แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมะสวัสดีค่ะ
เราได้พูดถึงเรื่องของอริยสัจ ๔ มาจนกระทั่งถึงอริยสัจองค์สุดท้ายแล้วนะคะคือ เรื่องของ มรรค หรือ อริยมรรค ที่หมายถึงหนทางอันประเสริฐซึ่งมนุษย์พึงเดิน ที่ควรพึงเดินตามหนทางอันประเสริฐนี้เพื่อประโยชน์อะไรคะ? เพื่อความดับทุกข์ เพื่อจิตที่สงบเย็น และยิ่งกว่านั้นก็คือว่าถ้าหากว่าท่านผู้ใดเดินตามหนทางของอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ก็จะอยู่กับความถูกต้องอยู่เสมอ และในความถูกต้องที่ปฏิบัติอยู่เป็นนิจนั้น ก็เปรียบเสมือนหนึ่งว่ามีกัลยาณมิตร มีกัลยาณมิตรมีมิตรอันเป็นที่พึ่ง และมิตรที่เป็นที่พึ่งนี้วิเศษยิ่งกว่ามิตรอื่นๆ ที่เราเคยมี เพราะเหตุว่าเป็นมิตรที่อยู่ข้างใน และก็จะอยู่กับจิตนี้อยู่กับชีวิตนี้ตลอดเวลา จิตนี้ก็จะมีแต่ความมั่นคง เข้มแข็ง หนักแน่นยิ่งขึ้นในการดำเนินชีวิตหรือในการกระทำแห่งชีวิตนี้ และลักษณะของอริยมรรคที่เราจะสังเกตได้นั้นคือ สังเกตว่าขณะนี้กำลังดำเนินอยู่ในหนทางแห่งอริยมรรคหรือไม่ สังเกตได้อย่างไรคะ? ดูใจว่าไม่แกว่งไปซ้ายหรือขวา ไม่สุดโต่งคืออยู่ตรงกลาง จะดูได้ยังไงว่าอยู่ตรงกลาง ก็คือว่ามันไม่มากไม่น้อย ไม่เปียกแฉะไม่เผาไหม้ ไม่ตึงไม่หย่อน หรือไม่บวกไม่ลบ และอีกอย่างหนึ่งถ้าจะมองดูลงไปภายในในขณะที่กำลังเดินอยู่บนหนทางของอริยมรรคมีองค์ ๘ นี่ คือคิดว่าเรากำลังเดินอยู่ แล้วเราอยากจะดูว่าแน่หรือเปล่า ก็มองดูลงไปที่ข้างใน แล้วก็ดูว่าในขณะนี้มีอะไรเป็นสิ่งตรงกันข้าม คือจะมาเป็นคู่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เกิดขึ้นในใจเราหรือเปล่า? สมมติว่ามีความรู้สึกอะไรเกิดขึ้นนี่ ดูลงไปว่ามีอะไรตรงกันข้ามกับสิ่งนี้ไหม ดูให้ชัดเจนนะคะ ดูด้วยใจเป็นกลางด้วยใจสว่างอยู่ด้วยความรู้อันถูกต้อง แล้วก็มอง..ไม่มี มองแล้วไม่มี มีเดี่ยวอยู่อันเดียวอย่างเดียว และในความเดี่ยวอันเดียวนี้มีแต่ความสุข สงบเย็น ไม่มีความรู้สึกดิ้นรน ที่จะต้องการโน่นต้องการนี่ หรือจะต้องแข่งขันชิงดีกับอะไร..ไม่มีเลย มีเดี่ยวอยู่อันเดียว หาคู่ก็ไม่ได้ แล้วก็มีแต่ความสงบเย็น ผ่องใส พอใจในการที่ได้กระทำอย่างนี้ ก็พอจะแน่ใจได้แล้วว่า นี่กำลังดำเนินอยู่บนหนทางของอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็น มัชฌิมาปฏิปทา นี่เป็นเครื่องสังเกตนะคะ
