แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ที่นี่จิตคืออะไร จะศึกษาพัฒนาจิต จิตคืออะไร จิต คือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ได้ จิตไม่มีรูป คือไม่มีรูปร่าง ให้มองเห็น ให้จับต้อง ไม่มีรูป ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น แต่มันเป็นสิ่งที่รู้อารมณ์ได้ ข้อนี้ก็อยากจะขอย้อนให้ไปนึกถึงที่ เราพูดเมื่อวานนี้ว่า ชีวิตประกอบด้วย กาย จิต หรือบางท่านก็อาจจะบอกว่า ชีวิตประกอบด้วยนามรูปหรือธรรมะธัมโมมากขึ้นไปอีก ก็จะบอกว่าชีวิต ชีวิตคือขันธ์ 5 คงเคยได้ยินใช่ไหมคะ ชีวิตคือขันธ์ 5 ขันธ์มี ธ.ธงการันต์ด้วยนะคะ ขันธ์ก็แปลว่า กอง หรือหมู่ หรือกลุ่ม
ขันธ์ 5 ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ท่านที่ทราบแล้วก็คงนึกออก ขันธ์แรกก็คือรูปขันธ์ ซึ่งก็หมายถึงร่างกายที่เรามองเห็นได้เนี่ย ตั้งแต่ศีรษะจดเท้าจับต้องได้ แล้วเราก็สมมุติเรียกนั้นผม นี่หน้า นี่คอไหล่ แขน ขา ลำตัว ตลอดจนกระทั่งตับไตไส้พุงหัวใจข้างใน นี่คือรูปขันธ์ เป็นสิ่งที่เรามองเห็นได้ จับต้องได้ และเมื่อเวลาที่เราตั้งชื่อ มีชื่อ มีสกุล ก็มุ่งหมายเอาให้ร่างกายรูปขันธ์ที่เรามองเห็นนี้
ทีนี้พอต่อไปขันธ์ที่ 2 เวทนาขันธ์ หมายถึงกลุ่มกองของความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องของความรู้สึก เราเรียกว่า เวทนา (เว-ทะ-นา) ขันธ์ ไม่ใช่เวทนา (เวด-ทะ-นา) นะคะ ถ้าเวทนา (เวด-ทะ-นา) นั่นเป็นคำที่เราพูดในภาษาไทย ที่แปลว่าสงสารใช่ไหมคะ แหม เวทนา น่าเวทนายัยคนนั้น ตาคนนี้ เพราะความจนของเขา เพราะความไม่รู้สีสา ชอบทำอะไรผิด ๆ พลาด ๆ นั่นเวทนา แต่นี่เวทนาขันธ์ ก็หมายถึง ขันธ์หรือกลุ่มกองของความรู้สึก รู้สึกชอบใจ ไม่ชอบใจ รู้สึกพอใจ ไม่พอใจ ถูกใจ ไม่ถูกใจ นี่คือเวทนาขันธ์
แล้วก็ขันธ์ที่ 3 ก็คือสัญญาขันธ์ สัญญาขันธ์ก็หมายถึง กลุ่มกองของความจำได้หมายมั่น ความจำได้หมายมั่นที่เป็นสัญญาเกิดจากอะไร ก็เกิดจากประสบการณ์ที่ได้เคยพบ เคยประสบ เคยเห็น เคยคุ้นเคยมาบ้าง เกิดจากสิ่งที่ได้เรียนรู้มา จากคำสั่งสอนของผู้ใหญ่ หรือจากครูบาอาจารย์ในสถาบันการศึกษา จากประสบการณ์จากสิ่งที่ตนอ่านมาเองเหล่านี้ ก็เก็บ ๆๆ เอาไว้ แล้วก็เป็นสัญญา ความจำได้หมายมั่น รวมไปถึงจำในเรื่องความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ ที่มันฝังใจ ที่มันประทับใจเป็นอันมาก พอนึกขึ้นมาได้ไม่ลืมนะคะ นี่เป็นสัญญาขันธ์ คือกลุ่มกองของความจำได้หมายมั่น ความสำคัญมั่นหมาย
