แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
รู้สึกว่าไม่ปลอดภัยนี่ มันก็สังขารปรุงแต่งไปเรื่อยๆนะคะ โดยที่ตัวเขาครุ่นคิดถึงมันตลอดเวลาและคิดว่าเป็นปมด้อยเมื่อเวลาพูดจาไม่กล้าสบตาโดยตรงเพราะคิดว่าคู่สนทนาต้องคิดเรื่องขาของตนเอง การแก้ไขอย่างไร
โธ่จำเรื่องเด็กชายมะลิวัลย์หน่อยซิ จำได้มั๊ย เด็กชายมะลิวัลย์ที่เพียงแค่ขาเป๋แล้วก็นั่นน่ะอยู่ประถมเท่านั้นน่ะและเพื่อนประถมด้วยกันน่ะ อุตส่าห์ถามแกไปแกจะเอาขาแกไปด้วยหรือเปล่านี่น่ะ อ้าวขาของเราก็ต้องเอาไปด้วยซิ ถ้าเอาไปด้วยเขาก็ต้องล้ออยู่เรื่อยล่ะ ไปไหนเขาก็ต้องล้อ แล้วทำไมเราถึงจะต้องมีปมด้อยเพราะเพียงแค่นี้มองตาใครไม่ได้นี่จะเป็นใครก็ตามเป็นปัญหาของเพื่อนที่ถามมาให้ก็ตามนะคะ
อย่าลืมเราพูดกันว่าชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาและพัฒนาได้ นึกถึงดอกเตอร์ จอร์จ วอชิงตัน คาร์เวอร์ เป็นเด็กนิโกรผิวดำตัวเล็กแกร็นนิดเดียวบุคลิกลักษณะไม่เห็นน่านับถือเลย แต่ทำไมล่ะเขาถึงยังเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มนุษย์จำได้ มีผู้เขียนอัตชีวประวัติได้รับคำยกย่องสรรเสริญเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ไม่เคยใช้วิชาวิทยาศาสตร์หรือความรู้วิทยาศาสตร์มาคิดอะไรที่เป็นสิ่งทำลายโลกเลย หรือเฮเลน เคลเลอร์ ทั้งตาบอดทั้งหูหนวกทั้งเป็นใบ้ทำไมเขากลายเป็นคนที่โลกจำได้ไม่ลืม ถ้าเราคิดพัฒนาตัวเราเอง ลืมเสียนี่ นึกถึงคนอื่นนึกถึงคนอื่นที่เขายิ่งกว่าเรา นึกถึงคนอื่นที่เขายิ่งกว่าเราเท่านั้นแหละจะเกิดกำลังใจขึ้นมาทันที แล้วก็ฝึกสมาธิให้มากให้จิตใจมั่นคงแล้วก็เปลี่ยนความกลัวการกระทำที่ถูกต้อง ความมั่นใจจะเกิดขึ้น
ความเมื่อยขบ ความเมื่อยถือเป็นนิวรณ์ตัวไหน
ถ้าเมื่อยจนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่ายหงุดหงิดก็เป็นพยาบาท เมื่อยจนเกิดความเหนื่อยหดหู่ก็เป็นถีนมิทธะดูเอาเอง
ขณะลงมือทำขั้นที่ 4 หาลมหายใจเข้าไม่เจอ ตามไม่ได้ รู้แต่เฉพาะตอนมีลมหายใจออกที่ปลายจมูกถือว่าผิดปกติหรือไม่
ผิดปกติ เพราะว่าบอกแล้วไงคะว่าเราจะพยายามหาจุดสัมผัส เพราฉะนั้นต้องเริ่มในการหายใจแรงเราก็จะได้รู้ พอแรงแล้วก็จับจุดสัมผัสที่ลมหายใจจะสัมผัสแตะเข้าและออกได้แล้วค่อยๆควบคุมให้มันสงบระงับเป็นเบาๆเป็นช้าๆ เป็นบางละเอียดยิ่งขึ้นตามลำดับ
อวิชชาที่จะพูดบ่ายวันนี้ไม่ต้องอธิบายต่อและก็ถามว่าเคยนั่งสมาธิปวดหลังเมื่อยขาชาบ้างไหม
