แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อยู่ด้วยสติมันก็มีอยู่ที่ใจเรื่อยสมาธิก็หนักแน่นมั่นคงเรื่อย เพราะฉะนั้นจิตจะดูอะไรมันดูด้วยสติมันก็ไม่หลงใหล ไม่ถูกพัดพาไปด้วยอารมณ์ของเวทนาหรืออารมณ์ของความคิด จึงบอกว่าต้องใช้สติ นี่พูดถึงในขณะปฏิบัติหมวดที่ 2 นะคะ
คำถาม: การปฏิบัติอานาปานสติทั้ง 16 ขั้นนี้ ขณะฝึกอยู่จะรู้ได้อย่างไรว่าเราอยู่ขั้นไหนมันจะไม่กระโดดขั้นนั้นบ้างขั้นนี้บ้าง
ตอบ: ไม่กระโดดถ้าเราปฏิบัติไปตามลำดับขั้น การกระโดดนั่นมันอยู่ที่เราเองถ้าเรากระโดดมันก็กระโดด ถ้าเราไม่กระโดดก็ไม่กระโดด ถ้าเราจะเริ่มตั้งใจว่าเริ่มต้นขั้นที่ 1 ทราบแล้วใช่ไหมคะขั้นที่ 1 คือการตามลมหายใจยาวแล้วก็ตามลมหายใจยาวให้ทั่วถึง รู้จักมันอย่างดีอย่างที่พูดมามากแล้วนี่พูดซ้ำอีกประเดี๋ยวบางคนจะเบื่อ จนกระทั่งพอใจการปฏิบัติลมหายใจยาวได้ ก็เลื่อนไปลมหายใจสั้นนั่นคือขั้นที่ 2 เหมือนอย่างที่เรารู้แล้วทางปริยัติจนพอใจกับการปฏิบัติลมหายใจสั้น พอใจคือพอใจว่าทำได้ รู้จักลมหายใจสั้นอย่างดีตอบได้ควบคุมมันได้ แล้วก็เลื่อนไปขั้นที่ 3 ตอนนี้ทำงานให้เต็มที่เพื่อเอาความแม่นยำว่ารู้จักดี พอถึงขั้นที่ 3 ก็ทั้งยาวทั้งสั้น นี่เราก็รู้ว่าเรากำลังอยู่ขั้นที่ 3 จนเราพอใจการปฏิบัติในขั้นที่ 3 ไม่มีความลับของลมหายใจที่เราไม่รู้ลมหายใจมีความลับอะไรเรารู้จักหมดรู้จักมันหมดเลยเหมือนกับอ่านหนังสืออย่างละเอียดตั้งแต่หน้า 1 ถึงหน้าสุดท้าย ไม่มีอะไรเล็ดลอดสายตา ไม่มีอะไรที่เราจะไม่เข้าใจ สิ่งใดที่ซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดเราก็รู้ถี่ถ้วนหมดรู้ลึกซึ้ง อ่านได้ทั้งที่ไม่มีตัวหนังสือนี่เรียกว่าพอใจ เราจึงเลื่อนไปขั้นที่ 4 ด้วยการเฝ้าดูแถวๆ นี้นะคะเพื่อให้รู้ว่าลมหายใจผ่านเข้านะผ่านออกนะ ให้จิตนี้คงมีสติอยู่ แต่ในขณะเดียวกันก็ตั้งใจมุ่งหมายทีเดียวที่จะควบคุมลมหายใจนั้นให้สงบระงับคือละเอียดบางเบายิ่งขึ้นๆๆ แล้วจิตนี้ก็จะเข้าสู่ความเป็นสมาธิคือมีความมั่นคงหนักแน่นยิ่งขึ้นอะไรเข้ามาไม่เอา เช่น มีเวทนาเข้ามาไม่เอา คำว่า “ไม่เอา” หมายความว่าไม่ศึกษาไม่พิจารณาเวทนาในขณะที่เราตั้งใจปฏิบัติหมวดที่ 1 เวทนาสอดแทรกเข้ามาก็เพียงแต่รู้มันด้วยสติว่าเวทนามากวนแล้วนะ และเสร็จแล้วก็ใช้ลมหายใจที่เรารู้แล้วว่ามันจะขับไล่เวทนาได้ ถ้าเป็นเวทนาที่ไม่รุนแรงนักก็หายใจยาวมันก็จะออกไปแล้ว ถ้ามันแรงก็ยาวหนักยังไม่ออก ยาวลึกยาวแรงตามลำดับแล้วมันก็จะไป พอไปก็กลับมาอยู่กับลมหายใจในขั้นที่กำลังปฏิบัติอยู่ หรือความคิดอะไรแวบเข้ามาก็เช่นเดียวกัน รู้ว่านี่เป็นความคิด ปล่อย แล้วก็กลับมาอยู่กับลมหายใจ ด้วยการใช้ลมหายใจขับไล่มันไป นี่คือการไม่กระโดดแล้วก็เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องด้วย ไม่กระโดดไม่ข้ามขั้นแล้วก็ไม่เอาหมวดอื่นๆ มาผสมกัน ทางที่ถูกก็ควรจะปฏิบัติอย่างนี้ แล้วพอเราสามารถทำจิตให้เป็นสมาธิหนักแน่นสงบเยือกเย็นผ่องใสพร้อมอยู่ด้วยสติ แล้วก็ถ้ามันเป็นไปตามลำดับขั้นของการปฏิบัติปีติจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ที่ว่าโดยอัตโนมัติก็เพราะว่ามันยินดีเอง ในขณะที่ปฏิบัติเชื่อเลยนะคะว่าหลายคนมีความรู้สึกว่าท้อแท้ไม่น่าจะปฏิบัติได้น่ากลัวจะทำไม่ได้ แล้วเสร็จแล้วมันทำได้นี่จะไม่ยินดีบ้างเชียวเหรอ มันก็ต้องมีความยินดีมีความปีติ ปีติเกิดขึ้นจิตเริ่มกระเพื่อมถ้าจิตนั้นพร้อมอยู่ด้วยสติแล้วก็ปริยัติคือความรู้เกี่ยวกับอานาปานสติเราก็ชัดเจนใช่ไหมคะ พูดซ้ำกันมาหลายครั้งเราชัดเจน เรารู้ว่านี่คืออาการของเวทนาเราก็เข้าปฏิบัติในขั้นที่ 1 ของหมวดที่ 2 คือเวทนาได้เลย ศึกษาอาการของปีติจนกระทั่งรู้ว่าปีติมีอาการกระเพื่อมยังไงมันปนความรู้สึกอย่างไร มันตื่นเต้นมันลิงโลดแม้ว่ามันจะดีเพราะมันเป็นสิ่งที่เป็นทางบวกแต่มันก็ทำให้จิตผิดปกติ นี่เราศึกษามันช้าๆ อย่างด้วยสติเสร็จแล้วก็ควบคุมให้มันสงบระงับไป แล้วเราก็ไปได้ตามลำดับขั้น แต่ถ้ามันยังไม่ถึงปีติยังไม่เกิดก็ยังไม่ต้องทำ เพียงแต่รู้ไว้ก่อนแต่เราก็ยังจะศึกษาเวทนาได้ถ้ามีเวทนาอาการอย่างอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งทุกขเวทนา ทุกขเวทนาเกี่ยวกับความหงุดหงิดใจความไม่ชอบใจต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นนะคะเราก็พิจารณาอันนั้น แต่ว่ามันก็จะไม่เป็นไปตามลำดับขั้นแต่อย่างน้อยเราก็รู้วิธีที่เราจะพิจารณาเวทนา
คำถาม: ทีนี้ก็นี่คำถามถามว่าถ้าเวลาฝึกนี่จะนึกถึงภาพ เช่น ภาพท่านอาจารย์เพื่อให้เกิดกำลังใจในขณะที่กำลังกำหนดลมหายใจอยู่จะถือเป็นความคิดฟุ้งซ่านไหม
ตอบ: ถ้าหากว่าเรานึกภาพเฉยๆ แล้วเราก็ไม่ไปนึกถึงว่าตอนนั้นท่านกำลังทำอะไรกำลังพูดอะไรรูปร่างหน้าตาท่านเป็นอย่างไร เราเห็นแต่ภาพท่านชัดอยู่เฉยๆ ในจิตของเราในความรู้สึกของเราเรามองเห็นชัดเฉยๆ อย่างนั้นก็ไม่ฟุ้งซ่าน
คำถาม: ถามว่าใช้เวลาฝึกอานาปานสติจนสำเร็จทั้ง 4 หมวดนานเท่าใด
ตอบ: ตอบไม่ได้ เดี๋ยวนี้ก็ยังไม่สำเร็จ คำว่ายังไม่สำเร็จหมายความว่ายังไม่สำเร็จถึงที่สุด ยังอยู่ในระหว่างเดินทางก็ปฏิบัติซ้ำไปซ้ำมาหมวด1 ไปหมวด 2 หมวด 3 หมวด 4 แล้วก็กลับมาหมวด 1 หมวด 2 หมวด 3 หมวด 4 แต่หมวด 1 นี่ เพราะปฏิบัติมานานก็สามารถจะควบคุมมันได้ อยากจะควบคุมให้มันเป็นลมหายใจอย่างไหนก็สามารถทำได้เพราะเป็นพื้นฐานที่สำคัญ แต่ในการที่จะกำจัดเวทนาให้เด็ดขาดคือพอผัสสะเกิดขึ้นไม่ให้มีเวทนาเลยเดี๋ยวนี้ก็ยังกำลังฝึกอยู่ แต่ในการที่จะปฏิบัติหมวดธรรมเราก็จะนำธรรมะที่เรารู้ว่ามันจะช่วยขัดเกลาจิตนี้ให้มีปัญญายิ่งขึ้นเอามาใคร่ครวญทุกขณะ ทุกขณะที่เราสามารถจะทำได้จะพยายามใคร่ครวญยิ่งขึ้นแล้วความชำนาญความลึกซึ้งในธรรมก็จะมีมากยิ่งขึ้นตามลำดับ เพราะฉะนั้นจะถามว่าใช้เวลานานเท่าใดมันขึ้นอยู่กับความพากเพียร ถ้าทำบ้างไม่ทำบ้างนานมาก แต่ถ้าทำต่อเนื่องทำจริงๆ ก็เร็วขึ้น
คำถาม: ความปวดขาขณะนั่งสมาธิเป็นเพราะคิดเองหรือว่าเลือดไปเลี้ยงไม่พอไม่คล่อง ถ้าเป็นเพราะอย่างหลังจะเกิดผลเสียหายตามมาไหม
ตอบ: ไม่เป็นเพราะว่าเรายังไม่ได้เคยนั่งเป็นชั่วโมงๆ เลยใช่ไหมคะ เป็นแต่เพียงครึ่งชั่วโมงค่อนชั่วโมง ไม่เป็นและเราก็ขยับขยายได้
หลายๆ ครั้งที่มามีสมาธิจดจ่อลมหายใจได้ขึ้นมาทันทีก็ตอนได้ยินเสียงระฆังหมดเวลา
ก็น่าเสียดายนะอันที่จริงนะคะ ถ้าสมมติว่าระฆังหมดเวลานี้ถ้าใครรู้สึกว่าตอนนั้นจิตกำลังเป็นสมาธิอย่างยิ่ง แล้วสามารถจะควบคุมจิตให้อยู่ในสมาธิได้นั่งต่อไปได้ ไม่ต้องลุกไม่ต้องเปลี่ยนสมมติว่าจากนั่งจะเปลี่ยนไปเป็นยืนหรือเดินจงกรม นั่งต่อไปได้ถ้าคิดว่าขณะนี้จิตของเรากำลังเป็นสมาธิดีเหลือเกิน หรือเหมือนอย่างเวลาไปโยคะก็จิตกำลังดีอ้าวหมดเวลา ท้องหิวน้ำปานะ ต้องเดินไปเสียแล้ว นี่ก็ถ้าเรามีกำลังใจก็ยอมอดทางท้องแต่เราจะได้ผลมาเพิ่มทางใจก็ลองดูนะคะ
คำถาม: ปกติเป็นคนหายใจสั้นหายใจแรง ไม่ทราบว่าเวลาฝึกปฏิบัติขั้นที่ 4 จะใช้ลมหายใจทำตามธรรมชาติหรือต้องผ่อนให้ยาว
ตอบ: ขั้นที่ 4 นี่นะคะเราจะควบคุมลมหายใจทุกอย่างที่มันหยาบมันแรง มันหนักมันไม่สะดวกไม่สบายให้เป็นลมหายใจที่สบาย คือที่เหมาะกับเรานี่มากที่สุด คำว่าเหมาะหมายความว่าหายใจแล้วมันสบายมันปรุงแต่งกายให้สบายด้วยและสะท้อนไปถึงใจ ใจก็สงบสบายด้วยเพราะฉะนั้นอย่างที่เคยบอกหลายครั้งแล้วไม่ต้องยาวไม่ต้องสั้นแต่เอาให้สบาย ถ้าลมหายใจธรรมชาติสั้นอยู่แล้วจากการฝึกจริงจังในขั้น 1 2 3 ผู้ปฏิบัติจะรู้วิธีที่จะปรับลมหายใจนั้นให้เหมาะแก่ตนเองได้นะคะ แต่ตอนนี้มันก็ยังไม่สามารถจะทำได้ก็ถือเอาลมหายใจที่สบายที่สุดนั่นค่ะ
คำถาม: ทีนี้มีปัญหาไม่แน่ใจในจุดที่ลมกระทบที่ช่องจมูกเวลาหายใจเข้ารู้สึกชัดว่าลมมันกระทบจุดนี้ชัดเจนที่สุด แต่หายใจออกดูราวกับมันไม่กระทบจุดนี้ผ่านออกไปเลย หรือความรู้สึกไม่ไวพอจิตไม่จดจ่อพอ ความรู้สึกสงสัยเรื่องจุดที่ลมกระทบชัดเจนที่สุดนี้เป็นวิจิกิจฉาหรือเปล่า
ตอบ: ก็เป็นเหมือนกันนะคะเพราะว่ายังตอนใหม่ๆ อยู่ เพราะฉะนั้นก็เอาจุดที่เราเห็นว่าชัดที่สุดแล้วก็จดจ่ออยู่ตรงนั้น แล้วก็เชื่อเถอะเมื่อมันผ่านเข้ากระทบจุดนี้มันก็ต้องผ่านออกตรงนั้น อย่าไปวิจิกิจฉามัน เอาเป็นว่าเรารู้เข้ารู้ออกได้พอแล้ว
คำถาม: ตามที่ว่าให้กำหนดรู้ลมหายใจขั้นที่ 3 ว่าเป็นลมหายใจอย่างไรไม่คิดเอานั้นคืออะไร
ตอบ: ก็หมายความว่าไม่ให้ใช้ความคิดในขณะที่เราปฏิบัติอานาปานสติ ทำจริงๆ เมื่อขั้นที่ 3 ก็คือขั้นที่จะใช้ทั้งยาวและสั้นเพื่อศึกษาลมหายใจ เรารู้ของเราเองว่าตอนนี้กำลังหายใจสั้น ตอนนี้กำลังหายใจยาว ยาวอย่างไหนนี่คือไม่คิดแต่ทำ แล้วก็เอาจิตสัมผัสกับอาการที่เกิดขึ้นของลมหายใจนั้นพร้อมกับสังเกตด้วยความรู้สึกว่าปรุงแต่งกายอย่างไร นี่คือการไม่ใช้ความคิด ไม่ใช่ว่าหายใจออกก่อนแล้วรู้ว่าลมอะไร หรือกำหนดว่าลมหายใจอะไรแล้วค่อยหายใจออก เรากำหนดของเราเองเลยตอนนี้จะทำอะไร จะเรียกว่าสั่งก็ได้นะคะ เราสั่งใจเราเองว่าตอนนี้เราจะหายใจยาวต้องหายใจที่จริงมันไม่ต้องเป็นลำดับขั้น มันหายใจมาเลยจิตบอกก็หายใจเลย
คำถาม: ขณะที่นั่งสมาธิอย่างเป็นสุขมีเสียงหายใจฟืดฟาดทำให้สมาธิหลุดลอย ตกใจลืมตาขึ้นมาเห็นคนข้างๆ เป็นคนที่ทำเสียงหายใจฟืดฟาด เกิดโทสะ อยากจะทำร้ายเขานั่นแหละ อยากทราบว่าเป็นผัสสะหรือไม่
ตอบ: เป็นผัสสะแน่นอน แล้วก็ลองนึกดูนะคะที่บอกว่านั่งสมาธิอย่างเป็นสุขนี่ สุขยังไงน่าสงสัยนะคะ ถ้ามันสุขจริงสุขอยู่ด้วยสมาธิ จิตนั้นจะพร้อมด้วยอะไรจิตนั้นจะต้องพร้อมอยู่ด้วยอะไร คะ ต้องพร้อมอยู่ด้วยสติใช่ไหม พอสติมันก็รู้ทันว่านี่มันเช่นนั้นเอง เพราะเราจะต้องฝึกลมหายใจกันหลายอย่างหลายชนิดมันก็เช่นนั้นเอง มันก็ไม่นึกอยากจะไปทำร้ายเขา น่ากลัวจะว่าสุขด้วยความเคลิ้มหรือเปล่า เพราะฉะนั้นมันก็เลยรู้สึกเป็นสุข นี่มาทำลายความสุขของเรา เพราะฉะนั้นสติมันจึงไม่อยู่นะคะ ดูให้ดีๆ นี่แหละผัสสะเกิดแล้วเป็นเครื่องทดสอบทันทีเป็นบทเรียนทันทีเลย เวทนาเกิดไหม ถ้าสามารถควบคุมได้ไม่ให้เวทนาเกิดก็แสดงว่าที่เราฝึกจริงๆ นี่จิตเราเป็นสมาธิจริงๆ มันจึงพร้อมทั้งสติและสมาธิ ฉะนั้นขอได้ใช้เป็นแบบฝึกหัดแทนที่จะปล่อยให้ใจตกเป็นทาสของเวทนา
คำถาม: จะจัดการกับคนข้างเคียงอย่างไร
ตอบ: นี่โกรธเอามากๆ นะไม่ต้องไปจัดการกับเขา แต่ควรจะจัดการกับอะไรคะ จัดการกับจิตของเรานั่นแหละ จิตที่มันจะเอาเรื่องกับเขานั่นแหละ เห็นไหมนี่รูปปฏิจจสมุปบาทอยู่ตรงนี้เห็นไหม ในขณะนั้นน่ะเป็นอะไรแล้ว เหมือนเจ้าตัวไหนนึกออกไหม เหมือนเจ้าตัวไหนที่ปากก็คาบมือก็จับขาก็หนีบเข่าก็หนีบไว้ ฉันจะเอาอย่างนี้ฉันจะเอาอย่างนี้ ฉันกำลังสบายทำไมมาทำลายความสบายเห็นไหมคะ นี่ในขณะนั้นที่นึกอยากจะทำร้ายเขานี่ อย่าลืมนึกถึงเจ้าตัวนี้มันน่าเกลียดแค่ไหนจนบอกไม่ถูกว่าเป็นอะไร เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปจัดการกับเขา จัดการกับจิตภายในใช้ลมหายใจนั่นแหละควบคุมจิตที่กำลังกระเจิงด้วยความโกรธให้มันนิ่งลง
คำถาม: แล้วก็การดื่มน้ำเย็นในขณะที่เพื่อนๆ นั่งสมาธิก็มีเสียงดังรบกวนมาก
