แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คำถามต่อไป ท่านอาจารย์ฝากไว้ว่านักศึกษาต้องมีปัญญาที่มีเมตตาอยู่ด้วย จะฝึกให้มีเมตตามากขึ้นด้วยวิธีการใด ยกตัวอย่าง
มีปัญญาที่มีเมตตานี่ท่านจะบอกว่า ถ้ามีปัญญาที่ไม่มีเมตตามันจะเป็นความเห็นแก่ตัว แล้วก็จะเป็นความเห็นแก่ตัวที่เก่งกาจมากเลย เพราะมีปัญญาก็คือฉลาด อย่างที่ได้ยินว่าคน คนโกงน่ะยิ่งฉลาดเท่าไหร่ยิ่งโกงเก่งเท่านั้น คนที่จะเอาเปรียบคนอื่น ยิ่งฉลาดเท่าไหร่ก็มีวิธีพลิกแพลงที่จะเอาเปรียบคนอื่นได้มากยิ่งขึ้นเพียงนั้น เพราะฉะนั้นถ้าพยายามเพิ่มสร้างสรรค์พัฒนาเมตตากรุณา ให้เกิดขึ้นในจิตอยู่เสมอ ก็จะได้ใช้ปัญญานั้นไปในทางที่ถูก มีปัญญาที่มีเมตตา ตัวอย่างเช่นยังไง ก็เรามีความเมตตา มีความเมตตาสงสาร อยากที่จะให้ผู้ที่อยู่ในความทุกข์ยาก เหมือนอย่างผู้ที่อยู่ในสลัมนี่ ซึ่งเรารู้สึกว่าเขามีปัญหาหลายอย่างอยากจะช่วยเหลือให้เขาพ้นจากปัญหานั้น ถ้าเป็นคนมีปัญญา ก็ใช้ปัญญานั้นคิดใคร่ครวญที่จะไปจัดกิจกรรมอะไร สิ่งใดควรจะช่วยเหลือก่อน ความช่วยเหลือนั้นจะได้มาจากไหน แล้วก็วิธีการที่จะให้ความช่วยเหลือนั้นให้อย่างไรถึงจะตรงถึงตัวผู้รับ นี่คือใช้ปัญญาที่ประกอบด้วยเมตตา และก็ใช้เมตตา คือมีความเมตตาแล้วเอาปัญญามาช่วย ซึ่งนักศึกษามีโอกาสจะทำได้มากเพราะเป็นผู้ที่ฉลาดอยู่แล้ว
เวลาไปที่มืด เกิดกลัวขึ้นมา จะทำอย่างไรกับความกลัวที่เกิดขึ้น ในเมื่อสติยังไม่คมพอ คือยังมีไม่เพียงพอ
ใช้ลมหายใจเพื่อจะเรียกสติ พัฒนาสติให้เกิดขึ้น ให้ใจจดจ่ออยู่กับลมหายใจในขณะนั้น ไม่เอาอะไรอื่น ยืนหลับตาแล้วก็อยู่กับลมหายใจ หายใจเข้าหายใจออกๆๆ แล้วเชื่อไหมคะในขณะที่กลัวมากๆนี่ ใจมันไม่กล้าหนีไปจากลมหายใจ ถ้าเราถือว่าลมหายใจเป็นที่พึ่ง เพราะเหตุว่าพอเราอยู่กับลมหายใจได้มากขึ้น สติก็มากขึ้นคือแข็งขึ้นมั่นคงขึ้น ที่นี้ใจข้างใน นี่ก็จะหนักแน่นมั่นคงกล้าหาญขึ้น เพราะฉะนั้นในขณะนั้นจิตจะเป็นสมาธิได้ง่ายมากเลย ถ้าขอให้ถือว่าลมหายใจนี่เป็นที่พึ่งได้ ก็เอาจิตนี่แหละอยู่กับลมหายใจยืนเฉยแล้วก็อยู่กับลมหายใจอย่างเดียว มั่นคงอยู่กับลมหายใจ รู้เข้ารู้ออกๆๆ ท่องเอาก็ได้ที่แรกนะคะตอนที่มันกลัวมาก รู้เข้ารู้ออกๆๆอยู่อย่างเดียวประเดี๋ยวจิตมั่นคง แล้วก็ถ้าอยากจะทดสอบจะหันกลับไปมองก็ได้ แต่ถ้ายังไม่อยากทดสอบเอาล่ะมันมั่นคงแล้ว ก็เดินต่อไป รับรองว่าช่วยได้แน่นอน
อธิบายถึงการระลึกมรณานุสติทุกลมหายใจอีกครั้งเพราะยังไม่เข้าใจชัดเจน ให้นึกถึงคนตายหรือดูรูปคนตายเยอะๆใช่ไหม
