แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คำถามต่อไปว่า การทำวัตรเช้า-เย็นควรจะเป็นเวลากี่โมง
คำตอบ ถ้ากลับไปบ้านแล้วก็ถือความสะดวกเฉพาะตน เราจะสละเวลาได้ตอนไหนที่ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับการเรียนหรือการทำงานเป็นเวลาที่ปลอดโปร่ง ที่จะไม่ถูกรบกวนเลือกเวลานั้นอาจจะเป็นเวลาก่อนนอนหรือเป็นเวลาตอนเช้า เมื่อตื่นขึ้น ทำความสะอาดตัว มีเวลาก่อนจะไปเล่าเรียนหรือว่าก่อนจะไปทำงาน อันนี้ต้องดูเอาเองเฉพาะตัว เช่นเดียวกับการนั่งสมาธิ จะนั่งเวลาไหนก็อีกเหมือนกัน แต่การนั่งสมาธินั้นต้องมีความพร้อม อย่างที่พูดเมื่อคืนก่อน พร้อมกาย กายก็สบาย ไม่อึดอัด ไม่แน่น ไม่หิวโหย ชุ่มชื่นเบิกบาน ใจก็พร้อม พร้อมที่จะรับธรรม มีความยินดี มีฉันทะในการนั่งสมาธิ เพราะฉะนั้นก็เลือกเวลาเอานะคะ แต่ก็สนับสนุนที่จะให้ทำเป็นประจำตามแต่จะสละเวลาได้ สัก 15 นาทีอย่างน้อย หรือ 20 นาที ครึ่งชั่วโมง 1 ชั่วโมง แล้วแต่ ถ้าทำวัตรเสร็จ นั่งสมาธิ หรือบริหารกายนั่งสมาธิ จะช่วยให้การทำสมาธิที่ติดต่อกันนั้นมีความต่อเนื่อง และความสงบก็เกิดขึ้นได้โดยง่าย จะเป็นเวลายาวนานเท่าไหร่ก็แล้วแต่ความสะดวกอีกเหมือนกัน แต่ควรจะสม่ำเสมอ และระยะเวลานั่นก็อย่าให้น้อยบ้าง อย่าให้น้อยบ้าง หรือว่ามากบ้างตามแต่อารมณ์ ถ้ากะ 20 นาทีก็ให้ 20 นาที ครึ่งชั่วโมงก็ให้ครึ่งชั่วโมงและก็ไม่ต้องตั้งนาฬิกาปลุก ไม่ต้องตั้งนาฬิกาเอาไว้นะคะ เพราะประเดี๋ยวหูจะคอยเงี่ยฟังเมื่อไหร่จะกริ่ง เมื่อไหร่จะกริ่ง พอนั่งไม่ได้ก็เมื่อไรจะกริ่ง
เพราะฉะนั้นแทนที่จิตจะอยู่กับลมหายใจก็ไปอยู่ที่คอยเสียงนาฬิกา ถ้าเราฝึกปฏิบัติจนกระทั่งมันเป็นนิสัยจะรู้เวลาเอง ถึงเวลา 30 นาทีที่ตั้งใจไว้ มันก็จะค่อยๆ ถอนออกเอง เหมือนอย่างการกำหนดใจให้ตื่นตอนเช้าก็ทำได้เหมือนกัน ทีนี้จะต้องมีครูบาอาจารย์ผู้เป็นต้นแบบคอยชี้แนะแนวทางในการนั่งสมาธิหรือไม่ ไม่ต้อง ไม่จำเป็นเลย ถ้าลองไปอ่านในพระไตรปิฎก ในพระสูตร ถึงเวลาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงสอนบรรดาพระพุทธสาวกทั้งหมาย ท่านก็สอน ท่านอธิบายให้ฟังทั้งเนื้อหาทฤษฎีและก็สอนวิธีปฏิบัติ พอเสร็จแล้วท่านก็จะบอกไป ให้แยกย้ายกันไปปฏิบัติ โน่นโค่นต้นไม้ ถ้าถูกต้องแล้วไปทำเอง ไม่ต้องมีครูบาอาจารย์มานั่งคอนกำกับ และมาคอยสอบอารมณ์ เรานี่แหละสอบอารมณ์ของเราได้ ไม่ต้องไปสอบคนอื่น นึกถึงง่าย ๆ ผู้ที่จะเป็นครูแนะแนว ในนี้ไม่ทราบท่านผู้ใดเป็นครูแนะแนวอยู่ในนี้ ผู้ที่เป็นครูแนะแนว ที่แรกเราก็ไม่ได้มีความรู้ความชำนาญในการแนะแนว มีแต่ทฤษฏี แต่พอเราทำการแนะแนวกับเด็กไปสักปีนึง พอเด็กเดินเข้ามาเท่านี้รู้ไม๊ว่าเด็กคนนี้มีปัญหาอะไร พอเอ่ยปากพูดเล่าให้ฟัง ไม่ต้องพูดจบ เรารู้ไม๊ว่าเด็กคนนี้มีปัญหาอะไร