แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ
03:17 คุณแม่คะการให้ทานมีอะไรบ้าง อานิสงส์ของการให้ทานมีอะไรบ้างคะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง
ธรรมะสวัสดีก่อนนะคะ ธรรมะสวัสดีต่อคุณประสบพร ธรรมะสวัสดีต่อผู้ฟังทุกท่านด้วย เรื่องของทานก็คือการให้อย่างที่ว่าแล้วนะคะ ทีนี้การให้ก็อาจจะให้ได้หลายอย่าง ให้วัตถุก็ได้ หรือว่าจะให้ความรัก ให้อภัย ให้อะไรๆ นี่ ถ้าหากว่าเรียกว่าเป็นการให้ นั่นคือหมายถึงการให้ทาน ทีนี้การให้ทานนั้นนี่ ถ้าจะเป็นการให้ทานอย่างชนิดที่เป็นบุญกุศลนะคะ ท่านก็บอกว่า การให้ทานนั้นควรจะมีลักษณะเป็นการช่วยเหลือ ช่วยเหลือผู้ที่กำลังต้องการความช่วยเหลือในลักษณะต่างๆ แล้วแต่กรณีนะคะ หรือทานนั้นจะต้องมีลักษณะเป็นการบูชาคุณ คือบางทีการทำทานนั้นไม่ใช่เป็นการช่วยเหลือแต่เป็นการบูชาคุณ ทีนี้บูชาคุณเช่นอย่างไร ก็ขออธิบายขยายความนะคะ ว่าบูชาคุณนี้เป็นยังไง ก็เหมือนอย่างเช่นเราทำบุญให้คุณพ่อคุณแม่ หรือว่าท่านผู้มีพระคุณ นั่นก็คือการที่ให้ทานเพื่อบูชาคุณอย่างหนึ่ง หรือบางทีเราอุตส่าห์สะกดกลั้นความโกรธ สะกดกลั้นความที่อยากจะทำอะไรๆ ที่ไม่ดีๆ นี่ เพราะเราเห็นแก่คุณพ่อคุณแม่ที่ท่านยังมีชีวิตอยู่นี่ เราไม่ทำ นี่ก็เป็นการให้ทานเหมือนกัน เป็นการบูชาพระคุณ ทีนี้บางท่านผู้ฟังอาจจะรู้สึกว่าก็ไม่เห็นควักอะไรออกมาให้เป็นชิ้นเป็นอันเลย ทำไมถึงจะเรียกว่าเป็นการให้ทานที่เป็นการบูชาพระคุณ ก็นี่แหละเป็นการให้อย่างยิ่งใหญ่แล้ว เพราะการที่จะสะกดกลั้นอารมณ์ความรู้สึกของความโกรธ หรือการที่ต้องการจะทำอะไรที่ไม่ดีๆ เพื่อให้เป็นการประชดชีวิต หรือสะใจตัวเอง แต่เอาเถอะไม่ทำเพื่อเห็นแก่พ่อแม่ เดี๋ยวคุณพ่อคุณแม่จะเสียใจจะต้องเจ็บปวดขมขื่น นี่แหละเป็นการให้ทานกิเลสออกไป สละกิเลสออกไป เป็นการทำทานที่บูชาพระคุณอย่างยิ่งใหญ่เลย หรืออย่างเราชาวพุทธทั้งหลายนี่นะคะ เราก็เป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า หรือพูดง่ายๆ ก็เป็นลูกของพระพุทธเจ้าด้วยกันทุกคน ลูกชายลูกสาวของพระพุทธเจ้า และเมื่อเวลาที่เราไปวัด เราไปรับศีลฟังเทศน์ เราก็มักจะรู้สึกน้อมใจไปในศีล น้อมใจไปในธรรม แต่พอถึงเวลากลับบ้าน หรือมาที่ทำงาน เรามักจะทำอะไรๆ อย่างชนิดลืมหมดเลย ลืมศีล ลืมธรรมที่เคยได้ฟังมา แต่เสร็จแล้วขณะใดขณะหนึ่งนึกขึ้นได้ กลั้นใจไม่ยอมทำ ตายก็ไม่ทำสิ่งที่เป็นความชั่วอันนี้ไม่ทำ เพื่อบูชาคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ท่านทรงพระคุณอันประเสริฐต่อสัตว์โลกทั้งหลาย นี่คือความหมายที่บอกว่า การทำทานนั้น นอกจากเป็นลักษณะของการช่วยเหลือแล้ว ก็เป็นลักษณะของการบูชาคุณ หรือเป็นลักษณะของเป็นการลดกิเลสของตนเอง ซึ่งอันนี้เป็นก็ตัวอย่างอย่างเช่นยายคนจนนั่นแหละนะคะ ก็เป็นการลดกิเลสของตนเอง หรือการให้ทานเพื่อเป็นการบูชาพระคุณอย่างที่ตัวอย่างที่คุณแม่พูดมา นั่นก็เป็นการลดละกิเลสของตนเองไปด้วยในตัวเหมือนกัน ฉะนั้นทานที่ถูกต้อง หรือพูดง่ายๆ ก็คือว่า ทานที่เป็นสัมมาทิฏฐิจะมีลักษณะอย่างนี้นะคะ
7:22 ทีนี้ประเภทของทาน ถ้าเราจะพูดว่าเราลองแยกประเภทของทานจะแยกได้ไหม ก็แยกได้เหมือนกัน อย่างหนึ่งก็คือทานที่ต้องมีผู้รับ อีกอย่างหนึ่งก็คือทานที่ไม่ต้องมีผู้รับก็ได้ เดี๋ยวเราจะขยายความกันต่อไปนะคะ ที่ว่าไม่มีผู้รับนั้นเป็นยังไง ทีนี้สำหรับทานที่มีผู้รับก็เช่นวัตถุทาน ซึ่งอันนี้เข้าใจนะคะ อาจจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง ข้าวของเครื่องใช้ อาหาร หรืออย่างอื่นๆ ตามแต่จะอนุเคราะห์ซึ่งกันและกัน ซึ่งวัตถุทานนั้นก็ให้ในลักษณะต่างๆ กัน แต่ในการที่จะให้วัตถุทานนี้ถ้าจะให้เกิดเป็นบุญเป็นกุศลจริงๆ มันก็มีหลายปัจจัย หลายองค์ประกอบที่น่าจะต้องคำนึงถึงเหมือนกัน เช่นสิ่งที่จะให้ สิ่งที่จะให้นี้มันคืออะไร เป็นสิ่งที่เหมาะสม ที่สมควรไหม เกิดประโยชน์ที่แท้จริงไหม นี่อย่างหนึ่งล่ะ นอกจากนั้นผู้ที่จะให้ คือผู้ที่จะรับทานเป็นใคร เหมาะสมไหมในการที่จะให้ทานสิ่งนี้แก่เขา โอกาสที่จะให้ เวลาที่จะให้ สถานที่ที่จะให้ ถ้าหากว่าทุกอย่างนี่มันเหมาะสมถูกต้อง ทานนั้นก็จะเกิดผลใหญ่ จะเกิดผลอย่างน่าชื่นใจ ทีนี้เหมือนอย่างที่ว่าสถานที่ที่จะให้ ทำไมถึงต้องนึกถึงสถานที่ด้วย ก็ลองนึกดูว่า ถ้าเราอยากจะให้ทานที่เป็นวัตถุทานนี่นะคะ แล้วก็ เราก็มีของไปสักถุงนึงนะคะ ถุงใหญ่ ก็จะไปให้ พอไปถึงกลางตลาด มารับทานกัน นึกถึงภาพจะเกิดอะไรขึ้นจากการรับทานนั้น [คุณประสบพร: ความโกลาหลค่ะ] ใช่ค่ะ โกลาหล ชุลมุน เบียดเสียด ทะเลาะวิวาท แย่งชิงตามกันมา นี่คือหมายถึงสถานที่ แต่ถ้าสถานที่นั้นเหมาะสม ผู้ที่จะรับทานก็มาอย่างชนิดมีจิตเคารพในทาน แล้วก็ผู้ที่ให้เองก็มีลักษณะอาการของความเคารพในการให้ ไม่ใช่เป็นการให้อย่างชนิดดูถูกเหยียดหยามว่าผู้รับนี่ต่ำกว่าเรา ด้อยกว่าเรา ขาดแคลนยากจนคนไม่มีถึงต้องมารับจากเรา เราเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ถ้าคิดในลักษณะนั้นแล้วนี่ ทานมันหมดความหมายไปเลย มันไม่เกิดผลที่อิ่มเอิบชุ่มชื่นเบิกบานแก่ผู้รับเท่าที่ควร เพราะฉะนั้นเรื่องของการให้วัตถุทานนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันอย่างหยาบๆ ว่าใครมีหรือว่าใจอยากจะให้ก็หว่านไป โยนไป เอาๆ นี่ไป นั่นจะไม่เกิดผลสักเท่าใด มันก็เกิดเหมือนกัน แต่มันเกิดอย่างหยาบๆ อย่างขรุขระ อย่างไม่มีความประณีต เพราะขาดการเคารพในการให้ต่อผู้รับ นี่ก็ประเภทของทานที่ต้องมีผู้รับนะคะ เป็นวัตถุทานได้อย่างหนึ่งล่ะ ทีนี้อีกอย่างหนึ่ง ก็เช่นการให้อภัยทาน ก็ต้องมีผู้รับด้วยเหมือนกัน แต่ว่าบางทีผู้รับอาจจะไม่รู้ก็ได้ว่า นี่เขากำลังให้อภัยทานเรา แต่ในใจของผู้ให้ก็ย่อมจะกำหนดผู้รับอยู่ในใจใช่ไหมคะ ว่านี่เรากำลังให้อภัยแก่ใคร การให้อภัยทานนี่คือให้อะไร ก็คือให้ความไม่มีเวรกันนั่นเอง คุณประสบพรก็คงเคยได้ยิน คนมีความทุกข์ที่อยู่ด้วยกัน ต้องพบปะกัน จะในลักษณะไหนก็ตาม เมื่อไหร่มันจะหมดเวรกันสักที นี่ล่ะค่ะความหมายของเวรนี่ ทำไมจึงรู้สึกว่าเป็นเวร เพราะมันก่อให้เกิดความเคียดแค้น ชิงชัง ขัดเคือง อย่างชนิดที่เป็นอาฆาตพยาบาทอยู่ในใจ ยอมให้ไม่ได้ นึกขึ้นมาเมื่อไหร่มันจะต้องเอาคืนเมื่อนั้น เพราะฉะนั้นอันนี้การให้อภัยทานก็คือ การให้ความไม่มีเวร สิ้นสุดต่อกัน ยกให้ จะเคยทำกันให้เจ็บช้ำน้ำใจด้วยทางกายวาจาใจอะไรสักแค่ไหน ก็สิ้นสุดกันทีไม่เอาอีกแล้ว เพราะฉะนั้นการให้อภัยทานก็ต้องมีผู้รับ ซึ่งกำหนดอยู่ในใจ และองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านก็ทรงสรรเสริญว่า อภัยทานเป็นทานอันสูงสุด ทำไมถึงสูงสุด ทั้งที่ไม่ต้องควักกระเป๋าเป็นเงินล้านเงินพันอะไรทั้งนั้นเลย แต่มันสูงสุดเพราะว่ามันทำยาก การให้วัตถุนี่ทำง่าย ยิ่งคนมีมากก็ให้ได้มากใช่ไหมคะ ควักกระเป๋าได้ง่ายๆ แต่สำหรับคนที่มีวัตถุมากๆ นี่ ถ้าหากว่าจะให้อภัยคนอื่นนี่มันไม่ง่ายเลย มันจะต้องสะกดกลั้นข่มขี่บังคับใจอะไรของตนหลายอย่าง หลายอย่างหลายประการ เพราะฉะนั้นการให้อภัยทานท่านจึงบอกว่า เป็นทานอันสูงสุด แล้วก็อันนี้คุณแม่อยากจะชี้ถึงความวิเศษของพุทธศาสนาของเรา ที่ว่า ที่จริงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านผู้รู้ที่เป็นลูกศิษย์นี่ ต่างก็บอกว่า การที่เราจะทำทานนี่ชาวพุทธทำได้ทุกคน ไม่ต้องบอกว่าฉันไม่ใช่เป็นเศรษฐีไม่มีเงิน ไม่ว่าจะยากจนแค่ไหนก็สามารถทำทานได้ สิ่งที่ทำทานได้นี่ก็คืออภัยทาน