แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คำถาม
เมื่อเรารับรู้สัมผัสทางอารมณ์หรือความคิดต่างๆ การที่เราได้รู้สึกถึงสิ่งนั้นก็จะเกิดความจำในอารมณ์หรือความคิดนั้นต่อมาไม่มีที่สิ้นสุด จิตจะไม่ว่างเนื่องจากเนื้อแท้ของจิตเป็นความว่างและมีความปรารถนาที่จะเติมจิตนั้นให้เต็ม เพราะฉะนั้นการที่จะทำให้จิตปราศจากข่ายของความรู้สึกนึกคิด คือ ต้องมีความรัก ความเมตตา เป็นส่วนเพิ่มเติมจิตให้มีความเต็มเปี่ยม ดังนั้น คนจะไม่มีความสงบได้ถ้าความรู้สึกสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ รอบตัว การเป็นส่วนหนึ่งที่กลมกลืนกับธรรมชาติ และหากผู้ที่เขาเข้าถึงปัญญาเบื้องต้นแล้วแต่ขาดสิ่งนี้ ก็จะไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้ ใช่หรือไม่
คำตอบ
นี่ใช้สำนวนมากเหลือเกินในการถาม ผู้ฟังๆ รู้เรื่องไหมคะ
ดิฉันน่ะรู้เรื่องเพราะว่าอ่านทบทวนไปหลายครั้งกว่าจะสรุปได้ว่าผู้ถามเขาถามว่าอะไร สำนวนมาก
สรุปก็คือว่า ผู้ถามเนี่ยพูดว่า “ถ้าหากว่าจะต้องการให้จิตมีความสงบได้ พัฒนาความสงบให้เกิดขึ้นได้ล่ะก็ จะต้องมีความรัก ความเมตตา” พูดง่ายๆ คือ ต้องมีความรัก ความเมตตาเข้าไว้ในใจ หรือว่าฝึกปฏิบัติด้วยการแผ่ความเมตตา เพิ่มพูนความรัก ความเมตตา ให้เกิดขึ้นในใจและจิตนี้มีเต็มเปี่ยม เมื่อเต็มเปี่ยมด้วยความเมตตากรุณาเมื่อนั้น
ก็อยากจะขอตอบอย่างนี้นะคะว่า เราสอนเรื่องพรหมวิหาร ๔ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา สอนตั้งแต่เรายังเป็นนักเรียนใช่ไหมคะท่านครูบาอาจารย์ ผู้ใหญ่เนี่ย ดิฉันก็ได้เรียนมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กนักเรียน เราสอนเรื่องพรหมวิหาร ๔ ให้มีเมตตากรุณาต่อกัน แล้วเมื่อเรามามองดูสภาพความเป็นจริงเนี่ย เรามองเห็นไหมคะว่าในสังคมทุกวันนี้มีความเมตตากรุณาจริงๆ ต่อกันไหม ก็บอกได้ว่าหาได้ยาก มีแต่เมตตากรุณากันด้วยปาก ด้วยลิ้น พูดหวานเข้าหากัน แต่จริงๆ นั้นมุทิตาไม่ได้ ดูเอาง่ายๆ ทำได้อย่างมากเมตตากรุณาอย่างพื้นๆ ข้างนอก แต่ว่าพอไปถึงเมตตากรุณาที่ออกมาจากน้ำใสใจจริงหายาก เพราะฉะนั้นมุทิตาที่บอกว่ายินดีด้วยเมื่อผู้อื่นได้ดีมีสุขถึงได้ทำไม่ได้ ใช่ไหมคะ เวลาที่ผู้ใดได้ดีมีสุขแม้จะเป็นเพื่อนรักก็ยังยินดีจริงๆ ไม่ได้เลยถ้ามันอดนึกไม่ได้ทำไมถึงไม่เป็นฉัน ทำไมถึงไม่เป็นเรา ถึงจะยื่นมือไปจับ “แหม ยินดีด้วยนะ เธอนี่เหมาะเหลือเกิน” แต่ในใจ “เราเหมาะกว่า” เนี่ยมุทิตาจิตมันเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะเมตตากรุณาที่แท้จริงเกิดขึ้นไม่ได้ ไม่ต้องไปพูดถึงอุเบกขาแล้ว อุเบกขาเป็นอันหมดหวัง
