แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ก็หมายความว่า ปัญหาต่างๆที่มันเกิดขึ้นในชีวิตในวันหนึ่งๆนี่คะ ทุกท่านก็คงทราบแล้วว่ามันเกิดตอนเราลืมตา ใช่มั้ยคะ ตอนที่เราลืมตาอยู่นี่ ที่มันมีสิ่งกระทบ เดี๋ยวก็ได้ยินคำพูดที่ไม่ชอบใจ เดี๋ยวก็เห็นการกระทำที่ไม่น่าดู เดี๋ยวก็ปัญหาอย่างโน้นอย่างนี้มา ตอนเรานอนหลับแล้วน่ะไม่มีอะไร นอกจากว่าเราจะเก็บสัญญาเอาไปฝันใช่มั้ยคะ เพราะฉะนั้นการทำสมาธิในขณะที่เราลืมตาอยู่ตลอดวัน ดิฉันเห็นว่าสำคัญมากเลย เพราะนั่นคือการสามารถที่จะพยายามคุมสติ ให้มีอยู่ในทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน ทำงานการอันใด รับประทานอาหาร ซักผ้า ทำครัว หรือแม้แต่เข้าห้องน้ำ เรียกว่าทุกอิริยาบททุกย่างก้าวให้มีสติควบคุมอยู่แก่ใจ ทีนี้จะทำอย่างไรล่ะ ก็ใช้วิธีเดียวกันที่แหละค่ะ จะนึกพุทโธ พุทโธ ไม่ว่าทำอะไรก็ให้มีพุทโธติดอยู่กับใจ ตอนแรกๆ อาจจะท่อง คือใจยังไม่ค่อยอยู่จะท่อง พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ แต่เราไม่ได้ท่องเสียงดังอย่างนี้ใช่มั้ยคะ คนเขาก็ไม่เห็นว่าเราเพี้ยนหรอก เพราะเราท่องของเราในใจ หรือมิเช่นนั้นก็เอาใจนี่อยู่กับลมหายใจ รู้ลมหายใจเข้าออกทุกขณะไม่ว่าทำอะไร มือทำไปแต่ใจรู้อยู่กับลมหายใจ นี่คือการควบคุมสติ แล้วจิตก็เป็นสมาธิอยู่ในขณะนั้น ฉะนั้นถ้าจะเกิดอะไรขึ้นในตอนนั้น มันก็มีสติทัน ที่จะตั้งรับด้วยปัญญา ไม่ผลีผลามออกไปโต้เอาจริงเอาจังจนเกิดเป็นเหตุอะไรโต้เถียงวิวาทกันขึ้น ฉะนั้นดิฉันว่าการทำสมาธิลืมตาในทุกอิริยาบทนี่สำคัญมาก
นอกจากว่าจะใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนด หรือใช้เครื่องบริกรรมพุทโธแล้ว จะใช้อะไรที่ชอบ เช่น ถ้าท่านผู้ใดชอบอนิจจัง ไม่เที่ยง ไม่เที่ยง ไม่เที่ยง ไม่เที่ยง ก็ได้เหมือนกัน เหมือนอย่างหลวงพ่อท่านอาจารย์ชา ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ของดิฉัน ต้องเรียกอย่างนั้นที่ดิฉันออกจากบ้านก็เพราะมั่นใจในหลวงพ่อ ท่านจะบอกเสมอว่าไม่แน่ ไม่แน่ ไม่แน่ก็คือไม่เที่ยง แล้วก็ท่านบอกว่าไม่แน่นี่มันจะช่วยเรานะ เคยเรียนถามท่านว่า ถ้าสมมติว่าปฏิบัติไปแล้วก็เกิดไม่มีครูบาอาจารย์ อย่างเวลานี้นี่ครูบาอาจารย์ของดิฉันท่านก็สิ้นไปทั้ง 2 องค์แล้ว แล้วจะทำไง หลวงพ่อท่านก็บอกว่า อ้าว ไม่แน่สิ ไม่แน่ ให้รู้ไม่แน่ รู้ไม่แน่ไว้ตลอดเวลา แล้วหลวงพ่อท่านจะชอบ ท่านมักจะยกถ้วยแก้วนี่ค่ะเอาไว้ในมือ แล้วท่านก็บอกดูแก้วนี้นะ พอเราหยิบถ้วยแก้วนี้มาล่ะก็ ให้เห็นที่สุดของมัน ให้เห็นที่สุดของมัน ที่สุดของมันคืออะไร