แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ
04:13ก่อนที่ท่านจะรับฟังรายการพุทธธรรมนำชีวิตในช่วงธรรมะชำระใจ ก็ขอเชิญรับฟังการตอบปัญหาธรรมะจากท่านศาสตราจารย์อุบาสิกาคุณรัญจวน อินทรกำแหงค่ะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง
04:32 ค่ะ ขอบคุณค่ะ ธรรมะสวัสดีนะคะท่านผู้ฟังทุกท่าน เมื่อคราวที่แล้วเราพูดกันถึงเรื่องของภาวนานะคะ คือการทำจิตให้เจริญ ทีนี้ก็อยากจะขอขยายความต่อไปสักนิดนึง ถึงวิธีที่จะทำจิตให้เจริญนั้นจะทำอย่างไร เชื่อว่าท่านผู้ฟังส่วนใหญ่คงจะคุ้นเคยอยู่แล้วกับคำว่าสมาธิภาวนา การที่จะทำจิตให้เจริญนั้นก็จะต้องเริ่มต้นด้วยการทำสมาธิภาวนานั่นเอง สมาธิ การทำสมาธิ ทำทำไม หรือเพื่ออะไร แล้วสมาธินี้ จิตที่มีสมาธินี้ เป็นจิตที่เป็นอย่างไร ก็คือจิตที่มีความนิ่ง มีความมั่นคง หนักแน่น มีความบริสุทธิ์ มีความว่องไวพร้อมที่จะทำการงาน นี่คือลักษณะของจิตที่เป็นสมาธิ แล้วก็เป็นจิตที่มีคุณภาพอย่างยิ่ง จะสามารถทำการงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง พูดง่ายๆ ก็คือว่า เป็นจิตที่มนุษย์เราทุกคนน่ะปรารถนาที่จะมีลักษณะของจิตเช่นนี้นะคะ ซึ่งการที่จะมีจิตเช่นนี้ได้นั้น จำเป็นที่จะต้องมีการฝึกอบรม การฝึกอบรมก็เรียกว่าการปฏิบัติสมาธิภาวนา หรือการปฏิบัติจิตตภาวนานั่นเอง การทำสมาธิภาวนาก็ขออนุญาตพูดสั้นๆ นะคะ ภายในเวลาที่เรามีอยู่นี้ว่า การทำสมาธิที่ง่ายๆ นี่จะทำอย่างไร เพราะมักจะได้ยินท่านที่ไปปฏิบัติธรรมที่วัดนี่นะคะ มักจะพูดกันเสมอว่า แหม ทำไม่ได้ นั่งสมาธิไม่ได้ มันยาก นั่งหลับตาทีไรมันง่วงทุกที หรือไม่ง่วงใจมันก็ไม่ได้อยู่กับการทำสมาธิ มันไปนึก ถ้าหากว่าเป็นแม่บ้านทำกับข้าวเก่ง ก็พอหลับตาลงก็มองเห็นไก่ลอยมา ปลาลอยมา เห็นอาหารต่างๆ ในครัวอะไรต่างๆ เหล่านี้ ใจมันไปอยู่กับสัญญาที่ในครัว หรือผู้ที่ทำการงานก็จะไปจิตไปอยู่กับเรื่องการงานที่คั่งค้างอยู่มากกว่า
ก็อยากจะเรียนว่า เนื่องจากว่าพื้นของจิตที่คุ้นเคยอยู่นั้น มันแตกกระจัดกระจาย ไปโน่นไปนี่กับความคิดความวิตกกังวล อยู่กับอดีตบ้างอนาคตบ้าง เราก็จำเป็นที่จะต้องรวบรวมจิตที่มันกระจัดกระจายนี่ให้มันมาอยู่นิ่งที่เดียว ทีนี้วิธีการรวมจิตนี่จะทำยังไง เราก็ต้องมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเครื่องกำหนดใช่ไหมคะ เป็นเครื่องกำหนดก็พูดง่ายๆ ว่าเป็นเครื่องผูกจิตให้จิตมันอยู่กับสิ่งนั้น