใจมาให้ ก็ต้องประกอบเหตุปัจจัยให้ถูกต้อง นั่นก็คือ ประกอบเหตุปัจจัยที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ร้อนรนด้วยตัณหา ไม่ตกเป็นทาสของกิเลส ผลก็คือความสุขความสบายใจ แต่ถ้าผู้ใดประกอบเหตุปัจจัยด้วยความยึดมั่นถือมั่นเหนียวแน่น ไม่ยอมปล่อย ผลคือทุกข์หนีไม่พ้น นี่อธิบายอย่างสั้น ๆ ง่าย ๆ นี้เป็นกฎธรรมชาติ เป็นความเป็นจริงของธรรมชาติหรือสัจธรรมของธรรมชาติ ผู้ใดที่ใช้จิตที่สงบที่เกิดจากการปฏิบัติสมถภาวนา เป็นจิตที่นิ่งมีพลังและจดจ่อจิตนั้นใคร่ครวญอยู่ในกฎธรรมชาติดังกล่าวแล้ว ตาในหรือตาใจที่เป็นตาแห่งปัญญาจะเกิดขึ้นทีละน้อย ละน้อย เป็นดวงตาที่มีความสว่าง ให้ความสว่าง แม้ว่าภายนอกจะมืดเพียงใดก็ตาม ตาใจหรือตาในนี้จะคงมีแสงสว่างอยู่เสมอ ไม่มีวันมืด แสงสว่างนั้นจะทะลุ มองทะลุไปถึงสิ่งที่เป็นกฎของธรรมชาติ แล้วก็จะรู้เท่าทันความจริงของธรรมชาติ จนจิตนั้นมีความมั่นคงหนักแน่นยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้นทุกที แล้วตอนนี้ละค่ะจะเรียกว่าเป็นผู้ที่มีจุดยืนที่แน่วแน่ จะไม่มีวันเซล้มลงไปเพราะปัญหาหรือความทุกข์ที่มากระทบ เพราะจิตนั้นเป็นจิตที่เจริญยิ่งขึ้นตามลำดับ จนถึงซึ่งความเท่าทันต่อความเป็นจริงของธรรมชาติ จึงไม่ยึดมั่นถือมั่น เอามันมาเป็นปัญหากระทบให้เกิดเป็นความทุกข์ อย่างนี้เรียกว่าเป็นจิตที่เป็นอิสระ เป็นจิตที่ได้พัฒนาอย่างถึงที่สุดแล้ว เพราะฉะนั้นท่านที่ถามว่า แล้วก็ชีวิตนี้จะต้องการอะไร จะใช้ชีวิตอย่างไรจึงจะเดินถูกหนทาง แล้วก็มีความสุข ก็วิธีนี้แหละค่ะ ถ้าหมั่นพิจารณาสิ่งที่เป็นสัจธรรมด้วยจิตที่สงบนิ่งดังกล่าวแล้ว ชีวิตนี้ย่อมจะมีแต่ความสุขเกษมเบิกบานยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้นทุกวัน