แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
อุบาสิกา คุณรัญจวน: เมื่อคราวที่แล้วได้พูดเรื่องสมาธิภาวนา แล้วนึกดูก็รู้สึกว่าพูด รวบรัดเกินไป เนื่องจากว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะถือว่าเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติธรรม ที่พูดอย่างรวบรัดก็เพราะเห็นว่าเวลาเรามีน้อย เสร็จแล้วไปนึกดู ก็คิดว่าคงจะไม่ชัดเจน ฉะนั้นวันนี้ก็เลยจะทบทวนใหม่ เรื่องของสมาธิภาวนา ก็จะเริ่มต้นว่า การทำสมาธิภาวนาคืออะไร ถ้าพูดง่ายๆ ก็คือ การมาฝึกอบรมจิต เพื่อให้จิตนี้เจริญยิ่งขึ้น หลายท่านอาจจะบอกว่า จิตของเราก็ไม่ได้ป่าเถื่อนอะไรนี่ จิตของเราก็เจริญอยู่แล้ว หลายท่านอาจจะบอกอย่างนี้ แต่ทีนี้ถ้าจะลองนึกดูว่า จิตที่เจริญแล้ว คืออะไรที่เจริญแล้วนี้ มันน่าจะมีลักษณะของความสบาย ความเป็นปกติ ความผ่องใส ก็ลองถามตัวเองว่าจิตของเรามีลักษณะอย่างนั้นตลอดเวลาหรือเปล่า ถ้ามีอยู่ตลอดเวลาก็เรียกได้ว่าเป็นจิตที่เจริญแล้ว แล้วเมื่อมาปฏิบัติสมาธิภาวนาก็จะได้พยายามทำให้มันเจริญยิ่งขึ้นยิ่งขึ้นๆ เพราะว่าถึงจะเจริญเพียงใดก็อาจจะบอกได้ว่ายังไม่ถึงที่สุด ก็ควรจะทำให้เจริญยิ่งขึ้น ฉะนั้นการทำสมาธิภาวนานี้ก็มาฝึกอบรมจิต เพื่อให้จิตนี้เจริญยิ่งขึ้น ก็ตรงกันกับคำที่ท่านเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า จิตตภาวนา จิตตภาวนา ก็คือ การทำจิตให้เจริญ ทีนี้ อาจจะมีคำถามว่า จิตคืออะไร มีคำถามอันนี้อยู่ในใจไหมคะ ว่าจิตคืออะไร เรื่องของจิตนี้ค่ะ ถ้าไม่อยากปวดหัวนะคะ เอาง่ายๆ ในพระพุทธ ศาสนา เมื่อพูดถึงว่าอะไรคืออะไรนี่ ผลที่สุดแล้ว จะลงไปที่สุดที่คำว่าธาตุ เพราะว่าธาตุนี้ จะเป็นสิ่งที่เล็กที่สุด แยกไปออกอีกไม่ได้แล้ว เหมือนอย่างในวิชาวิทยาศาสตร์ ที่เขาบอกทุกอย่างนี่ มันเป็นสิ่งที่เขาใช้คำภาษาอังกฤษว่าเป็น เอลิเมนต์ พอบอกเป็น เอลิเมนต์ ที่เล็กที่สุดนี่มันแยกออกไม่ได้อีกแล้ว
ฉะนั้นถ้าถาม เอาง่ายๆ ไม่ต้องการปวดหัวนะคะ เพราะที่ทางที่พูดอย่างนี้ เรามีคำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องจิตอีกเยอะแยะ กว้างขวาง ชั่วโมงหนึ่งนี่ก็พูดไม่จบ สองชั่วโมงก็พูดไม่จบแล้วก็อาจจะทำให้ผู้ที่ไม่คุ้นเคยเกี่ยวกับเรื่องของทางธรรมะ อาจจะสับสนยิ่งขึ้นก็เลยขอพูดสั้นๆว่าจิตนี่คือธาตุชนิดหนึ่ง ทีนี้ถ้าเป็นธาตุชนิดไหน ก็บอกได้ว่าเป็นวิญญาณธาตุ ที่ท่านบอกว่าชีวิตของเรานี่ก็ประกอบด้วยธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ สี่ธาตุนี้คุ้นเคยแล้วใช่ไหมคะ ร่างกายของเรานี่ประกอบด้วยธาตุดินคือส่วนที่แข่นแข็ง เช่นเป็นเนื้อเป็นกระดูก แล้วก็ธาตุน้ำก็คือสิ่งที่มันไหลวนแล้วก็มีคุณสมบัติพิเศษคือจะช่วยเชื่อมช่วยผสมให้ทุกสิ่งในร่างกายนี่ต่อเนื่องกันได้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม จะมีการเคลื่อนไหวไปมาแล้วก็ธาตุไฟที่จะให้ความร้อน ให้อุณหภูมิซึ่งธาตุทั้งสี่นี่ก็รู้สึกว่า พวกเราส่วนมากคุ้นเคยกับธาตุทั้งสี่ แต่อีกสองธาตุอาจจะคุ้นเคยน้อยนั่นก็คือวิญญาณธาตุ วิญญาณธาตุนี่ก็คือธาตุรู้ ที่ท่านเรียกว่าธาตุรู้ ไม่ได้หมายถึงวิญญาณที่เราเชื่อกันว่าพอตายแล้วก็วิญญาณออกจากร่าง วิญญาณจะไปเกิดที่นั่นที่นี่ไม่ได้หมายอย่างนั้นนะคะ วิญญาณธาตุหมายถึงธาตุรู้ แล้วก็อีกธาตุหนึ่งก็คืออากาศธาตุซึ่งเป็นธาตุว่าง อากาศธาตุนี่ก็ในตัวเรามีอากาศธาตุอยู่ตลอด ยกตัวอย่างที่อาจจะเห็นได้ง่ายๆก็เช่นในช่วงภายในร่างกายช่วงอกช่วงท้องเหล่านี้เป็นต้น คุณหมอคงจะบอกได้ว่ามันมีที่ว่างในท้องคือภายในร่างกายนี่นะคะ ถ้าผ่าซี่โครง ออกไปผ่าข้างหน้าออกไป แบะออก เราก็จะเห็นตับไตไส้พุงหัวใจปอดอะไรอย่างนี่ มันเรียงอยู่ตามลำดับที่ธรรมชาติเขาได้สร้างมาให้ และการที่มันเรียงอยู่แบบนี้อย่างนี้ได้ก็เพราะมีที่ว่างใช่ไหมคะ ถ้าหากว่าในนี้ไม่มีที่ว่างตันไปหมดเลย อวัยวะอวัยวะต่างๆนี้มันก็อยู่ไม่ได้เช่นเดียวกับที่นี่ตรงที่เรานั่งกันอยู่ได้ ก็เพราะตรงนี้เป็นที่ว่างจึงนั่งได้ ถ้าสมมุติว่าตรงนี้เขาทำเป็นที่ตันเป็นแท่งทึบก็ไม่มีที่จะนั่ง ฉะนั้นนี่คือคุณสมบัติของธาตุว่างหรือที่เรียกว่าอากาศธาตุ ในช่องจมูกในช่องหูในช่องปากก็ล้วนแล้วแต่มีอากาศธาตุ คือมีธาตุว่างอยู่ทั้งนั้น นี่ท่านบอกว่าถ้าจะว่าไปแล้วชีวิตมนุษย์ประกอบด้วยธาตุหก ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศธาตุ วิญญาณธาตุก็เป็นหกธาตุ ทีนี้ถ้าถามว่าธาตุจิตเป็นธาตุชนิดไหน จิตก็เป็นวิญญาณธาตุ ซึ่งเป็นนามธรรม เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นนามธรรมเป็นวิญญาณธาตุ จิตทำอะไรได้ หน้าที่ของจิตคืออะไร หน้าที่ของจิตก็คือหน้าที่รู้ ทำหน้าที่รู้ รู้อะไรเช่นรู้สึกได้รู้นึก รู้คิด รู้จำ คือรู้จดจำจนกระทั่งถึงรู้แจ้งถ้าหากได้พัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ทีนี้ตรงนี่ค่ะที่เราน่าจะลองนึกดูว่าเป็นเหตุผลที่ควรจะมาสนใจเกี่ยวกับเรื่องการฝึกอบรมจิตไหม ก็ให้ลองพิจารณาจิตของเราแต่ละคนนะคะ ว่าตามปกติ เวลาจะรู้สึกก็ตามหรือว่ารู้นึกรู้คิดอะไรก็ตามหรือว่ารู้จำจดอะไรก็ตามมรู้สึกไปในทางไหน พอคิดขึ้นมาคิดไปในทางไหน พอนึกพอคิดขึ้นมานึกไปในทางไหนหรือพอรู้สึกขึ้นมารู้สึกไปในทางไหนส่วนใหญ่ ไม่ค่อยดี อันนี้ถูกใช่ไหมคะมันจะรู้สึกไปในทางที่ไม่ค่อยดีมองอะไรก็มักจะเป็นไปในทางลบ
