แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
... ขัดขวางความสำเร็จทุกอย่าง มีกี่อย่างคะ จำได้ไหม? มี ๕ อย่าง ฉะนั้นหากใครต้องการที่จะรักษาจิตให้สงบละก็จำเป็นต้องรู้จักนิวรณ์ทั้ง ๕ ไม่ให้เข้ามาข้องเกี่ยว กำจัดมันไม่ให้มันเข้ามาข้องเกี่ยวกับจิตใจของเรา ตัวแรกคืออะไรคะ ถ้านึกไม่ออกต้องทบทวนแล้วละ กามฉันทะ กามฉันทะคืออะไร ความพอใจติดใจในอะไรคะ กามฉันทะนี่ชื่อก็บอกแล้วว่าติดใจในอะไร ในเรื่องของกาม เรื่องของกามก็เช่นอะไรบ้าง รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส แล้วก็อะไรอีก รูป .. นึกดูจากลูกนัยน์ตาก่อนนะคะ แล้วก็เสียง ..จากหู กลิ่น .. ทางจมูก รส .. ทางลิ้น สัมผัส .. ทางกาย ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นก็ติดใน ๕ อย่าง เรียกว่า กามคุณ ๕ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส พอใจในสิ่งที่สวยๆ งามๆ เอร็ดอร่อยต่างๆ เหล่านี้ เป็นต้น หรืออีกอย่างหนึ่งก็หมายถึงตัวกามารมณ์โดยเฉพาะ คือการข้องเกี่ยวกันในระหว่างเพศ เป็นสิ่งที่กางกั้นไม่ให้ผู้ปฏิบัติธรรมนี่เข้าถึงธรรมในขั้นสูงได้ เพราะจิตไม่สามารถจะสงบได้เพราะนิวรณ์เข้ามาขัดขวาง ข้อแรกก็คือ กามฉันทะอย่างที่ว่าแล้ว เพราะมัวไปติดใจนึกถึงสิ่งที่ล่อใจหรือยั่วใจ ให้พอใจให้ติดใจก็คือเรื่องของกามคุณ ๕ ในด้านรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส แล้วก็กามารมณ์ บางครั้งก็นึกถึงรสชาติของความเอร็ดอร่อยในทางเพศ ทีนี้ตัวที่สองละคะ ตัวที่สองอะไร ๑. กามฉันทะเป็นลูกน้องของอะไร เป็นลูกน้องของ..นึกออกไหม ของโลภะ ของโลภ ๒. พยาบาท กามฉันทะนี่อยากได้หรือไม่อยากได้ .. อยากได้ มีอาการเป็นอย่างไรคะ ดึงเข้ามาหาตัว ถ้าเป็นพยาบาท ชอบหรือไม่ชอบ ไม่ชอบไม่ถูกใจ ก็อยากจะทำไม อยากจะผลักออกไป ไม่เอา อยากจะผลักออกไปไกลๆ เป็นลูกน้องของอะไรคะ..พยาบาท กามฉันทะเป็นลูกน้องของโลภะ พยาบาทเป็นลูกน้องของโทสะ วันนี้วันอะไรนะ วันนี้วันเสาร์ เราพูดกันเรื่องนี้เมื่อไหร่ ค่ะ..วันอังคารนี้เอง ไม่กี่วันเลย ไปเร็วเหลือเกิน เพราะฉะนั้นถ้าไปเร็วอย่างนี้ละก็ระวังนะ มันจะสิงสู่อยู่กับเรา ก็จะไม่ยอมจากไปละ เพราะฉะนั้นต้องรู้จักมันให้ดี เพื่ออะไร..เราจะได้รู้จักมันทัน แล้วก็จะได้ไล่มันออกไปทันนะคะ
ทีนี้ตัวที่สาม อันนี้ยากหน่อย ถีนมิทธะ มีความหมายว่าอย่างไรการมีถีนมิทธะ รื่นเริงแจ่มใส ใช่ไหมคะ..ถีนมิทธะ รื่นเริงแจ่มใส? หดหู่เหี่ยวแห้ง เรียกว่าจิตลงต่ำ หรือที่เขาเรียกว่าจิตตกก็ได้..ถีนมิทธะ มองเห็นอะไรมันมืดมัวไปหมด มีแต่ความเศร้าหมองใจ บางทีอาจจะถึงกับไม่อยากอยู่ ไม่อยากคลุกคลี ไม่อยากพบปะผู้คน ทั้งๆ ที่ก็ไม่มีใครเกลียดชัง ไม่มีใครทำอะไรให้นะคะ ฉะนั้นอาการของถีนมิทธะท่านก็บอกว่า เป็นอาการที่น่าเป็นห่วงมาก ถ้าใครมีอาการของถีนมิทธะ ผู้ที่เป็นญาติมิตรหรือว่าเพื่อนฝูง หรือลูกหลานที่เห็นผู้ใหญ่เป็น ต้องรีบหาทางที่จะฉุดออกมาให้พ้นจากที่นอน ให้พ้นจากที่ที่ไปนั่งจ่อมเก็บตัวอยู่ อย่าปล่อยให้อยู่อย่างนั้น ถ้าปล่อยให้อยู่อย่างนั้นละก็จะกลายเป็นคนที่นั่งย้ำคิดย้ำทำอยู่กับโลกของตัวคนเดียว แล้วผลที่สุดก็เลยเห็นว่าชีวิตนี้ไม่มีหวัง ชีวิตนี้ไม่มีอนาคต ชีวิตนี้ไม่น่าอยู่ ทีนี้ตัวที่สี่ ตรงกันข้าม อุทธัจจกุกกุจจะ อาการเป็นอย่างไรคะตัวนี้ ตรงกันข้ามกับถีนมิทธะ ในขณะที่ถีนมิทธะหดหู่เหี่ยวแห้ง อุทธัจจะเป็นอย่างไร ฟุ้งซ่าน ล่องลอย แล้วก็อาจจะล่องลอยอย่างแจ่มใสก็ได้นะ อาจจะเห็นโลกนี้มีสีสันอะไรต่ออะไรต่างๆ เรียกว่าปรุงแต่งเพ้อฝันไป ทั้งถีนมิทธะและทั้งอุทธัจจกุกกุจจะเรียกว่าอยู่กับความจริงไหมคะ? ไม่อยู่เลย ไม่อยู่กับความจริง อยู่กับสิ่งที่ตัวสร้างขึ้นคิดขึ้น คิดขึ้นเอง แล้วก็สร้างวงล้อมของตัวขึ้นมาเอง เพราะฉะนั้นทั้งสองตัวนี่ก็มีความน่ากลัวพอๆ กัน ทำไมถึงว่าน่ากลัวพอๆ กัน เพราะอาจจะพาไปอยู่โรงพยาบาลประสาทได้เท่าๆ กัน ทีนี้ตัวที่ห้าคืออะไรคะ วิจิกิจฉา คืออะไรวิจิกิจฉา? วิจิกิจฉาเป็นคนมั่นใจในตัวเองไหม? คนที่มีวิจิกิจฉา ไม่มั่นใจในตัวเองเลย เพราะมีแต่ความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจ อะไรๆ ก็ไม่แน่ใจ ชอบไต่ถามคนอื่นเขา ตัดสินใจไม่ได้ ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ไปจนกระทั่งถึงเรื่องใหญ่ๆ ถ้าปล่อยเอาไว้ก็เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตอีกเหมือนกัน จะเป็นผู้นำใครก็เห็นจะยาก เพราะไม่กล้าตัดสินใจ ทั้งสามตัวนี้เป็นลูกน้องของอะไร? ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ แล้วก็วิจิกิจฉา เป็นลูกน้องของอะไร ของโมหะ เห็นความร้ายของโมหะไหมคะ เห็นไหม โลภะมีลูกน้องกี่ตัว..ตัวเดียว โทสะมีลูกน้องกี่ตัว..ตัวเดียว แต่เจ้าโมหะนี่มีลูกน้องถึง ๓ ตัว ทำไมถึงต้องมีถึง ๓ ตัว ก็เพราะว่าเราเคยพูดแล้วว่าอาการของโมหะนั้นเห็นยาก..ใช่ไหมคะ? เห็นไม่ง่ายเหมือนอย่างโลภะ โทสะ