มีคนมาถามเยอะทั้งไทยทั้งฝรั่ง ยิ่งฝรั่งเขายิ่งติดมาก เขาเคยปฏิบัติในที่บางแห่ง เขาจะปฏิบัติการพัฒนา Loving Kindness Loving Kindness ก็คือความเมตตาด้วยความรัก และเขาบอกว่ามาที่นี่ไม่เห็นพูดถึงเรื่อง compassion ไม่เห็นพูดถึงเรื่อง loving kindness ก็ต้องย้อนถามเขาไปว่าที่คนเราเมตตากันจริงๆ ไม่ได้ รักกันจริงๆ ไม่ได้เนี่ยเพราะอะไร เขาก็นิ่งคิดแล้วเดี๋ยวเขาก็ตอบเอง “เพราะความเห็นแก่ตัว” เขาบอกเพราะมนุษย์เราเห็นแก่ตัว เพราะ selfishness จึงทำให้คนรักกันไม่ได้ เมตตากรุณากันจริงๆ ไม่ได้ ก็เลยบอกเขาว่าเพราะฉะนั้นสิเราถึงได้พูดกันมากถึงเรื่องของความเห็นแก่ตัว แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงเห็นประเด็นนี้ ประเด็นนี้ข้อนี้เป็นสิ่งสำคัญพระองค์จึงทรงสอนถึงเรื่องของอนัตตา ชี้ให้เห็นโทษทุกข์ของอุปาทานในอัตตา คือในความเป็นตัวเป็นตน ทรงชี้ให้เห็นชัดถ้าจะละความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวเป็นตนเพื่อให้มนุษย์ทั้งหลายเมตตากรุณากันได้อย่างแท้จริง มีความรักอย่างแท้จริงที่เรียกได้ว่าเป็นความรักสากล ความรักสากลคือเป็น universal love มันไม่ใช่เป็น love ของใครต่อใครคนใดคนหนึ่ง นั่นก็คือต้องลดละความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน ปฏิบัติใคร่ครวญธรรมจนเห็นว่าแท้จริงแล้วไม่มีสิ่งใดเป็นตัวเป็นตนจริงๆ ให้ยึดมั่นถือมั่นได้เลยสักอย่างเดียว และเมื่อนั้นน่ะไม่ต้องสอนหรอกเรื่องความเมตตากรุณา ในขณะที่ความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนมันละลง มันลดลง มันคลายลงทีละน้อย ความเมตตากรุณามันค่อยๆ เพิ่มพูนในใจเองทีละน้อยเช่นเดียวกัน ความเห็นแก่ตัวหมดสิ้นไปเมื่อไหร่ ความเมตตากรุณามันก็เปี่ยมอยู่ในจิตเมื่อนั้น เพราะฉะนั้นอันนี้ก็บอกให้เขาเข้าใจ เขาก็เข้าใจแล้วเขาก็ไม่ต้องมาถามซ้ำอีกในการที่ปฏิบัติเพราะนี่แหละเป็นวิธีของการปฏิบัติที่พูดได้ว่าเป็นทางลัดแล้วก็อาจจะทำให้เร็วขึ้นในการที่มนุษย์เราจะพัฒนาความเมตตากรุณาให้เกิดขึ้นในจิตอย่างเต็มเปี่ยมด้วยการเปลี่ยน เปลี่ยนความรักอย่างธรรมดา ความรักอย่างเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัวก็คือเห็นแก่ตัวเราก่อน ลูกของเรา พี่น้องของเรา สามีภรรยาของเรา คุณพ่อคุณแม่เพื่อนฝูงของเราก่อน ส่วนคนอื่นทีหลัง ไม่มีสิทธิ์ อย่างนี้เป็นความรักเหมือนกันแต่เป็นความรักที่อยู่บนพื้นฐานของความเห็นแก่ตัว ตราบใดที่ยังมีความรักที่เห็นแก่ตัว มนุษย์เราก็รักกันจริงๆ ไม่ได้ เมตตากันจริงๆ ไม่ได้ มันยังมีการเบียดเบียนซึ่งกันและกันอยู่นั่นเอง ฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านจึงชี้ลงไปที่จุดของ “อนัตตา” คือความไม่ยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน ในขณะที่เราจางคลายความรู้สึกอันนี้ไป ความเห็นใจคนอื่นเพิ่มขึ้น ใช่ไหมคะ โดยอัตโนมัติ เห็นใจคนอื่นเพิ่มขึ้นและความเมตตากรุณามันก็ตามมาเอง
ฉะนั้นที่ถามมาก็ถูกนะคะ ว่าเราต้องมีความเมตตากรุณา ชุ่มชื่นด้วยความเมตตากรุณา และใจเราก็จะพัฒนาความสงบให้เกิดขึ้นโดยไม่ยากเพราะนิวรณ์จะเข้ามารบกวนได้ยาก
คำถาม
ทำไมคนบางคนจึงมีพื้นเพของจิตใจมั่นคงเยือกเย็นกว่าอีกบางคน โดยที่ปกติแล้วเขาเหล่านั้นก็ไม่ได้รับการอบรมโดยวิธีอานาปานสติหรือวิธีอื่นๆ ของศาสนาใด
คำตอบ
