แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ธรรมสวัสดีค่ะ เราได้พูดกันถึงเรื่องความเห็นแก่ตัวมาหลายครั้งแล้วนะคะ ได้มีการนำไปใคร่ครวญนึกถึงเรื่องนี้ว่ายังไงหรือเปล่าคะ
ผู้ดำเนินรายการ: ได้ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ได้อะไร ได้แง่คิดได้มุมคิดอะไรขึ้นมา เกี่ยวกับเรื่องความเห็นแก่ตัว
ผู้ดำเนินรายการ : ที่ยังติดอยู่ก็คือว่า ความสำคัญมั่นหมายว่าเรามีตัวมีตนของเรา ทำให้เราไม่สามารถสลัดความเห็นแก่ตัวของเราออกไปได้ เวลาใคร่ครวญดูจะพบว่า ความมั่นหมายเรื่องความมีตัวมีตนของเราเป็นเรื่องที่ติดอยู่ในใจ ทำให้เรายากที่จะสลัดความเห็นแก่ตัว
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ยากที่จะสลัดความเห็นแก่ตัว แต่ในขณะเดียวกันมีความรู้สึกบ้างไหมว่าความเห็นแก่ตัวนี่เป็นต้นเหตุทำให้จิตใจไม่สบายเลย มีแต่ความทุกข์ ยอมรับแล้วนึกอยากสลัด
ผู้ดำเนินรายการ: เรานึกอยากสลัดแหละครับ นี่ไปใคร่ครวญดู พยายามที่จะลดความสำคัญมั่นหมาย ความมีตัวตนของเราลง แล้วจะลดความเห็นแก่ตัวได้
อุบาสิกา คุณรัญจวน: แล้วคิดว่า วิธีที่จะสลัดนี่เราจะดูมันที่ตรงไหน เราถึงจะรู้ว่าความเห็นแก่ตัวเกิดขึ้น แล้วจะต้องเตรียมการสลัด เราจะไปดูที่ตรงไหน
ผู้ดำเนินรายการ: ดูที่จิตของเราว่า เรากำลังคิดอะไรอยู่
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็ดูที่จิตนะคะ ทีนี้ก็อาจจะมีข้อเสนอแนะเพื่อที่จะดูให้ชัดขึ้น คราวก่อนนั้นเราเคยพูดกันถึงว่า ความเห็นแก่ตัวนี่ถ้าเราจะดูที่ “ลักษณะ” ของมัน มันก็จะมีลักษณะที่แสดงออกได้ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งก็ออกมาข้างนอก คือจะอาละวาดออกมาทางวาจาทางกาย คือการกระทำที่มองเห็น อันนี้ก็เป็นที่รู้กันและก็เห็นได้ชัด กับอีกอย่างหนึ่งถ้าเราดูจิตจริงที่เราได้พยายาม เราก็จะมองเห็นลักษณะของความเห็นแก่ตัวมันทำให้เกิดความวิตกกังวล ความกลุ้มกลัด ความไม่แน่ใจ ความหมองมัวอะไรต่างๆอยู่ในใจ แล้วบางทีเราก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร นั่นแหละมันเป็นเพราะความเห็นแก่ตัว
นี่เราก็จำเอาไว้ว่าความเห็นแก่ตัว มันมีลักษณะที่จะชี้ให้เราเห็นได้บอกว่านี่แหละคือความเห็นแก่ตัว ก็ดูที่ลักษณะของมัน ทีนี้ลักษณะเมื่อมันเกิดขึ้นอย่างนี้ อาการที่ท่านบอกว่าเป็นอาการของความเห็นแก่ตัวก็คือ มันทำให้จิตใจนี้ไม่สบาย อย่างที่ภาษาของท่านอาจารย์สวนโมกข์ ท่านจะบอกว่าใช้คำนี้มันเห็นชัดง่ายก็คือ “มันกัด”
อาการของความกัด คือการที่รู้สึกว่าจิตนี้ถูกกัด มันอยู่เฉยๆ ไม่ได้ มันไม่ได้มีความนุ่มนวลอ่อนโยนหรือว่าเบาสบาย แต่มันมีความหนัก มีความเหน็ดเหนื่อย มีความรู้สึกว่าลำเค็ญหม่นหมองอยู่ในใจ นี่คืออาการของการ “ถูกกัด” และสิ่งที่กัดนั้นก็คือสิ่งที่เราเรียกว่า ความเห็นแก่ตัว ฉะนั้นถ้าเราจะดูอาการ ก็คือว่า พอมันกัดแล้ว ถูกกัดเข้าแล้วทำยังไง เหมือนถูกหมากัดข้างนอก เจ็บเลือดออก ข้างในก็เหมือนกัน พอถูกกัดก็เจ็บ มันมีอาการเจ็บปวดหนึบๆ ขึ้นมาในหัวใจ หรือไม่ก็แปล๊บๆ ขึ้นมาในหัวใจ บางคนเลือดไหลอยู่ข้างใน นี่คืออาการ อาการของการที่ถูกกัด มันจะมีความรู้สึกต่างๆ อย่างนี้ แล้วทีนี้พอถูกกัดมากๆ เข้า สะสมเอาไว้ไม่ได้ชำระล้าง มันก็เกิดเป็นพิษ เป็นพิษขึ้นภายใน ที่เราจะบอกได้ว่ามันมีมลพิษเกิดขึ้นในจิต แล้วพอจิตที่มีมลพิษแล้วนี่ มันก็อยู่ไม่ได้แต่เพียงแค่นั้น นานเข้ามันต้องระเบิด มันก็ระเบิดเอาพิษนี่ออกใส่คนอื่น ออกมาทางวาจา การกระทำ ฉะนั้นที่บอกว่า มลภาวะทั้งหลายที่เกิดขึ้นในสังคมทุกวันนี้ ในสิ่งแวดล้อมทุกวันนี้ แล้วก็โทษว่า เพราะคนนั้นเพราะคนนี้พ่นพิษ ที่จริงก็เพราะพิษที่อยู่ข้างใน ฉะนั้นมันก็ออกมาด้วยการพ่นควันพิษแล้วก็ด้วยการทำลายล้าง ด้วยการทำลายอากาศ ด้วยการทำลายอาหาร ให้มันเป็นสิ่งที่มีพิษ อย่างเวลานี้พอใครจะกินอะไรก็สะดุ้ง นี่มันฉีดโน่นหรือเปล่า นี่ใส่นั่นหรือเปล่าที่กินแล้วจะเป็นพิษถึงเรา นี่มันล้วนแล้วแต่มลพิษที่เราถูกกัดจากความเห็นแก่ตัวเป็นเหตุ
เพราะฉะนั้นความเห็นแก่ตัวนี่ เราสังเกตดูอาการ อาการที่เกิดขึ้นในจิต ถ้าจิตมีอาการเจ็บปวด ขมขื่นไม่สบาย ทุกข์ระทม ขัดเคืองและก็อื่นๆ ความรู้สึกขึ้นลงไม่ราบเรียบเลย นี่คืออาการของการถูกกัดด้วยความเห็นแก่ตัว จะเห็นแก่ตัวอย่างดีหรือจะเห็นแก่ตัวอย่างไม่ดีก็ตาม แต่มันก็มีมูลเหตุมาจากความเห็นแก่ตัว ท่านเปรียบว่า ความเห็นแก่ตัวนี่อาจจะเปรียบเหมือนกับสนิมเหล็กที่เกิดจากเหล็ก สนิมเหล็กเกิดแต่เนื้อในตน มันก็เกิด พอเกิดแล้วมันก็กัดตัวเหล็ก กัดตัวเหล็กให้ชำรุดให้เสียหายให้กร่อน จนกระทั่งถ้าปล่อยให้ถูกกัดนานๆ มันก็กลายเป็นใช้ไม่ได้ นี่ก็เหมือนกัน ความเห็นแก่ตัวเกิดมาจากความยึดมั่นในการเป็นตน เราจะต้องมีตัวตน จะต้องเป็นอัตตา