แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คำถาม: สวดเพราะหวังอานิสงส์นั้น เป็นการสมควรหรือไม่
ตอบ: ในขณะที่สวด เพราะเราได้ยินคำบอกเล่าว่า ถ้าสวดแล้วอานิสงส์ก็คือจะเป็นการป้องกันภัยใช่ไหมคะที่เราเคยได้ยินมา แต่ถ้าเรานึกดูอีกทีนึงนะคะในขณะที่เรากำลังตั้งอกตั้งใจสวดนั้น จิตจดจ่ออยู่ที่ถ้อยคำที่สวดหรือเปล่า จดจ่อไหม ถ้าจดจ่ออยู่นั่นก็คือในขณะนั้นจิตเป็นสมาธิใช่ไหม เพราะจดจ่ออยู่ที่เดียวกับถ้อยคำที่สวด อย่างที่บอกว่าให้สวดตั้งหลายครั้งนั่นน่ะ ทบทวนกลับไปกลับมาอย่างคาถาชินบัญชร เท่าที่เคยได้ยินนั่นเป็นวิธีที่อาจจะบอกได้ว่า ผู้ใหญ่โบราณท่านบอกว่าให้รู้จักรักษาใจให้มั่นคงให้เข้มแข็ง หรือพูดง่ายๆ คือให้เป็นสมาธิ แต่ถ้าบอกว่าให้มาทำสมาธิบางคนอาจจะไม่สนใจ ไม่อยาก แต่ถ้าบอกว่าสวดอย่างนี้ทำอย่างนี้แล้วจะป้องกันอันตรายได้ ก็จะมีกำลังใจทำ นี่เพราะอะไร เพราะความเห็นแก่ตัวใช่ไหม ความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน อยากให้ตัวตนนี้ปลอดภัยก็ทำ เพราะเข้าใจว่าเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าจะบอกว่าเป็นสมาธิให้จิตมั่นคงเข้มแข็งเพื่อจะต่อต้านกับกิเลสหรือเวทนาไม่เห็นอานิสงส์ แต่ก็ขอให้รู้เถอะว่าในขณะที่ทำอย่างนั้นจิตก็มั่นคง แล้วก็มั่นคงด้วยความเชื่อมั่นว่าอันตรายไม่มี ก็เลยสบายใจ แต่ว่าจะจริงหรือไม่จริง อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าถ้าทำอย่างนั้นแล้วจิตเป็นสมาธิมากขึ้น สติก็อยู่ที่นั่นโดยอัตโนมัติ แต่ถ้าเราสวดมนต์แล้วเรารู้คำแปลด้วย ยิ่งดีไหม ก็คิดว่ายิ่งดีใช่ไหมคะ เพราะทำให้เรารู้ความหมาย ทำให้เข้าใจว่าขณะที่สวดนั้นสวดเพื่ออะไร และก็ในบทสวดมนต์ต่างๆ ถ้าเราใคร่ครวญดูให้ดี จะเห็นว่าเป็นเครื่องมือของการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาได้อย่างดีมากเลย ฉะนั้นใครที่ในขณะที่จะต้องตามลมหายใจและดึงจิตอยู่กับลมหายใจไม่ได้ แทนที่จะปล่อยให้จิตฟุ้งซ่าน ก็อยากจะเสนอแนะให้หยิบบทสวดมนต์ที่มีคำแปลนะคะ บทที่เราชอบ พอสวดแล้วจิตใจมันซาบซึ้งเอามาสวดแล้วก็รู้อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก เห็นจะดีกว่าการที่จะปล่อยให้จิตฟุ้งซ่านกับความคิดหรืออารมณ์
คำถาม: มนุษย์โดยธรรมชาติมีความกลัวใช่ไหมจึงมาอยู่รวมกันเป็นสังคม แต่ศาสนาพุทธสอนให้มีความวิเวกไม่ถือว่าขัดธรรมชาติหรือ
