แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันรวมกัน มันเป็นธาตุ ถ้ามันแยกออกจากกันเมื่อไหร่ มันไม่ทำงานตามหน้าที่ของมันเมื่อไหร่ เมื่อนั้นสิ่งนี้ก็หมดสภาพของความเป็นชีวิต ส่วนอากาศธาตุหรือที่ว่างนั้น เราจะมองเห็นได้เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเราผ่ากายนี้ออกไปอย่างที่ว่า ถ้าหากว่าภายในไม่มีอากาศธาตุ สิ่งทั้งหลาย ตับ ไต ไส้ พุง หัวใจ กระเพาะ ม้าม ปอด อะไรเหล่านี้จะไปตั้งอยู่ที่ไหนได้อย่างไร นี่คือความสามารถหรือว่าความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่สร้างทุกสิ่งทุกอย่างได้อย่างเหมาะเจาะ มีที่ว่างให้ แล้วหัวใจก็อยู่ตรงนี้ ปอดก็อยู่ตรงนี้ ม้าม ตับอะไรต่างๆก็อยู่ตรงนี้ นี่คือคุณสมบัติของธาตุ เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกว่า ร่างกายนี้ เบญจขันธ์นี้ มันเป็นเพียงสักว่าธาตุ เท่านั้นเอง เมื่อธาตุทั้งหลายเหล่านี้ยังคลุมตัวกันอยู่ ชีวิตนี้ก็ยังคงเป็นชีวิตอยู่ แต่เมื่อใดที่ธาตุทั้งหลายมันหยุดทำหน้าที่ มันแตกกระจายออกจากกัน มันไม่คลุมตัวอยู่รวมกัน ชีวิตนี้มันก็หมดสภาพไปตามเหตุตามปัจจัยเท่านั้นเอง
ท่านจึงบอกว่าให้ศึกษา ให้ศึกษาเรื่องของธาตุ มองดูเบญจขันธ์นี้ ทีละน้อยๆๆจนสามารถเห็นว่ามันคือธาตุ ถ้าหากว่าจะลองใช้แบบฝึกหัดก็ลองไปดูศพ ที่เรียกว่าศพของคนตาย หมั่นไปดูตั้งแต่สิ้นลมครั้งแรกจนกระทั่งถึงตอนเย็น ตอนค่ำ วันที่สอง วันที่สาม วันที่ห้า วันที่เจ็ด วันที่แปด วันที่สิบ ดูไปเรื่อยๆ แล้วจะเห็นเองว่านี่คืออาการแตกสลายของธาตุ มันเกิดขึ้นแล้ว ชีวิตนี้ก็ไม่มี เพราะฉะนั้นหนุ่มๆสาวๆที่ฟังแล้วไม่รู้เรื่องนะคะ ไม่ต้องปวดหัว ฟังเอาไว้ก่อน แล้วมีเวลาเมื่อไหร่ก็ลองไปศึกษาดู แล้วจะค่อยๆเข้าใจเองว่าดูจนถึงที่สุดคือศึกษาจากสิ่งที่กำลังมีชีวิตจนเห็นความเป็นธาตุของมันเมื่อใด เมื่อนั้นจิตก็จะเกิดนิพพิทาอย่างแท้จริง วิราคะจะตามมา นิโรธคือความดับซึ่งความยึดมั่นถือมั่นจะเกิดขึ้นได้ทันที
นอกจากนี้ ความจริงของความทุกข์อีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ความทุกข์จะเกิดขึ้นทุกคราวที่ทำผิดต่อกฎอิทัปปัจจยตา ทุกข์จะเกิดทุกคราวที่ทำผิดต่อกฏอิทัปปัจจยตา หมายความว่าอย่างไร เข้าใจไหมคะ กฏอิทัปปัจจยตา คืออะไร ย้อนไปทำความเข้าใจ เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ก็มี คือ เมื่อเหตุปัจจัยอย่างนี้มี ผลมันก็มีอย่างนี้ เพราะฉะนั้นถ้าหากทำผิดต่อกฏอิทัปปัจจยตา ก็คือ ไม่ประกอบเหตุปัจจัยให้ถูกต้อง นั่นคือประกอบเหตุปัจจัยด้วยความเห็นแก่ตัว ความจะเอาแต่ใจตัว ผลมันก็คือทุกข์เพราะมันย่อมไม่ได้ดั่งใจ มันก็คือทุกข์ เพราะฉะนั้นเมื่อใดที่ทำผิดต่อกฏอิทัปปัจจยตา ทุกข์จะเกิดทุกที ฉะนั้นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติควรศึกษาก็คือกฎอิทัปปัจจยตา ศึกษาอยู่เสมอ ท่องเอาไว้ในใจเสมอว่าไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นลอยๆ ผลอย่างใดต้องมาจากเหตุอย่างนั้น ประกอบเหตุอย่างใดผลย่อมเป็นอย่างนั้น นั่นก็คือต้องเป็นทุกข์ หรือไม่เป็นทุกข์ ขึ้นอยู่กับว่าประกอบเหตุปัจจัยถูกต้องหรือไม่ ฉะนั้นถ้าศึกษาอิทัปปัจจยตาให้ชัดๆ ก็จะค่อยมองเห็นความจริงของความทุกข์ แล้วก็พยายามปรับใจจิตใจของตนให้สอดคล้องกับความเป็นจริง แล้วความทุกข์นี้ก็จะค่อยลดลง
ท่านอุปมาความทุกข์ว่าเหมือนกับการแบกของหนัก อย่างที่บอกว่าภารา หะเว ปัญจักขันธา ขันธ์ทั้งห้าเป็นของหนักเน้อ แล้วมันหนักก็เพราะทุกคนแบกเอาไว้ แบกเอาไว้ว่าเป็นขันธ์ของฉัน คือเป็นอัตตาฉัน เป็นตัวฉัน แบกเอาไว้หนักตลอดเวลา เมื่อมีฉันมันก็มีของฉัน จนตัวหนักลงทุกทีๆ เพราะฉะนั้นเมื่อมีเวลาว่างก็ลองเขียนดูสิว่าที่ของฉันมันมีสักกี่อย่าง เขียนไปตั้งแต่ชื่อฉัน นามสกุลฉัน ตำแหน่งการงานฉัน บ้านฉัน ลูกฉัน เขียนไป โอ้ย ได้เป็นร้อย เป็นพัน เป็นหมื่น แล้วนึกดูสิว่านี่เราแบกมานานเท่าไหร่ น้ำหนักที่จริงก็ไม่กี่กิโล ห้าสิบกิโลหรือบางทีก็หกสิบกิโล แต่น้ำหนักที่เราแบกเอาไว้ในใจมันเป็นพันเป็นหมื่นกิโลจนตัวมันอ่อนลงเตี้ยลงทุกทีๆพราะภาระของความทุกข์ที่เราแบกเอาไว้ แต่เราไม่รู้ว่าเราแบก เรารู้แต่ว่าเราทุกข์ไม่สบายหนัก ก็จงทราบว่า ความทุกข์ท่านเปรียบว่าเหมือนกับการแบกของหนักหรือเหมือนกับไฟเผา อันนี้คงเข้าใจนะคะ มันเป็นไฟเผาไหม้เกรียมอยู่ข้างใน ผุดลุกผุดนั่ง นั่งตรงไหนก็ร้อน ยืนตรงไหนก็ร้อน ไม่มีความเย็นเลย แม้จะอยู่ในห้องแอร์ แม้จะเป็นฤดูหนาวสั่น หิมะตก ก็หนาว ก็ร้อน ร้อนอยู่ข้างในตลอดเวลา ท่านเปรียบความทุกข์เป็นข้าศึก เป็นความมืด แม้จะอยู่ในท่ามกลางแสงสว่างของไฟฟ้า ของดวงอาทิตย์ แต่เมื่อชีวิตอยู่ในความทุกข์มันก็เป็นความมืด นี่ก็มีอุปมาของความทุกข์ได้หลายอย่าง ก็ลองใคร่ครวญดู แต่ละอย่างๆที่ท่านเปรียบ เราเคยประสบหรือไม่ ถ้าเราเคยประสบแล้วมองเห็นก็จะเข้าใจในความหมายของความทุกข์ชัดขึ้น