ถ้าหากจะถามว่ามัชฌิมาปฏิปทาเป็นอะไรหรือเป็นอย่างไร ทางสายกลางคืออย่างไร ก็สังเกตอย่างนี้..ไม่มีอะไรมาเป็นทางที่จะให้เป็นคู่กันได้เลย แล้วก็การที่ปฏิบัติโดยไม่ยึดมั่นถือมั่นอย่างสุดโต่ง นี่ก็เป็นเครื่องแสดงอีกอย่าง คือไม่สุดโต่งด้วยอะไร ไม่สุดโต่งด้วยการยึดมั่นถือมั่น นอกจากนี้แล้วจิตนั้นก็จะตั้งอยู่ในสภาวะของความเป็นกลาง แห่งปฏิจจสมุปบาท นี่คือรูปของปฏิจจสมุปบาทซึ่งเราจะได้พูดกันต่อไปเมื่อเรามีเวลาข้างหน้านะคะ นี่คือปฏิจจสมุปบาทที่แสดงถึงสภาวะของความเป็นกลาง เป็นกลางอย่างไร ก็คือแสดงให้รู้ว่าแท้จริงแล้วทุกสิ่งนี้หาใช่ตัวใช่ตนไม่ มีแต่ความเกิดดับๆ ไปตามธรรมชาติเท่านั้นเอง แต่เพราะอวิชชาครอบงำจิตจึงทำให้จิตนี้ยึดมั่นถือมั่น เอาสิ่งนี้เป็นตัวตนแท้จริง และก็มีสิ่งที่เป็นของตนตามมา ชีวิตนี้ก็เลยเดือดร้อน ก็เลยเย็นไม่ได้ เราจะได้พูดในรายละเอียดของปฏิจจสมุปบาทต่อไปเมื่อเรามีเวลานะคะ สำหรับตอนนี้ก็อยากจะต่อไปในเรื่องของอริยมรรคให้เราจบไปเสียเป็นเรื่องหนึ่งก่อน และก็ขอพูดย้ำว่า ในเรื่องของการเดินตามหนทางสายกลางอันประเสริฐนี้ จะไม่มีเรื่องของความเป็นคู่เกิดขึ้นเลยเป็นอันขาด ถ้ามีความรู้สึกว่ายังมีอะไรเป็นคู่มาเปรียบเทียบมาเคียงกัน ก็จงรู้เถิดว่าต้องรีบจัดใจเสียใหม่ แก้ใจเสียใหม่ ดึงให้มาอยู่ตรงกลาง และความรู้สึกในการที่จะมีเป็นคู่ก็จะหายไป แล้วก็จะได้เดินไปบนหนทางนี้ได้อย่างสะดวกสบายและก็ผ่องใส ที่เป็นคู่ก็เช่น ดี-ชั่ว สุข-ทุกข์ ได้–เสีย คือเรารู้สึกว่านี่เรากำลังเดินอยู่บนหนทางสายกลางและก็สบาย แจ่มใส แต่ในขณะเดียวกัน..มีแวบมีใครมาเดินข้าง และคนมาเดินข้างนี่ไม่ได้เดินเฉยๆ มาเดินข้างเหมือนกับแข่ง นี่อย่างนี้ก็แสดงว่าจิตนั้นยังไม่อยู่ตรงกลาง เพราะอะไรล่ะ เมื่อมีใครคนหนึ่งขึ้นมา..ก็ต้องมีอะไรอยู่ล่ะ ต้องมีตัวนี้อยู่แล้ว จึงมีการเปรียบเทียบ แต่ถ้าหากว่าตัวนี้ไม่รู้สึกมี..มีแต่การเดินไปด้วยความสงบ เดี่ยวอยู่ด้วยการกระทำเท่านั้นเอง ก็ไม่มีใครเข้ามาเทียบไม่มีใครเข้ามาแข่ง เพราะฉะนั้นอันนี้หมายความว่า ไม่มีคู่..มองแล้วไม่มีคู่ มีแต่ความสงบเย็น ความสงบเย็นนี่ต่างกับความร้อนและความหนาว..นี่ถ้าจะเปรียบ ถ้าหนาวก็เย็นเยือกและก็ไม่สบาย ร้อนก็เหนอะหนะเหงื่อไคล หงุดหงิดไม่สบาย แต่ถ้าเย็นนี่สบายเพราะไม่หนาวและก็ไม่ร้อน เพราะฉะนั้นทางสายกลางนี่จึงเป็นหนทางอันประเสริฐ เพราะจะอยู่กับความเย็น ชีวิตนี้จะมีแต่ความเยือกเย็นผ่องใส
