แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เวลาที่เหลือนี้ ตั้งใจจะพยายามตอบคำถามที่มีมามากนี้นะคะ บางอันคำถามก็คล้ายคลึงกัน เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าได้ฟังคำตอบของคำถามแล้วนะคะ ขอความกรุณาได้ ได้โปรดจำคำตอบนั้นไว้ด้วย เพื่อจะได้ไม่ต้องถามซ้ำอีก ถ้าถามซ้ำอีกก็เป็นการตัดโอกาสของผู้ที่ถามในคำถามใหม่ ๆ คือในแง่มุมใหม่ เพราะฉะนั้นเมื่อตอบไปแล้วก็อย่าให้ต้องตอบซ้ำอีก ที่จริงที่ตอบซ้ำมีอยู่นะคะ แต่ว่าต่อไปนี้ก็ขอว่าอย่างถามซ้ำอีกนะคะ และเวลาที่ฟังตอบก็กรุณาใคร่ครวญตาม แต่ถ้าคำตอบไม่ชัด ถามต่ออีกได้ค่ะ นี่ก็หยิบคำถามไหนได้ก็จะตอบไปเรื่อย ๆ จนหมดนะคะ ไม่ได้เรียง ไม่มีเวลาเรียง
คำถาม ผมเป็นคนเส้นตึง เมื่อเริ่มปฏิบัตินั่งขัดสมาธิเพชร เมื่อเอาขาขวาทับขาซ้ายสัก 1 นาทีขาขวาจะเป็นเหน็บชาทรมานมาก เมื่อพิจารณาลมหายใจความเจ็บจากขาจะมารบกวน พยายามทนจนน้ำตาไหล อยากถามว่า เป็นอาการที่ผิดปกติหรือไม่ ถ้าทนต่อไปจะหายหรือไม่
คำตอบ คำตอบแรกก็คือไม่ผิดปกติ เป็นเรื่องธรรมดาค่ะ ที่การปวด เมื่อย ชา ถ้าผู้ใดไม่เคยปวด ไม่เคยเมื่อย ไม่เคยชา ก็ต้องบอกว่าผู้นั้นไม่เคยปฏิบัติสมาธิ ไม่เคยนั่งสมาธิ ถ้านั่งสมาธิแล้วก็ต้องเป็นทุกคน อันที่จริงแล้วหนุ่ม ๆ สาว ๆ ไม่น่าจะเป็นสักเท่าไร เพราะว่าร่างกายยังแข็งแรง ความคล่องแคล่ว ว่องไว ยังมีมาก แต่ผู้อายุมากขึ้น ก็เป็นมากขึ้นตามวัย คือตามเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นอาการปวด เมื่อย ชา เป็นธรรมดาทุกคนนะคะ โปรดไม่ต้องถามอีกนะ ทำไมถึงชาที่ขา ชาที่หน้า ชาที่แขน ก็ต้องเป็นกันทั้งนั้น แล้วจะเป็นอันตรายไหม ไม่เป็นค่ะ เพราะก็ไม่ได้บังคับใช่ไหมคะว่าต้องนั่งอย่างนี้ตลอดชั่วโมง ก็บอกว่าเมื่อมันเหลือจะทน ก็ค่อย ๆ เปลี่ยนท่าได้ อันที่จริงเผอิญที่มันแคบไปหน่อยนะคะ ในการปฏิบัติจริง ๆ แล้วเรายินดีให้ลุกขึ้นยืนได้ แต่ที่นี้เราเป็นคนไทยเราก็เกรงใจไม่ค่อยกล้าที่จะลุกขึ้นยืน แต่ที่จริงในขณะที่ปฏิบัติเนี่ย ถ้าหากว่าผู้ใดรู้สึกปวดเมื่อยจนเหลือจะทน ลุกขึ้นยืนได้ ยืนในห้องที่เรากำลังปฏิบัตินี่แหละค่ะ แต่ลุกขึ้นยืนอย่างสงบ และก็คงตามลมหายใจ เหมือนอย่างที่เรากำลังปฏิบัติอยู่ เพื่อเป็นการผ่อนคลาย เมื่อสบายแล้วก็ลงนั่งอย่างเดิมได้