นั้นก็เป็นอุปกรณ์นะคะ ถ้าจะเอารูปคนตายมาดู รูปศพมาดู เป็นอุปกรณ์ที่จะทำให้ระลึกถึงความตายที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น อีกวิธีหนึ่งก็คือนึกถึงความตายที่จะมาถึง ความตายที่จะมาถึง ตายเมื่อไหร่ไม่รู้ให้ระลึกถึงว่าอาจจะตายเดี๋ยวนี้นะ อาจจะตายเดี๋ยวนี้ ทีแรกก็อาจจะพูดไปก่อนก็ได้ อาจจะตายเดี๋ยวนี้ก็ได้ๆ จะทำอะไรก็นึกถึงแต่ว่าความตายจะมาถึงทุกขณะ จะมาถึงทุกขณะ จะได้เร่งกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์สิ่งที่เป็นความดีและก็ไม่ประมาท พอจิตจะตกไปภายใต้ของกิเลสตัวใดก็จะมีกำลังใจที่จะดึงมันกลับมา เพราะรู้สึกว่าประเดี๋ยวก็จะตายแล้วทำอะไรดีๆดีกว่า ทำอะไรที่เกิดประโยชน์ดีกว่า แล้วเมื่อนึกอย่างนี้มากๆเข้า จิตมันก็เลยมุ่งหมายจะกระทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ ก็เลยกลายเป็นธรรมะ สัมมาทิฏฐิก็ค่อยๆเกิดขึ้นในจิตด้วย
ตามคำของท่านอาจารย์จากเทปที่ฟังนะคะ ที่ท่านบอกว่า เมื่อมนุษย์ทำหน้าที่ถูกต้องเมื่อไร ก็คือมนุษย์ปฏิบัติธรรม หมายความว่าอะไร
ก็นึกดูว่าเรามาปฏิบัติธรรมทำไม เรามาฝึกปฏิบัติธรรมก็เพื่อให้เป็นสุขใช่ไหมคะ เพื่อให้จิตใจเป็นสุขสบายและก็พ้นจากความทุกข์ ที่เราไม่เป็นสุขไม่สบายเพราะอะไร ถ้าย้อนกลับไปดู ก็เพราะเราทำไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะทำไม่ถูกต้องตามกฎอิทัปปัจจยตา ที่เราพูดถึงเรื่องความทุกข์เมื่อวานนี้ ทำไม่ถูกต้องตามกฎของอิทัปปัจจยตาเพราะกระทำด้วยความยึดมั่นถือมั่นที่จะเอาให้ได้อย่างใจตัว ทุกข์มันก็เกิด ที่นี้ถ้าหากว่ากระทำถูกต้องก็คือการปฏิบัติธรรม ไม่ว่าจะทำกิจการงานใดงานเล็กงานใหญ่ หรือกิจวัตรประจำวัน ทำเพื่อธรรม ทำเพื่องานอย่างนี้แล้ว ใจมันก็สบายเพราะมันไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ไม่มีตัณหาความอยากมาผลักดัน นี่ก็คือการปฏิบัติธรรมโดยอัตโนมัติ ฉะนั้นถ้าฝึกปฏิบัติให้ถูกต้อง จะอยู่ที่ไหนก็ปฏิบัติธรรมได้ตลอดเวลา เพราะใจนั้นมันเป็นสวรรค์อยู่ตลอดเวลา นั่นก็เรียกว่าเป็นการปฏิบัติธรรมได้
คำถามต่อไปถ้าได้กระทำกรรมบางอย่างไปแล้ว มาคิดดูก็คิดได้ว่ามันเกิดจากอัตตาหรือความมีอัตตาเช่นนี้แล้ว ควรจะทำอย่างไร คิดอย่างไร จะขูดขัดอัตตาหรือใคร่ครวญอย่างไรเพื่อลดอัตตา
ก็อย่างที่มาฟังธรรมะ ที่เราพูดกันนี่นะคะ ให้เห็นโทษทุกข์ของการยึดมั่นถือมั่นในอัตตา แล้วเมื่อเราเกิดความรู้สึกเห็นจริงจังด้วย เห็นโทษทุกข์ ใจมันก็ถอย ถอยออกจากความยึดมั่นที่เคยมีมาก เพราะเราไม่อยากเป็นอย่างนั้น เราไม่อยากมีความทุกข์ นี่ก็เป็นวิธีลดละ นอกจากนั้นเราก็ศึกษาธรรมะที่เป็นหัวใจ ปฏิจจสมุปบาท ที่เราจะพูดกันนี่ เป็นธรรมะที่เป็นหัวใจ แล้วก็พูดให้เห็นชัดว่าชีวิตนี้หาใช่ตัวใช่ตนไม่ ทำความเข้าใจกับปฏิจจสมุปบาทให้ยิ่งขึ้น แล้วก็จะกระจ่างแจ้งในความเป็นอนัตตาชัดขึ้น และที่สำคัญที่สุดต้องฝึกอานาปานสติให้เป็นพื้นฐานของจิตอยู่เสมอ แล้วจิตก็จะมีความเข้มแข็งที่จะกระทำเพื่อลดละอัตตา
เมื่อนั่งสมาธิแล้วเกิดเครียดหงุดหงิดอึดอัด ควรหยุดพักก่อนหรือสู้กับความอึดอัดนั้น
