แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ธรรมสวัสดีค่ะ วันนี้เราก็จะยังสนทนาเรื่องความเห็นแก่ตัวต่อไปใช่ไหมคะ มีคำถามอะไรเกี่ยวกับเรื่องของความเห็นแก่ตัวอีกบ้างไหมคะ มีคำถามว่า ตัวกูของกู เกิดขึ้นได้อย่างไร หรืออีกนัยหนึ่งว่าความเห็นแก่ตัวของคนนี่เกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าตอบทางธรรมท่านก็บอกว่ามันเกิดจากอวิชชา อวิชชา คืออะไร มีใครทราบบ้างไหม
ผู้ดำเนินรายการ: ความไม่รู้
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม่รู้อะไร ความไม่รู้ไม่รู้อะไร ตามความหมายของ อวิชชา คือความไม่รู้นี่ คนเราอาจมีความไม่รู้ตั้งหลายอย่าง ไม่รู้เรื่องการเมืองไม่รู้เรื่องการศึกษา ไม่รู้เรื่องการเศรษฐกิจ แต่ในทางธรรม อวิชชาความไม่รู้ ท่านหมายถึงว่า ความไม่รู้ สิ่งที่เป็นสัจจะของธรรมชาติ หรือ สิ่งที่เป็นธรรมดาของธรรมชาติ หรือ อีกนัยหนึ่งก็คือความไม่รู้เรื่องอริยสัจจ์ ๔ เคยได้ยินเรื่องอริยสัจจ์ ๔ บ้างไหมคะ หมายความว่าอะไร อริยสัจจ์ ๔
ผู้ดำเนินรายการ: ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค หมายความว่าอะไรทั้งหมดนี่
ผู้ดำเนินรายการ: ความจริงสี่ประการ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ความจริงสี่ประการ เริ่มต้นก็คือ เรื่องของความทุกข์ รู้ไหมว่าความทุกข์คืออะไร
ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ แต่ที่ไม่สบายที่สุดก็คือ ความไม่สบายใจ ความหงุดหงิด ความอึดอัดรำคาญ ความไม่ชอบใจ ความโกรธ ความขัดเคือง ไปจนกระทั่งถึงความเจ็บปวดทนทุกข์ทรมาน ความสูญเสียต่างๆ นานา นี่แหละมนุษย์เราเรียกว่าสิ่งเหล่านี้คือความทุกข์ แต่คนส่วนมากก็มักจะไปนึกว่า ถ้าจะเรียกว่าความทุกข์ก็ต้องเรื่องใหญ่ๆ เช่น ความสูญเสียอย่างใหญ่ยิ่ง บ้านไฟไหม้ ถูกโจรปล้น หรือว่าอุบัติเหตุอย่างสำคัญๆ ถึงจะบอกนั่นความทุกข์ แล้วก็คนที่ไม่เคยประสบความสูญเสียใหญ่ๆ อย่างนี้ แต่อยู่บ้านตลอดวัน หรืออยู่ที่ทำงานทุกวันๆ มันก็บ่นงึมงำๆ เศร้าเหงา ขุ่นมัว ขัดใจ เตะโน่น ถองนี่ตลอดเวลา แล้วก็บอกฉันไม่มีทุกข์ ฉันไม่มีทุกข์ ฉันมีแต่ความสุข ใช่จริงไหม
ผู้ดำเนินรายการ: ไม่จริง