ตอบ: อันนี้ต้องเข้าใจซะก่อนที่ท่านสอนให้มีความวิเวกน่ะหมายความว่าอะไร และก็การที่มนุษย์มาอยู่รวมกัน เพราะมีความกลัว ก็คิดว่าการมาอยู่รวมกันนี้จะเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ช่วยกันป้องกันอันตรายให้แก่กันและกันได้ใช่ไหมคะ แล้วผลที่เราเห็นอยู่ในสังคมปัจจุบันโดยทั่วไปขณะนี้ ช่วยกันป้องกันอันตรายให้แก่กันและกันไหม หรือว่ายิ่งรู้มาก ฉลาดมาก ก็ยิ่งหาหนทางเอาเปรียบ เบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ในสังคมด้วยกัน ทั้งทุกวงการไม่ว่าวงการอะไรทั้งนั้น นี่เพราะอะไร ก็เพราะความกลัวนั่นอีกนั่นแหละ แต่ทีนี้เป็นความกลัวที่เห็นแก่ตัวจึงขาดการมีน้ำใจที่จะช่วยเหลือผู้อื่น ฉะนั้นการที่ในศาสนาพุทธหรือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านสอนเรื่องความวิเวก วิเวกคือความเดี่ยว ความมีจิตเดี่ยว ความมีจิตเดี่ยวนั้นหมายความว่าให้รักษาจิตนี้ให้มั่นคง เข้มแข็ง พร้อมอยู่ด้วยสติสมาธิและปัญญา จะได้ช่วยเป็นพลังที่จะป้องกันตนเองให้รอดพ้นจากปัญหา นอกจากนั้นยังจะสามารถช่วยเหลือป้องกันเพื่อนมนุษย์อื่นได้อีกด้วย เช่น ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงของเรา ยังจะช่วยได้อีกด้วย เพราะฉะนั้นก็ขอให้เข้าใจคำว่าวิเวกให้ถูกต้อง วิเวกในที่นี้หมายถึงการที่จะช่วยพัฒนาจิตของตนเองเพื่อให้เป็นจิตที่มีโอกาสเป็นสติ พร้อมด้วยสติสมาธิปัญญามากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าให้หนีสังคม
คำถาม: การครุ่นคิดกลัวเมื่อต้องอยู่คนเดียวในความมืดที่มีบรรยากาศสงบ เป็นนิวรณ์ข้ออุทธัจจะกุกกุจจะหรือไม่ จะแก้ได้อย่างไร
ตอบ: เรียกว่าเป็นข้ออุทธัจจะกุกกุจจะ ถ้าพออยู่มืดก็คิดปรุงแต่งไป แต่อันที่จริงอยู่ในวิจิกิจฉามากกว่าอุทธัจจะกุกกุจจะ เพราะมีความสงสัยว่าในความมืดมีอะไร เพราะมองไม่เห็น เพราะฉะนั้นนี่ก็คือความคิดใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นถ้าเราหยุดความคิด ฆ่าความคิดอันนั้นซะ แล้วในความมืดก็จะเหมือนกับความสว่าง เพราะจิตนี้ไม่มีความกลัว ถ้าหากว่ากลัวมากขึ้นก็จงอยู่กับลมหายใจ เอาจิตดึงมาอยู่กับลมหายใจ หรือใครเคยมีคำบริกรรมอะไรที่พอใจน่ะ นำมาใช้ได้ควบคู่กับการรู้ลมหายใจ นำบทสวดมนต์ที่ชอบ ที่ติดใจมากสักบทหนึ่งมาสวด สวดทั้งคำบาลี สวดทั้งคำแปลสวดทบทวนไปมาตั้งแต่ต้นจนจบ แล้วก็กลับมาต้นอีก ทบทวนไปมาให้ดึงจิตอยู่ให้ได้ รับรองว่าจะหายกลัวและจิตจะเกิดมีความมั่นคงแถมจะกล้าหาญขึ้นอีกด้วย ขอให้ลองดูนะคะ แทนที่จะปล่อยให้จิตตกจมอยู่ในความกลัว
คำถาม: ในฐานะที่เป็นนักศึกษาในสาขามนุษยศาสตร์ จำเป็นต้องเรียนรู้วรรณคดีและวรรณกรรมต่างๆ มากมาย ซึ่งคุณค่าของงานเขียนเหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากการใช้ภาษาและกลวิธีการประพันธ์ที่เร้าอารมณ์ให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกคล้อยตาม เมื่อจบจากการฝึกอานาปานสติแล้วเราจะสามารถทำความเข้าใจกับบทประพันธ์เหล่านั้นได้อย่างไร ถ้าไม่เกิดเวทนาก็คงไม่เห็นคุณค่าส่วนหนึ่งของวรรณกรรมนั้นๆ
