แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นี่ผัสสะเกิดขึ้น แต่พอผัสสะเกิดขึ้นทีแรกมันก็ยังเฉยๆ เป็นแต่เพียงปฏิฆสัมผัสคือกระทบกันเฉยๆ แต่ถ้าจิตนั้นไม่ฉลาดพอ ตอนนี้มันก็จะเกิดความรู้สึกชอบไม่ชอบ พอใจไม่พอใจ นี่เป็นเหตุให้เกิดเวทนา ซึ่งเราจะพูดกันต่อไปเมื่อเราพูดถึงปฏิจจสมุปบาท ฉะนั้นที่ถามอันนี้นะคะ ไม่ใช่ถามเรื่องวิญญาณแต่เป็นการถามเรื่องผัสสะ แต่เผอิญอธิบายไม่ค่อยจะตรง ถ้าวิญญาณในทางพระพุทธศาสนาหมายถึงสติปัญญา แล้วก็วิญญาณแปลว่าอะไรในขันธ์ห้าก็แปลว่าการรับรู้ วิญญาณคือการรับรู้ แต่การรับรู้นั้นจะถูกต้องหรือไม่ ก็ขึ้นกับอยู่ว่าจิตนั้นเป็นสัมมาทิฏฐิหรือเป็นมิจฉาทิฏฐิ
คำถามต่อไป ทำอย่างไรจึงจะพ้นจากกรอบความคิดเรื่องโชคชะตา เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นชอบนึกถึงเรื่องนี้เสมอ
ก็นึกถึงกฎอิทัปปัจจยตาแทนสิคะ แทนที่จะไปนึกถึงเรื่องโชคชะตา หันไปดูทันทีว่านี่มีอะไรเป็นเหตุปัจจัย ไม่ว่าผลที่เกิดขี้นจะถูกใจหรือไม่ถูกใจไปดูเหตุปัจจัยทันที แล้วเราจะนึกถึงโชคชะตาน้อยลงๆ เพราะจะเห็นชัดยิ่งขึ้นว่า ผลที่เป็นอย่างนี้เพราะเหตุปัจจัยอย่างนั้น ใช้อิทัปปัจจยตา
ความรู้สึกเครียดเกร็ง ไม่มีความมั่นใจตัวเองเวลาใช้ชีวิตปกติเกิดจากอะไร เกิดจากอัตตาใช่ไหม
ใช่ คือความนึกถึงตัวเองเกินไปกลัวเขาจะว่า กลัวเขาจะไม่ชม กลัวจะทำผิดมันก็เลยเกิดเกร็งเครียดใช่ไหมคะ เรียกว่าทำอะไรไม่เป็นตัวของตัวเอง ถ้าอยู่ที่บ้านของเราเองหรือว่าอยู่ในห้องนอน มันก็ทำอะไรได้รวดเร็วถูกต้องสบายใจ แต่พอไปอยู่กับคนอื่นเข้า ความนึกถึงตัวเอง กลัวเขาจะว่ากลัวเขาจะไม่ชม นี่เพราะความอยากให้ตัวดีก็เลยทำให้เกิดเกร็งเกิดเครียด ก็นึกถึงตัวเองให้น้อยลง แต่นึกถึงอิทัปปัจจยตาคือพยายามฝึกกระทำให้ถูกต้องมากขึ้น
คำว่าตัวตนร่างกาย อัตตามีความหมายเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ตัวตนนั้นหมายถึงความเห็นแก่ตัวที่แฝงมาในรูปต่างๆ ใช่หรือไม่ แล้วอนัตตาเป็นความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอย่างไร กรุณายกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นภาพพจน์ชัดเจนยิ่งขึ้น
เรื่องของอนัตตานี่เราจะไปพูดชัดอีกเมื่อเราพูดถึงอานาปานสติบทที่สี่นะคะ และอัตตานี่จะพูดอีกเมื่อพูดถึงปฏิจจสมุปบาทในวันพรุ่งนี้ แต่ตอนนี้จะขอตอบสั้นๆ ก่อน ร่างกายไม่เกี่ยวข้องกันเลยสามคำที่ถามมานี่ ตัวตนร่างกายอัตตา ร่างกายก็คือร่างกายที่หมายถึงรูป หรือร่างกายนี้ที่มันมีมาตามธรรมชาติ ชีวิตประกอบด้วยกายจิตนี่ธรรมชาติมอบมาธรรมชาติให้มา เพราะฉะนั้นร่างกายก็คือก็หมายถึงกายเท่านั้นเอง คือกายเนื้อนี่กายเนื้อที่เรามองเห็นตั้งแต่หัวจรดเท้านี่คือร่างกาย ทีนี้ตัวตนหรืออัตตามันเป็นอีกอย่างหนึ่ง คือเป็นสิ่งที่ไม่ใช่รูปไม่ใช่วัตถุไม่ใช่เป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรม แต่มันเป็นสิ่งที่อยู่ในความคิดที่เราเคยพูดกันแล้ว เป็นความคิดเป็นความรู้สึกว่านี้เป็นตัวตน มันเป็นความคิดเป็นความรู้สึกว่าเป็นอย่างนั้นแต่ความจริงมันไม่ใช่ นี่มันเป็นความคิดความรู้สึกที่เกิดจากการที่เราสั่งสมมานาน เหมือนอย่างตั้งแต่เราเกิดนี่ ไม่ใช่เราทุกคนนะคะ พอรู้ภาษาคุณพ่อคุณแม่ก็จะบอกว่าหนูชื่อนี้นะ นี่ชื่อนี้ชื่อหนูนี่นามสกุลของหนู คุณพ่อชื่อนี้คุณแม่ชื่อนี้ นี่คุณพ่อของหนูคุณแม่ของหนู นี่บ้านของหนู นี่ของเล่นของหนู อะไรๆ ที่มีอยู่ก็บอกเป็นของหนูๆ หรือของลูกๆ เพราะฉะนั้นความรู้สึกที่สั่งสมเป็นอัตตาเป็นตัวตน มันเกิดขึ้นเป็นความคิดขึ้นมาข้างใน แล้วเสร็จแล้วพอได้เล่าเรียนมีประสบการณ์มีสติปัญญาที่จะคิดอะไรมากขึ้น และก็มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งโน้นสิ่งนี้มากขึ้น ไปโรงเรียนก็มีหนังสือของเรา มีกระเป๋าหนังสือของเรา มีเพื่อนของเรา มีครูของเรา มีโต๊ะหนังสือของเรา มีโรงเรียนของเราใช่ไหมคะ มันเพิ่มตามมากขึ้นมาเรื่อยๆ และก็พอมีสตางค์คุณพ่อคุณแม่ให้สตางค์ก็มีสตางค์ของเรา รู้จักเก็บหอมรอมริบเอาไปฝากธนาคาร ก็มีเงินในธนาคารของเรา นี่แหละสิ่งที่เป็นของเรานี่มันเพิ่มขึ้นเรื่อยตามตัวตามประสบการณ์ตามวัย ยิ่งเป็นผู้ใหญ่มีอายุมากเท่าไหร่มีอะไรต่ออะไรมากมาย ของเราก็อิรุงตุงนัง ตัวเราก็ยิ่งใหญ่ขึ้นๆ นี่ตัวตนหรืออัตตานั้นมันไม่มี แต่มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการหล่อหลอมของความคิดที่สั่งสมมา จากความเคยชินของการปฏิบัติ หรือการเคยฟัง เคยชินของสิ่งแวดล้อม ได้ยินได้ฟังได้รู้ว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้เรื่อยมาก็ยึด ยึดถือเอามาเรื่อย มันก็เลยเกิดเป็นความรู้สึกเป็นตัวเป็นตนเป็นฉัน แล้วถ้าใช้เป็นคำธรรมะเขาเรียกว่าเป็นอัตตา อัตตากับความรู้สึกเป็นตัวตนนี่คืออันเดียวกัน
ที่นี้ส่วนอนัตตาก็หมายถึง เราจะต้องศึกษามาตั้งแต่อนิจจังและก็ทุกขังมากเข้าๆๆ จนเห็นชัดถึงสภาวะของอนัตตาในวันหนึ่ง คือความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน อนัตตาก็คือความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เพราะเราก็พูดกันแล้วใช่ไหมคะ ว่าเมื่อพูดถึงตัวตนหรืออัตตาคือรูปร่างที่เห็นนี่ใช่ไหม เราก็บอกแล้วว่าไม่ใช่ มันไม่ใช่อันนี้ แต่มันคือความคิดทิฏฐิที่หล่อหลอมเป็นคอนเซ็ปท์ แล้วก็รวมว่านี่คือตัวฉัน ตัวฉันก็หมายถึงชื่อฉัน ชื่อเสียง นามสกุล ตำแหน่งการงาน ความเป็นนิสิตนักศึกษาซึ่งไม่ใช่สิ่งที่จับต้องได้ แต่เรารวบรวมเอาไว้นี่คือตัวตนหรืออัตตา เพราะฉะนั้นก็ขอเข้าใจให้ถูกต้องนะคะ แต่อนัตตาก็คือการจะอธิบายบอกให้รู้ว่า จริงๆแล้วมันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน
การที่มีคำกล่าวว่านั่งสมาธิแล้วเห็นนิมิตต่างๆ หรือเห็นนรกเห็นสวรรค์นั้นเป็นไปได้หรือไม่ อย่างไร