อุบาสิกา คุณรัญจวน: คนที่รู้จักเรื่องความทุกข์จะบอกว่า ไม่จริง สิ่งที่เราหงุดหงิด อึดอัดรำคาญ เราบ่นงึมงำอยู่ตลอดเวลา นี่แหละคือลักษณะอาการของสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ แต่มนุษย์ส่วนมากไม่รู้ ก็เลยหลงว่านี่มันสิ่งธรรมดาเพราะใครๆ เขาก็เป็นกัน นี่ไปดูว่าใครๆ เขาเป็นกัน แต่ไม่ดูว่าใครๆ เขาก็เป็นกันมันน่ากลัวแค่ไหน เราเข้าใจเราเป็นอยู่ทุกวันๆ ทำให้จิตของเรานี้ไม่มีความสุขสงบ แล้วจิตก็มีความอ่อนเปลี้ยเพลียแรง เหน็ดเหนื่อยจนกระทั่งจะยืนก็ไม่มีแรงจะเดินก็ไม่มีแรง จะทำอะไรๆ ก็ไม่มีแรง ที่จริงไม่ใช่คนง่อย ไม่ใช่คนขี้โรค แต่ใจไม่มีแรงก็เลยทำอะไรไม่ไหว นี่แหละเพราะอำนาจของความทุกข์มันกัดกินเพราะไม่รู้จักกัน ก็เลยปล่อยให้สิ่งที่เป็นความทุกข์นี่มันกัดอยู่เช่นนี้ตลอดเวลา แล้วไม่เคยได้ลองศึกษาว่า ทำไมถึงต้องเป็นทุกข์ล่ะ ทำไมถึงต้องบ่น ทำไมถึงต้องโกรธ ทำไมถึงต้องหงุดหงิดทำไมถึงต้องรำคาญ ก็เพราะความนึกถึงแต่ตัวเองใช่ไหมคะ พอนึกถึงแต่ใจของตัวเอง นั่นก็ไม่ถูกใจ นี่ก็ไม่ถูกใจ นั่นก็ไม่อร่อย นี่ก็ไม่ได้ดั่งใจ คนนั้นก็ขี้เกียจ คนนี้ก็ใช้ไม่ได้ มันมีแต่อะไรๆ ที่ล้วนแล้วแต่ไม่สบอารมณ์ นี่เพราะความที่นึกถึงแต่ตัวเอง แต่ถ้าในขณะใดที่ไปนึกถึงคนอื่น มองเห็นใจของคนอื่น มองเห็นปัญหาของคนอื่น ความทุกข์ก็ไม่เกิดขึ้น แต่นี่เพราะไม่รู้จักเรื่องลักษณะของความทุกข์ตั้งแต่แรก แล้วเสร็จแล้วก็ไม่รู้จักว่าความทุกข์มันเกิดขึ้นจากอะไร ก็เพราะตัณหาความอยากของใจของตัวเอง ใช่ไหมคะ
นี่เพราะเหตุนี้ท่านจึงเรียก อวิชชาเข้าครอบงำจิตเพราะไม่รู้จักอริยสัจจ์ ๔ ไม่รู้จักตั้งแต่เรื่องของความทุกข์ อย่าพูดไปถึงการที่จะมองเห็นว่า นิโรธ คือความดับทุกข์ต้องทำให้แจ้ง ในเมื่อความทุกข์ยังไม่รู้เลย จะไปรู้อันดับได้อย่างไร เช่นอย่างสมมติว่าเราเห็นแต่ควันไฟ ควันไฟอยู่ในบ้านมีแต่ควันไฟครึ้มไปหมดเลย แต่ก็ไม่รู้ว่านี่กำลังไฟไหม้ มีไฟช็อตอยู่ที่ตรงไหนไม่เคยรู้ แล้วจะไปดับถูกที่ได้อย่างไร จะรู้ก็เพียงว่ามันมีอะไรอยู่ เพราะฉะนั้นอย่าว่าแต่ไปรู้เรื่อง นิโรธ คือการที่ต้องทำให้แจ้งซึ่งความดับทุกข์เลย ในเมื่อความทุกข์ยังไม่รู้ ฉะนั้นท่านจึงบอกว่า ต้องรู้เสียก่อนในเรื่องของความทุกข์ว่ามีลักษณะอาการอย่างไร แล้วจึงจะรู้จักหนทางของความดับทุกข์ที่เรียกว่า มรรค คือการเดินตามมรรค ด้วยการเริ่มต้นด้วยการมี สัมมาทิฏฐิ คือความเห็นที่ถูกต้อง คือเห็นว่าลักษณะอย่างนี้ คืออาการของความทุกข์ และความทุกข์อย่างนี้มันมาจากความอยาก อันเนื่องจากความเห็นแก่ตัว ความนึกถึงแต่ตัวของตัวเองเป็นใหญ่เป็นสำคัญ แล้ววิธีที่จะพ้นจากความทุกข์ได้จะต้องปฏิบัติอย่างนี้ๆ นี่ไม่รู้ เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกว่า ตัวกูของกู หรือความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเป็นตนนี่ มันเกิดมาจากอันนี้ มันเกิดมาจากสิ่งที่เรียกว่า อวิชชา ปล่อยให้อวิชชาเข้าครอบงำจิต ก็ได้เคยพูดมาหลายครั้งแล้วว่า วิชชา นั้น คือแสงสว่างคือปัญญา วิชชา ช สองตัวนะ ต้องย้ำเสมอ วิชชา ช สองตัวนี้คือ แสงสว่าง คือ ปัญญา ทีนี้เมื่อปราศจากปัญญาที่จะรู้ในเรื่องความเป็นจริงของธรรมชาติ ความเป็นจริงของธรรมชาติคืออะไร กฎของธรรมชาติ ความเป็นจริงของธรรมชาติคือกฎของธรรมชาติ กฎของไตรลักษณ์ ที่พูดถึง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
อนิจจังก็คือ ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ความเปลี่ยนแปลงที่มันเปลี่ยนแปรไปตามเหตุตามปัจจัย แล้วเราก็ศึกษามัน ดูมันจากชีวิตที่เกิดขึ้น จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นทุกวันๆ จนเรามองเห็นว่าอ๋อ สิ่งนี้คือ สิ่งที่เป็นอยู่ตามธรรมดา มันจะไม่มีเปลี่ยนแปลงไปจากนี้ ความดีก็ไม่คงที่ ความชั่วก็ไม่คงที่ ความรักก็ไม่คงที่ ความเกลียดก็ไม่คงที่ ความได้ก็ไม่คงที่ ความเสียก็ไม่คงที่ ไม่มีใครได้อะไรตลอด แล้วก็ไม่มีใครเสียอะไรตลอด สิ่งเหล่านี้คือความเป็นจริง เป็นกฎของธรรมชาติ ก็จะมองไป มองไป จนกระทั่งผลที่สุดก็จะเห็นถึงอนัตตา
อนัตตา ก็คือความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน นี่เรายึดมั่นมาเป็นอัตตาเป็นตัวตนอันนี้มันก็ค่อยจางคลาย จางคลายหายไป ก็จะเห็นถึงซึ่ง อนัตตา คือความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ถ้าหากว่าเรามีความเห็นอย่างนี้ก็เรียกว่า วิชชา เพิ่มขึ้น วิชชาเพิ่มขึ้น อวิชชาก็ลดลง อวิชชาที่มันครอบงำจิต ที่ทำให้จิตนี้เขลาและก็เบาปัญญา และก็ไปยึดมั่นถือมั่นว่านี่เป็นตัวตน หรือสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความเห็น เป็นความรู้สึก ก็เป็นตัวเป็นตน เป็นจริงเป็นจัง มันค่อยๆ จางคลาย มันก็มองเห็นว่า สิ่งนี้มันเป็นเพียงสิ่งสักว่า มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน พอรู้สึกว่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ความอยากจะเห็นแก่ตนเพราะยึดมั่นในความเป็นตัวตน มันก็จะลดลงๆตามลำดับ ใช่ไหมคะ นี่แหละมันเกิดขึ้นเพราะอวิชชาเข้าครอบงำจิต