พอเกิดความยึดมั่นมากๆ เข้า ความยึดมั่นอันนี้มันก็เลยกัดตัวนี้ แล้วเราก็เรียกว่าเปรียบเทียบ หรือ อุปมาอุปไมยได้ว่ามันเหมือนกับสนิมที่มันกัด จนกระทั่งตัวเองนี่คือตัวนี้ทั้งกายและทั้งใจอ่อนแออ่อนเปลี้ยหมดแรง เรียกว่าเสื่อมในสุขภาพทั้งภายนอกและภายในมากขึ้น แต่เราก็ไม่ค่อยได้สังเกต เราก็ไปนึกว่าเป็นเพราะนั่นนี่ เป็นเพราะนี่ ดีไม่ดีก็วิ่งไปหาหมอนอนไม่หลับ ทำไมถึงนอนไม่หลับไปหาหมอ และไม่รู้ว่าการที่นอนไม่หลับนี่แหละมันถูกกัดเพราะความเห็นแก่ตัว เพราะจะนอนก็คิด จะนั่งก็คิดวิตกกังวลอาลัยอาวรณ์ อาลัยอาวรณ์กับอดีตที่ผ่านมา วิตกกังวลกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง แต่ส่วนปัจจุบันนี่มันจะแย่ไม่เคยนึก เพราะสิ่งที่ต้องดูต้องทำคือปัจจุบัน พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนว่าให้อยู่กับปัจจุบัน ดูปัจจุบัน ถ้าแก้ไขปัจจุบันถูกต้องแล้วล่ะก็ไม่ต้องไปวิตกกังวลกับอนาคต แล้วส่วนอดีตนั้นตัดทิ้งได้เพราะว่ามันจะไม่เกิดประโยชน์อะไรถ้าเราจะมัวไปวิตกกังวลถึงมัน หรือแม้จะไปอาลัยอาวรณ์กับอดีตที่ผ่านมาก็ไม่มีประโยชน์อีกเหมือนกัน ท่านทรงบอกเอาไว้อย่างนั้น แต่เราก็มักจะมองผ่านหรือข้ามเลยการดูปัจจุบัน เอามาครุ่นคิดจนกระทั่งนอนไม่หลับ เช่นความนึกถึงแต่ตัวเอง ทำไมฉันจะได้อย่างนั้น ทำไมฉันจะได้เป็นอย่างนี้ ทำไมฉันจะมีอย่างนี้ มันล้วนแล้วแต่ทำไม แต่ไม่เคยเปลี่ยนคำว่าทำไมว่า ทำยังไงมันถึงจะถูก มันถึงจะถูกต้อง เดี๋ยวนี้ทำยังไงถึงจะถูกต้อง ถึงจะเกิดประโยชน์ที่สุด ไม่เคยนึก เอาแต่ทำไมๆๆ ไม่รู้จบ พอทำไมเราก็มองข้างหน้า มองรอบตัวมองคนอื่นๆ แต่ไม่หันมามองดูตัวเองว่าเดี๋ยวนี้เราควรจะทำอะไรในปัจจุบันนี้เดี๋ยวนี้จึงจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แล้วแก้ไขขจัดความวิตกกังวล แก้ไขขจัดปัญหาที่ยังมีอยู่ในขณะนี้ เพราะฉะนั้นความเห็นแก่ตัวที่มันเกิดขึ้นในจิตแล้ว มันก็เป็นอยู่อย่างนี้เรื่อยๆ ท่านจึงบอกว่าทำไมล่ะมนุษย์เราถึงรู้สึกว่าความเห็นแก่ตัวนี้สลัดยากเหมือนอย่างที่จเลิศพูดทีแรก อยากจะสลัดแต่มันสลัดยาก ทำไมถึงสลัดยากแก้ไขยาก ทำไมถึงติดแน่น ก็เพราะท่านบอกว่าความเห็นแก่ตัวนี้มันมีเสน่ห์ มันมีเสน่ห์ เคยเห็นเสน่ห์ไหม เสน่ห์ของความเห็นแก่ตัว ติดเสน่ห์มันบ้างหรือเปล่า
ผู้ดำเนินรายการ: ติดเยอะ สลัดไม่หลุด