และเราจะตอบจะแก้อย่างไร ทำได้ มีความชำนาญ เราบอกได้เลย เพราะฉะนั้นถ้ารู้คำสอนที่ถูกต้อง จะขอเน้นนะคะ คำสอนที่ถูกต้องจำเป็น ถ้าคำสอนที่ผิด ยิ่งคำสอนที่บอกว่าต้องมาอยู่กับครูบาอาจารย์ ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์แล้วจะเป็นบ้า เป็นโรคประสาท นั่น ดิฉันอยากจะขอพูดว่า เป็นคำสอนที่สวนทางกับคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เพราะว่าพระบรมศาสดาของเราทรงสอนว่าอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น คือ ต้นเหตุของความทุกข์ อุปาทาน คือ ต้นเหตุของความทุกข์ ไม่ว่าจะยึดมั่นถือมั่นในอะไร แม้จะยึดมั่นถือมั่นในตัวครูบาอาจารย์ก็เป็นทุกข์ แล้วครูบาอาจารย์จะอยู่ค้ำฟ้าได้เหรอ วันหนึ่งก็ต้องตายไป ตายไปในขณะที่ลูกศิษย์ยังไม่จบ ยังไม่ไปถึงไหน ลูกศิษย์ก็เลยตายทั้งเป็นอยู่ตรงนั้นเอง เพราะฉะนั้นคำสอนที่ถูกต้องนี่แหละสำคัญ แล้วก็จะเป็นหนทางที่บอกให้รู้ด้วยว่า เราจะสอบการปฏิบัติของเราว่าทำได้ถูกต้องหรือไม่ เป็นไปได้หรือไม่ มีปัญหาเกิดขึ้นจะแก้ไขอย่างไร คำสอนที่ถูกต้องจะบอก เพียงแต่ว่าผู้ปฏิบัติที่ฟังอย่างใส่ใจ ให้เข้าใจจริงๆ แจ่มแจ้งแค่ไหนนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเข้าใจถูกต้องแล้ว ไม่จำเป็นเลย เรานี่แหละสอบอารมณ์ของเราได้ ถ้าเรามีความซื่อตรงต่อการปฏิบัติ ต้องซื่อตรงต่อการปฏิบัติ ไม่หลอกลวงตัวเอง แต่ที่นี้ผู้ปฏิบัติบางคนหลอกลวงตัวเอง หลอกว่าฉันได้ Ego มันเข้ามาหลอก มันเข้ามาหลอกตัวเองว่าฉันได้ ฉันทำได้ ฉันทำได้อย่างนั้นอย่างนี้ เวลาเพื่อนคนไหนที่พูดซื่อ ๆ ว่าตรงนั่นไม่ได้ ตรงนี้ไม่เป็นอย่างนั้น ก็จะคุยทับถม Ego มาทับถมเขานั่นแหละ ผู้นั้นอันตรายมากและจะไม่มีวันปฏิบัติไปถึงไหน ฉะนั้นไม่ต้องกลัวว่าจะต้องมีครูบาอาจารย์ ขอให้รู้เถอะว่าขณะที่ปฏิบัติไป เมื่อใดที่เกิดความเครียดผิดแล้ว จำเอาไว้ง่าย ๆ นะคะ เมื่อใดที่เกิดความเครียดขึ้นมา ผิดแล้ว การปฏิบัตินั้นผิดแล้ว ย้อนคิดไปดูทีเดียวนิวรณ์ตัวไหนกำลังรบกวน อะไรเข้ามาเป็นอุปสรรค ความอยาก ความหวัง ความต้องการใช่ไหม เปลี่ยนเสียใหม่ ฉะนั้นที่ดิฉันเน้นคำว่าธรรมชาติ ธรรมชาติ ทำให้เป็นธรรมชาติ เพราะไม่ต้องการให้เครียด ก็หายใจมาตั้งแต่เกิด ทำไมถึงไม่ตายเพราะหายใจ ทำไมถึงไม่เครียดเพราะหายใจ เพราะเราไม่ได้ตั้งอกตั้งใจจะทำให้ได้ใช่ไหมคะ หายใจก็เลยไม่เป็นอุปสรรค คราวนี้พอเราตั้งใจจะทำ มันเครียด เพราะฉะนั้นเครียดเมื่อใดไม่ถูกแล้ว
คำถามต่อไป เมื่อใช้สติตามดูความง่วงไปจนถึงที่สุด อยู่ๆ ความง่วงก็หายไป รู้สึกว่ามีความสว่างเหมือนกับลืมตาทั้งๆที่หลับตาอยู่ อีกสักพักมีความรู้สึกเหมือนอะไรไม่ทราบคลายตัวอยู่ข้างในทุกอย่างก็หมดไปตลอดเวลานี้มีสติอยู่ นึกว่าคงเป็นธรรมดาของจิต แน่ใจว่าไม่ใช่ฝันเพราะรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลาใช่หรือไม่