เพราะฉะนั้นในนิวรณ์นี่ก็เท่ากับเป็นการแจกแจงแจกแจงรายละเอียดให้รู้จักลักษณะอาการของโมหะว่า ไม่ใช่เพียงแต่หลงๆ อย่างที่เราพูดในคำพูดคำเดียว โมหะคือหลง หลงไป แต่นี่แหละแยกออกมาแล้ว ลักษณะของความหลงนี่คืออย่างไร ก็คือลังเลสงสัย ไม่แน่ใจ หดหู่เหี่ยวแห้ง หรือมิเช่นนั้นก็ปรุงแต่งให้ฟุ้งซ่าน เพ้อเจ้อ เหลวไหลไม่เข้าเรื่อง คือพูดแล้วก็ไม่มีเหตุผลอีกเหมือนกัน ฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่ควรจะต้องรู้จักอย่างดีนะคะ ท่านเปรียบเอาไว้ว่า ผู้ที่ปล่อยให้นิวรณ์เข้าครอบงำจิตนี่ เหมือนกับคนเป็นหนี้ สนุกไหมคะเป็นหนี้ เจ้าหนี้เขามาคอยทวงอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นคนเป็นหนี้หาความสุขใจไม่ได้เลย คอยแต่ว่าเขามาทางไหนเราจะได้หลบไปอีกทางหนึ่ง มีอิสระไหม? ท่านจึงเปรียบว่า หนึ่ง..เหมือนคนเป็นหนี้ หรือเหมือนคนเป็นโรค โรคภัยไข้เจ็บที่ร้ายแรง ก็ไม่รู้ว่าจะหายหรือไม่หาย เกิดความระแวงสงสัย เกิดความกลัว เราจะหายไหม หรือว่าเราจะตาย หรือว่าเราจะเป็นมากกว่านี้ เราจะไปรักษาอะไร..อย่างไร ท่านเปรียบเหมือนคนเป็นโรค ฉะนั้นคนที่เป็นโรคที่มีลักษณะอาการอย่างนี้ สงบนิ่งไหมคะ? แน่นอน..ไม่สงบนิ่ง ระส่ำระสายอยู่ในใจตลอดเวลา นี่เมื่อนิวรณ์เข้ามาครอบงำจิต ไม่ว่าตัวไหน จะเป็นตัว ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ หรือตัวใดตัวหนึ่ง หรือทั้งหมด อาการจะเหมือนคนเป็นหนี้เขา หรือเหมือนกับคนเป็นโรค หรือเหมือนกับคนที่เป็นนักโทษที่ต้องอยู่ในเรือนจำ ถูกเขาควบคุมจะออกไปไหนก็ไม่ได้ ก็คือนิวรณ์เข้ามาควบคุมจิต พอจะคิดทำอะไรสักอย่างหนึ่งเจ้านี่ก็เข้ามา พอเข้ามาควบคุมจิตก็ทำให้ความคิดนั้นไม่ปลอดโปร่ง พอไม่ปลอดโปร่งเข้า บางทีบ่อยๆ เข้า มากๆ เข้าเกิดความเหนื่อย ท้อใจไม่อยากจะทำ ฉะนั้นนี่ค่ะ..นิวรณ์นี่ถ้าเก็บเอาไว้มากๆ โดยเฉพาะ ๓ ตัวหลังนี่ จะพาไปสู่อาการของโรคประสาท แล้วก็โรคจิตในที่สุด หนีไม่พ้นเลย
ท่านจึงบอกว่าไม่ให้ประมาท เพียงแต่ว่าทำจิตให้สงบนี่เป็นเบื้องต้น เป็นโทษเบื้องต้น แต่โทษที่ร้ายแรงจะตามต่อมานี่มหาศาล และข้อสำคัญที่สุดก็คือว่า จะเป็นเครื่องตัดกั้นมิให้สามารถบำเพ็ญภาวนาได้นะคะ ฉะนั้นโปรดศึกษาเรื่องของนิวรณ์ให้ชัดเจนแจ่มแจ้ง และก็จดจำ อย่าเอาเข้ามาใกล้ อย่าเป็นเพื่อนกัน ทีนี้นอกจากเหมือนคนเป็นหนี้ คนเป็นโรค เหมือนนักโทษแล้ว ท่านก็เปรียบว่าคนที่มีนิวรณ์นี่ เหมือนกับคนเป็นทาสเขา เป็นทาสที่สมัยก่อนเขามีนายเงิน ไปเอาทาส ไปซื้อทาส ซื้อคนมาเป็นทาส เพราะฉะนั้นก็ทำงานโงหัวไม่ขึ้นอีกเหมือนกัน จะไปไหนมาไหนก็ไม่ได้ ไม่อิสระ หรือมิฉะนั้นก็เหมือนกับการเดินทางไกลที่กันดาร การเดินทางไกลที่กันดารคนนั้นอาจจะเป็นคนที่มีทรัพย์ มีทรัพย์สินเงินทองมากในกระเป๋าที่ติดตัวไปนะ มีเงินเยอะ แต่มันกันดารไม่รู้จะไปซื้อหาที่ไหน เหมือนอย่างเช่นไปเดินในทะเลทรายนี่ เป็นต้น ฉะนั้นลักษณะของคนที่มีนิวรณ์เข้าครอบงำจิต ท่านเปรียบเอาไว้ถึง ๕ อย่าง แต่ละอย่างๆ ก็น่ากลัวทั้งนั้นนะคะ เหมือนกับคนเป็นหนี้ เหมือนกับคนเป็นโรค เหมือนกับคนเป็นนักโทษติดเรือนจำ หรือเหมือนกับคนที่เป็นทาสเขา จนกว่าจะมีใครมาไถ่เอาไป ให้เป็นไทแก่ตัวนั่นแหละจึงจะค่อยยังชั่ว หรือเหมือนกับการเดินทางไกลในที่กันดาร ที่มิสามารถจะหาอาหารหาอะไรเข้ามาช่วยเหลือตัวเองได้เลย ฉะนั้นในเวลาที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ท่านแสดงธรรม ท่านจึงแสดงธรรมเพื่อที่จะให้จิตนี่มีความอ่อน มีความเย็น มีความประณีต และท่านเรียกว่ามีความคล่อง คือคล่องพร้อมจะรับธรรมะ แล้วท่านถึงจะแสดงธรรมขั้นสูง ซึ่งก็คือ อริยสัจ ๔ เพื่อให้บุคคลคนนั้นนี่ได้เข้าถึงธรรมได้ พิจารณาธรรมได้ ฉะนั้นถ้าไม่ผ่านนิวรณ์ คือจิตยังคงมีนิวรณ์อยู่ จิตนั้นจะเป็นภาชนะที่..อะไรละ ที่สกปรก ไม่สามารถจะรับธรรมะที่บริสุทธิ์เข้ามาสู่ใจได้ เพราะฉะนั้นอย่าทำเล่นกับนิวรณ์นะคะ ที่พูดนิวรณ์มาเป็นตอนแรกนี้ก็เพื่ออยากจะให้รู้จักเรื่องของนิวรณ์ให้ชัดเจน แล้วก็จำเอาไว้