นอกจากนี้พอรู้นึกรู้คิดอะไรเข้า ก็มักจะคิดอะไรไปในทางลบ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับตัวเองแล้วก็เกี่ยวกับคนอื่นหรือเกี่ยวกับสิ่งที่เกี่ยวข้องรู้จักพูดง่ายๆก็คือว่าพอรู้สึกนึกคิดอะไรขึ้นมา ล้วนแล้วแต่ทำให้จิตเป็นทุกข์ หม่นหมองเศร้าหมองมากกว่าชื่นบาน สงบเยือกเย็นผ่องใสใช่หรือไม่ แต่ละวันแต่ละวันน่ะค่ะลองนึกดูเป็นอย่างนี้ใช่หรือไม่ พอจะไปจำอะไรขึ้นมาสักอย่างรื้อฟื้นความจำที่ท่านเรียกว่าสัญญา ถ้าหากว่าดีๆก็จำได้เหมือนกันแหละแต่ว่ามันมักจะไปจำอะไรที่ไม่ค่อยจะดี ที่มันทำให้จิตใจเศร้าหมองขัดเคืองโกรธแค้น หรือบางทีก็สิ้นหวัง ชีวิตนี้มืดมนมักจะไปคิดอะไรอย่างนั้นไปจำสิ่งอย่างนั้นไปนึกอย่างนั้น คิดอะไรแล้วมันนำความทุกข์มาสู่จิตมากกว่าที่จะนำให้เกิด ความสุขความผ่องใสความชื่นบานใช่ไหม ลองนึกดู แต่ละวันแต่ละวันเป็นอย่างนี้ใช่ไหม เขาบอกว่าผู้ที่อายุมากแล้ว ก็จะนึกอะไรก็จะนึกไปอยู่ในอดีต เพราะว่าอนาคตไม่ค่อยนึกแล้ว เคยได้อ่านหนังสือของฝรั่งเขาแต่งเป็นหนังสือที่ได้รับรางวัลเขาบอกว่า คือที่ติดใจก็เพราะว่าในเรื่องนี้คนที่เป็นนางเอกอายุ 60 ส่วนตัวประกอบนี่ก็ตั้งแต่ 60 ขึ้นไป 70 80 แล้วทุกๆคน ตอนเย็นก็จะมีเก้าอี้โยกคนละตัวนั่งอยู่ที่ระเบียงบ้านโยกไปโยกมาแล้วก็คุยกันสนทนากันถึงความหลังที่ผ่านมาแล้ว อนาคตไม่ค่อยคุย เป็นอย่างนั้นใช่หรือเปล่าไม่ทราบ ก็เพราะอะไรเพราะมีความรู้สึกว่าอนาคตที่กำลังจะก้าวไปนี่ มองดูมันสั้นเข้าสั้นเข้านี่สำหรับคนแก่นะคะ ตัวเองก็แก่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็รู้ว่ามองไปแล้วมันสั้นมันไม่เหมือนคนอายุน้อย คนที่อายุวัยหนุ่มวัยสาวหรือวัยฉกรรจ์เขามองอะไรเขาก็เห็นแต่ข้างหน้า เพราะว่าข้างหลังของเขามันสั้นกว่าของคนแก่ แต่คนแก่นี่ข้างหลังยาวกว่าเพราะฉะนั้นก็จะมองอยู่แต่ที่ผ่านพ้นมาแล้วคือในอดีต ทีนี้ในอดีตนั่นน่ะ ถ้าเผื่อมีใครที่นั่งคุยกันอยู่สามสี่คนเป็นคนที่มองโลกในแง่ดีมองแต่ในความแจ่มใสก็อาจจะช่วยฟื้นกันฟื้นใจกันใจใครที่กำลังฟุบกำลังตกก็จะช่วยดึงให้จิต นั้นขึ้นมาเรียกว่าช่วยกันมองในสิ่งที่เป็นแง่ดี ฉะนั้นอันนี้ค่ะ ก็ลองคิดดูว่าการที่มนุษย์เราเกิดมาชาติหนึ่งแล้วก็ปล่อยให้จิตนั้น ต้องตกจมอยู่ในสิ่งที่เป็นทุกข์อย่างนี้ มันสมควรไหม มันคุ้มค่าไหม สมควรคุ้มค่าแล้วหรือยังแก่การที่เราจะมีชีวิตอยู่ไปวันหนึ่งวันหนึ่งทำมาหากินก็เหน็ดเหนื่อย เล่าเรียนศึกษามาก็เหน็ดเหนื่อย เพราะฉะนั้นก็ควรจะมีสิทธิ์ที่จะได้รับความสุขบ้าง และความสุขนี้อยู่ที่ไหน ก็อยู่กับสิ่งที่เรียกว่าจิตที่มันรู้สึกได้มันนึกได้มันคิดได้ มันจดจำอะไรต่ออะไรต่างๆได้ ทีนี้ทำไมมันไม่จดจำอะไรที่ดีที่งาม ทำไมไม่คิดนึกอะไรที่สร้างสรรค์ ไม่รู้สึกอะไรที่เป็นไปในทางบวกทำไมมันไม่เป็นอย่างนั้น เพราะอะไร ก็คงทราบเพราะอะไร เพราะอะไรที่เป็นอย่างนั้น ก็เพราะตกเป็นธาตุของอะไรล่ะคะ ก็ตกเป็นธาตุของอะไร ก็ที่ไม่คิดอย่างนั้น ไปคิดอะไร คิดโลภบ้าง คิด โกรธบ้าง คิดหลงบ้าง คิดอยู่อย่างนี้คิดโลภคิดโกรธคิดหลง คิดวนเวียนอยู่นี่ เพราะฉะนั้นพอคิดวนเวียนพอคิดโลภใจนิ่งไหมคะ ไม่นิ่งแล้วดิ้นรนไขว่คว้าต้องการเอาให้ได้ โลภน้อยโลภมากโลภไปเรื่อยๆตามลำดับตามกำลัง โกรธก็เช่นเดียวกันหลงก็เช่นเดียวกันมองไม่เห็นหนทางมันมืดมิดไปหมด เพราะฉะนั้นก็เรียกว่าตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกิเลส ตัณหาอุปาทานที่เราคุ้นเคยมาตั้งแต่ รู้ความ จะว่าแต่อ้อนแต่ออกก็มากเกินไป ก็พูดว่าตั้งแต่รู้ความ เราไปตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกิเลสตัณหาอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนคือในตัวฉัน เพราะยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตนในตัวฉัน ฉันก็จะมีแต่จะเอา ตามใจฉันอยู่ตลอดเวลา
เพราะฉะนั้นอันนี้ค่ะ ก็รู้สึกว่าเป็นหน้าที่ของคนทุกคน ที่ควรจะได้มาช่วยกันฝึกฝนแล้วก็อบรมจิตหรือว่าถอนจิตออกมาเสียจากการเป็นทาสของกิเลส และก็ของตัณหาและก็ของอุปาทาน แต่ว่ากว่าจะถอนออกมาได้นี่ ถ้าหากว่าไม่เห็นโทษทุกข์ของมันอย่างสาหัสสากัน ยากนักที่จะหันเข้ามาหา ต้องสาหัสสากัน เพราะฉะนั้นส่วนส่วนมากคนหนุ่มๆ สาวๆ คนที่อยู่ในวัยฉกรรจ์ไม่ค่อยสนใจที่จะเข้ามาหาธรรมะ เพราะยังรู้สึกว่าสนุกกับชีวิต แต่ความสนุกนั่นน่ะเป็นความสนุกที่ไม่รู้ว่าบางทีกำลังเล่นกับไฟ หรือ เหมือนกับตัวแมลงที่มันติดเข้าไปในใยของแมงมุมน่ะ เจ้าแมงมุมนี่ อยู่ตรงกลางพอแมลงอะไรผ่านเข้ามา แล้วก็ใยของมันกระเพื่อมเท่านั้นน่ะ ก็จะวิ่งจากตรงกลางมาจับตัวแมลงตัวนั้นกิน แล้วมันก็กลับไปอยู่ตรงกลางอีกคอยจ้องบางทีไม่รู้ นี่มันเหมือนกับความหลงที่ไม่เข้าใจ จนกระทั่งเมื่อใด พบความทุกข์อย่างชนิดที่ว่าทนไม่ได้ก็อาจจะตัดสินเอาง่ายๆ ด้วยการทำอะไร หนีจากโลกนี้ แล้วไปไหน เขาไม่รู้ว่าไปไหน ไม่รู้ รู้แต่ว่าเอาล่ะฉันอยู่ไม่ได้ฉันก็จะไปล่ะ แต่ไปไหนก็ไม่รู้ ยิ่งน่าสงสารแล้วก็ยิ่งน่าเห็นใจมากยิ่งขึ้นหรือเปล่านะคะ เพราะฉะนั้นก็น่าจะคิดดูว่าจำเป็นที่จะต้องฝึกอบรมจิตเพื่อให้มีระเบียบมีวินัย สามารถควบคุมจิตได้ อย่ายอมให้ตกเป็นอัมเป็นทาสของความโลภให้มากนักหรือความโกรธหรือความหลงหรือความอยากที่เรียกว่าตัณหาอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นให้มากนัก จึงควรที่จะได้มีการฝึกอบรมจิต ให้พ้นจากการเป็นทาสหรือเป็นเหยื่อจะได้เป็นจิตที่เป็นอิสระแล้วก็จะได้พบความสุขความสบายพ้นจากความเป็นจิตป่าเถื่อนก็เป็นจิตที่เจริญ นี่ก็เป็นคำอธิบาย ง่ายๆว่าการฝึกอบรมจิตนั้น เพื่ออะไร และทำไมจึงควรฝึกอบรมจิต ถ้าหากว่ามีคำถามนะคะหรือมีความรู้สึกว่ายังไม่ชัดเจน ถามได้นะคะ ว่าการฝึกอบรมจิตนี่จะฝึกอบรมทำไม ทั้งๆ ที่จิตนี่มองไม่เห็น หยิบจับต้องไม่ได้ เพราะมันเป็นนามธรรม ถ้าไม่มี ก็ลองพูดกันต่อไปถึงเรื่องการฝึกอบรมจิต หรือการปฏิบัติสมาธิภาวนาก็มีหลายวิธี อย่างที่ท่านกล่าวเอาไว้ว่ามีตั้งสี่สิบวิธี แต่เราไม่พูดหรอก ว่ามันมีวิธีอะไรบ้าง ในที่นี้ก็จะขอเสนอวิธีของอานาปานสติภาวนา อย่างที่เคยพูดแล้วคราวก่อนนี้ อานาปานสติภาวนาก็คือ วิธีของการภาวนาที่ใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนด เพราะในการปฏิบัติสมาธิภาวนา จะต้องมีอะไรสักอย่างหนึ่งเป็นเครื่องกำหนด กำหนดกับอะไรกำหนดกับจิตคือผูกจิต ผูกจิตเอาไว้ให้ได้ จิตที่มองไม่เห็นนี่ มันดิ้นรนได้ ทั้งๆที่มองไม่เห็น เคยรู้สึกถึงสภาพของความดิ้นรนของจิตบ้างไหมคะ เคยรู้สึกไหมคะ
ผู้ร่วมสนทนา: รู้
อุบาสิกา คุณรัญจวน: รู้เป็นไง มันไม่อยู่มันไปโน่นไปนี่ คือมันไม่อยู่นิ่งอยู่กับที่ ตัวนั่งอยู่ตรงนี้แต่จิตไปได้ทั่วโลก หรือเป็นยังไง ปรุงแต่งฟุ้งซ่าน ซึ่งไปด้วยอะไร ก็ไปด้วย การปรุงแต่งฟุ้งซ่านนี่แหละใช่ไหมคะ ตัวก็นั่งอยู่ตรงนี้แต่ว่าคิดไปทั่ว ไปเมืองนอกเมืองนา หรือว่าไปอดีตหรือว่าไปสวรรค์ไปนรกหรือว่าไปเรื่องเก่าๆอะไรต่ออะไรต่างๆ เพราะฉะนั้นนี่คือความดิ้นรนของจิต นอกจากว่ามันจะดิ้นรนด้วยวิธีนี้แล้ว มันดิ้นรนด้วยยังไงอีก เคยสังเกตไหมคะ เคยรู้สึกว่าจิตถูกกระแทกบ้างไหมเคยไหมคะ เคยรู้สึกจิตถูกกระแทกบ้างไหม ไม่มีเลย ไม่เคยรู้สึกจิตถูกกระแทก ไม่ทราบว่าเป็นยังไงอาจจะถูกแต่ไม่ทราบว่าเป็นยังไง เคยถ้างั้นคนที่ไม่ทราบว่าเป็นยังไงหมายความว่าจิตนี่ราบเรียบอยู่ตลอดเวลาอย่างงั้นหรือเปล่าค่ะ ที่ใช้คำว่าถูกกระแทกก็เพราะว่าถ้าธรรมดานี่มันควรจะนิ่งสงบ ราบเรียบ ปกติแล้วจะสบาย แต่บางทีเรารู้สึกเหมือนกับมันอะไรมากระแทก กระแทกที่ข้างใน ก็ไม่ใช่ตรงปอดตรงตับตรงหัวใจ แต่มันกระแทกลงมา มันมีแรงเหวี่ยงอย่างแรงเลยเข้ามากระแทกแล้วในขณะนั้นน่ะเรารู้สึกยังไงรู้สึกเป็นทุกข์หรือเป็นสุข ทุกข์คำถาม ง่ายๆคือเป็นทุกข์ เป็นทุกข์เป็นทุกข์แสนสาหัสเลย มันไม่สบายเลยมันรู้สึกว่ามันถูกกระทำอย่างที่อาจารย์ว่านั่นน่ะ และการถูกกระทำนี่จะเกิดจากเหตุปัจจัยอะไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่จะต้องไปศึกษาดู อาจจะไม่ใช่เพราะเหตุปัจจัยข้างนอกเสมอไปก็ได้ อาจจะเป็นเหตุปัจจัยข้างใน เรานี่แหละ กระทำของเราเอง แต่เราไม่รู้สึกตัวอย่างเช่นเราปล่อยให้เราตกเป็นทาสของกิเลสตัณหาอุปาทานมานาน จนเป็นอนุสัย พอมันมีเหตุปัจจัยอะไรขึ้นมาหน่อย กระทบเข้ามันก็จะยอมให้จิตถูกเหวี่ยงอย่างแรง เพราะฉะนั้นอาการที่จิตถูกเหวี่ยง อย่างแรงอย่างนี่ก็แสดงถึงจิตที่ เรียกว่าเป็นความทุกข์ มีความทุกข์ และมันก็ดิ้นรนและมันก็ต่อสู้ มันไม่อยู่เฉยหรอกใช่ไหมคะ ดิ้นรนต่อสู้ด้วยประการต่างๆ
แต่ทีนี้ถ้าไม่เคยฝึกปฏิบัติสมาธิภาวนา การดิ้นรนต่อสู้นั้นก็จะเป็นการดิ้นรนต่อสู้ในลักษณะที่ว่าเอากิเลสมาสู้กิเลส ใช่เปล่าคะ เอากิเลสมาสู้กิเลส เอาความโกรธมาสู้ความโกรธอย่างที่เราเห็นชัดๆอย่างที่เขาเบียดเบียนกัน เขาทำร้ายกัน เขาฆ่าฟันกันนี่แหละ มาสู้กันเอากิเลสมาสู้กิเลส เมื่อเอากิเลสมาสู้กิเลส เหมือนกับเอาน้ำโสโครกมาสาดกันมันก็ยิ่งเป็นไง ก็ยิ่งสกปรก ถ้าเปรียบเหมือนเป็นน้ำโสโครกก็ยิ่งสกปรกยิ่งเหม็น ถ้าเอากิเลสต่อกิเลสมาสาดกันเข้ามาสู้กันมันก็ยิ่งร้อนไม่มีวันหรอกที่จะเย็นลงไปได้ เพราะฉะนั้นจิตมันดิ้นรนลักษณะความดิ้นรนของจิตอย่างนี้ที่เราเปรียบว่าเป็นจิตป่าเถื่อน เพราะมันไม่ได้รับการฝึกอบรมเหมือนม้าเถื่อนเหมือนลิงเถื่อน ช้างเถื่อน อาลัยเถื่อนทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายที่จับมาจากป่าถ้าเป็นลิงเถื่อนที่เขาได้มาจากป่า เขาก็ผูกมันกับเสา เขาจะเอาเสานี่ไปปักเข้าตรงกลางลานบ้าน เสานั้นอาจจะไม่ใหญ่นักเพราะว่าลิงตัวมันไม่ใหญ่เกินไป ถ้าเป็นช้างนี่ เขาก็เอาเสาปักเหมือนกันแต่ต้องเป็นเสาตะลง เสาตะลงคือเสาใหญ่หนาแล้วก็เชือกที่จะเอามาผูกนั่นน่ะต้องเป็นเชือกที่เขาฟั่นด้วยหนังเพื่อที่จะไม่ให้ช้างมันดึงให้หลุดไปให้ได้ง่ายๆ และการฝึกช้างก็ต้องมีวิธีการหลายอย่าง แต่ฝึกได้ไหมคะ จะเป็นช้างเป็นม้าเป็นวัวเป็นควายเป็นลิงแม้แต่งูฝึกได้ไหม เขาก็ฝึกได้ก็เอามาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ลิงนี่มาเล่นละครก็ได้ มาขึ้นมะพร้าวก็ได้ แล้วก็ยังมาแสดงอะไรอะไรให้คนดูได้ ช้างก็เหมือนกันเป็นฝึกจนกระทั่งเป็นช้างศึกของพระราชาที่จะออกไปชนช้างอย่างเสด็จพระนเรศวรทรงชนช้างชนะ นั่นก็เพราะช้างนั้นได้รับการฝึกแล้ว เช่นเดียวกับจิตเมื่อจะฝึกจิตก็จำเป็นจะต้องมีอะไรมาเป็นเครื่องผูกจิต จิตที่ชอบดิ้นรนผูกมันให้อยู่นิ่ง เช่นเดียวกับช้างที่เวลาที่เขาจะฝึกช้างเพื่อให้เป็นช้างศึกของพระราชา เขาฝึกด้วยการเอาโล่แหลนนี่พูดถึงโบราณนะคะไม่ใช่สมัยปัจจุบัน เอากลองทุกอย่างมาตีให้มันดังให้มันรู้สึกตกใจจนไม่ตกใจ เอาโล่เอาแหลนเอาหอกมาทิ่มมาแทงมันจนเจ็บจนกระทั่งมันไม่เจ็บ แล้วเจ้าช้างนี่ ตอนแรกเขาจะฝึกให้มันนั่งให้มันยอมรับคนขึ้นหลัง แล้วก็ปล่อยคนลงมาจากหลังโดยสวัสดิภาพ จนกระทั่ง ถึงตอนสุดท้ายเขาจะฝึกให้มันอยู่นิ่ง อยู่นิ่งเหมือนกับหนึ่งว่าอยู่ในสนามรบ ตอนนี้บรรดาข้าศึกก็จะพุ่งหอกพุ่งแหละพุ่งหลาวอะไรต่ออะไรมาสู่ช้าง แต่แน่นอนล่ะเขาก็ต้องหาอะไรที่มาครอบงวงช้างเพราะเป็นจุดอ่อนของช้างที่ช้างจะเจ็บเพื่อว่าถูกอาวุธก็ไม่ให้เจ็บ
ตอนนี้บรรดาผู้ที่มาฝึกช้างทั้งหลายก็จะพยายามที่จะกระทำทุกอย่างที่ให้ช้างเจ็บปวดที่สุด ให้ตื่นตระหนกที่สุดต่อเสียงกลองเสียงอะไรจนมันไม่กระดิกเลยยืนนิ่ง หูก็ไม่กระดิกแม้แต่หางก็ไม่กระดิก เมื่อใดที่ช้างฝึกได้ถึงขนาดนี้เขาก็จะบอกว่าพร้อมแล้วที่จะเป็นช้างศึกของพระราชาแล้วก็ออกสงครามได้ นี่นึกดูนะนึกลองวาดภาพว่าการฝึกช้างอย่างนั้นน่ะน่าหนักเหน็ดเหนื่อยแล้วก็น่ากลัวแค่ไหน ซึ่งช้างนั่นเป็นตัวใหญ่แล้วก็มันมองเห็นทีนี้ จิตมองไม่เห็น แล้วจะต้องฝึกนี่ลองจินตนาการดูสิคะว่ามันจะต้องใช้ความพากเพียรบากบั่นอดทนมากน้อยแค่ไหน จะต้องใช้เวลาสักตลอดชีวิตจะเพียงพอไหมแก่การฝึกจิต เพราะฉะนั้นไม่ใช่ของง่าย อย่าคิดว่าการฝึกจิตนี่ง่าย เพราะเหตุว่าไม่เห็นมีอะไรเลยก็เพราะไม่เห็นมีอะไรนี่แหละมันจึงยาก ถ้าเห็นแล้วมันจะง่ายกว่า อย่างที่เขาเล่ากันถึงเรื่องของเซนพระสังฆราช องค์แรกของเซน เซนก็เป็นพุทธศาสนาแขนงหนึ่งนะคะ แต่ว่าเป็นวิธีการสอนอย่างชนิดรวบรัดฉับพลันไม่จะมานั่งอธิบายอะไรกันยืดยาวแล้วก็มาฝึกอย่างยืดยาวอย่างที่เราทำกันในเถรวาทนี่เขาไม่ทำหรอก ก็พูดถึงท่านพระโพธิธรรมซึ่งท่านเป็นพระสังฆราชองค์แรก ท่านก็เรียนพุทธศาสนามาจากจีน จากอินเดียแล้วท่านก็มาที่เมืองจีนก็ตั้งใจจะมาเผยแผ่จะมา สั่งสอนธรรมะแก่บรรดาเพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย แต่หลังจากที่ได้ทดลองแล้วก็รู้สึกว่าไม่ได้ผล คือคนที่จะสนใจจริงๆ มีน้อยเหลือเกิน ท่านก็เลยไม่เอาว่างั้นเถอะ ไม่ยุ่งหรอกกับคนทั้งหลาย แล้วก็เข้าไปนั่งอยู่ที่ถ้ำคือหันหน้าเข้าถ้ำตลอดเวลาเข้าผนังถ้ำ ที่ทำอย่างนี้ก็คือท่านนั่งสมาธิของท่าน นั่งสมาธิขั้นสูงสุดจนเข้าสมาบัติหรือจนอะไรก็สุดแล้วแต่ แต่สรุปก็คือว่าท่านมีมติของท่านตอนนั้นว่าท่านจะไม่เกี่ยวข้องกับใคร นั่งหันหลังออกข้างนอกหันหน้าเข้าถ้ำ แต่ก็มีบุคคลหนึ่งได้ทราบถึงเกียรติคุณของท่าน ประสบการณ์ความรู้ทุกอย่างก็อยากจะขอเป็นลูกศิษย์ อุตส่าห์ติดตามถามว่าท่านโพธิธรรมอยู่ที่ไหน พอทราบว่าท่านไปนั่ง หันหน้าเข้าถ้ำอยู่ที่ตรงนั้นตรงนั้นก็ติดตามไป ไปถึงก็พยายามที่จะพูดกับท่าน ขอให้ท่านพูดด้วย ก็ขอร้องด้วยนานาประการท่านก็เฉยไม่หันมองไม่สะดุ้งไม่สะเทือนเหมือนกับไม่มีใครอยู่ตรงนั้น บุคคลนั้นก็ยิ่งอยากที่จะขอเป็นลูกศิษย์ขอให้ท่านช่วยสอนสักหน่อยเถอะ พูดด้วยสักหน่อยเถอะท่านก็เฉย ผลที่สุดก็เลยตัดแขนของตัวเองแล้วก็ชูขึ้นเพื่อเป็นเครื่องแสดงว่า นี่นะตัดแขนจนเลือดไหลขนาดนี้เพื่ออะไร เพื่อขอให้ท่านพูดด้วยสักหน่อย ขอให้ท่านสอนสักหน่อย แสดงถึงความตั้งใจอย่างแรงกล้ายอมเสียเลือดเนื้อของตัวเอง ท่านพระโพธิธรรมก็คงจะเห็นใจ ท่านก็ถามว่าต้องการอะไร ผู้นั้นก็ตอบว่า ช่วยชำระจิตให้ผมหน่อย ท่านโพธิธรรมก็บอกว่าเอามาซิจิต ไหนจิตนะ ส่งมาจะชำระให้ ก็นึกออกนะ บุคคลนั้นก็มองตัวเองนี่ตลอดทั้งตัว จิตมันอยู่ตรงไหนจิตนี่มันอยู่ตรงไหนจะหยิบตรงไหนไปยื่นให้ท่าน ผลที่สุดก็ตอบว่าไม่มี หาไม่พบว่าจิตอยู่ตรงไหน ท่านโพธิธรรมท่านก็ตอบว่า ไม่มีมันก็ล้างเสร็จแล้วสิ ทำเสร็จแล้วนี่เป็นวิธีของเซนนะคะ ของเราพูดอย่างนี้สักล้านครั้งก็ไม่เกิดผล แต่นี่พอได้ยินเท่านั้นน่ะพอบอกว่าไม่มีมันก็ล้างเสร็จแล้ว เท่านั้นแหละบุคคลนั้นบรรลุธรรม
บรรลุธรรมเพราะอะไรเพราะจริงๆ แล้วจิตนี้หาได้มีไม่ แต่มันมีขึ้นมาเพราะยึดมั่นถือมั่น ว่านี่เป็นจิตของฉันเป็นจิตของเรา เราคิดอย่างนี้เรานึกอย่างนี้เราจำได้อย่างนี้เรารู้สึกได้อย่างนี้ แล้วจะว่าไม่มีได้ยังไงเคยเถียงเขาเปล่าคะ ทำนองนี้เคยเถียงเขาไหม ก็ฉันรู้สึกอย่างนี้นี่นะแล้วจะว่าไม่ใช่ได้ยังไงนี่ผลที่สุด บุคคลนี้ก็เลยบรรลุไปเลย เพราะพบ แล้วว่าความจริงแล้วหาได้มีไม่ มันมีขึ้นมาเพราะมันยึดมั่นถือมั่น ในความเป็นตัวตนนั้นเอง พอมีตัวตนอัตตานี้ขึ้นมาอะไรอะไรมันก็เป็นฉันเป็นของฉันทั้งหมด ฉะนั้น ที่เล่าเรื่องนี้ให้ฟังก็เพื่อแสดงถึงว่าการที่จะฝึกอบรมจิตไม่ใช่ของง่ายเป็นของยากอย่างแสนเข็ญนะคะ ถ้าหากว่ามันง่ายละก็องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ต้องทรงใช้เวลาถึง 6 ปีที่จะฝึกอบรมจิตของพระองค์ท่าน ให้เป็นจิตที่พร้อมด้วยปัญญาคือรู้รอบอย่างทั่วถึงไม่มีสิ่งใดที่พระองค์จะไม่รู้รอบเลย ทั้งๆที่พระองค์ได้สร้างสมปัญญาบารมีต่างๆมามากมายก่ายกองแล้ว แต่ก็ยังต้องทรงใช้เวลาถึง 6 ปีที่อยู่ในป่านั้น กว่าที่จะพบว่าแท้จริงแล้ว ทุกอย่างนี่มันไม่มีอะไรให้เรายึดมั่นถือมั่นนอกจากจิตของเราไปยึด เราเองนี่เป็นตัวฉัน นี่เป็นของฉัน พอนี่เป็นตัวฉัน นี่เป็นของฉัน เรื่องยาวหรือเรื่องสั้นนะยาวและเรื่องของชีวิตนี้ยาวๆๆยาวต่อไม่มีจบ และในระหว่างที่มันยาวๆนั่นน่ะมันนำอะไรมาให้แก่ชีวิตนำความทุกข์มาให้กับชีวิตแล้วก็จะจบลงด้วย ความทุกข์อีกเหมือนกันถ้าหากว่าไม่สนใจที่จะฝึกอบรมจิตนั้นจริงจริง
เพราะฉะนั้นก็จึงต้องมีอะไรมาเป็นเครื่องผูกจิต จิตที่มันดิ้นอยู่ตลอดเวลาผูกให้มันนิ่งนิ่งเพื่ออะไร อันแรกนิ่ง เพื่อให้มันรู้สึกสงบ ที่มันดิ้นอยู่นะคะ ให้มันรู้สึกสงบ นี่ถ้าพูดถึงที่เขาฝึกสัตว์อพอสงบแล้วให้มันรู้จักฟัง สัตว์จะเป็นลิงเป็นช้างเป็นอะไรให้รู้จักฟัง อย่างช้าง พอเขาเอาตัวมาในปราณที่ชำนาญเนี่ยเขาจะพูดกับช้างอย่างอ่อนโยนไพเราะ พูดเพราะทีเดียวช้างนี่มันเป็นช้างป่ามันคงจะไม่ค่อยได้ยินสำเนียงอะไรที่ไพเราะอย่างนี้ ช้างในควาญช้างเขาจะพูดด้วยไพเราะมันก็เงี่ยหูฟัง สำเนียงนี้ไพเราะอ่อนโยนดีคงจะเป็นอย่างงั้นนะนี่เราพลาดกันเองนะมันก็นิ่งแล้วก็ฟัง แล้วควาญช้างเขาก็จะเอาอาหารที่น่ากินเช่นอ้อยสดๆหรือว่าจะเป็นหญ้าจะเป็นอะไรก็หาของที่มันน่ากิน ช้างก็ได้ยินทั้งคำพูดที่ไพเราะ แล้วก็ได้อาหารที่ถูกปากถูกใจเพราะฉะนั้นก็เริ่มเชื่องขึ้น เช่นเดียวกันกับจิตก็ต้องผูกให้มันนิ่ง พอผูกให้มันนิ่งแล้วตอนนี้ มันก็จะได้รู้จักที่จะ ฝึกอบรมจิตเองตามวิธีการที่ได้รับการสอน หรือได้รับการบอกว่าควรจะทำอย่างไรจิตนี้จึงจะเป็นจิตที่เป็นอิสระ แล้วก็เป็นจิตที่มีความเข้มแข็งมั่นคงเป็นจิตที่สะอาดบริสุทธิ์มากขึ้นซึ่งก็จะมีวิธีการต่างๆ ในที่นี้ก็ขอเสนออานาปานสติภาวนา ที่เรียกว่าใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนด พูดง่ายๆก็คือใช้ลมหายใจเนี่ยเป็นเชือกสำหรับผูกจิต ก็คือเอาจิตนี่จดจ่ออยู่กับลมหายใจตลอดเวลา ไม่ให้ไปไหนจดจ่ออยู่กับลมหายใจให้ตลอดเวลา ถ้าหากว่าสามารถจดจ่ออยู่กับลมหายใจได้ตลอดเวลาไม่ไปไหน มันจะคิด วุ่นวายฟุ้งซ่านได้ไหม ก็คิดไม่ได้เพราะมันอยู่กับลมหายใจตลอดเวลามันจะคิดวุ่นวายฟุ้งซ่านไม่ได้ มันจะคิดร้อนคิดหนาวคิดบวกคิดลบคิดชอบคิดไม่ชอบคิดเอาคิดไม่เอาโลภโกรธหลงเข้ามาได้ไหม ในช่วงนั้นเข้าไม่ได้เลย ในขณะนั้นเข้าไม่ได้เลยเพราะฉะนั้น จึงขอให้ลองใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนดวิธีของอานาปานสติภาวนานี้ที่บอกว่าใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนดเเพราะว่าเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ง่าย ทำไมถึงว่าได้ง่ายก็เพราะว่าเราหายใจอยู่ตลอดเวลาใช่มั้ยคะ เราหายใจอยู่ตลอดเวลา
