แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
...ซึ่งตัวเขาก็นับถือพุทธศาสนา แต่ไม่สนใจ ไม่สนใจในเรื่องอะไรนะ คงจะไม่สนใจในเรื่องธรรมะนะคะ เขาบอกว่ามนุษย์ถ้าเข้าใจชีวิตแล้ว ศาสนาก็ไม่จำเป็น แล้วตัวเขาเองเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในทุกๆ ด้านของชีวิต มีแต่คนบอกว่าเขาเป็นคนดี เป็นคนเก่ง ซึ่งผู้ถามก็เห็นว่าจริง เพราะอะไร เขาไม่ฆ่าสัตว์ ไม่โกงใคร ไม่ทุกข์ใจในชีวิต ไม่ทำบุญตักบาตร แต่บริจาคช่วยคนตกทุกข์ได้ยาก นอกจากนี้เขายังว่าอีกว่าพระพุทธเจ้ามีจริงหรือไม่ก็ไม่รู้ แล้วก็ยังถามอีกว่าคำสั่งสอนนี้มาจากพระพุทธเจ้าทั้งหมดเหรอ คำตอบก็บอกว่า ต้องมาลองดู ให้พี่คนนี้นะคะ เขามาทดลองดูเอง เพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เคยทรงชักชวนให้ใครเชื่อท่าน คงจะจำกาลามสูตรได้ใช่ไหมคะ แล้วก็ได้รับแจกเอกสารเกี่ยวกับกาลามสูตรแล้วใช่ไหมคะ ขอได้โปรดไปอ่านเอง นี่แสดงถึงความเป็นประชาธิปไตยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แสดงถึงความมั่นคง แน่นอนของสัจธรรม เพราะฉะนั้นพระองค์จึงทรงท้าให้พิสูจน์ กาลามสูตรนั้นก็เพราะว่า ชาวกาลามะได้มากราบทูลถามว่าหมู่บ้านของเขานี่มีพวกครูบาอาจารย์ผ่านมาไม่รู้จักเท่าไร อาจารย์คนนี้มาก็สอนเรื่องนี้ คนนั้นมาก็สอนเรื่องนั้น คนนู้นก็สอนเรื่องนู้น แต่ละคนก็สอนไปแต่ละอย่าง จนชาวกาลามะเองรู้สึกสับสนเต็มทีไม่รู้ว่าจะเชื่อใคร ไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไหน คำสอนอย่างไหนมาปฏิบัติแล้วมันจะเกิดประโยชน์ ก็กราบทูลขอคำแนะนำจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ตรัสว่า คือแทนที่พระองค์จะตรัสว่าเชื่อคนนั้นสิ เชื่อคนนี้สิ เพราะอย่างนั้นอย่างนี้เหมือนอย่างเราธรรมดาใครมาถามอะไรเรา เราก็มักจะบอกอย่างนั้นตามเหตุผลตามทิฐิของเรา พระองค์ก็รับสั่งอย่างที่อ่านไว้สิบประการนั่นแหละค่ะ ว่าอย่าเชื่อตามที่เขาบอก อย่าเชื่อตามที่ทำๆ ตามกันมา อย่าเชื่อเพราะว่ามันตรงกับทิฐิ คือความเห็นของเรา เหมือนอย่างพอเขาเล่า เออ จริง ฉันว่าอย่างนั้นนะจริงเลย หรือพอเขาพูดถึงคนโน้น เออ จริง มันไม่ใช่ คนนั้นมันใช้ไม่ได้ ฉันก็ว่าอย่างนั้น หรือพอได้ยินเขาพูด แหม ถูก ถูกจริง นี่แหละเขาเรียกว่า ถูกตามทิฐิของเรา แล้วเราก็เชื่อเอาง่ายๆ หรืออย่าเชื่อเพราะมีอยู่ในตำราในพระไตรปิฎก หรืออย่าเชื่อเพราะว่ามันถูกต้องตามตรรกวิทยาหรือปรัชญา หรืออะไรก็แล้วแต่จนผลที่สุด แม้ว่าคนที่พูดนั้นเป็นครู เป็นครูของตนเองก็ไม่ต้องเชื่อ จนกว่าจะได้นำคำสอนนั้นมาฝึกปฏิบัติด้วยตนเองแล้วก็เห็นผลว่า เออ มันจริงอย่างนั้น ใช้ได้ อย่างประจักษ์แจ้ง อ๋อ ขึ้นมาในใจของตนเอง นั่นแหละจึงเชื่อ เห็นไหมคะ ความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงของพุทธศาสนา ไม่เคยบังคับให้ใครเชื่อ เพราะฉะนั้น พี่ที่ถามนี่ก็เชิญให้มาศึกษาด้วยตัวเอง มาลองฝึกปฏิบัติด้วยตัวเอง แล้วก็รู้เองว่าจริง หรือไม่จริง พระพุทธเจ้านั้นได้เสด็จปรินิพพานไปสองพันห้าร้อยกว่าปีแล้ว โดยพระกายหรือวรกายของท่าน จนกระทั่งถวายพระเพลิงกันไปเสร็จเรียบร้อยหมดแล้ว เพราะฉะนั้นโดยทางกายไม่มีเหลืออยู่ แต่ทำไมเรายังพูดถึง ทำไมเรายังนำคำสอนของพระองค์มาปฏิบัติตาม นี่คือสิ่งที่เหลืออยู่ แล้วสิ่งนี้คือ สัจธรรมอันเป็นธรรมชาติ ฉะนั้นต้องมาดูเองนะคะ