เคยๆมาสารพัดน่ะ ก็ที่นั่งยกขาขึ้นยกขาลงไม่น่าดูนี่เพราะอะไร ก็เพราะมันปวดเมื่อยแต่ก็อย่าลืมว่าอายุต่างกันมากนัก เพราะฉะนั้นเมื่ออายุขนาดนี้ไม่ยี่หระเลย คำว่าไม่ยี่หระ จะนั่งสักเท่าไหร่ก็นั่งได้จะยืนสักเท่าไหร่ก็ยืนได้นี่อายุ 70 แล้วเพราะฉะนั้นก็การปวดเมื่อยการเมื่อยเป็นของธรรมดา แต่เราก็ไม่ถือว่าหงุดหงิด ถ้าหงุดหงิดก็สอนไม่ได้รำคาญแต่นี่ก็พลิกไปเปลี่ยนไปเพื่อไม่ให้มันชาเพื่อไม่ให้มันเมื่อย แต่ก็บอกได้ว่าหากเรามีจิตใจที่เข้มแข็งปวดเมื่อยเท่าไหร่นี่ สมาธิคือทำจิตให้เป็นสมาธิสามารถที่จะขับไล่ความปวดเมื่อยได้ ถ้าหากว่าใครไม่เคยมีปัญหาเกี่ยวกับทางร่างกายคือหมายความว่าไม่เคยมีแข้งขาหักหรือว่าผ่าตัดอะไรมานะคะ จะลองดูก็ได้มันจะปวดเมื่อยเท่าไหร่ดึงจิตมาข่มอยู่กับลมหายใจให้มันอยู่กับลมหายใจ ให้จดจ่อให้ได้ และขาที่เมื่อยนี่มันแหมมันสั่นเชียวปวดน่ะ ขอโทษที่มันปวดมันเป็นเหน็บมันอะไรนี่ให้มันสั่นเป็นดิกๆ ให้มันสั่นไปยิ่งสั่นก็ยิ่งข่ม เอาจิตอยู่กับลมหายใจยิ่งขึ้นนี่เรียกว่าลองสู้กันสักตั้งนะว่าพลังอะไรจะมากกว่ากันถ้าสามารถทำได้ ไม่นานหรอกความปวดเมื่อยมันจะหายไป แล้วมันจะกลายเป็นเบาสบายถ้าใครคิดว่าจะทดลองกำลังใจก็ลองดูได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้แล้วก็เป็นไปได้อาศัยกำลังใจของสมาธิ แต่ก่อนที่จะกำลังใจของสมาธิเกิดขึ้นก็ต้องทำจิตให้เข้มแข็ง แข็งแกร่งซะก่อน
คำถามส่วนใหญ่คงอยู่ในห้องนี้แล้วนะคะ
บทสวดมนต์ที่ว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าไพเราะในเบื้องต้น ไพเราะในท่ามกลาง ไพเราะในที่สุดหมายความว่าอย่างไร
ก็หมายความว่าธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นประกอบด้วยเหตุด้วยผล มีเหตุที่มาแล้วก็มีการดำเนินไปอย่างไรแล้วก็มีความจบลงคือผลสุดท้ายของเหตุนั้นอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งนอกจากนั้นเมื่อฟังธรรมที่พระองค์ทรงบรรยายจะมีความไพเราะซาบซึ้งกินใจด้วยแก่นสารเนื้อหาสาระตลอดจนกระทั่งท่วงทีของการบรรยาย ภาษาถ้อยคำที่ใช้เหมาะเจาะกับผู้ฟังเหมาะเจาะกับเนื้อหาแล้วก็ตรงจุด คือเมื่อฟังแล้วจะมีแต่ความรู้สึกราบรื่นซาบซึ้งสามารถใคร่ครวญตามได้อย่างกลมกลืนและจิตนั้นก็มีความสงบนิ่งเย็นในรสแห่งพระธรรมนั้น
สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน รวมถึงพระนิพพานด้วยหรือไม่
ไม่มีสิ่งใดเป็นตัวตนเลยสักอย่างแม้แต่พระนิพพาน
ถามถึงรายการธรรมะที่ออกที่พูดเรื่องธรรมะ
ที่มีอยู่ก็ชื่อรายการธรรมะสนทนาออกทางช่อง 11 วันเสาร์ดูเหมือนจะเป็นเวลา 10 โมงเช้า
สุขเวทนาต่างจากกามฉันทะที่เป็นความชอบความพอใจอย่างไร
ที่มีกามฉันทะก็เพราะเห็นว่ามันเป็นสุขเวทนาคือมันทำจิตนี้ให้เกิดความสุขจึงพอใจแล้วก็นึกถึงครุ่นนึกถึงอยู่ในมัน เพราะฉะนั้นก็พูดได้ว่าเพราะรู้สึกว่ามันเป็นสุขเวทนาจึงทำให้จิตนี้เกิดตัณหาอยากจะมีอยากจะได้ในสิ่งนั้นอีกก็นำมาครุ่นคิดอยู่ เมื่อครุ่นคิดถึงมันเรื่อยๆ ก็จิตนั้นก็อยู่ในกามฉันทะคือพอใจนึกถึงในรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัส
ขอให้อธิบายเรื่องความสำคัญตัวว่าตัวเก่งตัวดีตัวไร้ค่า
นี่คือความรู้สึกความรู้สึกที่บุคคลผู้นั้นสรุปเอาเอง สรุปเอาเองจากการกระทำของตนเอง แล้วก็จากความรู้สึกที่เป็นปฏิกิริยาที่สังเกตเอาเองหรือว่านึกเอาเองที่ได้รับจากบุคคลอื่น อาจจะจากเพื่อนฝูงจากญาติพี่น้องจากบุคคลรอบข้างแล้วก็คิดเอาเอง ถ้าเป็นคำชมได้ยินคำชมมากๆว่าเป็นคนเก่งคนสามารถทำอะไรมีความสำเร็จทำได้รวดเร็วว่องไวได้ดีกว่าคนอื่น เมื่อฟังมากๆเข้ามันก็ย้ำๆความคิดแล้วก็ตรงกับใจผลที่สุดวันหนึ่งก็สรุปเอาว่าเราเก่ง หรือเราดีก็เช่นเดียวกันตัวดีก็ได้รับคำชมคนเขาก็ชมว่าเป็นคนดีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือคนอื่นไม่เห็นแก่ตัวเสียสละ ได้ยินคำชมมากๆเข้าก็มาสรุปเอา แต่ถ้าหากว่าเป็นการกระทำด้วยการกระทำที่ถูกต้องถึงแม้สิ่งที่ทำนั้นจะเป็นผลดีผลประโยชน์แก่ผู้อื่นแต่ความรู้สึกยึดว่าตัวดีตัวเก่งมันไม่มี มันจะมีรู้สึกหรือว่าทำให้ถูกต้องทำให้ถูกต้อง แต่ความรู้สึกมันเป็นตัวเก่งตัวดีนั่นเพราะมันมีตัวตนยึดมั่นอยู่ในตัวตน พอได้ยินคำพูดคำชมที่มันมาย้ำความรู้สึกตรงกับใจก็รับเอาไว้รับเอาไว้ฟังซ้ำเข้าซ้ำเข้าก็มาสรุปเป็นคอนเซ็ปว่าเก่งว่าดี ทีนี้ส่วนไร้ค่าเห็นว่าตนไร้ค่าก็คือตรงกันข้ามทำอะไรก็คิดว่าทำไม่สำเร็จทำไม่ได้ก็เพราะไปเปรียบเทียบกับคนอื่นแล้วก็เกิดอยากจะเหมือนคนอื่นแล้วก็ไปเสียเวลากับการวิตกกังวลที่อยากจะเก่งเหมือนคนอื่นดีเหมือนคนอื่น แทนที่จะใช้เวลาเหล่านั้นมาคิดปรับปรุงการทำงานของตนให้ดีขึ้นเพื่อจะให้ได้ผลดีขึ้นแล้วก็เลยเกิดกลายเป็นปมด้อยก็เลยนึกว่าเราเป็นคนไร้ค่าเป็นคนที่ไม่มีใครเรียกหาเป็นคนที่ไม่มีใครยกย่องต้องการ นี่ล้วนแล้วแต่เป็นความคิดขึ้นมาเองทั้งนั้น ความคิดอันนี้ก็เป็นสังขารปรุงแต่งมันก็เนื่องมาจากตัณหาความอยาก อยากจะได้แต่ไม่อยากเอาสิ่งที่เป็นความลบคือเป็นในทางลบไม่อยากเอาอยากจะได้เพราะคิดไปปรุงไปมากๆเข้ามันก็เลยเกิดเวทนานี่มันก็เกิดและมันก็เกิดมากเข้ามากเข้ามันก็มีฤทธิ์เดชรุนแรงเข้า เพราะฉะนั้นวิธีการแก้ไขนั่นก็คือใช้อานาปานสติภาวนาอย่างที่ว่านี่นะคะ ดึงจิตให้มาอยู่กับลมหายใจและจิตมั่นคงหยุดความคิดอย่างนั้นแล้วก็จะค่อยๆมองเห็นว่าแทนที่จะไปคิดน้อยเนื้อต่ำใจหรือแทนที่จะไปหลงว่าเราดีเราเก่งแล้วเราสู้มาทำฝึกการกระทำให้ถูกต้องเสียจะดีกว่าไหมแล้วเราก็ไม่ต้องหลงว่าเราเก่งเพื่อจะไม่ต้องเสียใจเมื่อถูกใครก็ว่ามันไม่เก่งแล้วก็ไม่ต้องช้ำใจที่จะเห็นว่าตัวเองเป็นคนไร้ค่ามีแต่การกระทำ
เมื่อใดควรเริ่มต้นขั้นที่ 1 ของหมวด 2
นี่ก็อธิบายไว้แล้วตามที่ว่าเมื่อเราแน่ใจว่าเรารู้สึกว่ามีปีติเกิดขึ้น ทำหมวดที่ 1 ได้อย่างดีจิตเป็นสติสมาธิอย่างเต็มที่
นี่ขั้นที่ 3 ของหมวด 2 ถ้าไม่มีทุกขเวทนาก็ไม่ต้องคิดสร้าง
ใช่ ในระหว่างนี้ไม่ต้องคิดนะคะ เพราะกลัวว่าจะติดไปกับความคิด แล้วก็จะปรุงแต่งฟุ้งซ่านเอาไว้ให้มันไปถึงความจริง เมื่อเราไปถึงข้างนอกไปกลับไปบ้านและมีผัสสะเกิดขึ้นแล้วก็จึงค่อยดูอันนั้น
ในการนั่งสมาธินั้นเมื่อปฏิบัติถึงขั้นที่ 4 สักพักหนึ่งรู้สึกว่าไม่สัมผัสกับลมหายใจเข้าออกแต่ก็รู้ว่านี่คือลมหายใจเข้าออก
อันนี้รู้สึกว่าจะตอบแล้ว
เพราะช่วงอกพองเข้ายุบเข้าอยากถามว่าเป็นการปฏิบัติที่ใช้ได้หรือไม่
ใช่ ใช้ได้ตราบใดที่ยังรู้อยู่
ขณะฟังการบรรยายคิดพิจารณาถึงเรื่องที่ตนเคยทำมาครุ่นคิดหาเหตุผลมาอธิบายการกระทำนั้นตามสิ่งที่ฟังขณะนั้นถือเป็นความคิดฟุ้งซ่านหรือไม่
ถ้าสามารถแยกความคิดของตนได้ว่าขณะนี้ฟังคำบรรยายอย่างนี้แล้วก็สามารถทำความเข้าใจกับคำบรรยายนั้นได้ชัดพร้อมๆ กับที่จิตจะไปย้อนนึกเอาของเก่าที่เกิดขึ้นแล้วมาเปรียบเทียบกับคำบรรยายนั้นว่ามันตรงกันหรือไม่ตรงกันถ้าคิดว่าแยกได้นะคะก็ทำได้ แต่ถ้าไม่แน่ใจว่าจะแยกได้อย่าเพิ่งทำควรจะเอาใจมาจดจ่อกับการฟังถ้อยคำบรรยายจนกระทั่งเข้าใจชัดเจนก่อนแล้วเมื่อมีเวลาว่างจึงนำมาใคร่ครวญเปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นจะชัดเจนกว่า
ไปเดินซื้อของที่ห้างสรรพสินค้าพบเสื้อผ้าถูกใจชุดหนึ่งแต่ไม่ได้ซื้อเพราะราคาแพงเมื่อกลับมาก็นึกถึงเสื้อผ้าชุดนั้นเป็นครั้งคราวด้วยความอยาก ต่อมาเมื่อฝึกอานาปานสติก็นึกถึงผ้าชุดนั้นอีกแต่คิดเพียงว่าถ้ากลับไปอาจจะไปซื้อก็ได้หรือไม่ไปก็ได้ ถ้าผู้ขายขายให้คนอื่นไปแล้วก็จะไม่เสียดาย อย่างนี้เป็นกามฉันทะและวิจิกิจฉาหรือไม่
ถ้าตัดสินใจได้อย่างตอนหลังว่ามีเวลาก็จะไปดูถ้ายังอยู่ก็จะซื้อหรือขายไปแล้วก็ไม่เป็นไรถ้าวางจิตเป็นปกติอย่างนี้ก็เรียกว่าตั้งใจจะประกอบเหตุปัจจัยให้ถูกต้องโดยไม่ทำให้จิตนี้เป็นทุกข์ อย่างนี้ก็ไม่ใช่กามฉันทะหรือไม่ใช่วิจิกิจฉา แต่ถ้านำมาใคร่ครวญคิดและจิตมันเกิดความกระวนกระวายเพราะความอยากได้เพราะความเสียดายอย่างนั้นเป็นกามฉันทะแล้วก็พร้อมๆกับเป็นวิจิกิจฉาด้วย
ประเพณีการพนมมือเพื่อแสดงสักการะเริ่มมาแต่ครั้งพุทธกาลหรือไม่ เหตุไรจึงถือดอกบัวเป็นดอกไม้ประจำพุทธศาสนา
ถ้าหากว่าเราดูจากรูปปั้นพระพุทธรูปแล้วก็จะเห็นว่าโดยเฉพาะรูปที่มีองค์สมเด็จพระสัมมาคือมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่อยู่ตรงกลาง แล้วก็จะมีพระพุทธรูปอีก 2 องค์นั่งพนมมือหันเข้าหาพระพุทธรูปองค์ใหญ่ตรงกลาง องค์ใหญ่ตรงกลางก็หมายถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือว่าแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็ส่วนองค์ที่อยู่ 2 ข้างพนมมือก็หมายถึงพระอัครสาวกเบื้องขวาและเบื้องซ้าย