ตอบ: นี่แหละเป็นเครื่องแสดงว่าจิตยังไม่เป็นสมาธิ เพราะฉะนั้นอะไรๆ มันถึงรบกวนเพราะอะไรเพราะจิตอยู่ข้างนอกหรืออยู่ข้างใน อย่างนี้ นั่นแหละจิตอยู่ข้างนอกเรียกว่าจิตอยู่ข้างนอก ในสมัยพุทธกาลก็มีนิทานเรื่องภิกษุ 3 องค์ ที่บางคนได้ยินแล้วพอถึงตอนที่จะเข้าพรรษาก่อนเข้าพรรษาท่านก็ชวนกันไปจำพรรษาในสถานที่เดียวกัน แต่ก่อนที่จะจำพรรษาก็มีการสัญญากันตกลงกันว่าเราจะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเพราะฉะนั้นระหว่างพรรษานี้จะไม่พบกันไม่คุยกันไม่พูดกัน ยกเว้นในกรณีที่เกิดความจำเป็น เช่นองค์ไหนเกิดเจ็บป่วยอะไรอย่างนั้นก็จะช่วยเหลือกัน แต่ถ้าไม่มีกรณีอย่างนี้ก็จะต่างคนต่างเคร่งครัดในการปฏิบัติ แล้วเมื่อออกพรรษาแล้วจึงมาพบกันเพื่อที่จะมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการปฏิบัติว่าเป็นอย่างไร พอออกพรรษาแล้วท่านก็มาพบกันว่าเป็นอย่างไรบ้างการปฏิบัติของท่านในระหว่างพรรษานี้ องค์ที่ 1 ก็บอกว่าตลอดพรรษานี้จิตของผมไม่ออกไปนอกวัดเลยไม่เคยออกไปนอกวัดเลย องค์ที่ 2 ก็บอกว่าตลอดพรรษานี้จิตผมไม่เคยออกนอกกุฏิเลย องค์ที่ 3 ก็บอกว่าตลอดพรรษานี้จิตของผมไม่เคยออกนอกกายนี้เลย องค์ไหนปฏิบัติได้อย่างเข้มข้น องค์ที่ 3 จิตนี้ไม่เคยออกนอกกายก็หมายความว่าจิตนี้อยู่ในจิตตลอดเวลา คือท่านใช้จิตนี้ใคร่ครวญดูในจิต ย้อนจิตเข้าไปข้างใน เฝ้าดูทุกลมหายใจเข้าออกในอาการในความรู้สึกที่เกิดขึ้นในจิต เรียกว่าสามารถรู้จักธรรมชาติของจิตได้ชัดถ้าสามารถควบคุมจิตอยู่ข้างใน เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าผู้ใดมีงานทำเกี่ยวกับจิตข้างในมากจะมีเวลาใส่ใจข้างนอกไหม นึกดูสิคะเราจะไม่มีเวลา เพราะฉะนั้นทุกคนที่นั่งอยู่ในที่นี้ขอได้ใช้เวลาให้กับจิตของเราให้มาก เราง่วนอยู่กับจิตของเรา ง่วนนี่ไม่ใช่ไม่ใช่ว่าง่วนงีบนะ แต่ว่าง่วนในการที่จะทำงานทุกลมหายใจเข้าออกจะคอยศึกษาจะเฝ้าสังเกตลมอาการที่เกิดขึ้นภายในจิต แล้วก็ฝึกปฏิบัติตามลำดับขั้นของหมวดที่ 1 ฉะนั้นจะไม่มีเวลาไปใส่ใจในใคร แต่การที่จะบอกเพื่อขอร้องเพื่อนอย่างเช่นทำอะไรก็ค่อยๆ หน่อยเหมือนอย่างการดื่มน้ำก็ค่อยๆ หน่อย อย่างนี้เราก็บอกกันได้ ฉะนั้นก็ขอให้ลองพยายามนะคะแล้วก็เปลี่ยนทัศนคติเสียใหม่ให้เหมือนภิกษุองค์ที่ 3 ก็นึกดูเถอะองค์ที่ 1 ที่บอกว่าไม่เคยออกนอกวัดเลยนี่ก็อวดว่าการปฏิบัติดีอย่างเต็มที่นะ แต่นึกดูสิวัดบริเวณเท่าไหร่ถ้าสมมติวัดสัก 200 300 500ไร่ 600 ไร่ 1,000 ไร่ ไปถึงไหน แล้วการที่บอกว่าจิตไม่เคยออกนอกวัดเลยนี่แสดงว่าจิตนั้นเคยฟุ้งไปกับความคิดความรู้สึกอารมณ์ต่างๆ บ้างไหม ไปเยอะแยะ ที่ไม่ออกนอกวัดเพราะตัวต่างหากที่ไม่เคยออกนอกวัด ที่จริงจิตนั้นอาจจะไปรอบโลกเลยก็ได้ จิตจึงไม่ได้อยู่ในจิตไม่ได้เป็นการฝึกปฏิบัติอย่างเข้มงวด หรือองค์ที่ 2 ไม่ออกนอกกุฏิเลยก็แล้วแต่ว่ากุฏิเล็กใหญ่แค่ไหน แต่ก็ยังดีก็หมายความว่าได้พยายามที่จะเข้มงวดดึงจิตเข้ามาอยู่ในจิตให้มากเท่าที่จะทำได้ ส่วนองค์ที่ 3 นั้นท่านทำอย่างเต็มที่เลย จะไม่ปล่อยให้มันออกไปเที่ยวที่ไหน จะเก็บจิตไว้ในจิตเพราะฉะนั้นก็ยิ่งพร้อมด้วยสติสมาธิปัญญา
คำถาม: ทำอย่างไรจึงจะรู้ว่าลมหายใจอย่างไหนใช้กำจัดความรู้สึกอะไรหรือว่าปฏิบัติไปเรื่อยๆ จะรู้เอง