แต่ถ้าจะมีคำถามว่า ก็หายใจอยู่แล้ว แล้วทำไมถึงจะต้องมากำหนดอีกล่ะ ก็ขอย้อนถามว่า ขณะที่หายใจอยู่ ทราบไหม ว่ากำลังหายใจเข้า หรือหายใจออก เดี๋ยวนี้ บอกเดี๋ยวนี้ ปัจจุบันขณะ ปัจจุบันทันที บอกได้ไหม นี่กำลังหายใจเข้า หรือ กำลังหายใจออก บอกไม่ได้ เพราะอะไร เพราะไม่เคยจดจ่อดูมัน มันพรุดเข้าพรุดออก พรุดเข้าพรุดออก ท่านก็เรียกว่า ยังหายใจอยู่ แต่ว่าหายใจอย่างผู้ไม่มีสติ เพราะฉะนั้น ในขณะที่หายใจอยู่ จึงเป็นโอกาสให้มนุษย์เรา ที่ปล่อยใจให้เป็นเหยื่อของกิเลส ตัณหา อุปาทาน ทำอะไรต่ออะไร ที่ทำแล้วเสียใจทีหลังเยอะแยะบ่อยๆ ใช่ไหมคะ ในชีวิตที่ผ่านมา ทั้งผู้ใหญ่ทั้งเด็กทำอะไรแล้วก็เสียใจทีหลัง ก็เพราะในขณะที่ทำนั้นน่ะเรียกว่าขาดสติเพราะสตินั้นไม่ได้จดจ่อไม่ได้ผูกอยู่กับอะไรที่จะเป็นเครื่องยับยั้งใจได้เลย ฉะนั้นการที่จะใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนดนี้ ก็เรียกว่าสะดวกมากเพราะเราหายใจอยู่แล้วตลอดเวลา จะไม่จำเป็นเลยที่จะต้องจำกัดสถานที่ จะต้องไปหาสถานที่หามุมเหมาะๆ ก็ไม่จำเป็นจะนั่งรถนั่งเรือหรือว่าจะเดินทางหรือแม้แต่ขณะที่กำลังทำงานกำลังเรียหนังสือพอวางปากกาเพราะพักเหนื่อย วางปากกาพักเหนื่อยสักสองนาทีสามนาทีเอนหลังพิงพนักเก้าอี้ให้ตัวตรง หายใจยาวสบายๆลึกเข้า ผ่อนคลายไหมคะ ผ่อนคลายแล้วนี่เรียกว่าการใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนด ผ่อนคลายสบายขึ้นพอสบายก็มีแรง ก็กลับไปทำงานทำการใหม่เพราะฉะนั้นการใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนดมันสะดวกที่ว่าผู้นั้นสามารถจะทำสมาธิภาวนาได้ทุกเวลาทุกขณะ ที่ไหนที่ไหนก็ได้สะดวกมากแล้วก็ถ้าหากฝึกทำเสมอเสมอจนติดต่อกันเป็นนิสัยไม่ช้าหรอกจิตนั้นก็จะเป็นจิตที่มีพร้อมทั้งสติและสมาธิโดยไม่รู้ตัว เพราะว่าฝึกอยู่บ่อยๆมันก็เลยจะได้รับโดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นการฝึกด้วยอานาปานสติภาวนาจึงสะดวกอย่างที่ว่า นอก จากนั้นผู้ปฏิบัติก็สามารถที่จะได้รับความสุข ทันตาเห็น ไม่ต้องไปหวังว่าชาติหน้าชาตินี้ ถ้าสามารถรู้จักเรื่องของลมหายใจที่เรามีอยู่ทุกวันทุกวันได้อย่างทั่วถึง รู้จักลักษณะอาการของลมหายใจรู้จักคุณประโยชน์ของมันรู้จักว่าลมหายใจอย่างไหนไม่มีประโยชน์กับชีวิตเราเลย เราจะไม่เอามันเข้ามายุ่ง นี่ถ้าเรารู้จักมันอยู่ทุกอย่างเราจะรู้จักใช้มันให้เกิดประโยชน์ได้ เพราะฉะนั้นในอานาปานสตินี้ก็เรียกว่าเป็นการปฏิบัติอย่างที่ได้ยินกันว่าสติปัฏฐานที่บอกว่าการมาปฏิบัติสมาธิภาวนา ปฏิบัติอะไร ปฏิบัติสติปัฏฐาน
สติปัฏฐานนี่คืออะไรก็คือหมายความว่าให้มีสติ ให้มีสติเป็นประธานด้วยการกำหนดสตินี่เอง มีสติเป็นประธานของการประพฤติปฏิบัติ ด้วยการกำหนดสตินี่พิจารณาสิ่งทั้งหลายสิ่งทั้งหลายที่เกี่ยวข้องให้รู้เห็นเท่าทันตามความเป็นจริงของมัน หรือถ้าพูดให้เป็นคำศัพท์ไปอีกหน่อยสติปัฏฐานก็คือธรรมที่เป็นที่ตั้งแห่งสติ เราจะฝึกปฏิบัติเพื่อให้ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสติ ธรรมที่เป็นที่ตั้งแห่งสติก็มีสี่อย่าง กายที่เรียกว่าหมวดกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนา รู้สึก เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน แล้วก็จิตคือจิตที่มองไม่เห็นนี่ แต่ก็ต้องมาฝึกปฏิบัติที่ตัวจิตที่มองไม่เห็นเป็นหมวดที่สามเรียกว่าจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และหมวดที่สี่ก็คือธรรมเอาธรรมะทั้งหลาย ที่เป็นสัจธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงค้นคว้าแล้วก็นำมาสั่งสอนมาพิจารณาให้เห็นชัดเจนด้วยจิตที่พร้อมแล้วทั้งสติสมาธิก็จะได้พัฒนาเพื่อให้เกิดปัญญาให้มากขึ้น เพราะฉะนั้นการปฏิบัติด้วยอานาปานสติภาวนาก็เรียกว่า เป็นการปฏิบัติที่ทั้งสะดวกทั้งง่ายได้ทุกโอกาสแล้วก็เป็นการปฏิบัติสมาธิภาวนาที่ประณีต ประณีตต่ออารมณ์ ถ้าจะเปรียบกับการพิจารณาอสุภ อสุภกรรมฐาน จะทำให้ตกใจได้ จะทำให้กลัวได้เพราะว่าจะต้องพิจารณากับตัวศพต้องมีศพเป็นวัตถุมาดู ถ้าหากจะพิจารณาด้วยการคิดนึกก็ได้เหมือนกันแต่มันจะไม่จะแจ้งแล้วก็ชัดเจน เท่ากับการที่จะพิจารณาที่ตัวอสุภนั้น นอกจากนี้แล้วการปฏิบัติด้วยอานาปานสติภาวนานี้ก็จะปฏิบัติได้ตั้งแต่การฝึกสติ พัฒนาสมาธิ แล้วก็ตลอดจนกระทั่งถึงปัญญา ปัญญาอย่างธรรมดาธรรมดา จนถึงปัญญาสูงสุด และในขณะที่ฝึกปฏิบัติไม่ต้องเปลี่ยนวิธีการเลย ไม่ต้องเปลี่ยนทฤษฎี แต่จะดำเนินไปได้เรื่อย ตั้งแต่เบื้องต่ำจนกระทั่งถึงเบื้องสูงก็ได้อธิบายไว้คราวก่อนแล้วว่าหมวดของอานาปานสติภาวนานี้ก็มีสี่หมวด อย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ โดยหมวดที่หนึ่งที่เรียกว่าหมวดกายนี่ เป็นหมวดที่ผู้ปฏิบัติจะต้องทำความรู้จักศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของลมหายใจ ให้รู้จักลมหายใจทุก อย่างทุกชนิด ว่าที่เราหายใจอยู่น่ะมีลมหายใจอะไรบ้างให้รู้จักมันทุกอย่างทุกชนิด ทุกท่านก็จะต้องบอกว่ารู้จักแล้วลมหายใจนี่หายใจมาตั้งแต่เกิด แต่พอเอาจริงๆเข้าลองดูซิว่ามันจะมีลมหายใจสักกี่อย่างกี่ชนิด