เห็นชัดเลยใช่ไหมคะ นี่คือความวิเศษของพุทธศาสนาที่ท่านบอกว่า ทุกคนนี่สามารถจะเป็นเศรษฐีได้เท่ากัน และใครที่ทำอภัยทานได้นั้น จะต้องบอกว่าเป็นมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในโลกเลย เพราะอะไร เพราะว่าเมื่อสามารถทำอภัยทานได้ พอจิตมันหลุด หลุดก้อนเวรก้อนนั้นไป ของความเคียดแค้นอาฆาตพยาบาท หลุดออกไปได้นี่ แหมมันโล่ง โล่ง เบา โปร่งสบาย เป็นสุข อย่างบอกไม่ถูก ซึ่งท่านผู้ฟังที่กำลังฟังอยู่ในขณะนี้ ท่านผู้ใดที่ได้เคยทำอภัยทานแล้ว ย่อมจะประจักษ์และเข้าใจในคำพูดที่พูดนี้เอง ว่าความรู้สึกที่มันเบาสบาย มันเป็นสุข มันรู้สึกเป็นอิสระด้วยนะคะ เป็นอิสระอย่างยิ่ง เป็นอิสรภาพที่ไม่ใช่ใครให้ เราให้ตัวของเราเอง เพราะฉะนั้นการให้อภัยทานนี้จึงเป็นทานอันสูงสุด เป็นทานที่เรียกว่าได้กระทำเพื่อให้เป็นบุญกุศลที่เป็นเครื่องชำระบาปได้อย่างแท้จริง
14:20ทีนี้นอกจากวัตถุทาน อภัยทานแล้ว อีกอย่างหนึ่งก็คือการให้ธรรมทาน คือให้ธรรมะเป็นทาน หรือให้วิทยาทาน คือให้วิชาความรู้เป็นทาน นี่ก็ต้องมีผู้รับด้วยเหมือนกัน ท่านก็ถือว่าการให้ธรรมะเป็นทาน ก็ถือเป็นทานอันประเสริฐอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน เพราะเป็นการที่ก็เช่นเดียวกับที่เราจะรับจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะคะ เรารับฟังธรรมจากท่านมาแล้ว ท่านช่วยชำระใจเราอย่างไร นี่คือธรรมทานที่พระองค์ได้ประทานให้แก่เรา นี่ก็เป็นเรื่องของทานประเภทที่บอกว่าต้องมีผู้รับ ทีนี้ก็มีทานอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ต้องมีผู้รับ นั่นก็คือ ทานที่เรียกว่าจาคะ จาคะถ้าจะแปลความหมายก็คือการบริจาค คือการให้ แต่ไม่ใช้กับคำว่าจาคะกับเรื่องทานโดยเฉพาะนี่ จะหมายถึงการสละสิ่งที่ไม่ควรมี สิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในตัวตนของเรา สละออกไปเสีย อันนี้ก็ยิ่งแสดงอีกเหมือนกันว่า เราสามารถทำทานได้ทุกวัน ทั้งๆ ที่ไม่มีเงินติดกระเป๋า แต่ทำทานได้ทุกวัน นั่นคือสละสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในตัวเรา ทีนี้อะไรล่ะคะที่ไม่ควรมี จะให้คนอื่นบอกนี่มันก็ไม่ชัดเท่ากับบอกตัวเอง ฉะนั้นตอนเช้าตื่นขึ้นพอลืมตาตื่นเต็มที่เรียกว่าไม่งัวเงียแล้ว ควรจะสำรวจใจ วันนี้เรายังมีอะไรค้างอยู่ในใจที่ไม่ควรให้มันมีอยู่ในใจของเรา เพราะถ้ามีแล้วมันจะทำให้วันๆ นี้นี่ กลายเป็นวันของความเศร้าหมอง มันมีเมฆหมอกมัวไปหมด