เพราะฉะนั้นก็ให้รู้ว่าเป็นธรรมดานะคะและไม่เป็นอันตราย ยกเว้นอย่างที่ดิฉันได้ถามมา 2 วันแล้ว ยกเว้นท่านที่มีปัญหาเกี่ยวกับร่างกาย เคยหัก เคยผ่าตัด หรือว่าเคยเป็นโรคอะไรอย่างนั่นก็ระมัดระวังหน่อย แล้วก็ไม่ฝืน ไม่ฝืนทรมานตนจนเกินไป เปลี่ยนไปนั่งเก้าอี้ที่จัดไว้ข้างหลังได้ค่ะ แต่ถ้าผู้ที่ไม่เคยเป็นแล้ว ไม่เป็น พอรู้สึกว่าชาก็ใช้มือนวด นวดบ้าง แต่นวดอย่างมีสติ คือให้มีสติรู้ว่าเรากำลังทำอะไรเพื่อให้เลือดลมมันเดิน ความชาก็จะค่อย ๆ หายไป ที่นี้คำถามต่อไปที่ว่าแล้วถ้าทนต่อไปจะหายหรือไม่ เพราะดิฉันจะตอบจริง ๆ ก็ตอบได้ว่า ถ้าทนจริง ๆ ก็หายได้ คือหมายความว่าดึงจิตมาอยู่กับลมหายใจ ดึงจิตมาอยู่กับลมหายใจ ให้จดจ่ออยู่กับลมหายใจ จนกระทั่งจิตนั้นไม่ไปใส่ใจกับความปวด ความเมื่อย มันมาอยู่กับลมหายใจ กำลังทางใจของการปฏิบัติเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งไม่ไปคำนึงถึงความปวดเจ็บ แล้วความปวดเจ็บนั้นมันจะค่อย ๆ คลายหายไปเอง กลายเป็นสบาย มีเป็นไปได้ ถ้าใครเก่งจริงใจแข็งจริงก็ลองดู ถ้าไม่มี ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องร่างกายมาก่อนนะคะลองดูได้ แล้วก็รับบอกให้ด้วยว่าเป็นได้ เป็นได้จริง ๆ ทำได้จริง ๆ ที่นี้เมื่อขัดสมาดเพชรเกิดปวดเมื่อยก็ลองเป็นขัดสมาดธรรมดาก่อนก็ได้ ไม่ต้องขัดสมาดเพชร การที่คนจะน้ำตาไหลก็เรียกว่าดี มีขันติใช้ความอดทน เพราะการที่เรามาปฏิบัตินะคะ ก็เพื่อมาฝึกการข่มขี่บังคับใจ เพื่อควบคุมใจที่อ่อนแอ ควบคุมใจที่ชอบตามใจตัวเอง ทนไม่ได้ ยอมไม่ได้ ให้เป็นคนรู้จักทนได้ ยอมได้ เพราะการมีชีวิตอยู่ในสังคมทุกวันนี้ต้องอาศัยขันติเป็นอันมาก ถ้าขันติเฉย ๆ คือขันติเฉย ๆ ทางกาย มันก็เจ็บปวดมากหน่อย แต่เมื่อเพิ่มขันติโดยสมาธิและปัญญาเข้าไปด้วยความที่จะต้องทนนั้นก็จะกลายเป็นเหมือนจะไม่ต้องทน มีความสุขในชีวิตมากขึ้น ที่ดิฉันพูดว่าทำได้ ทำได้เนี่ย ทำได้จริง ๆ ไม่ได้แกล้งพูด คำถามต่อไปถามว่า
คำถาม คิดว่าการตามลมหายในออกจะยากกว่าตามลมหายใจเข้าทั้งสั้นยาวตามไม่ค่อยทันมันหนีหายออกไปเสียก่อนมีวิธีแก้อย่างไร