ก็อาจจะเป็นด้วยธรรมชาติของเขา คือธรรมชาติเหตุปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมนั่นอย่างหนึ่ง แล้วก็มาจากเหตุปัจจัยที่เขาได้มองเห็น มองเห็นขึ้นข้างในของเขาเองว่าการที่ใจร้อนลุกลนจะเอาแต่ใจตัว มันไม่ได้ให้ผลดีแก่ใครเลยสักคน ไม่เห็นมีความดีความเย็นอะไรที่เกิดขึ้น ล้วนแล้วแต่ก่อศัตรู ล้วนแล้วแต่ก่อความทุกข์ให้แก่ตัวเอง และเขามีจิตใจเข้มแข็งพอก็ได้ เขาจึงบังคับใจของเขาเองได้ ให้ยิ้มได้ ให้หัวเราะได้ เพราะฉะนั้นขอให้ลองศึกษานะคะ มันต้องมีเหตุปัจจัยเป็นแน่
คำถาม
ทราบได้อย่างไรว่าถึงเวลาที่จะพิจารณาธรรมได้แล้ว และการพิจารณาธรรมนี้จะเป็นความจงใจหรือจะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติเมื่อจิตสงบ
คำตอบ
พอเราปฏิบัติไปนะคะเราจะรู้เอง พอเริ่มปฏิบัติอย่างนี้ก็ยังไม่ทราบ แต่พอปฏิบัติไปเราจะรู้เองว่าตอนนี้มันพร้อมแล้ว เหมือนอย่างบางทีผู้หญิงที่มีผู้ชายมารัก เขาก็ขอความรัก อ้าวรักเขาก็ขอแต่งงาน ผู้หญิงก็ผลัดเพี้ยนไปเรื่อยเมื่อนั่นเมื่อนี่เพราะมันยังไม่มีความพร้อม พอวันหนึ่งมันพร้อม ตกลง กำหนดวันได้ วันหมั้นได้ วันแต่งงานได้ เนี่ยความพร้อมมันเกิดขึ้นที่ใจ นั่นอุปมาโดยรูปธรรม แต่นี่อุปมาในใจมันก็เหมือนกัน เราจะรู้เองว่าตอนนี้ใจมันสงบแล้ว ซึ่งเกิดจากการที่เราเริ่มด้วยการตามลมหายใจย้อนใจเข้าไปข้างใน เพราะฉะนั้นเมื่อเราย้อนใจเข้าไปข้างในใจอย่างนี้เรื่อยๆ ตลอดเวลา การที่จะเอาจิตดูจิตข้างในก็ค่อยๆ เกิดเป็นความเคยชิน เป็นนิสัยทีละน้อยๆ เพราะฉะนั้นพอถึงเวลาความสงบมันเกิดขึ้น ผู้ที่ย้อนจิตเข้าข้างในจะสัมผัสได้เองกับลักษณะอาการของความสงบที่มันเพิ่มพูนขึ้นทีละน้อยๆๆ เหมือนกับเรารินน้ำ แก้วมันก็แก้วเปล่าว่างอยู่ เราก็รินลงไปทีละน้อยๆ พอมันเต็มเมื่อไหร่เราก็รู้เอง เกิดจากการปฏิบัติ ทีนี้เมื่อเวลาใคร่ครวญธรรมจะจงใจหรือว่ามันจะขึ้นมาเอง เป็นได้ทั้งสองอย่าง ท่านที่ปฏิบัติจนชำนาญแล้ว มันขึ้นมาเอง มันบอกเอง คำว่าบอกเองน่ะไม่ได้มีอะไรมาบอก แต่มันมีสิ่งที่จะขึ้นมาแล้วก็ให้รู้ว่าขณะนี้ควรจะพิจารณาในสิ่งนี้ แต่ท่านที่ปฏิบัติจนชำนาญ แล้วท่านก็ปฏิบัติอย่างมีระเบียบในวิธีปฏิบัติในใจของท่านเอง ท่านก็จะกำหนดเอาไว้ว่าตอนนี้กำลังพิจารณาในเรื่องอะไร จะดูให้เห็นในเรื่องอะไร ในเรื่องขันธ์ ๕ หรือว่าในเรื่องธาตุ หรือว่าในเรื่องอนัตตา ท่านจะดูของท่านเองให้เห็นชัด แล้วก็ดูเจาะๆ ลงไป เน้นเกี่ยวย้ำอยู่อย่างนั้นเรื่อย จนกระทั่งสิ่งนั้นชัดขึ้นแล้วก็ไปต่อๆๆ จนกระทั่งผลที่สุดสามารถขจัดมันออกได้เกลี้ยงไม่มีอะไรเหลืออยู่ ทีนี้ถ้าหากว่าผู้ที่ยังไม่ชำนาญก็ต้องตั้งใจๆ ที่จะเลือกอะไรมาสักอย่างนึง การใช้อานาปานสติที่บอกว่าเป็นความสะดวกมากไม่ต้องเปลี่ยนเครื่องไม้เครื่องมือ นั่นก็คือว่าเราสามารถที่จะใช้ลมหายใจ ถ้าไม่รู้ว่าจะใช้อะไรมาเป็นเครื่องมือก็ใช้ลมหายใจที่เรากำลังหายใจเนี่ย มันก็แสดงถึงลักษณะของธรรมะ สัจธรรม อยู่ในใจ คืออยู่ในตัวของมันเอง นั่นก็คือเดี๋ยวก็เข้า เดี๋ยวก็ออก เดี๋ยวก็เข้า เดี๋ยวก็ออก เราก็ใช้อันนี้พิจารณาอนิจจัง อนิจจังของลมหายใจไปได้ เป็นเครื่องมือไปได้ในตัวนะคะ