ตอบ: ก็ไม่อยากยกตัวอย่างตัวเองนะ ได้เป็นผู้ที่สนใจในเรื่องการอ่านการเขียนมาต้องบอกว่าตั้งแต่เล็กๆ ตั้งแต่อ่านหนังสือออกนั่นแหละ ไม่มีใครมาสอนหรอก แต่มีความรัก มีความชอบการอ่านมาตลอดเวลา พบอะไรอ่านหมดทั้งนั้น แล้วก็เมื่อมาเป็นครูสอนหนังสือ มาเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยก็ยังสอนเรื่องวิชาวรรณกรรม แล้วเดี๋ยวนี้ก็ยังอ่านวรรณกรรม แล้วก็เอาวรรณกรรมมาพูดให้ฟัง อานาปานสติเป็นปัญหาหรือเปล่า ไม่เป็นเลย แต่จะยิ่งทำให้เราฉลาดมากขึ้น ในการที่เราจะดูแง่มุมจากวรรณกรรมนั้นๆ ถ้าเรามีธรรมะประกอบ แต่ก่อนนี้เราก็จะเข้าใจวรรณกรรมนั้นในแง่ของกิเลสอย่างเดียวใช่ไหม ในแง่ของกิเลส ในแง่ของอารมณ์อย่างปุถุชน แต่บัดนี้เรามีธรรมะ เรารู้จักธรรมะเราจะสามารถมองวรรณกรรม พูดง่ายๆ ก็คือว่ามองชีวิตที่อยู่ในวรรณกรรมไม่ว่าจะเป็นร้อยกรองหรือร้อยแก้ว ได้อย่างละเอียดถี่ถ้วนหลายแง่หลายมุมมากยิ่งขึ้น อย่าไปคิดว่าการปฏิบัติจิตตภาวนาจะเป็นอุปสรรค แต่กลับจะสามารถอ่านสิ่งที่อยู่ระหว่างบรรทัดได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เหมือนอย่างวรรณกรรมเรื่องตีนหนาหน้าบางเนี่ย เคยพูดมาหลายครั้งแล้ว เคยอ่านไหมเรื่องสั้นตีนหนาหน้าบางของกรัสนัย โปรชาติ แล้วนี่ก็อ่านมานานร่วม 20 ปีแล้วกระมัง แล้วตอนที่สอนวิชาวรรณกรรม เวลาเราจะวิจารณ์ เราก็วิจารณ์ในแง่ว่า ในเรื่องรูปแบบของการเขียนตั้งแต่ธีมของเรื่องเป็นยังไง ชื่อเรื่องนี้เป็นยังไง แล้วก็เนื้อหาสาระเป็นยังไง การแสดงของตัวละครเป็นยังไง บทบาทของการเดินเรื่องเป็นยังไง สรุปแล้วได้อะไรที่คนอ่านจะประทับใจ นี่ถ้าหากว่า เราวิเคราะห์วิจารณ์อย่างชาวโลก ทีแรกก็จำได้เชียวจะวิเคราะห์ให้ลูกศิษย์ฟังว่า เป็นไงชื่อเรื่องนี้ ตีนหนาหน้าบางดีไหม สะใจดีไหม ตีนหนาหน้าบางเนี่ย เหมือนเขาจะบอกให้เราเลือกนะว่าเราจะเอาอย่างไหน จะเอาหน้าหนาตีนบางหรือจะเอาหน้าบางตีนหนา อย่างไหนจะดีกว่ากัน นี่เราจะบอกให้คิด แล้วก็จะกลายเป็น satire คือหมายความจะเป็นเยาะหยัน เหยียด เสียดสีสังคม คือในเรื่องนั้นพูดถึงหนุ่มชาวกรุงกับผู้หญิงบ้านนอก หนุ่มชาวกรุงไปเดินป่า แล้วเสร็จแล้วก็ไปหลงทางในป่าพลัดกับเพื่อนฝูง เดินยังไงก็ไม่รู้แหละเพื่อนก็หายไปหมด ตัวก็ไปหลง คงจะมัวชมอะไรเพลินแล้วก็เลยพลัดหมู่กับเขา ก็หาทางออกจากป่าไม่ได้ เดินไปเดินมาพยายามหาทางเท่าไหร่ก็ไม่ได้ จนกระทั่งบ่ายเย็นก็เหนื่อยเพลียเต็มที ก็ไปเผอิญพบศาลาร้าง ศาลาเก่าๆ ในป่านั่นน่ะ ก็ไปนั่ง นั่งพักแล้วก็ตัวร้อน เหนื่อย หิวแล้วก็กรากกรำ ไม่เคยอย่างนั้นเพราะเป็นหนุ่มชาวกรุงตีนบาง ก็เลยเป็นไข้ ก็กำลังนึกว่า จะทำยังไงดี ก็พอดีหญิงชาวป่าเดินผ่านมา รูปร่างหน้าตาก็ไม่สะสวยหรอก เพราะเป็นผู้หญิงที่ทำงานด้วยกำลัง หญิงชาวชนบทหักล้างถางพงทำนาทำสวนอะไรอย่างนั้นน่ะ อาจจะรูปร่างหน้าตาไม่สะสวยเบอะบ่ะ ไม่ใส่รองเท้าตีนก็หนาแหละ ก็พอดีหญิงชาวป่านี้เดินผ่านมา หนุ่มชาวกรุงนี่ก็ร้องบอกว่า ไม่สบาย เป็นไข้ ตัวร้อน ผู้หญิงชาวป่านี่ก็ไม่ได้มีการศึกษาอะไร แต่ก็อาจจะได้รับการบอกเล่าจากผู้หลักผู้ใหญ่ก็ได้ว่า คนเป็นไข้เนี่ยหนาว เพราะนายคนนั้นก็บอกแหมหนาว ก็ไม่รู้จะไปหาผ้าห่มที่ไหนมาให้ อยู่ในป่า จะไปหาหยูกยาที่ไหนมาให้ก็ไม่มี หญิงชาวป่าก็ตรงไปที่นายหนุ่มชาวกรุง แล้วก็เข้ากอดนายหนุ่มชาวกรุงไว้ นี่คนอ่านชาวกรุงก็จะต้องนึกวาดภาพอัศจรรย์ น่ากลัวจะมีบทอัศจรรย์อะไรเกิดขึ้น แต่เปล่าตลอดทั้งคืนไม่มีบทอัศจรรย์อะไรเกิดขึ้น สาวชาวป่าก็นั่งกอดหนุ่มชาวกรุงที่ตัวร้อนเป็นไฟ แล้วก็พอตอนรุ่งเช้าไออุ่นที่ได้รับจากตัวของหญิงชาวป่าก็ช่วย แล้วก็คงได้นั่งพักด้วยนั่นแหละก็ช่วยให้นายหนุ่มชาวกรุงหายไข้ พอสร่างไข้ตอนเช้าก็อ้าปากบอกอีก หิว แหมหิวจริง หญิงชาวป่าเขาก็ไม่พูดอะไร เขาก็เดินหายไป ประเดี๋ยวเขาก็เอากล้วยมาให้หวีนึง เอากล้วยสุกมาส่งให้หวีนึง นายคนนี้ก็รับเอามากิน กินเอาอย่างตะกลุมตะกลามเพราะหิวมาก พอหญิงชาวป่าเห็นนายหนุ่มชาวกรุงกินกล้วยเอร็ดอร่อยก็เดินหายไป นายคนนี้ก็นั่งคอย ก็นึกไปล่ะ ปรุงแต่ง ประเดี๋ยวก็คงเอาน้ำมาให้กิน ประเดี๋ยวก็คงพาเราออกจากป่า คิดอะไรต่ออะไรไปในทางที่จะทำให้ตัวสะดวกสบายขึ้น แต่คอย คอยๆ เท่าไหร่หญิงชาวป่าก็หายไปเลยไม่โผล่มา นายนี่ก็คอยมากเพราะหวังว่าเขาจะมาใช่ไหม คอยเท่าไหร่ไม่มา ผิดหวัง ก็ออกอุทานด้วยความขัดใจ ปัดโธ่ คนอะไร ช่วยชีวิตเขาไว้ทั้งชีวิตจะอยู่คอยขอบใจ รับคำขอบใจสักคำนึงก็ไม่ได้หายจ้อยไปเลย ก็เรื่องนี้ก็จบ เนี่ยพอเมื่อเวลาเราวิจารณ์ อย่างเราเป็นนักวิจารณ์ชาวโลกก็ต้องบอกว่าเขาเขียนดี ผู้เขียนเขียนดี ตั้งชื่อเรื่องก็เหมาะด้วย แล้วก็เปรียบเทียบให้เห็นด้วยว่าระหว่างคนเมืองกับคนชนบท ไม่ว่าเมืองเล็กเมืองใหญ่ที่ไหน ระหว่างคนเมืองซึ่งถือว่าเป็นคนศิวิไลซ์แล้ว คนเจริญแล้ว มีการศึกษาดี มีอะไรอะไรต่างๆ เนี่ย ก็มักจะมีมาตรการมีความอยาก มีความต้องการตามอัตราของความรู้ความฉลาด ส่วนหญิงชาวป่าก็ไม่มีความรู้อะไรมาก ไม่ได้เล่าเรียนอะไรมาก แต่เขาก็รู้ว่าเมื่อพบคนตกทุกข์ได้ยากลำบาก ร้องขอความช่วยเหลือเขาจะช่วยอะไรได้ เขาก็ช่วยตามภาษาซื่อๆ ของคนชาวป่า แต่นี่เพราะเป็นเรื่องเขียนเรื่องแต่งขึ้น เขาก็ทำให้มองดู เรียกว่า extreme นิดหน่อย คือเข้าไปกอดนายหนุ่มชาวกรุงนั้นเอาไว้ นี่ก็เผอิญนายหนุ่มชาวกรุงคนนั้นก็ยังมีส่วนดีอยู่นะถ้าเผลอไผลไปกอดหนุ่มชาวกรุงเดี๋ยวนี้ก็น่ากลัวหรือไม่ต้องหนุ่มชาวกรุงหนุ่มไหนก็น่ากลัว ให้ขึ้นชื่อว่าเป็นหนุ่มก็น่ากลัวเหมือนกันกำลังเป็นไข้อาจจะไข้หายก็ได้ แต่นี่ก็ยังนับว่าดี แต่เสร็จแล้วเนี่ยหญิงชาวป่าเนี่ยเขาก็ช่วยตามประสาของเขาแล้วก็จบ นี่ให้อะไรบ้าง ธีมของเรื่องนี้คืออะไร