แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คำถามต่อไป หายใจเข้า-ออก อ้อนี่ก็ซ้ำกัน ท้องพองขึ้นหรือท้องยุบลง ไม่ต้องสนใจ มันจะยุบมันจะพองก็ช่าง ให้จิตอยู่กับลมหายใจให้ได้ หายใจไม่ได้ยาว รู้สึกขัดๆ เคยหายใจสั้นมาก่อนหรือเปล่า นี่ต้องดูนะคะ ต้องหันมาดูที่ตอนต้นได้แนะนำว่า ให้สำรวจลมหายใจปกติซะก่อน ว่าหายใจขนาดไหน ก่อนที่เราจะเริ่มปฏิบัติขั้นที่ 1 หายใจปกติซะก่อน จะได้รู้ว่าลมหายใจปกติของเรานี้เป็นธรรมชาติไหม คล่องแคล่วดีไหม สบายดีไหม หรือว่ามันหายใจสั้นๆ กระชั้นถี่อยู่แล้ว นั่นก็เพราะว่าภาวะของจิตมีความเครียดอยู่เป็นปกติ เป็นธรรมดา มันก็เลยทำให้ลมหายใจกระชั้นถี่ ลมหายใจสั้น ลมหายใจขัด ทีนี้พอมาฝึกอย่างนี้ยังหายใจขัดอยู่นะคะ ก็ค่อยๆขยายมันออกไป ทีละน้อย ให้ยาวออกไป ยาวออกไปทีละน้อย ให้เป็นธรรมชาติ และก็บางครั้งคราวก็ลองใช้ลมหายใจแรงลึก ไล่ความขัดไป จะสัก 2-3 ครั้ง แล้วก็มารู้อยู่กับลมหายใจใหม่ ก็จะค่อยๆ ดีขึ้นค่ะ
ขณะเดินจงกรม บางครั้งไม่รู้ว่าหายใจเข้าหรือออก รู้แต่ว่าหายใจอยู่ ถูกต้องหรือไม่
ไม่ถูกต้อง เพราะเชื่อว่าคิดมากกว่า คิดว่าหายใจอยู่ ก็มันยังเดินได้นี่ ใช่ไหม มันยังเดินได้ ยังไม่ล้ม เพราะงั้นมันก็ยังหายใจอยู่ แต่ไม่รู้ว่าเข้าหรือออก และจะปฏิบัติ จะเรียกว่าปฏิบัติได้อย่างไร เพราะฉนั้นคำถามนี้ก็แสดงว่า ขณะนั้นจิตไม่ได้อยู่กับลมหายใจนะคะ ต้องดึงกลับมาให้อยู่กับลมหายใจ
คำถามต่อไป เมื่อฝึกจิตให้นิ่งสงบได้แล้ว ทำอย่างไรจึงจะให้เกิดปัญญาได้เร็ว
ถ้าเป็นผู้ปฏิบัติใหม่ก็ต้องบอกว่า อย่าเพิ่งรีบร้อน ไปช้าๆ ให้มั่นคงหนักแน่น อยู่กับความรู้ทั่วถึง อยู่กับลมหายใจเสียก่อน อย่าเพิ่งรีบร้อน เพราะถ้ายิ่งรีบจะยิ่งช้า มีนิทานเซ็นที่เขาบอกว่า ในคนหนุ่มคนนึง อยากจะเรียนวิชาฟันดาบ อยากจะเป็นนักฟันดาบผู้เชี่ยวชาญ ก็มาหาอาจารย์เซ็น ที่มีชื่อว่าเป็นนักฟันดาบ แล้วก็มาขอสมัครเป็นศิษย์ อาจารย์เซ็นท่านนั้นก็รับไว้ ในลูกศิษย์ใหม่ก็ถามว่า จะต้องใช้เวลาสักเท่าไหร่ ถึงจะเป็นนักฟันดาบที่ชำนาญ อาจารย์ก็ตอบว่า 7 ปี นายคนนี้ก็บอกว่า เขาจะตั้งใจให้เต็มที่เลย ตั้งใจเล่าเรียน เอาให้เต็มที่เลย ถ้าเขาตั้งใจจริงๆอย่างนี้ จะต้องใช้เวลาสักเท่าไหร่ อาจารย์ก็บอกว่า 