ก็ขอแนะนำว่าถ้ารู้สึกว่ามันเครียดมันหงุดหงิดนะคะ ก็ลองไปเริ่มต้นขั้นที่หนึ่งใหม่ ได้ไหม ถ้าได้ก็ต่อไป ถ้าไม่ได้หยุดก่อน ไม่ต้องปฏิบัติตามขั้น เอาแต่เพียงรู้ลมหายใจธรรมดา รู้เข้ารู้ออกๆอยู่เฉยๆสบายๆ โดยวางการปฏิบัติตามขั้นเอาไว้เลยไม่ต้องเกี่ยวข้อง จนกระทั่งจิตนี้สามารถอยู่กับลมหายใจสบายขึ้นตามลำดับแล้ว จึงค่อยปฏิบัติต่อไป
การอ่านหนังสือธรรมะหรือฟังเทปของท่านอาจารย์ จะส่งเสริมหล่อหลอมให้เกิดสัมมาทิฏฐิไหม
แน่นอนจะมีค่ะ ถ้าในขณะที่เราฟังธรรมะหรือฟังเทป แล้วก็เอาใจนี่ให้มันซาบซึ้งใคร่ครวญไปกับถ้อยคำ จนกระทั่งเห็นชัดก็ย่อมจะเกิดสัมมาทิฏฐิ คือเกิดความเข้าใจเสียก่อนว่าสัมมาทิฏฐิคืออะไร แล้วก็เห็นว่าเป็นทิฏฐิที่จำเป็นแก่ชีวิต เป็นเสมือนแสงสว่างที่จะนำชีวิตไปสู่ความถูกต้อง ก็จะช่วยทำให้มีกำลังใจที่จะหล่อหลอมให้มีสัมมาทิฏฐิมากขึ้น วิธีใดอีก วิธีที่เรามาศึกษามาฝึกปฏิบัติ อย่างที่เราทำอยู่นี่นะคะ เป็นวิธีที่จะส่งเสริมให้จิตมีสัมมาทิฏฐิยิ่งขึ้น
อิทัปปัจจยตาเป็นเรื่องเดียวกับทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วที่คนไทยพูดถึงกรรมเก่าหรือกงกรรมกงเกวียนได้หรือไม่
ถ้าจะเปรียบอย่างนั้นก็ได้เหมือนกัน เพราะอิทัปปัจจยตาก็คือว่า ประกอบเหตุอย่างใดผลอย่างนั้น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วมันก็แสดงถึงเหตุถึงผล แต่ที่นี้มันจะมีจุดของความเข้าใจผิดอยู่นิดนึง คือคนทั่วไปนี่พอทำดีและก็ถ้าได้ดี ก็ต้องหวังว่าต้องมีอะไรมาเป็นการตอบแทน อาจจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง ข้าวของ เป็นวัตถุนะคะ หรือมิฉะนั้นก็เป็นนามธรรมเช่นเป็นตำแหน่งการงานเป็นชื่อเสียงเกียรติยศความมีหน้ามีตาอะไรทำนองอย่างนี่ คิดว่าจะต้องได้อะไรเป็นการตอบแทน ก็เลยบอกพอไม่ได้ก็เลยบอกว่าทำดีไม่เห็นได้ดีเลย ไม่ต้องทำดีกว่า และบางทีก็พาลไปถึงกับว่าทำชั่วมันเสียเลยดีกว่าทำดีเท่าไหร่ก็ไม่ได้ดี นี่เพราะเข้าใจผิด ในทางพระพุทธศาสนาท่านบอกว่า พอลงมือทำดีเท่านั้นดีแล้ว ได้ดีแล้ว คือพอเราทำดีนี่นะ ทำดีโดยไม่มีความหวัง ไม่ได้ตั้งความหวัง ไม่ใช่ทำความดีเพราะว่าตัณหาผลักดันให้ทำ เพื่อหวังจะได้อย่างนั้นอย่างนี้ หรือเพื่อหวังให้คนเขาเห็นให้เขาชม ถ้าไม่ใช่เพราะอย่างนั้น พอลงมือทำนี่มันดีแล้ว มันดีตรงไหน ดีที่มีความชื่นใจพอใจในตัวเอง มันแน่ใจว่ากำลังทำสิ่งที่ถูกต้องที่เป็นประโยชน์นี่คือดีแล้ว และก็ชุ่มชื่นเบิกบานใจได้แล้ว แต่ที่นี่เพราะหวังจึงทำให้พูดว่าทำดีแล้วไม่ได้ดีขอให้เข้าใจให้ถูกต้องนะคะ หรือทำชั่วก็ชั่วแล้ว ในขณะคนทำชั่วนี่ถ้าไม่ใจคอหินชาติจนเหลือเกินนี่ มันจะมีจิตสำนึกอยู่ในใจใช่ไหมคะ รู้ทำผิดทั้งรู้ เหมือนอย่างทุจริตในการสอบนี่ รู้ว่ามันไม่ดีไม่ถูกต้องน่าอายแต่มันอยากได้ มันอยากสอบได้ ก็ทำลงไป ทำแล้วใจนี่ก็ไม่สบายเลย และก็หวั่นไหวและก็มานึกทีไรก็อาย นั่นแหละทำชั่วได้ชั่วแล้ว แม้ว่าจะถูกจับไม่ได้ อาจารย์จับไม่ได้ แล้วก็เผอิญก็สอบผ่านไปจนได้ปริญญา ไม่มีใครจับได้ไม่มีใครรู้ แต่ใจนี่มันก็อายใจเอง ใจนี่มันก็รู้สึกไม่สบายเลย นั่นคือชั่วแล้ว คือหมายความว่าได้ผลได้รับผลขอการทำชั่วแล้ว จะมีใครเห็นหรือไม่มีใครเห็นก็ตาม ฉะนั้นในทางพุทธศาสนา อิทัปปัจจยตาจึงหมายถึง ทำสิ่งใดได้สิ่งนั้น เกิดเหตุประกอบเหตุอย่างใดผลอย่างนั้น ประกอบเหตุอย่างใดผลอย่างนั้น ประกอบเหตุถูกต้อง ผลถูกต้อง ประกอบเหตุไม่ถูกต้องผลไม่ถูกต้อง และคนอื่นไม่ต้องบอกตัวคนทำเองรู้เอง ฉะนั้นที่พูดว่ากรรมเก่ากรรมใหม่กงกรรมกงเกวียนอะไรเหล่านี้ มันก็อยู่กับเรื่องการประกอบการกระทำถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง
เรื่องบาปเรื่องบุญตามความเชื่อของคนไทย เป็นความเชื่อที่ถูกต้องหรือไม่
เรื่องบาปเรื่องบุญก็เป็นสิ่งที่เราพูดถึงกันมานาน แล้วก็ยังเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อยู่ ที่จะพูดถึงนะคะ แต่ขอให้เข้าใจให้ถูกต้องว่า บุญคืออะไร บาปคืออะไร ในความหมายที่อยากจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ เราไปทำบุญทำไม เวลาเราอยากทำบุญนี่ทำทำไม ทำเพื่อให้ใจสบาย ทำแล้วเรารู้สึกสบายใจใช่ไหมคะ ทีนี้ถ้าเราไม่อยากทำบาปเพราะเราไม่อยากไม่สบายใจใช่ไหมคะ ฉะนั้นเราก็ใช้อันนี้เป็นเกณฑ์วัด ก็บุญคืออะไร บุญก็คือสิ่งที่ทำแล้วสบายใจ ทำแล้วเป็นสุข เย็นใจก็พอใจว่าได้ทำสิ่งที่ถูกต้องที่เป็นประโยชน์ นี่คือบุญในทางพุทธศาสนา ฉะนั้นบาปก็คือสิ่งที่ตรงกันข้ามทำแล้วใจมันไม่สบายมันมาต้องสำนึกบาปมันมาต้องคิดอยู่เรื่อย คอยระมัดระวังเดี๋ยวคนอื่นจะรู้เดี๋ยวคนอื่นจะจับได้ เพราะฉะนั้นบุญบาปก็ยังเป็นสิ่งที่น่าพูดถึงอยู่ เพื่อเป็นเครื่องสะกิดใจให้ใจคนเรารู้จักสังวรหลีกเลี่ยงการทำบาปและก็ทำบุญให้มากขึ้น ก็คือทำความถูกต้องให้มากขึ้น เพื่อความมีจิตใจที่สบายแก่ตนเอง อย่างนี้เรียกว่าเป็นการรู้จักบุญบาปอย่างถูกต้องในศาสนาในพุทธศาสนา
นี่ขอให้อธิบายแม่น้ำคดน้ำไม่คดซึ่งเผอิญเราไม่มีภาพอยู่ในนี้นะคะ แต่มีที่มโหรสพทางวิญญาณ ก็อธิบายด้วยคำพูดก็พูดได้ว่า น้ำไม่คดแม่น้ำคดน้ำไม่คดก็หมายความว่า อย่างเราดูแม่น้ำลำธารต่างๆนี่ บางสายมันก็ตรงไปและก็บางตอนมันก็จะเคี้ยวคดมันก็จะเลี้ยวไปเลี้ยวมาใช่ไหมคะ ตามแต่สภาพภูมิประเทศสองข้างทางของแม่น้ำลำคลองนั้นจะเป็นอย่างไร คือมันจะเป็นทางน้ำสายตรงหรือเป็นทางน้ำที่มีอะไรมากีดกั้น ที่นี้ถ้าจะถามว่า ถ้าเราจะพูดว่าความคดที่เรามองเห็นนี่มันคดเพราะน้ำหรือมันคดเพราะทาง คะ คดเพราะน้ำหรือคดเพราะทาง คดเพราะทาง ถ้าสมมติว่าคนขุดทางในครั้งแรกไม่ได้ขุดให้มันเป็นทางตรง มีอะไรมีต้นไม้ขวางอยู่มีหินขวางอยู่มีก้อนดินใหญ่เป็นเนินเขาขวางอยู่ เขาก็หลีกเลี่ยงมันไปมันก็คดมากนี่คือทางที่คนทำคด แต่น้ำนั้นไม่คดเราเอาน้ำใส่แก้วก็มองดูเหมือนกับน้ำกลม