นิมิตนี่ก็มีคนเห็นกันเรื่อยนะคะผู้ปฏิบัติ แต่บางคนก็ไม่เห็นเลย ซึ่งก็เมื่อปฏิบัติต่อไปในอานาปานสติก็จะอธิบาย แต่เมื่อถามตอนนี้ก็อธิบายสั้นๆ ว่า หมายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะที่ผู้ปฏิบัตินั่งปฏิบัติไป เช่นบางทีก็เห็นแสงเป็นแสงสว่าง หรือเห็นสีเป็นสีดำสีเขียวสีเหลืองอะไรก็แล้วแต่ เห็นเป็นแสงเป็นสีเห็นเป็นภาพ ภาพดอกไม้ ภาพคน ภาพวัตถุอะไรก็แล้วแต่อีกเหมือนกัน หรือบางทีได้ยินเป็นเสียงก็มี อันนี้ท่านเรียกว่าเป็นนิมิตที่เกิดขึ้นในระหว่างปฏิบัติ จริงหรือไม่จริง นิมิตเหล่านี้จริงหรือไม่จริง ก็อยากจะใช้คำของท่านอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ท่านก็สิ้นชีวิตไปแล้ว มีผู้ไปถามท่านเกี่ยวกับนิมิต คือเขาปฏิบัตินี่แล้วเขาก็เห็นนิมิตโน่นนิมิตนี่เยอะแยะเลย แล้วก็ไปเล่าให้ท่านฟังท่านก็ฟังเฉยๆ พอผู้นั้นไปแล้วพระที่อยู่กับท่าน ที่เป็นพระปฏิบัติที่ได้ยินเรื่องราวก็ถามว่า ที่คุณที่เขามาเมื่อกี้แล้วเขาบอกว่าเขาเห็นนิมิตอย่างนั้นอย่างนี้จริงหรือเปล่าครับ ท่านอาจารย์ท่านนั้นท่านก็บอกว่า ที่เขาพูดว่าเห็นน่ะจริงคือเขาไม่ได้ขี้ปด แต่สิ่งที่เขาเห็นนั้นไม่จริง เข้าใจไหม ที่เขาบอกว่าเขาเห็นน่ะจริง แต่ที่เขาเห็นน่ะมันไม่จริง คือมันเป็นสิ่งที่คงซ่อนอยู่ในจิตใต้สำนึก พอมีโอกาสมันก็โผล่ออกมาให้เห็น เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกว่า ในขณะที่เราปฏิบัตินะคะ ถ้ามีนิมิตอะไรเกิดขึ้นถ้าจิตนี้พร้อมอยู่ด้วยสติจะไม่ไปยึดในนิมิตนั้น ไม่ว่าจะเป็นสีแสงเสียงภาพ แต่จะรู้ รู้ว่าสีก็สี สีแดงก็สีแดง สีเขียวก็สีเขียว รู้แล้วก็เช่นนั้นเอง ปล่อย แล้วจิตนั้นก็กลับมาอยู่กับลมหายใจต่อ กำลังปฏิบัติอยู่ในขั้นไหนก็ปฏิบัติต่อไป
แต่ถ้าไปยึดมั่นถือมั่นในมัน จิตนั้นจะไม่อยู่กับลมหายใจ จะไม่มีสติไม่มีสมาธิเพราะไปหลงในมันเสียแล้ว ถ้าหากว่ามันน่ารักมันสวยก็ไปหลงรักแล้วก็อยากจะเห็นอีก พอนั่งอีกอยากจะเห็นๆ นิวรณ์แล้วใช่ไหม นิวรณ์ตัวไหน กามฉันทะ เพราะว่ามันสวยอยากเห็นบ่อยๆ หรือถ้าไปกลัวไปติดกับมันแล้วก็เกิดกลัวตัวสั่น ไม่กล้าจะนั่งสมาธิอีกกลัวจะเห็นอีก ก็นิวรณ์อีกเหมือนกัน ตัวพยาบาทอึดอัดหงุดหงิดกลัวจะเห็น หรือมิฉะนั้นก็วิจิกิจฉาลังเลสงสัยมันอะไรแน่ ตัวนี้มันอะไรแน่ มันอยู่ในพวกโมหะ เพราะฉะนั้นท่านจึงแนะนำนะคะว่า เมื่อมีนิมิตเกิดขึ้นรู้ว่าเป็นนิมิต รู้แล้วก็ปล่อยด้วยเช่นนั้นเอง แล้วก็จิตมาอยู่กับลมหายใจต่อไป เพราะแม้แต่นิมิตนั้นก็คงอยู่ภายใต้กฎของอนิจจัง คือเกิดดับๆๆ ถ้าเราไปยึดอยู่การปฏิบัติจะไม่ก้าวหน้ามันจะไปตันอยู่แค่นั้นเอง และนิมิตก็มิได้เกิดแก่ทุกคน บางคนนั่งไปแล้วได้ยินเพื่อนผู้ปฏิบัติเขามาเล่ามีนิมิตโน่นนิมิตนี่ก็เกิดตัณหาขึ้นมาบ้าง ทำไมเราไม่เกิดไม่เห็นอะไรกับเขาบ้างเลย ก็ดีแล้ว ไม่เห็นก็ดีแล้ว ก็คงปฏิบัติอยู่กับลมหายใจต่อไปให้จิตสงบเป็นสมาธิยิ่งขึ้น
การสะกดจิตถือเป็นไสยศาสตร์หรือไม่ ถ้าเป็น ทำไมเคยร่วมทดลองกับอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยปรากฏว่าทำได้จริง
ทำได้จริงก็หมายความว่าจิตของผู้ทำแข็งกว่าจิตของผู้ที่ถูกขอให้ทำ ก็เคยเห็น อันนี้เคย อย่างเมื่อตอนที่ไปเรียนหนังสือที่โน่นแล้วก็ไปชมการแสดง เขาก็เรียกคนที่นั่งนี่ให้ขึ้นไปบนเวที แล้วก็สั่งให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ จำไม่ได้ว่าสั่งให้ทำอะไร แต่คนนั้นก็ทำ เรียกกันไปสามคน ให้คนนี้ทำอย่างนี้ คนนั้นทำอย่างนั้น คนนั้นทำอย่างนั้นก็ทำตามที่เขาบอก และก็ในระหว่างที่ทำก็ไม่รู้ตัว เขาบอกว่าให้ออกได้คือให้จิตเป็นคนเดิมได้ก็เดินลงมาเฉยๆ ไม่รู้ว่าเมื่อกี้ทำอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นก็พูดได้ว่ามันเกิดขึ้นได้ ก็อาศัยจิตที่มีพลังมากกว่ากับจิตที่อ่อนแอกว่านั่นเองจึงบังคับกันได้ เป็นไสยศาสตร์ไหม ถ้าเอาไปใช้อย่างไสยศาสตร์ ใช้เพื่อประโยชน์เห็นแก่ตัวมันก็เป็นไสยศาสตร์ แต่ถ้าเราจะใช้วิธีฝึกจิตนั้นให้เป็นสมาธิ ให้เป็นจิตเป็นพลังเพื่อประโยชน์ในการงาน มันก็คงจะเป็นประโยชน์
ถ้าอยู่ใกล้กับคนมักโกรธเป็นประจำ จะมีอุบายอย่างไรให้คนผู้นั้นมีใจเยือกเย็นลง
เราก็ทำตัวอย่างความเยือกเย็นให้เขาเห็น เขาโกรธเราไม่โกรธ เขาหน้าบึ้งเรายิ้ม ถ้าเขาว่านี่ทำไมหน้าเป็นจริง เยาะเลย หาเรื่องต่อไปอีก เราสมควรจะพูดอะไรให้เขาเข้าใจบ้างเราก็พูดเช่น ก็นึกดูสิตอนนี้คุณน่ะร้อนหรือเย็น หรือแกน่ะร้อนหรือเย็นเวลานี้ ถ้าแกร้อนน่ะแกอยากถูกไฟลวกอยู่ในนรกเหรอ ถ้าแกอยากก็ตามใจแก แล้วเราก็เดินหนีไปเสีย ถ้าแกไม่อยากแกอยากเย็นแกก็รู้แล้วโกรธมันเผาตัวแกเอง มันเป็นไฟ นี่ถ้าเราสมควรพูดคือเขาอยู่ในจังหวะที่จะฟังก็พูด ถ้าหากว่าพูดไม่ได้เรานี่แหละเย็นให้เขาเห็น แล้วเขาจะค่อยๆ แปลกใจ ถ้าเขาเห็นคุณประโยชน์ของความเย็นหรือความไม่โกรธ อย่าโกรธตอบ ถ้ายิ่งโกรธตอบเรานี่แหละจะไปรับอนุสัยความโกรธเข้ามาสู่ตัวเราโดยไม่รู้ตัว
ทำอย่างไรอ่านหนังสือถึงจะจำได้
ทำสมาธิ
จะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในตัวได้อย่างไร
ก็ทำสมาธิ เพราะใจมันอ่อนแอมันก็เลยไม่เชื่อว่าจะทำอะไรถูกต้อง และทีนี้พอจะทำอะไรก่อนจะทำเอาสัปปุริสธรรมมาใคร่ครวญตีไปทีละข้อๆๆ พอมันเหมาะเจาะกลม กลืนกันจึงลงมือทำ นี่เรียกว่าประกอบการกระทำถูกต้อง แล้วผลก็จะรู้สึกพอใจ ทีนี้ก็จะค่อยๆ มั่นใจขึ้นนะคะ
ในเรื่องการเรียนก็ไม่สมหวังไม่ประสบความสำเร็จ
ก็ทำสมาธินี่แหละนะคะ ไม่ต้องน้อยเนื้อต่ำใจ เป็นเพราะจิตของเรามันกระจายง่าย จิตมันฟุ้งซ่านมาก เพราะฉะนั้นมันจึงดูหนังสือก็ไม่รู้เรื่อง หรือว่าจะทำการงานอะไรมันก็ไม่ได้อย่างที่ต้องการ เพราะฉะนั้นก็ขอฝึกอานาปานสตินี่ให้เข้มงวดมากขึ้น ให้จนจิตสงบมีสติสมาธิอยู่กับใจได้จริงๆ แล้วจะรู้สึกว่ามันมั่นคงขึ้น จะดูหนังสือก็จำง่ายขึ้น จะฟังอะไรก็เข้าใจขึ้น ไม่ต้องรู้สึกว่าจะทำไม่ได้ ทำได้นะคะและก็มีโอกาส อย่าเข้าใจผิดอย่าไปมัวเสียใจ
มองโลกในแง่ดีมองอย่างไร
ก็อย่าไปมองอะไรในแง่ร้ายน่ะสิ นั่นก็คือมองในแง่ดี อย่างเช่น คิดว่าทำไม่ได้ก็ต้องบอกไม่จริง ก็เราพูดกันแล้วว่าชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาและก็พัฒนาได้ ก็เฮเลน เคลเลอร์นั่นทั้งหูหนวกตาบอดเป็นใบ้ ยังกลายมาเป็นผู้มีประโยชน์แก่โลกได้เลย และไม่ใช่เฮเลน เคลเลอร์คนเดียวยังมีคนอื่นอีกเยอะ แล้วเรานี่อย่างน้อยที่สุดสมประกอบใช่ไหมคะ สมประกอบ เรียกว่าอวัยวะก็สมบูรณ์ทุกอย่าง สมองก็ไม่ได้โง่ ถ้าโง่จะเป็นนิสิตนักศึกษาได้ไง นี่มีต้นทุนอยู่ดีแล้วทุกอย่าง แล้วเรื่องอะไรถึงมาบั่นทอนตัวเอง พัฒนาให้มันถูกทางอย่างที่ว่าแล้ว ด้วยกำลังใจที่บอกว่าต้องทำได้ๆ พอลืมตาตื่นเช้าขึ้น ชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาและพัฒนาได้ ว่าสักสิบครั้ง แล้วก็ลุกขึ้นไปพัฒนาเลย แต่ว่าต้องมีจิตหนักอยู่ด้วยลมหายใจ เพื่อที่จะได้เป็นจิตที่เป็นสมาธินะคะ
คนที่เข้าใจอะไรยาก ทำอย่างไรจะเข้าใจอะไรง่ายๆ ฟังแล้วสามารถเข้าใจได้
เพราะจิตขาดสมาธิ จิตฟุ้งซ่าน ทำสมาธินะคะ
ทำอย่างไรจะให้ใจจดจ่ออยู่กับงานที่ทำได้
นี่แหละคือภาวะของจิตที่อยู่ในนิวรณ์หมดเลย ถีนมิทธะหดหู่เหี่ยวแห้งใจ อุทธัจจกุกกุจจะ คิดฟุ้งซ่าน วิจิกิจฉาลังเลสงสัยจะทำได้ไหมๆ สรุปแล้วกิเลสตัวไหนครอบงำมากที่สุด โมหะ น่ากลัวมากเลย เพราะฉะนั้นรู้ว่ามันน่ากลัวแต่เราไม่ต้องกลัว ทำไมถึงไม่ต้องกลัวเพราะเรารู้จักตัวมันแล้ว มันไม่ใช่ศัตรูในที่มืด มันเป็นศัตรูอยู่ในที่สว่างแล้วเวลานี้ เรารู้แล้วว่ามันคืออะไร เพราะฉะนั้นการที่จะจัดการกับมันไม่เหลือกำลัง ไม่เหลือบ่ากว่าแรงของสติปัญญา ขอจงทำเดี๋ยวนี้ๆ อย่าเสียกำลังใจเป็นอันขาดนะ เรามานี่เพื่อฝึกใจให้มีกำลังใจ ที่จะไปสร้างสรรค์พัฒนาชีวิตต่อไป และก็เชื่อว่าทุกคนทำได้ และก็จะสำเร็จผลสมปรารถนา
ไม่แน่ใจสงสัยเกี่ยวกับปัญหาขณะปฏิบัติเช่น เสียดท้อง แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะเครียดในการปฎิบัติ หรือหายใจแรงเกินไป จัดเป็นวิจิกิจฉาหรือไม่
ใช่ จะมีวิธีแก้ไขอย่างไร ก็หยุดวิจิกิจฉาเสีย วิจิกิจฉาเกิดขึ้นนี่เพราะความคิด เพราะฉะนั้นเราจึงมาฝึกเพื่อที่จะตัดกระแสความคิดที่ไม่เข้าเรื่องเข้าราวนี่ ที่ว่าไม่เข้าเรื่องเพราะคิดแล้วทำให้ใจยุ่งวุ่นวายสับสน ก็ได้พูดซ้ำหลายครั้งแล้วว่า วิธีแก้ก็คือดึงใจมาอยู่กับลมหายใจ เมื่อมันยังอยู่ไม่ได้จริงๆ ก็ฝืนบังคับหายใจ ให้มันแรง ให้มันลึกให้มันยาว เพื่อจะได้ขับไล่อันนั้นออกไปเสีย แล้วก็เริ่มต้นตั้งต้นปฏิบัติใหม่ขั้นที่หนึ่งช้าๆ พอรู้สึกว่าเป็นวิจิกิจฉาหยุดเลย ไม่ต้องสงสัยไม่ต้องลังเล เพราะว่าที่บอกเรื่องนิวรณ์นั่นน่ะก็เพื่อบอกให้รู้ว่าแต่ละอย่างมีอาการอย่างไร เพื่อให้ใช้ความสังเกต มาฝึกจิตภาวนานี่น่ะคะต้องฝึกฝนอบรมให้มีความสังเกตภายใน สังเกตภายในไม่ใช่สังเกตภายนอกให้มากยิ่งขึ้น แล้วปัญหาจะลดลง จะคิดจะสามารถสงวนมันสมองนี่เอาไว้คิดสำหรับสิ่งที่จำเป็นจะต้องคิด และก็คิดอย่างถูกต้องคือไม่ต้องเป็นทุกข์ในการคิด
