แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ทีนี้การศึกษาอริยสัจจ์สี่จะต้องศึกษาที่ไหน ถ้ามีคำถามนี้ตอบได้ไหมคะ ศึกษาที่ไหน จะผ่านหรือไม่ผ่านนี่ จะ F หรือจะ G การศึกษาอริยสัจจ์สี่ศึกษาที่ไหน คะ ที่ไหน ชักไม่แน่ใจ ที่นี่ๆๆ อย่าลืมนะ ที่ตัวนี้ที่เรียกว่าชีวิต ที่เรียกว่าเบญจขันธ์นี้ ไม่ใช่ไปศึกษาที่อื่น คนที่ชอบไปศึกษาคนนั้นคนนี้ ศึกษาคนอื่น ศึกษานายบ้าง ศึกษาลูกน้องบ้าง ศึกษาพ่อศึกษาแม่ ปู่ย่าตายาย ศึกษาคนในสังคม ศึกษาไปเถิดตายเปล่า ตายกับความร้อนตายกับความทุกข์
ที่ต้องศึกษาคือศึกษาที่นี่เพราะนี่คือต้นเหตุของความทุกข์คือความยึดมั่นถือมั่นที่เรายึดที่นี่ ที่ตัวนี้ ที่เบญจขันธ์นี้ ที่บอกแล้วว่ามันเป็นเพียงเบญจขันธ์แต่ไม่ยอมศึกษากัน ยึดมั่นถือมั่นเป็นจริงเป็นจัง เพราะฉะนั้นการศึกษาอริยสัจจ์สี่ต้องศึกษาที่ตัวของเราเอง ศึกษาให้เห็นว่าที่ยึดมั่นว่าเป็นฉัน เป็นเราทุกวันนี้จริงหรือเปล่า เป็นจริงหรือเปล่า มันมีจริงหรือเปล่า ศึกษาไป ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่ามันเป็นอนัตตา เป็นจริงหรือเปล่า อย่าไปเชื่อท่าน ท่านไม่ได้ขอร้องให้เชื่อ แต่ท่านบอกมันเป็นอย่างนี้ๆ ตามที่ท่านได้ทรงปฏิบัติแล้วก็ทรงประสบผลด้วยตนเอง แต่ท่านไม่ได้ขอให้เชื่อ แต่ท่านบอกว่าเป็นอย่างนี้ แล้วท่านก็แนะนำว่า อยากรู้ว่าจริงหรือไม่จริงก็ลองทำดูสิ ปฏิบัติดูจนกระทั่งมองเห็นว่า เบญจขันธ์นี้สักแต่ว่าเบญจขันธ์ มันเป็นอนัตตา มันหาใช่สิ่งที่มีจริงไม่ พอเห็นเบญจขันธ์สักแต่ว่าเบญจขันธ์เท่านั้น ของฉันทั้งหลายกี่ร้อยกี่พันกี่หมื่นละลายไปหมดเลย ละลายหายหมดเลย เพราะพอตัวฉันหมดก็ไม่มีของฉัน มีแต่เพียงสิ่งสักว่า สิ่งสักว่าตามธรรมชาติ เกิดดับๆๆ เท่านั้นเอง หาใช่ตัวใช่ตนไม่
ฉะนั้นถ้าหากว่าจะศึกษาอริยสัจจ์สี่ให้เข้าใจจริง ให้กระจ่างชัดจนเกิดสัมมาญานะแล้วก็เกิดสัมมาวิมุตติจะต้องศึกษาที่เบญจขันธ์นี้ คือที่ชีวิตนี้ ที่ร่างกายนี้ ซึ่งผู้ใดศึกษาอริยสัจจ์สี่จนประจักษ์ชัด ผู้นั้นย่อมมีที่พึ่งอันแท้จริง เพราะธรรมที่จะเป็นที่พึ่งอันถาวรจะบังเกิดขึ้นภายในด้วยการที่เราศึกษาประจักษ์จนกระทั่งเกิดหนทาง ฉะนั้นการฝึกอานาปานสติทั้ง 4 หมวด เป็นหนทางที่เรากำลังเดินเข้าไปอันประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ เราเริ่มด้วยสัมมาทิฏฐิ แล้วก็เห็นว่านี่เป็นหนทางที่เป็นไปได้ แล้วก็สัมมาสังกัปปะคือตั้งใจที่จะทำให้เกิดให้จงได้ แล้วก็ลงมือปฏิบัติพร้อมกันไปทั้งหมดจนกระทั่งเกิดสัมมาญานะ ฉะนั้น ถ้าหากว่าได้ศึกษาและทดลองปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติก็จะยิ่งเห็นชัดยิ่งขึ้นๆ ว่าการดับทุกข์นั้นจะต้องดับที่ต้นเหตุหรือที่รากเหง้าของมัน ไม่ใช่ไปดับที่อื่น ดับอยากชนิดถอนรากถอนโคนอย่างไม่กลัวว่ามันจะชอกช้ำ มันไม่มีชอกช้ำ มันจะมีสิ่งที่ตอบแทนมาก็คือความสะอาดหมดจด ความเกลี้ยงเกลาบริสุทธิ์เยือกเย็นผ่องใสที่ตามมา นี่ก็คือเรื่องของอริยสัจจ์สี่ ความจริงอันประเสริฐที่จะช่วยให้มนุษย์สามารถอยู่ได้อย่างปราศจากข้าศึกนะคะ ทีนี้เมื่อพูดถึงเรื่องของอริยมรรคแล้วนี่ บางท่านก็อาจจะฟังเข้าใจตามสติปัญญาตาม Intelligent แต่ทว่าอาจจะยังไม่เห็นชัดว่าการที่เราจะปฏิบัติตามอริยมรรคนั้นจะทำอย่างไร
ฉะนั้นในคืนของการตรัสรู้ พระองค์ตรัสรู้ในเรื่องอริยสัจจ์สี่แต่หนทางของการปฏิบัติตามอริยมรรคทั้ง 8 ประการจนกระทั่งถึง สัมมาญานะ สัมมาวิมุตตินั้น พระองค์ได้ทรงใคร่ครวญให้ลึกซึ้ง ให้กระจ่าง ให้มันยิ่งขึ้น ให้มองเห็นหนทางของการปฏิบัติเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ฉะนั้นแม้จะพูดว่าพระองค์ตรัสรู้ด้วยเรื่องของอริยสัจจ์สี่ แต่ที่ชัดยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีกก็คือ พระองค์ตรัสรู้ด้วยพระธรรมที่เรียกว่าหรือชื่อว่าปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาทก็แปลว่าสิ่งซึ่งอาศัยกันแล้วเกิดขึ้น สิ่งซึ่งอาศัยกันแล้วเกิดขึ้น นี่แปลง่ายๆ นะคะเพื่อให้เกิดความเข้าใจ พระองค์ทรงศึกษาใคร่ครวญถึงสิ่งที่อาศัยกันแล้วเกิดขึ้นโดยมีสมมติฐานว่า สิ่งที่เรียกว่าความทุกข์คืออะไร อะไรอาศัยอะไรแล้วความทุกข์เกิด พูดง่ายๆ อะไรอาศัยอะไรแล้วความทุกข์เกิด แล้วถ้าทุกข์นี้จะดับ อะไรอาศัยอะไรแล้วความทุกข์ดับ พระองค์ก็ทรงใคร่ครวญ คิดค้นหลายประการ ซึ่งตลอดหกพรรษานั้น พระองค์ก็ได้ทรงคิดค้นหลายวิธี แล้วก็เชื่อว่าการใคร่ครวญธรรมของพระองค์นั้นชัดเจนขึ้นๆๆ แต่คงต้องการทรงสรุปครั้งสุดท้ายเพื่อให้ประจักษ์แจ้ง กระจ่างอย่างรอบหมดเลย มองไปทางไหน สะอาดสว่างรอบ เบื้องบนก็สะอาด เบื้องล่างก็สะอาด เบื้องรอบตัวทั้งหมดสะอาดกระจ่างแจ้งด้วยความรู้ที่กระจ่างชัด ฉะนั้นพระองค์จึงศึกษาใคร่ครวญในธรรมที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ซึ่งก็คงอยู่ในเรื่องของความทุกข์ ไม่ใช่เรื่องอื่น ว่าอะไรอาศัยอะไรแล้วความทุกข์เกิดขึ้น คือทำให้ความทุกข์เกิดขึ้น อะไรอาศัยอะไรแล้วทำให้ความทุกข์ดับลง พระองค์ทรงศึกษาใคร่ครวญอยู่แต่ในจุดนี้แต่จุดเดียว ฉะนั้นปฏิจจสมุปบาทจึงจัดว่าเป็นหัวใจ หัวใจชั้นยอดของพุทธศาสนาในเรื่องของความทุกข์และการดับทุกข์