นอกจากนี้ อานิสงส์ของการปฏิบัติหรือการดำเนินตามอริยมรรคมีองค์ ๘ อีกก็คือว่า จะเป็นทางดำเนินที่จะพาจิตของมนุษย์นี่ให้พ้นไปจากความเป็นปุถุชน สู่ความเป็นอริยชน อริยชนก็คือชนผู้ประเสริฐ ไม่ใช่เป็นเพียงคนๆ ที่มันคนละคนกัน วิ่งวนอยู่ด้วยความร้อน เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลง อยู่ตลอดเวลา แต่จะเป็นอริยชนผู้มีจิตใจที่สามารถอยู่บนหนทางที่เป็นกลางๆ สามารถทำหน้าที่ได้เพื่อหน้าที่โดยไม่หวัง..เหล่านี้ หรือถ้าจะพูดอีกอย่างหนึ่งก็อยากจะบอกว่า เป็นอารยชนที่แท้จริงนะคะ อารยชนคืออะไร? ชนผู้เจริญแล้ว และก็มี..ถึงเดี๋ยวนี้ก็อาจจะมีที่เขาบอกว่า ประเทศเราก็ยังไม่เป็นประเทศที่เป็นอารยะโดยแท้ บางทีเขาก็ยังเอาเราไปใส่ในประเทศที่ด้อยพัฒนา เวลาที่เขา classify แต่อันที่จริงแล้วที่เขา classify อย่างนี้เขาแบ่งแยกอย่างนี้ เขาถืออะไรเป็นเกณฑ์? ความเจริญทางวัตถุ ตึกรามบ้านช่อง ถนนหนทาง และก็ความเจริญทางเทคโนโลยี และก็รายได้ของประชากรต่อหัวสูงมากอะไรทำนองนั้น ที่เขาบอกว่านี่แหละเป็นประเทศอารยะ แล้วใครที่อยู่ในประเทศอารยะก็เป็นอารยชน แต่เราก็จะเห็นว่าอารยชนที่ถูกตัดสินว่าเป็นอารยชน โดยถือเอาอารยะข้างนอกคือ ความเจริญข้างนอกทางวัตถุเป็นเครื่องตัดสิน จิตใจของอารยชนเหล่านั้นเป็นไง? ไม่ได้เยือกเย็นผ่องใส อารยชนดังที่กล่าวนี้เป็นอารยชนไหม? ไม่เป็นอารยชน คือไม่ใช่ชนผู้ประเสริฐ เพราะชนผู้ประเสริฐในทางธรรมนั้น จะมีความหมายแต่เพียงว่าสุข สงบ เย็น ผ่องใส อยู่ด้วยความพอใจในการกระทำที่ถูกต้อง เพราะเดินอยู่ตามหนทางเดียว ฉะนั้นถ้าหากว่าเดินตามหนทางอันประเสริฐนี้ พูดได้เลยว่าจะเป็นอารยชนที่แท้จริง เพราะว่าความเป็นอารยชน คือความเป็นชนผู้เจริญนี้ เจริญที่ไหน? เจริญที่จิตใจ จะไปคายไปพ่นมลภาวะใส่ใครไหม? ไม่มี
แต่อารยชนในประเทศที่เจริญแล้วด้วยวัตถุนั้น ก็ยังพ่นพิษใส่กันอยู่ตลอดเวลา ยังคายพิษใส่กันอยู่ตลอดเวลา แต่อารยชนที่แท้จริงนั้นมันอยู่ที่ข้างใน เพราะฉะนั้นถ้าปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ แน่นอนที่สุดจะผ่านพ้นหนทางอันนี้ไปได้ และก็จะเป็นทางที่พ้นจากความทุกข์ เรียกว่าทุกความหมายเลย หยิบขึ้นมาสิ อะไรที่เรียกว่าเป็นทุกข์ อะไรที่เป็นปัญหา ถ้าเดินตามหนทางของอริยมรรคมีองค์ ๘ อยู่กับความถูกต้อง ๘ ประการนี้แล้ว..