แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
กล้าหาญที่จะผ่าตัดตัวเอง เข้าใจไหมคะที่จะผ่าตัดตัวเอง ต้องเป็นหมอแพทย์ที่จะผ่าตัดตัวเอง ผ่าตัดอะไร ผ่าตัดความยึดมั่นถือมั่น ผ่าตัดกิเลส ตัณหา ที่มันสุมอยู่ในหัวใจจนหัวใจนี้มันหมองมัว แล้วก็กิเลสตัณหาอุปาทานนี้มันก็พอกซะมืดมิด ร้ายเสียยิ่งกว่าเนื้องอกที่ร้ายที่สุด
ต้องทำการผ่าตัด สัมมาวายาวะนี้ต้องสามารถผ่าตัด กรีดความต้องการที่จะเอาให้ได้อย่างใจตัว จนเนื้อดิ้น ก็ยอม ยอมให้มันเนื้อดิ้นไป ตามอุปมาอุปมัย ให้เนื้อดิ้นพล่านไปเลย ยอม เลือดจะหลั่งไหลเท่าไหร่ก็ยอม จะต้องกรีดร้องด้วยความเจ็บปวดเพียงใดก็ต้องยอม
ฉะนั้นสัมมาวายามะจึงต้องประกอบไปด้วยความเด็ดเดี่ยว อาจหาญ แกร่งกล้าที่จะผ่าตัดตัวเอง ทุ่มเทความเพียรลงไปเพื่ออันนี้ ขูดขัด ขูดขัด ก้มหน้าขูดขัด พร้อมทั้งถอนรากถอนโคนของเจ้ากิเลส ตัณหา อุปาทาน ที่ฝังอยู่ภายในตั้งแต่รู้ความ ใช่มั้ยคะ ตั้งแต่รู้ความ ตั้งแต่ได้ยินผู้ใหญ่บอกว่า นี่ก็ของหนูนะ นีบ้านของลูก นี่พ่อลูก นี่แม่ลูก หนูชื่อนี้นะ นามสกุลนี้นะ จำเอาไว้นะ รักษาไว้ให้ดีนะ นี่ก็ตุ๊กตาของหนู นี่ก็ชามข้าวของหนูนั่นก็เพื่อนของหนู นี่ก็น้องของหนู ตลอดจนกระทั่งรถยนต์นี่ก็ของหนู วิดีโอนี่ก็ของหนู โทรทัศน์ก็ของหนู เงินทองในแบงค์ที่พ่อแม่หาไว้ก็ของหนู
เห็นมั้ยคะ กิเลส ตัณหาอุปาทานมันเกิดมาจากไหน โดยไม่ได้ตั้งใจ คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ได้ตั้งใจ ที่จะไปสั่งสอนลูกหลานให้เป็นคนที่เห็นแก่ตัวหรือว่ายึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตนอย่างนี้ แต่ว่าสอนเพื่อจะว่าอยากให้รู้ รู้จักรักตัวเอง รักพ่อ รักแม่ รักชื่อเสียงวงศ์ตระกูล แล้วจะได้เป็นคนดี นี่เป็นความตั้งใจของคุณพ่อ คุณแม่ เป็นความปราถนาดี แต่ก็เป็นความปราถนาดี ในระดับอะไรจำได้มั้ยคะ ที่เราเคยพูดกันไว้แล้ว ในระดับศีลธรรม คือให้ความเป็นคนดี แล้วก็จะยึดมั่น ถือมั่นในสิ่งนั้น และพอมันไม่เป็นอย่างนั้น บ้านล้มละลาย ก็เป็นทุกข์ สลบไสล ลุกไม่ขึ้น นั่นเพราะความยึดมั่น ถือมั่น
แทนที่จะใช้สติปัญญาว่าจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร หรือว่าคุณพ่อคุณแม่มีอันเป็นจากไป ตามเหตุ ตามปัจจัย ตามธรรมชาติ หมด หมดที่พึ่ง หมดหลัก ตัวเองเคว้งคว้าง เพราะยึดมั่นว่านี่ของฉัน นี่ของฉัน นี่แหละต้องผ่าตัด ผ่าตัดความยึดมั่นที่ว่า เป็นฉัน แล้วก็ของฉันออกไป ยากเย็นแสนเข็ญนะคะ ยากมาก สมมุติว่าผ่าตัดขัดเกลา ขูดรากด้วยสัมมาวายามะ จากความเป็นคนไม่ดี ไม่ดีที่ชอบทำอะไรให้มันขวางโลกเค้า ทำอะไรที่เบียดเบียนคนอื่นตลอดเวลา
