แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ
ขอกราบเรียนถามคุณแม่นะคะว่า การทำบุญชนิดไหนถึงจะได้บุญกุศลมากคะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง
ธรรมะสวัสดีนะคะ เราได้พูดกันถึงเรื่องบุญมาพอสมควร แต่ว่ามันไม่ติดต่อกันนะคะ ก็หวังว่าท่านผู้ฟังคงจะติดตามได้นะคะ ถ้าเผอิญมีคำพูดอะไรที่ไม่ชัดเจน ก็หวังว่าจะส่งคำถามมาได้ เพื่อเราจะได้ตอบให้ชัดยิ่งขึ้น คุณแม่อยากจะถือว่ารายการนี้ไม่เป็นรายการที่เป็นการบรรยายของผู้รู้กับผู้ไม่รู้ ไม่ใช่อย่างนั้นนะคะ ถือเป็นการสนทนากัน คุยกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นประสบการณ์กัน เพราะฉะนั้นคุณประสบพรก็คุยได้ซักได้ รวมทั้งท่านผู้ฟังทุกท่านด้วย เราจะได้รู้สึกว่าเป็นกันเอง เพราะความเป็นจริงนั้น เรื่องของธรรมะไม่ใช่เรื่องไกลตัว เป็นเรื่องที่ใกล้ตัว แล้วก็ยิ่งกว่าใกล้ตัวอีก มันอยู่ในตัวเรา เรื่องของธรรมะนี่เป็นเรื่องที่อยู่ในตัวเรา เรื่องของชีวิตเรา ถ้าหากว่าเราศึกษา พิจารณาใคร่ครวญค้นดูเท่านั้น เราก็จะพบว่าธรรมะนี้อยู่ตรงนี้เอง
ทีนี้ก็มาพูดถึงเรื่องของบุญที่เราได้พูดค้างกันอยู่ มันก็ไม่เชิงค้างทีเดียว มันก็ต่อเนื่องกัน เพราะคราวที่แล้วเราพูดถึงเรื่องของทาน ซึ่งเรื่องของทานนี่ก็เป็นวิธีของการทำบุญอย่างหนึ่ง ก็เป็นอันว่าวันนี้เราไม่ต้องพูดเรื่องของทาน เราจะพูดอย่างที่สองต่อไปคือเรื่องของศีล เรื่องของศีลนี้ก็เป็นเรื่องของการทำบุญอย่างหนึ่ง ถ้าสมมุติว่าไม่มีความสามารถในการที่จะทำทานที่เป็นวัตถุ แต่อาจจะทำอภัยทาน อาจจะทำธรรมทานอะไรได้ หรือว่าจาคะทานอะไรอย่างนี้นะคะให้แก่ตัวเอง แล้วเราก็มีการประพฤติศีล คือเรื่องของศีล
ทีนี้การที่จะทำบุญด้วยศีลนี้ทำอย่างไร เพียงแต่ว่าเราไปวัดแล้วก็ไปรับศีลจากพระ คือเวลาที่พระภิกษุท่านขึ้นธรรมาสน์แล้วท่านก็ให้ศีล แล้วรอท่านว่าศีลข้อหนึ่งเราก็ว่าตามไปจนกระทั่งถึงข้อห้า หรือรับอุโบสถก็ถึงข้อแปดเท่านั้นหรือ แล้วเรากลับมาบ้าน แล้วเรียกว่าเราแบกศีลกลับมาแล้ว พอไหม [ผู้ดำเนินรายการ: ไม่พอค่ะ เราต้องปฏิบัติด้วย] ค่ะ ทีนี้การปฏิบัติศีล คือการประพฤติศีลนี้ เราจะประพฤติอย่างไร ถึงจะเรียกว่าเราประพฤติแล้วเรามีความอิ่มใจและมีความรู้สึกว่าศีลได้ช่วยชำระกายใจของเรา วาจาของเรา ให้สะอาดบริสุทธิ์ จริงอยู่ศีลท่านบอกว่าเป็นสิ่งที่จะควบคุมกายวาจาให้เป็นปกติ แต่อย่างไรก็ตามที่เราเคยพูดแล้วตามความเป็นจริงว่า