ไม่มี ไม่มีอะไรที่จะเป็นความทุกข์ ไม่มีอะไรที่จะเป็นปัญหา แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีปัญหาเลย แต่จิตที่เจริญแล้วพัฒนาแล้วเช่นนี้ มองเห็นปัญหาก็เป็นเพียง “สิ่งสักว่า” สักว่าปัญหาคือ ชีวิตที่เกิดมานี่ก็ต้องเป็นอย่างนี้ ก็มีเกิดมีดับๆ มีเกิดขึ้น แล้วก็ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ตามเหตุตามปัจจัย ปัญหาเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็ดับไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีปัญหาอะไรที่จะตั้งอยู่นาน แต่จะดับไปด้วยวิธีใดและอย่างไรนั้นอีกอย่างหนึ่ง ทีนี้ถ้าหากว่าเป็นอริยชน..เป็นอารยชนที่แท้จริง พอปัญหาเกิดขึ้น จิตนี้เป็นยังไง? ลองนึกดูสิคะ มองเห็นปัญหาไหม? มองเห็นไหมคะปัญหา? เห็น..มองเห็นปัญหา รู้ปัญหาไหมคะ? รู้ปัญหา มองเห็นปัญหารู้ปัญหา และก็เห็นไหมว่าเหตุที่เกิดปัญหานี้เพราะอะไร? .. เห็น เพราะฉะนั้นจิตที่รู้อย่างนี้ เป็นจิตที่พร้อมอยู่ด้วยสติ สมาธิ และปัญญา ถ้าจิตที่พร้อมอยู่ด้วยสติ สมาธิ และปัญญา ปัญหาใดที่เกิดขึ้นจะแก้ไขได้..แน่นอนที่สุด และแก้ไขได้อย่างชนิดที่ว่าจิตนี้ไม่ต้องร้อนด้วย ไม่ต้องกระทบกระเทือน จะแก้ไขได้อย่างเรียบร้อย เรียบร้อยทั้งภายนอกและภายใน ภายนอกก็คือสิ่งสักว่า
เพราะฉะนั้นไม่ได้หมายความว่าพอจิตนี้เจริญแล้วจะไม่ต้องกระทบกับปัญหาเลย ตราบใดที่ยังอยู่ในโลก โลกก็คือโลก ต้องมีความขึ้นลง เป็นโลกที่ยังมีกิเลสต่างๆ คลุกเคล้า เพราะเป็นโลกของปุถุชนเป็นส่วนใหญ่ แต่ว่าจิตนี้จะรู้ ปัญหาก็คือปัญหา เป็นเพียงสิ่งสักว่า อยู่ในวิสัยแก้ไขก็จัดการแก้ไข ทุกข์ก็สักแต่ว่าทุกข์ เมื่อมองเห็นว่าสิ่งสักว่าจิตนี้ก็ไม่เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นจึงบอกได้ว่า เป็นหนทางที่จะนำออกจากความทุกข์ทุกความหมาย นอกจากนั้นท่านผู้รู้ท่านยังบอกอีกว่า ถ้าปฏิบัติหรือเดินตามหนทางของอริยมรรคมีองค์ ๘ แล้วจะเสมือนกับมีพระพุทธเจ้าพระองค์จริงนี่อยู่..ประทับอยู่ในจิตตลอดเวลาเลย หมายความว่าอะไร? เวลานี้ถ้าเรานึกถึงพระพุทธเจ้า เราจะนึกถึงใคร? มนุษย์ส่วนมาก จะนึกถึงพระพุทธเจ้าที่เสด็จปรินิพพานไปแล้ว แล้วเราก็มาสร้างมาหล่อพระพุทธรูปขึ้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์ระลึกถึงพระองค์ แล้วก็ท่านก็เสด็จปรินิพพานไปแล้วมีอะไรเหลือละ ที่เรามานึกถึงกันอยู่ ยังกราบไหว้บูชาอยู่ทุกวันนี้ อะไรเหลือ? พระธรรม..