แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ
สวัสดีค่ะท่านผู้ฟังที่เคารพ พบกับรายการพุทธธรรมนำชีวิตอีกเช่นเคย ในช่วงแรกของรายการเป็นการแสดงพระธรรมเทศนาในเวลา 11:00 น. หลังจากจบพระธรรมเทศนาแล้ว เป็นเพลงไทยเดิมซึ่งเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่ไว้ และมาถึงช่วงสุดท้ายของรายการพุทธธรรมนำชีวิต เป็นช่วงของธรรมะชำระใจค่ะ และตามที่ดิฉันได้ประชาสัมพันธ์ไว้ในรายการนี้ว่า ในวันพระนี้ จะกราบเรียนเชิญ ท่านศาสตราจารย์อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง วัดป่าบ้านหนองไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร มาเป็นผู้ตอบปัญหาธรรมะในวันนี้ ก่อนอื่นต้องขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง ที่ทางรายการพุทธธรรมนำชีวิต ได้รับเกียรติอย่างสูงสุดจาก ท่านศาสตราจารย์อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง ที่ท่านกรุณามีเมตตาจิตกับรายการนี้ และจะกรุณาต่อไปคะ เพื่อเป็นการเผยแพร่ธรรมะที่ถูกต้องแก่พุทธศาสนิกชน ในช่วงธรรมะชำระใจ และหากท่านผู้ฟังมีข้อคิดเห็นประการใด ขอได้โปรดส่งจดหมายมายังรายการพุทธธรรมนำชีวิต สถานีวิทยุ 909 ตำบลธาตุนาเวง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร รหัสไปรษณีย์ 47000 คะ ก่อนอื่นนะคะ ขอกราบเรียนถามคุณแม่นะคะว่า ชาวพุทธเราชอบทำบุญกันมาก อยากทราบว่า บุญคืออะไร และทำบุญอย่างไรจึงจะได้บุญกุศลมาก บุญกับกุศลเหมือนกันหรือไม่ค่ะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง
ตอบคุณประสบพร ธรรมะสวัสดีต่อผู้ฟังทุกท่านด้วยคะ ทีนี้ถ้าเราจะดูว่า การทำบุญนี่ ความหมายของบุญจริงๆนี้ เราทำเพื่ออะไร ท่านผู้รู้ท่านมักจะบอกว่า การทำบุญนี่ หรือบุญนี้เป็นเครื่องชำระบาป เป็นเครื่องชำระบาป ก็ต้องมาดูว่าบาปคืออะไร บาปก็ ถ้ามีรู้สึกว่ามีบาปเมื่อไหร่นี่ มันเป็นสิ่งเศร้าหมอง มันเกิดความรู้สึกเศร้าหมอง เกิดความรู้สึกน่ารังเกียจ หรือว่าชิงชัง หรือพูดง่ายๆก็คือว่า บาปมันก็คือเป็นสิ่งที่เป็นความชั่ว มันเป็นความชั่ว เป็นความไม่ดี เป็นความน่าเกลียด เพราะฉะนั้นมาทำบุญ ก็เพื่อเป็นการชำระบาป ที่นี้อะไรล่ะที่ทำให้มันเกิดเป็นความบาป นั่นก็คือเมื่อใดมีความโลภ และก็ทำตามความรู้สึกโลภ โกรธก็ทำตามความรู้สึกโกรธ หลงก็ทำตามความรู้สึกหลง นั่นแหละเป็นโอกาสให้บาปเกิดขึ้นแล้ว เพราะเป็นโอกาสที่จะทำอะไรที่มันไม่ดี ไม่งาม ไม่ถูกต้อง ไม่เกิดประโยชน์ หรือพูดง่ายๆที่สุดก็คือว่า