แก้วกลมก็เหมือนกับน้ำกลม เทน้ำลงไปในแก้วสี่เหลี่ยมก็เหมือนกับน้ำสี่เหลี่ยม เพราะฉะนั้นน้ำนี่ไม่มีวันคด นั่นคือน้ำก็หมายถึงจิต จิตไม่คดคือจิตที่มันซัดส่าย จิตที่มันยุ่งเหยิงกับความคิดอารมณ์ความรู้สึก หรือจิตที่มันหดหู่เหี่ยวแห้ง หรือจิตที่ตื่นเต้นลิงโลดยินดี นี่ไม่ใช่ธรรมชาติแท้ของจิต จิตแท้ๆนั่นมันเฉยๆ มันราบเรียบ มันบริสุทธิ์อยู่ในระดับหนึ่ง ถ้ารู้จักพัฒนาจิตนี้ก็จะใช้ประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น คือเป็นจิตที่มีพลังพร้อมด้วยสติสมาธิปัญญา แต่ถ้าไม่รู้จักพัฒนา ปล่อยให้มันหลง ไหลเลื่อน ลงไป ไปตกอยู่ในน้ำไปตกอยู่โคลน นั่นก็อุปมาเหมือนกับว่า มัวแต่คลุกเคล้าอยู่กับความคิดที่ฟุ้งซ่าน ความคิดที่เลื่อนลอยเพ้อเจ้อไม่มีแก่นสารสาระ หรือไปผูกพันอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกที่ขึ้นๆลงๆ เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว จิตนั้นก็เป็นอันไม่ปกติ ทั้งๆที่แต่เดิมมันเป็นปกติ แต่สิ่งที่เราเอาเข้ามาปรุงแต่ง เอาเข้ามาเกี่ยวข้องกับจิต มันทำให้จิตนั้นกลายเป็นจิตที่ซัดส่าย กลายเป็นจิตที่ไม่บริสุทธิ์ นี่ก็เท่ากับเป็นการแนะนำบอกให้รู้ว่าจิตนี้มันพัฒนาได้ เพราะแต่เดิมนั้นมันบริสุทธิ์อยู่แล้ว แต่ความบริสุทธิ์นั้นยังไม่ถึงที่สุด ขึ้นอยู่กับว่าจะจัดมันไปในทางใด
ชอบเปรียบเหมือนกับโคตรเพชร นี่ตามความรู้สึกส่วนตัวนะคะ เหมือนกับเราที่เขาได้โคตรเพชรมาก้อนหนึ่ง รู้จักโคตรเพชรใช่ไหมฮะ ที่เป็นเพชรครั้งแรกที่หยิบเอามา เพชรเราก็ถือว่ามีราคา และก็มันควรจะมีความแวววาวในตัวมัน มันก็มีอยู่ระดับหนึ่ง แต่ถ้าหากว่าก้อนเพชรก้อนนั้นนั่นน่ะ เราปล่อยให้มันตกลงไปในโคลน ในน้ำครำ แน่นอนมันก็สกปรกดำไม่มีแววไม่มีเหลี่ยม แต่ถ้าหากว่าก็เปรียบเหมือนกับจิตที่เราปล่อยให้มันไหลตามอำนาจของตัณหา ตามอำนาจของกิเลส มันก็ดำสกปรกมัวหมองอย่างนั้นน่ะ แต่ถ้ามีใครเอาเพชรก้อนนั่นน่ะไปให้นายช่างเจียระไน ที่เขามีฝีมือในการเจียระไนเพชร เขาก็จะทำมงกุฎเพชร สร้อยเพชร แหวนเพชร อะไรเพชรได้ตั้งเยอะแยะ แล้วเสร็จแล้วเพชรนั้นก็จะมีเหลี่ยมมีแวว วาวแววได้คมของการเจียระไนที่งดงาม ก็เป็นของมีค่าขึ้นมา ก็เหมือนกับจิตที่เรามาฝึกฝนอบรมพัฒนามัน มันก็จะกลายเป็นจิตที่นิ่งสงบเชื่องเยือกเย็นผ่องใส มีอยู่มีพลังพร้อมด้วยสติสมาธิปัญญา นี่คือน้ำที่เขาเปรียบเหมือนกับจิตนี่ มันไม่คดมันไม่ฟุ้งซ่านมันไม่สกปรกมันไม่ขุ่นมัว แต่คนเราไม่รู้จักพัฒนา ก็เลยปล่อยให้มันเป็นไปตามอำนาจของกิเลส บัดนี้เรากำลังเรียนรู้ที่จะพัฒนามันเพื่อที่จะให้มันกลายเป็นเพชรที่สวยงามแวววาวและก็มีค่า คุ้มแก่ค่าเดิมของมัน