ที่ท่านทรงเหลือไว้ให้เรา เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าพระองค์จริงก็คืออะไร? ก็คือ..พระธรรม คือพระธรรม การปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ประเสริฐอย่างนี้ เพราะเราจะมีความรู้สึกว่าไม่ต้องไปหาพระพุทธเจ้าที่ไหน แม้แต่จะหาพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อะไรทั้งหลายมาคล้องคอ แต่เราก็มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่แท้จริงประทับอยู่ในใจ เพราะพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ที่แท้จริงนั้น คือ พระธรรม นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านเคยตรัสว่า “ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา” เห็นไหมคะ
เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นปฏิจจสมุปบาทก็คือ มีความรู้ มีความเข้าใจในเรื่องของปฏิจจสมุปบาท จนกระทั่งปฏิบัติคือดำรงชีวิตอยู่ด้วยปฏิจจสมุปบาท คือปฏิบัติตามเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นตามที่กล่าวตามอาการทั้ง ๑๑ อาการ แล้วก็มองรู้ด้วยว่า เกิดขึ้นอย่างนี้จะดับได้อย่างไร นี่ก็คือการที่มองเห็นปฏิจจสมุปบาทก็คือมองเห็นธรรมะ เพราะเป็น ธรรมะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ เมื่อเห็นธรรมะก็คือเห็นเรา..คือเห็นพระองค์อยู่เสมอ เพราะฉะนั้นแม้พระองค์ท่านจะเสด็จดับขันธปรินิพพานไปนานแล้วก็ตาม แต่ถ้าปฏิบัติตามหนทางของอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็ยังคงอยู่คือ ยังเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ทุกขณะ และยิ่งกว่าเฝ้าคือ พระองค์ท่าน..พระธรรมของท่านจะสถิตอยู่ในใจของเราเสมอ และท่านก็กล่าวว่า ถ้าหากว่าโลกเราคือมนุษย์ในโลกนี้ ปฏิบัติดำเนินชีวิตตามหนทางของอริยมรรคมีองค์ ๘ โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ ก็แสดงว่าเรื่องของนิพพานนั้นเป็นเรื่องสุดเอื้อมไหม? ไม่สุดเอื้อม ความเป็นพระอรหันต์เป็นสิ่งที่มีไม่ได้ไหม? ยังสามารถที่จะมีได้ ถ้าเดินตามอริยมรรคมีองค์ ๘ นี่เป็นเงื่อนไขนะคะ