ก็ทราบใช่มั้ยคะ ที่สุดของมันก็คือความไม่เที่ยง คือความแตกดับ เคยมีถ้วยแก้วใบไหนบ้างที่อยู่ตลอดกาล หรือเสื้อผ้า หรือเครื่องใช้ หรืออะไรก็ตาม พอได้อะไรมาครั้งแรกยิ่งรักมากควรจะยิ่งดูให้มากๆ แม้แต่มีลูกคนแรกก็ตาม ดูความไม่แน่เอาไว้ ความไม่แน่ของอนิจจัง ความทนอยู่ไม่ได้ของทุกขัง ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของอนัตตา ถ้าเราดูอยู่อย่างนี้เรื่อยๆ คือความมีสติ เราจะตั้งรับได้ทั้งเหตุดีและเหตุร้าย เหตุร้ายเกิดขึ้นก็ไม่เสียใจจนสลบ เราสามารถจะมีสติแก้ไขได้ เหตุดีเกิดขึ้นก็ไม่ตื่นเต้นจนลืมตัวไม่ประมาท เพราะรู้ว่าวันหนึ่งมันก็จะเปลี่ยนแปลงไป เพราะฉะนั้นชอบอะไรเอาสิ่งนั้นเข้ามานึกเอาไว้ในใจ และก็บริกรรมเอาไว้ในใจ ไม่แน่ ไม่แน่ ไม่แน่ หรือท่านอาจารย์สวนโมกข์ท่านก็มีคำบอก เช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง คือมาจากตถาตา หมายความว่าธรรมดาของชีวิตมันเป็นเช่นนั้นเอง มันมีแต่ไม่เที่ยง มันมีแต่ทนอยู่ไม่ได้ มันมีแต่ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน นึกไว้นะ จะชอบอะไรก็นึกอันนั้นไว้ หรือว่าจะชอบบทสวดมนต์ ดิฉันก็ชอบบทสวดมนต์ที่ชอบ และก็ที่มีคำแปลด้วย เพราะเราจะรู้ความหมายว่าเรากำลังสวดว่าอะไร ถ้ามีแต่คำบาลีเราไม่ค่อยซึมซาบเพราะเราไม่ทราบความหมาย ถ้ามีคำแปลด้วยเราก็เอามาสวดไป ชอบบทไหนก็สวดไปทุกอิริยาบถจะเดินจะทำอะไร แล้วจิตก็จะเป็นสมาธิ อย่างนี้ดิฉันเรียกว่าสมาธิลืมตา แล้วก็เอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ แล้วก็จะไม่มีใครที่บอกว่า อุ้ย ไม่มีเวลาทำสมาธิ เพราะตราบใดที่ยังหายใจอยู่เราสามารถจะทำสมาธิได้ทุกขณะนะคะ ก็ขออนุญาตตอบคำถามอย่างเร็ว เพราะว่าบางคำถามก็ได้พูดไปแล้ว มีคำตอบอยู่ในที่เราพูดไปแล้ว
05:02 คำถาม: คำถามที่ถามมานะคะก็มีอยู่ เรื่องการทำสมาธิภาวนา เรื่องกรรม และก็เรื่องวิญญาณ อย่างเรื่องการทำสมาธิภาวนา ก็บอกว่าทำมา 5-6 ปีแต่ไม่ก้าวหน้า
ตอบ: ก็ขอได้โปรดถามตัวเองว่า 5-6 ปีนี่ ทำทุกวันหรือเปล่า ทำวันละกี่ชั่วโมง หรือว่ากี่นาที เป็นประจำหรือเปล่า 5-6 ปีถ้ารวมวันที่ทำสมาธิจริงๆ อาจจะเดือนเดียวก็ได้ ใช่มั้ยคะ เพราะทำวันนี้หยุดไปสักเดือนนึง อ้าว เริ่มทำวันใหม่หยุดไปอีก 3 เดือน แต่ว่านับตั้งแต่เริ่มฝึกทำมานี่ 5-6 ปี อย่างนี้ไม่ก้าวหน้าแน่นอนนะคะ ทีนี้ความไม่ก้าวหน้านี้ อาจจะเป็นเพราะการเริ่มทำสมาธิ ทำอย่างไม่ถูกวิธีก็ได้ เคร่งครัดเคร่งเครียดกับตัวเอง พอนั่งก็จะเอาให้ได้ นี่เห็นมั้ยคะ ตัณหา มันตามมาเผาเรา แม้แต่เวลานั่งสมาธิ เพราะเกิดความอยาก พอนั่งหลับตาต้องสงบ เป็นไปไม่ได้ ใครเริ่มนั่งสมาธิก็รู้ว่าเป็นไปไม่ได้ ยิ่งอยากสงบ นั่นแหละมันยิ่งไม่ได้ เพราะตัณหามันเข้ามาเป็นอุปสรรคแล้ว เพราะฉะนั้นอันนี้ขอได้โปรดพิจารณาดูวิธีที่นั่ง คือที่ปฏิบัติในการนั่งสมาธิทำอย่างไรนะคะ ถึงไม่ก้าวหน้า แล้วบางครั้งกลับหงุดหงิดมากขึ้น ก็ต้องถามตัวเองว่าหงุดหงิดแล้วช่วยไหม ช่วยในการทำสมาธิไหม หงุดหงิดกับใคร เพราะฉะนั้นอย่าหงุดหงิด พอทำสมาธิไม่ได้ คือมันไม่สงบ ถ้าดิฉันจะแนะนำก็คือว่ามองดูอนิจจังทันที โอ้ แม้แต่ในการทำสมาธิก็มีอนิจจังนะ คือประเดี๋ยวก็ทำได้ สงบ ประเดี๋ยวก็ทำไม่ได้ ไม่สงบ มันเป็นอนิจจังอย่างนี้เอง อนิจจังนี่มันเข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตของเราทุกเรื่องทุกอย่างไปเลย พอเรานึกถึงอนิจจังเท่านั้นแหละค่ะ ยิ้มได้ เริ่มต้นอยู่กับลมหายใจไปใหม่ ใจเย็นๆ เรามาฝึกสมาธิเพื่อให้ใจเย็น ถ้ามาฝึกสมาธิเกิดหงุดหงิดขึ้นมาอีก เลยไม่มีหนทางที่จะหาหนทางพักใจ เพราะฉะนั้นจงยิ้ม เห็นอนิจจัง ตั้งต้นใหม่ ด้วยวิธีนี้ แล้ววันหนึ่งก็จะก้าวหน้า คือทำสมาธิได้สงบรวดเร็วมากขึ้น
07:21คำถาม: อยากทราบขั้นตอนของการทำสมาธิ เมื่อนั่งแล้วคิดว่าจิตนิ่งแล้วควรจะทำอย่างไร?
ตอบ: ถ้าคิดว่าจิตนิ่ง นี่คิดนะคะ ขอเรียนว่าการทำสมาธิไม่ใช้สมอง สมองที่ฉลาดๆ นี่เก็บเอาไว้ เอาไว้ไปใช้ในการงาน เอาไปใช้ในการเรียนหนังสือ อย่าเอามาใช้ในเรื่องของการทำสมาธินะคะ มันไม่ช่วยในการทำสมาธิ การทำสมาธิเราใช้ใจ คือใช้ความรู้สึก ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจนี่ เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้สึกว่าในจิตนี้ได้สัมผัส จิตต้องสัมผัสกับความนิ่ง คือพอนิ่งท่านที่ทำสมาธิจะมีประสบการณ์และต้องเข้าใจที่ดิฉันพูด มันนิ่ง มันนิ่ง มันสงบ มันเย็น มันไม่ได้ยินแม้แต่ใบไม้ไหว มันไม่ได้ยินอะไร ไม่เกี่ยวข้องกับอะไร มันเย็นอยู่ข้างใน อะไรจะเกิดขึ้นรอบตัวมันเฉย มันไม่เอาเรื่องในขณะนั้นนะคะ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเราได้สัมผัสอย่างนี้ว่าจิตนิ่งแล้วจะทำอย่างไร ก็ดูความนิ่งของจิต ความสงบของจิต จดจ่อลงไปด้วยความรู้สึก ไม่ต้องไปกลัวว่ามันจะไปไหน มันจะถึงไหน มันจะเป็นอะไร ไม่ต้องกลัว ดูลงไปเฉยๆ แล้วก็ควบคุมลมหายใจให้อยู่สงบนิ่ง แล้วทีนี้มันจะเกิดอะไรขึ้นก็พิจารณาต่อไป คือถ้าหากว่ามีเรื่องที่จะให้เราพิจารณาในทางปัญญาก็พิจารณาต่อไป ถ้าไม่มีก็ฝึกสมาธินั้นให้เป็นสมาธิที่มั่นคงเข้มแข็งยิ่งขึ้น
8:53คำถาม: ทีนี้คำถามต่อไปก็ว่า วิญญาณมีจริงหรือไม่? ถ้ามีจะอยู่ในลักษณะไหนอย่างไร?