พอเวลาที่นั่งสมาธิไม่ได้ก็ให้นึกทีเดียว สืบสวนเข้าไปภายในของเรา นี่อะไรนะ นิวรณ์ตัวไหน กำลังมากลุ้มรุม จึงทำให้จิตนี่ไม่สงบได้เลย นิวรณ์ตัวไหน? แล้วก็รีบกำจัดมันออกไป จะกำจัดด้วยวิธีไหน ท่านก็บอกแล้วว่า ถ้าเป็นกามฉันทะให้พิจารณาอะไรคะ เป็นตัวแก้ อสุภะ เพราะกามฉันทะมันอยากได้อะไรสวยๆ งามๆ ก็พิจารณาตรงกันข้าม สิ่งที่สกปรก สิ่งที่เป็นปฏิกูล สิ่งที่น่าเกลียด ขยะแขยง ฉะนั้นบางทีท่านจึงไปป่าช้าเพื่อจะพิจารณาดูว่า ในป่าช้าซากศพที่กำลังเน่าเหม็น หรือซากศพที่กำลังเผาแล้ว แล้วก็มันไม่เผาไหม้ทั้งหมดนี่ ซากศพที่สุนัขกิน เพื่อพิจารณาให้เห็น แล้วก็จะได้ดูว่าสิ่งที่สวยๆ งามๆ อย่างนี้เป็นอย่างไร เหมือนอย่างในพระไตรปิฎก ก็เล่าถึงพระพุทธเจ้าท่านรับสั่งให้ฟังถึงนางสิริมา คงเคยได้ยินใช่ไหมคะ? ที่เป็นหญิงงาม สมัยในพุทธกาลนี่เมืองไหน ประเทศไหนมีผู้หญิงที่สวยมากละก็ และผู้ชายปองมาก จะว่าเป็นเคราะห์ร้ายหรือเคราะห์ดีของผู้หญิงคนนั้นก็ไม่ทราบนะคะ จะถูกยกเป็นนางงามประจำเมือง แต่นางงามประจำเมืองนี่ไม่ได้ใส่มงกุฎเหมือนกับนางสาวไทยของเรา แต่เป็นนางงามประจำเมืองเพื่อจะรับแขกผู้ชาย แล้วก็แขกนี่ก็จะมาจากทั่วสารทิศเชียว ยิ่งรู้ว่าเมืองนี้งามมาก แล้วก็มีศิลปะอะไรต่ออะไรต่างๆ ในการที่จะต้อนรับแขกละก็คนก็ยิ่งมามาก ประเทศนั้นก็จะถือว่าเป็นรายได้ นี่เรียกว่าเป็นการหารายได้เข้าประเทศวิธีหนึ่งเหมือนกัน ทีนี้นางสิริมานี่ก็เป็นหญิงงาม จำไม่ได้แน่ว่าจะเป็นเมืองของพระเจ้าปเสนทิโกศลรึเปล่า แล้วก็เรียกว่าสนใจในการปฏิบัติธรรม แล้วก็อยากจะบำเพ็ญธรรม เพราะฉะนั้นก็จะนิมนต์พระสงฆ์นี่ไปรับบาตรที่บ้านของตนทุกวัน แล้ววันหนึ่งนางสิริมาก็ไม่สบายเป็นไข้ แต่ถึงขนาดเป็นไข้นี่ก็ยังอุตส่าห์มาประเคนอาหารถวายพระเอง ก็มีพระหนุ่มองค์หนึ่งที่ได้ยินกิตติศัพท์ว่านางสิริมานี่สวยงามมาก ก็ตั้งใจเชียวว่าเราไปรับบาตรวันนี้คือจะไปดูนางสิริมา ที่เขาว่าสวยนะสวยสักแค่ไหน
ก็เผอิญเป็นวันที่นางสิริมานี่เป็นไข้ แต่งเนื้อแต่งตัวก็ไม่เต็มที่ หน้าตาก็ไม่ได้แต่งอะไรเต็มที่ แต่พระหนุ่มองค์นั้นก็รู้สึกว่านี่ขนาดไม่ได้แต่งตัวนะยังสวยถึงแค่นี้เลย สวยจนกระทั่งรับบาตรมาแล้ว กลับมาถึงที่อารามไม่ยอมฉัน ไม่ยอมกินข้าวกินปลา วางบาตรไว้อย่างนั้นแหละ เพราะกามฉันทะ นึกถึงคำนึงถึงแต่ความงามของนางสิริมา บรรดาเพื่อพระภิกษุก็พยายามเตือนให้สติ ก็ไม่สามารถจะเรียกสติกลับคืนได้ ต่อมาไม่กี่วันนางสิริมาก็สิ้นชีวิตด้วยพิษไข้ ก็เพราะเป็นนางงามประจำเมืองนะคะ พระเจ้าแผ่นดินก็รับรู้ พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ไปกราบทูลพระพุทธเจ้าว่านางสิริมานี่สิ้นชีวิตแล้ว ก็นี่ตามที่เขาเล่านะ เขาว่าท่านก็รับสั่งว่า .. อย่าเพิ่งจัดงานศพนะ เอาเก็บไว้ก่อน ๗ วัน พอถึงเวลา ๗ วันแล้วก็ประกาศให้บรรดาผู้คนที่เคยรักใคร่ติดใจพอใจ คืนหนึ่งนี่ แหม ... ราคาแพงมากทีเดียวนะ ก็บอกมาๆ ดูนางสิริมา ใครต้องการ..สมมุติว่า ๑,๐๐๐ กหาปณะ เอาเงินมาเอาไปเลย ไม่มีใครเอา ลดราคาลงมาจนกระทั่งถึงให้เปล่าๆ ก็ไม่มีใครรับ เพราะอะไร เพราะตอนนี้ก็คงนึกภาพนางสิริมาออก ๗ วันผ่านไปแล้วจะเป็นอย่างไรละ รูปร่างที่สวยงามต่างๆ นั่นนะก็กลายเป็นปฏิกูลใช่ไหมคะ? กลายเป็นอสุภะหมด ไม่มีใครรับเลยแม้แต่พระภิกษุหนุ่มองค์นั้น เมื่อไปพิจารณาแล้วก็เลยได้ธรรมะ ได้ธรรมะเพราะว่ามามองดูสิ่งที่ตนเคยติดเคย..เรียกว่าติดอย่างเหนียวแน่นนะ จนกระทั่งไม่ยอมกินข้าวกินปลา บัดนี้ได้มาเห็นของจริง นี่คือของจริงของทุกๆ คน ของพวกเราด้วย ที่นั่งอยู่ในที่นี้ ก็เหมือนกันอย่างนั้นทั้งนั้นแต่เราไม่ยอมมองของจริง เราก็เลยยึดมั่นถือมั่นในตัวตนของเรา ว่าสวยว่างามว่ามีเสน่ห์ว่าเก่ง ว่าดีว่าอะไรต่างๆ สารพัด นี่ละค่ะท่านจึงบอกว่า ถ้าหากว่าติดในกามฉันทะมาก จงหมั่นพิจารณาสิ่งที่เป็นปฏิกูล สิ่งที่เป็นอสุภะ เพื่อจะผ่อนคลายความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งสวยๆ งามๆ นั้นให้ลดลง ก็จะดีขึ้น แล้วในส่วนตัวก็รู้สึกว่า การพิจารณาในโถส้วมตอนเช้านี่ดีมากเลย เพราะเราจะเห็นของจริง ของจริงว่า..ไอ้ที่เมื่อวานนี้มันเอร็ดอร่อย มันสวยงาม มันน่ารัก จริงๆ แล้วก็เป็นแค่นี้เอง เพราะว่าสิ่งที่เราติดมากที่สุดอันหนึ่งเห็นจะเป็นเรื่องของการรับประทาน คือเรื่องของการกิน ติดในรสชาติ