เพราะฉะนั้น ถ้ากล่าวสรุปอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ก็พูดได้ว่า เป็นหนทางสำหรับความเจริญทางจิตใจ ถ้าจะพูดถึงอริยมรรคมีองค์ ๘ ต้องเข้าใจให้ตรงกันว่า เป็นหนทางสำหรับความเจริญทางด้านจิตใจ ไม่ใช่หนทางสำหรับทางวัตถุ ไม่ใช่หนทางที่เราเดินกัน จะเป็นทางแคบ ทางเล็ก หรือเป็นตรอกซอกมุม หรือเป็นถนน Highways ใหญ่ก็ตาม ไม่ใช่หนทาง ทางวัตถุ แต่เป็นหนทางของความเจริญทางจิตใจ แต่หนทางเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นถ้าไม่เดิน..ใช่ไหมคะ? แม้แต่หนทางข้างนอกก็เถอะ ถ้าหากว่าไม่เดินก็ไม่มีทาง จะเดินเมื่อไหร่ก็จะเป็นทาง นี่ก็เหมือนกันถ้าไม่เริ่มปฏิบัติ ไม่เริ่มปฏิบัติก็คือไม่เริ่มเดิน หนทางอริยมรรคหนทางอันประเสริฐนี้ก็จะไม่เกิดขึ้นในจิต และเมื่อเกิดแล้วเป็นหนทางของความเจริญทางจิตใจ ไม่ใช่ทางวัตถุ และนอกจากนี้เป็นทางเดินที่จะต้องเดินด้วยสติปัญญา เดินด้วยใจ ไม่ใช่เดินด้วยเท้าหรือไม่ใช่เดินด้วยยานพาหะนะใดๆ อันนี้ก็ต้องเข้าใจกันให้ถูกต้องนะคะ นอกจากนี้เป็นทางที่จะเดินออกนอกโลกหรือว่าเหนือโลก
คำว่า “โลก” ในที่นี้ แน่นอนที่สุดนะไม่ใช่โลกวัตถุที่เราเห็นเป็นรูปกลมๆ และก็เอียงอยู่หน่อย ไม่ใช่โลกอันนี้ แต่ว่าที่ท่านบอกว่าถ้าปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ จะเป็นทางที่เดินออกนอกโลก โลกอะไรคะ? โลกของความทุกข์ โลกของปุถุชนที่วุ่นวายอยู่กับเจ้ากิเลส ๓ ตัว เดี๋ยวก็จะดึงเข้ามา เดี๋ยวก็จะผลักออกไป เดี๋ยวก็วนเวียนครุ่นคิดอยู่อย่างเดียว เพราะตกอยู่ภายใต้ตัณหาที่ถูกครอบงำด้วยอำนาจของอวิชชา ก็จะพ้นออกไปจากโลกของปุถุชน โลกของความทุกข์ โลกของปัญหา โลกของความที่ดิ้นรนอยู่ด้วยอำนาจของกิเลส แต่ไม่อยู่ในโลกนี้ แต่มันจะออกไปนอกโลกนี้ ก็คือโลกของอะไร? ..โลกของความสงบเย็น โลกของนิพพาน ที่เรียกว่าเมื่อเย็นทีละน้อยๆๆ จนถึงเย็นที่สุดเมื่อใด นั่นก็คือโลกของนิพพาน
แล้วก็ “เหนือโลก” ก็คืออะไรเหนือโลก? จะออกไปเหนือโลกด้วยจะอยู่เหนือโลกด้วย? จิต..นั่นเอง อยู่เหนือโลก โลกของสิ่งคู่ทั้งปวง โลกของสิ่งคู่ทั้งปวง กล่าวโดยสรุปก็คือ โลกของความเป็นบวกความเป็นลบ และก็สิ่งที่ทำให้จิตของมนุษย์นี้เหวี่ยงซ้ายเหวี่ยงขวา ก็เพราะอะไร? เพราะความยึดมั่นในสิ่งคู่ใช่ไหม? คือตัวเรานี่แหละเป็นต้นเหตุ แล้วเสร็จแล้วก็มีสิ่งคู่ เริ่มจากเราก็มีเขา ฉันก็มีแก และเสร็จแล้วก็มีสิ่งคู่ต่างๆ ตามมา อย่างที่ถ้ามีเวลาก็ลองเอากระดาษมาปึกหนึ่ง นั่งลงเขียนสิ่งคู่ต่างๆ จะได้เป็นร้อยๆ นะ และก็ลองดูสิว่าคู่ไหนที่เราติดมากที่สุด เราก็จะพบ แล้วสรุปลงก็คือว่า ได้-เสีย ถ้าได้ละก็..