เป็นการทำที่เบียดเบียนคนอื่น แล้วก็เห็นแก่ตัวเป็นอย่างยิ่ง ฉะนั้นผลที่เกิดจากบาป มันก็เป็นความเศร้าหมอง เป็นความน่ารังเกียจ แล้วก็เป็นความไม่ดีไม่งาม มันเป็นผลของความแห้งแล้งใจ แต่เมื่อมาทำบุญ ก็จะมีผลให้เกิดความรู้สึกอิ่มใจ ชุ่มชื่น เบิกบาน แล้วก็เป็นสุข ทีนี้บุญนี่นะคะ กับคำว่ากุศล อยากจะขอหยิบอันนี้มาพูดก่อนนะคะ คุณประสบพรคงไม่ว่าอะไร ว่าบุญกับกุศลนี้มันเป็นสิ่งเดียวกันไหม แล้วเราก็มักจะพูดติดกัน ไปทำบุญทำกุศล หรือว่าบุญกุศลต่อกัน ก็อยากจะพูดในความรู้สึกและความเข้าใจของตัวเอง ว่าอย่างนี้นะคะว่า ถ้าเมื่อใดที่เราพูดว่ากุศลเนี่ย เรารู้สึกว่า มันเป็นความดี ทำไมถึงว่ากุศลนี่เป็นความดีความงาม เพราะมันมีอีกคำหนึ่งที่คู่กัน คือคำว่าอกุศลใช่ไหมคะ พอเราพูดว่าอกุศลแล้วก็มันชัดเจนแล้วว่า อกุศลนี่มันไม่ดีแน่ มันไม่ถูกต้อง มันเป็นบาป มันจึงเป็นอกุศล แต่เมื่อพูดถึงกุศลและก็ มันมีความชัดเจนว่า สิ่งนั้นเป็นความดี สิ่งนั้นเป็นความงาม สิ่งนั้นเป็นบุญ คือเป็นบุญที่ถูกต้อง แต่ถ้าเราพูดถึงคำว่าบุญคำเดียว ไม่แน่ ไม่แน่เหมือนคำว่ากุศล ที่ว่าไม่แน่ก็คือว่า คำว่าบุญคำเดียวนี้ มันอาจจะเป็นกุศลก็ได้ คือเป็นบุญอย่างกุศลก็ได้ เป็นบุญอย่างอกุศลก็ได้ ใช่ไหมคะ ทีนี้บุญอย่างกุศล หรือบุญอย่างอกุศลนี่ มันจะเป็นยังไง ถ้ามีตัวอย่างสักหน่อยอาจจะทำให้เข้าใจชัดเจน
ก็อยากจะขอเล่านิทานเรื่องสั้นให้ฟังนะคะ ที่พูดถึงเรื่องสั้นเรื่องนี้ก็ผู้ที่เขียนนี้ก็เป็นนักเขียนมีชื่อ แต่ต้องขอประทานโทษว่านึกชื่อนักเขียนไม่ออก เพราะมันนานมาแล้วนะคะ ชื่อเรื่องนี่ ชื่อเรื่องว่ายาย ในเรื่องของยายนี่ ก็กล่าวถึงเรื่องของการทำบุญนี่ล่ะคะ เรียกว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในชนบท และก็ชาวชนบทนี้ก็ชอบทำบุญไปวัด ถ้าจะว่าไปแล้วมากกว่าชาวเมืองใหญ่ๆ ก็ผู้ที่แสดงตัวออกมาให้เราเห็นในเรื่องการทำบุญชัดเจนในเรื่องนี้ ก็เป็นคุณนายท่านหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าเป็นเศรษฐีนีของชนบทนั้น แล้วก็เป็นคนชอบทำบุญ จะมีอาหารกับข้าวสำรับใหญ่ๆงามๆ ไปวัดเสมอในวันพระ แล้วก็มุ่งหมายที่จะต้องถวายท่านเจ้าคุณสมภาร ทีนี้ก็วันหนึ่งนี่ คุณนายก็ตั้งใจว่า วันพระพรุ่งนี้เราจะต้องทำปลาร้าหลนไปถวายพระ ก็นึกถึงผักต่างๆที่จะรับประทานกับปลาร้าหลนเพื่อให้อร่อยยิ่งขึ้น ก็นึกถึงว่า ถ้ามีผักบุ้งอ่อนๆนี่ ยอดอ่อนๆ ไปแกล้มกับปลาร้าหลน คงจะอร่อยมากเชียว เพราะฉะนั้นเช้าวันนั้นคุณนายก็เดินไปที่ตรงคลองที่ไม่ไกลนัก