แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ใจเย็นๆ ไม่ต้องรีบร้อน ตั้งสติ กำหนดจิตอยู่กับลมหายใจ ตามมันเข้าและออกให้ตลอดสาย ทำอย่างนี้อย่างเดียวเท่านั้น ตามมัน ให้ทุกอย่าง ทุกชนิดให้ตลอดสาย ทั้งเข้าและออก เล่นกับมันให้เต็มที่นะคะ ขั้นที่ 3 นี้แหละ คือตัวการปฏิบัติของหมวดที่ 1 หากจิตหงุดหงิดเพราะเสียง ขับไล่มันไป อย่าให้มันติดค้างอยู่ในใจ หากมีความรู้สึกนึกคิด หรือความจำได้หมายมั่นในอดีตมารบกวน ขับไล่มันไป ไม่เอาสิ่งใดทั้งสิ้นขณะนี้ นอกจากตามลมหายใจทุกชนิดทั้งเข้าและออกให้ตลอดสาย นี้เป็นหน้าที่ในปัจจุบันขณะนี้นะคะ ลองบังคับลมหายใจดูบ้าง บังคับได้ทันทีไหม ต้องการให้เกิด เกิดทันที ไม่ให้เกิดก็หยุดได้ทันที ควบคุมมันได้จนรู้สึกว่า เป็นนายของลมหายใจ ลมหายใจเป็นเพียงเครื่องมือที่จะหยิบใช้เมื่อใดก็ได้ จิตเป็นผู้กำหนด จิตของเรากำหนดว่าเราต้องการใช้ลมหายใจเมื่อใด ไม่ใช่ให้ลมหายใจมากำหนดชีวิตเรา เรากำลังปฏิบัติอยู่ในขั้นที่ 3 นะคะ เรากำลังตามลมหายใจ ทุกอย่าง ทุกชนิด เพื่อรู้จักมันให้ทั่วถึง ยังไม่ต้องรีบทำความสงบ ยังไม่ต้องรีบทำความสงบ จงศึกษาจนช่ำชอง
ต่อไปนี้ให้เราเลื่อนขึ้นไปปฏิบัติในขั้นที่ 4 คือการควบคุมลมหายใจทุกอย่าง ทุกชนิด ให้สงบระงับ จากหยาบให้เป็นละเอียด จากหนักให้เป็นเบา จากแรง ให้เป็นเบา จากเร็วให้เป็นช้า ควบคุมให้สงบระงับ เปลี่ยนจากการตามลมหายใจมาเฝ้าดูที่จุดแถวช่องจมูกที่กำหนดเอาไว้แล้วนั้น เพียงแต่รับรู้ว่าลมหายใจผ่านเข้า รู้ ผ่านออก รู้ ทำอยู่เพียงเท่านั้น ไม่ต้องทำอย่างอื่น กำหนดสติ จดจ่ออยู่ที่จุดที่แน่ใจแล้วว่า ลมหายใจสัมผัส หรือกระทบชัดที่สุด ไม่ต้องตาม รับรู้ที่จุดกระทบเมื่อลมหายใจผ่านออก ผ่านเข้า เท่านั้น ถ้ามันกระทบแรง ก็รู้ว่านี่ลมหายใจยังหยาบอยู่ ก็ใช้ความชำนาญจากการปฏิบัติขั้นที่ 3 ค่อยๆ ผ่อนลมหายใจนั้น ให้เบาลง ช้าลง จนมันค่อยๆ สงบ ระงับ คือละเอียดเข้า ในการปฏิบัติขั้นนี้ ไม่ต้องคำนึงว่าจะเป็นลมหายใจอย่างไหน จุดมุ่งหมายคือพยายามกระทำ ควบคุมลมหายใจให้สงบระงับ เบาบาง ละเอียด จนประณีต แล้วความสงบจะค่อยๆเกิดขึ้นภายใน จะมีการรวมเป็นสมาธิ คือความหนักแน่น มั่นคงขึ้นภายใน ทีละน้อย สิ่งที่ผู้ปฏิบัติพึงกระทำ ก็คือกำหนดจิตจดจ่อ อยู่ที่ตรงจุดที่กำหนดไว้แล้วนั้นด้วยสติ รับรู้ด้วยความรู้สึกทุกครั้งที่ลมหายใจผ่านเข้า ผ่านออก ทำช้าๆ ใจเย็นๆ สบายๆ นะคะ นั่งตัวตรง แต่อย่าให้แข็งขืนหรืออย่าก้ม นั่งตัวตรง แต่ให้สบาย ไม่เครียด ไม่เกร็ง ช้าๆ ใจเย็นๆ ถ้าท่านผู้ปฏิบัติใดยังหาจุดที่กำหนดไม่ได้ ก็จงลองหายใจให้แรงหน่อย เพื่อลมหายใจจะได้เคลื่อนไหวแรง แล้วก็จะได้จับจุดที่กระทบนั้นได้ชัดขึ้น แล้วกำหนดใจให้จดจ่ออยู่ตรงจุดนั้น ให้รู้สึกทุกครั้งที่ลมหายใจผ่านเข้า ผ่านออก อย่าให้ลมหายใจผ่านเข้าออกโดยไม่รู้สึก ไม่รับรู้ นั่นจะเป็นการขาดสตินะคะ การพยายามควบคุมลมหายใจให้สงบระงับก็เพื่อที่จะพัฒนาความสงบที่พร้อมด้วยสติสมาธิให้เกิดภายใน ให้มั่นคงขึ้น หนักแน่นขึ้น จนจิตนั้นนิ่ง สงบ เย็น เบาสบาย ค่อยๆทำ ไม่ต้องหวัง แล้วความสงบจะค่อยๆ เกิดขึ้นเองทีละน้อย