พูดง่ายๆ ก็คือ ตัวความโง่ความเขลานี่เป็นตัวการ มันก็เลยทำให้จิตนี่เกิดความขุ่นมัวมองไม่เห็นชัดเจน ยึดมั่นว่าเป็นตัวเป็นตน แล้วก็นอกจากนั้นแล้ว ความรู้สึกที่เป็นตัวเป็นตนนี่มันก็เกิดขึ้นอีก ตอนที่ว่า เกิดจากความเคยชินทำซ้ำๆ ทำซ้ำๆ ทำแล้วทำเล่า คิดว่านี่เป็นตัวตน คิดแล้วคิดอีก ดูไปดูมา จนกระทั่งนึกว่ามันเป็นจริง นี่เป็นตัวเป็นตนของเราจริงๆ เหมือนอย่างส่องกระจกดู ส่องเช้ามันก็หล่อ ส่องสายมันก็หล่อ ส่องกลางวัน ส่องบ่ายมันก็หล่อ ส่องกลางคืนมันก็หล่ออยู่นั่น ก็เลยสำคัญเรานี้เป็นคนหล่อ เรานี่เป็นคนหล่อ ตัวตนนี้เป็นคนหล่อ มีความยึดมั่นในความเป็นคนหล่อ หรือผู้หญิงดูตัวเองนี่ก็สวย เช้าก็สวย เย็นก็สวย บ่ายก็สวย กลางคืนก็สวย ก็ทะนงตน ยึดมั่นถือมั่นในความเป็นคนสวย หรือพอทำอะไรเข้าได้รับความสำเร็จ ใครๆ เขาก็ชมว่าคนเก่ง ทำอะไรเป็นสำเร็จทุกที ทีแรกก็ทำไปอย่างนั้นน่ะไม่รู้ว่าเก่งหรือไม่เก่ง แต่พอทำแล้วคนเขาก็ชม ครั้งที่สองเขาก็ชมอีก ครั้งที่สามเขาก็ชมอีก พอทำอย่างนั้นบ่อยๆ ได้รับคำชมมากๆ เข้าเลยเกิดแน่ใจ สำคัญตัวเรา เราเป็นคนเก่ง พอสำคัญว่าเราเป็นคนเก่ง “อัสมิมานะ” เกิดขึ้นแล้ว อัสมิมานะของความเป็นคนเก่ง ทีนี้พอไปที่ไหนบางทีเรื่องนี้เราไม่รู้เลย แต่ความทะนงตนที่ยึดมั่นว่าเราเป็นคนเก่ง ก็เอาความเป็นคนเก่งไปใช้ แล้วก็ไปเถียงไปทะเลาะกับเขา ก็เพราะความยึดมั่นในความเป็นคนเก่ง ถูกเขาหัวเราะเยาะก็ไม่ยอมรับว่าเราไม่รู้ เพราะความยึดมั่นถือมั่น นี่ความเห็นแก่ตัวมันเกิดขึ้นจากสิ่งที่เรียกว่า อวิชชาก่อน เป็นตัวการ อวิชชาเป็นตัวการที่ทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นดังกล่าวแล้ว สำคัญผิดจากความที่ไม่มีตัวไม่มีตน ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เป็นตัวเป็นตนขึ้นมา จากนั้นก็เกิดจากการที่พอยึดเข้าแล้วว่ามันเป็น แล้วก็ทำซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งท่านเรียกว่าเป็น อนุสัย
อนุสัย คือการทำซ้ำแล้วซ้ำอีก ย้ำอยู่นั่น ย้ำอยู่นั่นๆ จนมันชัดขึ้นเองในใจ อ๋อเราเป็นคนสวย เราเป็นคนรวย เราเป็นคนเก่ง หรือในทางตรงกันข้าม เราเป็นคนขี้เหร่ เราเป็นคนไม่สวยเลย ไปไหนก็ต้องอายเขา นั่งข้างหลัง ใครเขาเชิญไปนั่งข้างหน้าไม่ได้หรอก ฉันเป็นคนขี้เหร่ ต้องขออยู่ข้างหลัง หรือบางทีก็สำคัญมั่นว่าเราเป็นคนด้อยกว่าเขา ให้คนอื่นเขาออกข้างหน้า ฉันเป็นคนด้อย เป็นคนไม่มีชื่อ ไม่มีหน้า ต้องอยู่ข้างหลัง เพราะฉะนั้นความที่สำคัญตัวว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะสำคัญตัวว่าเป็นคนดี คนเก่งในทางบวกเสมอไป สำคัญตัวในทางลบก็มี ซึ่งอันที่จริงไม่มีใครเขาแต่งตั้ง เกิดมาเป็นคน มันก็มีความเป็นคนตามธรรมชาติ มันเหมือนกันอย่างนี้ ประกอบด้วยกายและจิต หรือว่า รูปกับนาม มันเหมือนกันทั้งนั้น แต่ถ้าปล่อยให้อวิชชาเป็นตัวการเข้าครอบงำจิต