ที่มันเหนื่อยน้อยลงหลังจากออกกำลังกายเพราะเรากำหนดลมหายใจนั้นได้ อยากทราบว่าความเหนื่อยวัดจากอะไร
ก็วัดจากตัวเอง ถ้าเรานั่งเฉยๆ สบายๆ เหนื่อยไหม ไม่เหนื่อยก็คือการหายใจมันก็เป็นไปตามปกติ เหงื่อไม่ออกความอึดอัดไม่มี ไม่ต้องรู้สึกว่าหายใจเหมือนอย่างหอบ ไม่ต้องหายใจทางปาก ใจมันก็สดชื่นกระปรี้กระเปร่า นี่ก็ดูจากธรรมชาติไม่เห็นต้องถามว่าวัดจากอะไร วัด วัดจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ทีนี้ถ้าจะดูว่าลมหายใจช่วยได้จริงไหม ก็ดูจากกิจการที่เราทำ เหมือนอย่างเช่นเราเล่นกีฬา จะเป็นกีฬาวิ่ง ว่ายน้ำ แบดมินตันหรืออะไรก็แล้วแต่ เราเคยเหนื่อยเร็วเพราะว่าเราเอาแรงเข้าโถม เอาใจเข้าใส่ว่าเราจะต้องเล่นให้ได้ ให้ชนะให้เก่งให้ได้สถิติตามที่เราต้องการ หรือกำหนดไว้เพื่อฝึกเฉพาะคราว แล้วมันก็โหมเข้าไปๆๆ โดยไม่ได้ใช้สติ เรียกว่ามันสุดโต่งสุดเหวี่ยง ทีนี้ก็ลองดู ลองดูว่าในขณะที่เราจะว่ายน้ำหรือเราจะเดินเร็ว หรือเราจะวิ่งเรากำหนดลมหายใจไปด้วย เอาใจอยู่ที่ลมหายใจ เอาใจอยู่ที่ความรู้สึกภายใน ไม่ไปเหวี่ยงสุดโต่งข้างนอก เราจะรู้สึกว่าเราไม่ต้องออกกำลังมากเหมือนอย่างที่เราออก เราเคยว่ายน้ำได้ในระยะน้อยๆ เช่นอาจสัก100เมตร อาจจะเพิ่มเป็น500เมตรโดยไม่รู้ตัวและมีผู้ที่ทำได้ด้วย กว่า500เมตรเป็น1,000เมตรก็สามารถทำได้ เพราะฉะนั้นก็ขอให้ลองไปใช้ดูก่อน ถ้ายังไม่ได้ไปลองใช้ ยังไม่ได้ไปลองฝึกแล้วก็จะเอาแต่คิดคาดคะเนว่าเป็นไปได้ไหมจริงเหรอ ใช้ได้จริงเหรอ จะมีคำถามไม่รู้จบ เพราะฉะนั้นในการฝึกปฏิบัติ เราจะคิดใช้สมองคิดน้อยลง แต่จะเอามาฝึกให้สัมผัสกับใจ หรือย้อนไปดูกับประสบการณ์ หรือลองดูเดี๋ยวนี้เดินเร็วๆ เดี๋ยวนี้จากที่นี่ไปหอพัก เดินอย่างเร็วโดยไม่ต้องอยู่กับลมหายใจ พอเสร็จถึงหอพักดูสิมันเหนื่อยแค่ไหน มันหอบบ้างไหม มันรู้สึกเพลียบ้างไหม แล้วที่นี้พอหายแล้วสบายแล้วลองเดินใหม่ เดินด้วยสติเดินด้วยลมหายใจ นี่ก็คือข้อพิสูจน์จากการปฏิบัติที่จะสัมผัสได้ด้วยใจ โดยไม่ต้องคิด ถ้าคิดแล้วจะไม่มีวันได้คำตอบที่ถูกต้องหรือเป็นจริงนะคะ
หลังจากหายใจสั้นคอแห้ง
เพราะกำหนดไม่ถูกต้องฝืนธรรมชาติ หรือฝึกนานเกินไป ฝึกนานเกินไปก็ไม่เป็นไรถ้าเราไม่ฝืนธรรมชาติ ถ้าเราไม่เกร็งเพราะเราจะเอาให้ได้เราจะหวัง เพราะฉะนั้นมันก็คอแห้งคอตีบอย่างที่พูดแล้วเมื่อวานนี้
รู้สึกว่าลมหายใจปกติสั้นมากควรดึงลมหายใจให้ยาวหรือไม่
ก็ควรจะทำให้ยาว ถ้าหากว่าลมหายใจปกติสั้นแล้วมันไม่สบายมันไม่เต็มอิ่ม แต่เราไม่ไปทำพรวดพราดเราค่อยๆ ฝึกไปตามขั้น จนกระทั่งเราสามารถควบคุมลมหายใจได้จากการปฏิบัติขั้นที่สาม แล้วเราก็จะค่อยๆ ขยายลมหายใจหรือว่าผ่อนปรับลมหายใจให้เป็นความสบายตามที่ต้องการได้ ขอให้ใช้เองลงมือทำเองโดยตัดความสงสัยเสีย การลงมือกระทำเป็นการที่แก้วิจิกิจฉาดีที่สุด และเป็นคำตอบที่ดีที่สุดยิ่งกว่าคนอื่นบอก
ถ้ากำหนดลมหายใจเข้าออกตลอดเวลาจะทำให้ทำงานช้าไม่ทันคนอื่นหรือไม่เพราะใจเย็นเกินไป ใจมุ่งอยู่แต่ลมหายใจ