ผ่าตัดตัวนั้นออกไป ชนะแล้ว ในระดับนึง ตอนนี้ก็เป็นคนดี ต้องผ่าตัดอีกมั้ยคะ ต้องผ่าตัดอีก และเป็นการผ่าตัดใหญ่ด้วยจะบอกให้ ใหญ่ซะยิ่งกว่าผ่าตัดความเป็นคนชั่วอีก เพราะมันยาก มันยึดมั่นอยู่ในความดีแล้ว ใครๆก็ต้องการคนดี สังคมต้องการคนดี พ่อแม่ต้องการคนดี เราก็ต้องการเป็นคนดีให้คนนิยมชมชอบ แล้วจะมาผ่าตัดสิ่งที่เรายกมาเป็นดี ยึดมั่นมาเป็นดีออกได้อย่างไร ยาก ยากแสนเข็ญ
คนดีนี่ผ่าตัดยาก คนที่ว่าไม่ดี ที่ทำอะไรไม่ดี คนที่ชั่วที่พบความร้อนแล้ว บางทีอาจจะผ่าตัดง่ายกว่าที่จะเข้ามาทางธรรม เพราะอะไร ก็เพราะเค้าอยู่กับความร้อนตลอดเวลา ใช่มั้ยคะ เมื่อใดที่เค้ารู้ว่าเค้าอยู่กับความร้อนตลอดเวลา พอเค้ากระโดดเข้ามาสู่ความเย็น เค้าจะสัมผัสกับความเย็นทันที เพราะมันตรงกันข้าม แต่คนดีนี่มันมีความสุขในการทำความดี เป็นเครื่องหล่อหลอม ก็ทำให้ใจรู้สึกไปว่า เราเป็นสุข เราสบาย เราไม่ร้อน เพราะฉะนั้นพอเข้ามาในความเย็นก็เลยไม่ค่อยสัมผัสกับความเย็นนั้นสักเท่าไหร่
เพราะหลงอยู่กับายาของความสุก ตามระดับของศีลธรรม มันจึงยากตรงนี้ ยากมากค่ะ นี่บอกให้ทราบ เพราะว่าทุกท่านที่นั่งอยู่ในที่นี้เป็นคนดีทั้งนั้นเชื่อว่าเป็นคนดีทั้งนั้น ไม่มีคนชั่วซักคน จึงปราถนาที่จะตั้งใจ ขัดเกลาจิตใจของตนให้มีชีวิตเย็น พ้นจากความร้อน แต่ก็การที่จะถอนใจออกมาจากความยึดมั่นถือมั่นเป็นคนดี เป็นคนถูก เป็นคนเก่ง ยาก ยิ่งเคยมีประสบการณ์ว่าเป็นคนดี คนเก่งมามากเพียงใดยิ่งยาก ยิ่งมีตำแหน่งการงาน เป็นผู้อำนวยการ เป็นหัวหน้ากองเป็นนายแพทย์ใหญ่ เป็นพยาบาลหัวหน้า หรือว่าเป็นวิศวกร หรือว่าเป็นอะไรก็ตามที ตำแหน่งการงาน ติดเพิ่มเข้ามาอีก ติดตามหนักเข้าไปอีก ยิ่งยากใหญ่ เพราะฉะนั้นก็จึงระมัดระวังให้มากยิ่งขึ้นไปอีก ฉะนั้นสัมมาวายามะจึงเป็นความเพียรที่ต้องทุ่มเทลงไป ทุกอย่างทุกประการ
มันจะต้องเริ่มด้วยศรัทธาที่เป็นพุทธศาสตร์อย่างไม่สั่นคลอน อันที่จริงเมื่อมีสัมมาทิฐิ มันก็เป็นพุทธศาสตร์แล้ว แต่ต้องพยายามหมั่นเพียรบอก บอกใจของตนเองอยู่เสมอ กรอกหูใจเอาไว้เสมอเพื่อไม่ให้หลงลืม เพราะมันยาก นี่เป็นสัมมาวายามะ ที่จะต้องทำอย่างเด็ดเดี่ยว อย่างอาจหาญ และก็อย่างเด็ดขาดที่จะต้องทำให้ได้ด้วย ไม่มีข้อแก้ตัว
ที่นี้จากสัมมาวายามะ องค์ที่ ๗ ก็เป็นสัมมาสติ เราได้พูดถึงเรื่องของสติแล้วนะคะ สติคือความระลึกรู้ที่ถูกต้อง ที่นี้สัมมาสติในอริยมรรคก็คือสติที่จะระลึกรู้ถึงสัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะที่ได้ตั้งเอาไว้แล้วด้วยปัญญานั้น สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ ระลึกถึงสิ่งที่ได้พูด ที่ได้กระทำ ที่ได้ดำรงตนมีความพากเพียรอย่างนี้ พอมันจะเผลอไผล ซึ่งมันก็เป็นได้นะคะ เมื่อเริ่มปฎิบัติ บางทีพอจะเผลอไผล พอจะตกไปในสิ่งที่มายั่วยวน สติที่เป็นสัมมาจะสะกิดบอกทันที ให้ระลึกรู้ในปัญญาที่ถูกต้อง ถอนใจได้ทัน ถอนใจที่จะหลงลงไปในหนทางนั้นได้ทัน นี่จึงจะเป็นสัมมาสติ เพราะเรียกว่าจะช่วยชุบชีวิตเอาไว้จากความหลงทาง ดึงมาให้กลับสู่หนทางที่ถูกต้อง
และองค์สุดท้ายก็คือสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิในที่นี้หมายความว่าความตั้งมั่นที่ถูกต้อง เพราะการทำจิตให้เป็นสมาธิก็คือการทำจิตให้รวมสงบมีความหนักแน่นมั่นคง แต่สัมมาสมาธิในที่นี้เน้นไปที่ความมั่นคง ความมั่นคงหนักแน่นที่ถูกต้องของจิตที่มันเกิดตามลำดับ ตั้งแตสัมมาทิฐิเป็นต้นมา ถ้าหากว่าขาดเสียซึ่งสัมมาสมาธิ อริยมรรคองค์อื่นๆยากที่เกิดผล เพราะสัมมาสมาธิที่เป็นความตั้งมั่นที่ถูกต้องเป็นหลัก เป็นหลักที่จะคอยยันเอาไว้ เป็นหลักที่มั่นคงหนักแน่นเป็นคอนกรีตเลยเชียว ที่จะคอยยันเอาไว้ ยันความที่จะล้มเหลวถ้าเกิดถูกยั่วยวนด้วยเรื่องต่างๆ ประการต่าง ๆ ดังที่กล่าวแล้ว ยันเอาไว้ไม่ให้ถอยหลัง ไม่ให้ออกไปนอกลู่นอกทาง เพราะฉะนั้นสัมมาสมาธิต้องมีความมั่นคง หนักแน่น ไม่คลอนแคลน อย่างนี้
ท่านจึงเปรียบสัมมาสมาธิว่าเป็นแม่ทัพ แม่ทัพหลวง สัมมาสมาธินั้นเปรียบเหมือนกับแม่ทัพหลวง ซึ่งแม่ทัพหลวงนั้นจะต้องมีความฉลาด มีสติปัญญา มีฝีมือเก่งกล้าทุกอย่าง พร้อมกับทัพหลวงนั้น เป็นทัพที่ใหญ่ที่สุด มีความมั่นคงหนักแน่นที่สุดของทัพหลวงที่จะพร้อม ที่จะต้านรับข้าศึกที่จะมาได้
แต่สัมมาทิฐิก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน ท่านเปรียบสัมมาทิฐิเป็นแม่ทัพหน้า แม่ทัพหน้าที่จะต้องออกไปสอดแนมก่อน ไปดูซิว่าข้าศึกซุกซ่อน หรือวางหลุมพลางไว้ที่ตรงไหนบ้าง แล้วก็จัดการเก็บกวาดข้าศึกที่มาแอบแฝงอยู่นั้นให้หมดไป แล้วก็แจ้งข่าวให้แม่ทัพหลวงทราบ เพื่อจะได้เดินทัพไปได้ด้วยความปลอดภัย แล้วก็สามารถเอาชัยชนะต่อข้าศึกศัตรูได้
ฉะนั้นสัมมาทิฐินี่ท่านเปรียบเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก เหมือนกับแม่ทัพหน้าที่จะเป็นหนทางให้แม่ทัพหลวงสามารถเอาชัยจากข้าศึกได้ ถ้าหากว่าทิฐินั้นไม่ใช่สัมมา แม่ทัพหลวงก็ต้องแพ้ยับเยิน เพราะว่าจะนำไปในหนทางที่ผิด ที่ไม่ถูกต้อง คำเปรียบเทียบของสัมมาทิฐิท่านจึงเปรียบเทียบไว้หลายอย่าง เช่น เปรียบเหมือนเข็มทิศที่ทุกท่านก็ทราบแล้วว่ามีความสำคัญมาก ถ้าผู้เดินป่าหรือว่าผู้เดินเรือ หรือแม้แต่ทางอากาศ ทางไหนก็ตาม มีเข็มทิศนำเอาไว้ จะได้รู้ว่าทางไหนเป็นทิศเหนือ ถ้าไปหลงป่าถ้ารู้ว่าทิศเหนือก็พอจะหาทางออกได้ หรือว่าเดินอากาศ เดินทางน้ำอะไรก็ตาม ซี่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญจะช่วยให้คนรอดจากการหลงทาง จนถึงแก่ชีวิตได้