ทีนี้ในคำถามนี้ก็มีหลายประเด็นนะคะ เช่น ประเด็นหนึ่งประเด็นแรกบอกว่า คนที่มานั่งภาวนาเป็นการทำเพื่อตนเอง นี่ก็เพราะยังไม่เข้าใจความหมายของคำว่า สมาธิภาวนานั้นคืออย่างไร ซึ่งเราจะพูดกันในวันพรุ่งนี้ เพราะฉะนั้นจะไม่ตอบในวันนี้นะคะ ถ้าเข้าใจถูกต้องแล้วจะไม่พูดอย่างนี้ เพราะว่าทุกท่านจะประจักษ์ใจเองอย่างชัดเจน เมื่อมาอยู่ด้วยกันสิบเอ็ดวันนี่นะคะก็จะรู้เองว่า การมาปฏิบัติธรรมไม่ใช่เป็นการมานั่งหลับตาสงบเงียบอยู่คนเดียว แต่มันมีอะไรหลายๆ อย่างในเรื่องของการปฏิบัติธรรมที่จะทำให้ชีวิตนี้มีความหมาย และเป็นชีวิตที่เกิดประโยชน์ไม่แก่ตนเองเท่านั้น แต่แก่เพื่อนมนุษย์ คือจะไม่เป็นตัวปัญหาของเพื่อนมนุษย์ จะช่วยนำความสงบเย็นของตนเองออกสู่เผื่อแผ่เพื่อนมนุษย์ แล้วก็ช่วยให้สังคมที่เราอยู่ด้วยนั้นเกิดความสงบเย็นยิ่งขึ้น มันมีประโยชน์มากกว่านั้นมาก โดยเฉพาะนักศึกษามหาวิทยาลัยเป็นผู้ที่อยู่ในวัยชักจูงง่าย ถ้าไปช่วยเหลือคนยากจน หรือพัฒนาชนบทจะดีกว่า ได้เคยพบนักพัฒนามาไม่น้อยเหมือนกัน ได้เคยคุยเป็นส่วนตัวบ้าง ได้เคยคุยเป็นกลุ่มบ้าง ก็ขอพูดด้วยความเห็นใจว่า นักพัฒนาเองก็มีปัญหา ใช่ไหมคะ มีนักพัฒนาอยู่ในนี้บ้างหรือเปล่าไม่ทราบ นักพัฒนาเองก็มีปัญหา มีปัญหาก็คือว่า พอไปพัฒนาชาวบ้านเพื่อให้เขาพ้นจากปัญหาของเขา ในเรื่องการทำมาหากิน เรื่องอาชีพ เรื่องอะไรต่ออะไรก็แล้วแต่ นักพัฒนายิ่งพัฒนาไปยิ่งเป็นทุกข์ มีความทุกข์ยิ่งขึ้นๆ เพราะอะไร เพราะนักพัฒนามีความรู้ คือมีความรู้ทางวิชาการ มีประสบการณ์ในการที่จะพัฒนา ได้รับการฝึกฝนอบรมมา แต่นักพัฒนาเองไม่เคยพัฒนาใจของตนเองเลย ไม่เคยให้การศึกษาแก่ทางใจทางวิญญาณ สติปัญญาที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นพอไปพัฒนาเข้า พบสิ่งที่เป็นปัญหา มันเลยย้อนมาทุบหัวใจตนเอง เพราะฉะนั้นนักพัฒนาบางครั้งก็ต้องการการพักผ่อนเพื่อมาพัฒนาใจของตนเอง เพราะฉะนั้นถ้าจะไปพัฒนาผู้ใด แล้วก็เพื่อไม่ให้การพัฒนานั้นย้อนมาเป็นปัญหานำความทุกข์มาสู่ใจตนเอง ก็ควรจะพัฒนาใจของตนให้พร้อมเสียก่อน แล้วจึงไปพัฒนาผู้อื่นจะเป็นการพัฒนาที่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
ประเด็นต่อไปที่บอกว่า ถ้าเข้าใจชีวิต ถ้ามนุษย์เข้าใจชีวิตแล้ว ศาสนาก็ไม่จำเป็น อันนี้พูดกันในอย่างนี้ ยาก เพราะเราก็ไม่ทราบว่าผู้นั้นเข้าใจชีวิตอย่างไร และเข้าใจว่าชีวิตว่าอะไร แล้วศาสนาไม่จำเป็นหมายความว่าอะไร ศาสนาแปลว่าอะไร แล้วตัวเขาเองเป็นคนประสบความสำเร็จในทุกๆ ด้าน เป็นคนดี เป็นคนเก่ง ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่โกงใคร ไม่ทำบุญตักบาตร แต่บริจาคช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก การทำบุญตักบาตรก็คือ การทำทานอย่างหนึ่งเหมือนกัน แต่ว่าเราทำทานแก่พระสงฆ์ เราก็เรียกให้งามว่าเป็นการทำบุญ เป็นการตักบาตร เพราะมันเป็นการบริจาคในลักษณะเดียวกัน แต่ถ้าเราทำให้แก่คนที่ยากจน หรือคนที่เรารู้สึกต่ำต้อยกว่าเรา เราก็ใช้คำว่าทำทาน แต่ที่จริงเหมือนกันนะคะ ทำเหมือนกัน ทีนี้ที่ผู้ถามบอกว่า พี่ไม่เคยทุกข์ใจในชีวิต รู้ได้อย่างไร เรารู้ได้อย่างไรว่าเขาไม่ทุกข์ใจในชีวิต เพราะฉะนั้น สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องพูดกันคือ ความหมายของคำว่า “ทุกข์” ความหมายของคำว่าทุกข์ หรือความทุกข์ เราจะต้องมาขยายความให้มันเข้าใจกันถูกต้องอยู่ในประเด็นเดียวกันเสียก่อน แล้วเราถึงจะพูดได้ว่าใคร ที่กล้า กล้าหาญรับว่าไม่เคยมีความทุกข์เลยนะคะ ฉะนั้นนี่มีหลายประเด็น แต่คำตอบสรุปก็คือว่า มาลองด้วยตัวเอง
คำถามต่อไป คนเราควรยึดถือ เดินทางสายกลางคือพอดี แต่ทำไมบางคนที่ยึดถือทางธรรมยังต้องตรำงานหาเงิน ในขณะที่ก็มีฐานะดีอยู่แล้ว คำว่าตรำงานหาเงิน ถ้าหากว่าการทำงานนั้นทำเกินพอดี คำว่าเกินพอดีก็คือ สุดโต่ง หาเวลาพักผ่อนให้แก่ทางกายก็ไม่พอ จนร่างกายก็ซูบผอม เจ็บป่วย สุขภาพทรุดโทรม อย่างนี้ไม่ใช่ผู้ที่อยู่ในทางธรรมอย่างถูกต้อง เพราะสุดโต่งเกินความพอดี ไม่ใช่มัชฌิมาปฏิปทา แต่ถ้าหากว่าตรำงานด้วยความอดทนอดกลั้น แล้วก็รู้จักทำงานนั้นอย่างชนิดพอเหมาะพอสมแก่กำลังกาย กำลังสติปัญญา อย่างนี้ก็เรียกว่าอยู่ในหนทางแห่งความพอดี ทีนี้การที่ยังทำอยู่ ทำอยู่ต่อไป ก็เพราะเขาเห็นประโยชน์ว่ายังควรทำอยู่ แล้วถ้าหากว่ารายได้ หรือเงินทองที่หาได้มา ไม่ได้เก็บงำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวแต่คนเดียวอย่างเห็นแก่ตัว แต่นำออกมาแบ่งปัน แจกจ่ายแก่ผู้ที่ขาดแคลน อย่างนี้เขาเรียกว่าเป็นการทำงานอย่างถูกต้อง ซึ่งอันนี้ดิฉันตอบไม่ได้ เพราะไม่ทราบสถานการณ์ว่าบุคคลผู้นี้เมื่อทำแล้ว ได้เงินมาแล้วเอาเงินนั้นมาทำอย่างไร แต่ถ้าเพื่อประโยชน์แบ่งปันแก่ผู้อื่น ก็นับว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
คำถามต่อไปว่า คนเราควรอยู่กับธรรมชาติ แต่ถ้าไม่รับความเจริญทางด้านวัตถุ เทคโนโลยี แล้วจะถือว่าล้าหลังหรือไม่ ควรปฏิบัติตนอย่างไร คือคำที่เริ่มต้นว่าคนเราควรอยู่กับธรรมชาติก็แสดงว่าผู้ถามก็ค่อนข้างเห็นด้วยในคุณค่าของธรรมชาติ แล้วก็เห็นด้วยว่า เราควรจะอยู่กับธรรมชาติ แต่ก็ยังกริ่งเกรงใจ คือเกรงใจขึ้นมาในใจว่า ถ้าไม่รับความเจริญทางวัตถุเสียเลย จะเป็นล้าหลังไหม แล้วควรจะปฏิบัติตนอย่างไร ก็อยากจะขอยกตัวอย่าง คนไทยเราซึ่งทุกท่านพอเอ่ยชื่อมาคงเคยได้ยิน ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม เคยได้ยินชื่อใช่ไหมคะ ท่านผู้นี้ ดิฉันก็ไม่เคยรู้จักตัวท่านนะ แต่ว่าได้เคยอ่านประวัติ ได้มีผู้เล่าให้ฟัง ก็เป็นผู้ที่เป็นเกษตรกร แล้วก็เริ่มต้นด้วยการทำเกษตรแผนใหม่ถูกต้องตามวิชาการเป็นเวลายี่สิบปี ตอนแรกก็มีที่ดินราวๆ สองร้อยไร่ ทำไปเพื่อที่จะหาผลผลิตออกไปขายตามวิชาการ แล้วก็ให้ได้เงินทอง ผลผลิตกลับคืนมาเป็นการตอบแทน แต่ยิ่งทำหนี้สินยิ่งพอกพูน จนผลที่สุดก็ต้องตัดที่ดินนั้นขายไป ร้อยเก้าสิบไร่ เหลืออยู่ตอนสุดท้ายประมาณเก้าไร่เศษ หมดหนทาง มีแต่หนี้สิน ใช้หนี้สินหมด ไม่มีกิน ก็มานึกย้อนดูว่า สิ่งที่สำคัญสำหรับมนุษย์ที่สุดคืออะไร อันแรกต้องมีกิน คืออาหารต้องมาก่อน เพราะร่างกายนี้จะอยู่ได้ด้วยอาหาร อาหารต้องมาก่อน มีที่ดินอยู่เก้าไร่ จากสองร้อยไร่ ผู้ใหญ่วิบูลย์ท่านก็ใช้วิธีลงมือปลูกพืชที่จะเป็นอาหารก่อน พืชอะไรที่เป็นอาหารกินได้ ปลูกหมดทุกอย่าง ทั้งพืชที่เป็นผักทั้งพืชที่เป็นไม้ผลเพื่อจะเป็นอาหาร และก็เมื่อเหลือกินเหลือใช้จากในครอบครัวก็ไปขาย ขายก็ได้ ก็เรียกว่าได้คืนมาเป็นต้นทุนทั้งหมด แล้วก็เป็นกำไรอีก ทั้งหมดอีกด้วย เพราะว่าไม่ต้องไปเสียต้นทุนอะไร และการปลูกตอนหลังนี่เรียกว่า ปลูกแบบเกษตรธรรมชาติ หรือที่เรียกว่า วนเกษตร จากนั้นก็มองเห็นว่าชีวิตของมนุษย์จะต้องมีอาหาร ต้องมีที่อยู่ ต้องมีเครื่องนุ่งห่ม ต้องมียารักษาโรค แล้วจะทำอะไรได้จากผืนดินนี้ จากอาหาร ก็ปลูกสิ่งที่จะเป็นยา ที่จะสำหรับรักษาโรค ยาทั้งหลายที่เป็นเครื่องสมุนไพรก็เอามาปลูก ภายในเนื้อที่ที่มี แล้วก็ให้มันเป็นอยู่อย่างธรรมชาติ คือให้มันอยู่อย่างชนิดอาศัยซึ่งกันและกัน ไม้ใหญ่อาศัยไม้เล็ก ไม้เล็กก็ยังอาศัยพืชพรรณที่จะช่วยปกคลุมรากของมันให้ได้รับความชุ่มชื่น เมื่อรากได้รับความชุ่มชื่น ไม้ใหญ่มันก็สามารถอยู่ได้อย่างสงบเย็น และพืชพรรณไม้เล็กที่อยู่ข้างล่างไม้ใหญ่ก็มีความเย็น เพราะได้รับร่มเงาจากไม้ใหญ่ เห็นไหมคะ นี่คือความเป็นธรรมชาติที่มันอาศัยซึ่งกันและกัน ผู้ใหญ่วิบูลย์ท่านก็ใช้วิธีนี้ ปลูกพวกพืช พืชพรรณที่จะเป็นอาหาร แล้วก็เป็นยา จากนั้นสิ่งที่ขายไปก็ได้เงินมา เงินมาทำที่อยู่ ใช้สิ่งที่มีอยู่ในไร่นั้น ส่วนใดที่จะมาทำที่อยู่ได้ ใช้ สิ่งใดที่ขาด ใช้เงินที่ได้จากการขายพืชพรรณ พืชผลนี่แหละ เอามาซื้อ แล้วก็เมื่อเจ็บป่วย มันก็ไม่เจ็บป่วย คือหมายความว่าความเจ็บป่วยก็มีน้อยที่สุด เพราะอยู่กับธรรมชาติอยู่ในบรรยากาศที่บริสุทธิ์ บริสุทธิ์ทั้งอาหาร บริสุทธิ์ทั้งอากาศ บริสุทธิ์ทั้งน้ำ เพราะฉะนั้นเชื้อโรคอะไรที่มันจะเล่นงาน มันก็เข้ามาไม่ได้ง่ายๆ แล้วก็เมื่อจะมีเชื้อโรคบ้าง เมื่อจะมีโรคอะไรเกิดขึ้นบ้าง สามารถใช้สมุนไพรได้ก็ใช้ ถ้าเผอิญจะมีโรคอะไรที่มันเกินกำลังของสมุนไพร นั่นแหละก็ไปหาหมอด้วยเงินที่หาได้ เพราะฉะนั้นรวมความว่า ปัจจัยสี่ที่บอกว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานธรรมชาติของมนุษย์สามารถใช้ได้อยู่ได้อย่างสบาย จนทุกวันนี้ใครๆ ก็ไปดูงานที่สวนเกษตรของผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม แล้วก็มีความสุขสำเร็จ หลังจากที่ได้ใช้ธรรมชาติเป็นครู ใช้ธรรมชาติเป็นสิ่งแวดล้อม ใช้ธรรมชาติชุบชีวิตใหม่ ปราศจากหนี้สิน แต่มีแต่ความสุข มีความสบาย สมควรแก่การดำเนินชีวิตเพื่อประโยชน์ตนเอง และเพื่อประโยชน์ผู้อื่น นี่คือคำตอบที่ถามว่าแล้วจะทำอย่างไร
คำถามต่อไปถามว่า การฝึกจิตให้นิ่งในเบื้องต้นสำหรับผู้ฝึกหัดใหม่ มีวิธีการอย่างไรบ้างที่จะควบคุมจิตให้นิ่ง มักประสบปัญหาในใจจะพลอยนึกคิดเรื่องอื่นๆ อยู่เสมอ และค่ำวันนี้ตอนบอกบทกรรมฐานนะคะ ก็จะพูดอธิบายในเรื่องนี้
อยากทราบวิธีการดูจิต และการระงับความรู้สึกต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับร่างกาย เช่น ความดีใจ ความเสียใจ ควรปล่อยให้เกิดขึ้นหรือไม่ หรือมีวิธีการอย่างไรที่จะระงับ เมื่อเราพูดถึงเรื่องของการปฏิบัติอานาปานสติ จะอธิบายคำตอบนี้นะคะ แต่ในขณะนี้ก็ตอบสั้นๆ ว่า ลองนึกดู ความดีใจที่เกิดขึ้นมันอยู่นานไหม ความเสียใจที่เกิดขึ้นมันอยู่นานไหม มันก็เกิดแล้วมันก็หาย มันมาแล้วมันก็ไป แต่ประเดี๋ยวมันก็มาอีก เพราะฉะนั้น เราก็ต้องฝึกที่จะดูความไม่เที่ยง ความเป็นเช่นนั้นเองที่มันเกิดขึ้นอย่างนี้เรื่อยๆ แล้วก็เลิกเอาจริงเอาจังยึดมั่นกับมัน แล้วก็จะค่อยๆ ลดลงเอง ซึ่งการที่เราจะฝึกปฏิบัติในระหว่างที่เราอยู่ด้วยกันคงจะช่วยนะคะ