ชีวิตนั้นใจเป็นสิ่งที่นำชีวิตบงการชีวิตใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้น กายจะมองดูเรียบร้อยงดงามอ่อนโยนมันก็ขึ้นอยู่กับใจ ใจที่อ่อนโยน กายมันก็อ่อนโยน วาจาก็นุ่มนวลใช่ไหมคะ แต่ถ้าหากว่าใจหยาบกระด้าง กิริยาวาจามันก็หยาบกระด้างไปด้วย ท่าทางมันก็ดูไม่ได้ อย่างชนิดที่เขาว่ามองดูแล้วมันกร่าง มันมองดูแล้วชวนให้หมั่นไส้ ชวนให้เคืองนัยน์ตา
เพราะฉะนั้นในการประพฤติศีลนี่ จึงคิดว่าจะต้องเริ่มด้วยการเข้าใจในศีลเสียก่อน ว่าศีลนั้นคืออะไร แล้วก็เข้าใจความหมายของศีลแต่ละข้อให้ชัดเจน ถ้าหากว่าเราสามารถเข้าใจความหมายได้ชัดเจนแล้ว เราคงไม่ต้องมีการมาเปรียบเทียบกันอย่างที่เราเคยได้ยินกันใช่ไหมคะ หลายๆคนไปวัดด้วยกันพร้อมกันแล้วก็มาวิพากษ์วิจารณ์กันเอง โอ๊ย! .. เธอนี่ ศีลเธอไม่บริสุทธิ์ ของฉันนี่บริสุทธิ์ อันที่จริงก็ไม่รู้ว่าของใครบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ แต่การที่เปรียบเทียบ การวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างนั้น มันก็น่าที่จะด่างพร้อยด้วยกันแล้ว เพราะฉะนั้นเราจึงควรมีความเข้าใจในความหมายของคำว่าศีลให้ชัดเจน
ทีนี้ความหมายของคำว่า ‘ศีล’ ก็คือความเป็นปกติ ศีลนี่คือความเป็นปกติที่จะควบคุมกายวาจา ศีลข้อที่๑ ที่ท่านบอกว่าไม่ให้ฆ่าสัตว์ คำว่า ‘ไม่ให้ฆ่าสัตว์’ นั้นมีความหมายครอบคลุมแค่ไหน โดยมากก็จะมักเข้าใจว่าไม่มีการทำลายชีวิตของผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นใครทั้งนั้น จะเป็นสัตว์หรือจะเป็นคนก็ตาม ทีนี้การทำลายชีวิตนั้นมันไม่เพียงแค่นั้น มันน่าจะรวมไปถึงการทำให้เกิดความเจ็บปวด คือการเบียดเบียนทางกาย ที่จะทำให้เกิดความเจ็บปวดทำให้เกิดความเสียหาย นี่ก็เป็นสิ่งที่ควรจะระมัดระวัง และรวมไปถึงการเบียดเบียนกายของตนเอง ผู้ที่ชอบตีอกชกหัว หรือว่าจนกระทั่งไปถึงกับฆ่าตัวตาย อย่างนี้ถ้าจะดูไปแล้วศีลข้อนี้ก็ด่างพร้อยไปแล้ว หรือว่าผิดไปแล้ว ไม่สมควรทำเลย
คุณแม่มาลองนึกดู บางทีคนบางคนใจบุญ คือไม่ทำร้ายใครเลยแต่ทำร้ายตัวเอง คือทำร้ายตัวเองโดยเฉพาะในเรื่องของทางกายของตัวอีกหลายอย่าง เหมือนอย่างผู้ที่ไปทำอะไรกับร่างกายของตนให้ผิดธรรมชาติ แล้วผลที่ตามมาทีหลังก็เป็นผลในทางลบ นี่ถ้าคิดให้ละเอียด มันก็น่าจะข้องแวะอยู่กับศีลข้อ๑นี่ด้วยเหมือนกัน
