แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
…ลังเลสงสัยแล้วมนุษย์จะพัฒนาอย่างไร เพราะเมื่อสงสัยและค้นหาคำตอบนั่นทำให้ความรู้เพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกับการเรียนถ้าไม่สงสัยก็สอบไม่ได้ นี่อธิบายไว้แล้วใช่ไหมวิจิกิจฉาเมื่อวานนี้อธิบายไว้ล่วงหน้าแล้ว ถ้าหากว่าติดตามอย่างละเอียดก็จะจำได้ว่าวิจิกิจฉานั้นถ้าหากว่าเป็นนิวรณ์หมายความว่ามาทำให้จิตนี้เกิดความมึนงงสงสัยแล้วก็มัวเมาจนกระทั่งตัน ไม่เห็นหาหนทางออก แต่เมื่อใดที่เกิดความสงสัยแล้วก็จิตนั้นมีปัญญาที่จะคิดแก้ไขทันทีด้วยการแก้ไขที่จะหาความรู้ เราสงสัยในเรื่องนี้เพราะเรารู้ไม่พอ หาความรู้ เพราะประสบการณ์ไม่พอหาประสบการณ์ อย่างนั้นเรียกว่าเป็นความสงสัยที่สร้างสรรค์นี่ได้พูดแล้วเมื่อวานนี้ เพราะฉะนั้นที่จริงแล้วคำถามอันนี้ไม่จำเป็นสำหรับวันนี้ นี่ได้พูดแล้วเพราะฉะนั้นจึงได้อธิบายเอาไว้เลยว่าความสงสัยมี 2 อย่าง สงสัยด้วยอวิชชานั่นเป็นนิวรณ์ แต่ถ้าเป็นความสงสัยแล้วรู้จักใช้สติปัญญาที่จะมาแก้ไขอาศัยสัปปุริสธรรมนี่สำหรับผู้ที่มาก่อนตั้งแต่วันที่ 9 เราได้พูดสัปปุริสธรรมหลายครั้ง แต่ผู้ที่มาทีหลังอาจจะยังไม่ชัดเจนกับสัปปุริสธรรม วันหลังจะเขียนไว้ให้ดูบนกระดาน เอาสัปปุริสธรรมเข้ามาใคร่ครวญตามและก็แก้ไขสิ่งที่สงสัยให้เกิดความรู้ความเข้าใจกระจ่างแจ้งก็ทำงานต่อไป นั่นเป็นความสงสัยที่กระตุ้นหรือส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา เพราะฉะนั้นก็โปรดเข้าใจให้ชัดๆ นะคะ
คำถาม: ลักษณะของคนที่บ้าจี้คือ เมื่อไปเต้นข้างๆ เขาก็เต้นตาม เมื่อใครร้องก็ร้องตาม เมื่อตกใจก็อุทานประโยคยาวๆ คือบุคคลที่มีอาการจิตไม่อยู่กับตัวใช่หรือไม่ พูดง่ายๆ ก็คือไม่มีสติ วิธีแก้อย่างไร ถ้าเขาเป็นมากและเป็นมานานแล้ว
ตอบ: ก็แก้ด้วยการให้จิตมีสมาธิการที่ที่เรียกว่าบ้าจี้คือทำอะไรตามเขาง่ายๆ นั่นก็เพราะใจอ่อนแอ โลเล จึงเป็นจิตที่ไม่มีหลักหรือพูดง่ายๆ ก็คือไม่มีจุดยืน ไม่มีจุดยืนของชีวิตไม่มีจุดยืนว่าเราจะเอาอะไรแน่เพราะฉะนั้นใครทำอะไรก็ทำตามเขาไปหมด วิธีแก้ก็คือทำจิตที่อ่อนแอโลเลให้แน่นหนามั่นคงเข้มแข็ง สามารถจะเชื่อมั่นในความคิดสติปัญญาของตนเองได้ ก็ต้องเริ่มด้วยการทำจิตให้เป็นสมาธิอย่างที่เรามาฝึกหมวดที่ 1 สี่ขั้นนี่ละคะเป็นการฝึกสติสมาธิโดยตรง เพราะฉะนั้นขอได้มีกำลังใจนะคะมีกำลังใจเพิ่มให้มากขึ้นที่จะทำให้ถูกต้องแล้วก็จะเลิกการเป็นบ้าจี้ไม่ว่าจะเป็นมานานช้าเพียงใดถ้าเราสามารถจะอุตส่าห์พยายามฝึกจิตให้พร้อมอยู่ด้วยสติสมาธิอยู่แล้ว ก็จะมีความมั่นคงเข้มแข็งและก็ไม่ไปทำอะไรตามคนอื่นง่ายๆ
คำถาม: ที่บอกว่าให้รู้ลมหายใจอยู่ทุกอิริยาบถ อยากทราบว่าเป็นการตามลมหายใจหรือเฝ้าดูลมหายใจ ใช้ได้ทั้งสองอย่างหรือเปล่า
ตอบ: ใช้ได้ทั้ง 2 อย่าง
คำถาม: ถ้าใช้ได้ทั้ง 2 อย่าง อย่างใดเหมาะสมกว่ากัน