คำตอบ ใช้สติตามดูความง่วง ถ้าหากว่ามีสติอยู่จะไม่ง่วง ยกเว้นสติมันรางเลือน ความง่วงมันจึงเข้ามา ฉะนั้นที่ว่าใช้สติดูความง่วงจนถึงที่สุด ก็ลองดูอีกทีว่าจริงอย่างนั้นหรือเปล่า จะไปเสียเวลาดูทำไม ทำไมไม่ใช้ลมหายใจขับไล่มันไป เสร็จแล้วก็ปฏิบัติให้มันถูกวิธี จิตก็จะกลับคืนสู่ความแจ่มใส ที่บอกว่าไม่รู้ว่ามีอะไรคลายตัวอยู่ข้างใน ไม่ต้องไปนึกดูว่าอะไรมันคลายตัว เพราะสิ่งที่เรามาปฏิบัติก็มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้จิตสงบ เป็นสมาธิ แล้วใช้จิตที่สงบและเป็นสมาธินั้นใคร่ครวญธรรมจนประจักษ์ชัดในธรรม นี่คือจุดมุ่งหมายเพราะฉะนั้นอะไรที่มันจะเกิดขึ้นที่มันงอกทางนี้ให้ถือเสียว่าไม่ใช้สิ่งที่จะต้องใส่ใจ เมื่อมันเกิดก็รู้ให้มันเกิด มันเกิดแล้วก็ไม่ได้อยู่ เกิดแล้วก็ดับไป ให้รู้ว่าเกิดแล้วก็ดับ แล้วก็ดึงจิตกลับมาปฏิบัติในหนทางที่ถูกต้องต่อไป โดยไม่ต้องเอาวิจิกิจฉา นี่นิวรณ์ตัววิจิกิจฉาเข้ามากั้นกลางทำให้เสียเวลาในการปฏิบัติ สู้ปฏิบัติต่อไปดีกว่า อะไรที่เกิดก็เพียงสักแต่ว่าเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ที่ดิฉันพูดอย่างนี้ก็เพราะว่าไม่อยากให้เสียเวลา ที่ว่าไม่อยากให้เสียเวลาเพราะว่าเราแต่ละคน เราไม่รู้หรอกว่าเรามีเวลามากน้อยแค่ไหน เด็กหนุ่มเด็กสาวก็จะทะนงตนอีกนานกว่าฉันจะตาย คนแก่ต้องตายก่อน มีอะไรตามคิวบ้างในธรรมชาตินี้ มีอะไรตามคิว ไม่มีอะไรตามคิว พอผลุดจากครรภ์ของมารดาหายใจได้ไม่กี่อึดเลย นิ่งแล้ว หยุดไปแล้ว อายุ 3 ขวบ 5 ขวบ กำลังน่ารักน่าเอ็นดู ปู่ย่าตายายใจจะขาดใจตายเสียแล้ว บางทีคนที่ลูกหลานนึกเมื่อไหร่จะตาย ๆ ขี้บ่นจู้จี้ เอาแต่ใจตัว ลูกหลานไม่มีเวลาอยู่ไป 90 ก็ไม่ตาย เห็นไหมคะ เอาอะไรไม่ได้ มีอะไรที่เป็นของเที่ยงของแน่เลยสักอย่างเดียว เพราฉะนั้นจึงไม่ควรประมาท ไม่ควรใช้เวลา ไปเสียเวลาไปกับสิ่งที่ไม่ใช่หนทาง เรารู้แล้วว่าหนทางที่เราจะเดินไปไหน เหมือนอย่างเราต้องการออกไปถนน ออกจากเสถียรธรรมสถาน ประตูก็อยู่ตรงนั้น ถ้าเราต้องการจะออกไปเร็วเพื่อให้ถึงที่หมาย เราก็เดินลัดตัดตรงไปเลย ถ้าจะมัวชมภูเขานีซะหน่อย แหมเขาสร้างไว้สวย นั่นต้นลั่นทมก็งาม นั่นต้นอโศก ต้นโมกข์ ต้นอะไรต่อมิอะไร ดอกบัว ยืนชมแวะเวียนไป เขานัดเอาไว้ 10 โมง 4 ทุ่มก็ยังไม่ถึง เพราะฉะนั้นไม่ต้องเสียเวลา ถ้าเราต้องการจะปฏิบัติ เพราะเราไม่รู้ว่าเวลาเรามีมากแค่ไหน ผู้ที่ประมาทว่าฉันยังไม่ตายนั่นแหละ พอมันกำลังจะหยุดหายใจ โถเสียดาย เสียดายเท่าไหร่ก็ไม่มีเวลาทำ เพราะฉะนั้นอย่าประมาทเมื่อเรารู้ว่าเราควรจะทำอย่างนี้ เวลามีควรรีบทำทันที อย่าลืมว่าเมื่อประมาทก็คือขาดสติ