ซึ่งรู้ว่าตรงนี้มียายคนหนึ่ง คือยายชาวบ้านจนๆนะคะ ที่แกปลูกผักบุ้งขาย แล้วแกก็จะเก็บผักบุ้งแต่เช้ามืดเลย เพื่อเอาไปขายที่ตลาด คุณนายก็เดินไปแล้วก็บอกว่า นี่วันนี้ฉันจะทำบุญ ฉันตั้งใจทำปลาร้าหลน ก็อยากจะขอซื้อผักบุ้งอ่อนๆเอาไปถวายพระสักหน่อย ท่านเจ้าคุณจะต้องชอบมากเชียว พอยายได้ยินว่า คุณนายจะมาขอซื้อผักบุ้ง ก็นึกดีใจ เพราะว่าในชีวิตของยายคนจนกว่านี้ ไม่ค่อยมีโอกาสได้ทำบุญเลยนะคะ เพราะฉะนั้นเมื่อจะได้มีโอกาสนำผักบุ้งที่ดูเป็นของต่ำต้อยได้ไปขึ้นสำรับกับปลาร้าหลน แหมมันคงจะเป็นบุญที่น่าชุ่มชื่นใจ ยายก็ดีใจมากเลย ก็จัดแจงเก็บยอดผักบุ้งที่อ่อนๆ เลือกคัดอย่างงาม แล้วก็ส่งให้คุณนาย แล้วก็บอกว่า ดิฉันขอทำบุญด้วยค่ะ ไม่คิดสตางค์ คุณนายก็รับมาด้วยความยินดี แล้วยายก็นึกว่า เรานี่ก็ไม่ได้ทำบุญ ไม่ได้ไปวัดเนิ่นนานทีเดียว เพราะว่าเราไม่มี ไม่มีเงิน ไม่มีข้าวของที่จะไปทำบุญ วันนี้นี่เรามีผักบุ้งไปร่วมทำบุญกับเขา เพราะฉะนั้นเราน่าจะไปร่วมอนุโมทนาด้วย ยายก็รีบเก็บผักบุ้งให้เสร็จ แล้วก็ไปอาบน้ำแต่งตัวให้สะอาดสะอ้านนิดหน่อย แล้วก็เตรียมตัวไปวัด ยายก็เดินไปถึงในวัด ก็ตรงไปที่ศาลา ซึ่งเป็นที่ที่พระท่านฉันอาหารกัน พอยายย่างขึ้นบันได ก็ได้ยินเสียงคุณนายเศรษฐีกำลังนั่งคุยกับบรรดาพวกทายกทายิกาที่ไปถวายอาหารว่า จาระไนให้ฟังว่าไว้ในสำรับมีอะไรบ้าง แล้ววันนี้นี่แหมฉันทำปลาร้าหลนอร่อยทีเดียว แล้วฉันยังได้ผักบุ้งอ่อนๆ ไปซื้อมาจากยายคนนั้นน่ะ ลืมชื่อยายเหมือนกันนะคะ สงสารแก เพราะแกจน ก็เลยไปซื้อผักบุ้งแกมา แล้วก็เอามาทำบุญ เท่ากับได้ช่วยแกด้วย ยายก็ได้ยินเต็มหูนะคะ ก็นึกสลดใจเป็นที่สุด ก็ยืนเกาะกะไดอยู่กลางทาง ก็นึกในใจ โถผักบุ้งนี่ เราเก็บแล้วก็ให้คุณนายมาด้วยความเต็มใจเพื่อจะได้บุญ คุณนายก็บอกว่าคุณนายซื้อเรามา ซื้อมาจากเรา แล้วก็เพื่อช่วยเรา เอาเถอะ ไหนๆเรามาแล้ว เราก็ไปร่วมอนุโมทนาบุญ แกก็เดินขึ้นบันไดไป ก็ไปนั่งเรียบร้อย กราบพระก็ไม่แสดงกิริยาอาการอะไร แล้วก็วันนั้นหลังจากที่พระท่านสวดอนุโมทนา ให้ศีล ให้พรเสร็จ ยายก็กรวดน้ำ แล้วก็ในเรื่องนั้นผู้เขียนก็บอกว่า วันนี้ยายนี่ ยายกรวดน้ำนานกว่าทุกวัน เพราะแกบอกว่า แกต้องกรวดน้ำให้ทั้งคนเป็นและคนตาย เรื่องก็จบลงนะคะ