ตอบ: โดยปกติจะใช้การเฝ้าดูมากกว่า นี่พูดถึงในชีวิตประจำวันนะคะ จะใช้การเฝ้าดูมากกว่าทำไมถึงใช้การเฝ้าดูมากกว่าก็เพราะว่าในขณะที่เราอยู่ในชีวิตประจำวันเรามีกิจการงานที่จะต้องทำอะไรต่ออะไรหลายอย่าง เพราะฉะนั้นการเฝ้าดูก็จะช่วยให้จิตนี้ไม่ต้องทำงานมากเหมือนการที่วิ่งตาม เพราะฉะนั้นก็จึงจะเฝ้าดูได้แล้วก็จะมีงานอะไรที่ต้องทำ เช่นอ่านหนังสือ ฟังเลคเชอร์หรือเขียนหนังสือก็สามารถจะทำไปด้วยกันได้ ทีนี้จริงๆ แล้วอะไรจะเหมาะสมที่สุด ให้ถือความสะดวกความสบาย ทำแล้วมันเกิดผลแก่ตนเองนั้นให้เป็นสำคัญ แต่จริงๆ แล้วการเฝ้าดูจะทำได้ง่ายกว่า
คำถาม: เวลาหายใจขั้นที่ 3 สลับกัน จำเป็นไหมว่าต้องทำสลับกันให้มีชนิดลมหายใจครบทุกชนิดจึงผ่านไปขั้น 4 ได้ หรือถ้าพอใจแล้วแต่ไม่ครบก็ผ่านได้เลย
ตอบ: ถ้าจะเอาให้สมบูรณ์นะคะก็ควรจะพอใจเต็มที่แล้วจึงค่อยผ่าน แต่เรามาปฏิบัติอย่างนี้แล้วเราก็ยังไม่ชินกับการปฏิบัติซ้ำอยู่นานๆ ก็เอาเพียงว่าพอใจในระดับหนึ่งแม้จะยังไม่ครบทุกชนิดจะผ่านไปก็ได้เพราะเราจะกลับมาปฏิบัติซ้ำอีก
คำถาม: เวลานั่งสมาธิรู้สึกจิตสงบเร็ว เวลานั่งสมาธิปกติจะนำลมหายใจขั้น4 มาใช้ได้ไหมเพราะเกิดขึ้นบ่อยๆ กับตัวเอง
ตอบ: ได้ การปฏิบัติในขั้นที่ 4 นี่ค่ะจะไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างดีเลย แต่เราจะใช้ได้อย่างดีหรือไม่ก็ต่อเมื่อการปฏิบัติขั้น 1 2 3 โดยเฉพาะขั้นที่ 3 สัมฤทธิ์ผลคือ ควบคุมลมหายใจได้และเราจะใช้ในขั้นที่ 4 ใช้ขั้นที่ 4 ไปใช้ในประจำวันได้อย่างดี
คำถาม: การดูภาพยนตร์ที่เป็นเรื่องชีวิตจริงของวัลลี (วัลลีเด็กกตัญญูใช่ไหม) แล้วน้ำตาไหลถือว่าเป็นเวทนาแบบใด และสมควรจะบังคับไม่ให้เกิดใช่หรือไม่ ถ้าเราจะบังคับไม่ให้เกิดเราจะทำอย่างไร
ตอบ: ก็คือดูสามัญลักษณะความเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา คือความเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปของชีวิตของวัลลี เดี๋ยวนี้เขายังร้องไห้อย่างนั้นไหม เขายังลำบากอย่างนั้นไหม ชีวิตของวัลลีบัดนี้เขาก็เป็นฝาเป็นฝั่งเป็นหลักเป็นฐานมีอาชีพมีครอบครัวเรียบร้อยไปแล้ว เห็นไหมเห็นความเป็นอนิจจังไหม เห็นสามัญลักษณะไหม แล้วนี่ก็เป็นกำลังใจให้แก่เจ้าของคำถามที่ชอบถามว่า ไม่เก่งทำอะไรก็ไม่สำเร็จ ทำอะไรก็ไม่มีหวังสู้คนอื่นเขาไม่ได้ เห็นไหมคะเด็กหญิงวัลลีซึ่งเป็นเด็กธรรมดาเป็นคนธรรมดาชาวบ้านธรรมดาอัตคัดขาดแคลนทุกอย่าง แต่อาศัยอุตสาหะมานะพยายามผลที่สุดเขาก็สามารถพัฒนาชีวิตของเขาจนถึงซึ่งความสำเร็จได้
ฉะนั้นการที่ไปน้ำตาไหลกับเขา ทำไมถึงน้ำตาไหลก็เพราะความรู้สึกที่มันเกิดขึ้นคือเวทนาที่เกิดขึ้นมันปรุงสัญญามันปรุงความรู้สึกมันตรงกับใจว่าอย่างนี้น่าสงสาร แล้วก็ย้อนนึกถึงใจตัวโดยไม่รู้ตัวก็จะบอกฉันไม่ได้ย้อนเลยแต่นั่นน่ะเรารู้สึก แต่อย่างไรก็ตามสรุปแล้วก็ควรจะดูให้เห็นเกิดดับเกิดดับเกิดดับ และความเป็นจริงมันก็เป็นอย่างนั้น ชีวิตของวัลลีก็ไม่ได้ทุกข์ตลอดไป ควรจะนำมาเป็นอุทาหรณ์เพื่อเป็นกำลังใจแก่ตนเองด้วย
คำถาม: จากรูปคนกระโดดจนตัวลอยเมื่อพบว่าความสุขนั้นที่แท้ไม่มี แต่ขณะนั้น แต่ขณะนั้นนี่เขาแสดงความสุขอย่างมากอยู่ไม่ใช่หรือที่สามารถรู้ว่าสุขไม่มี
ตอบ: ก็ถูกแล้วชี้ให้ดูว่านี่คนที่เขาพบจริงๆ ว่าเวทนานั้นแม้แต่สุขเวทนาก็เป็นมายาเขาสามารถเป็นสุขได้อย่างนี้เขาสามารถมีความเย็นได้อย่างนี้เพราะฉะนั้นรูปนี้เพื่อจะบอกให้คนทั้งหลายรู้ที่สนใจจะอ่านปริศนาธรรมให้รู้ว่าเวทนานี้มันบังคับได้ควบคุมได้ ถ้าเราจะสนใจที่จะศึกษาอบรมฝึกฝนให้รู้จักมันให้ดีขึ้นจนเห็นชัดในความเป็นมายาของมัน แล้วก็จะสิ้นซึ่งความยึดมั่นถือมั่น สิ้นซึ่งความอยากเพระอวิชชาครอบงำไม่ได้ เมื่อนั้นก็จะประสบความสุขสงบเย็นอย่างแท้จริงที่ภายใน แสดงว่าเมื่อตัดสุขเวทนาแล้วใบหน้าที่ยิ้มแย้มหัวเราะปีติจะต้องไม่มี เช่นเดียวกับไม่มีทุกขเวทนาก็ไม่เศร้าหมองจริงหรือไม่ แสดงว่าเมื่อถึงขั้นนี้แล้วหน้าตาคนฝึกจะเฉยเมยมากๆ หรือเปล่า
ขอให้มองดูพระพุทธรูป พระพักตร์ของพระพุทธรูปที่ไหนก็ตามที พระพักตร์ของพระพุทธรูปเป็นไงคะ ที่เขาหล่อที่เขาปั้นน่ะเห็นไหมยิ้มหรือเปล่า หัวเราะไหม บึ้งไหม สงบไหม เย็นไหมนั่นแหละจิตของผู้ที่สามารถที่จะฝึกอบรมให้อยู่เหนือทั้งสุขเวทนาและทุกขเวทนา แต่ไม่ใช่ใบหน้าที่เฉยเมยเหมือนหุ่นขี้ผึ้ง ขอบอกให้ทราบไม่ใช่ใบหน้าที่เฉยเมยอย่างชนิดไม่แยแส ไม่ยุ่งไม่เกี่ยว ใครจะเป็นช่างหัวมันใครจะตายช่างหัวมัน ไม่ใช่อย่างนั้น อย่างนั้นใบหน้าถ้าจะเปรียบเทียบเป็นของใจหินหรือว่าใจห่อจนกระทั่งสิ้นอาลัยตายอยากในชีวิต ไม่ใช่ ใบหน้าของคนเช่นนั้นถ้าจะพูดก็ว่าไม่จำเป็นต้องหัวเราะฮาๆๆ จนเสียงดัง แล้วก็ไม่ต้องเป็นต้องร้องไห้ข่มขืนเจ็บปวด มันไม่มีอย่างนั้นเพราะมันมีความรู้เท่าทัน มันก็มีแต่ความแย้มยิ้มอยู่บนใบหน้าเหมือนอย่างพระพักตร์ของพระพุทธรูป ทำไมคนบางคนเวลามีความทุกข์แล้วก็จะชอบไปนั่งที่หน้าพระพุทธรูปแล้วก็แหงนมองหน้าของท่านเหมือนกับจะไปเล่าความทุกข์ให้ฟังมีทุกข์เท่าไหร่ก็ระบายไป บางคนสะอึกสะอื้นไปก้มลงกราบไป พระพุทธรูปท่านเอื้อมพระหัตถ์มาลูบหัวหรือเปล่า ท่านบอกไหมว่าอย่าร้องไห้อย่าร้องไห้เลยนิ่งเสียเถิดความทุกข์เป็นอย่างนั้นเอง ท่านก็ไม่พูด แต่ในใบหน้านั้นเรามีความรู้สึกเหมือนกับว่ารับรู้เพราะในใบหน้าที่แย้มยิ้มนั้นเต็มไปด้วยความเมตตากรุณาใช่ไหมคะ เต็มไปด้วยความเห็นอกเห็นใจจึงไม่ต้องมีคำพูด ไม่ต้องมีท่าทางที่แสดง แต่คนที่ไปนั่งกราบก็รู้สึกอุ่นอกอุ่นใจสบายใจอาจจะเป็นเพราะว่าได้ระบายออกก็ได้ นั่นเป็นส่วนหนึ่ง หรือถ้าใครไปประสบโชคดีมาเช่นถูกลอตเตอรี่ แหมมันปลื้มปีติ ไม่รู้จะไปเล่าให้ใครฟังเพราะเผอิญเป็นคนกำพร้า ไปเล่าให้พระพุทธรูปฟัง วันนี้มีความสุขมากอย่างนั้นๆๆ ท่านหัวเราะด้วยหรือเปล่า ท่านก็ไม่หัวเราะท่านยังคงเฉยๆ แย้มยิ้มอยู่อย่างนั้น นี่แสดงว่าเป็นพระพักตร์หรือเป็นใบหน้าของผู้ที่ถึงซึ่งสัจจะคือประจักษ์ชัดในสัจธรรมจึงเป็นใบหน้าที่มีแต่ความแย้มยิ้มด้วยความรู้เท่า แต่ไม่ใช่เฉยเมย เพราะคำว่าเฉยเมยนี่มันไม่เอาไหนมันไม่เอาเรื่อง มันเอาแต่ตัวเองมันนึกถึงแต่ตัวเอง
