แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การที่เราดำเนินชีวิตทวนกระแสของสังคม เช่น ถือศีลกินเจ ไม่ไปไหน ไม่ไปงานเลี้ยง ไม่ไปเที่ยวเธค ไม่ร่วมดื่มสังสรรค์ต่างๆ เป็นการหนีสังคมหรือเปล่า อยู่ที่ใจ ขณะที่ทำอย่างนั้นคิดว่าหนีหรือเปล่า แล้วก็ใจสบายหรือไม่ที่ทำอย่างนั้น หรือว่าใจมันตะหงิดๆในใจว่าเค้าจะว่าเรายังไง วิจิกิจฉาเกิดขึ้น เค้าจะว่าเราเอาตัวรอด เค้าจะว่าเราไม่เหมือนเค้า เดี๋ยวเค้าก็ไม่รับเราเป็นเพื่อน ถ้าอย่างนี้กลับไปเลย ไปร่วมงานกับเค้าดีกว่ามาตะหงิดๆอยู่ในใจ เพราะอย่างนี้ใจยังไม่แน่จริง ถ้าเราแน่แล้วจะไม่รู้สึกตะหงิดอยู่ในใจเพราะเรารู้แล้วว่าสิ่งที่เราทำนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ไม่เป็นการทำลายทั้งร่างกาย เวลา ทรัพย์สินและยังสามารถจะใช้เวลาใช้พลังที่มีอยู่นั้นกระทำสิ่งที่เกิดประโยชน์เพื่อตัวเองและเพื่อคนอื่นได้อีก ไม่เห็นจะต้องรู้สึกอะไรเลย
บ่อยครั้งที่ถูกเพื่อนร่วมงานเสียดสี
นี่ก็เพราะว่า เราไม่แสดงให้เค้าเห็นว่าเราได้ยืนอยู่บนจุดที่ถูกต้องอย่างภาคภูมิแล้วก็อย่างผ่องใส เค้าจึงถือโอกาสเสียดสีเพราะเค้ารู้ว่าคนนี้กล้าๆกลัวๆ กล้าบ้างกลัวบ้าง อยากจะออกบ้าง ถอยบ้าง เค้าก็เลยได้ทีเค้าก็ขี่แพะไล่ เพราะฉะนั้น ก็มาสำรวจดูใจของเราว่ามั่นคงจริงไหม แน่ใจในสิ่งที่เราทำไหม ทุกครั้งที่เราถูกนินทาจะเงียบไม่พูดอะไร ได้แต่ยิ้มให้เค้า ยิ้มแย้มหรือยิ้มแหย่ ถ้ายิ้มแย้มเค้าก็หยุดไม่เสียดสีต่อ แต่ถ้ายิ้มแหย่เค้าเอาอีก ฉะนั้นต้องดูที่ใจเสมอ แก้ที่ใจของเรา ไม่ทราบว่าทำถูกหรือไม่ ถ้าถูกแล้วจะไม่มีคำถามเพราะมั่นใจว่าเราทำถูกแล้ว ฉะนั้น อันนี้ต้องแน่ใจว่าสิ่งที่เราทำนั้นถูกต้องแล้ว ถ้าถึงเวลาเค้ามีงานเลี้ยงอะไรกัน ถ้าเราไม่อยากให้เค้าว่าเราเห็นแก่ตัว เป็นงานเลี้ยงที่ไม่เสียหายจะออกส่วนเฉลี่ยในส่วนของเราไปก็ทำ จะซักห้าสิบ จะซักร้อยบาทก็ทำไปเพื่อให้เค้าเห็นว่าเราไม่ได้เห็นแก่ตัว แต่ว่าอะไรที่พอเราจะช่วยได้เราก็ช่วยมีส่วนร่วม แต่อะไรที่เราคิดว่าต้องการทำอย่างอื่นเพื่อประโยชน์ที่มากกว่า นี่ก็เป็นสิทธิที่สามารถจะทำได้เพราะไม่ได้เบียดเบียนผู้ใด สัมมาสังกัปปะก็คือความต้องการด้วยสติปัญญาเพราะว่ามีสัมมาทิฐิ เพราะฉะนั้นความต้องการด้วยสติปัญญาก็ไม่ใช่ความต้องการที่เห็นแก่ตัว แต่ความต้องการที่จะกระทำสิ่งที่ถูกต้องเกิดประโยชน์ต่อตนเองคือไม่ทุกข์ และเกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วย นี่คือสัมมาสังกัปปะ