ในระยะยี่สิบสามสิบปีที่ผ่านมา จิตเวชศาสตร์ทางยุโรปและอเมริกา มีแขนงหนึ่งที่เรียกว่า ไฮโปเธอราพี (Hypnotherapy) นิยมสะกดจิตให้คนระลึกชาติ เพื่อช่วยรักษาพฤติกรรมในปัจจุบัน ขอถามความเห็นในเรื่องนี้ ต้องขออนุญาตตอบว่า ดิฉันไม่ค่อยมีความรู้ในเรื่องนี้นะคะ แล้วก็ไม่อยากจะเดาตอบนะคะ
ได้ทราบและได้เห็นความเลวร้ายของตัวเองอย่างถึงที่สุด จึงอยากค้นพบแสวงหาในด้านดีบ้าง แต่ไม่แน่ใจว่าควรจะตัดวางสิ่งต่างๆ ภายนอกอย่างสมบูรณ์ ควรจะเริ่มในช่วงที่สี่ของชีวิต หรือควรจะก่อนหน้านี้ พูดง่ายๆ ก็คือว่า อยากจะมีชีวิตที่ออกมาจากทางโลกใช่ไหมคะ คำถามนี้ อยากจะประสบความสุขสงบเย็นเป็นประโยชน์ของชีวิตในช่วงที่สี่ แล้วคำถามก็คือจะเริ่มเมื่อไร ว่าง่ายๆ จะเริ่มเมื่อไร จะเริ่มเดี๋ยวนี้ดีหรือยัง ความสุขสงบเย็นนี่มันสร้างเอาไม่ได้ ปั้นเอาไม่ได้ ต้องค่อยๆ ทำไปทีละน้อย ทีละน้อย เริ่มจากการศึกษาอย่างที่ว่านะคะ แต่ก็ไม่สายไป เรายังเริ่มได้ คำแนะนำก็คือ ถ้ารู้วิธีการอย่างถูกต้องแล้ว ก็ฝึกปฏิบัติไป ฝึกปฏิบัติไปจนกระทั่งเราเกิดประจักษ์ชัด ประจักษ์ชัดขึ้นมาในใจว่า หนทางธรรม หรือหนทางของการปฏิบัติธรรมอย่างนี้ เราอยู่ได้ คือเราอยู่ได้อย่างไม่ดิ้นรน อย่างไม่รู้สึกไยดีไปที่จะไปแข่งขันกับใคร ที่เขาจะเอาอะไรมาให้ ตำแหน่งโน้น ตำแหน่งนี้ หน้าตาต่างๆ มันเห็นเป็นอย่างนั้นเอง มันไม่มีความหมายแก่ชีวิต มันมาแล้วก็ไป เมื่อได้มา มันก็ต้องมีเสียไป มันเป็นของคู่กัน ไม่นิยมยินดีในโลกธรรมแปด คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หรือว่าเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ สามารถเห็นเป็นธรรมดา เห็นว่าสามารถจะดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย อยู่กับธรรมชาติ มีความสันโดษในสิ่งที่ตนมี ตนได้ หลังจากที่ได้ทำอย่างดีที่สุดแล้วนะคะ ไม่ใช่งอมืองอเท้า ทำดีที่สุดแล้ว แล้วก็สันโดษพอใจ ถ้าแน่ใจประจักษ์ใจเมื่อไรว่าเราเดินได้ นั่นแหละจึงค่อยตัดสินใจ ขณะนี้ไม่ต้องตัดสินใจ ไม่ต้องมาลังเลถามตัวเอง เอาละ ออกดี หรือไม่ออกดี ออกจากบ้านดี หรือไม่ออกดี ออกจากที่ทำงานดี หรือไม่ออกดี มาเป็นคนวัดดี หรือไม่ออกดี อย่ามีวิจิกิจฉา อันนี้ไม่จำเป็น ขอจงฝึกปฏิบัติไป อยู่ที่บ้านนั่นแหละค่ะ อยู่ที่ทำงานนั่นแหละ จนวันหนึ่งแน่ใจ อ้อ นี่คือหนทาง และเราก็ไม่มีภาระความรับผิดชอบที่เราจะต้องรับผิดชอบต่องาน หรือต่อคุณพ่อคุณแม่ หรือต่อบุคคลที่เราผูกพันเกี่ยวข้องมาแต่เดิม ซึ่งเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของเรา เราไม่มีภาระความรับผิดชอบจึงค่อยตัดสินใจเมื่อแน่ใจ