หรือบางทีท่านก็เปรียบเหมือนกับแผนที่ ท่านบอกว่าสัมมาทิฐินั้นเปรียบเหมือนกับแผนที่ แต่เป็นแผนที่ที่ละเอียดละอออย่างยิ่ง จะบอกให้รู้ว่าทางไหนเป็นขวากหนาม ทางไหนเป็นหลุมเป็นบ่อ เป็นเหว เป็นทางอันตราย เป็นป่ารกชัด ที่ไปแล้วอาจจะต้องตาย ถูกพัวพันอยู่ตรงนั้น แผนที่นี้จะละเอียดละออ พรัอมกับบอกว่าทางไหนที่เป็นทางปลอดภัยที่จะเดินได้อย่างตลอดปลอดภัย และปลอดภัยในที่นี้คือความปลอดภัยของจิต จึงเป็นแผนที่ที่วิเศษ วิเศษที่สุด
ฉะนั้นท่านจึงเปรียบสัมมาทิฐิ กับสัมมาสังกัปปะว่าเป็นองค์แห่งปัญญา เพราะปัญญาเช่นนี้เป็นเสมือนแสงสว่าง แสงสว่างที่จะสาดไปทั่วเลยว่าจะเดินอย่างไร จึงจะไม่หลงทาง จึงต้องเริ่มด้วยปัญญา แล้วก็ต้องตามด้วยองค์ต่างๆดังกล่าวแล้วนะคะ แล้วก็องค์สุดทายคือสัมมาสมาธิ ที่จะเป็นความตั้งมั่นอย่างถูกต้องคอยต้าน คอยรับไม่ยอมให้ถอยเลย มีแต่จะเดินหน้าไปสู่การปฎิบัติที่ยิ่งขึ้นๆ ยิ่งขึ้น
3 องค์หลัง สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สามองค์หลังนี้ท่านจึงรวมลงในคำว่าสมาธิ สมาธิคือความตั้งมั่นซึ่งต้องอาศัยสติ แล้วก็ต้องอาศัยความพากเพียรที่ถูกต้อง สัมมาสมาธินั้นจึงจะมีกำลังอย่างยิ่ง
ที่นี้ที่พูดมานี่นะคะ ผู้ฟังก็ฟังเหมือนกับว่า อริยมรรคมีองค์แปดนี้ ทำงานคนละทีเป็นขั้น ขั้น ขั้นไปเหมือนกับการขึ้นบันไดทีละขั้น ฟังดูเหมือนกับอย่างนั้น แต่ความเป็นจริงไม่ใช่นะคะ ความเป็นจริงนั้นท่านบอกว่า อริยมรรคมีองค์แปดจะทำงานพร้อมกัน ถ้าสัมมาทิฐิเกิดขึ้นเท่านั้น สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา กัมมันตะ อาชีวะ วายามะ แล้วก็สติ สมาธิมันจะตามมาทันที จะตามทำงานพร้อมกัน ท่านจึงเปรียบว่าอริยมรรคแต่ละองค์นี่เหมือนเชือกแปดเส้น แล้วก็นำเชือกแปดเส้นนั้นมาควั่นเข้าด้วยกันเป็นเชือกเส้นใหญ่ หนา เหนียว แข็งแรง มั่นคง ไม่มีสิ่งใดจะตัดให้ขาดได้
ฉะนั้นการปฏิบัติอริยมรรคท่านจึงบอกว่า ต้องปฎิบัติในลักษณะของมรรคสมังคี มรรคสมังคีก็คือความสามัคคีกลมเกลียวกัน ทั้ง 8 องค์อย่างพร้อมเพรียงกันนี่จึงมีกำลัง มีกำลังตรงนี้เพราะปฎิบัติอย่างพร้อมเพรียงกัน พอเกิดสัมมาทิฐิเท่านั้น จะทำแล้ว พร้อมกัน แต่เมื่อเริ่มต้นจะมีกำลังมากหรือน้อยนั่นอีกอย่างนึง มันขึ้นอยู่กับวิธีการของการปฎิบัติ แต่เมื่อพากเพียร ทำไป ทำไป กำลังก็จะเพิ่มมากขึ้นๆ นี่เราพูดถึงอริยมรรคในฐานะของทิฐิที่เกี่ยวกับการปฎิบัติธรรม ฉะนั้นท่านผู้ปฎิบัติทั้งหลายก็จะสังเกตได้นะคะว่า