ทีนี้ข้อที่๒ ไม่ลักขโมย ก็มักจะนึกแต่เพียงว่า ฉันไม่รักขโมยของใคร แต่ถ้าเราจะดูให้ละเอียด เราจะสำรวจศีลให้ละเอียด การที่จะหยิบอย่างถือสนิท ของเพื่อนสนิท สบู่นี่ของเพื่อนฉัน ไม่เป็นไร ผ้าเช็ดตัวก็ของเพื่อนฉัน ถ้วยชามรามไห ของใช้อาหารการกินอะไรทั้งหลาย ของเพื่อนฉัน เขาไม่ว่า อันนี้ก็อีกเหมือนกัน ถ้าปรารถนาที่จะรักษาความเป็นปกติ ให้เรียบร้อยครบถ้วนก็น่าจะต้องระมัดระวัง เพราะว่าเมื่อใดที่หยิบของสิ่งใดของบุคคลใดโดยที่เขาไม่ได้อนุญาต ที่เจ้าของไม่ได้อนุญาต มันก็เป็นไปโดยปริยายแล้ว เพราะฉะนั้น ในเรื่องของศีลถ้าจะให้มีความเป็นปกติ ต้องมีความละเอียดถี่ถ้วน
มาถึงข้อที่สาม ที่บอกว่าไม่ล่วงสามีภรรยาของผู้อื่น ก็มักจะนึกแต่ว่าถ้าเราไม่ผิดสามีภรรยาของผู้อื่นแล้ว ข้อนี้ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม แต่ความจริงก็ไม่แน่นัก เพราะเรื่องของกาเมสุมิจฉาจารนั้น มันก็เรื่องของกามใช่ไหมคะ ในเรื่องของกามนี้มันก็มีสองอย่าง คือกามในทางกามารมณ์ คือการล่วงเกินกันในทางเพศ โดยเฉพาะล่วงเกินทางเพศของผู้ที่มีเจ้าของแล้ว จะเป็นหญิงเป็นชายก็ตาม ทีนี้ในเรื่องของกาม มันก็หมายถึงสิ่งที่เป็นที่รัก สิ่งที่เป็นที่รักของผู้อื่น คือสามีก็ตาม ภรรยาก็ตาม ก็เป็นที่รักของผู้อื่น คือของบุคคลหนึ่งนะคะ เพราะฉะนั้น ในศีลข้อนี้น่าจะระมัดระวังไปถึงการไม่ล่วงเกินของรักของผู้อื่น เหมือนอย่างบางทีเราหมั่นไส้ เราเห็นว่า โอ้ย! ยายคนนี้นี่แกชอบทำสวน และสวนของแกนี่แหละ แหม!ใครอย่าเดินใกล้กรายเชียว แกจะกรี๊ดกร๊าด ตวาดลั่น เพราะว่ากุหลาบแกงาม มันหมั่นไส้นัก วันไหนแกเผลอไม่เห็น ก็แกล้งฉุดกระชากฉีกดอกกุหลาบอะไรงามๆนั่นเสีย ทิ้งเสีย หรือพี่เห็นน้องได้ตุ๊กตาตัวใหม่ คุณแม่ไม่ให้เราเพราะเห็นเราเป็นพี่ น้องเผลอเมื่อไหร่ก็เอามาฟาดซะตุ๊กตายับไปหมด ตุ๊กตานั้นก็เป็นของรักของน้อง เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าจะให้ศีลข้อสามนี้รอบคอบจริงๆ ก็น่าจะนึกถึงในแง่ของสิ่งที่เป็นของรักของผู้อื่นด้วย ที่เราไม่ควรจะไปล่วงเกินสิ่งที่เป็นของรัก
ศีลข้อที่สี่ เรื่องของมุสา ที่นึกแต่เพียงว่า ถ้าหากว่าไม่พูดปดแล้วเป็นใช้ได้ คือไม่โกหกน่ะค่ะ นี่ฉันไม่โกหก แล้วเป็นใช้ได้ ศีลข้อนี้ที่ลำบากมากเลยในการที่จะรักษาให้เป็นปกติอยู่ได้ครบครัน เพราะอะไร ก็เพราะว่าในข้อ๔นี้ ท่านรวมความไปถึงการพูดเพ้อเจ้อ เหลวไหล คุยสัพเพเหระไม่ได้เรื่อง เลื่อนเปื้อนไปเรื่อย นี่ก็ไม่ได้โกหกก็เหมือนโกหก ไม่ได้พูดเท็จก็เหมือนพูดเท็จโดยปริยาย