อีกคำถามหนึ่งนะคะ ควรจะรักษาจิตอย่างไรกับการต้องทนอยู่ในที่จำกัด คือห้องทำงานทุกวันกับบุคคลที่จาบจ้วง เสียดสี และให้ร้ายเราตลอดเวลา บางครั้งก็ทำใจได้ แต่บางครั้งจิตตก ก็จะมีอารมณ์โกรธ เก็บกด เครียด วิตกกังวล และพาลไม่พูด ไม่มองกับบุคคลนั้น จะเป็นการกระทำที่ผิดหรือเปล่า ถ้าตอบอย่างทางธรรม ผิด ผิดตรงไหน ผิดตรงที่ทำให้ตัวเองเป็นทุกข์ อึดอัด หงุดหงิด ไม่ชอบคนนั้น แล้วเราก็ปล่อยให้ใจเราเป็นทุกข์เพราะเขา ก็เพราะมีตัวเรา เราเห็นว่าเขาทำไม่ถูกใจ จาบจ้วงเรา เสียดสี ให้ร้าย ไม่ถูกต้อง แล้วเราก็เอามาเป็นทุกข์ นี่คือการปล่อยใจของเราเองให้เป็นเหยื่อ เหยื่อของคำพูดของคนที่เขาไม่ชอบเรา เหยื่อของการกระทำของคนที่เขาไม่ชอบเรา ถ้าเขารู้ว่า เขาพูดอย่างนี้ คนนี้จะต้องโกรธ ต้องเป็นทุกข์ ต้องร้องไห้ ถ้าเขาทำอย่างนี้ คนนี้จะต้องเจ็บใจ เจ็บปวด ถ้าเขารู้อย่างนี้ เขาฉลาด เพราะเขาหย่อนเหยื่อนี่มาเรื่อยๆ เราก็เหมือนปลาโง่ ใช่ไหมคะ พบเหยื่อทุกที เขาหย่อนมาทีไร เขาก็ได้ทุกที คือเขาได้สมใจเขา ทำให้โกรธ ทำให้ร้องไห้ ทำให้เจ็บปวด เขาก็สนุกนะสิ แล้วเราเป็นคนโง่หรือเป็นคนฉลาด ถ้าเราเป็นคนฉลาด อ๋อ มันเช่นนั้นเอง หัวเราะเสียบ้าง ถ้าวันไหนเราหัวเราะได้ เราเฉยได้ คนที่เขาทำอย่างนั้นนะ เขาจะหยุดเอง เพราะลูกปืนเขามันด้าน มันยิงไม่ออก ฉะนั้นก็อาศัยการฝึกปฏิบัติที่เราจะพูดกันต่อไปนะคะเป็นอาวุธสำหรับการที่จะต่อสู้ หรือจะรักษาใจของเราเอาไว้
คำถามนี้ก็คล้ายๆ กันคำถามเมื่อกี้ ก็ขอตอบไปพร้อมกันเลย การที่เราทำงานตามหน้าที่ ความรับผิดชอบถูกต้องครบถ้วน แต่ถูกนายจ้างหรือผู้บังคับบัญชาเอาเปรียบ เมื่อปรับความเข้าใจกันแล้วทั้งสองฝ่าย ปัญหานี้ก็เกิดขึ้นอีก คือพอปรับความเข้าใจกัน ก็ดูท่าจะดี แต่แล้วก็เกิดซ้ำซากอีก จะแก้ไขอย่างไร ก็มองให้เห็นเป็นเช่นนั้นเองของเขา เขามีธรรมชาตินิสัยอย่างนี้ เขาเลยต้องเป็นอย่างนี้ ถ้าเราไม่อยากเป็นเหยื่อเขา เราก็เห็นเช่นนั้นเองของการกระทำของเขาเสีย แล้วก็นึกอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านเคยรับสั่งกับพระอานนท์ เมื่อพระอานนท์ทูลท่านว่า อย่าอยู่เลยเมืองนี้ เพราะว่ามันมีบางครั้งคราวที่มีพวกมิจฉาทิฐิกระทำการอันไม่สมควร ไปที่อื่นดีกว่า ท่านก็จะรับสั่งว่า รับสั่งถามว่า ถ้าเปรียบเหมือนกับคนที่เขายกสำรับอาหารมาให้เรากิน ถ้าเราไม่กิน อาหารสำรับนั้นเป็นของใคร เป็นของใครคะ เป็นของใคร ก็เป็นของคนที่ยกมา ก็เป็นของเขาเอง เพราะถ้าเราไม่กิน เขาก็เอากลับไปกินเอง เขาจะไปเททิ้งก็เป็นเรื่องของเขา เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเขาทำอย่างนี้ แล้วเราก็กินของเขาทุกที คือกินการกระทำที่ไม่ถูกใจ กินวาจาที่ไม่ถูกใจ เราก็เจ็บปวด เพราะฉะนั้นเมื่อเขาทำมาให้ ยกมาให้ เราก็อย่ากิน เราก็จะได้หมดปัญหาเสีย
คำถามยังมีอีกนะคะ แต่ว่าเวลาหมด เพราะว่านั่งนานแล้วนะคะ ก็ขอเชิญพัก อ้อ เดี๋ยวก่อนค่ะ เรื่องการเดินจงกรม เห็นเดินจงกรมกันแล้วก็เห็นใจแล้วก็สงสาร เพราะแดดมันร้อนนะคะ ขอเรียนว่าในเวลากลางวันตอนบ่าย หลังจากรับประทานอาหารมาแล้วนี่ เวลาเดินจงกรม อย่าไปเดินกลางแดดนะคะเพราะว่าแดดมันจัดมาก เดี๋ยวจะทำให้เป็นไข้ หรือว่ากลายเป็นแพ้แดด แล้วจะไม่สบาย เพราะฉะนั้นก็พยายามเดินจงกรมในที่ที่มีร่มเงาให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ แล้วการเดินจงกรมที่ถูกต้องนั้น จงกรม สะกดด้วย