เบื้องขวาก็คือท่านพระสารีบุตรเบื้องซ้ายก็คือท่านพระโมคคัลลานะที่นี้ถ้าเราดูจากการสร้างพระพุทธรูปอย่างนี้ที่ประนมมือก็หมายความว่าเป็นที่นิยม เป็นที่นิยมสมัยในเรื่องของการทำความเคารพสักการะต่อบุคคลผู้ที่มีความเคารพสักการะอย่างสูงฉะนั้นก็เป็นสิ่งที่ใช้กันมา แม้แต่เมื่อเราอ่านในหนังสือ ในหนังสือพุทธประวัติหรือในพระไตรปิฎกก็มีการกล่าวถึงพุทธสาวกหรือว่าชาวบ้านหรือบุคคลแม้แต่พระมหากษัตริย์เมื่อเสด็จมาฟังธรรมก็จะทำความเคารพด้วยการประนมมือต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทีนี้การที่ใช้ดอกบัวเป็นดอกไม้ประจำพุทธศาสนาอันนี้ต้องสารภาพว่าไม่ได้ไปสืบเสาะหาประวัตินะคะว่าเริ่มมาแต่เมื่อไหร่ สมัยใด แต่ก็เป็นที่ยอมรับว่าดอกบัวนั้นสามารถจะนำมาเปรียบเทียบกับเรื่องของในทางธรรมนี่ได้หลายอย่าง อย่างเป็นต้นว่าดอกบัวเป็นดอกไม้ที่เกิดจากอะไร เกิดจากโคลนตมใช่ไหมคะเกิดจากโคลนตมเกิดจากสิ่งสกปรกแต่จากสิ่งสกปรกนี้เมื่อมันเกิดขึ้นอย่างถูกต้องได้รับการทำนุบำรุงเติบโตมีน้ำท่าเพียงพอดอกบัวนี้ก็ค่อยเจริญเติบโตขึ้นมาเรื่อยจากดอกบัวปริ่มน้ำเป็นดอกบัวเหนือน้ำและดอกบัวนั้นก็มีความสะอาดเกลี้ยงเกลา นี่ก็เป็นดอกไม้ที่เราพิจารณาได้ถึงร่างกายนี้ที่ก็เกิดมาจากสิ่งสกปรกใช่มั๊ยคะ ตั้งแต่ตอนเริ่มแรกนั้นก็มาจากสิ่งสกปรกแต่แล้วจากสิ่งสกปรกนั้นถ้ารู้จักพัฒนาก็จะพัฒนามาได้จนกระทั่งเป็นชีวิตอย่างที่เราเป็นนี่จะมีความสะอาดได้ทั้งข้างนอกแล้วก็สะอาดได้ทั้งข้างใน เพราะฉะนั้นดอกไม้อย่างนี้เป็นดอกไม้ที่มีความสะอาดแล้วก็มีความคงทนอยู่ในตัวเองพอสมควรก็จะถือว่าเป็นดอกไม้ที่มีค่าควรแก่การบูชาหรือใช้เป็นสัญลักษณ์ของการบูชา
เหตุไรปัจจุบันจึงไม่พบว่ามีการถือบวชเป็นภิกษุณีในศาสนาอีก เลิกเมื่อไหร่เพราะเหตุอะไร
นี่ก็เกี่ยวกับว่าในทางเถรวาทเรานะคะถ้าหากว่าผู้หญิงจะบวชเป็นภิกษุณีหรือเป็นพระก็จะต้องมีพระอุปัชฌาย์ 2 องค์ พระอุปัชฌาย์องค์หนึ่งก็เป็นพระภิกษุคือเป็นผู้ชายแล้วก็อีกองค์หนึ่งก็ต้องเป็นพระภิกษุณีคือพระภิกษุผู้หญิง ทีนี้ก็ตามที่ได้ทราบมาก็ประมาณสัก 500 ปี หลังจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้วก็ปรากฏว่าภิกษุณีหายไปคือค่อยๆขาดตอนแล้วก็หายไปเรื่อยจนไม่เหลือเลย เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าผู้หญิงต้องการบวชเป็นภิกษุณีแล้วก็เป็นการบวชอย่างถูกต้องตามระเบียบวินัยของเถรวาทก็เป็นไปไม่ได้แล้วใช่ไหมคะ เพราะเราไม่มีภิกษุณีที่จะมาเป็นพระอุปัชฌาย์เพราะฉะนั้นด้วยเหตุนี้เราจึงไม่มีภิกษุณีอีกในเถรวาท แต่ในฝ่ายมหายานเขาก็ยังมีการบวชกันอีกโดยจะอ้างว่าเป็นการบวชสืบทอดมาตั้งแต่ครั้งไหนก็ไม่ทราบแน่ แต่ฝ่ายในเถรวาทนั้นระเบียบวินัยไม่อนุโลมและสำหรับพุทธศาสนาในประเทศไทยก็เป็นพุทธศาสนาในลักษณะของนิกายเถรวาท