ตอบ: ก็รู้เอง มีประสบการณ์เอง และที่พูดนี่ก็พูดไปหลายครั้งแล้วว่าเวลาเกิดเวทนาเราจะใช้ลมหายใจอย่างไหนขับไล่ควบคุม
คำถาม: ตอนเช้าๆ จะมีอาการหูอื้อตลอดเวลาทำให้กำหนดรู้ลมหายใจไม่ดีเท่าใดเพราะมีลมออกหูจะมีวิธีแก้ให้หายหูอื้ออย่างไรบ้าง
ตอบ: ก็ใช้วิธีจากโยคะที่จะช่วยบริหารกาย ออกกำลังกาย แล้วก็ใช้มือบีบจมูกที่จะปล่อยลมออกมาทีละข้างนั่นก็จะช่วย นอกจากนั้นก็พยายามกลืนน้ำลายให้เป็นธรรมชาติ ดื่มน้ำก็คงจะช่วยให้เป็นปกติได้เร็วขึ้น
คำถาม: วิธีการปฏิบัติจากขั้นที่ 3 มาขั้นที่ 4 แล้วลมหายใจสุดท้ายที่จะคงไว้ในขั้นที่ 4 จะเป็นลมหายใจแบบใด
ตอบ: การปฏิบัติจากขั้นที่ 3 มาขั้นที่ 4 ก็เมื่อผู้ปฏิบัติรู้สึกพอใจแน่ใจอย่างที่พูดไปแล้วเมื่อกี้ว่าการปฏิบัติขั้นที่ 3 ได้ผลดีจริง ก็ขึ้นไปขั้นที่ 4 ด้วยการควบคุมลมหายใจ ทีนี้ลมหายใจสุดท้ายที่จะคงไว้ในขั้นที่ 4 จะเป็นลมหายใจแบบใด ก็จะเป็นลมหายใจที่ละเอียดบางเบาประณีตอย่างยิ่งจนบางทีเกือบจะเหมือนกับไม่มีลมหายใจ เป็นอาการที่กายก็เบาสบายจิตก็เบาสบาย โปร่ง หนักแน่นมั่นคง เรารู้สึกมีความหนักแน่นมั่นคงมันรวมกันแน่นอย่างนี้เป็นสมาธิที่แน่นมั่นคงมาก
คำถาม: การฝึกเช่นนี้จะช่วยให้เรารู้อยู่กับลมหายใจทุกอิริยาบถใช่หรือไม่
ตอบ: ใช่ เราฝึกเพื่อให้สามารถรู้ลมหายใจทุกอิริยาบท
คำถาม: และหากนำกลับไปปฏิบัติจนชำนาญแล้วตั้งแต่ขั้นที่ 1 ถึงขั้นที่ 4 จะปฏิบัติแต่ขั้นที่ 4 เลยได้หรือไม่
ตอบ: ในชีวิตประจำวันขณะที่ทำกิจกรรมต่างๆ อยู่ก็รู้ลมหายใจตามขั้นที่ 4 ได้
คำถาม: มีเทคนิคหรือวิธีการใดบ้างที่จะทำให้ทางเดินหายใจปลอดโปร่งตลอดเวลา
ตอบ: สติ สติจะช่วยให้ลมหายใจปลอดโปร่ง แล้วก็รู้จักแก้ไขความอยากความหวัง จะทำให้ลมหายใจขัดข้องไม่ปลอดโปร่ง ตีบตัน เกร็ง
คำถาม: ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมคือภาวะอย่างไร
ตอบ: ก็คือภาวะที่ไว ไวอยู่ด้วยสติสมาธิปัญญา ไวข้างใน พออะไรจะเกิดขึ้นล้อมรอบตัว หรือจะมีปฏิกิริยาอะไรมาจากไหน มันรู้ทัน เรียกว่าตาหูก็ไวไปหมดนั่นคือรู้สึกตัวทั่วพร้อมและพร้อมที่จะจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นอย่างถูกต้องด้วยเพราะจิตมันพร้อมด้วยสติสมาธิปัญญา
คำถามอื่นเอาไว้พูดต่อไปนะคะ
คำถาม: ถามเรื่องนี้อยู่หรือเปล่าคะของอาแดกามู อยู่นะ บอกว่าจากนวนิยายนี่กล่าวถึงว่าชายผู้หนึ่งผู้ซึ่งรู้ถึงกฎธรรมชาติไม่ยึดมั่นถือมั่นต่อสิ่งใด พอมารดาเสียชีวิตไม่รู้สึกเศร้าโศกเสียใจ กลับไปดูหนังตลกเที่ยวกับเพื่อนอย่างสนุกสนาน จึงถูกสังคมประนามว่าเป็นลูกอกตัญญูไม่มีใครคบหาสมาคมด้วย ขอถามว่าคุ้มหรือไม่กับการที่ได้รู้แจ้งถึงอนัตตาแต่ต้องเสียสถานภาพทางสังคมต้องวางตัวอย่างไรจึงจะเหมาะสมที่สุด