นี่ก็คือเรื่องของการทำบุญ ทีนี้ถ้าจะพูดว่า บุญที่ผู้หญิง 2 คนนี้ทำ คนหนึ่งเป็นคุณนายเศรษฐี อีกคนหนึ่งเป็นยายขายผักบุ้งจนๆคนหนึ่งนี่นะคะ 2 คนนี่ทำบุญนี้ บุญอันนี้จะเป็นยังไง บุญ 2 คนอันนี้จะเป็นยังไง [คุณประสบพร: คุณยายก็คงจะได้รับมากกว่าคุณนาย เพราะว่าคุณนายทำบุญเอาหน้า] ค่ะ อันนี้ก็จริงนะคะ บุญของคุณนายนี่ก็เป็นบุญเอาหน้า ก็เหมือนอย่างที่คุณแม่พูดก่อนที่จะเล่าว่า บุญนั้นอาจจะเป็นกุศลก็ได้ หรืออาจจะเป็นอกุศลก็ได้ นี่มองเห็นไหมคะ ว่าบุญไหนเป็นกุศล แล้วก็บุญอย่างไหนเป็นอกุศล บางทีอาจจะไม่ได้เจตนานะคะ คุณนายเศรษฐีนั่นคงอาจจะไม่ได้เจตนา แต่อาจจะเป็นด้วยยึดมั่นในบุญ จนกระทั่งเกิดความหวงบุญ กวาดเอาหมด เป็นของเราคนเดียว แบ่งให้ใครไม่ได้ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นบุญของคุณนายนี่ ที่คุณนายทำนี่ ถ้าจะว่าไปแล้ว กลายเป็นบุญที่ส่งเสริมความเห็นแก่ตัวของคุณนายให้มากขึ้นใช่ไหมคะ ยิ่งทำบุญยิ่งเห็นแก่ตัว ยิ่งอยากได้ แม้แต่บุญซึ่งมองไม่เห็นตัวตน แต่ก็ไม่ยอมจะแบ่งให้ใคร แม้แต่ยายจนๆซึ่งไม่มีโอกาสจะได้ทำบุญ ครั้งนี้อาจจะเป็นการทำบุญที่คนอื่นอาจจะมองดูว่า อุ้ยนิดหน่อย หรือว่าจิ๊บจ๊อยไม่มีความหมาย แต่สำหรับยายคนจนนั้น เป็นบุญยิ่งใหญ่ของแกเลย คือเป็นความตั้งใจที่ทำบุญ เสียสละอย่างเต็มที่ เท่าที่แกมี ถ้าจะพูดก็คือว่า มีเท่าไหร่ให้หมด สำหรับยายคนจนนี้นะคะ ก็ทำเต็มที่ ฉะนั้นถ้าหากว่าสำหรับยายคนจนนี่ เราจะเรียกว่า เป็นบุญที่เป็นกุศล หรืออกุศล [คุณประสบพร : เป็นบุญที่เป็นกุศลค่ะ] ค่ะ เป็นบุญเป็นกุศลที่เห็นชัดเจน แล้วก็คุณแม่ก็อยากจะพูดเติมว่า บุญอย่างที่ยายคนจนทำนี่ เราเรียกได้ว่าเป็นบุญที่ช่วยกำจัดความเห็นแก่ตัวใช่ไหมคะ ในขณะที่คุณนายเศรษฐีทำบุญที่ส่งเสริมความเห็นแก่ตัว อาจจะไม่เจตนานะคะ แต่อาจจะคิดสั้นไปสักหน่อยหนึ่ง ไม่คิดให้ลึกซึ้ง จึงไปยึดมั่นถือมั่น แล้วตกเป็นทาสของความโลภ นี่โลภบุญ กลายเป็นบุญสกปรก แทนที่จะเป็นบุญสะอาด มันกลายเป็นบุญสกปรก กลายเป็นบุญอกุศล อย่างชนิดที่เรียกว่าก็ไม่ได้ตั้งใจ แต่นี่อาจจะเป็นเพราะไม่รู้ จึงไม่ได้คิดที่จะกำจัดความโลภ เพราะเราบอกแล้วว่า บุญเป็นเครื่องชำระบาปใช่ไหมคะ เมื่อเกิดความโลภแล้วก็กระทำตามอำนาจของความโลภที่เกิดขึ้น ผลก็คือแทนที่จะเป็นความสุขอิ่มใจที่แท้จริง มันก็ไม่จริง ถึงแม้คุณนายจะทำท่าชื่นบานอยู่ในท่ามกลางทายกทายิกาที่วัด ต่อหน้าท่านเจ้าคุณสมภาร แต่เมื่อคิดไปให้ลึกๆ กลับไปถึงบ้านนอนอยู่คนเดียว คุณนายอาจจะนึกขึ้นได้ว่า ตายจริงวันนี้ศีลที่เรารับมาจากท่านเจ้าคุณนี่ มันหายไปซะแล้ว มันไม่ครบ มันไม่ครบศีล 5 ที่เธอรับมา แล้วศีลข้อไหนละคะที่มันหายไป [คุณประสบพร : มุสาคะ] ใช่ โดยไม่เจตนา มุสาข้อ 4 ซึ่งเป็นข้อที่น่ากลัวมากเลยข้อนี้ เป็นข้อที่น่ากลัวมากที่สุดเลย