รอ เรือ นะคะ ไม่ใช่ ลอ ลิง เพราะฉะนั้น จงกรมนี่ไม่ใช่เดินวนไปวนมาเป็นวงกลม แต่หมายถึงการเดินตามทางยาว ตามทางยาว จะต้องมีที่ตั้งต้นเดิน คือเลือกเอาค่ะ ตรงไหนก็ตามที่เรารู้สึกพอใจ สมมติว่าตรงก้อนหินก้อนนี้เป็นจุดเริ่มต้น แล้วก็มาถึงตรงพัดลมนี่เป็นจุดปลายทาง พอเราจะเริ่มเดิน ก็ยืนตรงจุดตั้งต้น แล้วก็ยืนทำใจให้สงบ รู้ลมหายใจที่เราหายใจอยู่ธรรมดาทุกวันนี่ค่ะ ยังไม่ต้องไปปรับให้มันเป็นลมหายใจยาวหรือสั้น ลมหายใจธรรมดานี่ แล้วก็ยืนให้สงบ ให้รู้ลมหายใจเข้าออก เพื่อให้จิตมันแจ่มใส ให้มันเบิกบาน ให้มันมั่นคง แล้วก็มีความรู้สึกพอใจที่จะเดินจงกรม จึงค่อยๆ ก้าวขาเดิน จะขาซ้ายออกก่อนก็ได้ ขาขวาออกก่อนก็ได้ ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวนะคะ ซ้ายออกก่อนก็ได้ ขวาออกก่อนก็ได้ เดินช้าๆ มือนั้นถ้าหากว่าจะให้มีความสำรวม คือคล้ายๆ กับว่า ถ้าเราสำรวมข้างนอก แล้วมันจะไปช่วยทำให้ใจนี่มีความสำรวมไปด้วย มือนี่ถ้าประสานกันเอาไว้ข้างหน้า อยู่สักประมาณระดับเอว หรือว่าใต้อก สำหรับตัวดิฉันนะคะ รู้สึกว่ามันมีความสมดุล มันมีความถ่วงกันสองข้างนี่ พอเหมาะพอดี แต่ไม่ต้องเกร็งนะคะ ไม่ต้องจับกันแน่นอย่างนี้ มันไม่หายไปไหน วางมันเอาไว้เฉยๆ วางไว้เฉยๆ อย่างนี้ค่ะ วางไว้เฉยๆ แล้วก็ขนาดนี้ แขนสองข้างมันก็มีความสมดุล มันมีความถ่วงกันในตัวพอดีพอดี แล้วก็หน้าก็ตรง แต่หน้าตรงนี่นะคะ สายตาลงต่ำ สายตาอย่ากวาดไปมองดูเนินเขา ต้นไม้ ดอกบัว อะไรต่ออะไร เพราะมันจะทำให้สายตานี้เกิดอุปสรรค แล้วก็จะชวนให้คิด ชวนให้อะไร จิตก็ออกไปจากลมหายใจ เพราะฉะนั้นสายตาลงต่ำ ลงต่ำขนาดไหน ก็คือมองต่ำขนาดว่าห่างจากเท้าเราประมาณไม่เกินหนึ่งเมตร เพื่อหลบเลี่ยงที่จะไปปะทะกับรูปนั้น หรือว่าเหตุการณ์หรือบุคคล จิตจะได้สงบ แล้วก็เดินไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงจุดหมายปลายทาง ทีนี้ในระหว่างเดินนะคะ ในระหว่างเดินจากจุดเริ่มต้นจะไปจุดปลายทางนั้น พอเดินมาได้สักห้าหกก้าว มันเกิดวุ่นขึ้นมาในใจ ใจมันเกิดวุ่นเพราะอารมณ์เก่าๆ มันเกิดมาครอบงำจิต แล้วก็ไม่รู้จะทำให้มันหยุดได้อย่างไร ลมหายใจก็หลุดหายไป ยืน ยืนนิ่ง เรียกว่ายืนสมาธิเสียในขณะนั้น แล้วก็เพ่งจิตจดจ่อลงไปที่ลมหายใจ ให้รู้ลมหายใจเข้าออกให้มากยิ่งขึ้น ที่ดิฉันพูดว่ารู้นี่นะคะ รู้ด้วยการสัมผัส คือสัมผัสกับความเคลื่อนไหวของลมหายใจที่มันผ่านเข้าช่องจมูก แล้วมันก็ผ่านเข้าไปข้างใน จะไปถึงไหนช่างหัวมัน ไม่ต้องไปกำหนดว่าไปถึงไหน แต่ให้ความรู้สึกนี้ ความรู้สึกที่เราตั้งจิตจดจ่อรับว่าลมหายใจผ่านเข้าช่องจมูก เห็นไหมคะลมหายใจนี่มันไม่มีรูปร่าง แต่ว่ามันมีความเคลื่อนไหว คือเรารู้สึกได้ เพราะฉะนั้นหายใจให้แรงหน่อยในตอนต้น แล้วเราก็กำหนดจิตตามลมหายใจให้สัมผัสกับความเคลื่อนไหวของลมหายใจไปเรื่อย ทีแรกมันก็หนักแล้วมันก็จะค่อยเบาลง พอมันหยุด เรารู้สึกความเคลื่อนไหวของลมหายใจหยุด หยุดตรงไหน จิตที่กำลังจดจ่อหยุดตรงนั้นด้วย แล้วก็ทีนี้ค่อยๆ ตามออกมา พอมันหยุด แล้วมันก็ต้องออก มันไม่ทะลุไปถึงไหน มันก็ต้องออกกลับมา เราก็กำหนดความรู้สึกตามลมหายใจนี้ออก เรียกว่ารับมันเข้า ควงแขนมันไป เกี่ยวก้อยมันไป