ท่านจึงแบ่งออกเป็นหมวดละสี่ขั้น ขั้นที่หนึ่ง กำหนดว่าตามลมหายใจยาว นี่ของหมวดที่หนึ่งนะคะ ขั้นที่สองตามลมหายใจสั้น เฉพาะลมหายใจสั้น ขั้นที่สามตามลมหายใจทั้งสั้นและยาวเพื่อให้รู้จักลมหายใจนี้อย่างทั่วถึงเรียกว่าชำนิชำนาญ พอหายใจออกมา จะบอกตัวเองได้ทันทีโดยไม่ต้องบอก แต่มันรู้ทันทีว่านี่คือลมหายใจยาว ยาวอย่างไหน ยาวอย่างลึก ยาวอย่างแรง ยาวอย่างเบา ยาวอย่างธรรมดาธรรมดา หรือนี่เป็นลมหายใจสั้น สั้นอย่างไหน จะสามารถ บอกได้ทันที และจะรู้จักผลที่มันเกิดขึ้น คือประโยชน์ที่มันจะให้กับกาย หรือไม่เป็นประโยชน์ ท่านเรียกว่า ในหมวดกายนี่ ให้รู้จักว่า มีกายสองอย่างนะ อย่างหนึ่งคือกายเนื้อ คืออันนี้ กายเนื้อ รูปร่างของเราเป็นกายเนื้อ ที่จับต้องได้ อันที่สอง คือกายลม กายลมคือลมหายใจ ทีนี้แม้ว่าลมหายใจจะไม่มีตัวตน แต่ว่าลมหายใจมีความเคลื่อนไหวได้ใช่ไหมคะ เราสามารถที่จะรู้ลมหายใจได้ โดยสัมผัสกับควาเคลื่อนไหว ของมันที่มันเคลื่อนเข้ามาในร่างกาย หายใจเข้าเคลื่อนออกไปหายใจออก เพราะฉะนั้นก็ให้รู้ว่าหนึ่งมีกายเนื้อสองมีกายลม กายลมมีความสำคัญอย่างไรทำให้มีชีวิตอยู่ตราบเท่าที่ยังหายใจได้ แต่ที่มีคือกายเนื้อกายเนื้อจะสบาย ก็ขึ้นอยู่กับกายลมหายใจว่า หายใจมาในลักษณะไหนกายเนื้อจะรู้สึกเหมือนกับว่ามันอึดอัด มันไม่เย็นก็ขึ้นอยู่กับลมหายใจอีกเหมือนกันลองฝึกดูแล้วก็จะรู้ เพราะฉะนั้น ท่านถือว่าหมวดที่หนึ่งนี่คือหมวดกายเป็นพื้นฐานที่สำคัญ ถ้าผู้ปฏิบัติท่านใดฝึกปฏิบัติสมาธิภาวนาด้วยอานาปานสติ แล้วก็ฝึกหมวดที่หนึ่งอย่างช่ำชองชำนิชำนาญ ถ้าฟังดูไม่เห็นจะต้องนานนะคะ แต่ที่ท่านฝึกกันจริงๆนี่เป็นปีๆ เพื่อที่จะ ให้ชำนาญในการที่รู้จักลมหายใจแล้วก็รู้จักใช้มันได้อย่างทันท่วงทีแล้วก็ยังเกิดประโยชน์ แต่เรา ไม่มีเวลาอย่างนั้นเราจะมีเวลาก็เพียงแต่รู้ว่าวิธีทำ ทำยังไงแล้วก็เป็นหน้าที่ของทุกท่านจะต้องไปฝึกเอาเอง ทีนี้ก็ลองดูนะคะ ตามขั้นที่หนึ่ง ตามลมหายใจยาว ทีนี้วิธีตามตามยังไง การตามก็คือว่าลมหายใจมันเข้าที่ช่องจมูกใช่ไหม เวลาเข้ามันเข้าทางช่องจมูก เพราะฉะนั้นกำหนดสติ กำหนด สติให้จดจ่ออยู่ตรงช่องจมูกเรียกว่าคอยรับคอยต้อนรับลมหายใจที่จะเข้ามาสู่ตัวของเรา เข้าสู่ภายในจดจ่อคอยรับ ทีนี้พอลมหายใจเข้า ผ่านเข้ามาทางช่องจมูกเท่านั้นน่ะ กำหนดสติตาม ตามลมหายใจที่มันเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ มันจะเคลื่อนไหวไปถึงไหนที่เรียกว่ามันไปหยุดมันสุดตรงไหน ให้ชัด เอาให้แม่นๆๆ แล้วเสร็จแล้วรีบตามมันออก ส่งมันออกไปพ้นจมูกเรา แล้วประเดี๋ยวมันก็จะกลับเข้ามาใหม่ มันไม่ได้กลับเข้ามาทันทีนะคะ ถ้าสังเกต ประเดี๋ยวมันก็จะกลับเข้ามาใหม่ ก็รับมันอีก เข้าแล้วก็ออก ลมหายใจยาว ถ้าจะเอาให้เห็นชัดๆ ลองหายใจแรงๆๆ ลึก เพราะอะไร เพราะหายใจแรงลึกแล้วล่ะก็ การเคลื่อนไหวของมันหยาบ เรียกว่าเป็นลมหายใจหยาบ เมื่อมันหยาบ เราจะจับๆด้ง่าย คือตามได้ง่าย ตามเข้าได้ง่าย ตามออกได้ง่าย ให้หายใจยาวลึก ลองหายใจนะคะ เต็มที่ สังเกตนะคะของใครยาวลึกถึงไหนบางคนยาวจนถึงสะดือ กำถ้าถึงสะดือ จะสังเกตว่าอะไรๆที่ขัดอยู่ข้างใน มันจะถูกไล่ออก เพราะฉะนั้นในตอนแรกให้ลองหายใจยาวลึก ว่าของใครได้แค่ไหน ขอให้หนังตัวตรง เพื่อให้ลมหายใจได้ไหลผ่านไปมาได้คล่องสะดวก ถ้าหากว่านั่งตัวโค้งไปข้างหน้าหรือแอ่นไปข้างหลัง จะไม่สะดวกไม่สบาย ถ้านั่งกับพื้นก็นั่งขัดสมาธิ ถ้านั่งเก้าอี้ก็นั่งตัวตรง มือก็วางอยู่บนตัก จะขวาทับซ้ายก็ได้ แต่ให้มีความสำรวม สงบ ไม่ฟุ่งซ่าน ไม่นึกว่าจะเป็นยังไงนะ จะทำได้หรือเปล่า ไม่ต้องกังวล เริ่มหายใจยาวลึก 5 ครั้ง ทำตัวสบายๆๆ 5 แล้วยังค่ะ พอจะบอกตัวเองได้ไหมว่า มันยาวไม่ถึงไหน ถ้าไม่ถึงสะดือแสดงว่ายังไม่ลึกจริง ถ้าลึกจริง จะรู้สึกโล่งไปหมดเลย ที่นี้ยาวลึกสำหรับบางคนอาจจะรู้สึกไม่สบายนัก เพราะรู้สึกเหมือนต้องออกแรงมาก ก็ลองเอายาวธรรมดาไม่ต้องบังคับให้ลึก อย่างที่เคยหายใจอยู่ ลองดูอีกสัก 5 ครั้ง เปรียบเทียบกับลมหายใจยาวลึก ว่ามีผลต่อกายต่างกันยังไง สบายๆ 5 ครั้งแล้วยังค่ะ แล้วลองเปรียบเทียบว่ามีผลต่อกายเนื้อเหมือนหรือต่างกันอย่างไร มีผลต่างกัน ยาวลึก รู้สึกโล่ง แต่ต้องออกแรงเยอะ เพราะฉะนั้นยาวลึกนี้ทำมากๆ ก็ไม่ไหว จะทำให้เหนื่อย แต่เราจะใช้เมื่อรู้สึกไม่สบาย มีอะไรขัดอยู่ข้างใน อึดอัด เป็นลมหายใจยาวลึก ถ้าเราจะจะลมหายใจยาวลึกอย่างสบายๆๆ โดยไม่ไปกระแทกมันแรงๆก็ได้ เราไม่ต้องขยับอะไร หน้าอกก็ไม่ต้องยกขึ้น หายใจเฉยๆๆ ลองทำได้ไหมค่ะ ถ้าทำได้จะรู้สึกว่ายาวลึกอย่างอ่อนโยน มีความประณีตมากขึ้น มีผลทำให้กายเนื้อสบายขึ้น มันจะค่อยๆไล่อะไรที่ขัดออกไปอย่างอ่อนโยน แต่แน่ละจิตเราต้องอ่อนโยนด้วย แต่ถ้าจิตเรารู้สึกวุ่นวาย ขัดเคือง เราต้องใช้ยาวลึกอย่างหยาบ แต่ถ้าแรงกายสบายๆๆ เราก็ใช้ยาวลึกอย่างสบายๆๆ อย่างนี้แหละ เขาเรียกว่ากายลม มันปรุงแต่งกายเนื้อ ที่เรามาศึกษาเพื่อใช้ลมหายใจมาปรุงแต่งกายเนื้อของเรา หายสบาย ให้ผ่อนคลาย หรือแก้การติดเหตุติดขัด ที่นี้เราก็ได้ ลองกำหนดลมหายใจตามปกติธรรมดาของแต่ละท่าน กำหนดลมหายใจที่เข้ามาในจมูกจนเข้ามาถึงร่างกายว่ายาวแค่ไหน ลมหายใจธรรมดาของเรา ยาวถึงอกไหม หรือว่ายาวกว่า หรือว่าไม่ถึง ให้ลองสังเกตุของแต่ละท่าน สังเกตได้ไหมค่ะว่าถ้าสั้นเกินไป ก็ไม่สบาย เราก็ค่อยๆ ผ่อนลมหายใจสั้นให้มันยาวขยายออกไป จะสังเกตุว่าลมหายใจที่ขยายยาวออกไปช่วยปรุ่งแต่งกายเนื้อให้สบายขึ้น กำหนดจดจ่อ เพ่งตรงนั้น ตรงที่มันหยุด จะใช้คำว่ามันสุดสายของลมหายใจเข้า กำหนดยาวลึกหนักยาวลึกเบายาว สบายสบายแล้วก็ยาวตามธรรมชาติของแต่ละคน แล้วก็โปรดสังเกต ว่าแต่ละอย่างนี่ ลมหายใจยาวแต่ละอย่างนี้ปรุงแต่งกายอย่างไร และรู้สึกว่าเราเองเราพอใจลมหายใจอย่างไหนมากที่สุดที่มันปรุงแต่งกายนะคะ เราพอใจลมหายใจอย่างไหนมากที่สุดลองดูสักสองนาทีตามลมหายใจยาวนั่งตัวตรงทำใจสบายก่อนยิ้มหย่อนแจ่มใส หลับตาก็ได้ไม่หลับตาก็ได้ไม่หลับตาก็ได้ ได้ครบไหมคะ ได้ทดลองได้ครบไหมคะ ถ้าครบก็ดีค่ะ