เพราะฉะนั้นบุญนี่ถึงได้บอกว่า ถ้าเราพูดคำว่าบุญคำเดียวมันไม่แน่นะคะ มันอาจจะไม่ใช่บุญที่เป็นกุศลก็ได้ มันอาจจะเป็นบุญที่กลายเป็นอกุศลก็ได้ แต่สำหรับยายคนจนนั้น บุญของแกเป็นบุญที่กุศล เพราะว่าทำด้วยจิตใจที่สุจริตต่อบุญ ตรงต่อบุญ มีความเห็นที่ถูกต้องตรงต่อบุญ จึงเป็นบุญที่ช่วยกำจัดความเห็นแก่ตัว ทำไมคุณแม่ถึงว่า ยายคนจนนี้กำจัดความเห็นแก่ตัว เพราะในกิเลส 3 ตัวนั่นนะคะ โลภ โกรธ หลง คุณประสบพรรู้สึกไหมคะว่า ยายชนะกิเลสตัวไหน ใน 3 ตัวนั้น โลภ โกรธ หลง ถ้าเป็นเราพอได้ยินอย่างนี้เราจะรู้สึกยังไง [คุณประสบพร : ก็คงจะโกรธนะคะ] คงจะโกรธนั่นแหละ รู้สึกโกรธกันที แต่ยายโกรธไหมคะ [คุณประสบพร : ไม่โกรธค่ะ] แกไม่โกรธ แกกลับมีความสลด สลดสังเวช สลดสังเวชว่า โถ คุณนายนี่นะทำบุญเกือบจะว่าทุกวัน หรืออย่างน้อยก็ทุกวันพระ ถ้าหากว่าบุญมีเนื้อมีตัว คุณนายก็มีบุญมหาศาลหุ้มตัวอยู่แล้ว แค่นี้ก็แบ่งให้ไม่ได้ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นยายนี่ก็กำจัดความเห็นแก่ตัว บุญนั้นสามารถเป็นเครื่องชำระบาปของยาย เพราะยายกำจัดความโกรธ ไม่โกรธ นอกจากนั้น เมื่อถึงเวลากรวดน้ำนี่ ยังอุตส่าห์กรวดน้ำให้คนเป็น นี่คืออะไร หมายถึงอะไร [คุณประสบพร : การให้อภัยทานค่ะ] ใช่ค่ะ ถูกต้องทีเดียว นี่เป็นการให้อภัยทาน ซึ่งเป็นทานสูงสุด ที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสรรเสริญ เพราะผู้ที่จะสามารถให้อภัยทานได้นั้นน่ะ ก็คือผู้ที่มีใจที่ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ยึดมั่น จึงสามารถทำบุญ แล้วก็ทำทานได้อีกด้วย ฉะนั้นอันนี้แหละคะ เป็นตัวอย่างว่าบุญคืออะไร บุญก็คือเครื่องชำระบาป แล้วก็มีผลทำให้เกิดความอิ่มใจ ความชุ่มชื่น เบิกบานใจ แล้วก็แน่นอน ยายคนจนขายผักบุ้งคนนี้ จะต้องมีความสุข อิ่มเอิบตลอดวัน ที่แกได้ทำบุญอย่างเต็มที่ ทั้งวัตถุคือผักบุ้ง แล้วก็ทั้งชำระใจ ให้ชนะกิเลส จนสามารถทำอภัยทาน ให้แก่บุคคลที่ไม่น่าจะต้องให้ใครเขาอภัยเลย แต่ก็ยังต้องได้รับการอภัย ฉะนั้นอย่างนี้ค่ะ เมื่อพูดถึงคำว่าบุญคำเดียวแล้วก็ เราจะต้องคิดให้มากๆว่าในการทำบุญแต่ละครั้งนี้ เราอยากจะให้บุญเป็นกุศลจริงไหม แล้วก็จะทำอย่างไรจึงจะได้บุญที่เป็นกุศลพร้อม นั่นก็คือเมื่อทำบุญ ก็คือตั้งใจทำ เพื่อส่งเสริมความเห็นแก่ตัว เพราะเหตุว่า บุญนี้นั้นเมื่อเราทำแล้ว เราปรารถนาที่จะให้มันชำระบาป เมื่อเราปรารถนาที่จะให้มันชำระบาป ก็จึงควรที่จะชำระใจให้สะอาดในขณะที่เราตั้งใจจะทำบุญ แล้วก็ก่อนที่จะทำบุญ