แล้วก็เกี่ยวก้อยมันออกมา ลมหายใจหยุดตรงไหน มันหยุดตรงนี้ ความจดจ่อก็หยุดตรงนี้ มันหยุดตรงนี้ ก็จดจ่อก็หยุดตรงนี้ แล้วก็ตามเข้าตามออก เพราะฉะนั้นที่ว่า รู้ลมหายใจ โปรดเข้าใจให้ถูกต้องนะคะ รู้ด้วยสัมผัส สัมผัสด้วยความรู้สึก ไม่ใช่รู้เพราะคิด หายใจมาตั้งแต่เกิด มันก็หายใจออก แล้วก็หายใจเข้า ไม่ใช่อย่างนั้น เราหายใจอย่างไม่มีสติมาตั้งแต่เกิด ถึงได้คิดผิด พูดผิด ทำผิด อยู่เรื่อยๆ แล้วก็เสียใจอยู่เรื่อยๆ
บัดนี้เราจะรู้ลมหายใจ เพื่อจะเรียนการที่จะใช้มันเป็นเครื่องมือในการกำหนดนะคะ เพราะฉะนั้นนี่คือรู้ลมหายใจ ยืนเฉยเสีย จนกระทั่งรู้สึกว่าจิตรู้อยู่กับลมหายใจ สัมผัสลมหายใจที่เคลื่อนไหวเข้าออกจนพอใจ สงบ ก็เดินต่อจนถึงปลายทาง พอถึงปลายทาง เราก็ต้องกลับตัว ก็จะมีคำถามว่า หันซ้าย หรือหันขวา คำตอบก็คือ ไม่สำคัญ ซ้ายก็ได้ ขวาก็ได้ตามถนัด แต่ขอให้จิตนั้นจดจ่ออยู่กับลมหายใจตลอดเวลา นี่คือจุดสำคัญ จุดสำคัญ คือต้องรับรู้ สัมผัสกับลมหายใจตลอดเวลา เข้าใจใช่ไหมคะ อานาปานสติ คือใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนด เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปกังวลกับเท้าว่ามันจะก้าวซ้ายก่อนหรือขวาก่อน มันจะยกยังไง จะย่างยังไง จะเหยียบยังไง ไม่สำคัญ ขอให้จิตอยู่กับลมหายใจ ถ้าจิตอยู่กับลมหายใจ รู้ลมหายใจทั้งเข้าและออกตลอดเวลา จิตมันสงบนิ่ง และเราก็พูดแล้วใช่ไหมคะว่า ชีวิตประกอบด้วยกาย จิต จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว แข็งก้าวขาไม่ค่อยออก หรือออกก็สั่นๆ หรือบางทีก็เซ เซซ้าย เซขวา เป็นธรรมดาค่ะ เป็นธรรมดา ไม่ใช่ความผิดอะไรเลย แล้วก็ไม่ใช่ความอ่อน ไม่ใช่เป็นสัญญาณว่านี่จะปฏิบัติไม่ได้ ไม่ใช่เลย เป็นของธรรมดา ทำต่อไป อย่าไปเอาใจใส่มัน มันจะเซก็ให้เซ ดึงตัวกลับมาใหม่ มันจะกระตุก ก็ยืนเฉยเสีย เอาสติตรงยืน แล้วค่อยๆ เดินต่อไปใหม่ เพราะฉะนั้นจุดสำคัญก็คือ จงกำหนดรู้ที่ลมหายใจทุกขณะที่เดินไปเดินมา แล้วก็เดินเป็นทางตรง แล้วก็ไม่ใส่ใจกับใคร เผอิญอากาศมันร้อน ที่มันแคบไปหน่อย จะเดินไปใกล้กับเพื่อนฝูง ก็ให้รู้สึกเหมือนกับเราเดินคนเดียว ไม่มีใคร ไม่ต้องไปหมั่นไส้ ไม่ต้องไปรำคาญ ทำไมคนนี้ก็ต้องมาเดินใกล้ฉัน ที่มีตั้งเป็นก่ายเป็นกองไม่ไป มาเบียดอยู่ตรงนี้ ใจเราเบียดใจเราเอง ใช่ไหมคะ ใจเราเบียดใจเราเอง ไม่ใช่ใครมาเบียดเรา เพราะฉะนั้นไม่ต้องสนใจ นี่คือวิธีเดินจงกรม เดินง่ายๆ อย่างนี้ แต่ต้องเลือกจุดนะคะ ระยะทางที่ท่านแนะนำเอาไว้นั้น ท่านบอกว่า ควรจะเป็นระยะทางยาวไม่น้อยกว่ายี่สิบห้าก้าว แต่ทีนี้เนื่องจากแดดมันมาก อากาศมันร้อน จะหาทางยี่สิบห้าก้าว หรือห้าสิบก้าวก็คงยาก แต่อย่างน้อยก็ไม่ควรน้อยกว่าสิบห้าหรือยี่สิบก้าว ถ้ามันน้อยเกินไปการที่จะต้องกลับตัวคือหันตัวนี่ค่ะ มันเร็วเกินไป พอเร็วเกินไปเข้า บางทีความสงบในจิตมันยังควบคุมไม่ทัน ท่านจึงแนะนำว่า ห้าสิบก้าวนี่สบายๆ จะทำให้จิตมีความสงบมากขึ้น ฉะนั้นถ้าท่านผู้ใดสามารถเลือกได้ถึงห้าสิบก้าวก็จะดีทีเดียว ก็ขออธิบายเรื่องการเดินจงกรมเพิ่มเติมนะคะ ต่อไปนี้เป็นการเดินจงกรม ก็โปรดหาที่เดินตามที่รู้สึกสะดวก ขอบคุณค่ะ เชิญพักได้ แล้วก็เดินจงกรม