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไหนลองนึกสิมันมีเสน่ห์ตรงไหนบ้าง ความเห็นแก่ตัวนี่ เสน่ห์ที่มีอยู่ ถ้าอะไรที่เป็นเสน่ห์เราต้องรู้สึกยังไง ชอบ เราชอบใจ เราพอใจ เราถูกใจมากๆ มันก็เลยมีเสน่ห์ เกิดมีความรู้สึกว่าปล่อยมันไม่ได้ เพราะมันมีอะไรที่รัดรึงตรึงใจ ทำให้อยากอยู่ใกล้ ทำให้อยากจะมีมัน ทำให้อยากจะเป็นอย่างนั้นเกี่ยวกับตัวมันอยู่เรื่อย นี่แหละเสน่ห์อันนี้ มันมีเสน่ห์อะไร ก็มีเสน่ห์ความหลงใหล ความเพลิดเพลิน อย่างที่ความมีตัว ถึงแม้ไม่พูด ก็มองเห็นถึงความมีตัว “ฉัน”ในมาด เคยเห็นไหม เขาไม่ได้บอก เราก็ไม่รู้ แต่นี่ มาดนักธุรกิจชั้นนำ นี่มาดศาสตราจารย์ นี่มาดครูอาจารย์ นี่มาดหมอ นี่มาดพยาบาล หรือบางทีก็บอก นี่มาดคนจน คนจนยังมีมาดยังมีความเป็นตัวตน ทำเป็นเดินจ๋องๆ กร๋องๆ แต่ในใจไม่กร๋อง คนจนก็มีสิทธิ์จะเรียกร้อง มันมีมาดกันทั้งนั้น
มาด สิ่งที่ออกมาที่ข้างหน้า ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านี้ไม่ต้องติดป้ายไม่ต้องบอก แต่มันมีอะไรในตัวของมันเองที่บอกยี่ห้อ บอกยี่ห้ออยู่ในใจ หรือว่ามาดของประธาน หรือว่ามาดของสมาชิก เพราะว่าเป็นอะไรขึ้นมาแม้แต่เป็นหัวหน้า สมมติเราจะบอกว่า มีผู้คนที่บอกว่า มีผู้คนทำหน้าที่เพื่อขอ หรือพูดง่ายๆอย่างที่เรียกว่าเป็นผู้ที่ขอทาน ขอบริจาคคนอื่นเขา แต่ลองใครเขารวมกลุ่มคนขอทาน แล้วก็ตั้งต้นนี่หัวหน้ากลุ่มเท่านั้นแหละ มาดก็ออกมาเยอะแยะใหญ่โต มันมีความยิ่งใหญ่ เพราะฉะนั้นเสน่ห์ของความเห็นแก่ตัวนี่ มันอยู่ที่ความยิ่งใหญ่ โดยที่ไม่ได้มีใครเขารับรองหรือไม่ก็ตาม แต่ใจตัวเองรับรองว่า“ฉันเป็น”แล้ว สำคัญมั่นหมายว่า “ฉันเป็น” แม้แต่ฉันเป็นนักบวช ฉันเป็นพระสงฆ์ ฉันเป็นแม่ชี ฉันเป็นอะไรๆ ก็แล้วแต่ แม้แต่ฉันเป็นนักเรียนหรือฉันเป็นนักเรียนอนุบาลตัวเล็กๆ นึกดูเด็กๆ พอไปโรงเรียนวันแรกแต่งเครื่องแบบ มันผึ่งผาย วันก่อนๆ นั้นเป็นแม่หนู ตัวเล็กๆ อยู่กับบ้าน แต่พอแต่งเครื่องแบบเท่านั้นมันดูผึ่งผายมีความสำคัญ นี่ความเห็นแก่ตัวมันซ่อน มันละเอียดจริงๆ แต่เราไม่เคยนึกถึง ไม่เคยนึกว่านี่คือความเห็นแก่ตัว แล้วเราก็ยึดมั่นตั้งแต่มันเล็กๆ น้อยๆ ตั้งแต่เด็กๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ ทีละน้อยๆๆ จากนักเรียนอนุบาลมานักเรียนประถมมัธยม จนกระทั่งวิทยาลัย มหาวิทยาลัย จบเป็นบัณฑิต พอเป็นบัณฑิตเข้า มาดของบัณฑิตมันก็ไม่เหมือนคนอื่น