เพื่อที่จะไม่ล่องลอยไปกับความคิดอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ทีนี้วิธีที่จะให้มีสิ่งผูกจิตนั่นน่ะจะใช้อะไรเป็นเครื่องผูกจิตล่ะ ก็ใช้กันได้หลายอย่าง เช่น บริกรรมคำว่า “พุทโธ” หายใจเข้า “พุท” หายใจออก “โธ” หรือยุบหนอพองหนอ หรือสัมมาอะระหัง หรือใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนดอย่างเดียว นี่สุดแล้วแต่ว่าท่านผู้ใดเคยใช้วิธีไหน แล้วก็คุ้นเคย แล้วก็ได้ผล ก็ใช้วิธีนั้นก็ได้นะคะ แต่ถ้าหากว่าท่านผู้ใดยังไม่คุ้นเคยกับการทำสมาธิ วิธีการทำสมาธิ ก็ขออนุญาตเสนอวิธีง่ายๆ ซึ่งอาจจะใช้ในชีวิตประจำวันได้ แล้วก็เรียกว่าใช้ได้ทั้งหลับตาและลืมตา คือมีเวลาก็นั่งหลับตา ไม่มีเวลากำลังต้องทำงานอยู่หรือว่ากำลังอยู่ที่บ้าน เราก็ใช้สิ่งนี้นะคะในขณะที่เรากำลังลืมตาอยู่ สิ่งนั้นก็คือลมหายใจ เพราะลมหายใจนี้เราหายใจอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเคยได้ยินหลวงพ่อท่านอาจารย์ชา เชื่อว่าคุณประสบพรคงเคยได้ยินชื่อท่านนะคะ มีผู้ที่ไปกราบหลวงพ่อแล้วก็ได้เคยฟังท่านแนะนำการปฏิบัติสมาธิแล้ว ท่านก็สอนเรื่องใช้ลมหายใจที่เรียกว่าอานาปานสตินี่ แล้วผู้ที่ไปหาท่านทีหลังก็จะบอกว่า แหม ไม่มีเวลาที่จะภาวนาเลยหลวงพ่อ เพราะว่าการงานมันรัดตัว หลวงพ่อก็มักจะถามว่า แล้วยังหายใจอยู่รึเปล่าล่ะ ถ้ายังหายใจอยู่มันก็ต้องภาวนาได้สิ เพราะเราใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนด
ที่ว่าใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนดก็หมายความว่า ให้จิตของเรานี้จดจ่ออยู่กับลมหายใจทุกขณะ หายใจเข้าก็ให้รู้ว่าลมหายใจเข้า หายใจออกก็ให้รู้ว่าลมหายใจออก คำว่ารู้นี่หมายความว่ายังไง ก็หมายความว่า รู้สึกจนสัมผัสกับความเคลื่อนไหวที่ลมหายใจเคลื่อนเข้าร่างกาย เคลื่อนเข้าภายในร่างกาย แล้วก็เคลื่อนออกจากร่างกาย คือลมหายใจนี้ ไม่มีรูปร่างนะคะให้เราจับต้องได้ แต่มันมีอาการของความเคลื่อนไหวที่เราสัมผัสได้ใช่ไหมคะ ท่านผู้ฟังจะลองหายใจยาวๆ ก็ได้ในขณะนี้นะคะ ลองหายใจยาวๆ นะคะ อย่างเช่นคุณแม่จะลองหายใจยาวๆ (เสียงลมหายใจเข้ายาว เสียงลมหายใจออกยาว) นะคะ พอเราหายใจยาวๆ อย่างนี้ เราจะรู้สึกว่าลมหายใจนี่มันจะเคลื่อนไหวเข้าไปในร่างกาย และถ้าเราหายใจยาว แรง หนัก ความเคลื่อนไหวนั้นก็จะทวีความแรง คืออาการกระเทือนที่มันเข้าสู่ร่างกายของเรานั้น ตามลักษณะของการหายใจ ถ้าหายใจเบาๆ ความกระเทือนมันก็จะบางเบา เพราะฉะนั้นครั้งแรกนี่ เพื่อให้เราจับความกระเทือนของความเคลื่อนไหวของลมหายใจได้ ก็ลองหายใจให้แรง แล้วก็ยาว แล้วก็ช้า เท่าที่สามารถจะทำได้นะคะ แล้วก็ก่อนที่จะหายใจ กำหนดจิต จิตนี่คือเอาความรู้สึกนี่มาอยู่แถวช่องจมูก เพราะว่าแถวช่องจมูกคือทางที่ลมหายใจจะผ่านเข้า ก็มากำหนดอยู่แถวช่องจมูก จดจ่ออยู่ตรงนั้นนะคะ เหมือนกับกำลังรอคอยแขกคนสำคัญที่จะมางานของเราในวันนี้ จดจ่อเชียวว่า แหม ท่านมาหรือยัง เพราะฉะนั้นพอมาก็จะได้ต้อนรับพาเข้าบ้าน เพราะฉะนั้นลมหายใจนี่คือวีไอพี เป็นแขกคนสำคัญที่สุด เราจดจ่อคอยอยู่ตรงนี้ พอเข้ามา ตามทีเดียว เรียกว่าเกี่ยวก้อยพาเข้าไปเลย ลมหายใจที่เรากำลังหายใจยาวลึกและก็แรงนี่ ผ่านไปทางไหน ก็แน่นอนล่ะ ผ่านเข้าช่องจมูก ก็จะผ่านสู่ช่องอกเข้าสู่ช่องท้อง จะลึกลงไปแค่ไหนก็สุดแล้วแต่แต่ละคนไม่เท่ากัน แต่อย่างน้อยเราก็กำหนดความรู้สึกนี่ตาม หลวงพ่อท่านอาจารย์ชาท่านจะเรียกว่า พอเข้าสู่ช่องจมูกท่านเรียกว่าต้นลม เราก็กำหนดจิตคือความรู้สึกตามต้นลมนี่ไป พอเข้าสู่ช่องอกท่านเรียกว่านี่กลางลม แล้วก็พอเลยช่องอกไปเข้าสู่ช่องท้องท่านเรียกว่าปลายลม
ทีนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องว่าไปถึงช่องท้องกันทุกคนหรอกนะคะ แต่ถือเอากำหนดแต่เพียงว่า รู้ต้นลม รู้กลางลม รู้ปลายลม ทีนี้พอลมหายใจสุด คือพอเข้าแล้วมันก็ต้องสุดน่ะ คือมันหยุดหายใจเต็มที่แค่ไหนมันก็ได้แค่นั้น แล้วเราก็พร้อม ลมหายใจพร้อมที่จะออก พอจะออกนี่ ที่เป็นปลายลมเมื่อกี้นี้ก็กลายเป็นต้นลมใช่ไหมคะ เรารีบจอจ่อเชียว จดจ่อเขม็งอยู่ที่ตรงจุดนั้นนี่ ตรงจุดของปลายลมนี่ แล้วเสร็จแล้วก็จดจ่อตามนี่กลายเป็นต้นลม พอเข้าผ่านช่องอกยังเป็นกลางลมอยู่ แต่พอผ่านออกช่องจมูกนี่กลายเป็นปลายลมอีกแล้ว ก็ให้รู้จักเวลาเข้าต้นลม กลางลม ปลายลม เวลาออกก็คงรู้จักต้นลมเหมือนกันเพียงแต่เปลี่ยนที่ จากท้องหรือว่าจากหลังล่างช่วงอกลงไปนี่ มาจนกระทั่งถึงช่องจมูกเป็นปลายลม กำหนดอย่างนี้ค่ะ ท่านบอกว่ากำหนดจิต กำหนดความรู้สึก เอาสติมาจดจ่ออยู่ตรงนี้รวบรวมไม่ให้ไปไหนเลย จดจ่ออยู่ตลอดเวลา แล้วเราก็ในขณะนั้นให้สังเกตเถอะ จิตไปไหนไม่ได้ มันจะไม่วิ่งวุ่นเลื่อนลอยไปที่โน่นที่นี่ เพราะมันจะต้องติดตามอยู่กับลมหายใจ ถ้าเราบังคับได้นะในขณะนั้น เอา ไม่เอาถึงห้านาที เอาสักสามนาทีได้ไหม ลองทดลองสักสามนาที หลังจากฟังรายการนี้แล้วนะคะ ขอเชิญท่านผู้ฟังลองทำดู นั่งสักสามนาทีคนเดียวใครอย่ามากวน จะจดจ่ออยู่กับลมหายใจ ลืมตานั่นแหละค่ะ ไม่ต้องหลับตา แต่อย่าเอาตาไปสอดส่ายที่โน่นที่นี่นะคะ ลืมตาแต่ว่ามองต่ำ มองต่ำแค่หน้าตักของเรานี่ แล้วก็เอาจิตจดจ่ออยู่ที่ช่องจมูก รับมันเข้าไปแล้วก็ตามมันออกมา ให้ได้ทั้งต้นลม กลางลม และก็ปลายลม ทีนี้บางท่านก็อาจจะบอกว่า แหม มันยาก มันยาก ประเดี๋ยวต้นลมมันก็กลายเป็นปลายลมไปซะแล้ว หรือปลายลมมันก็กลายเป็นออกต้นลมตอนสุดท้ายไปแล้ว มันยาก
ก็มีเคล็ดลับอีกอย่างที่จะฝากไว้ให้ นั่นก็คือลองนับ ลองใช้วิธีนับ นับในใจ ก็คือพอลมหายใจเริ่มเข้าช่องจมูกนับหนึ่ง หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า หก เจ็ด แปด เก้า สิบ สุดแล้ว เผอิญสุดพอดีนะคะ นับให้มันสุดพอดี พอสุดก็จดจ่อจุดนั้นออกมาแล้วก็นับย้อนกลับมาทันที หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า หก เจ็ด แปด เก้า สิบ นับให้ได้ ถ้าหากว่าเข้าก็นับได้สิบ ออกก็นับได้สิบ แสดงว่าจิตนั้นจดจ่ออยู่กับลมหายใจไม่ไปไหน แต่ส่วนมากนี่ผู้ที่ลองฝึกใหม่ๆ มักจะบอกว่า ลมหายใจออกมันสั้นกว่าลมหายใจเข้าใช่ไหม เพราะว่าสมมติว่าเข้านับได้สิบ พอออกนี่บางทีมันเหลือแค่เจ็ดแค่ห้า ความจริงไม่ใช่นะคะ ลมหายใจนี่มันจะเท่ากันทั้งเข้าและออก เข้านับได้สิบ ถ้าสติพร้อม ออกมันก็ต้องนับได้สิบเหมือนกัน ทีนี้ที่บางทีเวลาออกนับไม่ทันนี่ เป็นเพราะว่าเราไม่ชำนาญนะคะ การฝึกของเรายังน้อย เพราะฉะนั้นก็ไม่ทัน เวลาลมหายใจสุดแล้วนี่ เรากุมสติเอาไว้ตรงนั้นไม่ทัน จดจ่อสติไม่ทัน ลมหายใจมันก็ผลุบออกมาก่อน เราก็เลยนับไม่ทัน มันก็ได้น้อย เพราะฉะนั้นทำใจสบายๆ การที่จะใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนดนี่ เคล็ดลับที่สำคัญคืออย่าเกร็ง อย่าเครียด อย่าตั้งใจว่าต้องเอาให้ได้ นี่ถ้าตั้งใจต้องเอาให้ได้ ไม่ได้ ทำไมถึงไม่ได้ เพราะขณะที่บอกว่าต้องเอาให้ได้นี่ มันกลายเป็นอะไรทราบไหมคะ ตัณหาใช่ไหมคะ เกิดตัณหาความอยากละ พออยากเข้ามันก็หวัง ต้องให้ได้ พอหวังเข้านี่มันเกิดวิตกกังวล วิตกกังวลซ้อนเข้ามาทันทีโดยไม่รู้ตัว