แต่ท่านก็บอกว่า ความทุกข์นี้ไม่ใช่ว่าไม่ดีไปเสียเลยทีเดียว มันมีอานิสงส์ต่อมนุษย์ ต่อคนเหมือนกัน มีไหมคะ มี มีอย่างไรคะ ความทุกข์ทำให้เกิดความรู้สึกอยากจะดับทุกข์ อยากจะหาทางดับทุกข์ เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าไม่มีความทุกข์ คนก็จะไม่สนใจในธรรมะ ไม่เห็นคุณค่าของธรรมะ ไม่เห็นคุณค่าของพระศาสนา เพราะฉะนั้น ความทุกข์ ท่านบอกว่าเป็นครู เป็นครูสอนอย่างดี เป็นประสบการณ์ในชีวิตที่มีค่า ที่มีค่ามาก เป็นประสบการณ์ในชีวิตที่ทำให้มนุษย์เกิดสติปัญญา เกิดสติปัญญาที่จะดิ้นรนเพื่อหาหนทางแก้ปัญหา ออกไปให้พ้นจากวังวนของความทุกข์ หรือจะพูดว่าความทุกข์เป็นสิ่งผลักดันที่ทำให้เกิดศาสนา ถ้าไม่มีความทุกข์ก็ไม่มีศาสนา ศาสนาก็คือที่พึ่ง ทำอย่างไรที่จะให้พ้นจากความร้อน มนุษย์ก็ดิ้นรนกัน เพราะฉะนั้นการมีศาสนาก็คือเพราะมีความทุกข์ที่ผลักดัน ผลักดันที่จะให้ค้นหา ผลักดันที่จะให้ทดลองเพื่อปฏิบัติเพื่อหนีให้พ้นทุกข์ ฉะนั้นผู้ที่เคยประสบความทุกข์มามากในชีวิต เมื่อมาปฏิบัติธรรม พูดได้ว่าได้กำไร ผู้ที่มีความทุกข์แล้วมาปฏิบัติธรรมนั้นได้กำไร ได้กำไรตรงที่สามารถจะเข้าใจหลักของธรรมะได้เร็ว ธรรมะที่ท่านพูดถึง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ผู้ที่มีความทุกข์มามาก มีประสบการณ์ในความทุกข์มามากจะเห็นชัด เข้าใจ ซึ้งในความจริงของธรรมะที่เป็นกฎของธรรมชาตินี้ได้ชัดและเร็วขึ้น ฉะนั้นอย่าว่าความทุกข์ไม่มีดีเสียเลย ไม่มีอานิสงส์เสียเลย มี และข้อสำคัญที่สุดก็คือว่า จงอย่าเกลียดกลัวความทุกข์ ถ้าไม่เกลียดกลัวความทุกข์จะเห็นอานิสงส์ของมันเป็นอันมาก ยิ่งทุกข์ ยิ่งหันหน้าเข้าหาทุกข์ เผชิญหน้ากับมัน ยิ่งเผชิญหน้ากับมันได้มากเท่าไหร่จะเป็นคนเก่งยิ่งขึ้น เก่งในทางมีสติปัญญาที่จะคิดหาหนทางเพื่อดับความทุกข์อย่างถูกวิธี แล้วชีวิตก็จะรอดจากทุกข์แล้วก็จะพ้นจากปัญหา
ท่านเปรียบ ท่านอาจารย์สวนโมกข์ ท่านเปรียบให้ฟังว่า คนเราเกลียดกลัวความทุกข์ เหมือนกับเกลียดคางคก มีใครรักคางคกบ้างไหมคะ อยากจะได้คางคกเป็นสัตว์เลี้ยง ก็ยังไม่เคยได้ยินนะคะว่า ใครมีคางคกเป็นสัตว์เลี้ยง เพราะฉะนั้นท่านก็เลยเปรียบว่า คนเราเกลียดความทุกข์เหมือนกับเกลียดคางคก เพราะคางคกมันน่าเกลียด ตัวมันน่าเกลียด มันตะปุ่มตะป่ำ มันมองดูแล้วน่าขยะแขยง