ถ้าเดินไปในกลุ่มคนอดจะมองไม่ได้ว่านี่ใคร จะเป็นบัณฑิตเหมือนเราหรือเปล่า มาดเหล่านี้มันออกมาโดยเขาไม่ได้ตั้งใจ เป็นความเคยชิน ทำแล้วทำอีกจนกระทั่งเป็นความเห็นแก่ตัว แล้วเสร็จแล้วพอต่อมาในชีวิตถ้าไม่สั้นนักมันก็ต้องพบอะไรๆ อีกตั้งหลายอย่าง มีประสบการณ์ในชีวิต ได้รับความสำเร็จจากอันโน้นบ้างอันนี้บ้าง มันก็รวมกันเป็นมาดของคนเก่ง มาดของคนเก่ง มาดของคนฉลาด มาดของคน Popular ไปที่ไหนก็มีคนรู้จัก มาดนี้มันเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
เพราะฉะนั้นถ้าไม่ระมัดระวัง ถ้าไม่หมั่นดูจิต เผลอไผลได้มากเลย เพราะฉะนั้นคนเก่ง คนฉลาดหรือว่าคนที่คิดว่าวิเศษกว่าคนอื่นเขา มีโอกาสที่จะเพลี่ยงพล้ำตกเป็นทาส เรียกว่ากินเหยื่อของความเห็นแก่ตัว ติดเสน่ห์ หลงเสน่ห์ของความเห็นแก่ตัวโดยไม่รู้ตัว แล้วเขาอาจจะทำอะไรๆ ที่เบ่งกับคนอื่นโดยที่ตัวเองไม่ได้ตั้งใจ แล้วบางทีทำมากๆ เข้า ออกมาเรื่อยๆ กลายเป็นความตั้งใจโดยอัตโนมัติ คือตั้งใจโดยไม่ตั้งใจ คนบางคนที่มองดูวาจามันยโสมันโอหัง มันใหญ่ หรือท่าทางก็เหมือนกัน อย่างที่เรียกว่าวางก้าม ทั้งที่ก้ามนี่ใครเขาทุบก็แตกเหมือนก้ามปู เขาก็ทุบกันได้ แต่เผลอไม่รู้เพราะมันทำบ่อยๆ โดยไม่ได้ตั้งใจ แต่พอทำมากๆ เข้ามันก็เลยเป็นความเคยชิน แล้วมันก็ออกมา ไหลออกมาอย่างที่ท่านเรียกว่าเป็น“อาสวะ” พอความเคยชินเป็น“อนุสัย” อนุสัยนี่พอทำมากๆ เข้า มันไหลเป็น อาสวะ จนตัวเองก็ปิดกั้นไม่ทัน แล้วนี่คือเสน่ห์ หรือ “อัสสาทะ”
ทีนี้พอหลงเสน่ห์ คืออยู่ใต้เสน่ห์ของมันมากๆ เข้า ก็เกิดความพอใจ เกิดความชอบ แล้วก็เกิดความสุข ทีนี้ถ้าเผอิญวันไหน มาดยิ่งใหญ่ไปถูกใครกระแทกเข้านิดนึง บางทีคนกระแทกเขาก็ไม่ได้ตั้งใจเหมือนกัน เป็นยังไง เรียกว่าหัวฟัดหัวเหวี่ยงดูไม่ได้เลย ท่าทางเอาเรื่องจะเป็นจะตาย นี่แหละทั้งๆ ที่ไม่ได้ตั้งใจ แต่มันกลายเป็นความตั้งใจโดยอัตโนมัติ
ผู้ดำเนินรายการ: ก็เราเคยมีประสบการณ์อย่างนั้น เคยเก่งอย่างนั้นนี่ครับ จะว่าเราทำอย่างนี้ผิดไม่ได้