ทีนี้ถ้าหากเป็นพยาบาท ท่านให้แก้ด้วยอะไรคะ เพิ่มอะไร เพิ่มความเมตตา เมตตาให้มาก เพิ่มความเมตตาให้มาก อย่าไปเห็นแต่ความผิด ความบกพร่อง ความไม่ดี ให้ลองมองหาสิ่งที่ดีงามของเขาบ้าง แล้วก็มองเห็นว่าธรรมชาติของมนุษย์ที่มันไม่เหมือนกัน มันเป็นอย่างนี้เพราะอะไร ถ้าหากว่าเพิ่มความเมตตามากขึ้น ความพยาบาทเกลียดชัง เคียดแค้นไม่ชอบใจก็จะค่อยๆ ผ่อนเบาลง ถ้าหากว่าถีนมิทธะเห็นอะไรมืดมัวสลัวไปหมดหดหู่เหี่ยวแห้ง ให้พิจารณาอะไร? ก็มันมืดให้พิจารณาอะไร .. แสงสว่าง ให้เห็นซะว่านี่แหละมันไม่ได้มืดหรอกนะ แท้ที่จริงแล้วมันมีแสงสว่างอยู่ในความมืด จริงไหมคะ ในความมืดนะมีแสงสว่าง ในแสงสว่างมันก็มีความมืด แต่ทว่ามืดแล้วมันก็สว่าง ถ้าพิจารณาอย่างนี้เข้าจิตใจก็อาจจะเบิกบานขึ้นมาได้บ้าง ถ้าเป็นอุทธัจจกุกกุจจะ ฟุ้งซ่าน ก็ให้มีสมาธิ พยายามฝึกจิตให้อยู่กับอะไรให้ได้สักอย่างหนึ่ง เพื่อที่จะให้จิตที่ฟุ้งซ่านนั้นสงบลงไม่มากก็น้อย ส่วนวิจิกิจฉาตัวที่ ๕ ต้องใช้ปัญญาให้มากๆ ใช้ปัญญาพิจารณา ในวิจิกิจฉานั้นเกิดจากอะไร ถ้าเป็นในทางโลกก็คือคนที่มีวิจิกิจฉาไม่มั่นใจในตัวเอง ก็คือไม่มั่นใจในความรู้ความสามารถในประสบการณ์ของตนนั่นเอง เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรทำก็คือ ต้องรีบสะสมขวนขวายหาความรู้ หาประสบการณ์เพิ่มเติมในสิ่งนั้น จนเกิดความมั่นใจขึ้นมา พอมั่นใจขึ้นมาก็จะเดินต่อไปได้ แล้วก็จะเกิดความรู้สึกหรือเกิดความเห็นได้ด้วยปัญญาของตน เมื่อทุกสิ่งนั้นถ้าหากว่ามีปัญหาขึ้นจงใช้ปัญญาพิจารณาดูลงไปเห็นสิ่งจริง ... สิ่งจริงคืออะไร? ก็คือเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยที่จะทำให้มีวิจิกิจฉา เหตุปัจจัยที่จะทำให้ลังเลคืออะไร แก้ตรงนั้น อย่างที่พูดเมื่อกี้ว่า เพราะไม่มั่นใจในความรู้ความสามารถ..นั่นคือเหตุปัจจัย มีไม่เพียงพอก็ต้องแก้ด้วยการเพิ่มพูนให้เพียงพอขึ้น นอกจากนี้นะคะการที่จะแก้ไขนิวรณ์ให้ลดหย่อนผ่อนคลายจากจิตของเราอีกอย่างหนึ่งก็คือ ได้พูดค้างเอาไว้เหมือนกันว่า การเพิ่มพูนกำลังใจให้เกิดปีติและปราโมทย์ นึกได้ไหมคะว่าเรามีอะไรบ้างที่เป็นกุศลกรรม พอนึกขึ้นมาแล้วมันชื่นใจ เดี๋ยวนี้นึกได้ไหมสักอย่างหนึ่ง พอนึกขึ้นมาแล้วมันชื่นใจ โอ..เราได้ทำสิ่งนั้น..มีไหมคะ? อา..ถ้ามีละก็ดี หมั่นนึกเอาไว้ เพราะว่าเป็นการบำรุงใจ ให้ใจสดชื่นเบิกบาน แล้วก็ความสงบจะตามมา ความสงบจะตามมา..ในทางธรรมท่านก็บอกว่า เมื่อมีปีติแล้ว ปัสสัทธิคือความสงบจะตามมา พอความสงบจะตามมา ความเป็นสมาธิก็จะตามต่อมาจากความสงบนั้นด้วย
เพราะฉะนั้นถ้าหากว่านิวรณ์เข้ามารบกวน เอาละไม่เอาใจใส่กับมัน เรายังแก้มันไม่ได้ จะเพิ่มเมตตาก็ยังไม่ได้ ยังไม่ได้เท่าที่ควรจะได้ นึกถึงกุศลกรรมอะไรที่เราทำแล้วปีติยินดี อย่างตัวเองนี่นะคะ สิ่งนิดเดียวที่ยังจำได้เมื่อเกือบ ๓๐ ปีมาแล้ว ๒๐ ปีมาแล้วนี่ ก็ยังทำงานอยู่ ก็ชอบแต่งเนื้อแต่งตัวสวย เป็นคนโลกกับเขานั่นละ แล้วก็อยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการ ก็ใกล้กับตลาดเทเวศร์ ตอนเที่ยงก็มักจะไปแวะที่ตลาดเทเวศร์ วันนั้นก็ไปตอนกลางวันก็เห็นเด็กนี่กำลังเอาปลาไหลตัวใหญ่เชียว ผูกคอปลาไหลตัวใหญ่แล้วก็ลากนั่นแหละไปที่บนถนนซีเมนต์ที่กำลังร้อนจัดมากพอเห็นเท่านั้นแหละก็ออกวิ่งตามเด็กคนนั้น โดยไม่ได้นึกหรอกว่านี่ใครจะนึกว่ายายคนนี้นี่แต่งเนื้อแต่งตัวดีๆ แล้วแกจะวิ่งไปไหนท่ามกลางผู้คนมากมาย วิ่งไปจนกระทั่งถึงเด็กคนนั้น แล้วก็ถามว่า ปลาไหลนี่จะขายไหม? จะขายเท่าไหร่ซื้อหมดละ ไม่ต่อเลย เขาก็ขาย ก็ซื้อ แล้วก็เอาไปปล่อยที่วัด นี่พอทำได้อย่างนั้นนะคะ มันมีความปีติยินดี มันปีติยินดีขึ้นมา นึกขึ้นมาทีไร จิตใจมันมีกำลังใจว่า เราได้ช่วยปลาไหลที่มันเนื้ออ่อนๆ ผิวอ่อนๆ นี่ ไม่ต้องเถลือกไถลไปกับซีเมนต์ที่ร้อนๆ อย่างนั้น แล้วเราก็ทำไมถึงทำได้ละตอนนั้นนะ ทำไมเราไม่นึกอายว่านี่ใครเขาเห็นเขาก็รู้จักเราไม่น้อยเหมือนกัน เพราะว่าเราทำงานอยู่ตรงแถวนั้น ทำไมถึงไม่นึกอาย นี่มาเรียกว่ามาวิเคราะห์ทีหลังว่า..ทำไมถึงไม่นึกอาย อ้อ..เพราะตอนนั้นนะเราลืมตัว เราลืมตัวเลย ลืมตัวอย่างไหน ที่พูดว่าลืมตัวนี่ค่ะเป็นภาษาคนหรือภาษาธรรม ที่พูดว่าลืมตัวนี่เป็นภาษาคนหรือภาษาธรรม? คะ..