14 ปี นายคนนี้ก็แน่ล่ะ ก็ท้อล่ะนะ ก็คิดหาอุบายพูดอีก แต่แหมพ่อก็แก่แล้ว พ่อก็แก่แล้วเดี๊ยวพ่อตายซะก่อน พ่ออยากจะได้เห็นผมเนี่ยะเป็นนักฟันดาบผู้เชี่ยวชาญ ผมจะตั้งใจให้สุดกำลังเลยเชียว สักเท่าไร สักกี่ปีถึงจะเป็นนักฟันดาบได้ ก็คงเดาได้ อาจารย์ก็บอก 21 ปี เพิ่มขึ้นมาอีก เห็นไหมคะ
นี่ล่ะเป็นตัวอย่างที่บอกว่า ยิ่งอยากเร็ว ก็จะยิ่งช้า เพราะความอยากนี่เป็นปัญหา มันกลายเป็นนิวรณ์ เป็นเครื่องกั้นแล้ว เห็นไหมคะ เป็นอุปสรรค ไม่ให้ทำให้ได้ แล้วเรื่องนี้เจ้าลูกศิษย์ก็หมดปัญญา ไม่รู้จะทำอย่างไรกับอาจารย์ เพราะอาจารย์ก็อยากจะบอกว่า ยิ่งอยากก็ยิ่งช้านั่นล่ะ แต่ทีนี้อยากเรียนจริงๆ ก็ยอม ยอมอยู่กับอาจารย์ อาจารย์ก็ให้ไปทำงานในครัว ถ้าคนไหนเคยฟังนิทานเรื่องนี้คงนึกออก ไปน่ะไปทำงานในครัว ไปช่วยเขาผ่าฟืน หุงต้ม อะไรไปตามเรื่อง นายคนนี้ก็ยิ่งผิดหวังใหญ่ กะว่าจะมาขอเรียนฟันดาบ อาจารย์กลับส่งไปอยู่ในครัว กลายไปช่วยงานพ่อครัว แต่ก็ด้วยความที่มีความตั้งใจและมีความเคารพในครูบาอาจารย์นั่นแหล่ะ ก็ยอมไปอยู่ในครัว ก็ไปช่วยเขาผ่าฟืน หุงต้มแกงอะไรไปตามเรื่อง ก็เป็นเวลาเป็นเดือนๆ นะคะ จึงเหมือนกับนึกอาจารย์คงลืมเราแล้ว วันหนึ่งอาจารย์ก็โผล่พรวดเข้ามาในครัวพร้อมกระดาบอยู่ในมือ มาถึงก็ฟันฉับๆฉับๆอยู่ที่นายคนนี้ แต่ก็แน่นอนล่ะ อาจารย์ไม่ได้ตั้งใจฟันให้ถูกหรอก เพราะถ้าฟันถูกมันก็ตายแล้ว แต่มาถึงก็ฟันฉึกฉับ ๆ นายคนนี้ก็คว้าไม้อะไรที่มีอยู่นี่ก็มารับอาจารย์ตามแต่ตัวจะทำได้ เสร็จแล้วอาจารย์ก็ออกไป นี่เพื่ออะไร เพื่อเตือนนายคนนี้เรื่องอะไร ให้มีอะไร มีสติ ไม่ว่าจะทำอะไรทุกขณะ อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกขณะ นายคนนี้ก็ชักระวังตัวแล้วใช่ไหมคะ ว่าอ๋อเนี่ยะ เราขืนจะทำอะไรสบายๆ ไม่ได้เดี๋ยวอาจารย์โผล่มาอีกเมื่อไหร่ทำไง เพราะงั้นในตอนนี้นายคนนี้ระมัดระวังตัว อาจจะมีดาบอยู่ข้างตัวด้วยก็ได้ เพราะอาจารย์ก็ทำอย่างนี้ วันดีคืนดีก็โผล่มาฉึกฉับ ๆ นายคนนี้ก็ตั้งรับใหญ่เลยเต็มที่ ก็ทำอยู่อย่างนี้เป็นเวลาระยะหนึ่ง แต่นานเท่าไหร่จำไม่ได้ ผลที่สุดนายคนนี้ก็เป็นนักฟันดาบที่เก่งกาจ เพราะในเรื่องของวิชาฟันดาบ คือในเรื่องของวิชาการว่าอย่างนั้นเถอะนะคะ นี่ก็เป็นวิชาฟันดาบ ถ้าพูดถึงกลยุทธ์ในเรื่องของการฟันดาบเนี่ยะ อาจารย์ที่เก่งที่สุดก็คงมีความเก่งคล้ายๆ กันใช่ไหมคะ แต่สิ่งที่จะทำให้เป็นคนเก่งได้อย่างจริงถึงที่สุดยอด นั่นก็คือต้องมีอะไรกำกับ ต้องมีสติกำกับนั่นเอง เพราะฉนั้นเมื่ออาจารย์เซ็น อาจารย์เซ็นก็สอนเรื่องของธรรมะ สอนเรื่องของการฝึกสติ ถึงได้ใช้ให้ไปอยู่ในครัว นายคนนี้ก็ประมาท ปัทโธ่ เอาให้เรามาอยู่ในครัว แต่ก็ยังดีอุตส่าห์อยู่ ผลที่สุดก็เป็นนักฟันดาบที่สามารถ เพราะมีทั้งฝีมือ และที่สำคัญคือมีสติกำกับใจ เห็นไหมคะนี่ความสำคัญของสติ ฉนั้นที่ว่า อยากให้เกิดเร็วๆน่ะ ไม่ต้องเร็ว ไปช้าๆ สำหรับผู้ที่ปฏิบัติใหม่นะคะ ขอให้ขั้นที่ 1, 2, 3 ให้ช่ำชองก่อน แล้วค่อยมาพูดกัน อย่าพึ่งรีบร้อน
ทีนี้คำถามต่อไปบอกว่า เมื่อลมหายใจละเอียด จะใคร่ครวญธรรม หรือพิจารณาธรรมอย่างไร
ถ้ามันละเอียดจริงแล้ว มันจะมีวิธีขึ้นเอง ถ้ายังไม่มีวิธี นึกอะไรไม่ออก ก็ดูลมหายใจที่มันเข้าออกๆนี่แหล่ะ มันแสดงถึงภาวะของความไม่เที่ยงให้เห็นอยู่แล้ว และก็ดูลมหายใจนี่แหล่ะ ไม่ต้องดูอย่างอื่น
มีผู้ถามเกี่ยวกับเรื่อง คำกล่าวของไอน์สไตน์ที่ดิฉันพูดครั้งหนึ่ง รู้สึกวันก่อนเนี่ยะจะเป็นวันแรกหรือวันอะไรไม่ทราบ ที่บอกว่าไอน์สไตน์เขาพูดบอกว่า อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เชื่อว่าทุกท่านรู้จัก เป็นนักวิทยาศาสตร์ มีชื่อเรืองนามของโลก และเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ตอ้งบอกว่า ถึงแม้จะไม่ใช่พุทธศาสนิกชน แต่ก็เป็นผู้ที่มีคุณธรรมอยู่ในจิตเป็นอันมากทีเดียวนะคะ ดูจากสิ่งที่เขาพูดหรือว่าเขาเขียนจากในหนังสือของเขาเนี่ยะ ถ้าท่านที่สนใจ ผู้ที่เป็นครูบาอาจารย์ลองไปหาอ่าน มีหนังสือที่มีผู้แปลมาจาก ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษว่า Out Of My Later Years และเขาแปลเป็นภาษาไทยว่า เขียนไว้เมื่อเป็นไม้ใกล้ฝั่ง เขามีคติอะไรที่น่าสนใจมาก และสิ่งที่เขาพูดเกี่ยวกับศาสนา เขาบอกว่า คนที่รู้แจ้งเห็นจริงในศาสนา คือคนที่ได้ปลดเปลื้องตัวเองออกจากโซ่ตรวนแห่งความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน นี่พูดง่ายๆ เหมือนกับไอน์สไตน์ได้เคยเรียนเรื่อง เรื่องอะไร เรื่องอนัตตา ใช่ไหมคะ อนัตตาคือความไม่ใช่ตัวตน คนที่รู้แจ้งเห็นจริงในศาสนา คือหมายถึง คนที่เข้าถึงสัจธรรมนั่นเอง ก็คือคนที่ได้ปลดเปลื้องตัวเอง ก็ปลดเปลื้องใจของตัวเอง จากโซ่ตรวนแห่งความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน จากโซ่ตรวนก็คือจากความยึดมั่นถือมั่น เพราะเขาไม่ใช่พุทธศาสนา เขาไม่ใช่พุทธศาสนิกชน เขาไม่รู้จักคำว่า อุปาทาน เขาก็ใช้คำว่า ปลดเปลื้องเอง ตัวเองออกจากโซ่ตรวน ของความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนก็คือความเห็นแก่ตัว ความยึดมั่นในอัตตา อีโก้ (Ego) นั่นเอง เพราะฉนั้นข้อคิดของเขา หลายข้อที่เขากล่าวเอาไว้เนี่ย ถึงแม้เขาจะไม่ใช่พุทธ ไม่ใช่ชาวพุทธ แต่ว่าตรงกันกับคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่นเขาบอกว่า มนุษย์จะสามารถค้นพบความหมายในชีวิต ซึ่งสั้นและเต็มไปด้วยอันตรายได้ ก็ต่อเมื่ออุทิศตัวให้กับสังคมเท่านั้น นี่ก็อย่างที่เราพูดกันใช่ไหมคะ ถึงเรื่องการทำหน้าที่ เพื่อหน้าที่อย่างถูกต้อง โดยไม่เอาตัวเองเป็นใหญ่ เป็นที่ตั้ง หรือโดยไม่เห็นแก่ตัว นี่เขาบอกว่ามนุษย์จะรู้ความหมายของชีวิตเมื่อทำงานเพื่อสังคม ก็คือทำงานเพื่อเห็นแก่เพื่อนมนุษย์อย่างไม่เห็นแก่ตัว และก็อีกตอนนึงเขาบอกว่า ชะตาของคนถูกลิขิตเพื่อให้มารับใช้ มนุษย์เรานี่ถูกลิขิตเพื่อให้มารับใช้ ไม่ใช่มาปกครอง
ถ้าทุกคนรู้สึกอย่างนี้ การทำงานร่วมกัน ก็จะมีแต่ความเห็นอกเห็นใจ เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ใช่ไหมคะ ไม่ข่มเหงเบียดเบียนกัน แต่นี่ส่วนมาก มักจะนึกว่า มาเพื่อปกครอง มาเป็นหัวหน้า มาเป็นนาย แต่นี่เขาบอกว่า ลิขิตมาให้เพื่อรับใช้ ถ้าทุกคนรับใช้ก็คือการทำหน้าที่ นี่เขาไม่ได้ใช้คำอย่างเรา เพราะเขาไม่ใช่พุทธศาสนิกชน นอกจากนี้เขายังพูดในแง่ของการศึกษาอย่างน่าสนใจ เขาบอกว่าโรงเรียน มีหน้าที่รับใช้ผู้ที่ยังมีชีวิตด้วยการพัฒนาให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพ คือพัฒนาเด็กนักเรียน ลูกศิษย์ให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพ ด้วยการฝึกอบรมให้แต่ละบุคคลมองเห็นคุณค่าของการรับใช้ชุมชน เห็นไหมคะ นี่จุดหมายปลายทางของการศึกษา คือสอนเด็ก อบรมเด็ก ให้รู้จักทำหน้าที่ เพื่อหน้าที่อย่างถูกต้อง