แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมะสวัสดีนะคะ
บ่ายวันนี้อยากจะพูดถึงธรรมะที่เราถือว่าเป็นหลักธรรมสำคัญในพระพุทธศาสนา นั่นก็คือเรื่องของอริยสัจ 4 ซึ่งหลายท่านก็คงจะคุ้นเคยและก็เคยศึกษาเล่าเรียนในเรื่องของอริยสัจ 4 มาแล้ว แต่วันนี้ก็อยากจะขอพูดซ้ำเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องของอริยสัจ 4 ให้ชัดเจนขึ้น
อริยสัจ สัจจะก็ทราบแล้วว่าคือความจริง อริยสัจคือความจริงอันประเสริฐ 4 ประการที่ถ้าผู้ใดรู้แล้ว เข้าใจแล้ว และสามารถปฏิบัติได้ ผู้นั้นจะมีชีวิตอยู่อย่างปราศจากข้าศึก นี่เป็นความหมายของอริยสัจ 4 ถ้าผู้ใดไม่สนใจ ไม่รู้เรื่องของอริยสัจ 4 ก็จะมีชีวิตที่อยู่ในเงื้อมมือของข้าศึกอยู่ตลอดเวลา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า ความสำคัญของอริยสัจ 4 นั้นมีมาก เป็นความจริงที่เป็นประโยชน์ ท่านทรงเปรียบอริยสัจ 4 เหมือนกับรอยเท้าของช้าง ทุกท่านก็ทราบแล้ว ช้างเป็นสัตว์ที่ใหญ่ เพราะฉะนั้น รอยเท้าของมันก็ใหญ่ไปด้วย ท่านกล่าวว่า รอยเท้าของสัตว์ทั้งหลายที่เที่ยวไปบนผืนแผ่นดินสิ้นทั้งปวง ย่อมประชุมลงในรอยเท้าช้าง คือสัตว์อื่นเดินมา ผ่านมา ก้าวเข้าไป รวมไปแล้ว มันก็รวมอยู่ในรอยเท้าช้าง เพราะรอยเท้าช้างนั้นกล่าวได้ว่าเป็นยอดเยี่ยมในบรรดารอยเท้าเหล่านั้น โดยมีขนาดใหญ่ฉันใด กุศลธรรมทั้งสิ้นทั้งปวงก็สงเคราะห์ลงในอริยสัจ 4 ฉันนั้น หมายความว่า เราจะพูดถึงข้อธรรมะใดๆสัก 84,000 พระธรรมขันธ์ที่ว่าแล้วนั้น ข้อธรรมะเหล่านั้นก็รวมลงอยู่ในเรื่องของอริยสัจ 4 นั้นเอง ถ้าเราจะใคร่ครวญพินิจพิจารณาให้ดี ก็จะรวมลงอยู่ในอริยสัจ 4
ท่านจึงจัดว่าอริยสัจ 4 เป็นความจริงที่เป็นประโยชน์ยิ่ง เป็นสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสเรื่องนี้กับบรรดาพระพุทธสาวกทั้งหลาย พร้อมกับขอร้องพระพุทธสาวกทั้งหลายให้ช่วยบอกกล่าวในเรื่องของอริยสัจ 4 แก่พวกชาวบ้านชาวเมืองทั้งหลายด้วย มีคำกล่าวว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะไม่ทรงเสียเวลาตรัสหรือถกเถียงปัญหาที่ไม่เกิดประโยชน์แก่ปัจจุบัน คือหมายความว่าแก่ชีวิตปัจจุบัน เช่น จะไม่ทรงพยากรณ์เรื่องโลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง โลกสิ้นสุดหรือไม่สิ้นสุด สัตว์หลังจากตายแล้วมีอยู่หรือไม่มีอยู่ ท่านจะไม่ทรงพูดสิ่งเหล่านี้ นอกจากในบางครั้งที่ผู้พบอาจจะไปพบมีกล่าวเอาไว้บ้างในพระไตรปิฏก นั่นก็หมายความว่าเมื่อทรงจำเป็น แต่โดยทั่วไปแล้ว จะไม่ตรัสในสิ่งเหล่านั้น เพราะการตรัสในสิ่งเหล่านั้นๆ ท่านเปรียบเหมือนบุรุษที่ถูกยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษ แล้วก็มีผู้ที่จะมาช่วยรักษาให้ ญาติพี่น้องก็รีบมาช่วยรักษา รีบจะทำการผ่าตัด เพราะถ้าไม่รีบทำ ยาพิษที่ลูกศรก็จะซึมซาบเข้าไปในร่างกาย เข้าสู่หัวใจ ก็จะตายทันที นี่คืออาการที่เกิดขึ้นในปัจจุบันแก่ชายหนุ่มผู้นั้น แต่ชายหนุ่มคนนั้นก็ไม่ยอมให้ผ่าตัด บอกว่าจะไม่ยอมผ่าตัดจนกระทั่งรู้ว่าคนยิงเป็นใคร คนที่เอาลูกศรมายิงเป็นใคร นอกจากนี้ สมมติว่ารู้ว่าคนยิงเป็นใคร ต้องการรู้ต่ออีกด้วยว่า ธนูที่เอามายิงเป็นธนูชนิดไหน และสายธนูทำด้วยอะไร ทำด้วยปอ หรือทำด้วยผิวไม้ หรือทำด้วยไผ่ ด้วยเอ็น ด้วยป่าน ด้วยเยื่อไม้ ต้องรู้รายละเอียดซะก่อน พอรู้ว่าตัวธนูทำด้วยอะไร ก็ต้องรู้อีกด้วยว่า ลูกธนูล่ะทำด้วยอะไร ทำจากไม้ที่เกิดเอง หรือทำจากไม้ที่เขาปลูกขึ้นมา และก็หางของธนูเสียบด้วยขนอะไร ใช้ขนอะไรเสียบ เป็นขนปีกแร้ง หรือขนนกตะกรุม หรือขนเหยี่ยว หรือขนนกยูง ต้องการรู้ไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ก็คาดการณ์ได้ ใช่ไหมคะ ตาย ตายก่อนที่จะได้ทำการผ่าตัด เพราะกว่าจะไปสืบเสาะได้ว่าใครเป็นคนยิง คนยิงก็คงวิ่งหนีไปแล้ว
ท่านเปรียบเล่าเรื่องนี้เพื่ออะไร ก็เพื่อจะบอกให้รู้ว่า ถ้าเราจะแบ่งกาลเวลาออกเป็น 3 อย่างคือ 3 ระยะ อดีต ปัจจุบัน อนาคต เรากำลังอยู่กับอะไร เรากำลังอยู่กับปัจจุบัน ทุกขณะที่กำลังผ่านไป ขณะนี้เรากำลังอยู่กับปัจจุบัน เราจะรู้ทุกข์ก็ทุกข์ขณะนี้ จะรู้สุขก็สุขขณะนี้ จะร้องไห้ก็ขณะนี้ จะหัวเราะก็ขณะนี้ แล้วจะไปมัวเสียเวลาอยากจะรู้ว่าชาติก่อนฉันมาจากไหน แล้วก็ข้างหน้าฉันจะไปไหน ในขณะที่ฉันกำลังหลงทางอยู่เดี๋ยวนี้ ทำไมฉันไม่หาหนทางที่จะออกไปให้พ้นจากชีวิตที่หลงทางขณะนี้ซะก่อนหรือถ้าเปรียบง่ายๆ เข้าไปอีก ก็เหมือนบ้านกำลังไฟไหม้ ขณะนี้ปัจจุบันนี้ บ้านกำลังไฟไหม้ แทนที่จะหาน้ำมารดเพื่อให้บ้านไม่ต้องไหม้มากหรือไหม้หมด หรือว่าเรียกรถดับเพลิงมาทันที กลับจะไปถามหาคนวางเพลิงซะก่อน ใครวางเพลิงบ้านเรา ใครเผาบ้านเรา บ้านก็ไหม้หมดหลัง นี่ก็เปรียบถึงคนที่มัวแต่ไปกังวลข้องเกี่ยวอยู่กับสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ล่วงมาแล้ว แล้วก็ไปกังวลข้องเกี่ยวกับสิ่งที่ยังไม่มาถึง ทั้งๆที่ปัจจุบันนี้กำลังประสบกับปัญหาเฉพาะหน้าก็หาแก้ไขไม่
ฉะนั้น ท่านจึงไม่ตรัสในเรื่องอื่น เพราะอะไร เพราะท่านรู้สึกว่าสิ่งเหล่านั้นไม่มีประโยชน์ แล้วก็มีกล่าวเปรียบถึงความสำคัญของอริยสัจ 4 อีกว่า วันหนึ่งขณะที่ประทับอยู่ที่ป่าศรีสปาวัน ใกล้พระนครโกสัมพี และอยู่ท่ามกลางพระพุทธสาวกทั้งหลาย ก็ทรงหยิบไม้ประดู่ลาย มากำไว้ในพระหัตถ์ แล้วก็ตรัสถามพระพุทธสาวกว่า ไม้ประดู่ลายในมือเรากับในป่า ที่ไหนจะมีมากกว่ากัน อย่างไหนจะมีมากกว่ากัน ก็แน่ล่ะ ในป่ามีมากกว่า เทียบกันไม่ได้ แต่ทว่า พระองค์ก็ตรัสต่อไปว่า ฉันนั้นเหมือนกัน คือการเปรียบใบไม้ในป่ากับใบไม้ในพระหัตถ์เหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เรารู้ยิ่งแล้ว มิได้บอกแก่เธอทั้งหลาย มีมากมายกว่า มากกว่ามากนัก ประมาณมิได้ ในสิ่งที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้ว เพราะพระองค์ทรงเป็นสัพพัญญู เพราะฉะนั้น มีสิ่งที่ตรัสรู้แล้วมากมายมหาศาล แต่ไม่ได้นำมาสอน ไม่ได้นำมาบอก เพราะเหตุใด เราจึงมิได้บอก เพราะสิ่งนั้นมิได้ประกอบด้วยประโยชน์ คือไม่สามารถจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ได้เลย สิ่งนั้นมิใช่หลักเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ พรหมจรรย์ หมายถึงการประพฤติปฏิบัติอันประเสริฐ หรือการมีชีวิตอันประเสริฐ จรรย์ก็หมายถึงจรรยา จริยะ การที่จะมีการประพฤติอันประเสริฐก็หมายถึง หนทางของการประพฤติ หรือชีวิตของการประพฤติที่จะนำชีวิตนี้ให้พ้นไปเสียจากปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่
นอกจากนั้น ที่พระองค์ไม่ได้นำสิ่งที่พระองค์ทรงรู้มากมายนั้นมาเล่าให้ฟังก็เพราะ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพิทา เพื่อวิราคะ เพื่อนิโรธ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อนิพพาน เพราะฉะนั้น พระองค์จึงไม่ทรงเล่าให้ฟัง หรือไม่นำมาทรงสอน ไม่เป็นไปเพื่อนิพพิทา นิพพิทาก็คือความเหนื่อยหน่าย ไม่ใช่ความเบื่อ ไม่ใช่ความรำคาญ แต่เป็นความเหนื่อยหน่ายเพราะประจักษ์ในความจริง ความจริงของธรรมชาติ ว่าเป็นอย่างนี้ตามกฏของธรรมชาติ ที่เราพูดไปแล้ว เพราะฉะนั้น มีความเหนื่อยหน่ายในการที่จะยึดมั่น ถือมั่น มีความเหนื่อยหน่ายที่จะปล่อยใจให้ตกอยู่ภายใต้ของกิเลส
ที่นี้ เมื่อมีนิพพิทามากๆ มันก็จะเป็นไปเพื่อวิราคะ คือที่พระองค์ไม่ตรัส เพราะไม่เป็นไปเพื่อนิพพิทา ไม่เป็นไปเพื่อวิราคะ ซึ่งคือความจางคลาย เมื่อความเหนื่อยหน่ายมีมากๆขึ้น มีอัตราสูงขึ้น ความจางคลายก็จะค่อยๆเกิดขึ้น คือจางคลายในความยึดมั่นถือมั่น เช่นเคยรักมาก ยึดมั่นอยู่ในความรักมาก ก็จะค่อยๆผ่อนคลายไป จางคลายไป
เพื่อนิโรธ ไม่เป็นไปเพื่อนิโรธ นิโรธคือความดับ คือเมื่อจางคายมากๆ ก็จะถึงแก่ความดับ ดับเสียซึ่งความยึดมั่นถือมั่น ดับเสียซึ่งความอยาก ไม่เป็นไปเพื่อความสงบ ไม่เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน จึงไม่ตรัส ไม่สอนในสิ่งทั้งหลายที่พระองค์ทรงรู้มากมาย เพราะมันไม่ได้เป็นไปเพื่อพรหมจรรย์ ไม่ใช่หลักเบื้องต้นของพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพิทา เมื่อฟังแล้วไม่ช่วยให้เกิดความเหนื่อยหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อวิราคะ ไม่ช่วยให้เกิดความจางคลาย ไม่เป็นไปเพื่อนิโรธ ไม่ช่วยให้เกิดความดับในความยึดมั่นถือมั่น ในตัณหา ในกิเลส ไม่เป็นไปเพื่อความสงบ ตรงกันข้ามจะยิ่งวุ่นวาย ยิ่งอยากจะรู้โน่นรู้นี่ ซึ่งหาได้ประโยชน์อันใดไม่ ไม่เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