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม่ได้ เอาเป็นเอาตาย เพราะฉะนั้นนี่แหละกำลังถูกกัด นี่คืออาการของการถูกกัด แต่เรามัวแต่กลัวหมากัดข้างนอก กลัวหมากลัวแมวข้างนอกกัด ที่กัดอยู่ข้างในก็คือกัดตัวของตัวเองเหมือนอย่างสนิมเหล็กที่กัดเหล็กของมัน กัดเนื้อเหล็กจนผุกร่อน นี่เป็นเสน่ห์ เพราฉะนั้นเสน่ห์ของความเห็นแก่ตัว หรือความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนนี้สำคัญมาก ที่สำคัญเพราะมันน่ากลัว มันไม่ได้มีความสำคัญอะไรกับชีวิตหรอก มันเป็นสิ่งที่ควรทำลายเสีย แต่มันน่ากลัว น่ากลัวเพราะว่ามันมีอำนาจขึ้นมาเมื่อเรายอมปล่อยด้วยความหลง ด้วยความหลง ด้วยความโง่ว่ามันยิ่งใหญ่ วิเศษ นี่แหละมันจึงสลัดไม่ออก ถ้าสลัดแล้วอย่างที่คนเขากลัวกัน เขาบอกถ้าสลัดแล้วศักดิ์ศรีของเรามันหายไปไหน หรือว่าเอกลักษณ์ของเราอยู่ไหนล่ะ ที่เรียกว่า Identity ของเราหายไปไหน มันเหมือนกับว่าความเป็นคนมันจะสิ้นสุดลงตรงนั้นถ้าหากว่าสละความเห็นแก่ตัว
ผู้ดำเนินรายการ: ถ้าเราสละความเห็นแก่ตัว แล้วความเป็นฉันตรงนี้จะอยู่ที่ตรงไหน
อุบาสิกา คุณรัญจวน: มันก็มีฉัน มันก็มีตัวอีกตัวหนึ่งขึ้นมา แต่ตัวๆ นี้จะมีความฉลาดพอที่จะรู้สึกว่านี่ก็สักแต่ว่าตัว มันหาใช่ตัวตนจริงๆ ที่จะมายึดมั่นถือมั่นไม่ นั่นก็คือหมายความว่าเมื่อสละความยึดมั่นถือมั่นที่เป็นความตัวตนจริงๆ ขึ้นมา อย่างนั้นได้ นั่นเพราะจิตนั้นฉลาด มันฉลาดมันศึกษามันฝึกฝนอบรม มันมองเห็นแล้วว่า ตัวตนนี่เป็นตัวเพียงสมมติเท่านั้น ใช่ไหมล่ะอย่างที่เคยถามวันก่อน ว่าตัวนี้คือตั้งแต่เส้นผมจรดเล็บเท้านี่คือตัวใช่ไหม ที่เราพูด ที่เราพูดกันอยู่ทุกวันนี้ ใช่ไหม รับมาใช่หรือเปล่า ฉันว่า ฉันเห็น ตัวนี้ใช่ไหม ไม่ใช่ ไม่ใช่เราไม่ได้หมายถึงตัวนี้ ถ้าหมายถึงตัวนี้มันต้องไม่เปลี่ยนแปลง เหมือนอย่างเราพูดถึงคนบางคน คนนี่เรารู้จักมาตั้งนาน เมื่อเด็กอย่างไรเดี๋ยวนี้ก็อย่างนั้น เดี๋ยวนี้ผมมันเริ่มขาวแล้วนะ มันก็ยังอย่างนี้มันไม่เปลี่ยนแปลง นี่แสดงว่าตัวนี้เปลี่ยนไหมคะ ตั้งแต่หัวจรดเท้าเปลี่ยนไหม เปลี่ยน ผมจากสีดำก็กลายเป็นสีเทา กลายเป็นสีขาว หน้าที่เคยเปล่งปลั่งเต่งตึงค่อยๆ เหี่ยวแห้งรอยย่นต่างๆ ความที่เคยกระฉับกระเฉง ก็งุ่มง่าม แสดงความแก่ชรา แต่มันไม่เคยเปลี่ยนนิสัยใจคอ นั่นแหละสิ่งที่อยู่ข้างใน สิ่งที่เป็นความยึดมั่นถือมั่นเป็นความรู้สึกนึกคิด พูดง่ายๆ คือความรู้สึกนึกคิดดีกว่า สิ่งที่เรียกว่า “ยึดติด” คือมันสั่งสมเอามาเป็นตัวๆ ไม่เคยเปลี่ยน มันเคยที่ดึงดันจะเอาชนะคนยังไงก็เป็นอย่างนั้น มันเคยจะกราดเกรี้ยวเห็นแก่ตัว ฉันต้องเอาก่อนยังไง มันก็เป็นอยู่อย่างนั้น ตั้งแต่เล็กจนกระทั่งมันแก่บัดนี้จวนจะตาย ยังเป็นอย่างนี้