และก็ย้ำคิดย้ำนึกๆๆ ทำแล้วทำอีก ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนมันเกิดเป็น อนุสัย ก็เลยเชื่อมั่นขึ้นมาเองว่า เราเป็นคนเก่ง เราเป็นคนสวย เราเป็นคนรวย หรือ เราเป็นคนจน เราเป็นคนไม่มีความรู้ เราเป็นคนดูไม่ได้ เราเป็นคนปัญญาอ่อน แล้วแต่จะคิดไปและก็ยึดมั่น ถ้าเกิดความยึดมั่นแค่นี้นึกไหมว่าขาดทุนแค่ไหน นึกไหมคะว่าชีวิตนี้ขาดทุน พอมองเห็นไหม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ไปนึกว่า เราเป็นคนไม่เก่ง เราเป็นคนไม่รู้ เราเป็นคนทำอะไรไม่ได้ เราเป็นคนไม่มีความสำเร็จ นี่เท่ากับปิดประตูละ ปิดประตูปิดหนทางของความสำเร็จในอนาคตของชีวิต ปิดประตูของความก้าวหน้าของชีวิต ปิดประตูของการที่จะแก้ตัว ปรับปรุงใจใหม่ชีวิตใหม่ที่จะให้ได้พบแสงสว่าง ปิดประตูตัวเองหมดเลยโดยไม่รู้ตัว นี่เพราะอะไร เพราะอวิชชาครอบงำจิตเป็นตัวการ แล้วก็เพราะความที่ย้ำคิดย้ำทำยึดมั่นถือมั่นจนเป็นที่เขาเรียกว่า “อัตตวาทุปาทาน”
คือความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวเป็นตนว่า เป็นอย่างนั้นอย่างนี้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้งขึ้นมา มันเลยปิดหนทางตัวเอง หรืออีกทางหนึ่ง ถ้าไปย้ำยึดมั่นว่าตัวเองเป็นคนเก่ง เป็นคนสวย เป็นคนรวย เป็นคนวิเศษ คนอย่างนี้พอไปที่ไหน คนเขากระจายออกไปเลย ใช่ไหม เขากระจายเขาเปิดหนทางให้หมด เปิดหนทางให้ก็เดินไปสิ เดินไปคนเดียว โดดเดี่ยว ว้าเหว่ เปล่าเปลี่ยวแค่ไหน นึกไหม คนเก่งมาก คนวิเศษมาก คนอะไรๆ ที่มันมากกว่าเขานี่หาเพื่อนยาก ไม่ค่อยมีเพื่อน แล้วก็จะบ่นเหงา เปล่าเปลี่ยว ทั้งที่เงินทองทรัพย์สิน ข้าทาสบริวารพรั่งพร้อมเรียงราย ต่อให้อยู่ติดตัวแต่รู้สึกเหมือนตัวคนเดียว เพราะอะไร ก็เพราะความเห็นแก่ตัวที่ยึดมั่นว่าตัวเก่ง ตัววิเศษ จะน้อมตัวลงไปคุยกับคนที่เขาไม่เก่งกับคนด้อย เดี๋ยวก็เสียศักดิ์ศรี ศักดิ์ศรีของความเป็นคนเก่ง ของความเป็นคนมีอำนาจ ความเห็นแก่ตัวนี้ล้วนแล้วปิดหนทางตัวเองทั้งนั้น ปิดหนทางของความก้าวหน้า ปิดหนทางอนาคตที่ควรจะเจริญรุ่งเรือง ปิดหนทางของความสุข ความรื่นรมณ์ใจที่จะได้รับจากการมีเพื่อนฝูง มันปิดหมดเลย นี่ถ้าจะถามว่าตัวกูของกู หรือว่าความเห็นแก่ตัวมันเกิดขึ้นได้อย่างไร มันเกิดขึ้นได้อย่างนี้ และก็ที่สำคัญที่สุด พอมากๆ เข้า มันก็เป็น อัตตวาทุปาทานอย่างที่พูดแล้ว คือความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน เคยได้ยินใช่ไหมคะที่ท่านบอกว่า อุปาทานนี่ มี ๔ อย่าง รู้สึกจะเคยพูดให้ฟังบ้างแล้ว