อันที่จริงมันน่าเห็นใจ มันไม่ได้อยากจะเป็นอย่างนั้น มันเป็นไปเองตามเหตุตามปัจจัย มันก็มีความรู้สึกเหมือนกัน ตาโปนๆนั่นมันก็มีความรู้สึก รู้สึกเจ็บ รู้สึกปวดเหมือนอย่างสัตว์ลูกหมาน่ารักทั้งหลายเหมือนกัน แต่มนุษย์เกลียดกลัวความทุกข์ แล้วท่านก็บอกว่า อย่าไปเกลียดกลัวความทุกข์ มีคำพูดๆกันว่า ในคางคกนั่นมีเพชรอยู่หรือเปล่า รู้หรือเปล่า ที่หัวคางคกนั่นน่ะมีเพชรซ่อนอยู่ ก็อาจจะมี ถ้าใครฟังตามถ้อยคำ ก็อาจจะมีคนไม่ฉลาดบางคนพยายามตีหัวคางคกก็ได้เพื่อจะค้นหาเพชรที่ซ่อนอยู่เอาไปขาย ให้ได้เงินได้ทอง อาจจะมีอย่างนั้นก็ได้ แต่อันที่จริงก็คือเป็นคำอุปมาว่าความทุกข์นี้เปรียบกับ เหมือนกับเพชรที่อยู่ในหัวคางคก มันน่าเกลียด มันไม่อยากเข้าใกล้ เพราะมันทำให้ชีวิตนี้ไม่เย็น ไม่สงบ ไม่สบายเลย มีแต่ความหมองหม่นขุ่นมัวตลอดเวลา แต่ถ้าผู้ใดก้มหน้าก้มตาศึกษาความทุกข์ให้เห็นเหตุปัจจัยของความทุกข์ วันหนึ่งก็จะอ๋อ อ๋อความทุกข์มันเป็นอย่างนี้เอง สาเหตุมันอยู่ตรงนี้ พอพบเข้า นั่นแหละเหมือนกับพบเพชร เพราะเราจะสามารถแก้ไขเหตุแห่งความทุกข์นั้นได้
นี่ก็คือเรื่องของทุกขสัจ ความจริงอันประเสริฐข้อที่หนึ่งคือเรื่องของทุกข์ ซึ่งท่านบอกว่าต้องเป็นสิ่งที่กำหนดรู้ กำหนดรู้อะไร รู้ลักษณะอาการของความทุกข์ พร้อมกับรู้ด้วยว่าอะไรคือปัญหาหรือต้นเหตุของความทุกข์ นี่คือสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ พอรู้ว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ ก็พยายามลงมือทำงานค้นคว้าที่จะกำหนดให้รู้จักเรื่องของความทุกข์ให้ได้จนกระทั่งผลที่สุด รู้ รู้อย่างชัดเจนในใจ ไม่ใช่เพียงรู้ตามคำพูดนะคะ รู้อย่างชัดเจนประจักษ์ขึ้นในใจเองว่า อ๋อ ความทุกข์เป็นอย่างนี้ มันมีลักษณะ มันมีอาการอย่างนี้ มันมีเหตุที่มาของความทุกข์อย่างนี้ อ๋อ เรารู้แล้วว่าความทุกข์เป็นอย่างนี้ นี่เป็นสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อทรงค้นพบเรื่องอริยสัจสี่ ทุกข์ข้อที่หนึ่ง ท่านก็ทรงปฏิบัติสามอาการ อาการแรกก็คือกำหนดรู้เรื่องของความทุกข์ คือกำหนดรู้ด้วยพระปัญญาถึงวิธีการ อันแรกคือจะต้องกำหนดรู้เสียก่อนว่าทุกข์คืออะไร และอันที่สองก็ลงมือกระทำ เพื่อให้รู้ว่าทุกข์อย่างนี้ๆๆ และอันที่สามพอชัดเจนว่าทุกข์เป็นอย่างนี้ก็ประกาศในพระทัยว่า อ๋อ เรารู้แล้ว เรารู้แล้วว่าทุกข์เป็นอย่างนี้ นี่ท่านเรียกว่าเป็นอาการสามของการที่จะต้องปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องของความทุกข์นะคะ