เมื่อจบการอบรมแล้วจะถือวัตรปฏิบัติอย่างไรบ้างถึงจะทำให้สภาวะจิตอยู่คงที่เหมือนเดิม การอยู่ปฏิบัติที่เสถียรธรรมแห่งนี้ เช่น คนถือศีล 8 ทานอาหาร 2 มื้อหรือไม่
ที่เสถียรธรรมสถานก็ถือเป็นบ้านส่วนตัวของคุณชีศันสนีย์ แต่ว่าก็มีน้ำใจเผื่อแผ่ที่จะเปิดสถานที่นี้ให้เป็นที่ให้ธรรมะแก่ผู้อื่นเท่าที่โอกาสจะอำนวย สำหรับคุณชีศันสนีย์ก็ถือศีล 8 เพราะได้บวชแล้ว ทีนี้จบการอบรมแล้วจะถือวัตรปฏิบัติอย่างไร ก็ขอให้ถือปฏิบัติอย่างที่เราทำ ข้อแรก ขอให้เข้าใจคำว่าผู้ปฏิบัติธรรม ความหมายของผู้ปฏิบัติธรรมนั้นไม่ใช่เพียงทำบุญ รับศีล ฟังเทศน์ ทำทาน ผู้ปฏิบัติธรรมคือผู้ที่มีความมุ่งมั่นจะขัดเกลา จะขูด จะถอนรากถอนโคลนของกิเลสที่มีอยู่ในใจตลอดทั้งตัณหาอุปาทานเพื่อให้อวิชชานั้นค่อยๆหมดไปทีละน้อยๆๆ นี่คือศรัทธาหรือความมุ่งมั่นของผู้ปฏิบัติธรรม ฉะนั้นเมื่อมีความมุ่งมั่นอย่างนี้และก็มาปฏิบัติอย่างนี้ และเมื่อกลับไปบ้านก็ควรรักษาการปฏิบัติเอาไว้ อย่างที่ดิชั้นบอกว่าทำแบบวิธีลัดก็ได้ การทำแบบวิธีลัดคือ รู้ลมหายใจทุกขณะ ไม่ต้องปฏิบัติตามขั้น เอาแต่เพียงว่าสามารถรู้ลมหายใจทุกขณะที่เข้าและออกจะสั้นจะยาวไม่สำคัญ แต่รู้พยายามรู้ทุกขณะที่เข้าและออกเพื่อให้สติมีอยู่เสมอ และการรู้อย่างนี้ควรจะกระทำในชีวิตประจำวันที่ถือว่าสำคัญมากยิ่งกว่าจะนั่งสมาธิวันละชั่วโมงทุกวัน แต่ว่าพอลืมตาจิตไม่เคยอยู่กับลมหายใจ จิตไม่เคยมีสติ ฉะนั้นฝึก เรียกว่าเป็น Meditation in Action เพราะว่าจะเป็นการปฏิบัติสมาธิทุกขณะไม่ว่าจะอยู่ในกิจวัตรอะไร กิน ยืน เดิน นั่ง นอน ทำงาน ซักผ้า เข้าห้องน้ำ พยายามรู้ลมหายใจให้ติดต่อกันให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ นี่คือการปฏิบัติธรรมที่ควรจะถือเป็นกิจวัตร ถ้าเราถือกระทำได้อย่างนี้ จิตมันพร้อมอยู่ด้วยสติและสมาธิในระดับนึง พอเห็นอะไรที่ผ่านมาก็หยิบมาดูอนิจจัง มาพิจารณาให้เห็นว่าเป็นอิทัปนั่นเอง ใครที่ชอบอุทานต่างๆ เปลี่ยนมาอุทาน อ๋อ อิทัปนั่นเอง พออะไรเกิดขึ้น อ๋อ อิทัปนั่นเอง สนุกดีนะคะ ได้คำใหม่ แล้วเกิดประโยชน์นะคะการพิจารณาอิทัปปัจจยตา ดิชั้นจะเล่าประสบการณ์จริงๆตั้งหลายปีมาแล้ว 5-7 ปีมาแล้วที่ดิชั้นมีหัวเข่าที่เกือบจะเรียกว่าพิการ เพราะวันนั้นมาอยู่กรุงเทพแล้วก็ไปพักที่แห่งหนึ่ง กำลังจะเดินทางกลับสวนโมกข์ในวันนั้นแล้วๆก็ไปหาคนมาทำความสะอาด