อยากทราบว่าความเข้าใจดังต่อไปนี้ถูกหรือไม่ คนเรามักเข้าใจว่าความอิสระคือการที่ทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ ซึ่งอาจจะตระหนักด้วยว่าภายในขอบเขตของสังคมไม่ทำให้ใครเดือดร้อน แต่อิสรภาพที่แท้จริงนั้นคือจิตที่ไม่ยึดมั่นอยู่กับสิ่งใด หรือไม่ได้ถูกพันธนาการอยู่กับสิ่งใด นั่นคือการละความเป็นตัวตนถูกไหม
ก็ถูกใช่คะ นี่คือความเป็นอิสระที่แท้จริง ความเป็นอิสระอย่างความเข้าใจกันอย่างคนโลกๆ ก็คือคนไม่เป็นหนี้เป็นสินเขาก็เรียกว่าเป็นอิสระ หรือไม่ต้องถูกคุมขังจองจำเพราะอาจจะไปทำผิดก็ถือว่าเป็นอิสระ หรือไม่มีใครเป็นเจ้าข้าวเจ้าของตัวเอง อย่างเช่นไม่ใช่มีชีวิตคู่ ไม่มีสามีขี้หึงหรือไม่มีภรรยาขี้หวง อันนี้ก็มีอิสระแก่ตัวเอง แต่ความเป็นอิสระอย่างนี้ยังไม่แท้จริง ถ้าภายในนั้นยังเต็มไปด้วยความขุ่นข้องหมองใจอยู่กับความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นอัตตาของตัว ไม่ยอมที่จะลบเหลี่ยมความเป็นอัตตาของตัว จะต้องเอาอะไรทำอะไรให้ได้อย่างใจฉัน ความเป็นอิสระนั่นก็ยังไม่แท้จริง แม้ว่าจะไม่ได้ละเมิดกฎของสังคมนะคะ ฉะนั้นความเป็นอิสระที่แท้จริงอย่างที่ถามมา ก็คือการสามารถลดละความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน จนกระทั่งเปลี่ยนมาเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎอิทัปปัจจยตา นี่ก็เป็นความอิสระที่แท้จริง และจิตอย่างนี้แม้เผอิญจะไปถูกร่างกายนี่จะถูกคุมขังอยู่ที่ใดแต่ข้างในจะรู้สึกเป็นอิสระอยู่เสมอ ขังก็ขังได้แต่กายแต่ใจนี่ยังอยู่กับความถูกต้อง ยังพร้อมที่จะกระทำสิ่งที่ถูกต้องในวิสัยที่สามารถจะทำได้เสมอ
ถ้าเผื่อว่าเราไปไหนกับใคร พอหารเงินค่ารถกันแล้วเขาก็เอาเปรียบเราโดยให้เราจ่ายมากกว่า เราจะทำยังไง ถ้าจะจ่ายเงินไปโดยไม่คิดอะไรคงทำไม่ได้เพราะเงินที่ใช้ไปนั่นเป็นเงินของพ่อแม่ ซึ่งคงจะรู้สึกเสียใจเสียดายที่เอาเงินของพ่อแม่มาใช้โดยเปล่าประโยชน์เช่นนี้
พูดง่ายๆก็คือว่าถ้าถูกเพื่อนเอาเปรียบในกรณีอย่างนี้นี่ควรจะทำอย่างไร ถ้าจริงๆแล้วนะคะก็ควรจะมีการตกลงกันเสียก่อนตอนต้น ก่อนที่เราจะมาด้วยกันว่าการเดินทางครั้งนี้เราจะมีวิธีจัดเรื่องค่าใช้จ่ายอย่างไร และก็มีผู้ที่เป็นคนกลางคนหนึ่งที่ต้องทำหน้าที่ ถ้าหากว่าผู้ที่ทำหน้าที่นี้เขาได้ทำหน้าที่อย่างถูกต้องแล้ว เขาก็จะต้องบอกเองว่านี่ของใครเท่าไหร่ๆ เพราะฉะนั้นถ้าของใครขาดของใครเกินคนกลางก็จะต้องจัด ถ้าเผอิญไปกันสองคนอยู่กันสองคนนี่ ก็ต้องตกลงกันอีกเหมือนกันถ้าเราแน่ใจว่าเพื่อนที่ไปด้วยนี่ เป็นเพื่อนที่ถ้าไม่พูดกันตรงไปตรงมาแล้วล่ะก็ เขาจะพยายามลืมๆเสีย แล้วก็อาจจะออกอะไรน้อยๆ อย่างนี้ในกรณีเช่นนี้ก็เกรงใจกันไม่ถูกต้อง ก็พูดกันไปอย่างตรงไปตรงมา ถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมาแล้วก็เข้าใจว่าปัญหาจะหมด ปัญหามันเกิดก็เพราะเราเกรงใจเราไม่กล้าพูด พูดไปก็เกรงใจเพื่อน ให้ก็ไม่อยากให้เพราะเห็นว่าไม่ถูกต้อง ฉะนั้นถ้าเราอยู่บนความถูกต้องก็พูดกันตรงไปตรงมา อยากจะแนะนำอย่างนี้นะคะ และก็ถ้ารู้สึกว่าพูดตรงไปตรงมาอาจจะแรงไป เราก็ต้องมีเรื่องที่มีอุทาหรณ์อย่างนี้เอาไว้ในใจ ตอนนี้นึกไม่ออกนะ ยังไม่มีนิทานเรื่องนี้อยู่ในใจ แต่ใครมีก็ลองนึกนึกถึงอุทาหรณ์อย่างนี้นี่ และก็เล่าให้เพื่อนฟัง เพื่อนจะได้รู้สึกว่าการทำอย่างนี้นะผลมันจะเป็นอย่างนั้น มันสะท้อนถึงตัวเองโดยไม่รู้ตัว