เพราะพูดอย่างนี้แล้วมันสนุก คนพูดก็สนุกคนฟังก็สนุก แล้วก็ส่งเสริมคนพูดให้รู้สึกว่าเราพูดเก่ง เราสามารถทำให้เพื่อนฝูงสนุกสนานไปด้วย มันเลยเผลอเพลินไป ฉะนั้นการพูดอย่างเผลอเพลิน อย่างสนุกสนาน อย่างเลื่อนเปื้อน นี่ก็โดยปริยาย หรือการพูดส่อเสียดยุยงให้เขาทะเลาะกัน ให้เขาโกรธกัน หรือว่าพูดยุยงเพื่อให้เขาเสียหาย ส่อเสียดให้เขาเสียหาย นี่ก็อีกเหมือนกัน รวมอยู่ในข้อนี้อีกเช่นเดียวกัน
เพราะฉะนั้นศีลข้อนี้มันละเอียดมากเหลือเกิน พูดเล่นเลื่อนเปื้อน พูดส่อเสียดยุยง พูดคำหยาบที่ไม่น่าจะพูด สิ่งเหล่านี้รวมอยู่ในข้อนี้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นในการที่จะประพฤติธรรมซึ่งรวมในการรักษาศีล จะต้องมีศีลที่บริสุทธิ์สะอาดเสียก่อน ท่านจึงมักจะแนะนำว่าควรจะหยุดการคลุกคลีกัน คือการที่อยู่เล่นพูดคุยสนทนาใกล้กัน ถ้าหากว่าเราจะประพฤติธรรม ควรจะอยู่เงียบหรือว่าพูดน้อยที่สุด พูดเท่าที่จำเป็น เพราะอะไร ก็เพราะวาจาหรือปากนี่แหละ มันทำให้เราลุแก่ศีลข้อนี้ คือล่วงละเมิดศีลข้อนี้โดยไม่เจตนา อันนี้บอกว่าไม่ได้เจตนาไม่ตั้งใจ แต่บางทีไปมุ่งเอาแต่เพียงว่า ถ้าไม่โกหกเป็นใช้ได้ คือไม่พูดขาวเป็นดำชัดๆเป็นใช้ได้ แต่ชนิดที่พูดอำบ้าง หรือว่าพูดเลี่ยงบาลีบ้าง พูดอะไรต่ออะไรบ้าง มันรวมอยู่ในนี้ทั้งนั้น เพราะมันขาดความสุจริต ขาดความตรงต่อความเป็นจริง ข้อนี้ล่ะค่ะเป็นข้อที่ต้องระมัดระวังที่สุด
ข้อที่ห้า คือข้อที่ว่าไม่เสพสุรา สุราเมรยมัฌชปะมา นั่นน่ะ ก็มักจะไปนึกกันเเต่เพียงว่าถ้าไม่กินเหล้าเมายาก็เป็นศีลบริสุทธิ์ อันที่จริงทำไมท่านถึงห้ามไม่ให้กินเหล้าเมายา คุณประสบพรก็คงทราบแล้วว่า กินเหล้าเมายามากๆเข้าเมื่อไหร่ มันก็ขาดสติ ใช่ไหมคะ [ผู้ดำเนินรายการ: ค่ะ] เพราะว่าครองตัวเอาไว้ไม่ได้ มันไปถูกแอลกอฮอล์ไปทำลายเส้นประสาทอะไรเสีย ในขณะนั้นก็ไม่สามารถที่จะรักษากายวาจาใจให้เป็นปกติอยู่ได้ ควบคุมตัวเองไม่ได้ สามารถจะทำอะไรๆที่โดยปกติจะไม่ทำเลย ได้สารพัดที่จะทำนะคะ เพราะฉะนั้นศีลข้อนี้ สิ่งที่สำคัญหรือจุดมุ่งหมายของข้อที่ห้านี้ก็คือ ให้รำลึกว่าชีวิตของมนุษย์นั้นจะเป็นชีวิตที่มีความผิดพลาดน้อยที่สุด ก็คือต้องมีสติกำกับ กำกับใจ ถ้าหากว่าจะให้ชีวิตมีอยู่กับความถูกต้องได้มากที่สุด ก็คือต้องอาศัยสติ สติคือ ความระลึกรู้ที่ถูกต้อง