ตอบ: ก็ขอเรียนว่า คำว่าวิญญาณในพระพุทธศาสนาที่แท้จริงนั้น ไม่ได้หมายความถึงดวงอะไรที่ลอยไปลอยมา ประเดี๋ยวก็จะเข้าคนนั้นเข้าคนนี้ ไม่ได้หมายถึงอย่างนั้น วิญญาณในทางพระพุทธศาสนาหมายถึงสติปัญญา เหมือนอย่างที่เราจะพัฒนานี่ การพัฒนาก็พัฒนากาย พัฒนาจิต แล้วก็พัฒนาปัญญา ธรรมะนั่นคือการพัฒนาปัญญา พัฒนาปัญญาที่มันทื่อๆ มันไม่รู้อะไร ให้มันแหลมคมยิ่งขึ้น ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ด้วยการมองเห็นลึกเข้าไปถึงสัจธรรมของธรรมชาติ นั่นคือพัฒนาปัญญาให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นๆ ตามลำดับ เพราะฉะนั้นวิญญาณในพระพุทธศาสนาคือเรื่องของสติปัญญา ซึ่งสติปัญญาอันนี้ค่ะ หมายถึงว่าถ้าพัฒนาไปแล้วมันก็จะเกิดเป็นจิตที่เป็นสัมมาทิฐิ ที่จะเกิดการคิดถูก พูดถูก และก็ทำถูก แล้วก็มีแต่เกิดประโยชน์นำความสุขความสำเร็จมาสู่ชีวิตตลอด ฉะนั้นวิญญาณหมายถึงสติปัญญา
10:07คำถาม: คำถามต่อไปที่เกี่ยวกับวิญญาณว่า ชีวิตเมื่อดับแล้ววิญญาณไปอยู่ ณ ที่ใด? เพราะวิทยาศาสตร์บอกว่าสสารเมื่อเกิดแล้วไม่มีวันดับสูญไปจากโลก
ตอบ: ก็ในพระไตรปิฎกก็มีอยู่บ่อยๆ นะคะ ที่มีผู้ไปกราบทูลถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าตายแล้วไปไหน แล้วก็ดิฉันก็พบคำตอบของพระองค์ท่านนี่ ท่านก็จะบอกว่าก็ดูเทียนสิ อย่างที่ท่านคงเคยได้ยินครูบาอาจารย์บอก ดูเทียนที่เราจุดนี่ เมื่อเทียนดับลงแล้วไฟไปไหน ใครบอกได้มั้ย ท่านจะย้อนถามแบบนี้ บอกได้มั้ยว่าไฟไปไหน ไฟสมมติว่าเราจะอุปมาไฟเหมือนวิญญาณ ไฟไปไหนวิญญาณก็ไปอย่างนั้น ดิฉันฟังดิฉันก็ไม่ค่อยเข้าใจเหมือนกันนะคะ แล้วดิฉันก็ลองมาพิจารณา สมมติว่าเรามีเทียนและก็มีไส้เทียนอยู่เล่มนึง เราจุดเทียน แล้วก็ถ้าเทียนนั้นเราดับเทียนโดยเทียนยังไม่หมดเล่ม มันก็มีขี้ผึ้งและก็มีไส้เทียนอยู่ ใช่มั้ยคะ และเราก็มาจุดไฟอีก ไฟนั้นก็ติดต่อไปอีก แต่ถ้าวันใดเทียนเล่มนั้นนี่มันเผาไหม้ไปโดยไม่มีใครไปทำให้มันดับ มันก็จะหมดจนเกลี้ยงไป จุดต่ออีกไม่ได้ ใช่มั้ยคะ ก็พอจะอุปมาอุปมัยได้ว่าตายแล้วไปไหน แล้วดิฉันก็มักจะบอกกับเพื่อนฝูงที่รู้จักหลายคนว่า อย่าเป็นห่วงเลยว่าตายแล้วไปไหน จงห่วงกังวลก่อนตาย ก่อนสิ้นลมนั่นแหละสำคัญ ตายแล้วจะไปกังวลอะไร ก่อนที่จะสิ้นลมนี่สิ ที่เรารู้ร้อน รู้หนาว รู้สุข รู้ทุกข์ ไม่สบาย เจ็บใจ ไม่ถูกใจ ทำตอนนี้แหละให้ดี เพราะฉะนั้นคติจะไปไหน คืออยู่ตอนที่เราจะสิ้นลม ถ้าตอนที่จะสิ้นลมผู้ที่สิ้นลมนั้นจิตสบายสงบเย็น ไม่ต้องสงสัยใช่มั้ยคะ สุคติแน่นอน ถ้าจิตนั้นวุ่นวาย ทุรนทุราย กระสับกระส่าย ฮึดฮัด ก็แน่นอนอีกเหมือนกัน ทุคติ เพราะฉะนั้นในขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่นี่แหละคือโอกาสแล้ว โอกาสที่จะจัดคติของเรา ว่าเราจะไปไหน คือพยายามรักษาใจพัฒนาใจให้มีคุณภาพชีวิต ให้สงบเย็นอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นคำตอบก็มี 2 อันนี้นะคะ
12:43 คำถาม: แล้วก็มีคำถามเกี่ยวกับเรื่องกรรมว่า จริงหรือไม่ที่ว่าชีวิตบนโลกนี้เกิดมาเพื่อใช้กรรม?