ตอบ: ก็ต้องย้อนถามก่อนว่ารู้ได้อย่างไรว่าเขารู้อนัตตา รู้ได้อย่างไรว่าเขาถึงอนัตตา เขาอาจไม่ได้ถึงอะไรหรอก เพราะเหตุว่าถ้าหากว่าเป็นไปอย่างที่เราพูดกันนะคะ ผู้ที่มีความประจักษ์แจ้งในความเป็นอนัตตาอย่างนี้ จิตนั้นก็จะไม่ยึดมั่นถือมั่นจริง แต่ในขณะเดียวกันนี่เป็นจิตที่พร้อมด้วยสติปัญญาที่จะกระทำสิ่งที่ถูกต้อง รู้ว่าอะไรถูกต้องในกรณีไหนแล้วก็ทำอย่างนั้น เหมือนอย่างมารดาเสียชีวิตหน้าที่ก็คือก็ต้องทำหน้าที่ในการที่จะจัดการในเรื่องงานศพของมารดาและควรจะทำกิริยาท่าทีอย่างไรจึงจะเหมาะสม เพราะฉะนั้นอันนี้เราไม่รู้หรอกว่าที่เขาแต่งออกมาอย่างนั้นเป็นอนัตตาอันเดียวกับของพระพุทธเจ้าหรือเปล่า มันอาจจะไม่ใช่ก็ได้
ไม่ทราบคือเผอิญเรื่องนี้ไม่ได้อ่าน ถ้าอ่านก็จะรู้ว่ามันมีเหตุปัจจัยอะไร ไม่ได้อ่านเองเพราะฉะนั้นก็ตอบไม่ได้เพราะว่าไม่รู้เหตุปัจจัยที่ถูกต้องหรือที่แท้จริง ถ้าสมมติว่าเขาเกิดไม่เสียใจเพราะว่าเขารู้ว่านี่เป็นธรรมดาแต่ก็ทำหน้าที่ของลูกอย่างถูกต้อง แล้วก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปดูหนังตลกเดี๋ยวนั้นต้องไปหัวเราะเดี๋ยวนั้นไม่จำเป็น
คำถาม: การพูดเท็จแต่ทำให้ผู้อื่นสบายใจถือเป็นการผิดข้อมุสาหรือเปล่า
ตอบ: คำว่าสบายใจ หมายความว่ามันเกิดประโยชน์หรือเปล่าหรือว่าเพียงแต่ทำให้เขาถูกใจ ถ้าเขาถูกใจสบายใจแต่มันไม่มีความจำเป็นจะต้องทำอย่างนั้น อย่างนี้ก็ถือว่าเจตนาเป็นมุสา แต่ถ้าสมมติว่าเราพูดเท็จแต่ว่าใช้โวหารที่จะหลีกเลี่ยงเหมือนอย่างหมอที่ไม่พูดตรงกับคนไข้ก็เพื่อจะให้คนไข้มีกำลังใจหรือไม่ต้องเสียกำลังใจ อย่างนั้นก็ไปอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าการพูดเท็จที่บอกว่าเพื่อความสบายใจนี่ไม่ทราบว่าความสบายใจนั้นสบายใจในลักษณะไหน มันไม่ชัดเจนแต่ก็บอกได้อย่างหนึ่งว่า เนื่องเกี่ยวกับศีลแล้วละก็ต้องเกี่ยวกับเจตนา ถ้ามีเจตนาละก็ถือว่าเป็นการผิดศีล
คำถาม: หากผู้มีพระคุณต่อเราประกอบสัมมาอาชีวะที่ไม่ถูกต้อง ถ้าไม่ถูกต้องก็ไม่ใช่สัมมาก็ต้องเป็นมิจฉา คำว่ามิจฉา ไม่ได้หมายถึงไปคดโกงอย่างใหญ่หลวงหรืออะไรนี้นะคะ แต่เราเห็นว่ามันมีความไม่ถูกต้องก็เรียกว่าเป็นมิจฉา ควรจะช่วยอย่างไร ควรนำเงินที่ได้จากนั้นน่ะจากเขามาใช้หรือไม่
ตอบ: เราจำเป็นหรือเปล่า ถ้าเราไม่ได้เงินจำนวนนี้จะทำให้เรามีความลำบากมีปัญหาในการศึกษาในการเป็นอยู่ไหม ถ้าเรารู้ว่าเงินนั้นเป็นเงินที่ไม่ถูกต้อง แล้วก็เขาให้ถ้าเราอยากจะแสดงความเป็นกัลยาณมิตรก็อธิบายชี้แจงขอบพระคุณแล้วก็ให้เขาเก็บเอาไว้เอง ถ้าเราแน่ใจว่าเราไม่จำเป็นจะต้องใช้ ทีนี้ถ้าจำเป็นจะต้องใช้ควรใช้ไหม อันนี้ก็ต้องดูอีกแล้วว่าความที่ไม่ถูกต้องนั้นมันเป็นไปขนาดไหนมากมายเพียงใด
คำถาม: การศึกษาวิชาจิตวิทยาเป็นการศึกษาจิตทางโลกส่วนอานาปานสติเป็นการศึกษาจิตทางธรรมใช่หรือไม่ การศึกษาธรรมะเป็นการศึกษาจิตในเรื่องของนามธรรมมีส่วนเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร นำมาใช้ร่วมกันได้หรือไม่