ทีนี้ขั้นที่สองตามลมหายใจสั้น ลองหายใจสั้นดูสิคะคือลองหายใจสั้นดูแต่ละท่านว่าสั้นของเราแค่ไหน เมื่อเปรียบเทียบกับลมหายใจยาวสบายไหม หายใจยาวสบายกว่า ทีนี้ลมหายใจสั้นนี่ มันอาจจะสั้นยังไงได้บ้างมีกี่อย่าง ลองนึกสิคะลมหายใจสั้นมีกี่อย่าง สั้นยังไง สั้นมีกี่อย่าง สั้นหนัก สั้นเบา สั้นธรรมดาธรรมดาไม่เป็นที่สังเกต หรือว่าสั้น อย่างนี้ก็สั้น แต่แน่นอนไม่มีใครอยากหายใจอย่างนี้ เพราะแสดงถึงว่าถ้าหายใจอย่างนี้ปรุงแต่งกายเป็นยังไงคะ เหนื่อยกาย เหนื่อยแล้วก็เป็นสัญญาณว่านี่ต้องตกใจอะไรสักอย่าง หรือไม่ก็โกรธอะไรมากๆเลยถึงได้หายใจถี่ๆๆอย่างนี้ เห็นไหมนี่ความหมายของกายลมมันมีนะ ถ้าหากว่าผู้ปฏิบัติสังเกต เพราะฉะนั้นตอนนี้ขอให้แต่ละท่าน ลองหายใจสั้นหนักแล้วดูซิว่าระยะของมันอยู่แค่นั้น แล้วก็ให้หายใจสั้นเบา คิดว่าแค่สองอย่างพอ จับได้หรือยังคะ แล้วก็รู้สึกว่าจะพอจะพอใจลมหายใจสั้นไหม แต่บางคนนะคะอาจจะมีลมหายใจสั้นเป็นปกติ ถ้าหากว่าใครมีลมหายใจสั้นเป็นปกติควรแก้ไขไหม ควรแก้ไขแล้วก็ควรปรับปรุงได้ เพื่อขยายให้เป็นลมหายใจยาวที่มีความสบายขึ้น
ทีนี้ก็จะ จะลองต่อไปขั้นที่ 3 เลยนะคะ ขั้นที่ 3 นี่หมายความว่าหายใจทั้งยาวและทั้งสั้นสลับกันไปตามใจเลย ไม่ต้องกำหนดว่าเฉพาะสั้นหรือเฉพาะยาวสลับกันไปเพื่ออะไรเพื่อจะทดลองดูว่าชำนาญพอไหม ชำนาญที่จะรู้จักลมหายใจสั้นแล้วก็ลมหายใจยาวทุกชนิด พร้อมทั้งรู้ว่ามันปรุงแต่งกายอย่างไร ลมหายใจ กายลมแต่ละอย่างมันปรุงแต่งกายเนื้ออย่างไร ฉะนั้นตอนนี้ทำได้ทั้งสองอย่างตามไปเรื่อย ทั้งสองอย่าง ใช้เวลาสักสองนาที สับสนไหมคะ รู้สึกสับสนไหม สับสนกับลมหายใจไหม แล้วก็รู้สึกว่าเร่งรีบไหมคือในขณะที่จะสับเปลี่ยนเป็น ยาวสั้น เป็นยาวบ้าง เป็นสั้นบ้าง หรือว่าสั้นหนักบ้าง ยาวลึกบ้าง คือสลับกันไปเรื่อยๆ สับสนไหมคะ แล้วเร่งรีบไหมคะ ถ้าไม่สับสนล่ะก็ดี ถ้าไม่สับสนก็แสดงว่าจะมีความชำนาญขึ้นเพราะความประสงค์ของขั้นที่สามก็เพื่อที่จะให้ผู้ปฏิบัติมีความชำนาญในการรู้จักลมหายใจแต่ละอย่างให้ชัดเจน แล้วก็รู้จักว่าลมหายใจแต่ละอย่างนั้นมันปรุงแต่งกายเนื้ออย่างไร และประโยชน์ที่สามก็คือว่าเราจะใช้ลมหายใจอย่างไหน เพื่อประโยชน์อะไรเมื่อไหร่ และประโยชน์ขั้นต่อต่อไปก็คือว่าแล้วเราควรจะเลือกใช้ลมหายใจอย่างไหน ให้เป็นลมหายใจในยามปกติ เพื่ออะไรเพื่อให้กายเนื้อมีความผ่อนคลายมีความสบายอยู่ตลอดเวลา นี่คือจุดประสงค์ ในหมวดที่สาม แล้วก็จุดประสงค์ในขั้นที่หนึ่งทำไมถึงต้องตามลมหายใจยาวนานๆ ก็เพื่อจะได้รู้จักแยกแยะลมหายใจยาว ที่จริงถ้าลองฝึกไปเองนะคะ จะพบลมหายใจยาวมากชนิดกว่านี้เช่นเดียวกับลมหายใจสั้นก็จะพบมากชนิดกว่านี้ และในขั้นที่สามเก็ต้องฝึกให้ชำนาญเรียกว่าให้รอบรู้เหมือนกับว่าลมหายใจเป็นอาวุธคู่มือของเรา ที่เราจะเอามาปรุงแต่งกายเนื้อของเราให้สุขสบายให้มีความสงบเย็นจะเลือกใช้อย่างไหนฉะนั้น ในการปฏิบัติขั้นที่หนึ่งขั้นที่สองขั้นที่สามไม่ได้หวังจะให้ผู้ปฏิบัติสงบ คือผู้ปฏิบัติบางคนที่ปฏิบัติอานาปานสติจะมาถามว่าไม่เห็นสงบในขั้นที่หนึ่งสองสาม ก็ถูกแล้วเพราะเราไม่ได้ตั้งใจให้สงบจึงให้ตามตามเข้าตามออกตลอดเวลา ทำไมจึงให้ใจจดจ่อตามตั้งแต่เข้าจนสุดสายแล้วก็รีบตามออก เพราะอะไรก็เพื่อว่าให้จิตนี้มีงานทำตลอด ถ้าหากว่ามาเริ่มปฏิบัติทีแรก ลมหายใจก็มองไม่เห็นด้วย ก็แน่นอนล่ะ ก็จะนึกแต่ว่าเราหายใจ เราหายใจ แล้วจิตก็ลอยไปไหนก็ไม่ทราบ ฉะนั้นจึงมีข้อกำหนดว่าต้องตามจดจ่อติดต่ออยู่กับลมหายใจ เรียกว่าเคียงคู่เป็นฝาแฝดกันตลอดเลยท่านผู้ใดรู้สึกว่า พอลมหายใจออกแล้วมันสั้นเหลือเกิน ใครรู้สึกอย่างนี้บ้าง มีไหมคะ ไม่มีก็ดี ถ้ามีนั่นก็หมายความว่า ผู้นั้นพอลมหายใจเข้าสุด และตามไม่ทัน ปล่อยให้มันพรวดออกไป เพราะว่าได้รับคำถามบ่อยๆ ว่าทำไมลมหายใจออก จึงสั้นกว่าลมหายใจเข้า ความจริงไม่สั้น ยาวกว่ากัน ต้องเท่ากัน เข้าแค่ไหน ก็ออกแค่นั้น แต่มันจะเกิดสั้นกับพระผู้ปฏิบัติเอง ตามไม่ทัน คือมันเผลอ พอหายใจเข้าพอสุด สุดซะแล้ว มันรีบออกไปแล้ว มันไม่คอยเรา เพราะฉะนั้นอย่างที่เคยแนะนำไว้ว่าเคล็ดก็คือว่าอึด ไว้ซักนิดนึง พอหายใจเข้านะคะสุด อึด อย่าเพิ่งปล่อยมันออก แล้วค่อยๆตามออกทีละน้อย อย่างนี้เราก็จะไม่ค่อยพลาด แล้วพอต่อไปพอชำนาญแล้วก็ไม่ต้องอึดนะ มันเป็นไปเองตามธรรมชาติ หรือโดยอัตโนมัติ ฉะนั้นขั้นที่หนึ่ง สอง สาม ไม่ได้ตั้งใจให้ผู้ปฏิบัติสงบ แต่ตั้งใจ ให้ศึกษาเรียนรู้ จนรู้จักลมหายใจทุกอย่างทุกชนิดชัดเจนแจ่มแจ้งจนสามารถมาใช้มันได้ ฉะนั้นสามขั้นนี้ทำไปเถอะตลอดเวลา จะอยู่ที่ไหนก็ทำได้ ถ้าเราทำอยู่ได้ตลอดเวลา เราก็จะชำนิชำนาญคล่องแคล่วแล้วจึงจะขึ้นไปขั้นที่สี่ ซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายของบทที่หนึ่ง
ขั้นที่สี่ก็คือ จุดมุ่งหมายเพื่อทำลมหายใจให้สงบระงับ กายลมทั้งหลายที่เราหายใจ เดี๋ยวยาวเดี๋ยวสั้น แล้วก็ยาวอย่างนั้นสั้นอย่างนี้ ตอนนี้แหละเป็นหน้าที่ทำให้สงบ แล้วก็จิตจะสงบ จะเป็นสมาธิ ที่ขั้นที่สี่นี่แหละค่ะ ทีนี้จะทำลมหายใจให้สงบก็เปลี่ยนจากการตามเข้าแล้วก็ตามออกมาเป็นเฝ้าดู เฝ้าดูที่ช่องจมูก อย่างที่อาจารย์ประจิตถามเฝ้าดูขั้นที่สี่เพื่ออะไรจึงให้เฝ้าดู ก็เพราะคิดว่าผู้ปฏิบัติมีความชำนาญพอแล้วในการที่ได้รู้จักลมหายใจชนิดต่างๆอย่างดีแล้วจากการปฏิบัติขั้นหนึ่งสองสามนั่นอย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งก็เพื่อให้ผู้ปฏิบัติมีงานทำน้อยลง ไม่ต้องตามไปตลอดสายซึ่งจะทำให้จิตมันผูกอยู่เรื่อย ตอนนี้เอาแต่เพียงเฝ้าดูที่ช่องจมูกทีนี้การเฝ้าดูทำอย่างไร ก็ให้เลือกเอานะคะ สังเกตเอา ลองหายใจแรงๆเข้า แล้วสังเกตว่าเวลาที่เราหายใจเข้า ลมหายใจ แตะหรือสัมผัสที่ตรงช่องจมูกตรงจุดไหนชัดที่สุด บางคนอาจจะช่องซ้าย บางคนอาจจะช่องขวา บางคนอาจจะริมริมตรงไหนก็ได้แต่กำหนดว่าชัดที่สุด เพราะมันเข้ามาหลายและมันแตะชัดเหลือเกิน นี่แหละเรากำหนดสติอยู่ตรงจุดนั้น ทีนี้พอลมหายใจเข้าก็กำหนดจิตให้รู้ว่าผ่านเข้า รู้เพราะอะไรไม่ใช่รู้พระคิดนะคะแต่รู้เพราะว่ามันแตะมันแตะตอนเข้า แล้วพอมันออกก็รู้ว่ามันออกเพราะมันแตะตอนออก