คำถาม: เป็นไปได้หรือในชีวิตประจำวันที่จะตัดสุขเวทนาได้โดยไม่ต้องออกบวช เพราะการไม่ยินดีเลยเป็นไปไม่ได้
ตอบ: ก็ไม่ได้บอกว่าจะเป็นไปได้ในชีวิตประจำวัน แต่บอกว่านี่เป็นวิธีการถ้าหากว่าใครไม่ต้องการจะตกเป็นเหยื่อของเวทนา แต่ถ้าใครยังรู้สึกว่าเอร็ดอร่อยอยู่กับเวทนา เอาเถอะมันจะร้องไห้บ้างหัวเราะบ้างมันก็มีรสชาติดี ก็ไม่เป็นไรคลุกเคล้าไปกับมันไปจนถึงวันไหนเหนื่อยเหลือเกิน ขี้เกียจร้องไห้ขี้เกียจหัวเราะ มันเหนื่อยทั้ง 2 อย่าง เมื่อใดเห็นว่าหัวเราะก็เหนื่อยร้องไห้ก็เหนื่อยนั่นแหละหยุดเองแล้วก็จะหันมาสนใจเอง แต่ว่าทั้งหมดที่ฟังไปนี้เป็นการบอกให้รู้เล่าให้ฟังเพื่อเตรียมใจเพื่อจะใคร่ครวญอย่าลืมว่าเราจะไปพบชีวิตในช่วงต่อไปคือช่วงที่จะเผชิญชีวิตซึ่งเราจะต้องพบปัญหาต่างๆ หนักหนานัก เวทนาทั้งหลายจะกลุ้มรุมนี่หยิบหนังสือพิมพ์ขึ้นมาอ่านเวลานี้เวทนากำลังกลุ้มรุมคนบางคนอย่างเหลือล้นเลยแล้วเราจะทำยังไงเราต้องการจะอยู่ภายใต้อิทธิพลของเวทนา หรือเราอยากจะอยู่เหนือเวทนาเพื่อให้เป็นผู้ชนะที่แท้จริง นี่เป็นสิ่งที่แนะนำบอกกล่าวแต่ไม่ได้บอกว่าจะทำได้ จะทำได้หรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับความพากเพียรขึ้นอยู่กับวิริยะของแต่ละคน
คำถาม: การไม่มีความหวังจะดำเนินชีวิตอย่างไรเพราะทำทุกอย่างต้องมีความหวังทั้งนั้นเช่นการเรียนก็หวังให้ผลการเรียนดีหรือหวังจะให้เข้าใจในเนื้อหาในการทำงานก็หวังให้งานเสร็จไม่งั้นจะมีการเสียหายมากขึ้น เช่นนี้ถ้าห้ามหวังแล้วก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรต่อ
ตอบ: นี่หมายความว่าผู้ถามฟังแล้วคงจะจับประเด็นที่สำคัญไม่ได้ ประเด็นที่สำคัญก็คือไม่ได้ห้ามว่าไม่หวัง แต่บอกให้รู้ว่าเมื่อหวังแล้วมันเป็นอย่างไรในชีวิตที่ผ่านมา หวังแล้วมันก็มักจะประสบความผิดหวังใช่ไหม ความเสียใจความทุกข์มักจะเกิดกับความผิดหวังใช่ไหม เมื่อเราอยากจะเรียนให้ดีเราอยากจะทำงานให้เสร็จแต่ก็ให้ผลสำเร็จดีด้วย ในทางธรรมะท่านก็บอกว่าจงฝึกการกระทำให้ถูกต้องเมื่ออยากจะเรียนให้ดีก็ทุ่มเทเวลาลงไปในการศึกษาบทเรียน ไปเข้าห้องเลคเชอร์ตามกำหนดและก็ทำใจให้ว่างสว่างในขณะที่ฟังเลคเชอร์ แล้วก็ตั้งใจไปท่องบ่นทบทวนแบบฝึกหัดทำให้ครบคิดหาความรู้เพิ่มเติม นั่นการเรียนก็ต้องสอบได้นี่คือการประกอบเหตุการณ์เหตุปัจจัยที่ถูกต้องจะหวังหรือไม่หวังแต่ผลมันก็ต้องเป็นอย่างถูกต้อง แต่ถ้าในขณะที่หวัง หวังว่าต้องได้หวังที่ต้องได้ ท่านบอกว่าในความหวังนั้นน่ะมันมีความกังวลแต่ถ้าใครบอกว่าจะหวัง หวังเพื่อให้ได้ดีแต่ไม่กังวลแต่ใช้สติปัญญากระทำอย่างถูกต้อง ถ้าอย่างนั้นเรียกว่าหวังด้วยสติปัญญาก็ไม่เป็นไรเพราะรู้จักใช้สติปัญญามาหาวิธีการที่จะกระทำให้ถูกต้อง อยากจะให้การงานเป็นผลสำเร็จก็นึกถึงหลักสัปปุริสสธรรม และใช้ความรู้ใช้ประสบการณ์ใช้ความละเอียดรอบคอบทุ่มเทลงไปทำให้เต็มที่เลยผลมันก็ต้องออกมาถูกต้อง ถ้าหวังแล้วทำด้วยสติปัญญาโดยไม่เอาความหวังมาเป็นเครื่องถ่วงให้เกิดความกังวลแล้วก็ตั้งใจเอาไว้ว่าจะต้องได้อย่างนี้ๆๆ อย่างนั้นเป็นความหวังด้วยสติปัญญา แต่มนุษย์ธรรมดาทั่วไปพอหวังแล้วมันก็ตั้งความหวัง แล้วกำหนดว่าจะต้องได้สิ่งที่หวังอย่างนั้นอย่างนี้ และในขณะนั้นจิตก็ต้องเสียเวลาไปกับความวิตกกังวลเกิดความกลัวแล้วก็แทนที่จะทุ่มเทลงไปในการทำ การทำเหตุปัจจัยให้ถูกต้องก็ทำได้ครึ่งๆ กลางๆ แล้วผลที่สุดผลนั้นมันก็ไม่เกิดขึ้นอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยนี่หมายถึงประเด็นนี้ แต่ถ้าใครคิดว่าเอาเถอะหวังไปก่อนมันจะทุกข์มันจะร้อนก็หวังไป ก็ต้องลองไปอีกเหมือนกันลองหวังไปจนกระทั่งเห็นผลที่สุดว่าไม่เห็นจำเป็นต้องหวัง ถ้าเราทำดีที่สุดแล้วผลมันก็ต้องออกมาเหมือนกัน แต่ผลข้างในที่เกิดขึ้นในใจต่างกันมาก ข้างในนั้นถ้าทำโดยไม่หวังมีพลังเต็มที่ มีความสดชื่นกระฉับกระเฉงเบิกบานเพราะมันไม่มีความเห็นแก่ตัวนึกถึงตัวเองซ่อนอยู่ แต่ถ้าหวังทำเต็มที่เหมือนกันแต่ในใจนี่มันหวั่น มันวิตกมันกังวลมันกลัวไม่ได้ แล้วมันก็เหนื่อยหลายเท่า แทนที่จะเหนื่อยเพียงเท่าเดียวมันเหนื่อยหลายเท่า
คำถาม: ถ้าให้ทำตามหน้าที่จะรู้ได้อย่างไรว่าขณะนี้ทำถูกตามหน้าที่ เช่นขณะนี้กำลังเรียนซึ่งเป็นหน้าที่จะรู้ได้อย่างไรว่ามันถูก ซึ่งแท้จริงแล้วเราอาจเป็นศิลปินหรือนักดนตรีตามที่เราถนัดจะดีกว่านี้ แล้วอย่างนี้หน้าที่นี้ถูกต้องหรือ
ตอบ: คำถามนี้ไม่ตรง ตัวอย่างก็ไม่ตรง หน้าที่ก็คือหน้าที่ขณะนี้อยู่ในหน้าที่อะไร หน้าที่นิสิตนักศึกษาอยู่ในคณะไหนสาขาไหนวิชาไหน ทีนี้บางคนหรือคนถามนี่อาจจะบอกว่าไม่ได้ชอบนี่ ไม่ได้อยากเรียนวิชานี้ ก็น่าจะถามตัวเองแล้วมาเรียนทำไม ถ้าเรียนเพราะตามเพื่อนเพื่อนที่รักสนิทเขาเข้าคณะนี้เราจึงมาเข้ากับเขาเพราะความชอบ รักเพื่อน อย่างนี้ก็เป็นเหตุผลที่ไม่ถูกต้องเลย นี่เรียกว่าไม่มีความมั่นคงในจิตใจจึงต้องตามคนอื่นเขา แต่ถ้าว่าเลือกเรียนเพราะพ่อแม่บังคับว่าต้องให้เรียนอันนี้ก็เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูก จะต้องทำตามใจพ่อแม่เพื่อความกตัญญูนี่ก็นับว่าทำหน้าที่ของลูกที่ดี ทีนี้มันก็มาถึงหน้าที่เรียนล่ะหรือบางทีต้องมาเรียนคณะนี้เพราะมันสอบคณะอื่นไม่ได้ มันเข้าไม่ได้ มันได้คณะนี้ก็จำต้องเรียนก็เป็นหน้าที่ต้องเรียนอีกเหมือนกัน