นิทานเรื่องเพื่อนสองคนกับหมีที่คนแรกหนีขึ้นต้นไม้ อีกคนตามขึ้นไปไม่ทันจึงแกล้งตายเพื่อหลอกหมี ถามว่าเพื่อนคนแรกเห็นแก่ตัวหรือไม่
ก็เรียกว่าทำไปตามสัญชาตญาณนะคะ ถ้าจะพูดไปก็จะบอกว่าเห็นแก่ตัวก็คงไม่ทันนึก เพราะว่าสติมันก็มาไม่ทัน เพราะฉะนั้นก็ตามสัญชาตญาณเมื่อเกิดความกลัวก็ต้องเอาตัวรอด มีทางใดที่จะทำได้ก็ทำก็ปีนขึ้นต้นไม้ คงไม่ทันนึก ถ้าพอขึ้นไปบนต้นไม้แล้วเห็นเพื่อนที่กำลังถูกได้รับอันตรายนี่ แล้วก็ไม่คิดหาหนทางช่วยหรือมันช่วยไม่ได้อย่างน้อยก็ร้องตะโกน อย่างน้อยก็หากิ่งไม้มาทำให้หมีตกใจหรือทำอะไร แต่ถ้าไม่ทำมันเลยไม่ทำอะไรเลยนั่งหลับตาดูเพื่อนถูกหมีกัดตายไปอย่างเดียว อย่างนั้นก็เรียกว่ากลัวมากไปจนลืมเพื่อน แต่ที่ชนิดขึ้นไปทีแรกนี่นะคะ คิดว่าไม่ได้ตั้งใจจะเห็นแก่ตัวทำไปตามสัญชาตญาณมากกว่า แต่เพื่อนคนหลังก็เรียกว่าฉลาดรู้จักแกล้งตาย เผอิญหมีโง่มันเลยไม่มาดมว่าตายจริงหรือเปล่า
ภาษิตที่ว่ารู้อะไรไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี อันนี้ภาษิตสุนทรภู่ใช่ไหม หมายความว่าอะไร
นี่แกคงจะพูดให้คล้องจองกันมากกว่านะคะ แต่ถ้าเราจะแปลมาเป็นทางธรรมเราจะต้องเปลี่ยนว่า รู้อะไรไม่สู้รู้วิชชา ต้องเติม “ช”เข้าไปอีกตัว “ช”สองตัว รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี แล้ววิชชาคือปัญญาภายในนี่จะช่วยให้สามารถเอาตัวรอดคือรอดทั้งทางกายทางจิตแล้วก็ทางสติปัญญา นั่นก็คือสามารถกระทำสิ่งที่ถูกต้อง แล้วผลก็ถูกต้องแล้วจิตก็สบาย ถ้าเราจะแปลให้เป็นทางธรรมเราแปลได้อย่างนี้ แต่ถ้าแปลเป็นทางโลกก็เหมือนกับว่าส่งเสริมให้เห็นแก่ตัวเสียหน่อยนึง นี่ก็แล้วแต่จะเลือกแปลทางไหนนะคะ
คำถามต่อไป ที่ได้ยินพูดว่าควรรักษาจิตให้เป็นปกติไม่สุขไม่ทุกข์นั้น ทำให้รู้สึกว่าเราคงไม่ควรเฮฮาสนุกสนานร้องรำทำเพลงในหมู่เพื่อนฝูงอย่างที่เคยมาแล้วหรือ หรือเป็นไปได้ไหมว่า เราจะสนุกสนานเฮฮากับชีวิตโลกๆ โดยที่พร้อมกันนั้น เราก็ตระหนักไว้ว่าสุขไม่เที่ยง มีโอกาสสนุกก็สนุกแต่ไม่ยึด
ถ้าหากว่าเราพร้อมอยู่ด้วยสติสมาธิปัญญานะคะ กลับไปนี่อยากจะร้องเพลงก็ร้อง อยากจะเต้นรำก็เต้น อยากจะไปเที่ยวดูหนังดูละครฟังดนตรีก็ไป แต่ในใจของเรานี่เรายังมีสติอยู่เสมอว่า มองเห็นสิ่งเหล่านี้เป็นเช่นนั้นเอง ไม่ได้ห้ามนะคะ ยังคงสนุกได้ยังคงหัวเราะได้ แต่ให้มีสติมากขึ้น
เคยทราบมาว่าภาวะจิตใต้สำนึกมีพลังมากเช่น เกิดไฟไหม้ควบคุมสติไม่อยู่ก็สามารถยกของหนักได้ การฝึกสติมีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำพลังจากภาวะจิตใต้สำนึกมาใช้หรือไม่
การฝึกสมาธิจะทำให้สามารถมีพลังที่ถูกต้อง และพลังนี่จะเป็นพลังที่แจ่มใส เป็นพลังที่สามารถนำมาใช้ที่เกิดประโยชน์อย่างถูกต้อง แล้วก็จะไม่ไปใช้พลังยกโอ่งยกตุ่มโดยไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย พอเสร็จแล้วก็พอรู้สึกตัวเข้าก็ยกไม่ไหว แล้วตุ่มนั่นก็ตกลงถูกเท้าแตกไปเลย เพราะฉะนั้นอันนั้นนั่นคือการมีพลังที่ไม่ได้ใช้สติ พลังของความกลัว พลังของความตกใจ ไม่ใช่พลังที่อยู่บนพื้นฐานของสติสมาธิและปัญญา เรามาฝึกก็เพื่อว่าจะไม่ให้เราทำอย่างนั้น แต่จะใช้มันให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
ทิ้งอัตตามีส่วนช่วยส่งเสริมปัญญาคือเมื่อเราไม่มีอัตตาเมื่อเกิดปัญหา ก็ไม่ทำให้เกิดอารมณ์คล้อยตามอัตตาของเรา ทำให้สามารถใช้ปัญญาแก้ปัญหาได้เต็มที่ สามารถมองในมุมที่สูงขึ้น มุมที่ไม่มีตัวเราเข้าไปเกี่ยวข้อง เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องหรือไม่
ใช่คะถูกต้องแล้ว พอตัวเราไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง เราก็สามารถที่จะทำอะไรที่มันถูกต้องได้เต็มที่เพราะมันไม่มีส่วนได้ส่วนเสียของตัวเราอยู่ในนั้น เมื่อไม่มีส่วนได้ส่วนเสียของตัวเราก็ไม่ต้องมีอคติเพราะพวกเราเพื่อนเราหรือว่าน้องเรา อันนี้เข้าใจถูกต้องแล้ว
อยากทราบนิยามของคำว่าวิญญาณ วิญญาณมีอยู่แล้วแต่ต้องรอการพบกันของอายตนะภายในกับอายตนะภายนอก หรืออายตนะภายในพบกับอายตนะภายนอกแล้วจึงเกิดเป็นวิญญาณขึ้น
ไม่ใช่คะ วิญญาณมันก็มีของมัน คำอธิบายอันนี้อธิบายถึงผัสสะ ที่บอกว่าผัสสะเกิดขึ้นได้อย่างไรที่ในชาร์ตนั่นนะ ผัสสะเกิดขึ้นได้อย่างไร ผัสสะจะเกิดขึ้นได้ผัสสะคือสิ่งกระทบ ที่กระทบเข้ามาแล้วใจเห็นเช่นนั้นเองไม่ทันก็จะเกิดเวทนา คือจะรู้สึกชอบไม่ชอบ พอใจไม่พอใจ ผัสสะจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อ หนึ่งอายตนะภายในกระทบกับรูปของมันคือกระทบกับคู่ของมันคืออายตนะภายนอกเช่น ตากระทบกับรูป ตานี่มองไปเห็นรูปจะเป็นต้นไม้วัตถุหรือว่าสิ่งมีชีวิตเช่นผู้คนสัตว์ก็ตาม ตาเห็นรูปพอเห็นรูปนี่มันเฉยๆมันยังไม่ทันรู้สึกอะไร ที่นี้วิญญาณคือขอโทษนะที่พอเห็นทีแรกนี่นะ ถ้าหากว่าอายตนะภายในกระทบกับอายตนะภายนอก มันรู้แต่เพียงว่าเห็นอะไร หรือได้ยินอะไร เช่นหูได้ยินเสียงแต่ถ้าวิญญาณยังไม่ทำหน้าที่ คือวิญญาณนี่ยังไม่เข้ามาบวกมาผนวกทำหน้าที่ร่วม วิญญาณในที่นั้นหมายถึงวิญญาณของอายตนะภายใน เหมือนอย่างเช่นตาเห็นรูปก็จักษุวิญญาณ ซึ่งเป็นวิญญาณคือการตามรับรู้ของตา วิญญาณของตานี่ทำหน้าที่ พอสามอย่างนี่ทำหน้าที่พร้อมกันเข้าก็จะรู้ว่า อ้อนั่นเสา นี้ต้นไม้ นี้ขัน นั่นคน และก็จะรู้ว่าคนรู้จักไม่รู้จักนี่เป็นผัสสะ ผัสสะจะเกิดขึ้น…