ที่นี้ต่อไปขันธ์ที่ 4 สังขารขันธ์ คือสังขาร อ่านว่า สัง-ขา-ระ-ขัน คำว่าสังขารนี้ แปลได้ทั้งเป็นนามและก็ทั้งเป็นกริยา เป็นนาม สังขารก็แปลว่า ร่างกาย แต่ว่าสังขารขันธ์หมายถึงความรู้สึกนึกคิด ขอโทษอย่าเอาความรู้สึกไปใส่ มันจะไปปนกับเวทนา เอาความนึกรู้นึกรู้คิดได้ แล้วก็ถ้าจิตนั้นไม่ได้ฝึกฝนอบรม สังขารขันธ์มันก็จะไปปนกับมันอาจจะไปเกิดเป็นปรุงแต่งต่อไป ซึ่งจะพูดในปฏิจจสมุปบาท แต่จริง ๆ แล้วมันหมายถึงความรู้นึกรู้คิด คือกลุ่มก้อนกลุ่มกองของความรู้นึกรู้คิด สังขารขันธ์ กลุ่มกองของความรู้นึกรู้คิด
ที่นี้ขันธ์สุดท้ายก็คือ วิญญาณขันธ์ วิญญาณในที่นี้หมายถึงการรับรู้ การตามรู้ กลุ่มกองของความรู้จักตามความรู้สึก คือตามเวทนาขันธ์ กลุ่มกองของความรู้จักตามสัญญาขันธ์ คือตามที่จำได้หมายมั่น กลุ่มกองของความรู้จักตามสังขารขันธ์ คือตามความนึกความคิดต่างๆนานา
ทีนี้ก็หันมาดูว่า พูดสั้นๆชีวิตประกอบด้วยกายจิต แต่พอแยกออกเป็นขันธ์ ทำไมมันถึงออกเป็นถึง 5 ขันธ์ แล้วก็รูปขันธ์มันก็ชัดอยู่แล้วในขันธ์กองแรกนะคะ แล้วทำไมมันยังมีอีกตั้ง 4 ขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ 4 ขันธ์หลังนี้ มันหมายถึงอะไร สี่ขันธ์หลังนี่แหละ คือคำอธิบายของนาม หรือของจิต หรือของใจ
ถ้าจะถามว่าจิตคืออะไร จิตเป็นนามธรรม เป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะรู้จักได้ จับต้องได้ใช่ไหมคะ จึงยากแก่การอธิบาย เหมือนอย่างที่ตาพระภิกษุองค์นั้น ที่ไปขอเรียนธรรมะ กับท่านพระโพธิธรรม ช่วยเอาจิตมาชำระหน่อยสิ ช่วยล้างมันให้สะอาด ชำระมันให้สะอาดที แล้วท่านโพธิธรรมย้อนถาม ก็เอามาดูหน่อยสิจิตน่ะอยู่ไหน ส่งมาจะล้างให้ชำระให้ พระภิกษุองค์นั้น ก็มองหาใหญ่ ควานใหญ่ ไม่พบ จะไปหยิบให้ตรงนั้น ตรงนี้มันก็มีชื่อตามสมมุติแล้วทั้งนั้น ก็เป็นตับ เป็นปอด เป็นหัวใจ หรือว่านี่ เป็นแขน เป็นไหล่ อะไรเนี่ย ที่เรียกว่าจิตเนี่ยมันอยู่ตรงไหน มันไม่มี ก็เลยบอกไม่มี ท่านพระโพธิธรรมก็บอกว่า อ้าวถ้าจิตไม่มี มันก็หมดเรื่องแล้วสิ หมดเรื่องอะไร หมดเรื่องของความยึดมั่นถือมั่น ว่านี่เป็นกาย นี่เป็นจิต มันก็หมดเรื่องแล้วสิ