ฉะนั้นจึงมาถึงจุดที่ควรจะถามตัวเองว่าเมื่อเราจำเป็นต้องเป็นนักศึกษาคณะนี้ เราหนีไม่ได้ แล้วเราจะตั้งใจเรียนให้มันดี หรือเราจะเรียนไปแล้วก็ขัดแค้นไปแล้วก็ไม่ชอบใจไปแล้วก็เรียนบ้างไม่เรียนบ้าง แล้วก็มีความวิตกกังวลว่าเราจะเรียนไม่ได้ดี ขอให้ถามตัวเองอย่างนี้ เพราะฉะนั้นหน้าที่คืออะไร หน้าที่คือต้องเรียน ต้องเรียนสิ่งที่เรามาลงทะเบียนมาเรียนแล้ว นี่คือหน้าที่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่หน้าที่อันอื่น แต่ส่วนที่จะไปชอบดนตรีหรือจะไปชอบศิลปะแขนงไหนจะเป็นการวาดการปั้นแต่เมื่อในสถานะเดี๋ยวนี้ไม่มีโอกาสที่จะไปเลือกเรียนอย่างนั้นได้เพราะมาลงทะเบียนเรียนอย่างนี้แล้ว คนฉลาดหรือคนมีปัญญาเขาก็ต้องจัดเวลา ถ้าอยากจะยังสนองความอยากความต้องการส่วนตัวก็ลองจัดเวลา จัดเวลาให้พอเหมาะว่าจะใช้เวลาเพื่อทำหน้าที่ในฐานะนิสิตนักศึกษาของคณะนั้นสักจำนวนเท่าใดในวันหนึ่งจึงจะเพียงพอในการที่จะไม่ให้การเรียนเสีย และเวลาส่วนที่เหลือที่จะไปใช้เพื่อที่จะไปเล่าเรียนหรือไปเล่นหรือไปทำสิ่งที่พอใจตามถนัดสักเท่าไหร่ แทนที่มาปล่อยใจให้เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นการที่มีความสงสัยว่าหน้าที่คืออะไรนี่คือวิจิกิจฉา วิจิกิจฉาที่ประกอบด้วยอวิชชาเพราะฉะนั้นจงรีบแก้ไขเสีย แก้ไขเสียให้ชัดเจนเข้าใจวิจิกิจฉาให้ชัดเจนเข้าใจหน้าที่ให้ชัดเจน และเมื่อมาอยู่ในหน้าที่นี้แล้วก็จงถามตัวเองว่าหนีได้ไหมสลัดหลุดไหม ถ้ามันไม่หลุดมันต้องทำ ก็ถามต่อไปว่าจะทำหน้าที่ของนิสิตในคณะนี้อย่างเป็นสุขสบายใจให้มันเกิดผลสำเร็จอย่างสดชื่นแจ่มใส หรือจะทำอย่างชนิดเกลือกกลิ้งกับความทุกข์ อย่างไหนควรจะเป็นหนทางเลือก
คำถาม: อานิสงส์ของการทำสมาธิแบบกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกเฉยๆ ต่างจากอานิสงส์ของอานาปานสติทั้ง 4 หมวดนั้นอย่างไร
ตอบ: ถ้าหากว่าเราทำครบทั้ง 4 หมวดนะคะ ก็หมายความว่าการปฏิบัติจิตอบรมจิตให้ประกอบด้วยสมาธิภาวนานั้นจะมั่นคงมีพื้นฐานมั่นคง แล้วก็จะเป็นพื้นฐานที่จะฝึกปฏิบัติต่อไปได้ข้างหน้าจนบรรลุถึงขั้นสุดท้าย คือถึงซึ่งจิตสงบเย็นอย่างแท้จริงนั่นก็คือ นิพพานัง ปรมัง สุญญัง ก็คือจะถึงซึ่งความว่างแห่งความเป็นผู้มีจิตเย็น แต่ถ้าหากว่าเราปฏิบัติเพียงแต่ให้จิตรู้ลมหายใจเข้าออกอย่างอยู่ทุกเวลาก็สามารถทำให้จิตสงบมีสติทันท่วงทีที่จะแก้ผัสสะได้ แล้วก็หมั่นฝึกฝนอบรมไปเรื่อยๆ อย่างนี้เรื่อยๆ มันก็มีแต่จะเพิ่มพูน แล้วก็เมื่อจิตสงบจนเป็นนิสัยแล้วก็รู้จักนำเอาธรรมะข้อใดข้อหนึ่งเช่นไตรลักษณ์หรืออิทัปปัจจยตา มาใคร่ครวญอยู่เรื่อยๆ บ่อยๆ จิตนั้นก็จะถึงซึ่งความสงบเย็นที่สุดในคราวหนึ่งได้เหมือนกัน แต่ตอบไม่ได้ว่าอะไรจะเร็วจะช้ากว่ากัน มันขึ้นอยู่กับการฝึกปฏิบัติว่าสม่ำเสมอมากน้อยต่อเนื่องกันเพียงไร ซึ่งแต่ละคนคงจะไม่เท่ากัน
คำถาม: เคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่งกล่าวว่าคนที่ทำสมาธิเป็นประจำจะดูหนุ่มสาวกว่าอายุจริง ไม่ทราบว่าจริงหรือไม่
ตอบ: ก็ควรจะลองดู ลองดู นี่เราเริ่มทำสมาธิเมื่ออายุ 20 และตอนนี้ก็มองดูคนอายุ 30 เอาไว้มองดูหน้าตาคนอื่นที่อายุ 30 ที่เขาไม่ฝึกทำสมาธิว่าหน้าตาเขาเป็นอย่างไร แล้วกำหนดจำหน้าตาของเราตอนนี้แล้วพอถึง 30 แล้วเราเป็นอย่างไร อันนี้ตอบเอง ทำเองตอบเองดีกว่าจะได้ประจักษ์ความจริง เดี๋ยวจะว่าคนอื่นพูดแล้วไม่เชื่อ
คำถาม: การทำสมาธิคือนั่งสมาธิกับอานาปานสติต่างกันอย่างไร หากจะนั่งสมาธิจำเป็นหรือไม่จะต้องเริ่มจากขั้นหนึ่ง
ตอบ: อันนี้ตอบตอนนี้ก่อนว่าทำสมาธิคือนั่งสมาธิกับอานาปานสติต่างกันอย่างไร อานาปานสติคือวิธีของการปฏิบัติสมาธิวิธีหนึ่ง อย่างบางคนก็อาจจะคุ้นเคยกับการปฏิบัติสมาธิคือทำจิตให้เป็นสมาธิด้วยการใช้วิธีสัมมาอะระหัง ยุบหนอพองหนอ หรือว่าใช้คำบริกรรมพุทโธ หรือว่าเพ่งกสิณหรือว่าใช้ความเคลื่อนไหว มีหลายวิธีนั่นเป็นวิธีของการทำสมาธิ อานาปานสติก็เป็นวิธีหนึ่งโดยใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนดแล้วก็ทำทุกอิริยาบถ คือทั้งอิริยาบทนั่ง ยืน เดิน นอน ทีนี้เมื่อเรียกมานั่งสมาธินี่นะคะก็หมายความว่าผู้ปฏิบัติตั้งใจจะนั่งสมาธิอย่างเป็นทางการ ที่ใช้คำว่าเป็นทางการคือนั่งอย่างถูกต้องตามท่านั่ง แล้วก็การปฏิบัติก็ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามระบบของวิธีการปฏิบัติไม่ใช่ว่าสูดเข้าสูดออก รู้เข้ารู้ออกเฉยๆ แล้วก็ทำนั่นเล่นนี่เล่นแต่ว่ารู้ลมหายใจ ไม่ใช่อย่างนั้น นี่หมายความว่าตั้งใจจะนั่งอย่างเป็นระบบ เราก็เลยเรียกว่านั่งสมาธิ แต่อานาปานสตินั้นคือวิธีการปฏิบัติทางจิตวิธีหนึ่งซึ่งก็ให้ทดลองดู ผู้ที่เคยฝึกปฏิบัติทางอื่นมาแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าอย่างไหนผิดอย่างไหนถูกอย่างไหนดีไม่ดี แต่เป็นการทดลองว่าเมื่อเราฝึกปฏิบัติแล้วรู้สึกว่าวิธีไหนที่จะถูกกับจริตถูกกับอัธยาศัย อัธยาศัยในการปฏิบัติก็คือปฏิบัติแล้วรู้สึกว่ามันสะดวกสบายการปฏิบัติดำเนินไปด้วยความราบรื่น เราก็จะใช้วิธีนั้นซึ่งไม่มีการบังคับกันนะคะ แล้วก็ไม่มีการบอกว่านั่นดีนี่ไม่ดีนั่นถูกนี่ผิด เพียงแต่เป็นวิธีหนึ่งก็ให้ทดลองดูและส่วนที่จะตัดสินว่าจะใช้วิธีไหนก็แล้วแต่ตัวผู้ปฏิบัติเอง เพียงแต่ขอร้องว่าในระหว่างที่มาฝึกคือเสียสละเวลามาเพื่อมาฝึกอาณาปานสติก็ขอให้ทดลองให้จริงๆ จะได้รู้ว่ามันใช้ประโยชน์ได้จริงไหม ถ้าหากว่าทำเพียงครึ่งๆ กลางๆ ทำบ้างไม่ทำบ้างมันก็จะได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง ก็จะไม่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
คำถาม: รู้สึกว่าตามลมหายใจตลอดสายไม่ได้ รู้แค่ผ่าน ‘เข้า-ออก’แค่ลำคอแล้วก็หายไปแต่ขั้นที่ 4 นั้นเฝ้าทำได้ เฝ้าดูทำได้เมื่อขั้นที่ 1 2 3 ยังตามไม่ได้ จะมาเฝ้าดูขั้นที่ 4 เลยจะได้หรือเปล่า