ถ้าเราจะดูธีมของเรื่องนี้ในแง่ของการเขียน ผู้เขียนคงอยากจะแสดงให้เห็นถึงน้ำใจของคนชนบท ของคนชาวกรุง ของคนบ้านนอก นายหนุ่มชาวกรุงนั่นน่ะหน้าบางตีนบางแน่นอน ผู้หญิงชาวป่านี่น่ะตีนหนาแน่นอนแต่ก็หน้าหนาด้วยหรือเปล่า นี่เราก็จะวิจารณ์ไปสำนวนภาษาดีตรงจุดกะทัดรัด เริ่มต้นเรื่องดี เดินเรื่องเร็วและก็จบลงอย่างชนิดที่ให้คติสอนใจแล้วก็พูดไปได้หลายอย่างแล้วก็แค่นั้น แต่พอหันมาศึกษาธรรมะ แล้วก็หันไปนึกถึงเรื่องนี้อีกเรามองเห็นอะไรขึ้นอีกหลายอย่างเลย เหมือนอย่างที่บอกว่าให้เรารู้จักทำอะไรโดยไม่ต้องเห็นแก่ตัวไม่ต้องนึกถึงตัวเองโดยไม่ต้องหวัง เนี่ย อย่างในเรื่องนี้ตัวละครสองตัวเนี่ย ใครบ้างคือคนไหนในระหว่างสองคนเนี่ย คนไหนที่จิตใจมีเวทนา จิตใจมีความทุกข์คนไหน ก็หนุ่มชาวกรุงนั่นแหละ หนุ่มชาวกรุงมีความทุกข์มีเวทนาเกิดขึ้นเพราะอะไร ก็เพราะหวังใช่ไหม หวังเขาให้แค่นี้ก็หวังต่อไปอีกว่าเขาจะต้องให้มากไปอีกจนกระทั่งถึงก็พาออกไปส่งนอกป่า หนุ่มชาวกรุงกับสาวชาวป่าถ้าเราพิจารณาในแง่ที่ว่าการกระทำให้ถูกต้องตามเหตุปัจจัยโดยไม่ต้องหวั่นหวังผล สองคนเนี่ยใครที่มุ่งทำตามเหตุปัจจัย หญิงชาวป่า เขากระทำตามเหตุปัจจัยที่อยู่ในวิสัยที่เขาสามารถจะทำได้แล้วเขาหวังผลไหม เมื่อเขาไม่หวังผลจำเป็นไหมต้องอยู่รับคำขอบใจ แล้วเขารู้สึกเสียใจไหม ผิดหวังไหม เป็นทุกข์ไหม ไม่มี นอกจากว่าถ้าเขาอยากจะรู้สึกเขาก็รู้สึกพอใจได้ว่าอย่างน้อยเขาได้ช่วยให้คนที่กำลังมีความทุกข์กำลังไม่สบายได้ผ่อนคลายความทุกข์ มีใครบังคับให้เขาทำหรือเปล่า มีใครบังคับเขาไหมที่หญิงชาวป่าจะต้องทำอย่างนั้น ไม่มีใครบังคับ ถ้าเราจะถามว่ามีอะไรบังคับ สิ่งนั้นคืออะไร มนุษยธรรมใช่หรือเปล่า หญิงชาวป่าคนนั้นยังไม่ได้เรียนหรอก ไม่ได้เรียนธรรมะที่แปลว่าธรรมะคือหน้าที่ ยังไม่รู้ ยังไม่รู้ว่ากฎอิทัปปัจจยาตาเป็นยังไง ไม่เคยได้ยิน แต่เมื่อเราสังเกตศึกษาจากพฤติกรรมเราก็บอกได้ว่านี่แหละเป็นคนที่รู้จักทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ หน้าที่ของอะไร หน้าที่ของมนุษย์ที่จะพึงเอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันโดยไม่ต้องมีใครบอกแต่เขารู้ว่าอันนี้เป็นสิ่งที่ควรทำมันมาถึงเฉพาะหน้าและอยู่ในวิสัยที่ทำได้ก็ทำดีที่สุดของเขา เมื่อทำดีเสร็จแล้วก็เสร็จกันเพราะรู้แล้วว่าเกิดประโยชน์แล้วได้รับประโยชน์แล้ว แต่ไม่จำเป็นจะต้องมาให้บริการอะไรต่อไปอีก แต่ส่วนนายคนนั้นตั้งความหวังก็หวังเรียกร้องต้องการจะเอา พอไม่ได้ก็ขัดใจอุทานออกมาน่ะไม่ใช่อุทานอย่างชื่นชมนะ อุทานอย่างขัดใจและอาจจะนึกว่าแหมยายคนนี้โง่จริงๆ นี่มันช่วยชีวิตคนทั้งคนยังไม่รู้จักว่าเนี่ยนะเป็นบุญคุณใหญ่หลวงแค่ไหนทิ้งไปเฉยๆ ไม่คอยรับคำขอบใจ นี่เห็นไหมคนละทาง ในขณะที่คนหนึ่งทำเพื่อหน้าที่แต่อีกคนหนึ่งต้องการเพื่อเรียกร้อง เพราะฉะนั้นอย่ากลัวเลยว่ามาศึกษาธรรมะแล้วจะกลายเป็นคนโง่กลับไปเรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง ไม่จริง จิตของเราสงบ มีสติ มีสมาธิและก็มีปัญญาภายในเพิ่มขึ้น เรายิ่งจะสามารถมองอะไรทะลุปรุโปร่งได้ ส่วนอารมณ์นั่นน่ะเชื่อเถอะยังไงๆ อารมณ์ก็ยังไม่หมดยังอยู่อีกเยอะแล้วก็ยังจะต้องใช้เวลาอีกนาน