“ระลึกรู้ที่ถูกต้อง” หมายความว่าอย่างไร ก็คือหยิบความรู้ต่างๆที่เราเคยรู้ เคยเรียน เคยได้ยินได้ฟังได้อบรมมาแล้ว ตั้งแต่ไหนก็ตามที่สะสมอยู่ในตัว หยิบเอามาใช้ให้ทันท่วงทีแก่จังหวะ แก่โอกาสแก่เหตุการณ์ของชีวิต ถ้ามีสติ สติจะหยิบมาได้ทัน แต่ถ้าไม่มีสติ มันจะกลายเป็นอารมณ์ใช่ไหมคะ อารมณ์เข้ามาครอบงำ เพราะฉะนั้นจะพูดก็พูดตามอารมณ์ แล้วแต่จะเป็นอารมณ์โลภ หรือโกรธหรือหลง หรืออารมณ์ตัณหา หรืออุปาทานที่กำลังแน่นอยู่ในหัวใจในขณะนั้น
เพราะฉะนั้นท่านจึงเน้นในการที่มีสติ ฉะนั้นในข้อ๕นี้ ท่านจึงน่าจะหมายถึงว่า จำเป็นที่จะต้องให้มีสติทุกกรณี ทีนี้สติในทุกกรณีจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็คือต้องระมัดระวังใจอย่าไปหลงใหลเพลิดเพลินในสิ่งใด บางคนที่ไม่กินเหล้าเมายาแต่หลงใหลอย่างอื่น หลงใหลการพนันหามรุ่งหามค่ำ หรือว่าหลงใหลในอบายมุขอื่นๆ หรือว่าไปหลงใหลในผู้หญิงยิงเรือพาชีกีฬาบัตรอะไรทั้งหลายเหล่านั้น จนกระทั่งเกินความพอดี หรือแม้แต่เด็กๆนั่งอยู่หน้าจอโทรทัศน์ตลอดเวลา เอาข้าวมากินหน้าจอโทรทัศน์ เอาหมอนมานอนเล่นอยู่ตรงนั้น จนกระทั่งไม่เป็นอันทำงานช่วยงานบ้านพ่อแม่ หรือไม่ดูหนังสือไม่ทำการบ้าน นี่ก็เรียกว่าเกินความพอดี เกินความถูกต้อง เพราะฉะนั้นการเรียนก็เสีย สุขภาพก็เสีย จิตใจก็ไปอยู่ภายใต้อำนาจของสิ่งที่ดู หูที่ฟัง ตาที่เห็น เพราะฉะนั้นถึงได้มีพฤติกรรมต่างๆ ที่ไม่เป็นไปในทางที่น่าปรารถนาอย่างที่เราเห็น นี่ก็เรียกว่าขาดสติอีกเหมือนกัน
เพราะฉะนั้นในข้อนี้ น่าจะนึกว่า เรื่องของสตินี้เป็นสิ่งสำคัญของชีวิต ซึ่งคุณแม่มีความรู้สึกว่า สตินี้เป็นอริยทรัพย์ เป็นทรัพย์อันประเสริฐเลย ถ้าหากว่าบุคคลใดเคยได้รับการอบรมจากคุณพ่อคุณแม่ เด็กๆน่ะคะ หรือว่าได้รับการอบรมจากครูบาอาจารย์ตั้งแต่ยังเล็กๆ ให้เป็นคนที่รู้จักเป็นคนควบคุมใจของตน ให้อยู่ในหนทางของความพอเหมาะพอดี เป็นผู้ที่มีสติอยู่เสมอ นั่นแหละเท่ากับว่าพ่อแม่หรือครูบาอาจารย์ ได้มอบอริยทรัพย์ให้กับลูกและลูกศิษย์แล้ว เป็นทรัพย์อันประเสริฐที่ไม่มีใครมาปล้นได้ แต่มันจะช่วยให้บุคคลผู้นั้นประสบความสำเร็จในชีวิต ประสบทุกสิ่งที่ปรารถนาได้ และก็จะล่วงพ้นความผิดพลาดทั้งหลายได้มากที่สุด อาจจะไม่ได้ มากทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก เพราะเรายังเป็นปุถุชนคนธรรมดา อาจจะมีผิดพลาดบ้าง แต่การผิดพลาดนั้นจะเกิดขึ้นน้อยที่สุด หรือบางทีเกิดขึ้นก็เพราะว่ามันเป็นเหตุสุดวิสัยจริงๆ คือมันจะช่วยตัวเราให้ได้พ้นสิ่งที่ไม่น่าพึงปรารถนาโดยไม่จำเป็น ฉะนั้นข้อนี้นี่ค่ะในข้อ๕นี้จึงอย่าไปนึกเอาแต่เพียงว่าไม่กินเหล้าแล้วใช้ได้ ควรจะนึกไปถึงว่าอย่าไปหลงใหลในอะไร ให้เกินความพอดี ถึงแม้ว่าสิ่งนั้นบางทีมันก็ไม่ใช่สิ่งที่เสียหาย เช่นบางคนชอบกีฬา เล่นเทนนิส หรือว่า เล่นแบดมินตัน มันก็ไม่ใช่สิ่งเสียหาย แต่เล่นหามรุ่งหามค่ำ เล่นจนกระทั่งพระจันทร์ขึ้น อะไรอย่างนี้เป็นต้น ข้าวปลาอาหารก็ไม่สนใจ บ้านเรือนก็ไม่สนใจ ครอบครัวก็ไม่สนใจ มันเกินความพอดี และเมื่ออะไรที่เกินความพอดีเข้า ก็ทำให้ส่วนอื่นๆซึ่งเป็นองค์ประกอบของชีวิตบิดเบี้ยวไปด้วย เพราะชีวิตไม่ได้มีแต่เพียงการเล่นอย่างเดียว หรือการหลงใหลในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเดียว
เพราะฉะนั้นนี่ค่ะ การจะประพฤติเรื่องของศีล ให้สามารถรักษาศีลได้อย่างมีความพึงพอใจว่าสะอาดบริสุทธิ์ไม่ด่างพร้อย และก็ชุมชื่นใจในการรักษาศีล ถ้ารักษาศีลอย่างนี้คือประพฤติศีลอย่างนี้ ไม่เรียกว่ารักษาแล้ว เรียกว่าประพฤติศีลอย่างนี้ ก็เรียกว่าประพฤติอย่างชนิดที่ตรงตามคำสอน หรือว่าตรงตามแนวทางของพระพุทธศาสนา เพื่อที่จะให้มีสติกำกับใจแล้วเสร็จแล้วชีวิตก็จะมีความเป็นปกติอยู่นะคะ นี่ก็เป็นสิ่งที่น่าจะต้องระมัดระวัง ถ้าจะว่าไปแล้วศีลทั้ง๕ ข้อนี้ ข้อไหนเป็นข้อที่สำคัญมาก ที่จะช่วยให้ข้ออื่นๆเรียบร้อยไปด้วย ก็คือข้อที่๕ นี้แหละ ใช่ไหมคะ ก็คือมีสติ ถ้ามีสติกำกับใจอยู่เสมอ ก็จะระมัดระวังในเรื่องการที่จะไปเบียดเบียนทำร้ายผู้อื่น ทำร้ายทางกาย หรือว่าไปลักขโมยหยิบข้าวของ หรือว่าจะไปล่วงละเมิดของรักของผู้อื่น หรือว่าสามารถระมัดระวังในเรื่องวาจา ไม่ให้เป็นวาจาที่ผิดพลาดได้ ฉะนั้นถ้าประพฤติศีลในลักษณะนี้ ก็เรียกว่าเป็นบุญเป็นกุศลนะคะ
ทีนี้ภาวนา วิธีประพฤติบุญอีกอย่างหนึ่ง ๑ ทาน ๒ ศีล ๓ ภาวนา ภาวนานี่ก็คือการทำจิตให้เจริญ การทำจิตให้เจริญก็ได้พูดมาบ้างนิดหน่อยแล้วนะคะ จิตที่ไม่เจริญเป็นจิตที่เป็นอย่างไร ลองฟังลองพูดกันถึงจิตที่ไม่เจริญซะก่อน จะได้เปรียบเทียบเห็นว่าทำไมถึงจะต้องเจริญ นะคะ