นี่เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าจิตไม่หนีไปไหนงั้นเฝ้าดูอยู่ตรงนี้เท่านั้น ทีนี้วิธีที่จะทำลมหายใจให้สงบระงับ พอมองเห็นมั้ยว่าจะทำยังไง จากที่ผ่านมาแล้วขั้นหนึ่งสองสามจะทำยังไง ก็ทราบแล้วใช่มั้ยคะว่าลมหายใจนั้นหยาบก็มี ละเอียดก็มี คืออะไรที่เป็นหนักๆเช่นยาว ยาวลึกแรง ยาวลึกหนักหรือว่ายาวแรงหรือว่าสั้น อย่างนี้มันเป็นลมหายใจหยาบสั้นหนักอย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นลมหายใจที่หยาบนี่ มันก็จะปรุงแต่งกายให้เป็นไง กายนี้จะเย็นสบายไหม กายจะผ่อนคลายไหม กายจะสงบระงับไหมถ้าอารมณ์หายใจหยาบ ไม่ใช่ไหม ลมหายใจหยาบมันก็จะปรุงแต่งกายให้หยาบ คือไม่สงบระงับไม่ผ่อนคลาย บางทีอาจจะอึดอัดรำคาญเพราะฉะนั้นเมื่อมาถึงขั้นที่สี่ซึ่งจุดประสงค์เพื่อที่จะทำลมหายใจให้สงบระงับจึงควรใช้ลมหายใจอย่างไร ควรใช้ลมหายใจอย่างไรที่ละเอียด ที่เบาแต่ก็แน่ล่ะตอนที่เริ่มทำทีแรกมันยังไม่ละเอียดไม่เบาหายใจเข้าอาจจะแรง ไม่ว่าจะเป็นยาวเป็นสั้นก็ตามตอนนี้ไม่กำหนดแล้วนะคะจะเป็นยาวเป็นสั้นไม่สำคัญ สำคัญที่ว่าจับให้ได้ว่ามันเข้าแล้วก็จับให้ได้ว่ามันออกนี่อย่างหนึ่ง แล้วอันที่สองก็คือจับให้ได้ว่ากายลมอันนี้มันหยาบ หรือมันละเอียด ถ้ามันหยาบ เราจะต้องค่อยๆ ปรับนะ ปรับจากลมหายใจหยาบแรง ให้เป็นลมหายใจที่ละเอียด คือเบา แล้วก็ประณีต พูดอย่างนี้เข้าใจไหมคะ แล้วก็นึกถึงลมหายใจที่เบาและประณีตที่ละเอียดได้ไหม ผู้ที่ปฏิบัติสมาธิมาแล้วคงเข้าใจ อย่างที่เวลานั่งสมาธิไปนี่ ลมมันค่อยๆ เบาลงละเอียดลงจนกระทั่งเหมือนกับหายไป เคยพบไหมคะ ท่านที่เคยปฏิบัติสมาธิมาแล้ว แล้วบางทีก็เลยรู้สึกเหมือนกับว่า ลมจะไม่มี เดี๋ยวจะขาดใจตาย เลยรีบออกจากสมาธิก็มีบางคน คิดว่าลมมันจะหาย แต่ความจริงลมไม่หาย ถ้าสติเราอยู่นะ ถ้าเรามีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่หาย แต่เผอิญเราสามารถทำ ปรับลมหายใจที่มันหยาบ ให้มันละเอียดเข้าละเอียดเข้าประณีตเข้า มันก็เลยเหมือนกับว่าจะไม่มีลมหายใจแต่จะสังเกตได้ว่าจิตภายในนั้นจะสงบยิ่งขึ้นยิ่งขึ้นยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นขั้นที่สี่ก็จะเฝ้า ดูละเฝ้าดูลมหายใจ ให้รู้ทั้งเข้าและออกที่จุดที่มันแตะที่เราเลือกแล้ว แล้วก็ให้ลมหายใจนั้นค่อยๆสงบระงับลงคือละเอียดเข้าประณีตเข้า จนกระทั่งรู้สึกว่าจิตสงบเย็นสบายผ่อนคลาย ถ้าผู้ใดทำได้อย่างนี้ก็เรียกว่าทำความสำเร็จในขั้นที่สี่ ลองดูนะคะ สักหนึ่งนาที ดูจะสงบดี แต่ไม่ทราบว่าได้รู้ลมหายใจทุกลมหายใจที่เข้าและออกหรือเปล่าอันนี้ล่ะเป็นจุดล่ะค่ะ จุดสำคัญของอานาปานสติรู้ไหม หรือว่านั่งสบาย ก็นั่งสมาธิสบายนะคะ คือผู้ที่เคยนั่งสมาธิมาแล้วก็ไม่ยากหรอกค่ะมาถึงขั้นนี้ง่าย แต่ถ้าว่าถ้าจะเป็นอานาปานสติแล้วก็ในตอนแรกต้องรู้ รู้ว่ามันเข้า แตะ รู้ว่ามันออก แตะ ถ้าหากว่าเรารู้เข้ารู้ออกมันที่จุดแตะทุกครั้ง รับรองว่าจิตไม่ฟุ้งไปไหนจิตจะต้องอยู่นิ่งแล้วก็เงียบ ยกเว้นว่า เข้าออกเข้าออกก็นั่งไปเรื่อยๆแล้วก็บอกทำไมจิตฉันไม่อยู่ ทำไมฉันนั่งสมาธิไม่ได้ นี่ล่ะ แต่ที่เขาบอกว่าให้รู้จุดที่แตะเพื่ออะไร เพื่อเป็นเครื่องสังเกตแล้วก็ช่วยฉุดจิต ที่จะวิ่งวุ่นไปไหนให้กลับมาอยู่ที่ กลับมาอยู่ที่เพราะงั้นจิตประสงค์อยู่ตรงนี้ และถ้าหากว่าผู้ใดทำได้ จริงๆ ต่อไปพอชำนาญเข้าก็ไม่ต้องมาคอยรู้หรอกค่ะมันก็โดยอัตโนมัติ มันจะรู้เอง รู้เองโดยอัตโนมัติ และจิตนั้นก็จะค่อยๆ สงบเย็นเข้าแล้วก็ถ้าหากว่าผู้ใดที่สนใจในเรื่องฌาน ขั้นที่สี่นี่ เป็นขั้นที่ ขั้นที่สี่ของอานาปานสติเป็นขั้นที่จะปฏิบัติไปได้ จนกระทั่งถึง เป็นฌาน จะเป็นฌาน ๑ ๒ ๓ ๔ ปฏิบัติไปได้ แต่ก็แน่นะคะ จะต้องใช้เวลานาน นานเท่าไหร่ก็ แล้วแต่ความพากเพียรพยายาม ความสม่ำเสมอของการปฏิบัติ แล้วก็มีวิธีที่เขาจะบอกว่า ถ้าสนใจเรื่องฌาน เราจะต้องทำยังไง จะต้องสร้างภาพนิมิตอะไรขึ้นมา จะต้องทำยังไงถึงจะให้ ควบคุม เป็นการทดสอบว่าสามารถควบคุมจิตได้ ที่จะให้เข้าไปอยู่ใน ลักษณะของความสงบนิ่งลึกนั่นได้อย่างไร
แต่อันนี้เป็นทฤษฎีของวิธีการปฏิบัติ บทที่ ๑ หนึ่ง ตามลมหายใจ ยาว สอง ตามลมหายใจ สั้น สาม ตามลมหายใจ ทั้งยาวและสั้น โดยให้รู้ให้แน่ว่ากายลมปรุงแต่งกายเนื้ออย่างไรมีประโยชน์อย่างไร จะปรับใช้มันอย่างไรในกรณีใด ที่จะให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิต ประโยชน์ก็คือให้เย็นสบายนั่นเอง แล้วก็ขั้นที่สี่ควบคุมลมหายใจให้สงบระงับจนกระทั่งเป็นสมาธิ แต่สมาธิตื้นลึกแค่ไหนก็สุดแต่ความสามารถของผู้ปฏิบัติที่จะพากเพียรกระทำไปมีคำถามไหมคะถ้ามีก็เชิญได้ ถ้าจิตของเราอยู่ข้างในอยู่กับลมหายใจแล้วแล้วก็มันจะไม่กวนนี่เป็นเครื่องทดสอบล่ะ ถ้าสมมุติว่านั่นก็รู้นี่ก็รู้มันเข้ามากวนหมด แสดงว่าจิตของเรายังไม่อยู่กับลมหายใจ นี่เป็นเครื่องทดสอบ แล้วก็ถ้าสมมุติว่าเราจะฝึกในทุกขณะ ก็เอาแค่หายใจยาวนี่แหละค่ะหายใจยาวเพื่อให้สบายและก็ผ่อนคลายในทุกโอกาส ไม่ว่าจะทำอะไรแล้วพอมีเวลาที่เราจะฝึกจริงจริง ตั้งใจจะฝึกจริงจริง อย่างเป็นกิจจลักษณะตอนนี้ก็กำหนดเวลาไป นี่จะเอาสิบนาที ก็ลองทดสอบแล้วก็ ควรจะต้องเริ่มต้นตั้งแต่ขั้นที่หนึ่งเสมอไป อย่าไปเริ่มต้นขั้นที่สี่ ถ้าเป็นผู้ฝึกใหม่นะ สำหรับอานาปานสติสูตรนี่แล้วก็ต้องเริ่มต้นไปตามลำดับ ขั้นที่หนึ่งเสมอไปทีนี้พอเราชำนาญขั้นที่หนึ่ง เราก็ไม่ต้องมาก ไม่ต้องใช้เวลามากเหมือนอย่างตอนแรกแรกก็ต่อไปขั้นที่หนึ่งขั้นที่สองพอสมควรขั้นที่สามให้นานหน่อยเพื่อให้เกิดความช่ำชองแล้วพอขั้นที่สี่นี่แหละฝึกจะทำสมาธิไปเถอะ มีคำถามไหมคะ ก็ยังไม่สนุกหรอกนะคะเพราะว่า มันเพิ่งเริ่มแรก ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะสนใจในวิธีนี้ไหม แต่ในวิธีนี้นั้นจะไปได้ตลอดจนกระทั่ง ถึงที่สุดแห่งการปฏิบัติ