คะ ภาษาคนหรือภาษาธรรม? ลองนึกซิ คะ.. น่าจะคน ทำไมถึงน่าจะละ..คนก็คน ทำไมถึงน่าจะ.. ภาษาคนหรือภาษาธรรม.. ถ้าลืมตัว..ภาษาคนหมายความว่าอะไรคะ คำว่า..ลืมตัว..ในภาษาคนคือภาษาโลกๆ นี่หมายความว่าอะไรคะ? คนลืมตัวเป็นอย่างไร แหม..ยายคนนี้แกลืมตัวนะ เป็นคนอย่างไร แกลืมตัวว่าครั้งหนึ่งนี่แกเป็นอย่างไร แต่แหม..ตอนนี้แกทำใหญ่ นี่คือลืมตัวในทางโลก ดีหรือไม่ดี ... ไม่ดี เพราะคนลืมตัวนี่ก็คือหมายความว่า ลืมสถานะของตนว่าตนเป็นอย่างไร แล้วก็ลืมตัวในลักษณะของการมีความที่เราอาจจะว่าเย่อหยิ่งจองหอง นี่คือลืมตัว คือคนที่เคยเป็นตัวเล็กๆ หรือคนไม่มีอะไรมา แล้วตอนนี้ใหญ่..ใหญ่เกินกว่าที่ควรจะใหญ่ นี่ความหมายของ..ลืมตัว ในทางโลก หรือที่เราเรียกว่าภาษาคน
แต่ถ้าลืมตัวในภาษาธรรมนี่หมายความว่าอะไรคะ ลืมตัวในภาษาธรรมเป็นอย่างไร ตอนนั้นมีอัตตาหรือไม่มีอัตตา ลืมตัวในภาษาธรรมนี่ก็คือลืมอัตตาของตัวเอง ความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นใคร เราเป็นใคร ลืม..ทำไมถึงลืม ไม่นึกหรอกว่าเราเป็นใคร เราจะตั้งหน้าวิ่งเพื่อจะเอาปลาไหลตัวนั้นให้ได้นะ เราลืมเพราะอะไร เราลืมตัวตอนนั้นเพราะอะไร? อะไรออกหน้า ค่ะ..ความเมตตา ความเมตตา ความสงสาร ความเห็นใจเจ้าปลาไหลตัวนั้นออกหน้า ก็เลยทำให้ลืมตัวได้ นี่ถ้าเรามาวิเคราะห์ดูนะคะ ฉะนั้นนี่ด้วยความปีติที่เกิดจากการกระทำเล็กๆ น้อยๆ นี่อย่ามองข้าม เราทำกันทุกวันแหละ ใช่ไหมคะ? วันหนึ่งๆ นี่เราต้องทำละ..สักอย่างหนึ่ง ทำทุกวัน เพราะฉะนั้นเก็บเอามาพิจารณาและให้เกิดความชุ่มชื่นใจ ดีกว่าจะไปคิดอะไรที่ร้ายๆ ที่ทำให้จิตใจเศร้าหมองหดหู่ แล้วก็ดึงจิตให้วุ่นวายสับสนยิ่งขึ้น นี่เป็นวิธีเพิ่มกำลังใจ แต่ถ้าผู้ใดนึกถึงสิ่งที่กุศลกรรมใหญ่ๆ ที่พอคิดขึ้นมาแล้ว แหม..ยิ่งชื่นใจ ยิ่งภูมิใจ ก็ยิ่งดี ควรจะมีสิ่งเหล่านั้นเอาไว้ให้มากๆ นี่เป็นการเพิ่มกำลังใจด้วยปีติหรือปราโมทย์ อยากจะเล่าเรื่องสั้นๆ ที่เคยเล่ามาหลายแห่งแล้ว แต่มันเป็นเรื่องที่ติดใจ ที่เกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ ก็ถึงเรื่องนิทาน..ไม่ใช่นิทานเป็นเรื่องสั้นเขาเขียนขึ้น พูดถึงยายแก่ ๒ คน คนหนึ่งเป็นคุณนายมั่งมี อีกคนหนึ่งเป็นยายคนจน ยายคนจนนี่แกก็ปลูกผักบุ้งขาย คือปลูกผักบุ้งในแม่น้ำ แล้วพอถึงตอนเช้าแกก็จะไปเก็บผักบุ้งสดๆ อ่อนๆ ไปขายที่ตลาด ส่วนยายคนมั่งมีนี่เขาถือว่าเป็นคหบดีของในหมู่บ้านนั้น แล้วก็เป็นคนช่างทำบุญ จะไปวัดด้วยสำรับใหญ่ๆ สวยๆ งามๆ เสมอ แล้วก็ต้องเอาไปถวายท่านเจ้าคุณสมภารเจ้าวัด แล้วแกก็จะต้องคุยโอ้ไปตลอดวันแหละว่า สำรับของแกวันนี้มีอะไร เจ้าคุณฉันอะไร อร่อยอย่างไร จะต้องคุยโอ้ไปตลอด ทีนี้วันนั้นนะแกก็ทำน้ำพริกปลาร้า ยายคุณนายมั่งมีจะทำน้ำพริกปลาร้า แกก็ไปหาผักที่จะมากินกับน้ำพริกปลาร้า ก็คงได้หลายอย่าง แต่อีกอย่างหนึ่งที่อยากได้มากก็คือผักบุ้ง ผักบุ้งอ่อนๆ ไปกินกับน้ำพริกปลาร้า ก็มาพบยายคนจนนี่กำลังเก็บผักบุ้งเพื่อจะเอาไปขาย ก็บอกว่า เออ..ฉันขอซื้อผักบุ้งหน่อยซิ ฉันจะเอาไปถวายท่านเจ้าคุณจะได้ฉันกับปลาร้า ปลาร้าหลน
ยายคนจนก็พอได้ยินว่าเขาจะเอาผักบุ้งนี่เพื่อไปถวายเจ้าคุณฉันกับปลาร้าหลนก็มีศรัทธาขึ้นมา บอกไม่ต้องๆ ซื้อหรอก แล้วก็เลือกเก็บยอดอ่อนๆ นี่ให้ยายคุณนายมั่งมีนี่ไป เอาไปถวาย แล้วแกเองก็รีบเก็บผักบุ้งรีบเอาไปขาย แล้วก็รีบอาบน้ำแต่งตัวพร้อมบอกตัวเองว่า เรานี่ไม่ค่อยจะได้ไปวัดกับเขาเลย เพราะเจียมตัวว่าเราเป็นคนจน ไม่มีอะไรจะไปทำบุญ วันนี้เราได้มีผักบุ้งสดๆ กรอบๆ ซึ่งเป็นน้ำพักน้ำแรงของเรา แล้วก็เอาไปทำบุญ เพราะฉะนั้นแกก็รีบแต่งเนื้อแต่งตัว อาบน้ำอาบท่าสะอาดในตามภาวะของแกที่จะเป็นได้ แล้วก็ไปที่วัด พอกำลังเดินขึ้นบันไดศาลา ก็ได้ยินเสียงยายคุณนายมั่งมีคุยโอ้อยู่บนศาลาบอกว่า แหม..จาระไนนะว่าสำรับวันนี้มีอะไรบ้าง แล้วก็รวมทั้งน้ำพริก..ปลาร้าหลน แล้วก็นี่นะฉันสงสารแก..ก็เอ่ยชื่อยายคนจน ซึ่งเผอิญจำชื่อไม่ได้ ฉันสงสารแกนี่ทำมาหากินลำบาก ต้องปลูกผักบุ้งขาย ฉันก็เลยไปขอซื้อมา นึกว่าช่วยเหลือแกให้แกได้มีเงิน ก็เลยขอซื้อผักบุ้งยายคนจนนี่เอามาถวายพระ ก็พอดีที่ยายคนแก่คนจนนี่กำลังเดินขึ้นบันไดศาลาด้วยจิตใจที่ปีติอิ่มเอิบนะ โอ..วันนี้นะเราจะได้บุญกับเขา แล้วเป็นบุญที่มาจากน้ำพักน้ำแรงที่บริสุทธิ์ของเรา พอแกได้ยินอย่างนั้น..ก็เดาเถอะว่าจิตใจแกเป็นอย่างไร ก็คงจะต้องมัวหมอง เศร้าหมองด้วยความสลดสังเวชในใจไปบ้างแหละ แต่แกก็ขึ้นไปบนศาลา แล้วก็ยายคุณนายมั่งมีก็เอาสำรับนั่นไปประเคนท่านเจ้าคุณ ก็คงจาระไนตามนิสัยของแก ยายคนจนก็นั่งสงบเสงี่ยมเรียบร้อย พอถึงเวลากรวดน้ำแกก็มีความรู้สึกว่าวันนี้แกกรวดน้ำนานกว่าปกติ คือนานกว่าธรรมดา เพราะแกกรวดน้ำให้ทั้งคนตายและคนเป็น เข้าใจไหมคะ? คงเข้าใจใช่ไหม แกกรวดน้ำให้ทั้งคนตายและคนเป็น คนเป็นก็คือใคร ก็คือยายคุณนายมั่งมี การที่กรวดน้ำให้ยายคุณนายมั่งมีนี่เป็นการกรวดน้ำในลักษณะไหน ลองเดาสิคะเราเคยพูดกันถึงอันนี้มาบ้างเหมือนกัน ในลักษณะไหน? อา..อภัยทานนั่นเอง ให้อภัย..อโหสิ