เพราะฉะนั้น พอคิดว่าจะลองทำสมาธิเอาลมหายใจเป็นเครื่องกำหนด ก่อนอื่นทำใจสบาย ทำใจสบายๆ นั่งให้เป็นธรรมชาติ คือนั่งตัวตรงเพื่อให้ลมหายใจผ่านเข้าออกได้สะดวก ไม่นั่งตัวคดตัวงอไปข้างหน้าหรือข้างหลัง นั่งตัวตรง แต่ตรงสบายๆ อย่าให้เกร็ง อย่าให้เครียด มิฉะนั้นจะรู้สึกปวดคอ ปวดไหล่ แล้วก็ปวดขมับ ปวดอะไรไปหมดน่ะ มันกลายเป็นพาลปวดไปหมดนะคะ นั่นก็จงรู้เถิดว่าเราไม่เป็นธรรมชาติ เราฝืนธรรมชาติ ทำไมเราหายใจอยู่ทุกเวลานี่เราถึงไม่ปวดล่ะ เราถึงไม่เครียดล่ะ ก็เราหายใจอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่หายใจก็ล้มไปแล้วนะคะ เพราะฉะนั้นเอาให้เป็นธรรมชาติเหมือนอย่างเราหายใจธรรมดา เพียงแต่เพิ่มนิดเดียว นิดเดียวว่าเรารู้ไปด้วย คือเรารู้ลมหายใจนั่นไปด้วย รู้ด้วยการสัมผัสนะคะ ไม่ใช่รู้ว่าฉันหายใจ ฉันหายใจอยู่ ไม่ใช่อย่างนั้น ถ้ารู้เพียงหายใจอยู่นี่ รู้เพราะว่าเรายังไม่ตาย มันก็ต้องหายใจ แล้วเราไม่รู้หรอกว่าขณะนี้เข้าหรือออก นี่ค่ะ สิ่งที่เราจะพิสูจน์ก็คือว่าเรามีสติหรือไม่ คือสติพร้อมหรือไม่ ด้วยการถามตัวเองเดี๋ยวนี้ค่ะ กำลังหายใจเข้าหรือออก ต้องหยุดแล้วนั่นน่ะค่ะ ต้องหยุดแล้ว หยุดคิดแล้ว เอ๊ะ นี่กำลังหายใจเข้าหรือออก ทั้งๆ ที่กำลังหายใจอยู่ เห็นไหมคะ นี่แหละเป็นเครื่องพิสูจน์ที่บอกว่าต้องอาศัยสติ ถ้าเรามีสติกำกับอยู่แล้ว เราจะรู้ว่าขณะนี้กำลังเข้าหรือออก ทำไมเราถึงรู้ ก็เพราะว่าเราตามลมหายใจของเราทุกขณะเลย เพราะฉะนั้นที่เราตามลมหายใจทุกขณะก็เพราะเหตุว่าเรารู้แล้วว่ามันมีคุณประโยชน์ ถ้าจิตอยู่กับลมหายใจ เกาะเกี่ยวอยู่กับลมหายใจทุกขณะที่ผ่านเข้าและผ่านออก จิตจะนิ่ง มั่นคง เข้มแข็ง มีกำลัง ไม่ซัดส่าย แล้วก็เมื่อมันมีกำลังไม่ซัดส่าย มันก็มีสติคุม คุมจิตอยู่ ทีนี้เมื่อมีสติคุมจิตอยู่ จิตนั้นก็สามารถที่จะระลึกรู้อะไรๆ ที่เป็นประโยชน์เอามาใช้ได้ทันเวลา คือเมื่อสติมั่นคงนี่ ปัญญามันมีอยู่ตรงนั้น เพราะสติกับปัญญานี่เรามักจะพูดควบคู่กันใช่ไหมคะ
ปัญญาจะเกิดเมื่อมีสติ เพราะว่าถ้าสติมาทันนี่ มันจะเรียกเอาปัญญาที่เป็นความรู้ทั้งทางโลกทางธรรมที่เราเคยมี มาใช้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าได้อย่างถูกต้องตามกรณีของมัน เพราะฉะนั้นเรารู้แล้วว่ามันมีประโยชน์ เราจึงพยายามที่จะควบคุมจิตนี่ให้อยู่กับลมหายใจอย่างนี้ให้ได้ให้ตลอดนะคะ ถ้าเราสามารถทำได้อย่างนี้ ฝึกได้อย่างนี้ จิตก็จะค่อยๆ เจริญเข้าตามลำดับ แล้วทีนี้ถ้าหากว่าเราสามารถอยู่กับลมหายใจได้ตลอดเวลาที่เราลืมตา แน่นอนล่ะไม่ใช่ทุกเวลานาทีนะคะ เพราะผู้ที่ทำงานอยู่หรือไม่ว่าจะอยู่บ้านหรืออยู่ที่ทำงานก็ตาม ก็มีภาระที่จะต้องทำ ทีนี้ภาระที่จะต้องทำเฉพาะหน้า