เพราะฉะนั้นเรื่องของจิต จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกันให้ชัดเจน ว่ามันคืออะไร เพราะมันไม่มีรูป ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มันยากแก่การทำความรู้จัก ท่านจึงอธิบายถึงลักษณะอาการของจิตออกมาในในรูปแบบของขันธ์ ถึงสี่ขันธ์ จิตไม่มีรูป ไม่มีสี ไม่มีกลิ่นให้จับต้องได้ ให้รู้สึกให้จับได้ แต่จิตนั้นเป็นสิ่งที่สามารถรู้อารมณ์ได้ ก็มีอารมณ์ของอะไรบ้าง ของเวทนาขันธ์ ก็คือของความรู้สึก จิตนี้รู้สึกได้ เป็นสิ่งที่รู้สึกได้ จิตนี้เป็นสิ่งที่รู้จำได้ มันจำอะไรต่ออะไรสารพัดจากสิ่งที่ได้เล่าเรียนมา ที่ได้เห็นมา จากที่เกี่ยวข้องเป็นประสบการณ์มา มันจำได้สารพัด ตลอดจนความรู้สึกเจ็บปวด ความรู้สึกตื่นเต้น ลิงโลด ประทับใจ มันจำหมด นี่ในสัญญาขันธ์ นี่คือลักษณะอาการของจิต ลักษณะที่ 3 ของจิตก็คือ มันรู้นึกได้ มันรู้คิดได้ เอาง่ายๆ มันรู้คิดได้ จิตนี่มันคิดได้ แล้วก็ลักษณะที่ 4 ก็คือ มันรู้จักได้ คือมันรู้จัก มันตามรู้ เช่นรู้ความรู้สึก รู้สึกเป็นยังไง ดีชั่วยังไง ชอบชังอย่างไร ได้เสียอย่างไร มันรู้ได้ แล้วมันก็รู้จัก รู้จำ คือรู้จักตามความรู้จำ ตามความจำสำคัญมั่นหมายที่เกิดขึ้น และมันก็ตามรู้จักความนึกความคิดที่เกิดขึ้นภายใน นี่คือความสามารถที่จิตมันแสดงออกมาได้
ท่านจึงอธิบายง่าย ๆ ว่า จิต คือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ได้ อธิบายง่ายๆนะคะ จิตคือธรรมชาติ หรือคือสิ่งที่รู้อารมณ์ได้ อารมณ์อะไร อารมณ์ของความรู้สึก อารมณ์ของความจำได้หมายมั่น อารมณ์ของความรู้นึกรู้คิด แล้วก็อารมณ์ของความรู้จักหรือความตามรู้ในขันธ์ข้างต้น 3 ขันธ์ที่เกิดขึ้น แล้วจิตนี้ก็เป็นสิ่งที่ประกอบกันกับกาย คือต้องร่วมกันกับกาย ทำงานร่วมกันกับกาย แต่จิตนั้นเป็นนาย กายเป็นบ่าว คือกายเป็นผู้รับคำสั่งแล้วแต่ จิตจะบงการ บางทีท่านจึงเรียกว่า กาย ก็คือสำนักงานหรือออฟฟิศของจิต ทั้งจิตทั้งกายรวมกันเข้าแล้ว ก็เป็นสิ่งที่เรียกว่า ชีวิต
ฉะนั้นการที่จะรู้จักคำว่าจิตคืออะไร จึงอยากจะขอแนะนำนะคะว่า โปรดศึกษาขันธ์ 5 ให้ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ 4 ขันธ์ข้างหลัง เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ถ้าเราศึกษา 4 ขันธ์นี้ให้ละเอียด เอามาใคร่ครวญ โดยที่บอกความรู้สึกได้มันเป็นยังไง แล้วก็เอาความรู้สึกที่เราได้เคยผ่านพบมา มาใคร่ครวญในใจ ทีละอย่าง ละอย่าง ละอย่าง จนชัดเจนในเวทนาขันธ์ แล้วก็สัญญาขันธ์ โอ๊ย มากมาย มากมายมหาศาล และที่เราทุกข์กันอยู่ทุกวันนี้ ที่มนุษย์เป็นทุกข์กันอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะสัญญาขันธ์ใช่ไหมคะ เมื่อเวลาจะหยุดหายใจ เฮือกสุดท้ายนั่นน่ะ ถ้าปล่อยสัญญาขันธ์ไม่ได้ก็ไม่ไปไหน ก็อยู่กับสัญญาขันธ์นั่นน่ะ