เข้าใจผิด การที่เรากำหนดจิตอยู่กับลมหายใจ จิตมันรู้ตัวทั่วพร้อม เพราะจิตมันนิ่ง ไม่ต้องเสียพลังไปเที่ยววิ่งกับความคิด ลองนึกดูสิคะ ที่อยู่ในชีวิตประจำวันเป็นคนว่องไว เป็นคนช่างคิดเป็นคนช่างทำโน่นทำนี่ แล้วเคยไหมที่หยิบโน่นตกหยิบนี่หลุดวิ่งชนนั่น ออกจากบ้านจะไปขึ้นรถ ลืมต้องวิ่งเข้ามาใหม่ เป็นหรือเปล่า เป็น แล้วนั่นนะเร็วแล้วความเร็วมันกลายเป็นความช้าหรือเปล่า ความที่คิดว่าไม่ต้องเสียเวลากลับยิ่งต้องเสียไปอีกใช่หรือเปล่า เพราะอะไร ก็เพราะไม่มีสติ แต่ถ้ามีสติมันจะเตือนตัวเองตลอดเวลา ว่าควรจะเตรียมอะไร ควรจะทำอะไร แล้วมันจะเป็นการประหยัดเวลาพร้อมๆ กับว่องไวไปด้วย เพราะแทนที่จะเสียเวลาไปชนนั่นไปสะดุดนี่ ไปหกล้มเสียไปอะไรนั่นมันจะไม่เป็น เพราะฉะนั้นอย่าคิดว่าการมาฝึกอยู่กับลมหายใจจะทำให้ช้า ตอนต้นมันอาจจะช้าเพราะเราทำไม่ได้ แล้วเหมือนกับว่าเราจะทำงานหลายอย่างไม่ได้ แต่ถ้าเราทำได้แล้ว เราจะรู้สึกว่ามันเร็ว แล้วมันจะอยู่นานแล้วเป็นการประหยัดแล้วเป็นการเติมพลังอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นทำไม่ได้ก็เริ่มต้นทำใหม่ ท่านอาจารย์ท่านชอบเปรียบเหมือนกับการขึ้นจักรยาน ฝึกหัดขึ้นจักรยานขี่จักรยาน พอเริ่มขี่จักรยานทีแรกใครไม่ล้มเลย มีไหมคะ เราก็ต้องล้มเป็นธรรมดา คนที่เก่งก็ล้มน้อยหน่อย แข้งขาถลอกปอกเปิกไม่มาก แต่คนที่ไม่เก่งก็ล้มแล้วล้มอีก อย่างตัวเองนี่จำได้ หัดขี่จักรยานมาถลอกปอกเปิกเขียวไปหมด จนผลที่สุดถึงเวลาจะหยุดรถ ขี่ได้แล้วแต่ยังหยุดไม่ได้ลงไม่ได้ จะหยุดทีลงทีต้องไปพะกับต้นไม้ไปพะกับหัวกระไดเพื่อจะมีที่เกาะเสียก่อน นี่คือความไม่ชำนาญความไม่เก่ง แต่พอเราเก่งแล้วตอนนี้เราก็ขับปร๋อ คือขี่จักรยานถีบได้ปร๋อจะไปไหนๆๆ ก็ได้ นี่ก็เหมือนกับการฝึกที่จะกำหนดจิตให้อยู่กับลมหายใจ มันใหม่อยู่มันก็ล้มลุกคลุกคลานอย่างนี้ แต่อย่าสิ้นความพยายามอย่าท้อถอย และข้อสำคัญอย่าไปเปรียบเทียบกับคนอื่น อย่าไปกลัวเพื่อนเขาไปข้างหน้าเราจะตามเขาไม่ทัน ไม่มีการออกหน้าไม่มีการตามหลัง มันมีแต่การลงมือกระทำ ทำเท่าไหร่ได้เท่านั้นๆ และก็ต่างคนต่างทำต่างคนต่างได้ เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปนึกถึงคนอื่น ขอให้ลงมือทำไปเรื่อยๆนะคะ
คำถามต่อไปถามว่า การเฝ้าดูลมหายใจ ณ ที่จุดที่ลมผ่านเข้าออกชัดที่สุดเพียงจุดเดียว ทำได้ไม่ถนัดคือจับความรู้สึกได้ไม่ชัด จะใช้การเฝ้าดูลมเพียงแต่รู้ว่านี่คือลมหายใจเข้า นี่คือลมหายใจออกได้หรือไม่
เฝ้าดูลมแล้วก็รู้ว่านี่เข้านี่ออก ถ้ารู้ว่าเข้าออกตลอดเวลาไม่ใช่คิดนะคะ นี่ระวังไม่ใช่คิด ระวังจะไปเผลอคิดแล้วคิดว่ารู้ ไม่ใช่ มันคนละอย่าง เพราะฉะนั้นการที่แนะนำว่าให้มีจุดอะไรสัมผัสเสียหน่อย เพื่อเป็นการพิสูจน์ยืนยันว่าเรารู้จริงคือเรารู้สึกว่ามันสัมผัส มันเข้าก็แตะมันออกก็แตะๆ แต่ถ้าเราจะนั่งเฉยๆ แล้วก็บอกว่ารู้ รู้เข้ารู้ออกๆ มันอาจจะเป็นความคิด และก็เพราะเรายังไม่ตายนั่นแหละมันยังเคลื่อนไหวได้ เราก็รู้ยังไงลมหายใจมันก็ต้องเข้าต้องออก นี่ระวังมันจะหลอกตัวเองระวังให้มากๆ เพราะฉะนั้นการที่บอกว่า ให้เอาจุดใดจุดหนึ่งเพื่อเป็นการพิสูจน์ พิสูจน์ว่ารู้จริงๆ เพราะมันได้รู้สึกมันได้สัมผัส