แล้วพระองค์ก็ตรัสต่อไปว่า ภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่าที่เราบอก เราบอกว่า นี้ทุกข์ เราบอกว่านี้ทุกขสมุทัย เราบอกว่านี้ทุกขวิโรธ เราบอกว่านี้ทุกขนิโรธคาวินีปฏิปทา นั่นก็คือสิ่งที่พระองค์ทรงนำมาบอก ก็คือเรื่องของทุกข์ ทุกขสมุทัยก็คือต้นเหตุของทุกข์ ทุกขนิโรธ ก็คือความดับทุกข์ ทุกขนิโรธคาวินีปฏิปทาก็คือหนทางที่จะไปให้ถึงซึ่งความดับทุกข์ พูดง่ายๆก็คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค พระองค์ทรงนำสี่เรื่องมาบอกเล่า มาสอน
เพราะเหตุใดเราจึงบอก ก็เพราะข้อนี้ประกอบด้วยประโยชน์ ข้อนี้เป็นหลักเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ถ้ารู้เรื่องนี้แล้วเข้าใจ นำมาปฎิบัติ ก็จะนำไปสู่การประพฤติปฏิบัติอันประเสริฐ ข้อนี้เป็นไปเพื่อนิพพิทา จะส่งเสริมให้เกิดความเหนื่อยหน่ายในความยึดมั่นถือมั่นยิ่งขึ้น เพื่อวิราคะเกิดความจางคลายในความยึดมั่นถือมั่นยิ่งขึ้น เพื่อวิโรธเกิดความดับในความยึดมั่นถือมั่น เพื่อความสงบ จิตจะมีแต่ความสงบ เยือกเย็นผ่องใส เพื่อความรู้ยิ่งในการประพฤติปฏิบัตินั้น จะยิ่งลึกซื้ง แตกฉาน แจ่มแจ้ง จนประจักษ์ชัด เพื่อนิพพาน คือความเย็น เย็นสนิทที่ดับเสียซึ่งความร้อนทั้งปวง ฉะนั้นเราจึงบอก เพราะฉะนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย เธอพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคาวินีปฏิปทา แล้วพระองค์ก็ทรงย้ำให้ภิกษุทั้งหลาย สอนให้ชาวบ้านรู้ในเรื่องของอริยสัจ
ที่นำสิ่งนี้มาอ่านให้ฟังก็คือ คนส่วนมาก เมื่อเวลาหันมาสนใจเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม บอกว่าให้ดูที่จิต ให้ดูความรู้สึกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ย้อนเข้าไปดูข้างใน ก็มักจะอยากไปรู้ในเรื่องอดีตที่ผ่านมาแล้ว อนาคตที่ยังไม่มาถึง โลกมันเกิดขึ้นได้อย่างไร เรานี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร แล้วต่อไปมันอย่างไร ตายแล้วหยุดหายใจแล้วจิตจะไปไหน ขณะนี้ยังไม่ตาย ขณะนี้ยังอยู่กับปัจจุบัน เพราะฉะนั้น นี่คือคำสอนของพระองค์ ที่พระองค์ทรงเน้นว่า จงใส่ใจกับปัจจุบัน เพราะปัจจุบันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด นี่คือความสำคัญของอริยสัจ4 เราถือได้ว่าเป็นหลักของพุทธศาสนา