เพราะฉะนั้นคำนี้นะคะ อยากจะขอเสนอให้ทุกคนนะจำติดปากไว้เถอะ อโหสิ อะไรๆ ที่เรารู้สึกว่าไม่ถูกใจ อโหสิ พออโหสิแล้วต่อด้วย อนุโมทนา จะดีมาก อนุโมทนาคืออะไร? คะ..อนุโมทนา ค่ะ..ยินดีด้วย ยินดีด้วยที่เขาทำอะไรดีๆ นะ หรือเขาจะได้ดี หรือเขาจะได้อะไรที่เราเห็นแล้วคนอื่นอาจจะอิจฉานะ แต่เราไม่ อโหสิ..แล้วก็ อนุโมทนา พออโหสิเท่านั้นแหละ จิตใจข้างในที่กำลังขุ่นเคืองนะ เชื่อไหมคะ..มันเบาลง ใช่ไหม? ปากเราพูดว่าเราอโหสินี่ มันก็จะเข้าไปที่ใจ เบาลง แล้วอนุโมทนา ยินดีส่งไปให้อีก ชุ่มชื่นขึ้นมาอีก เพราะฉะนั้นคำสองคำนี้จะช่วยให้ทุกคนนะมีแต่ได้ ไม่มีเสีย ได้อะไร ได้บุญได้กุศล ได้สิ่งที่จะนำความปีติปราโมทย์มาสู่จิตของเรา ทีนี้เรามาดูซิว่า เราได้คติอะไรจากเรื่องสั้นเรื่องนี้บ้าง ลองดูสิคะจะได้คติอะไรบ้าง คือการที่ทำทานนี่นะคะ ท่านก็บอกว่า ถ้าหากจะให้เกิดปีติปราโมทย์แล้วละก็ ต้องมีความบริสุทธิ์เกี่ยวกับการทำทานนั้น อันแรกที่สุดก็คืออะไร วัตถุบริสุทธิ์ วัตถุบริสุทธิ์นี่ก็ตั้งแต่อะไรละคะ ตั้งแต่เงินทองที่ไปซื้อข้าวของมา..ใช่ไหมคะ ที่เราจะไปซื้ออาหารหรือไปซื้อข้าวของถวายพระ หรือแม้แต่จะสร้างโบสถ์สร้างศาลา สร้างอะไรก็ตามที วัตถุ..เงินนั้นได้มาด้วยความสุจริต ด้วยอาชีพที่สุจริต ไม่มีอะไรต้องรู้สึกตะขิดตะขวงใจในเงินจำนวนนี้เลย ทีนี้อย่างของ..มาดูด้านยายคนจน วัตถุของยายคนจนนี่บริสุทธิ์ไหม วัตถุที่ทำทาน..บริสุทธิ์ ๑๐๐% ผักบุ้งปลูกจากน้ำพักน้ำแรงของแก ปลูกเองเก็บเอง แล้วนอกจากนั้นยังถวายด้วยจิตที่เป็นอย่างไร จิตที่ศรัทธา ศรัทธาเพื่อทำบุญอย่างเต็มที่เลย เพราะฉะนั้นจิตของยายคนจนนี่ก็พูดได้ว่า เป็นจิตที่ผ่องแผ้วในขณะทำบุญ..ใช่ไหมคะ ส่วนผู้ที่รับบุญเราไม่ต้องพูดถึงละ ก็เชื่อว่าท่านก็คงบริสุทธิ์สะอาดละ ไปถวายที่ในวัดนั่น ถึงแม้ว่าในขณะนั้นนะแกจะมีความหม่นหมองเกิดขึ้น เมื่อได้ยินคำของยายคุณนายมั่งมีนั่นนะ
แต่ว่าแกเป็นยายคนจนคงจะไม่มีการศึกษาสักเท่าไหร่ ถ้าพูดถึงการศึกษาที่เรียนกันในระบบสถาบันการศึกษา แกคงไม่มีสักเท่าไหร่หรอก อย่างมากก็จะอ่านออกเขียนได้ แต่ในใจของแกเป็นอย่างไร จิตใจข้างในของแกเป็นอย่างไร ก็เรียกว่าเป็นคนที่จิตใจสะอาดบริสุทธิ์พอสมควร เพราะในขณะที่เกิดความสลดสังเวชจากการกระทำของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันนี่ จิตแกตกต่ำไหมคะ? นึกดูซิตกต่ำไหมยายคนจนนะจิตตกต่ำไหม? ไม่ตกต่ำ เพราะถ้าหากว่าจิตแกตกต่ำ แกจะไปกรวดน้ำตั้งนานให้ทั้งคนตายและคนเป็นได้อย่างไร นี่ก็เรียกว่าในขณะที่จิตหมองมัวเพราะความสลดสังเวชจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จากเหตุปัจจัยอันนั้น แกก็กลับสามารถยกจิตของแกนี่ขึ้น นี่เป็นสิ่งที่น่าจะเอาอย่างนะ เราน่าจะเอาอย่าง สามารถยกจิตขึ้น ขึ้นสู่อะไรคะ ขึ้นสู่อะไร สู่อภัยทาน..ใช่ไหม ขึ้นสู่อภัยทานได้ แกกลับยกจิตขึ้นสู่อภัยทานได้ ใครจะทำได้ซักกี่คนนะ ถึงแม้คนที่มีการศึกษาก็เถอะ ใครจะทำได้ซักกี่คน เพราะฉะนั้นถ้าดูถึงคติที่ได้รับจากเรื่องสั้นเรื่องนี้แล้ว ถ้าเราพิจารณาในทางธรรม เป็นคติที่ลึกซึ้งนะ เป็นคติที่น่าจะสอนใจคนที่สนใจในการที่จะปฏิบัติธรรม การที่จะบริจาคทานเพื่อความบริสุทธิ์ ฉะนั้นถ้าเปรียบว่ายายคนจนนี่แกทำบุญ ๑ บาท สมมติบริจาค ๑ บาท ผักบุ้ง ๑ กำนี่ บุญที่แกได้เป็นอย่างไรคะ มหาศาล ได้บุญมหาศาล บุญมหาศาลจริงๆ ส่วนยายมั่งมีเป็นอย่างไร ลองพิจารณาทางด้านยายมั่งมี ยายคุณนายมั่งมีเป็นอย่างไร ถ้าเราพูดอย่างโลกๆ ได้บุญดีไหม? ยายคุณนายมั่งมีนี่ได้บุญดีไหม? คะ..ได้น้อย อ้อ..ยังให้บุญอีกหรือ? ยังให้บุญอีกหรือ..นึกดูให้ดีๆ ซิ ยายคุณนายมั่งมีนี่ได้บุญดีไหม? ได้บุญหรือได้บาป? สำหรับในกรณีนี้ ในวันนี้ ได้บุญหรือได้บาป? ได้บาป มองดูสิคะว่า ยายคุณนายมั่งมีแกก็เป็นคหบดีว่านั้นเถอะ คหปัตตานีของหมู่บ้านนั้น ซื่อสัตย์สุจริตไหม? เป็นคนขี้โกงหรือเปล่า? นี่เห็นแล้ว เห็นไหม? โกงอะไรละ โกงอะไร? โกงผักบุ้ง โถ..ผักบุ้งแค่นั้นนะไปโกงได้ ไม่ยอมแบ่งบุญให้ยายคนจน ซึ่งแกไม่มีโอกาสจะได้ทำบุญเลย แกจะทำบุญสักหน่อย ก็มาโกงเขา แต่ที่จริงโกงก็โกงไปเถอะ ยายคนจนเสียไหมบุญนั้น...ไม่ได้เสียเลย เพราะสิ่งที่ทำนั้นนะเขาได้ ๑๐๐% แต่นี่แกมาโกงเขาทำไม โกงให้แกบาปเปล่าๆ โกงผักบุ้งเรียกว่าโกงของ แล้วก็ยังโกงบุญเขาอีก