เพราะฉะนั้นสัญญาขันธ์ นี่ร้ายกาจมาก ก็เอามาใคร่ครวญเอามาศึกษาว่า สัญญาขันธ์แต่ละอย่าง ละอย่าง ละอย่าง ที่มันเกี่ยวพันอยู่ในจิต ที่มันยึดมั่นหรือว่าจิตยึดมั่นอยู่นั้นมันเป็นยังไงบ้าง และสัญญาขันธ์แต่ละอย่าง มีลักษณะอาการอย่างไร และมันให้ผลหรือว่าให้ทุกข์ให้โทษอย่างไรแก่จิตบ้าง ถ้าหากไปหลงยึดมั่นในมัน เสร็จแล้วก็ศึกษาสังขารขันธ์ ความทุกข์ที่นอนไม่หลับเนี่ย เพราะความคิดที่ไม่หยุดนิ่งใช่ไหมคะ คิดเตลิดเปิดเปิง คิดแล้วไม่หยุด จากเรื่องนี้ไปเรื่องโน้น หรือหากว่าเรื่องไหนที่มันผูกใจเจ็บหนักในวันนี้ ก็เอามาคิดต่อคิดอยู่นั่นแล้ว
เพราะฉะนั้นสังขารขันธ์อันนี้ก็ศึกษาให้ดี แล้วก็จะเห็นว่าวิญญาณขันธ์นั้น มันเข้ามาทำหน้าที่ร่วมกับเวทนาขันธ์บ้าง สัญญาขันธ์บ้าง สังขารขันธ์บ้าง แต่ขันธ์อื่น ๆ เช่น เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์นี้ มันหาได้ทำหน้าที่พร้อมกันไม่ จริงนะคะ จริงไหมคะ อย่าเพิ่งเชื่อตามที่พูด ลองใคร่ครวญดูข้างใน จริงไหม ที่ท่านบอกว่าขันธ์ทั้ง 5 นี้อันที่จริงแล้ว มันเป็นกอง ๆ มันกองอยู่ 5 กอง นี่กองรูป กองความรู้สึก กองความจำได้หมายมั่น กองรู้นึกคิดความนึกความคิด กองความตามรู้ หรือการตามรู้ มันก็กองของมันอยู่อย่างนี้ พอถึงหน้าที่กองไหนจะต้องทำหน้าที่ มันก็ทำ มีแต่วิญญาณขันธ์เนี่ยมันจะไปร่วมรับรู้ รับรู้กับความรู้สึก เนี่ยพอความรู้สึกชอบ วิญญาณขันธ์มันก็ทำหน้าที่เข้ามารับรู้ คล้าย ๆ กับจะมายืนยัน มารับรองจริงนะ ๆ หรือว่าไม่ชอบ มันก็จริงนะ ๆ มันทำนองอย่างนั้น มันไปเข้าไปรับรู้ด้วย แล้วก็พอสัญญาของความสำคัญหมายมั่นอะไรเกิดขึ้น มันก็ไปตามรู้ด้วย อย่างนี้ตลอดมา
เพราะฉะนั้นขันธ์แต่ละขันธ์ มันก็กองของมันอยู่อย่างนี้ ท่านจึงบอกว่าขันธ์ 5 ก็สักแต่ว่าขันธ์ 5 มันเป็นเพียงสักแต่ว่าขันธ์ 5 อย่างที่สวดมนต์ ทำวัตรเช้าใช่ไหมคะ มันไม่ได้มารวมกันเป็นหนึ่งเลย แต่ความยึดมั่นถือมั่นของมนุษย์ ที่บอกกัน ภารา หะเว ปัญจักขันธา ขันธ์ทั้ง 5 เป็นของหนักเน้อ ความที่อันที่จริงมันไม่หนัก แต่จิตของมนุษย์ไปแบกมันเอาไว้ ฉันรู้สึกอย่างนี้ ฉันเกลียดอย่างนี้ ฉันชอบอย่างนี้ ฉันทนไม่ได้อย่างนี้ ไปสำคัญมั่นหมาย ครั้งนั้นน่ะเขาทำอย่างนี้กับฉัน ฉันลืมไม่ได้ ไม่ยอมลืม ไปฆ่าตัวเอง ไม่ใช่ฆ่าคนอื่น ฆ่าตัวเองให้ตายไปทีละน้อย ทีละน้อย เพราะความเจ็บใจ หรือประเดี๋ยวก็รู้นึกรู้คิดไปเรื่อย สารพัดไม่ยอมหยุด