คนทำความสะอาดก็มีชื่อว่าชอบยิง เราก็นัดให้มาทำความสะอาดแห่งหนึ่ง แต่ว่าด้วยการพูดจาสับสนยังไงไม่รู้ก็มีผู้มาบอกว่า นั่นน่ะ เค้าขึ้นไปอยู่บนห้องนั่นน่ะ พอได้ยินเท่านั้น เดินเร็ว เดินเร็วอย่างลืมนึกถึงสุขภาพของตัวเอง หัวเข่าตัวเองก็ไม่แข็งแรง เดินเร็วอย่างกะวิ่ง เดินเร็วแบบไม่มีสติ มันก็พลิกก๊อก มันบิดอย่างแรง ดังกร๊วบอะไรก็ไม่รู้ เรียกว่าเดินไม่ได้เลย ต้องหยุดและก็ปวดอย่างแสนสาหัส หยุด พอหยุดก็มีสติ พอมันเจ็บขึ้นมาเท่านั้นก็มีสติขึ้นมาทันที ก็นึกพิจารณาอิทัปปัจจยตา อ๋อ นี่มันเพราะอะไร ทำไมเราถึงเดินอย่างนี้ อ๋อ เพราะเรากลัว พอได้ยินว่าคนนั้นขึ้นไปที่ห้อง เพราะวันนั้นมีเงินที่คนเค้าฝากไปทำบุญที่สวนโมกข์เยอะเลย เป็นเงินสดทั้งนั้นด้วย ก็เอาวางไว้ในกระเป๋าอย่างชนิดที่ไม่ได้เก็บเพราะไม่ได้คิดว่าใครจะขึ้นไปที่ห้อง ก็ถึงได้รีบเดินอย่างแรงเพื่อจะไปดูว่าเค้าได้ทำอะไรหรือเปล่าในห้องนั้นจนไม่นึกถึงอะไร ไม่มีสติ แล้วพอนึกขึ้นมา อ๋อ นี่อะไรล่ะ เงินนั้นของใคร ของเรา ถึงแม้จะไม่ใช่ของเราแต่เค้าฝากเรามา เราเป็นผู้รับผิดชอบ ความยึดมั่นถือมั่น เสร็จแล้วเค้าก็หาได้ขึ้นไปไม่ เค้าไม่ได้ขึ้นไปซะหน่อย เพราะคนพูดสับสน เราก็เจ็บตัวเปล่าเพราะขาดสติ เห็นอิทัปขึ้นมาเชียวในขณะนั้น แล้วก็เลยไม่รู้สึกเดือดร้อนที่จะวุ่นวายว่าเราจะเดินไม่ได้ เราจะไปไหนไม่ได้ ก็จัดการหาหมอให้รักษาแล้วก็มีคนไปเป็นเพื่อน ไปส่งจนถึงที่ ก็เดินทางเรียบร้อยแต่มันก็ปวดมาตั้งนาน นี่ล่ะมองเห็นอิทัป ถ้าไม่มองเห็นอิทัป ดิชั้นจะต้องเพ่งโทษคนอีกเยอะแยะเลย หนึ่ง คนที่มาบอกนี่ พูดอะไรสับสนทำให้เราเดินซะจนวิ่งจนขาเจ็บนี่ นี่คนเกิดเรื่อง และอีกอย่างก็คือว่า ทำไมคนๆนั้นถึงไม่มาทำงานตามสั่ง จะต้องว่าคนโน้นคนนี้อีกจนโชคชะตาราศึ นี่ดวงดาวอะไรเสวยอายุวันนึ้มันถึงทำให้เราต้องเจ็บป่วยอย่างนี้ จะปรุงแต่งไปอีกมากมายเลย แต่พอเห็นอิทัปเท่านั้นแหละ มันหยุดได้ หยุดแล้วก็มาใคร่ครวญด้วยสติว่า มันอยู่ที่ตัว ตัวที่สติไม่พอ พอขาดสติเข้าเท่านั้นมันจะเกิดทันที ฉะนั้น พิจารณาอิทัป พออะไรเกิดขึ้น ก่อนที่อ้าปากว่าอะไร อ๋อ อิทัป พออิทัปแล้วมันยิ้ม พอยิ้มแล้วมันก็จะเริ่มคิดใคร่ครวญว่าเพราะอะไร ยังไง เหตุปัจจัยมันยังไง มันควรจะแก้ไขอย่างไร ลองดูนะคะ เอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน จะช่วยแก้ไขได้ทุกครั้งที่มีอะไรเกิดขึ้น