เพราะฉะนั้นก่อนที่แกจะทำอะไรต่ออะไรขึ้นที่บนศาลานี่ พอไปถึงวัดนี่ พระก็ทำอะไรเสียก่อนละ โดยมาก..ยิ่งชนบทละก็ต้องให้อะไรก่อนคะ นึกออกไหม..พระให้อะไรก่อน ให้ศีล...ใช่รึเปล่า แล้วยายคุณนายนี่ก็คงรับศีลเสร็จเรียบร้อยแล้ว เป็นอย่างไรศีล ข้อไหน? ศีล ๕ นี่ข้อไหน? เอ้า..ข้อไหนหมดไปแล้ว ข้อ ๒ อทินนา อทินนาทาน แล้วข้อไหนอีก จังๆ เลยเชียว ข้อ ๔ มุสา เต็มที่เลย..เห็นไหม เพราะฉะนั้นบุญที่แกคิดว่าจะได้นี่ แกไม่ได้หรอก แกได้แต่อะไร อา..ได้บาป ถูกแล้ว แล้วบาปอันนี้จะเห็นตรงไหนที่แกทำอย่างนี้ แกได้..ได้อะไร? แกได้ส่งเสริมอัตตาแกเอง แกคิดว่า แหม..อัตตาแกนี่ใหญ่ ยิ่งใหญ่ยิ่งขึ้น วันนี้แกได้หน้า แล้วยังมีผักบุ้งกรอบมาถวายให้พระฉันอีกด้วย แกได้หน้า นอกจากได้หน้าอันนี้แล้วยังได้หน้าอะไรอีก ว่าเป็นคนใจบุญ มีความเมตตา ไปช่วยซื้อผักบุ้งของยายคนจนแกเอามา นี่ล้วนแล้วแต่ส่งเสริมอัตตาทั้งสิ้น แล้วรู้จักไหมคะว่าอัตตานี้เป็นอย่างไร คะ..รู้จักไหมว่าอัตตานี้เป็นอย่างไร อัตตานี้คือตัวตนนะ คือความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวตน ซึ่งเป็นสิ่งที่ร้ายกาจมากเลยในทางพระพุทธศาสนา สิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนอยู่ตลอดเวลาก็คือเรื่องของ เรื่องของอะไรคะที่ตรงกันข้ามกับอัตตา อนัตตา..ใช่ไหมคะ ท่านทรงสอนเกี่ยวกับเรื่องของอนัตตา อัตตาคือความมีตัวตน แต่อนัตตาคือความไม่มีตัวไม่มีตน มันเป็นแต่เพียงสิ่งสมมติเท่านั้น ที่เรียกว่าเป็นตัวเป็นตน ชื่อนั้น นามสกุลนั้น ตำแหน่งการงานนั้น เป็นเพียงสิ่งสมมติขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้นสิ่งสมมตินี่..จริงหรือลวง มันเป็นสิ่งลวง เป็นมายา เป็นมายาตลอดเวลา มันไม่ใช่ของจริงเลย แต่คนส่วนมากในโลกนี้ก็อยู่กับมายา กอดรัดอยู่กับมายา ยึดเหนี่ยวอยู่กับมายา..ใช่หรือเปล่า ใช่ไหมคะ แม้แต่คนที่ดีๆ นะ ที่ก็ได้ชื่อว่าเป็นคนดี แต่ก็ยังมีความทุกข์เป็นอันมากก็เพราะยึดมั่นอยู่กับมายาของสิ่งที่เรียกว่าตัวตนหรืออัตตานี่แหละ เป็นตัวฉันเป็นของฉัน อะไรที่มาเกี่ยวข้องกับตัวฉันของฉัน จะต้องเอาให้ดีๆ
เหมือนอย่างยายคุณนายคนนี้แกก็ไม่คิดหรอกว่า ดีที่แกจะได้จะมาทางไหน แกจะเอาทั้งนั้น เพราะฉะนั้นก็ขอให้นึกดูเถอะว่ายายคุณนายคนนี้แกส่งเสริมอะไร .. ส่งเสริมอัตตา ซึ่งตรงกันข้ามกับคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่พระองค์ทรงสอนถึงเรื่องของ..อนัตตา พระองค์ทรงสอนอยู่ตลอดเวลาว่า ให้เห็นเถิดว่า..ทุกสิ่งที่มีอยู่ที่เป็นอยู่นี้ ไม่มีสิ่งใดเป็นสิ่งจริงเลย มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยเท่านั้นเอง จริงๆ แล้วละก็มันล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งสมมติทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่ยายคุณนายคนนี้ได้นี่ก็คือ ได้อัตตาตัวตนที่โตขึ้นๆ แล้วเป็นอย่างไร แล้วผลของการมีอัตตาตัวตนโตขึ้นๆ เป็นอย่างไร..คะ นี่คงยังไม่ค่อยรู้จักอัตตาใช่ไหม? ยังไม่ค่อยรู้จักอัตตาตัวตนใช่ไหม? ..คะ เป็นอย่างไร ..ทุกข์.. ยิ่งโตเท่าไหร่ก็ยิ่งทุกข์เท่านั้น ลองไปนึกดูเถอะ ตอนไหนที่อัตตาของเราโตๆ นะ เคยมีไหม? แล้วทุกข์ไหม? ถ้าวันไหนอัตตาหด..สบ๊าย สบาย ถ้าวันไหนอัตตาว่าง มองไม่เห็นอัตตา โอ..แสนสุข แสนสุขสงบเย็น ลองนึกดูเถอะ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงทรงสอน ไปอ่านดูในพระไตรปิฎกเถอะ ท่านจะสอนเสมอ สอนทุกคน สอนทุกองค์ที่เป็นสาวก “สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า” พระราหุลก็จะทูลตอบว่า “เป็นทุกข์พระเจ้าข้า” สิ่งใดไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะไปถือว่าสิ่งนั้นเป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา เป็นอัตตาของเรา พระราหุลก็จะทูลตอบว่า ไม่ควรพระเจ้าข้า เราสมมติเป็นตัวพระราหุลบ้างสิคะ ถ้าหากว่าท่านทรงถามอย่างนี้ แล้วเราจะตอบพระองค์ว่าอย่างไร แล้วเมื่อเราตอบพระองค์อย่างนี้ เราควรจะจดจำเอามาไว้ไหม ว่านี่นะมันไม่ใช่ๆ แต่มันมีอยู่ เราก็ใช้มันไป ตามหน้าที่ที่มันมีอยู่ มีอยู่ก็ใช้..