เพราะฉะนั้นขันธ์ 5 มันก็สักแต่ว่าขันธ์ 5 แต่จิตมนุษย์ ที่ยังไม่ได้รับการฝึกฝนอบรม หรือพัฒนาทางจิต ไปหลงยึดมั่นถือมั่น ก็เลยเอาขันธ์ 5 เป็นตัวเป็นตน เป็นฉันขึ้นมา อัตตาเกิดขึ้นเพราะความยึดมั่นถือมั่น เพราะฉะนั้นถ้าศึกษาขันธ์ 5 ให้ดี ก็จะเข้าใจที่ท่านบอกว่า จิตนั้นมิได้มี คือมันไม่มีรูปไม่มีร่างอย่างที่ว่า มันมีแต่อาการ ลักษณะอาการของการแสดงที่มันจะแสดงออกมาได้ ในลักษณะ 4 อย่างดังกล่าวแล้ว แล้วมันก็รวมกันเข้าเป็นสิ่งที่เรียกว่าชีวิต
ที่นี้ที่พูดกันว่าจิตที่เจริญคืออย่างไร อย่างมาปฏิบัติจิตตภาวนา ก็มาพัฒนาจิตให้เจริญ จิตที่เจริญคือจิตอย่างไร ก็หมายถึงจิตที่สงบ เยือกเย็น ผ่องใส มั่นคง อยู่ด้วยสติ สมาธิ ปัญญา และปัญญานี้ก็ขอย้ำว่าเป็นปัญญาข้างใน ที่ค่อยๆพัฒนาขึ้นจากวิปัสสนาภาวนา วิปัสสนาภาวนานี่แหละ จะส่งเสริมให้เกิดปัญญาภายใน มากน้อย ตามควรแก่การปฏิบัตินะคะ
นอกจากนี้ จิตที่เจริญก็เป็นจิตที่คิดแต่จะให้ นั่นแหละคือจิตที่เจริญ เพราะเป็นจิตที่ไม่มีความเห็นแก่ตัว จึงคิดแต่จะให้ ให้สิ่งที่เป็นวัตถุบ้าง ให้สิ่งที่เป็นรูปธรรม ทรัพย์สินเงินทอง ให้สิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น ความเมตตา ความกรุณา ความรัก ความเอื้อเฟื้อโอบอ้อมอารี ความให้อภัยกัน นี่เป็นจิตที่คิดจะให้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคิดให้อภัย เป็นการให้ที่สูงส่ง เป็นการบริจาคที่สูงส่ง เพราะมันยาก ทำได้ยาก เหล่านี้เป็นลักษณะของจิตที่เจริญ ฉะนั้นความเจริญที่แท้จริงจึงอยู่ที่ความเจริญอันเกิดจากภายใน คือเกิดจากจิตที่ฝึกอบรมพัฒนาแล้ว
อย่างที่เราพูดถึงการศึกษาเมื่อวานนี้ว่า จุดมุ่งหมายของการศึกษาต้องให้ความรอดทั้งทางกายทางจิตทางวิญญาณ คือทางสติปัญญาให้มีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นที่ถูกต้องเพื่ออะไร ก็เพื่อให้เกิดปัญญาที่แท้จริง คือเกิดความฉลาด ที่แท้จริงจากภายใน สามารถที่จะแบ่งปัน สามารถที่จะให้สามารถที่จะเจือจานกันได้ โดยไม่เห็นแก่ตัว แล้วปัญญาอย่างนี้หรือความฉลาดอย่างนี้ จะได้ควบคุมความฉลาดที่ได้รับจากการศึกษาเล่าเรียนนั้น ให้เป็นความฉลาดที่อยู่ในขอบเขต ไม่เป็นความฉลาดที่เห็นแก่ตัวนะคะ ฉะนั้นจิตที่เจริญอันที่ 2 คือเป็นจิตที่คิดจะให้ ทำแต่สิ่งที่ถูกต้อง ที่จะยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นคือเพื่อนมนุษย์