อุปาทานนี่มี ๔ อย่าง อย่างหนึ่งคือ ทิฏฐุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในความเห็นของตน เกิดมาเป็นคน มีทิฏฐิด้วยกันทุกคน ทิฏฐิคือวามเห็นจะพูดเรื่องอะไรขึ้นมาทุกคนมีความเห็น จะเห็นน้อย เห็นมาก เห็นถูกเห็นผิด เห็นอะไรมันเห็นด้วยกันทั้งนั้น แต่ถ้าเห็นถูกต้อง เห็นถูกต้องคือถ้าเห็นแล้วเกิดประโยชน์เห็นแล้วตัวเองไม่เป็นทุกข์ มันนำประโยชน์ให้เกิดขึ้น นั่นแหละ เขาเรียกว่าเป็นความเห็นที่เป็น สัมมาทิฏฐิ มันก็ไม่เป็น ทิฏฐุปาทาน แต่ถ้าเป็นความเห็นที่เราเห็นแล้วมันยึดมั่นอยู่ในความเห็นของเราเอง แล้วจะไม่ยอมรับความเห็นคนอื่น จะยัดเยียดแต่ความเห็นของเราให้กับคนอื่นเขายอมรับ นี่เป็น ทิฏฐุปาทาน ถ้าทิฏฐุปาทานมีอยู่ในผู้ใดมาก ผู้นั้นก็จะเป็นผู้ที่ชอบโต้เถียง แก่งแย่ง คัดค้านอย่างไม่มีเหตุมีผล อย่างชนิดทำให้เสียเวลา เป็นที่กวนโมโห เป็นที่น่ารำคาญแก่คนอื่นเขา นี่คือทิฏฐุปาทาน เพราะว่าความเห็นอันนั้นหรือ ทิฏฐิอันนั้นเป็น มิจฉาทิฏฐิ ซึ่งมนุษย์เรามีกันมาก
แล้วก็อันที่สองก็คือ กามุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่นในกาม ในกามก็คือ ในสิ่งที่เอร็ดอร่อย เพลิดพลินสนุกสนานในเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ติดใจอยู่ในสิ่งนั้น พออกพอใจอยู่ในสิ่งนั้น และก็เห็นสิ่งนี้เป็นสิ่งที่บำเรอความสุขให้กับชีวิต บำเรอใจ คิดว่าชีวิตต้องการอย่างนี้แล้วก็ปล่อยจิตให้หลงมัวเมา เหมือนอย่างคำถามที่ถามคราวก่อนโน้น เกี่ยวกับว่าทำอย่างไรถึงจะมีการตัดสิน หรือแบ่งส่วนขีดขั้นความเห็นแก่ตัวนี่เป็นไปในทางที่พอเหมาะพอควร นี่ถ้าหากปล่อยจิตนั้นให้หลงไปทาง กามุปาทานนี่ไม่สามารถจะรักษา จะใช้ความเห็นแก่ตัวนั้นรักษาให้เป็นตัวที่ดีได้ เพราะมันไปติดเสียแล้ว ลุ่มหลงมัวเมาในสิ่งที่เป็นกามคุณห้า นี่ก็ทำให้เกิดผลร้ายแก่ชีวิต
หรืออันที่สาม สีลัพพัตตุปาทาน นั่นคือความยึดมั่นถือมั่นในศีล ในการกระทำที่เคยทำซ้ำซาก เช่น ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณีอะไรต่ออะไรต่างๆ ที่ตนคุ้นเคย ก็ทำซ้ำทำซากอยู่อย่างนั้นแล้วถ้าใครไม่ทำอย่างนั้นถือว่าผิด ใช้ไม่ได้ ใครไม่กราบอย่างนี้ ไม่ถูกต้อง ใช้ไม่ได้ ถ้าหากว่าใครไม่แต่งตัวอย่างนี้ในโอกาสอย่างนี้ใช้ไม่ได้ เพราะขนบธรรมเนียมของฉันต้องแต่งกันอย่างนี้ วัฒนธรรมของฉันต้องเป็นอย่างนี้ นี่คือความยึดมั่นในศีลในพรต คือในการปฏิบัติที่คุ้นเคยอยู่ แต่อุปาทานทั้งสามนี้มันมาจากไหน