อยากจะเชิญชวนท่านผู้ฟังที่กำลังฟังนี้ ลองหยุดสักอึดใจหนึ่ง แล้วนึกดูสิว่า จิตของเราขณะนี้เจริญแล้วหรือยัง เป็นจิตที่เจริญแล้วหรือยัง หรือยังไม่เจริญ นั่นก็คือเราจะดูได้ว่า ถ้าในขณะนี้ จิตนี้วุ่นวาย มันกำลังวุ่นวาย หูก็ฟังหรอก แต่ใจไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ว่ากำลังฟังอะไร พูดอะไร มันไม่เข้าสู่ใจเลย นี่เรียกว่าถ้าจิตมีความวุ่นวาย จิตที่มีความสับสน มีความระส่ำระสาย หรือว่ามีความวิตกกังวล มีความหงุดหงิด อึดอัด รำคาญ มันไม่โปร่งไม่เบาสบาย จิตนั้นมันกระจัดกระจายไปตามที่ต่างๆ นี่ก็เรียกว่าจิตนั้นท่านเรียกว่าเป็นจิตที่ยังไม่เจริญ เพราะฉะนั้นจิตในลักษณะอย่างนี้จะไม่มีกำลัง ไม่มีกำลังที่จะรวมพลังมาคิดหรือมาทำอะไรให้เป็นเรื่องเป็นราวที่จะเป็นผลสำเร็จอย่างงดงาม น่าภาคภูมิใจได้ มันไม่มีแรง เพราะอะไร เพราะมันกระจัดกระจาย มันแตกออกไปตามที่ต่างๆ มันไม่ได้รวมกันเป็นหนึ่ง จิตอย่างนี้ท่านเรียกว่า เป็นจิตที่ยังไม่เจริญ
นอกจากไม่มีกำลังแล้ว จิตนั้นก็ขาดสติอีกด้วย สติไม่มี มันจึงไม่สามารถจะควบคุมได้ เพราะฉะนั้นการที่จะทำอะไร มันก็ย่อมประสบความสำเร็จได้ยาก หรือจะคิดอะไรให้ลุล่วง ก็คิดได้ยาก ฉะนั้นท่านจึงบอกว่าถ้าหากว่าปรารถนาที่จะใช้จิตคือใช้ใจนี้เป็นสิ่งนำชีวิตอย่างถูกต้อง อย่างเกิดประโยชน์จริงแล้ว ก็ควรที่จะฝึกฝนอบรม หรือว่าพัฒนาจิตนี้ให้เป็นจิตที่เจริญ เรียกว่าเป็นจิตที่มีอารยธรรมนะคะ ยังไม่เป็นดิบเถื่อนอย่างนั้น
วิธีที่จะทำจิตให้เจริญนั้น จิตที่เจริญเป็นจิตที่เป็นอย่างไร คือเป็นจิตที่นิ่ง จิตที่นิ่ง ที่มั่นคงหนักแน่น เข้มแข็ง และพร้อมที่จะทำการงาน คือเป็นจิตที่ว่องไวพร้อมที่จะทำการงาน ทั้งการงานทางโลกและการงานทางธรรม การงานทางธรรมก็หมายถึงการประพฤติปฏิบัติธรรม ในเรื่องของสมาธิภาวนา วิปัสสนาอะไรทำนองนั้นนะคะ พร้อม หรือการงานทางโลก ไม่ว่าทำงานอะไรอย่างไร หรือจะเป็นการเรียน ก็สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นแหละเป็นจิตที่มีพลัง และมีความพร้อมในการที่จะทำการงาน อันนี้ท่านผู้ฟังก็คงนึกดูได้ว่า จิตของเรานี้รวมกันเป็นหนึ่งอยู่เสมอหรือเปล่า ถ้าไม่รวมเป็นหนึ่งมันไม่มีกำลัง จริงไหม ดูตอนตื่นขึ้น พอตื่นขึ้น สดชื่นแจ่มใสไหม จิตแจ่มโปร่งเบาสบายรู้สึกพร้อมที่จะลุกขึ้นไปทำงานอะไรที่จะต้องทำในวันนี้ พร้อม กระฉับกระเฉง ว่องไว ถ้ายังไม่เป็นเช่นนั้น จิตนี้ก็ยังเป็นจิตที่ยังไม่เจริญ และคำว่าความเจริญของจิต ไม่เกี่ยวกับความเจริญข้างนอก บุคคลผู้นั้นอาจจะเล่าเรียนมาสูง ได้ปริญญามา ปริญญาตรีโทเอก มีทรัพย์สินเงินทอง มีตำแหน่งการงานที่น่านับถือ แต่ตราบใดที่จิตยังกระจัดกระจายก็น่าที่จะใช้เวลาส่วนหนึ่งของชีวิตมาพัฒนาจิต เพื่อที่จะให้ชีวิตนั้นมีความสมบูรณ์ได้พร้อมนะคะ