คำถามต่อไป ถ้าจิตคิดไปเรื่อยขณะทำสมาธิ แล้วก็ปล่อยให้มันคิดไป อยากคิดอะไรก็ตามใจมัน แต่ก็พยายามนั่งรู้สึกว่าหายใจไปเรื่อยเช่นกัน คือยังดันทุรังนั่งต่อไปทั้งที่จิตเกิดนิวรณ์ก็นั่งก็รู้ว่าหายใจไปเรื่อยแบบนี้ ถ้าเป็นแบบนี้ทุกครั้งจะเป็นอย่างไร
มันก็ไม่ได้นั่งหมายความว่ามันก็ไม่ได้อยู่กับลมหายใจ มันก็ได้แค่นั่งคือนั่งอยู่ตรงนี้ไม่ได้ไปไหนแต่ว่าไม่ได้ปฏิบัตินะคะ ต้องเข้าใจให้แน่ๆ ไม่ได้ปฏิบัตินั่งอยู่อย่างนี้ได้ขันติ ได้ความอดทนที่นั่งอยู่ได้ซึ่งธรรมดาจะนั่งอยู่ไม่ได้ ก็นับว่าเป็นคุณสมบัติที่ดีอย่างหนึ่ง ทีนี้ถ้าเป็นแบบนี้ทุกครั้งจะเป็นอย่างไร มันก็ไม่ได้ผลของการที่จะเกิดสติสมาธิ มีโอกาสตัดกำลังของนิวรณ์ได้หรือไม่ ได้ ถ้าบังคับตัว ถ้าเราบังคับตัวดันทุรังทำไปแบบนี้ คือดันทุรังนั่งไปเฉยๆ อย่างนี้ แต่ไม่ใช้เครื่องมือที่เรามี มีอาวุธมีมีดมีขวานอยู่ติดตัวมีปืนแต่ยอมให้ผู้ร้ายตีหัวเอาๆ แล้วก็นั่งหัวสั่นหัวคลอนเลือดไหล อย่างนี้ไม่เกิดประโยชน์ ดันทุรังไปเถอะก็ไม่เกิดผล ตายเปล่า เพราะฉะนั้นถ้าจะเอาให้เกิดผลก็คือว่าเอาล่ะหายใจมันสักที หายใจยาวลึกแรง อย่างนี้มันต้องลึกแรงแล้วจะเอาเบาๆ ไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นมานาน คือปล่อยตามใจเสียนาน ลึกแรงๆ ในขณะที่ลึกแรงนั่นน่ะดูให้ดีๆ เถอะ ความคิดอะไรมันจะยังอยู่ มันอยู่ไม่ได้เพราะว่าลึกแรงๆ มันเหนื่อย มันไม่มีแรงจะคิดต่อไป เพราะฉะนั้นพอมันลึกแรงๆ เข้าแล้วความคิดหายไป ตั้งสติทันที ผ่อนลมหายใจไปช้าๆ ช้าๆ สบายๆ แล้วก็ดึงจิตมาอยู่กับลมหายใจและมันอยู่ได้สักนาทีสองนาทีก็ถือว่าเป็นผลสำเร็จได้ มันจะไปอีกดึงมันอีก ทีนี้มันจะเริ่มมีกำลังใจเพราะสามารถทำได้นะคะ และก็บอกว่าดูไม่ออกว่ามันนิวรณ์ตัวไหน ดูมันมากมายปนกันมั่วแยกออกยากมาก จะเห็นก็แต่ตัวที่มีแรงมากแต่ก็ยังแก้ไม่ได้ เพราะแรงมันมากกว่าแน่ๆ เลย ก็ยอมแพ้มันนี่มันก็แรงมากกว่าสิ แล้วก็ระวังจะถูกนิวรณ์กดหัว แล้วก็จะจมน้ำสำลักน้ำนิวรณ์ตายเพราะฉะนั้นขอให้ระวัง จะมาดันทุรังแบบนี้ไม่เกิดผล เรียกว่าดันทุรังด้วยอวิชชา เพราะฉะนั้นตอนนี้ต้องการวิชชาแล้วคือต้องการปัญญาเข้ามาช่วย เรารู้แล้วว่านิวรณ์แต่ละอย่างมีอาการอย่างไรพูดกันละเอียดแล้ว ก็สังเกต ตัวไหนเข้ามาจะแก้ด้วยอะไร บอกไว้หมดแล้วใช่ไหมคะเมื่อวานนี้ ก็เอามาแก้สิคะ อะไรมันเกิดขึ้นก็แก้ แต่อันแรกที่สุดต้องใช้ลมหายใจเป็นด่านหน้าปะทะมันเข้าไว้ก่อน คือหยุดมันก่อนแล้วจึงใช้ปัญญาแก้มัน ต้องเริ่มแก้แล้วอย่ายอมแพ้
ความไม่มั่นใจในตนเอง ไม่กล้าคิดกล้าแสดงความคิดเห็น อันมีบุคลิกบางอย่างผิดปกติไปเช่นขาขาดเป็นต้น ถือว่าเขามีวิจิกิจฉาหรือไม่ เขามีความไม่แน่ใจ…