เราก็เอาสมาธินั่นน่ะไปอยู่ที่งานที่ทำในขณะนั้นนะคะ ถ้าเราไปอยู่ที่งานที่ทำในขณะนั้น ก็เรียกว่าเราเอางานนั้นน่ะเป็นสมาธิ แต่ในขณะที่เราทำงานนั้น เราก็ต้องหยุดพักบ้างล่ะเป็นธรรมดาใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นพอเราหยุดพัก เช่น แหม เหนื่อย นั่งพักสักสองนาทีสามนาที ก็เอากำไรตรงนี้ค่ะ เอากำไรตรงนี้คือ นับเชียว เริ่มนับลมหายใจเข้า หนึ่งสองสามสี่ห้าหกเจ็ดแปดเก้าสิบ หนึ่งสองสามสี่ห้าหกเจ็ดแปดเก้าสิบ ทั้งเข้าทั้งออก ถ้าเผอิญออกตามไม่ทันก็อย่าไปโกรธตัวเองว่า แหม เรานี่อาภัพอับวาสนา ปฏิบัติกับเขาไม่ได้เสียเวลา เสียเวลาที่จะไปโกรธตัวเองอย่างนั้น แต่เริ่มทำใหม่ แล้วก็ทำหน้าให้ยิ้มแย้ม คือทำใจน่ะให้ยิ้มแย้ม อย่าไปหงุดหงิด อย่าไปโกรธตัวเอง เพราะการปฏิบัติจิตตภาวนาก็เพื่อให้จิตเจริญ คือเจริญจากความเป็นคนเถื่อนที่มีความโกรธอยู่เรื่อย คนที่โกรธอยู่เรื่อยนี่มักจะชอบอาละวาด อาละวาดมากบ้าง น้อยบ้าง เบาบ้าง หนักบ้าง นั่นล่ะคนเถื่อน เพราะฉะนั้นเรากำลังจะแก้ไขความเป็นคนเถื่อน ปรับปรุงเราให้เป็นคนเมือง คือเป็นคนที่มีจิตเจริญขึ้น เพราะฉะนั้นจะไปโกรธทำไม ในขณะที่เรากำลังเริ่มทำไม่ต้องน้อยใจ ไม่ต้องโกรธ ไม่ต้องวิตก เอาล่ะมันทำไม่ได้ก็ทำใหม่ ทำได้ก็ทำต่อไป เรามีโอกาสที่จะเริ่มต้นใหม่เสมอ เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่โกรธ เราทำใจให้เย็นๆ ยิ้มๆ แล้วก็ทำต่อไปเรื่อยๆ นี่ค่ะ จะเป็นหนทางที่ทำให้เราสามารถปฏิบัติสมาธิได้เร็ว เพราะฉะนั้นก็ลองเริ่มทำอย่างนี้นะคะ
ทีนี้ถ้าหากว่า ท่านผู้ใดนี่ปฏิบัติอย่างนี้ได้ตลอดเวลา คือพอถึงโอกาสพักเข้าก็ใช้กำไรช่วงนี้เป็นกำไร พอถึงเวลาทำงานก็ทำต่อ พอถึงเวลาพัก หรือว่าอยู่กับงานที่ไม่ต้องใช้สมอง เช่นอย่าง ซักผ้า กวาดบ้าน อะไรต่างๆ เหล่านี้ เราก็อยู่กับลมหายใจได้ ก็ถือเป็นการปฏิบัติ ทีนี้พอถึงเวลาที่มีเวลาจะนั่งสมาธิ เป็นทางการว่านั้นเถอะนะคะ จะเป็นก่อนนอนหรือจะเป็นตอนเช้ามืดที่สะดวกก็ตาม ลองดูเถอะค่ะ ถ้าเราฝึกปฏิบัติอย่างนี้มาตลอดวัน พอถึงตอนที่นั่งสมาธิจิตจะรวมได้เร็ว เพราะอะไร ก็เพราะว่าเท่ากับเราได้เตรียมจิตของเรานี่ ให้อยู่ในลักษณะของการสมาธิภาวนาตลอดเวลา เพราะฉะนั้นมันก็เป็นหนทางอยู่แล้ว เราก็จะสามารถมีกำลังใจ มันจะเกิดกำลังใจในการที่จะปฏิบัติสมาธิภาวนา เพราะเห็นคุณประโยชน์แล้วว่าจิตที่ชอบคิดเลื่อนเปื้อนไม่เข้าเรื่องไม่เข้าราวนี่นะคะ ไปโน่นไปนี่เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ ไม่คุ้มค่าของชีวิตเลย มันกลับเป็นจิตที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ ทำการงานก็ว่องไวขึ้น ได้ผลมากขึ้น ใช้เวลาไม่เท่าไหร่งานก็เสร็จเร็ว แทนที่จะใช้เวลามากมายอย่างชนิดไม่จำเป็น เพราะฉะนั้นอันนี้ค่ะก็จะเรียกว่าเป็นการปฏิบัติธรรม เป็นการปฏิบัติธรรมที่จะเกิดประโยชน์ การทำจิตตภาวนานี่เป็นเพียงเริ่มต้นเท่านั้นนะคะ แล้วก็เริ่มต้นทำจิตให้สงบ ที่จะขยายต่อไปสูงไปกว่านั้นอีก นั่นก็คือการวิปัสสนาภาวนา หมายถึงการใคร่ครวญธรรม ซึ่งเราคงจะไม่มีเวลาพูดกันในวันนี้นะคะ เพราะว่าเรื่องของการปฏิบัติในขั้นวิปัสสนาภาวนานั้น เป็นขั้นที่เราจะต้องพูดอะไรกันให้ละเอียด แล้วก็อาจจะลึกซึ้งสักนิดหน่อย ก็คงจะต้องขยายความมากกว่านี้นะคะ แต่ก็อยากจะพูดได้ว่า ตามที่คุณประสบพรได้ถามว่า แล้วการทำบุญอย่างไหนจะได้กุศลมากที่สุด หรือเป็นบุญมากที่สุด ก็อยากจะบอกว่า อย่างที่สามนี่ล่ะค่ะ คือการปฏิบัติจิตตภาวนาที่จะทำให้จิตเจริญนี่แหละจะเป็นการทำบุญที่เป็นกุศลที่สุดแก่ตัวเอง เพราะอะไร ก็เพราะว่าในการปฏิบัติจิตตภาวนานี้เป็นการที่สร้างพลังจิตให้กับตัวเองแล้ว แล้วเมื่อปฏิบัติไปในขั้นวิปัสสนาภาวนา คือการที่จะใคร่ครวญธรรมต่อไปให้ลึกซึ้งตามสัจธรรมของที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนนะคะ ก็จะเป็นการลดละความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน จะสามารถชำระสิ่งที่เป็นบาปออกไป สามารถชำระสิ่งที่ไม่ควรมีในตัวตน จนสามารถทำอภัยทานได้อย่างบริสุทธิ์ผุดผ่อง แล้วก็ถึงขั้นที่จะลดละความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตนหรืออัตตานี่ให้หมดไปได้ ถ้าหากว่าเมื่อใดอัตตาสิ้นไป เมื่อนั้นความเห็นในอนัตตา ความไม่ใช่ตัวใช่ตนบังเกิดขึ้น นี่คืออิสรภาพของความเป็นมนุษย์ ที่จะเป็นผู้ที่สามารถอยู่เหนือบุญเหนือบาป คำว่าเหนือบุญเหนือบาปก็คือจิตใจจะไม่กระเพื่อมอีกต่อไป ไม่ว่ากับสิ่งดีสิ่งชั่ว สิ่งบุญสิ่งบาป เพราะเห็นแล้วว่ามันเป็นสิ่งที่มีแต่เพียงความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นก็ขอเชิญชวนนะคะว่าให้ทำบุญ ทำบุญอย่างอื่นก็ทำเถิด ที่เคยทำอยู่แล้ว ดีอยู่แล้ว แต่โปรดอย่าลืมประพฤติธรรม หรือว่าทำบุญด้วยการปฏิบัติจิตตภาวนา ซึ่งจะเป็นบุญกุศลที่สูงสุดที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