จากในปฏิจจสมุปบาทจะบอกให้ผู้ที่ศึกษาได้เริ่มต้นรู้ว่า อะไรอาศัยอะไรแล้วความทุกข์เกิด เป็นไปตามลำดับเป็นวงรอบของสิ่งที่เรียกว่ากฎอิทัปปัจจยตาชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะมันไม่มีอะไรเกิดขึ้นลอยๆ มันมีสิ่งที่อาศัยกันและกันแล้วจึงเกิดความทุกข์ แล้วพอจะดับทุกข์ก็ต้องมีสิ่งที่อาศัยกันและกันแล้วก็ทำให้ความทุกข์นั้นดับไป แต่ถ้าหากว่าเรื่องของสิ่งที่อาศัยกันและกันแล้วเกิดขึ้นนี่เกี่ยวกับสิ่งทั้งหลายในจักรวาล ทั้งหมดในจักรวาลนี้เราก็จะใช้คำว่า อิทัปปัจจยตา เช่น ทำไมฝนจึงตก ทำไมแดดจึงออก ทำไมดอกไม้จึงเหี่ยว ทำไมอากาศจึงร้อน นี่มีเหตุปัจจัยทั้งนั้นใช่ไหมคะ ไม่ต้องอธิบาย มันมีเหตุปัจจัยทั้งนั้นอากาศจึงร้อน มันมีเหตุปัจจัยฝนจึงตก ฝนไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ ไม่ได้ตกมาลอยๆ อากาศร้อนก็ไม่ได้ร้อนขึ้นมาลอยๆ ความมืดก็ไม่ได้มืดขึ้นมาเฉยๆ มันมีเหตุปัจจัยซึ่งท่านที่ศึกษาภูมิศาสตร์วิทยาศาตร์ย่อมจะเข้าใจอันนี้ได้แล้ว เราก็ไม่ต้องพูดในสิ่งเหล่านั้นนะคะ
เช่นเดียวกันกับ ถ้าพูดง่ายๆ ทำไมความทุกข์จึงเกิด อะไรอาศัยอะไรแล้วความทุกข์เกิด เอาง่ายๆ ก็อย่างที่พูดแล้วว่าถ้าหากว่าเมื่อใดมีอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นขึ้นในใจก็ต้องทุกข์เพราะสิ่งที่ยึดมั่นนั้น ยึดมั่นในลูกก็ทุกข์เพราะลูก ยึดมั่นในเงินทองทรัพย์สินก็ทุกข์เพราะเงินทอง ยึดมั่นในฝีมือความสามารถก็ทุกข์เพราะฝีมือความสามารถ ยึดมั่นในความรู้ยึดมั่นในความดีก็ทุกข์เพราะมัน เพราะมันจะต้องเอาสิ่งนี้ออกไปทะเลาะวิวาท ขัดแย้ง โต้เถียงกับคนอื่น ยึดมั่นในอะไรทุกข์เพราะอันนั้น ยึดมั่นตัวตนนี้ก็ทุกข์เพราะตัวตนนี้ นี่คืออิทัปปัจจยตา แต่ทีนี้ท่านเรียกเสียใหม่ว่า เมื่อใดสิ่งที่อาศัยกันแล้วเกิดขึ้นนั้นมันเกี่ยวกับเรื่องของความทุกข์หรือเรื่องของความรู้สึกที่อยู่ภายในของมนุษย์ ท่านก็เรียกชื่อเสียใหม่ว่า ปฏิจจสมุปบาท ถ้านอกจากนี้แล้วท่านเรียกว่าอิทัปปัจจยตา
เพราะฉะนั้นปฏิจจสมุปบาทนี้ บางทีท่านก็เรียกชื่อเต็มยาวว่า “อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปปาโท” นั่นคือเอาชื่ออิทัปปัจจยตาขึ้นมาก่อน อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปปาโท นั่นก็คือมันยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอะไรอาศัยอะไร คือเมื่อมีสิ่งนี้สิ่งนี้ก็มี ไม่มีสิ่งนี้สิ่งนี้ก็ไม่มี มันยังอยู่ในกฎอันนี้ ท่านจึงเรียกว่าอิทัปปัจจยตา แต่เพราะเกี่ยวกับเรื่องของความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในชีวิตของมนุษย์คือรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ รู้สึกพอใจไม่พอใจ รู้สึกได้รู้สึกเสีย ท่านจึงเติมชื่อว่า ปฏิจจสมุปปาโท คืออาศัยกันแล้วก็เกิดขึ้นพร้อมกันจากสิ่งที่เป็นเหตุก็เป็นผล แล้วที่ผลก็กลับมาเป็นเหตุ แล้วเหตุนี้ก็ทำให้เป็นผล แล้วผลนี้ก็ทำให้เป็นเหตุ มันจึงเป็นวงล้ออย่างที่ท่านได้มองเห็นอยู่ในภาพนี้หรือภาพเขียนที่เป็นวงกลมแล้วก็บอกให้รู้ว่าอะไรอาศัยอะไรเกิดขึ้นตามลำดับ
แล้วเรื่องของปฏิจจสมุปบาทก็มักจะเป็นที่พูดกันว่าเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องยากที่จะนำมาพูดให้คนทั้งหลายฟัง แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ท่านที่อ่านพุทธประวัติก็คงได้พบแล้วว่า เมื่อตอนที่พระองค์ตรัสรู้ปฏิจจสมุปบาท พระองค์ทรงประจักษ์ในพระทัยว่านี่ใช่แน่แล้ว แต่พระองค์ก็ยังทรงรำพึงกับพระองค์เองว่าเห็นจะไม่สามารถนำเรื่องของปฏิจจสมุปบาทนี้ออกไปสอนหรือไปบอกแก่คนทั้งหลายได้ เพราะว่าต้องการจิตที่ละเอียดประณีต ละเอียดประณีตก็คือ สะอาด สงบ สว่างอยู่ด้วยปัญญา ที่พร้อมที่จะรับ เข้าใจในเรื่องของปฏิจจสมุปบาทได้ จนกระทั่งทรงคิดว่าไม่สอนแล้ว ทรงรู้แต่เฉพาะพระองค์เอง สอนคงจะไม่มีใครเข้าใจได้ เป็นธรรมะชั้นลึกเพราะมันเกี่ยวกับเรื่องของภายใน แล้วก็เกี่ยวกับสิ่งที่มนุษย์ยึดมั่นถือมั่นอย่างสูงสุดในชีวิตของเขาที่จะไม่ยอมปล่อยออกไปเลย แต่แล้วด้วยพระมหากรุณาต่อมนุษย์ทั้งหลายนั้นเอง พระองค์จึงทรงคิดว่าจะต้องลองดู เมื่อพระองค์ทรงใคร่ครวญดูทั่วไปแล้วว่า ใครนะที่จะสามารถมีสติปัญญาพอจะเข้าใจในเรื่องนี้ได้ ก็ทรงนึกถึงปัญจวัคคีย์ที่ได้เคยอยู่รับใช้แล้วก็อยู่ศึกษาธรรมกับพระองค์ แล้วก็พอถึงคราวที่พระองค์ทรงเปลี่ยนจากการทรมานพระวรกายจนกระทั่งซูบผอมเหลือแต่หนังหุ้มกระดูกอยู่ภายใน ปัญจวัคคีย์ทั้งห้านั้นก็เกิดความรู้สึกว่า นี่คงจะไม่จริงแล้ว เจ้าชายสิทธัตถะคงจะไม่เอาจริงถึงได้กลับมาเสวยพระกระยาหารใหม่ อย่างนี้เห็นจะไม่มีหนทางตรัสรู้ได้ แล้วปัญจวัคคีย์ก็เลยหนีไปอยู่เฉพาะกลุ่มของตนแล้วก็ปฏิบัติด้วยตนเอง
เมื่อพระองค์ตรัสรู้พระองค์ก็มีความรำลึกถึงห้าคนนี้ ก็นึกขึ้นว่าจะต้องเสด็จไปโปรดทั้งห้าคนนี้ เพราะเชื่อว่าเขาได้อบรมจิตของเขามาได้ในระดับหนึ่งแล้วคงจะพอสามารถฟังธรรมะในเรื่องของปฏิจจสมุปบาทนี้พอเข้าใจได้ ก็เสด็จไป พอเสด็จไปถึงก็คงจะจำได้ตามที่ได้อ่านมา บรรดาปัญจวัคคีย์ห้าคนต่างก็บอกกัน นั่นน่ะสมณโคดมมาแล้ว เราอย่าไปลุกต้อนรับ เราอย่าไปหาที่นั่งให้ เราทำเป็นไม่สนใจ คือคล้ายๆ จะมีความรู้สึกประมาทอยู่ในใจว่าไม่เอาจริง