ตอบ: กรรมคือการกระทำ ก็ได้อธิบายเรื่องกรรมไปแล้วนะคะ ในเรื่องของเหยื่อ ก็อาจจะเพิ่มเติมว่า ชีวิตที่เกิดมานี้ก็เพื่อศึกษาและเรียนรู้เรื่องการกระทำที่ถูกต้อง จะได้เป็นผู้มีอิสระ ถ้าจะใช้คำว่าใช้กรรมนี่ดิฉันไม่ค่อยชอบใช้ เพราะรู้สึกว่าเหมือนเราเป็นนักโทษ เหมือนกับเราเป็นหนี้ เหมือนกับเราเป็นคนไม่เป็นอิสระ เพราะฉะนั้นกรรมนี่มันอยู่ในกำมือของเรา เชื่อมั้ยคะ หลายท่านอาจจะไม่เชื่อไม่เห็นด้วย แต่ถ้าเราคิดถึงเหตุปัจจัย อย่างเรื่องเหยื่อนั่นน่ะ กรรมนี่อยู่ในกำมือของเรา คือถ้าเราทำเหตุปัจจัยให้ถูกต้อง ผลมันก็ถูกต้อง เพราะฉะนั้นอย่าไปคิดอย่างอื่น ถ้าคิดอย่างนี้แล้วมันก็มีวันสิ้นกรรม
13:40 คำถาม: การทำสมาธิจำเป็นต้องมีอาจารย์สำรวจอารมณ์หรือไม่? ถ้าเกิดวิปลาสไปจะแก้ไขอย่างไร
ตอบ: ถ้าทำถูกต้องนะคะ ได้รับคำสอนที่ถูกต้อง ไม่ต้องมี ไม่ต้องมีท่านผู้ใดมาคอยควบคุม แต่อาจจะมีปัญหาในการปฏิบัติที่เรายังไม่เข้าใจ อย่างนั้นก็ไปไต่ถาม แล้วถ้าทำถูกต้องอย่างที่เราพูดกันนี้ รับรองว่าไม่มีการวิปลาส
14:00 คำถาม: ทำอย่างไรถึงจะมีความรู้สึกว่าได้สัมผัสกับสิ่งที่เร้นลับ?
ตอบ: ทำต่อไป ทำต่อไปอีกเรื่อยๆ มากๆ แล้วจะได้สัมผัสจริง แต่ต้องทำให้ถูกวิธีนะคะ
14:13 คำถาม: แนวการพิจารณาเกิด แก่ เจ็บ ตาย
ตอบ: ก็ถ้าเราพิจารณาไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอยู่ทุกขณะ เราก็จะเห็นว่า ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นของธรรมชาติ ไม่ใช่ของใครเลยสักคน ทุกคนมีหน้าที่ที่ต้องพบหลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วเราจะไปยุ่งอะไรกับมัน ถ้าเราบอกตัวเราเองอย่างนี้นะคะ เราก็ไม่ต้องทุกข์เท่านั้นเอง ถึงเวลาแก่ก็รับรองว่าแก่ แล้วก็จัดการการแก่ของเราให้ถูกต้อง อย่าให้เป็นที่รำคาญแก่ใคร ถึงเวลาเจ็บเราก็รักษา แต่ไม่ต้องไปกังวลทำให้มันเจ็บมากขึ้นไปอีก ถึงเวลาตาย เตรียมพร้อม อย่างที่บอกว่า แก่อย่างสง่าแล้วก็จะตายอย่างสงบและเยือกเย็น
เผอิญเวลาหมดเสียแล้ว ดิฉันยังพูดได้อีกนะคะ ก็ขอขอบพระคุณค่ะทุกๆ ท่าน ขอให้ทุกท่านได้มีโอกาสพักใจ เจริญในธรรม เพื่อความมีคุณภาพของชีวิต จะได้ช่วยให้ชีวิตของเราเป็นสุขสงบ และเป็นกำลังของสังคม ประเทศชาติ ให้ได้มีความสงบยั่งยืน และอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุขต่อไป ธรรมะสวัสดีทุกท่านค่ะ