ผู้ดำเนินรายการ: เรียกว่า สันดาน
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เปล่า สันดานมันเกิดขึ้นเอง มันเกิดจากที่เรียกว่า ทิฏฐิ คือความรู้สึกนึกคิดที่กระทำอย่างนั้นซ้ำๆ จนกระทั่งมันเป็นสันดาน เป็นสันดานที่มันฝังอยู่ในเลือดที่เป็นธรรมชาติ แต่นี่เราก็พูดกันในทางธรรมว่า มันก็คือความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน ความเห็นแก่ตัว นี่เราจะเห็นได้ชัดเจนเลย ว่าสิ่งที่ตัวตนนี่มันไม่ใช่ตัวอันนี้ แต่มนุษย์เรานี่มายึด หรือมาหยุดตรงตัวนี้ ตัวฉัน นี่คือตัวฉัน นี่คือความเข้าใจผิด ตัวฉันที่แท้จริงหาใช่ไม่ มันคือ ทิฏฐิ หรือความคิดที่เป็นทิฏฐิที่หลงผิด คือมิจฉาทิฏฐิ ฉะนั้นการที่เรามาศึกษาธรรมะ เราจึงมาศึกษาเพื่อที่จะรู้จักว่า ถ้ามิจฉาทิฏฐิทำให้เกิดความเห็นแก่ตัว เป็นทุกอย่างเลย เราจะมาฝึกฝนอบรมเจ้าทิฏฐิอันนี้ให้เปลี่ยนเป็นจาก มิจฉา เป็น สัมมา ให้ทิฏฐิที่ถูกต้อง เห็นถูกต้องว่าทุกสิ่งทุกอย่างหาใช่ตัวใช่ตน มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มันเป็นเหตุปัจจัยที่ประกอบกันขึ้น มันก็เป็นอย่างนี้ มันเป็นเพียงกระแสของความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เหมือนดังที่เราเคยพูดกันในเรื่องของปฏิจจสมุปบาท
ถ้าเราได้เห็นอย่างนี้เมื่อไหร่ การยึดมั่นถือมั่นในตัวตนมันก็หมด มันหนัก มีแต่ความหนัก เราไม่ได้เกิดมาเพื่อจะมีชีวิตหนัก เราไม่ได้เกิดมาเพื่อจะมีชีวิตให้มีปัญหาหรือมีความทุกข์ เราเกิดมาเพื่อจะมีชีวิตเย็น เพื่อเป็นประโยชน์ เป็นความสุขแก่ชีวิต
พอเราเห็นอย่างนี้เท่านั้น วาง มันวาง ปล่อย ไม่ต้องแบก ไม่ต้องวางมือแต่มันวางข้างใน วางสิ่งที่เป็นมาดทั้งหลาย ไม่เอาแล้ว ไม่มีประโยชน์ สู้มีแต่การกระทำที่ถูกต้องเพื่อประโยชน์ที่เกิดขึ้นดีกว่า นี่แหละไม่ว่าจะเป็นเสน่ห์หรือจะเป็นความไม่มีเสน่ห์ ความน่าเกลียด หรือความงาม จะมีแต่กระทำให้ถูกต้องเพื่อให้เกิดประโยชน์ดีกว่า
เพราะฉะนั้นนี่ถ้าจะสังเกตว่า ความเห็นแก่ตัวเกิดขึ้นได้ยังไง สังเกตจากลักษณะอาการของการถูกกัด ถ้าจะสลัดความเห็นแก่ตัว สลัดไม่ได้ ก็นึกดูว่าตัวตนมันอยู่ตรงไหนที่เราจะสลัด แล้วเรานึกได้อย่างนี้แล้วเราก็จะมองเห็น และก็สามารถทำการสลัดได้ทีละน้อย เพื่อความสุขสงบของชีวิตเหมือนดังที่เราปรารถนากันทุกคน สำหรับวันนี้ก็คงต้องจบเพียงเท่านี้ก่อน ธรรมสวัสดีค่ะ