แต่ก็ด้วยพระพุทธบารมีนั่นแหละ พอเสด็จเข้าไปใกล้ ทั้งห้าคนที่บอกกันเมื่อกี้ว่าเราจะไม่ไปเกี่ยวข้อง ไม่หาที่นั่ง ไม่ต้อนรับ ก็กุลีกุจอหาที่นั่ง ทูลเชิญให้ประทับนั่งอะไรต่ออะไรต่างๆ แต่เมื่อพระองค์ทรงกล่าวว่าจะตรัสเรื่องของอริยสัจจ์สี่ เรื่องของปฏิจจสมุปบาทให้ฟัง ปัญจวัคคีย์ก็ไม่ยอมฟัง ไม่ฟัง ไม่เชื่อ ปฏิเสธ เพราะว่าไม่เชื่อว่าพระองค์จะตรัสรู้ จนกระทั่งพระองค์ทรงเอ่ยอ้างความสัตย์ของพระองค์ว่าให้ลองนึกดูนะว่าตั้งแต่เราได้เคยอยู่ด้วยกันมา มีครั้งใดไหมที่พระองค์ได้ตรัสว่า ตรัสรู้แล้ว เรารู้แล้ว เคยไหม พระองค์ไม่เคยทรงกล่าวเลยเพราะประจักษ์ว่าเมื่อยังไม่รู้ก็ไม่รู้ แต่ครั้งนี้แหละที่พระองค์เสด็จมาเพื่อจะบอกว่า เราตรัสรู้แล้ว แล้วก็นึกว่าปัญจวัคคีย์ทั้งห้าเป็นผู้มีสติปัญญาพอที่ฟังแล้วจะเข้าใจและก็จะบรรลุธรรมได้
นั่นแหละปัญจวัคคีย์ก็ระลึกขึ้นมาได้ว่าพระจริยาวัตรของเจ้าชายสิทธัตถะในสมัยที่กำลังทรงศึกษาธรรมนั้นทรงมั่นอยู่ในสัจจะของพระองค์เพียงใด แล้วก็จึงทำจิตให้เปิดพร้อม สะอาด เกลี้ยง ปราศจากอคติ คำว่า เกลี้ยง ก็ไม่มีตัณหาอุปาทาน ไม่มีอคติต่อพระองค์ที่จะฟัง แต่อวิชชาก็ต้องยังคงมีอยู่บ้างในระดับหนึ่งเพราะยังไม่ได้บรรลุถึงที่สุด แล้วก็เมื่อพระองค์ตรัสพระธรรมเทศนาให้ฟัง ปัญจวัคคีย์เหล่านั้นก็ค่อยๆ เข้าใจในพระธรรมเทศนาแห่งปฏิจจสมุปบาทแห่งอริยสัจจ์สี่ ปฏิจจสมุปบาทนี้ทีละน้อยๆๆ จนผลที่สุดก็บรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ทั้งห้าองค์ ก็เรียกว่าปัญจวัคคีย์ก็เป็นพระอรหันต์ห้าองค์แรกหลังจากที่พระองค์ตรัสรู้
เพราะฉะนั้นปฏิจจสมุปบาทนี้นะคะ บางท่านท่านก็เรียกตามทรรศนะหรือความรู้สึกของท่านว่าอริยสัจจ์ใหญ่ ที่ท่านเรียกว่าอริยสัจจ์ใหญ่ก็เพราะว่าอริยสัจจ์สี่ก็กล่าวถึงเรื่องของทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ การดับทุกข์และทางที่จะดับทุกข์ เมื่อเรามาศึกษาเรื่องของปฏิจจสมุปบาท ขอให้ท่านทั้งหลายสังเกตดู ก็จะพบสี่ข้อนี้ปรากฏอยู่ในปฏิจจสมุปบาทเช่นเดียวกัน คือเราจะพบว่าทุกข์คืออะไร อะไรอาศัยกันและกันแล้วเกิดทุกข์ แล้วก็การดับทุกข์คืออย่างไร และทำอย่างไรจึงจะดับทุกข์ได้ แต่จะอธิบายวิธีการให้ชัดเจนแจ่มแจ้งยิ่งขึ้นว่าทางที่จะเดินถึงซึ่งความดับทุกข์นั้นคืออย่างไร ซึ่งเราจะได้พูดกันต่อไปในวันพรุ่งนี้ มีเวลาอยู่ถ้าสามารถจำวงรอบของปฏิจจสมุปบาทซึ่งมีทั้งหมด 12 อาการด้วยกัน คือ 11 อาการ ส่วนที่ 12 คือทุกข์นั่นหมด แต่ก็เรียกได้ว่าเป็น 12 อาการเหมือนกัน ถ้าท่องให้จำได้ เวลาพูดก็นึกได้ๆ ไม่ต้องหันไปดูตำรา วันนี้ก็เชิญพักนะคะ