คำถาม: ในการเดินขบวนต่อต้านหรือประท้วงในสิ่งที่ตนเห็นว่าไม่เป็นธรรม เช่น อย่างเรื่องการประท้วงคนกลางอย่างเวลานี้ ถามว่ามีความคิดเห็นอย่างไรกับบทบาทของนิสิตนักศึกษาที่จะร่วมประท้วงด้วย
ตอบ: ในการประท้วงทั้งหลายเนี่ยนะคะหรือการจะทำกิจการทั้งหลายเนี่ยก็อยากจะขอให้เป็นข้อคิดว่า หนึ่งหน้าที่ หน้าที่ของนิสิตนักศึกษาคืออะไร หน้าที่ประการแรกของนิสิตนักศึกษาคืออะไร แล้วก็ข้อที่สองเมื่อเราตั้งใจว่าเราควรจะมีส่วนในกิจกรรมอันใดก็ตามอย่าลืมสัปปุริสธรรม สัปปุริสธรรมที่พูดมาหลายครั้งและอธิบายมาหลายครั้งแล้วต้องนึกถึงเหตุที่จะทำ มีเหตุอะไรที่สมควรแก่การกระทำ แล้วก็ผลที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำนี้เรียกว่าเรารู้เหตุแล้วเราก็นึกถึงผลเรียกว่าทบทวนสอบทานกับเหตุเพื่อให้ชัดใจยิ่งขึ้นว่าเป็นสิ่งที่มีเหตุควรแก่การกระทำแล้วผลที่จะเกิดขึ้นก็คุ้มค่า แล้วข้อสำคัญก็คือตน ข้อที่สามพิจารณาตน ตนในที่นี้พิจารณาในแง่ของความพร้อม ความพร้อมในที่นี้ต้องพร้อมจากการที่เราเห็นเหตุถูกต้อง ผลถูกต้องไม่ใช่พร้อมเพราะขัดเพื่อนไม่ได้ ไม่ใช่พร้อมเพราะว่าต้องไป ถ้าไม่ไปแล้วเขาจะไม่รับเราอยู่ในพวกด้วย กลัวจะเสียความเป็นสมาชิกของสังคม ไม่ใช่ ต้องดูความพร้อม ความพร้อมนั้นคือกำลังต่างๆ ที่เรามีกำลังกายกำลังใจกำลังสติปัญญากำลังแรงที่เราจะไปร่วมกำลังเวลาที่เราจะไปร่วมและใจของเราเองดูใจของเราเองจริงๆ ว่าเราเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สมควรเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่จะต้องทำจริงๆ หรือเปล่า แล้วก็ เหตุ ผล ตน ประมาณ ทำขนาดไหนถึงจะพอเหมาะพอดีไม่มากเกินไปไม่น้อยเกินไป พอเหมาะพอเจาะแก่เหตุและผล แล้วก็กาลเวลาก็คือจังหวะโอกาส ต้องศึกษาสถานการณ์ให้รอบด้าน ประเมินสถานการณ์ให้รอบด้าน จังหวะโอกาสเหมาะหรือยัง ควรลงมือได้หรือยังหรือเวลานี้ยังไม่เหมาะต้องรอไว้ก่อน ประชุมชนทั่วไปที่จะต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะกระทำนี้เขาเห็นด้วยไหม เขามีทัศนคติอย่างไร แล้วก็ประชาชนทั่วไปเขามีทัศนะในการแก้ปัญหาอย่างนี้อย่างไร เราต้องศึกษาให้รอบด้าน ความต้องการของประชาชนประชุมชนขณะนี้เป็นอย่างไร เสร็จแล้วก็ข้อสุดท้ายก็คือบุคคล เจาะลงไปที่บุคคลที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์นี้โดยเฉพาะคนที่เป็นคีย์เป็นตัวกุญแจสำคัญในจุดต่างๆ ศึกษาดูซิว่าเขามีความรู้สึกมีความต้องการมีความสนใจมีความพร้อมมีความอยากมีความสนับสนุนหรือมีความต่อต้านอยู่ในใจอย่างไรดูให้ทั่วถึง ถ้าทั้งเจ็ดอย่างเนี่ยพอเหมาะพอเจาะแล้วจึงค่อยทำ เหตุ ผล ตน ประมาณ กาลก็คือกาลเวลา ประชุมชนก็คือสังคมในกลุ่มที่ต้องเกี่ยวข้อง แล้วก็ข้อสุดท้ายคือบุคคล บุคคลแต่ละคนแต่ละคน ฉะนั้นขอให้ใช้สิ่งนี้เป็นหลักก่อนอื่นนึกถึงหน้าที่ หน้าที่หลักแล้วก็หน้าที่รองต่อไป และเสร็จแล้วพอคิดว่าจะทำล่ะเอาสัปปุริสธรรมมาใคร่ครวญเสียก่อนเพราะสัปปุริสธรรมคือธรรมะของสัตบุรุษหรือธรรมะของบัณฑิตของผู้ฉลาดของผู้มีปัญญา ถ้าเราใคร่ครวญอย่างนี้ก็เชื่อว่าการกระทำนั้นจะเป็นความถูกต้องรอบคอบเรียบร้อยมากกว่าผิดพลาด แต่ถ้าเราผลีผลามก็มีโอกาสจะผิดพลาดมากกว่า ที่นี้ก็อยากจะขอถือโอกาสพูดหมวดที่ 3 ตอนนี้นะคะคือจิตตภาวนา ขอโทษว่าจะได้มีความเข้าใจต่อเนื่องกันนะคะ
คำถาม: ขณะกำหนดลมหายใจที่ปลายจมูก ทำไมปวดเกร็งที่ดั้งจมูกแก้ได้อย่างไร
ตอบ: ก็แก้ได้ด้วยการหยุดเกร็ง หยุดเกร็งคือว่าใจน่ะ ที่ใจให้เห็นว่าเป็นธรรมดาไม่ต้องกลัวว่าจะทำไม่ได้ ไม่ต้องกลัวว่าเพื่อนเขาจะไปเร็วกว่าเรา แล้วก็เอาแต่เพียงว่าหายใจธรรมดา หายใจธรรมดาเรานึกอย่างนี้เสมอพอเกิดอาการเกร็งขึ้นแล้วก็ให้ลืมซะหยุดซะว่าเรากำลังปฏิบัติขั้นที่เท่าไหร่ แต่ให้มาอยู่กับลมหายใจธรรมดาปกติเฉยๆ นะคะ นอกจากนั้นก็นวดเนื้อนวดตัวนวดกล้ามเนื้อที่หน้าที่คอแล้วก็โดยเฉพาะตรงหน้าผากตรงนี้ คลึงอย่างนี้จะช่วยให้เลือดไหลเวียนเร็วมากขึ้นและก็จะช่วยให้หายเกร็ง
คำถาม: ขั้นที่ 4 เมื่อทำโดยหลบตาลงพื้น โดยหลบตาลงต่ำกันเคลิ้มแต่บางครั้งก็ยังเผลอเคลิ้มไปแก้โดยสูดหายใจลึกยาวแล้วก็หายไปพักเดียวก็เป็นอีกจะแก้ยังไง
ตอบ: ก็แก้อีกอย่างเดิมจนกระทั่งหาย แต่การที่เคลิ้มเนี่ยนะคะอาจจะเป็นเพราะ หนึ่งนอนไม่หลับสนิท นอนไม่เต็มที่ในตอนกลางคืนก็ไม่สดชื่น และสองอากาศร้อน ร้อนมากนี่ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราเหนื่อยเร็วแล้วก็ชวนให้งัวเงียก็เป็นได้ เราจึงต้องทำใจให้เข้มแข็งมากเป็นพิเศษแล้วที่จริงก็ชมนะชมกับใครๆ แม้แต่ท่านอาจารย์สวนโมกข์ก็เรียนให้ท่านทราบว่าแหมกลุ่มนี้มีความตั้งอกตั้งใจมาก แม้ว่าจะมีการบรรยายบางทีสองชั่วโมงติดกันก็ยังนั่งฟังด้วยความใส่ใจและก็ไม่ได้แสดงความกระวนกระวาย ก็ยังเรียนให้ท่านทราบแล้วก็บอกใครๆ ว่ากลุ่มนี้ตั้งใจมากทั้งๆ ที่อากาศร้อน เพราะฉะนั้นแม้ว่าเราจะมีอาการเคลิ้มอาการเพลียบ้างก็ต้องยอมรับแก่ใจเราซะว่าเป็นธรรมดา แล้วก็แก้อย่างใจเย็นๆ แต่ถ้าเราไปเกิดความหงุดหงิดเกิดความกลัวจะทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นทวีเป็นสองเท่า แก้ไขไป แล้วก็ลืมบอกไปว่าขณะที่นั่งเนี่ยนะคะถ้าเมื่อยปวดมากหรือว่าง่วงนอนเนี่ยเรานวดเนื้อนวดตัวขยับแข้งขาก็ยังไม่หาย ก็เปลี่ยนจากท่านั่งเป็นยืนได้ แม้เรากำลังจะนั่งสมาธิอยู่ในห้องเปลี่ยนจากท่านั่งเป็นยืนแต่ในขณะที่ลุกขึ้นยืนก็ยืนด้วยสติแล้วก็กำหนดรู้ลมหายใจเพราะว่าอาจจะช่วยจากการเปลี่ยนอิริยาบถ แล้วก็ลืมตาเลย ลืมตาเต็มที่