ผงกหัว ยิ้มย่องผ่องใส ถ้าเสีย..บึ้ง งอ เศร้าหมอง หงุดหงิด ผลักออกไป ไม่เอา นี่จะสรุปอยู่นี่ สรุปลงก็คือว่าอยากได้แต่ไม่อยากเสีย หรือว่ากล่าวอย่างเป็นสากลก็คือว่าบวกกับลบ ถ้าบวกก็คือทางดี ถ้าลบก็คือทางเสีย ที่ไม่ถูกใจ เหนือโลกนี่ก็คือว่า จิตนี้จะอยู่เหนือความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นสิ่งคู่ ก็แน่นอนที่สุด ก็อยู่ตรงไหนล่ะ? สิ่งคู่อยู่ตรงกลางก็จะเป็นมัชฌิมาปฏิปทา นี่ก็คือเหนือความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งคู่ แล้วก็นอกจากนั้นก็เรียกว่า ถ้าเดินตามหนทางนี้จะเป็นการเดินไปสู่สิ่งที่โพธิปัญญาชอบ
“โพธิ” คืออะไร? ความรู้ ความฉลาด ปัญญาข้างใน แต่ไม่ใช่สิ่งที่กิเลสชอบ ตรงกันข้ามกับกิเลส ถ้าโพธิเกิดขึ้นในจิตแล้วละก็ กิเลสก็จะเข้ามาไม่ได้ และอันที่จริงท่านบอกว่า มนุษย์เราทุกคนมีเมล็ดพืชของโพธิอยู่ในจิตด้วยกันทั้งนั้นเชื่อไหม? เชื่อไหมคะ? ลองนึกดูสิ ในชีวิตของเรานี่มีหลายแวบ ใช้คำว่าแวบ มีหลายแวบใช่ไหมที่เราเคยได้สำนึกถึงความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่ไม่เที่ยง เราเคยพบเคยได้สัมผัสกับสิ่งนั้นมาใช่ไหม? แล้วนั่นนะในขณะนั้นจิตเป็นอย่างไร? เย็น ผ่องใส เป็นสุข นั่นนะในขณะนั้น นั่นแหละแล้วเราก็รู้สึกว่านี่นะเป็นสิ่งที่ล้ำเลิศเหลือเกิน ที่เราสามารถค้นพบ แต่เผอิญแวบนั้นไม่ได้อยู่นาน เพราะกิเลสที่เคยครอบงำอยู่มาดึงกลับไปเสียอีก แต่ถ้าเราฝึกดึงจิตให้อยู่บนหนทางสายกลาง เดินตามหนทางอริยมรรคมีองค์ ๘ เสมอ..จะมีแต่อยู่กับโพธิ โพธิ..เมล็ดพืชของโพธิก็จะเจริญงอกงามยิ่งขึ้น จะไม่ถูกความเน่าเหม็นของกิเลสมาปกคลุม เพราะฉะนั้น จะพาเดินออกไปสู่หนทางที่โพธิปัญญาชอบ และนี่แหละคือ การเดินไปหานิโรธคือหาความดับ ที่จะเกิดมากยิ่งขึ้น ฉะนั้นสรุปแล้ว อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นสิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้น ให้มีอยู่ และรักษาไว้ เพื่อความสุข สงบเย็น ถึงซึ่งความเป็นนิโรธคือ ความดับสนิทแห่งความทุกข์
ธรรมะสวัสดีค่ะ