โดยไม่เห็นแก่ตัวเองนั่นเอง ที่บอกว่ารับใช้ชุมชน นอกจากนี้ไอน์สไตน์ยังกล่าวว่า ไม่ควรอบรมเด็กให้ถือความสำเร็จเป็นเป้าหมายของชีวิต นี่เห็นไหมคะ เราตามการศึกษาตะวันตก ไอน์สไตน์ก็เป็นชาวตะวันตก เป็นชาวเยอรมันแล้วก็เป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องทั่วโลก แต่เขากลับบอกว่า ไม่ควรอบรมเด็กให้ถือความสำเร็จเป็นเป้าหมายของชีวิต เพราะอะไร เพราะถ้าอบรมให้ถือความสำเร็จเป็นเป้าหมายของชีวิต ก็เหมือนอย่างที่ดิฉันได้พูดในวันแรก มันเป็นการส่งเสริมความเห็นแก่ตัว ยึดมั่นในอัตตา อีโก้มากขึ้นและก็เบียดเบียนกัน นื่คือความเห็นของชาวตะวันตกที่จัดได้ว่าเป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์และนักปราชญ์คนหนึ่ง จะตามใครล่ะ คนไทยเนี่ย นักการศึกษาไทยจะตามใคร จะตามฝรั่งไหน ถึงจะตามฝรั่งแล้วเกิดประโยชน์ เกิดประโยชน์แก่ชีวิต เกิดประโยชน์แก่การศึกษา แล้วเขาก็พูดต่อไปว่า เพราะคุณค่าของชีวิตมนุษย์อยู่ตรงจุดที่ว่า เขาได้ให้สิ่งใดแก่สังคม ไม่ใช่ตรงสิ่งที่เขาได้รับ นี่เห็นไหมคะ พูดถึงสิทธิกับหน้าที่ เขาไม่ได้พูดคำนี้ แต่พอเราอ่านแล้วเราก็เห็น เขาหมายถึงสิทธิกับหน้าที่ เราเรียกร้องกันแต่สิทธิ มีประท้วงกันเมื่อไหร่ มีม๊อบกันเมื่อไหร่ ก็เรียกร้องแต่สิทธิ ไม่มีการขอโอกาสทำหน้าที่เลย เพราะฉนั้นไอน์สไตน์ก็ย้ำอีกน่ะ บอกว่า มนุษย์ คุณค่าของชีวิตของมนุษย์อยู่ตรงจุดที่ว่า เขาได้ให้สิ่งใดแก่สังคม ไม่ใช่ตรงสิ่งที่เขาได้รับ นี่คือการไม่เห็นแก่ตัวทั้งนั้น สนับสนุนมุ่งไปที่ความไม่เห็นแก่ตัว แต่สนับสนุนให้ทำหน้าที่ในฐานะมนุษย์ให้ถูกต้อง แล้วก็ยังพูดอย่างผู้มีธรรมอีกด้วยว่า มนุษย์จะต้องยึดถือสัจจะในการติดต่อสัมพันธ์ทุกแง่กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน คนเราจะเป็นเพื่อนกันได้ จะอยู่ด้วยกันได้ ต้องถือสัจจะ สัจจะต่อกันทุกแง่ในฐานะเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพราะฉนั้นถ้าหากว่าในการศึกษาเราสามารถอบรมเด็กของเราให้เป็นผู้รู้จักคุณค่าของสัจจะ เป็นผู้มีสัจจะ เท่านี้ก็คิดว่าสัมฤทธิ์ผลของการศึกษา เขาจะเป็นผู้ไม่เบียดเบียนผู้อื่น จะสามารถทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่สังคม