คำถาม: ลมหายใจที่ละเอียดขึ้นเราสั่งหรือเป็นเอง
ตอบ: ก็ถ้าผู้ที่ไม่คุ้นเคยคือหมายความผู้ปฏิบัติใหม่จะสั่งยาก แต่ถ้าเราฝึกไปถ้าผู้ใดที่ฝึกเนี่ยนะคะมีความชำนาญในการควบคุมลมหายใจสามารถทำได้นั่นก็คือค่อยๆ ผ่อนจากลมหายใจหยาบแรงให้เป็นช้าๆ ก่อน ช้าๆ แล้วก็เบาๆ แล้วก็ค่อยๆ ให้เป็นธรรมชาติให้ออกมาเป็นธรรมชาติ ก็จะค่อยๆ เบาแล้วก็บางแล้วก็ละเอียดประณีตจนเหมือนกับไม่มีลมหายใจ แล้วกายนี้ก็สบายเรียกว่ากายก็ผ่อนคลายเต็มที่ จิตนี้ก็เบาสบายเต็มที่ เนี่ยช่วยส่งเสริมปรุงแต่งให้กายเป็นอย่างนั้นได้ เพราะฉะนั้นต้องค่อยสังเกตและก็อย่าเพิ่งหวังว่าเราจะทำได้ในทันทีนะคะ
คำถาม: ในหมวดที่ 2 การที่ให้จิตเฝ้าดูเวทนาจะไม่เป็นการทิ้งลมหายใจหรือ แล้วบางทีเวทนาที่หนักๆ จะไม่พาให้จิตไปกับเวทนาหรือ
ตอบ: นี่ก็ต้องทำความเข้าใจเหมือนดังที่บอกแล้วว่าทุกขั้นตอนของการปฏิบัติทั้ง 16 ขั้น ของอานาปานสตินะคะ เราจะมีลมหายใจเป็น background อยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นถึงได้มีคำที่บอกว่า รู้เวทนาทุกขณะที่หายใจเข้าและออก ศึกษาจิตทุกขณะที่หายใจเข้าและออก และในหมวดที่ 4 ที่เราจะศึกษาธรรมก็ทุกขณะที่หายใจเข้าและออก เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นยังไงล่ะที่เราจะต้องฝึกหมวดที่ 1 จริงจัง เพื่อให้อยู่กับที่ได้ให้มั่นคงให้ทำงานอยู่ตลอดเวลา จำเป็น เพราะฉะนั้นไม่ทิ้งค่ะ แต่เมื่อเราฝึกใหม่ๆ ก็รู้สึกว่าพอเราจะไปมุ่งหน้าศึกษาใคร่ครวญอะไรอย่างอื่นเราก็จะลืมลมหายใจ แต่จริงๆ แล้วเราจะทำได้เหมือนอย่างถ้าเปรียบเหมือนกับการขี่จักรยานทีแรกก็ต้องเกร็งใช่ไหม เกร็งแล้วก็ตั้งหน้าดูถนนหนทางแล้ว แต่พอคนขี่เก่งๆ แล้วบางคนก็ทีแรกก็ปล่อยมือมือเดียวก่อนอีกหน่อยก็ทำท่าสองมือ อีกหน่อยก็ผาดโผนต่างๆ ใช่ไหม นี่ก็เพราะความชำนาญเอาใครซ้อนท้ายไปอีกก็ได้ นอกจากคนเดียว สองคนก็ได้ จะอ้วนกว่าน้ำหนักมากกว่าคนขี่สักเท่าไหร่ก็ไปได้ถ้าผู้ขี่จักรยานมีความชำนาญ นี่ก็เหมือนกันเช่นเดียวกับการขับรถยนต์ ขับรถยนต์ทีแรกก็เกร็งมากเหมือนกับว่าเราทำอย่างอื่นไม่ได้มือนี้จะออกจากพวงมาลัยไม่ได้ถ้าออกเดี๋ยวรถจะไปชนเขา เท้าก็ต้องแตะเบรคอยู่ตลอดเวลาแต่ว่าพอชำนาญแล้วก็เป็นไปตามสบายไม่ต้องเกร็ง แล้วก็จะทำอย่างอื่นจะกินขนมจะคุยกับเพื่อนหรือจะอ่านหนังสืออย่างประปรายก็สามารถจะทำได้ นี่ก็เช่นเดียวกันแต่ตอนนี้เรายังไม่ชำนาญก็ดูเหมือนกับว่าจะทำไม่ได้แต่จริงๆ แล้วจะทำได้