มันสลัวไปหมด มันทำให้จิตใจไม่สว่างไสวเลย ค้นดูสิ่งนั้น ว่าในใจของเรานี่วันนี้ยังมีอะไรเหลืออยู่ ก็เชื่อว่าทุกท่านคงจะนึกได้ เพราะสิ่งที่มันจะทำให้จิตใจเกิดความหมองมัว สลดสลัวไปนี่ มันก็คือสิ่งที่เป็นกิเลสนั่นเอง เพราะกิเลสนี่คือเครื่องเศร้าหมอง ความหมายของกิเลสนั่นคือเครื่องเศร้าหมอง เมื่อใดที่ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันกลายเข้ามาในใจของเรา มาครอบคลุมใจของเราเมื่อใด เมื่อนั้นจิตใจที่เคยแจ่มใส ชื่นบาน อิ่มเอิบ มันจะหุบทันที เหมือนกับดอกไม้ที่ถูกน้ำร้อนลวก กำลังบานมันหุบทันทีเลย พอมันหุบลงไปเท่านั้นนี่ มันก็หมดแล้ว ความสุข ความสบาย เพราะฉะนั้นกิเลสจึงเป็นเรื่องเศร้าหมอง ก็ดูซิว่า นี่กำลังโลภอะไรอยู่ ลองถามตัวเอง นี่กำลังโลภอะไรอยู่ ถ้าไม่โลภ นี่กำลังโกรธอะไรอยู่ จิตมันถึงไม่ผ่อง จิตมันถึงไม่เบิกบาน จิตมันถึงไม่โปร่ง มันต้องมีอะไรแน่ๆ อย่าแกล้งปฏิเสธตัวเอง หลอกตัวเองว่าไม่มี ถ้าขืนหลอกตัวเองอย่างนั้น จะไม่มีวันทำจาคะได้สำเร็จ หรือทำได้ก็ ทำได้กะปริบกะปรอย ก็ไม่สามารถจะเกิดผลอะไรที่น่าชื่นใจได้ หรือว่าเรากำลังหลงอะไรอยู่ นี่ก็นึกอีกเหมือนกัน เรากำลังหลงอะไร สิ่งที่เราหลงนั้นน่ะ มันเป็นสิ่งที่เกิดประโยชน์หรือมันเป็นสิ่งที่ถ่วงดึงให้เราสูญเสียสิ่งที่ควรจะกระทำให้มันมีคุณค่าแก่ชีวิต ฉะนั้นสำรวจดูอันนี้ค่ะ ในความหลงนี่มันดูยากหน่อย เพราะเรื่องของหลงหรือโมหะดูยากมาก แล้วก็คนจำนวนไม่น้อยเลยมักจะบอกว่า ฉันไม่มีแล้ว เรื่องหลง เรื่องโมหะ ฉันไม่มีแล้ว ยังเหลืออีกนิดเดียวคือโกรธ มีได้ยินเสียบ่อยจนกระทั่งเบื่อหูที่จะฟัง เพราะคนที่บอกว่าฉันเหลืออีกนิดเดียวความโกรธนี่ ถ้าอย่างนั้นก็คงจะกำลังบรรลุแล้ว เพราะฉะนั้นจึงเหลืออีกนิดเดียว อันที่จริงความหลงนี่ ที่บอกว่าฉันไม่มีแล้วนี่ ส่วนมาก ขอประทานโทษ เพราะไม่รู้จัก ไม่รู้จักว่าความหลงนี่คืออะไร ความหลงนี่มันคืออะไร โมหะ สิ่งที่เรียกว่าโมหะนี่มันคืออะไร โมหะนี่ก็คือความหลงวนเวียน นี่ถ้าอธิบายอย่างง่ายที่สุดนะคะ ถ้าจะพูดอย่างง่ายที่สุด อาการของโลภะนี่ เราจะสังเกตได้ว่า พอความโลภเกิดขึ้นในใจ มันมีอาการอยากจะทำอะไร มีอาการที่เกิดขึ้น ก็คืออาการที่อยากจะคว้าเข้ามาเป็นของเราใช่ไหมคะ อยากจะดึงเข้ามาเป็นของเรา อยากจะกวาดรวบเอามาเป็นของเราหมด คือดึงเข้ามาหาตัว นี่อาการของความโลภ ฉะนั้นวิธีจะดูว่ามีโลภหรือเปล่า ก็ดูอาการอย่างนี้มันมีอยู่ในใจหรือเปล่า ถ้ามันอยากจะดึงอะไรเข้ามาหาตัว ไม่ว่าเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ แม้แต่สิ่งที่เป็นนามธรรม เช่นอยากได้ความรัก อยากได้ความดีความเด่นชื่อเสียงเกียรติยศ นี่โลภทั้งนั้น นี่คือสังเกตอาการของมัน ทีนี้พอโทสะความโกรธ มันก็ตรงกันข้าม เราโกรธนั่นคือผลักออกไป เราโกรธใคร เหม็นขี้หน้าใคร ชังไม่ชอบ ไปๆ อย่ามาเข้าใกล้ฉัน อย่าเอามาให้เห็นเชียวนะ ไม่อยากใกล้กราย นี่มันตรงกันข้าม ฉะนั้นก็ดูใจอีกล่ะ วันนี้อยากจะผลักอะไร อยากจะผลักอะไรออกไป อยากจะกระทุ้งอะไรออกไป นั่นแหละเรากำลังโกรธแล้ว ก็ดูหาสาเหตุของมันทำไมจึงโกรธ ทีนี้ส่วนความหลงหรือโมหะ มันไม่เหมือนกับโลภหรือโกรธ โลภดึงเข้ามา โกรธผลักออกไป เห็นชัด แต่ว่าโมหะมันคือความวนเวียน มันคิดวนเวียนเหมือนพายเรือในอ่าง นั่นแหละค่ะที่นอนก่ายหน้าผากกันอยู่ทุกคืนๆ นอนไม่หลับ ต้องอาศัยยากล่อมประสาท บางทีก็กินจนชินก็ยังไม่หลับอีก นี่แหละโมหะหรือความหลงที่บอกว่าไม่มีๆ นั่นน่ะค่ะ นี่ละมันวนเวียนคิด คิดวนเวียนอยู่นั่น เรื่องแล้วไม่รู้แล้ว บางทีไม่มีเรื่องอะไรเลย คือว่าถ้าจะดูในสายตาของคนทั่วไป มีสารพัด ไม่มีอะไรที่ขาดในทางโลก แต่ใจนี่มันมีความรู้สึกขาด เพราะโลภไม่รู้พอ อยากจะได้อยู่เรื่อย มีเท่าไหร่ๆ ก็ไม่พอแล้วก็มันก็ไม่ได้มาเร็วสมปรารถนา ก็เลยเอามาวนเวียนคิด หรือว่าโกรธใครทำเขาไม่ได้ อภัยทานนะไม่ต้องพูดถึง มีแต่จะเอาคืน มีแต่จะทำให้ยิ่งขึ้น เบียดเบียนให้มากขึ้น ทีนี้มันไม่ได้อย่างใจ ก็เอามาวนเวียนคิด นี่แหละค่ะคืออาการของโมหะ เพราะฉะนั้นว่าจาคะนี่ สละสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในตน ก็คือขุดค้นดูว่า เรามีกิเลสอะไรบ้างที่อยู่ในตัวตนของเรา และเสร็จแล้วเราก็ค่อยๆ ชำระล้างมันออกไปทีละน้อยๆๆ ทีนี้นอกจากว่าดูอันนี้แล้วนะคะ เราก็ดูอีกว่า ตัณหาความอยากนี่ ความอยากนี้คือต้นเหตุของความทุกข์ เราอยากอะไร อยากอะไรมาก เราอยากชนิดที่ไม่มีรู้อิ่มเลย ก็มองดูทุกข์โทษของอันนั้น แล้วก็พยายามลดละมันออกไป
22:09 นอกจากนี้ก็อุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่น ความยึดมั่นถือนี่แหละคือต้นเหตุของความทุกข์ที่แท้จริง ยึดมั่นในสิ่งใดก็เป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น แม้แต่ยึดมั่นในความดีก็จะต้องเป็นทุกข์เพราะความดี เพราะอะไรพูดง่ายๆ สั้นๆ ที่สุด มัวแต่กลัวว่าเขาจะว่าไม่ดี ทุกข์แล้วใช่ไหม พอทำอะไรก็กังวลเที่ยวถามคนนั้นคนนี้ ดีหรือเปล่าที่ทำไปแล้วใช้ได้ไหม เธอว่าดีไหม ก็ทำไมล่ะเราเป็นคนทำทำไมเราไม่แน่ใจในตัวเอง ถ้าเราทำอย่างเต็มที่เต็มที่มีความสามารถด้วยความอุตสาหะพากเพียร มันก็น่าจะต้องดี ถ้าหากมันเผอิญมีอะไรผิดพลาดเก็บไว้เป็นบทเรียนสำหรับคราวหน้า ไม่ต้องไปยึดถือ ไม่ต้องไปยึดถือเอาจนกระทั่งมันเป็นความทุกข์ เพราะฉะนั้นควรจะดูอันนี้นะคะ ดูว่าอุปาทานนี่เรายึดถือในอะไรที่ทำให้จิตใจเราเป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นทานที่บอกว่าไม่ต้องมีผู้รับนี้ก็คือจาคะ จาคะมันออกไป จาคะมันพยายามทุกวัน วันไหนเหนียวมาก ขี้เหนียว ไม่ยอมจาคะ ขูดออกไปให้ได้สักนิดนึง วันไหนใจกว้างเอาละวันนี้จาคะให้เต็มที่ ก็เอาให้เต็มที่ คือจะได้มากได้น้อยไม่เป็นไร แต่ขอให้พยายามทำ และทานอันนี้เป็นสิ่งที่น่าประพฤติปฏิบัติ น่ากระทำอย่างยิ่ง เพราะมันทำได้ทุกวัน แล้วก็ทำแล้วก็จะเกิดประโยชน์แก่ตัวเอง แล้วก็นอกจากเกิดประโยชน์แก่ตัวเองแล้ว ประโยชน์มหาศาลก็คือว่าจะเกิดแก่เพื่อนมนุษย์ เพื่อนมนุษย์ที่อยู่ไกลอยู่ใกล้ ที่เราเกี่ยวข้องหรือเราไม่เกี่ยวข้องไม่รู้จักก็ตาม เพราะว่าเรื่องของการทำทานนี่ มันเป็นสิ่งที่คล้ายๆ กับเป็นธรรมชาติ เป็นธรรมชาติของมนุษย์นะคะ ที่เราควรจะทำทานซึ่งกันและกัน ทานวัตถุที่เป็นวัตถุบ้าง ถ้าสามารถทำได้ ถ้าไม่มีทาน คือไม่มีกำลังที่จะทำทานอย่างเป็นวัตถุ ก็ทำทานในลักษณะของอภัยทาน หรือวิทยาทาน หรือธรรมทาน แล้วก็ทานในลักษณะของจาคะ คือสละสิ่งที่เป็นเครื่องเศร้าหมองทั้งปวงในจิตของเรานี่ออกไป พูดง่ายที่สุดก็คือสละความเห็นแก่ตัวออกไป ความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนออกไป แล้วจะนำความสุขมาสู่ไม่เฉพาะแต่ตนเอง แต่จะนำความสุขมาสู่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้ร่วมบ้านก่อนล่ะ ญาติพี่น้อง คุณพ่อคุณแม่ หรือสามีภรรยา ลูกเต้า ตลอดจนทั้งเพื่อนร่วมงาน แล้วก็เพื่อนมนุษย์ในสังคม การเบียดเบียนกันทุกวันอย่างที่เราอ่านพบในข่าวหนังสือพิมพ์ หรือได้ฟังจากวิทยุ ดูโทรทัศน์ จะลดน้อยลง เดี๋ยวนี้ก็มีแต่พูดถามกันว่าทำไม ทำไมคนถึงเบียดเบียนกัน ทำไมถึงอย่างนั้นอย่างนี้ ทำไมถึงกินอะไรกันเก่งเหลือเกินทั้งๆ ที่ไม่ใช่สิ่งที่น่าจะกิน นี่แหละเพราะไม่รู้จักจาคะ ไม่รู้จักการที่จะสละสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในตน โดยเฉพาะสละความเห็นแก่ตัวออกไป ฉะนั้นนี่ก็เป็นเรื่องของทาน ถ้าเราจะพูดก็ยังพูดได้อีกเยอะนะคะ