ส่วนเหตุให้เกิดทุกข์ ก็คือสมุทัยนั้นก็เอาไว้พูดต่อในวันพรุ่งนี้นะคะเพราะวันนี้ก็เย็นเสียแล้ว ก็ขอถือโอกาส ให้เชิญออกไปเดินเล่นตามสบาย วันนี้ขอเลิกก่อนเวลาสิบห้านาที นี่เป็นเวลาเพียงหกโมงก็ เชิญ เดิน เชิญ นั่ง เพื่อจะพิจารณาเสียว่าเรื่องของความทุกข์นี้ เรารู้จักมันดีหรือยัง แล้วก็กรุณาพิจารณาอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก พร้อมกับตามลมหายใจไปด้วยนะคะ
ถ้ามีเวลาว่างอยากจะขอให้ดูรูปปฏิจจสมุปบาทนะคะ ที่เป็นรูปเขียน แล้วก็ดูรูปวงกลมที่เขียนไว้เป็นตัว ตัวหนังสือว่าในรอบของปฏิจจสมุปบาทแต่ละอาการชื่ออะไรบ้าง หลายท่านคงดูแล้ว แต่อยากให้ดูแล้วก็ทำความเข้าใจเท่าที่จะเข้าใจเอาไว้ก่อน เพราะว่าพรุ่งนี้ถ้าเราพูดเรื่องอริยสัจเสร็จ ในวันนี้ก็จะได้พูดเรื่องปฏิจจสมุปบาทต่อไปนะคะ
เมื่อวานนี้ได้พูดถึงอริยสัจข้อที่หนึ่ง คือ ทุกขสัจ หมายถึงความจริงเกี่ยวกับเรื่องของความทุกข์ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ แล้วก็พยายามกำหนดรู้ให้ได้ว่ามีลักษณะอาการอย่างไรจนกระทั่งมองเห็นว่าอะไรคือต้นเหตุของทุกข์ เมื่อชัดเจนแล้วก็ค่อยๆหยุด คือหมายความว่าค่อยหยุดการศึกษาเรื่องของความทุกข์ ถ้าตราบใดที่ยังไม่รู้รอบ ยังไม่มีความรู้รอบเกี่ยวกับเรื่องของความทุกข์แล้ว การที่จะเข้าให้ถึงธรรมะเป็นการยากอย่างยิ่ง ทำไมถึงยาก เพราะว่าไม่ช้าไม่นานก็จะไปหลงเพลินกับสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์โดยคิดว่ามันเป็นความสุข มองไม่เห็นความเป็นมายาของมัน เพราะฉะนั้นจึงควรจะต้องศึกษาเรื่องของความทุกข์ทุกขณะ พอสิ่งใดที่เข้ามากระทบจะถูกใจก็ตามให้มองเห็นว่ามีอะไรซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลังสิ่งที่ถูกใจหรือที่เป็นความสุข ถ้าไม่ถูกใจนี่เห็นง่าย ก็ย้อนกลับไปหาสาเหตุ ทำไมจึงไม่ถูกใจ ค้นมันไปทีละปมๆๆ จนพบปมสุดท้ายก็คือความยึดมั่นถือมั่นในความเห็นแก่ตนเอง หรือยึดมั่นถือมั่นในอัตตา ถ้าพบเมื่อไหร่นะคะ ใจจะเบาลงทุกที มันจะสบายขึ้นทุกที เพราะมันจะมองเห็นว่า อ๋อ โทษทุกข์หรือว่าสาเหตุอยู่ตรงนี้เอง ไม่ได้อยู่ที่อื่น ไม่ได้ไปซ่อนอยู่ที่อื่น อยู่ตรงนี้อยู่กับชีวิตนี้ แล้วก็จะมีกำลังใจ สติจะมากขึ้น แล้วก็จะว่องไวในการที่จะรู้เท่าทันความทุกข์ยิ่งขึ้นๆนะคะ