เพราะฉะนั้นถ้าจะมีการบวชก็เป็นการบวชที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบวินัย นอกจากนี้แล้วอยากจะให้ข้อคิดแก่ทุกคนนะคะที่สนใจเรื่องการบวช การบวชเป็นพระภิกษุหรือภิกษุณีนั้นมันก็ดีคือจะได้อาศัยเครื่องแบบคือแบบฟอร์มนั้นน่ะเป็นเครื่องช่วยตีกรอบเป็นเครื่องช่วยสกัดความคิดหรือว่าการประพฤติปฏิบัติที่จะไม่ถูกไม่ต้อง เพราะนึกจะทำอะไรที่มันไม่งดงามมองดูเห็นผ้าเหลืองก็จะนึกขึ้นได้ช่วยเตือนใจนั่นมันก็ดีแต่ถ้าหากว่าผู้ที่จะบวชมีจิตใจตั้งมั่นว่าเราบวชโดยเข้าใจความหมายของการบวชว่าเพื่อขัดเกลาเพื่อขัดเกลาขูดขัดกิเลสตัณหาอุปาทานที่มันยึดเกาะแน่นอยู่ในจิตอย่างที่เราพูดกันอยู่นี่นะคะเพื่อให้มันจางเบาบางไปอย่างนี้คือการบวช ถ้าเราสามารถทำได้อย่างนี้ตลอดไปจะบวชหรือไม่บวชจะอยู่บ้านหรืออยู่วัดหรืออยู่ที่ไหนก็ตามนั่นคือการเป็นบวชเท่าๆกัน นั่นคือการมีความเป็นสมณะเหมือนกันเพราะสมณะแปลว่าผู้สงบ สมณะนี่ผู้สงบไม่ได้หมายความว่าคือผู้บวชเท่านั้นเพราะฉะนั้นบุคคลผู้ใดที่สามารถกำจัดกิเลสตัณหาที่มันเข้ามารบกวนจิตไม่ให้จิตนี้มีเวทนาเกิดขึ้นได้จิตนั้นก็ย่อมมีความสงบเยือกเย็นผ่องใสผู้นั้นก็สามารถที่จะเรียกตนเองได้หรือได้รับการยอมรับว่าเป็นสมณะคือเป็นผู้มีความสงบก็อยากจะชี้ให้เห็นว่าการบวชอย่างนี้แหละเป็นการบวชที่สำคัญใช่ไหมคะ เป็นการบวชที่มีค่าเป็นการบวชที่แท้จริง แต่ถ้าสมมุติว่าบวชแต่ว่าบวชแต่เพียงแบบฟอร์ม ปลงผมรับศีลตามที่ว่าเอาไว้แล้วก็มีเครื่องนุ่งห่มในแบบฟอร์มที่กำหนดแต่ไม่สามารถรักษาใจไว้ได้ให้ใจนั้นสงบสะอาดหมดจดใจนั้นยังคงวุ่นวายด้วยความอยากอย่างโน้นอย่างนี้ก็อยากจะพูดในความรู้สึกส่วนตัวว่าแบบฟอร์มนั้นก็เป็นแต่เพียงสักว่าแบบฟอร์ม หาได้ช่วยให้ใจนั้นเกิดการบวชที่แท้จริงขึ้นไม่ ฉะนั้นก็อยากจะเสนอแนะให้ใคร่ครวญในข้อนี้นะคะถ้าเกิดมีผู้หญิงคนไหนอยากจะเป็นภิกษุณีก็จงรู้เถอะว่าเริ่มฝึกบวชที่ใจเสียก่อนไม่ต้องอยากดิ้นรนเพราะมันจะกลายเป็นตัณหา
การบวชเรียนของชายไทยที่ถือว่าจะทำให้คนดิบกลายเป็นคนสุกได้นั้น อยากทราบความคิดเห็นว่าจำเป็นหรือไม่ หรือการปฏิบัติธรรมทั่วๆไปก็เพียงพอแล้ว
ก็อย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้นะคะความเป็นคนดิบคืออะไร ก็คือคนที่อะไรที่มันดิบมันก็ฝาดใช่ไหมคะเหมือนอย่างละมุดดิบพอกัดใส่ปากเข้ามันก็ฝาดเฝื่อนขมไม่อร่อยไม่หวานไม่น่ากินเป็นยางด้วยเพราะฉะนั้นคนดิบก็คนที่ทำอะไรไม่ค่อยจะถูกต้องนั่นเอง ทำอะไรผิดๆถูกๆทำอะไรไม่ค่อยจะถูกต้องเพราะจิตนั้นยังไม่ได้ฝึกหัดขัดเกลาจึงยังไม่เป็นจิตที่เป็นสัมมาทิฏฐิ ที่นี้เมื่อมาบวชเข้าก็ได้รับการฝึกฝนอบรมจิตได้ฟังในทางธรรมได้ฟังธรรมะเพราะฉะนั้นจิตนั้นก็มีความเยือกเย็นผ่องใสยิ่งขึ้นยิ่งขึ้นเป็นลำดับ ก็เรียกว่าความเป็นคนดิบหรือคนเถื่อนเป็นคนมีพยศจางหายไปก็ค่อยๆเชื่องขึ้นทีละน้อยละน้อยมากขึ้นตามลำดับก็เรียกว่าเป็นคนสุกคนสุกก็คือคนที่มีความสมบูรณ์พร้อมพร้อมทั้งกายและทั้งใจ นี่คือคนสุกไม่ใช่คนที่มีแต่วิชาเท่านั้นแต่มีพร้อมทั้งวิชาและวิชชา เพราะฉะนั้นจะบวชหรือไม่บวชถ้าสามารถฝึกอบรมจิตได้ให้พร้อมด้วยวิชาและวิชชาก็ถือว่าเป็นคนสุกคือคนเย็นคนสุกในที่นี้คือคนเย็นมีความเย็นอยู่ในจิตอยู่ตลอดเวลาทั้งข้างนอกและข้างใน
ถ้านั่งสมาธิจนจิตสงบแล้วขณะนั้นจะเอาบทธรรมะมาพิจารณาเช่นปฏิจจสมุปบาทถูกต้องไหม
ได้ นั่นก็คือการที่ไปข้ามไปปฏิบัติในหมวดที่ 4 คือหมวดธรรมะแต่ในระหว่างที่เรากำลังฝึกอยู่นี้นะคะเพื่อให้การปฏิบัติอานาปานสติเป็นไปอย่างชัดเจนว่ามันมีวิธีปฏิบัติอย่างไรแล้วก็มองเห็นผลอยากจะให้ไปทีละขั้นก่อน
จากที่เคยพูดถึงเรื่องความทุกข์ก็ถามความเห็นว่ามีวิธีอย่างไรที่ดีที่สุดที่จะจัดการกับมันเพราะเมื่อกลับไปกรุงเทพฯแล้วสังคมเมืองเช่นนั้นจะไม่ให้เกิดความทุกข์เลยเป็นไปได้ยาก เพราะพระพุทธองค์ทรงทราบสัจธรรมข้อนี้ได้ท่านยังต้องหาจากป่าเขาลำเนาไพรนี่แค่เพียงตามปัญหาอย่างนี้ถามปัญหาอย่างนี้ก็เกิดทุกข์จากคำถามแล้ว
ก็อย่างที่เราพูดกันอยู่นี่แหละนะคะที่จะไปแก้ความทุกข์ ก็การปฏิบัติอานาปานสติภาวนานี้แหละเป็นเครื่องกั้นใจกั้นหัวใจคือกั้นใจนี่ให้ยับยั้งจากความทุกข์ได้และจากนั้นก็หยิบเอาสิ่งที่เป็นสัจธรรมหรือสามัญลักษณะ 3 มาพิจารณา อิทัปปัจจยตามาพิจารณาก็เกิดอะไรขึ้นเป็นปัญหาเป็นความทุกข์นึกถึงอิทัปปัจจยตาเท่านั้นมันก็จะจางคลายแล้ว เรายังจะพูดกันไปอีกถึงวันสุดท้ายจะพูดเรื่องนี้ซ้ำ
ขณะที่กำลังฝึกขั้น 1 อยู่เกิดการชาลำตัวหน้า ก็แก้โดยกำหนดลมหายใจเข้าออกปกติแต่อาการชายังไม่หายยังไม่หมด จิตก็ฟุ้งก็แก้ให้จิตไม่ฟุ้งโดยหายใจยาวแรงอาการชาเริ่มจะหายก็เป็นมาอีกอยากทราบว่าทำอย่างไรจึงจะแก้จิตฟุ้งและอาการชาได้ และในการฝึกขั้น 1 แล้วจะไปขั้น 2 หากมีอาการชาเกิดขึ้น ควรแก้อาการชาก่อนหรือสามารถฝืนไปขั้นที่ 2 ได้
ถ้าหากว่าไม่เคยเป็นโรคชามาก่อนนะคะไม่เคยมีโรคอันนี้เกิดขึ้นมาก่อนก็ขอบอกว่าไม่ต้องกลัวอย่ามีความกลัวว่าการฝึกอานาปานสติแล้วจะทำให้เกิดแข้งขาชามือสั่นใจสั่นเท้าเย็นไม่ต้องกลัวอาการอย่างนี้มันเกิดขึ้นเพราะมันเกิดความกลัวขึ้นมาก่อน มันมีเกิดความหวาดระแวงเกิดความกลัวว่าจะทำไม่ได้อาการเกร็งอาการเครียดเกิดขึ้น เกิดความกลัวว่าทำไปแล้วเดี๋ยวจะชาเดี๋ยวจะปวดเดี๋ยวจะเมื่อยเดี๋ยวจะสั่นนี่ความกลัวกำลัง 2 มันเพิ่มเข้ามามันก็เลยทำให้จิตนี้นี่มันต้องฝืนมันต้องแข็งขืนมันต้องต่อสู้กับความเป็นไปอย่างธรรมชาติตลอดเวลา เพราะฉะนั้นอาการของการชาหรือการฟุ้งมันจึงหยุดไม่ได้ ฉะนั้นก็ขอให้มีความแน่ใจว่าถ้าไม่เคยเป็นโรคเหล่านี้มาก่อนจะไม่มีใครเป็นเลยไม่มีใครที่จะเกิดเป็นอาการอย่างนั้นเพราะการฝึกอานาปานสตินะคะ แล้วข้อที่ 2 ก็คือว่าก่อนที่จะปฏิบัติ พอเริ่มจะปฏิบัติอานาปานสติที่บอกว่าอ้าวทำตามลำดับขั้นที่ 1 เราผู้รู้สึกมีอาการอย่างนี้นะคะ นิสิตคนไหนก็ตามไม่ต้องไปทำตามขั้นแต่เราจะทำใจของเราให้สบายๆ เรียกว่าก็อุ่นเครื่องให้เราอยู่คนเดียวนี่แหละให้รู้ลมหายใจเข้าออกที่เป็นลมหายใจธรรมดาจนใจมันสบายมันคุ้นเคยความกลัวหวั่นวิตกหมดไปสบายแล้วคล่องแคล่วเลือดลมเดินสะดวกแล้วก็นั่งในท่าที่สบายที่สุดคือสบายนั้นโดยหมายความว่าจะนั่งติดต่อได้อย่างนานแล้วจากนั้นจึงค่อยเริ่มฝึกปฏิบัตินะคะกำจัดความรู้สึกที่ไม่สบายต่างๆออกไปก่อนจนเป็นปกติแล้วจึงค่อยเริ่มขั้นที่ 1 แล้วก็นอกจากนั้นก็อาการนวดเนื้อนวดตัวหรือว่าการทำมือสลัดเข้าออกอย่างเวลาที่ไปฝึกโยคะนำมาใช้ได้มันจะช่วยผ่อนคลาย
ที่ว่าการทดลองกำลังใจสู้กับขาหลังปวดเมื่อยผลสุดท้ายทางกายภาพจะเป็นอันตรายต่อร่างกายไม่ใช่หรือ
ก็อย่างที่ว่าแล้วกำลังใจแข็งแกร่งแล้วก็ไม่เคยเป็นอะไรมันจะไม่เป็น แต่ถ้ากำลังใจเราไม่เข้มแข็งพอแล้วเราก็รู้สึกว่าเราจะต้องเป็นจะต้องเมื่อยจะต้องปวดจะต้องเป็นอันตรายมันก็จะเป็น ไม่ได้แนะนำให้ทำทุกคนนะคะแต่แนะนำว่าใครที่คิดว่าอยากจะทดลอง ลองได้
แล้วถ้ามันหายปวดยิ่งเป็นผลร้ายหรือไม่เพราะความเจ็บปวดเป็นการป้องกันตัวเองตามธรรมชาติของมนุษย์
นั่นเป็นเรื่องของทางโลกเรียกว่าพูดอย่างเข้าข้างตัวเองถ้าหากว่าพอปวดเกิดขึ้นต้องเปลี่ยนต้องเลิกเพื่อตัวนี้จะได้ไม่เจ็บปวดมากไม่เป็นอันตรายเพราะตามสัญชาตญาณนั้นบอกว่าการเจ็บปวดนี้คือสัญญาณว่ามันเกินไปละแต่ทีนี้ถ้าเราจะมามองดูระยะของความที่จะเจ็บปวดหรือน้ำหนักของความเจ็บปวดของแต่ละคนเท่ากันไหมคะไม่เท่ากันบางคนก็นานกว่าจะเจ็บปวดบางคนตลอดจนจบไม่ปวดเลยแต่บางคนพอนั่ง 5 นาทีปวดแล้ว 10 นาทีปวดแล้ว หรือบางคนพอปวดนิดหน่อยขยับเขยื้อนจัดท่าใหม่หายปวด แต่บางคนพอปวดเข้าราวกับขาเป็นหินนี่มันไม่เท่ากันทำไมถึงไม่เท่ากันก็ขึ้นอยู่กับกำลังใจนี่อย่างหนึ่งแหละแล้วก็ขึ้นอยู่กับวิธีการที่กระทำทำถูกต้องไหม แล้วก็ขึ้นอยู่กับความอดทนพากเพียรพยายามมันหลายปัจจัยเพราะฉะนั้นอันนี้ที่พูดอันนี้หมายความว่าแนะนำสำหรับผู้ที่คิดว่ามีกำลังใจเข้มแข็งพอที่จะทำได้แล้วที่พูดนี่ไม่ได้หมายความว่าไม่เคยประสบผลเคยถึงได้พูดให้ฟังได้ถูกเคยปวดเคยเมื่อยแล้วก็อยากจะทดลองทำไม่เอาใจใส่กับมันเลยคงเพ่งจิตอยู่ก็ลมหายใจให้อยู่ในสมาธิแล้วมันก็ปวดมากปวดจนตัวสั่นแต่เราก็ไม่ใส่ใจแล้วก็ไม่ยอมแพ้ แล้วก็สักครู่ใหญ่ความปวดเหล่านั้นหายไปยังกับไม่เคยปวดแล้วก็นั่งอยู่ในท่าเดิมนั้นนะคะไม่ได้เปลี่ยนท่าด้วยแล้วมันก็แข้งขาที่มันปวดหนักเหมือนกับหินมันก็เห็นมันกลายเป็นเบาสบาย