คำตอบ ความจริงมันไม่ได้หนี ไม่รู้จะหนีไปไหน มันหนีไปไหนไม่ได้นะคะ ก็ขอตอบว่า ลมหายใจทั้งเข้าและออกจะมีขนาดเท่ากันเสมอ คือมียาวเท่ากันเสมอ สมมติว่าเราหายใจยาวลึก มันยาวแค่ไหนพอออกมันก็ยาวเท่านั้น มันไม่ได้รีบวิ่งออกมันยาวเท่านั้น แต่เพราะเราตามไม่ทัน คือเราหลุด คำว่าหลุดเนี่ยจิตมันหลุด ความรู้สึกที่สมมติว่าเราตามไปเรื่อย ๆ ลมหายใจหยุด จิตมันหลุด หลุดจากที่ว่ามันตามไม่ทันเลยไม่รู้ว่ามันหยุดเมื่อไรพอมันหยุดเมื่อไรก็คว้าใหญ่ อาจจะเปรียบก็เหมือนคนหัดว่ายน้ำที่แรกก็พอจะว่ายไปได้ แต่พอรู้สึกว่ามันเสียการทรงตัวมันก็ต๋อมแต๋ม ๆ ทำท่าจะจมก็คว้าใหญ่ จิตมันก็คว้าว่าลมหายใจหายไปไหน ก็เลยสรุปว่าลมหายใจออกมันต้องสั้นกว่าลมหายใจยาวความจริงไม่ใช่เท่ากัน ฉะนั้นส่วนตัวดิฉันนี่จะใช้เคล็ดของตัวเองว่า พอหายใจยาวเข้าเราก็ตามไป พอมันสุดฮึดเอาไว้นิดนึง คำว่านิดนึงเนี่ยมันสั้นเหลือเกินนะคะไม่ถึงวินาที ฮึดพอรู้ว่ามันหยุด คือ อึดเอาไว้ แล้วก็ค่อยผ่อนลมหายใจยาว คือว่าค่อย ๆ ผ่อนลมหายใจออกเนี่ย ผ่อนมันออกที่ละน้อย ตอนนี้ก็จะจับได้ว่า อ้อ จิตที่มันจะเริ่มออกคือตรงนี้ จะค่อย ๆ ตามมันออกได้ ถ้าเรารู้ว่าเราตามลมหายใจออกไม่ทัน พอเราตามได้สบาย ฮึดก็คล้าย ๆ หยุดมันเอาไว้เสร็จแล้วก็ตามมันออก ตามออก แล้วถ้ามันจะหลุดไปบ้างก็ขอได้โปรดรับทราบว่าเป็นของธรรมดาของการปฏิบัติ เหมือนกับเด็กที่พึ่งหัดเดินนะค่ะ หัดตั้งไข่ นี่เรากำลังหัดตั้งไข่ การปฏิบัติของเราอยู่ในระยะของการตั้งไข่ มันก็ล้มบ้างประเดี๋ยวก็ก้นกระแทก ประเดี๋ยวก็ลุกขึ้นมาใหม่ ถ้าเด็กคนไหนมีอารมณ์ดีใจแข็งอยากจะสู้ พอล้มลุก ล้มลุก เด็กคนนั้นไม่ช้าก็ยืนได้ พอก้าวขาเข้ามันก็เซล้ม เซล้ม แต่ไม่ยอมล้มลุกก้าวเดิน ล้มลุกก้าวเดิน ก้าวเดิน ประเดี๋ยวก็เดินแข็ง เดี๋ยวก็วิ่งได้ใช่ไหมคะ นี่เป็นธรรมชาติ
ฉะนั้นอย่าใจร้อน ใจเย็น ๆ ประเดี๋ยว 50 ปีก็ไม่พบไม่สำเร็จ อย่าไปเอา 21 ปีอย่างหนุ่มน้อยคนนั้นเลย ฉะนั้นลมหายใจยาวกับลมหายใจเข้าและออกจะเข้ากันเสมอ ระยะของมันเท่ากันเสมอแต่เพราะเราตามไม่ทันจึงทำให้คิดว่าลมหายใจออกสั้นกว่า แล้วการตามลมหายใจสั้นก็ยากกว่าตามลมหายใจยาว ดิฉันก็ไม่ได้หวังหรอกว่าจะตามได้ พูดว่าให้ตามแต่ไม่ได้หวังหรอกว่าผู้ปฏิบัติจะตามได้เพราะรู้ว่ามันยังเป็นไปไม่ได้เพราะเรายังใหม่อยู่ นอกจากนี้ก็ขอแถมว่า การปฏิบัตินั้นจะให้เหมือนการเรียนหนังสือไม่ได้ การเรียนหนังสือนั้นเราสอบได้ มัธยม 5 ก็ไม่มีใครเขาบอกนี่กลับไปเรียนมันธยม 1 เพราะมีการสอบมีการรับรองมีเกรดอยู่แล้ว เราก็ได้ขึ้น และเราก็จะขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ ไปอยู่วิทยาลัย มหาวิทยาลัย พอผ่านปี 1 มันก็ขึ้นไปปี 2 ปี 3 ปี 4 จนจบ แต่การปฏิบัติทางจิตมันขึ้นลงได้ วันนี้ปฏิบัติได้ดี๊ดีแจ่มใส อย่างกับจะบรรลุแนะ แหมจิตมันเกลี้ยงมันไม่มีอะไร โอ๋โหรุ่งขึ้นพอลืมตามันเหมือนเชือกพันกันยุ่งอิรุงตุงนังอยู่ข้างในมันหงุดหงิด มันอึดอัด จะรู้ลมหายใจสักนิดก็ควบคุมไม่ได้ เป็นบ้าง เพราะอะไร เพราะการปฏิบัติของเรายังไม่มั่นคง เรายังใหม่อยู่ มันก็ขึ้นลง ๆ ๆ แม้แต่ท่านผู้ปฏิบัติ ซึ่งท่านใช้เวลาในการปฏิบัติเท่านั้น ไม่ได้ทำงานอื่นแต่ว่าเผอิญเผลอในระหว่างที่ปฏิบัตินั่นแหละ ไปหยิบอย่างอื่นขึ้นมาทำในระหว่างนั้น ยังทำให้ความสามารถในการควบคุมจิตที่เคยควบคุมจิตให้สงบเป็นสมาธิได้เกิดทำไม่ได้ มีไหม ท่านครูบาอาจารย์บางท่านไม่ใช่ท่านครูบาอาจารย์ใหญ่ ๆ หมายถึงผู้ปฏิบัติหลายคนไม่สามารถจะคลุมได้ ทั้งนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าการปฏิบัติข้างในนั้นยาก ยากยิ่งกว่าข้างนอก ยิ่งกว่าการเรียนการศึกษาข้างนอก เพราะมันมองไม่เห็น จนกระทั่งท่านบอกว่าการปฏิบัตินี้ ถ้าจะถามว่าปฏิบัติเมื่อไร นานเท่าใด คำตอบก็คือสม่ำเสมอทุกขณะ ถ้าปฏิบัติทุกขณะแล้ว การติดต่อ ความมั่นคง ความก้าวหน้าในการปฏิบัติจะค่อย ๆ ไปเรื่อย ๆ จะมองเห็น แต่ถึงกระนั้นเมื่อใดที่ภาวะของจิตใจ อารมณ์ไม่คงที่ ซึ่งมันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย เห็นไหมคะกฏอิทัปปัจจยตา ถ้าวันใดเหตุปัจจัยของร่างกายมันเกิดไม่สมประกอบมีผัสสะข้างนอกเข้ามากระทบจิต รับไม่ได้ถือเป็นอารมณ์มันก็ไม่สามารถจะควบคุมได้ ฉะนั้นถ้าหากว่าปฏิบัติได้บ้างไม่ได้บ้าง วันนี้ดีพรุ่งนี้ไม่ดี มะรืนนี้ดีมะเรื่องนี้ดี อ้าววันต่อไปเกิดตกลงมาอีกขอให้ได้โปรดทราบว่าเป็นธรรมดาของการปฏิบัติ แล้วก็เหมือนกันทุกคนด้วยค่ะ เหมือนกันทุกคนไม่มียกเว้น เพราะฉะนั้นอย่าคิดว่าเราทำไม่ได้คนอื่นเขาทำได้ เหมือนกันเพียงแต่ว่าเขาจะอมภูมิเอาไว้ไม่บอกไม่เล่าแต่ที่จริงเหมือนกันทุกคน อย่าเสียใจนะคะ