ทีนี้คุณประสบพรถามว่าการทำบุญมีกี่ชนิดใช่ไหมคะ มีกี่อย่าง ถ้าพูดอย่างสั้นๆ การทำบุญก็มีได้ คือทำได้ 3 อย่าง คือ 3 ชนิด หรือ 3 ทาง ก็คือการทำทาน แล้วก็การประพฤติศีล แล้วก็การทำภาวนา พูดง่ายๆคือ ทาน ศีล ภาวนา นี่เป็นเรื่องของการทำบุญ ที่นี้การทำบุญที่เป็นทานนี่ ท่านบอกว่า พูดง่ายๆว่า ทานคืออะไร ทานก็คือการให้ เพราะฉะนั้นการทำบุญด้วยทาน ก็คือการบริจาค การทำบุญด้วยศีล ก็คือการที่จะรักษากายให้ปกติ รักษาวาจาให้ปกติ ปกตินี่คือเป็นยังไง ก็คืออยู่ในความถูกต้อง ไม่มีการเบียดเบียนผู้ใด ทั้งทางกาย และทางวาจา เมื่อมีความเป็นปกติ ศีลนั้นก็จะช่วยรักษาใจให้มีความสะอาด รักษากายให้มีความสะอาด สะอาดของกายก็คือไม่มีการกระทำที่ขรุขระ กระด้าง หยาบคาย ไม่น่าดู วาจานุ่มนวลอ่อนโยน มีประโยชน์ ไม่ใช่เป็นวาจาที่เบียดเบียน ถ้าพูดง่ายๆว่า ศีลนี้ก็คือการทำกาย วาจา ให้สงบระงับ ผู้ใดมีศีล ผู้นั้นจะมีความเป็นปกติ ฉะนั้นการทำบุญ ก็ด้วยการทำทาน ด้วยการรับศีล คือประพฤติศีล เพื่อให้มีการทำกายวาจาให้สงบระงับเป็นปกติ และอันที่ 3 หนทางที่ 3 ก็คือ ภาวนา ภาวนาหรือที่ท่านเรียกว่า การทำสมาธิภาวนา หรือทำจิตตภาวนา การทำสมาธิภาวนา หรือการทำจิตตภาวนา ก็คือหมายถึงว่า การทำจิตให้เจริญนั่นเอง ที่นี้ถ้าจะสงสัยว่า ทำไมถึงต้องมาทำจิตให้เจริญใช่ไหมคะ ก็ชีวิตนี้ประกอบด้วยกายและจิตอย่างที่ทราบด้วยกันแล้ว ทีนี้กายกับจิตนี่ อะไรนำชีวิต [คุณประสบพร : ก็คงเป็นจิตค่ะ] ค่ะ ก็จิตนั่นแหละนำชีวิต เพราะว่าไม่ว่าเราจะพูดอะไร จิตคิดปากพูดออกมา ตามที่จิตบอกบงการใช่ไหมคะ ตัวไปไหน จิตก็เป็นคนบอกอีกละว่าไปที่นั่น กายนี่ก็พาตัวไป เพราะฉะนั้นจิตนี่ ก็เป็นสิ่งที่บงการชีวิต ถ้าหากว่าผู้ใดควบคุมจิตได้ รักษาจิตได้ ให้อยู่ในหนทางที่ถูกต้อง ที่เป็นสัมมาทิฏฐิ ท่านก็เรียกว่า จิตนั้นเป็นจิตที่เจริญ ถ้าจิตใดที่ควบคุมบังคับกายให้กระทำแต่สิ่งที่เบียดเบียนคนอื่น เรียกว่าด้วยความโลภ ด้วยความโกรธ ด้วยความหลง วาจาก็เช่นเดียวกัน เบียดเบียนคนอื่นให้เขาเจ็บปวด ชอกช้ำ เอาเปรียบ ต่างๆนานาสารพัด จิตนั้นมันเป็นจิตเถื่อน ต้องเป็นจิตเถื่อน จิตที่ดุร้ายเหมือนสัตว์ป่า ที่ยังไม่ได้รับการอบรมฝึกฝนเลย จึงเป็นจิตที่ยังไม่เชื่อง ซึ่งเรื่องของการทำบุญ 3 อย่างนี้นะคะ นี่ก็พูดอย่างคร่าวๆ หยาบๆ ในรายละเอียดนั้นยังมีอีกมาก ถ้าหากว่าคุณประสบพรสนใจเราก็คงจะได้คุยกันต่อไปนะคะ