ตอบ: นำมาใช้ร่วมกันก็ได้ แต่กล่าวได้ว่าวิชาธรรมะหรือเรื่องของธรรมะเป็นจิตวิทยาอย่างยิ่ง อย่างจิตวิทยานี่เราเรียนเพื่อจะได้รู้ว่าธรรมชาติของสิ่งนี้สิ่งนั้นสิ่งนั้นเป็นอะไร แล้วก็จัดการให้มันเหมาะสม ในเรื่องของธรรมะก็คล้ายคลึงกันอย่างนั้น แต่ว่ามันไปลึกกว่าตรงที่ว่าจัดการให้เหมาะสมโดยไม่ต้องมีอะไรค้างอยู่ในใจเข้าใจใช่ไหมคะ ที่บอกว่าไม่ต้องมีอะไรค้าง คำว่าไม่ต้องมีอะไรค้างก็คือไม่มีความรู้สึกที่จะต้องเกาะเกี่ยวกับสิ่งนั้น มันเป็นการปล่อยออกไปด้วยความรู้เท่าทันด้วยปัญญาคือเรารู้เท่าทันเพราะมันไม่มีอะไรให้ยึดมั่นถือมั่นตามกฎของธรรมชาติ เพราะฉะนั้นอันนี้จึงเป็นจิตวิทยาอย่างยิ่งที่เมื่อสามารถปฏิบัติได้แล้วจิตนี้ก็จะมีแต่ความผ่องใสอย่างแท้จริง
คำถาม: ทำไมฝาแฝดไข่ใบเดียวกันจึงมีเวทนาเหมือนกัน หากเกิดจากผัสสะตัวเดียวกันทั้งๆ ที่เป็นคนละคนกันและบางครั้งยังสื่อใจถึงกันได้อีกด้วย
ตอบ: อันนั้นมันก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยก็เกี่ยวกับเรื่องของกรรมพันธุ์เกี่ยวกับเรื่องของยีนเกี่ยวกับเรื่องของอะไรในทางการแพทย์ซึ่งอันนี้ผู้ที่เป็นแพทย์คงจะรู้ และนอกจากนั้นก็เกี่ยวกับความสัมพันธ์คือความผูกพันกันทางใจซึ่งจะมีมากกว่าพี่น้องคนที่ไม่ใช่แฝดนั่นน่ะ ถึงแม้ว่าจะท้องเดียวกันมันมีความผูกพันกันมากโดยธรรมชาติ แล้วก็ยังผู้ปกครองอีกล่ะก็อาจจะกระตุ้นความรู้สึกอันนี้มากขึ้น เพราะฉะนั้นจากเหตุปัจจัยทางกรรมพันธุ์จากเหตุปัจจัยทางการอบรมสิ่งแวดล้อมและก็ความรู้สึกในใจของแฝดคู่นั้นที่หล่อหลอมให้มันใกล้เคียงกัน ฉะนั้นความรู้สึกอะไรต่างๆ มันก็จึงเป็นไปในทำนองคล้ายคลึง นี่ก็เกี่ยวกับเหตุปัจจัยอยู่ในกฎอิทัปปัจจยตาเหมือนกัน
คำถาม: เสาหิน 5 ต้น ...
ตอบ: ไม่เฉพาะแต่ที่นี่นะคะ ในสวนโมกข์นี่ถ้าไปก็จะเห็นท่านอาจารย์ท่านสร้างอะไรไว้แล้วก็เป็นห้า ห้า อยู่ข้างบน แล้วก็มีผู้ไปเรียนถามว่า 5 อันนี้ หมายความว่าอะไร ท่านก็ไม่ค่อยอยากบอก ท่านอยากให้คิดเองเพราะฉะนั้นถ้าจะมาคิดเองก็นึกถึงในเรื่องของทางธรรม ธรรมะที่เป็นธรรมะ 5 ข้อ เหมือนอย่างขันธ์ 5 ก็ได้ เราจะนึกว่าเสา 5 ต้นหมายถึงขันธ์ 5 แล้วเราก็ใคร่ครวญตามไปคือ 5 ต้นเสา 5 ต้นนั่นน่ะเป็นข้อที่ท่านตั้งใจจะสะกิดใจให้ผู้ที่ได้เห็นแล้วก็ได้ข้อคิดเพื่อมาใคร่ครวญในทางธรรมะยิ่งขึ้น หรือจะหมายถึงพละ 5 อินทรีย์ 5
พละ 5 อินทรีย์ 5 ก็เริ่มต้นด้วยศรัทธา แต่ต้องควรจะเป็นศรัทธาอย่างพุทธศาสตร์ ศรัทธาแล้วก็วิริยะพากเพียร แล้วก็สติระลึกรู้ถูกต้อง สมาธิความหนักแน่นมั่นคงเข้มแข็ง แล้วก็ปัญญา แล้วก็ 5 อย่างนี้ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา มีชื่อเรียกเป็น 2 อย่าง จะเรียกว่าพละ 5 ก็ได้หรืออินทรีย์ 5 ก็ได้