มันก็มาจากตัวอุปาทานที่สำคัญที่สุดคือ อัตตวาทุปาทาน ที่เราพูดมาแล้ว ถ้ามันไม่มี อัตตวาทุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่นในอัตตา อัตตวาทุปาทานคือ อัตตา อัตตะ บวกกับ อุปาทาน ก็เป็น อัตตวาทุปาทาน ถ้าไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวเป็นตนนี้ มันก็ไม่มีทิฏฐิของฉัน ไม่มีการยึดมั่นในกามของฉัน ไม่มีการยึดมั่นในศีลในพรตของฉัน นี่เพราะมันมีตัว มันมีความเห็นแก่ตัว จึงเอาสิ่งที่ตัวคุ้นเคย เช่น ศีล พรต หรือว่าการปฏิบัติวัฒนธรรมประเพณีที่เคยชิน ของฉันก็อยากจะให้ใครๆ ทำ หรือว่า ทิฏฐิ ฉันเห็นอย่างนี้ ว่าอย่างนี้ถูกต้อง ก็จะเอาทิฏฐิอันนี้ยัดเยียดให้คนอื่นเขารับรองด้วย ทั้งหมดทั้งหลายนี่มันมาจาก อัตตวาทุปาทาน เพราะฉะนั้น อัตตวาทุปาทานนี้มันจึงร้ายกาจ มันเป็นอุปาทานที่ยึดมั่นถือมั่น เป็นตัวเป็นตน เป็นตัวกูเป็นของกู แล้วความเห็นแก่ตัวนี้มันก็เกิด และความเห็นแก่ตัวนี้แหละ ที่มันเป็นเหตุให้มนุษย์เรา พยายามกระทำทุกวิถีทางเพื่อให้เกิดความรอด เพื่อให้เกิดความรอดแก่ชีวิตของตนหรือชีวิตของตัว
ถ้าเราจะดู จะดูกันในชีวิตของบรรดาคนทั้งหลายที่อยู่ในวงการต่างๆ หยิบมาทีละวงการ วงการเมือง วงการศึกษา วงการเศรษฐกิจ วงการธุรกิจ วงการข้าราชการ วงการอะไรต่ออะไรทั้งหลาย มองดูสิว่ามี อัตตวาทุปาทานอยู่หรือไม่ มีความเห็นแก่ตัวอยู่ในนั้นไหม มีอยู่หรือเปล่า เยอะมากทีเดียว
เพราะฉะนั้นความสำเร็จในชีวิต หรือความราบรื่นของการทำงานในแต่ละวงการมันจึงหาได้ยาก เพราะว่ามันมีความเห็นแก่ตัวอยู่ ฉะนั้นพอมีความเห็นแก่ตัวขึ้นมาแล้วล่ะก็ มันก็เกิดการกระทำอย่างชนิดที่ว่า ไม่มีมิตร ไม่มีเพื่อน พอถึงเวลาที่ความเห็นแก่ตัวเกิดขึ้นแล้ว ความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อนไม่มี เพราะว่าความที่จะเอาตัวรอดเพื่อให้ได้ซึ่งประโยชน์ของฉันมันสำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่น จึงพร้อมที่จะกวาดล้างก้าวกระโดดเหยียบย่ำขึ้นไป เพื่อให้ฉันได้รับสิ่งที่ฉันต้องการ
นี่มันมาจากความเห็นแก่ตัวทั้งนั้น ดูมองลงไปเถอะในทุกวงการ ซึ่งเชื่อว่าท่านผู้ชมต้องรู้สึกในเรื่องนี้เจนใจอยู่แล้ว ก็โปรดลองใคร่ครวญดู เพราะความเห็นแก่ตัวใช่ไหม จึงทำให้มนุษย์เรานี้ตกจมอยู่ในความทุกข์ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ถูกความทุกข์กัด ถูกความเห็นแก่ตัวนี้กัดอยู่ในใจตลอดเวลา จริงหรือไม่จริงก็ฝากให้คิด คิดซ้ำ ให้เห็นชัดเจนอีกครั้ง สำหรับวันนี้ก็ธรรมสวัสดีก่อนนะคะ