ตอบ: ถ้าเวลาทำเองนะคะ เมื่อเวลาไปทำเองที่บ้านก็เฝ้าดูอย่างเดียวได้ แต่ในขณะนี้น่าจะลองใช้โอกาสเพื่อหาความชำนาญ ใหม่ๆ มันได้แค่ลำคอก็ค่อยๆ ตามขยายไปทีละนิดนะคะ อย่างที่เขามีการเปรียบเทียบว่าเรื่องของลมหายใจนี่ มันจะเหมือนกับอาจจะเปรียบได้กับการตีระฆัง ใครเคยสังเกตบ้าง เมื่อเวลาที่เราเคาะระฆังครั้งแรก เคาะเสียงดังเชียวเต็มที่ เสียงระฆังเป็นยังไง หยาบหรือละเอียด เสียงมันหยาบ เสียงมันดังแล้ว ก็สั้นหรือยาว สั้น ทีนี้พอเคาะต่อไปครั้งที่ 2 ที่ 3 แล้วก็ผู้เคาะระฆังมีความชำนาญในการเคาะมากขึ้น สังเกตไหมคะว่าเสียงของระฆังนั้นเป็นอย่างไร ค่อยๆ ยาวขึ้นแล้วก็ละเอียดขึ้นใช่ไหม นี่แหละเปรียบเหมือนกับลมหายใจ ลมหายใจที่เราหายใจอยู่เรื่อยๆ โดยเราไม่ได้สังเกตแล้วก็เรียกว่าให้ปล่อยมันหายใจตามบุญตามกรรม นอกจากนั้นถ้ามีเวทนาอารมณ์เข้ามากลุ้มรุมอยู่ภายในลมหายใจนั้นก็จะยิ่งหยาบแล้วก็สั้น แต่เมื่อใดที่เรารู้จักควบคุมลมหายใจจนกระทั่งมันสามารถปรุงแต่งกายได้สบาย เรียกว่ามันเป็นปกติทั้งข้างนอกและข้างใน ลมหายใจนั้นจะค่อยๆ ขยายยาวออกไปเองโดยอัตโนมัติ เพราะฉะนั้นเมื่อหายใจทีแรกมันอยู่เพียงแค่ลำคอหรือบางทีก็แค่ช่วงอกแล้วก็ค่อยๆ เลื่อนยาวไปยาวไป นี่แหละเป็นเครื่องแสดง ถ้าลมหายใจสั้น นี่มันเป็นเครื่องแสดงอย่างหนึ่งว่าเรายังไม่มีความปกติในการปฏิบัติ แต่ถ้าลมหายใจนั้นค่อยๆ ขยายไปขยายไปทีละน้อยๆ แล้วเราก็รู้สึกเป็นธรรมชาติและมีความสบาย นั่นก็คือเราสามารถที่จะปล่อยให้มันเป็นไปได้เองโดยควบคุม แต่การควบคุมนั้นไม่เป็นการควบคุมที่รู้สึกว่าฝืนหรือว่าเกร็งหรือว่าเครียด ลองสังเกตดูกับเสียงการตีระฆังนะคะ
ทีนี้ที่ถามว่าถ้ารู้เพียงแค่ลำคอก็ยังใช้ได้ ตามมันไปเรื่อยๆ แล้วต่อไปก็จะสามารถขยายออกไปได้ทีละนิด
คำถาม: จากการฝึกเฝ้าดูลมหายใจเข้าออกบางช่วงเท่านั้นที่รู้สึกว่าสมองโล่ง ส่วนใหญ่รู้สึกหัวหนักโดยเฉพาะส่วนบน จะแก้ได้อย่างไร
ตอบ: ก็อย่าไปจดจ้องกับการหนักการเกร็งกับมันนัก ปล่อยไปเรื่อยๆ อยู่กับลมหายใจและจะรู้สึกว่ามันสบายยิ่งขึ้น
คำถาม: ถ้าการทำอานาปานสติเอาลมหายใจเป็นสำคัญแล้วเช่นนี้ หมายความว่าถ้าผู้ปฏิบัติมีความผิดปกติทางจมูกเช่นเป็นหวัดมีน้ำมูกหรือจมูกช่องผ่านทางเดินหายใจไม่ปกติคือผิดปกติเช่นเกร็ง จะมีผลต่อการปฏิบัติอย่างไร
ตอบ: ก็มีผลต่อการปฏิบัติด้วยการที่มีคำถามต่างๆ เช่น หนัก แน่น อึดอัด ชา คอตีบ ไม่สบายนี่ค่ะมันมีผลอย่างนี้ เพราะฉะนั้นถึงได้บอกว่าให้พยายามเป็นธรรมชาติเหมือนกับเราอยู่กับตัวของเราเองคนเดียว ไม่ต้องเป็นห่วงไม่ต้องเป็นกังวลถึงใครว่าจะมีใครดูมีใครจับผิด ไม่มีทั้งนั้นนะคะ ทีนี้ถ้าหากว่ามีความผิดปกติทางจมูกหรือเผอิญเป็นหวัดเราก็อาจจะต้องใช้ปากคือหายใจทางปากช่วยไปพลางๆ ก่อน ในการสวดมนต์นอกจากเป็นการระลึก...