คือใช้มันทำงานทำการนั่นแหละ ที่เราต้องการจะทำ ทำงานทำการ ใช้ทำกิจการอะไรอื่นๆ ที่จะเกิดประโยชน์แก่ตัวเอง แต่ไม่ต้องเอามาเป็นของเรา เราก็จะทำได้โดยไม่ต้องเป็นทุกข์ พระองค์จึงทรงสอนถึงเรื่องของ..อนัตตา ว่าจริงๆ แล้วไม่มีอะไรเป็นตัวตน และอนัตตาของพระพุทธเจ้านี่แหละ ที่ทำให้พุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาที่เด่นหรือวิเศษกว่าทุกศาสนา เพราะศาสนาอื่นเขาจะไม่พูดถึงเรื่องของ..อนัตตา การทำความดีอย่างนี้ ก็สอนกันเหมือนกันแหละทุกศาสนา แต่ในเรื่องของอนัตตานี่ ก็จะมีพุทธศาสนาของเราเท่านั้น
ทีนี้ก็อยากจะชวนให้ลองคำนึงถึงสักนิดหนึ่งว่า เหตุที่ยายคุณนายมั่งมีนั่นนะแกต้องผิดศีลอย่างฉกรรจ์ๆ อย่างนั้น หรืออาจจะมีใครๆ อีกหลายๆ คนที่มีความด่างพร้อยในการปฏิบัติเกี่ยวกับศีล..เพราะอะไร? ได้เคยลองพิจารณาไหมคะว่าเพราะอะไร? สิ่งแรกที่สุดก็คือ ไม่เข้าใจในการปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องศีล อย่างเราทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่ เชื่อว่าเราเคยรับศีลกันแล้ว ขณะนี้ก็อาจจะบอกตัวเองว่า..ฉันกำลังรับศีลอยู่ด้วย ทีนี้เข้าใจเรื่องความหมายของศีลจริงๆ แล้วหรือยัง? หรือส่วนมากที่รับๆ กัน ก็รับตามพิธีรีตอง เอาละเราไปงานนี่ เขามีงานพิธี อย่างนั้นใครเข้าไปในงานพิธี พระท่านให้ศีลก็เรียกว่ารับตามพิธี คือรับตามธรรมเนียม แต่ว่าไม่ได้นึกว่าเราจะต้องรักษาศีลที่รับจากพระสงฆ์ที่ท่านให้แล้วนี้เอาไว้ให้หมดจด คือให้หมดจด ให้สะอาด ทั้งกายวาจาใจ ไม่ได้คิด อย่างนี้ท่านเรียกว่ารับศีลตามธรรมเนียม ไม่มีความหมาย..ใช่ไหมคะ? คงจะเคยทำกันหลายครั้ง ยิ่งรีบๆ ร้อนๆ มาถึงก็รับตามที่ท่านบอก บางทีไม่ได้ทันนึกด้วยซ้ำไปว่าข้อที่เราพูดมานี่คืออะไร ฉะนั้นท่านจึงแนะนำว่าเมื่อเวลาที่จะรับศีล อย่ารับศีลอย่างอุปาทาน อุปาทานนี่คืออะไรคะ? อุปาทาน พูดกันหลายครั้งแล้วว่า..อุปาทานคืออะไร? อุปาทาน .. ยึดมั่นถือมั่น ถ้าหากว่ารับศีลอย่างอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่น เคยได้ยินเขาประกวดศีลกันไหมละคะ คนที่มาวัดนะ ศีลของฉันบริสุทธิ์ ของเธอข้อนี้ด่างพร้อยแล้วนะ เคยได้ยินไหม ถ้าหากว่ารับศีลอย่าง..อุปาทานก็คือ ยึดมั่นถือมั่นว่านี่เป็นศีลของฉัน ฉันได้รับศีลแล้ว เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนว่า เมื่อเวลาจะรับศีลละก็ให้รับอย่างสมาทาน ควรจดจำคำนี้ไว้นะคะ สมาทานคือหมายความว่า รับอย่างถูกต้อง คำว่า..ถูกต้อง นี่คือเข้าใจความหมายของศีลนั้นด้วย เข้าใจลักษณะวิธีปฏิบัติ คือประพฤติต่อศีลนั้นอย่างถูกต้องด้วย และการรับอย่างสมาทานต้องมีปัญญาประกอบในการรับศีลนั้นด้วย ถ้าหากว่าไม่มีปัญญาประกอบมักจะเป็นการรับศีลอย่างอุปาทาน คืออย่างยึดมั่นถือมั่น
แล้วเสร็จแล้วศีลนั้นแทนที่จะเป็นบุญก็กลายเป็นบาปที่เข้ามาถึงตัว เพราะความหมายของศีลหมายความว่าอะไรคะ? ที่มารับศีลนี่รับเพื่ออะไร? คะ..รับข้อห้าม รับศีลเพื่ออะไร? เราอยู่ดีๆ ไม่ดีหรือไปรับให้ลำบากลำบนทำไม รับศีลเพื่ออะไร ศีลมีหมายความว่าอะไรคะ? เพื่ออะไร? เพื่อความปกติ ความปกติของกายวาจาที่เห็นข้างนอก แต่แน่นอนแหละ..ใจนั้นจะต้องมีความเข้าใจก่อนในความหมายของศีลนั้นคืออะไร? นี่ก็ไม่ใช่เรื่องเล่นเหมือนกันนะ เรื่องสำคัญ เพราะเรารับศีลกันอยู่ทุกวัน จึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของศีล ความหมายของศีลคือ ปกติ เพราะว่าศีลนี่ก็เป็นเรื่องของธรรมชาติที่มนุษย์เรามีกันอยู่ทุกคน ธรรมชาตินั้นมีความปกติ แต่ธรรมชาติอยากจะบอกว่า เมื่อใดที่มีความไม่ปกติเกิดขึ้น อันนี้มันไม่ถูกต้องแล้วนะ ไม่ถูกต้องตามธรรมชาติ ทีนี้มนุษย์เราก็บัญญัติคำขึ้นมา คำที่จะช่วยให้เกิดความเป็นปกติแก่ชีวิต จะต้องมีระเบียบปฏิบัติอย่างนี้ แล้วก็เรียกระเบียบปฏิบัตินี้ว่า..ศีล เพราะฉะนั้นศีลจึงหมายถึง..ความปกติ ผู้ใดที่รับศีลนี่ก็เพื่อที่ว่า อาจจะเป็นว่าเราไม่แน่ใจว่าเราจะสามารถรักษากายให้สุภาพ เรียบร้อย นุ่มนวล สงบเย็น รักษาวาจาให้เป็นสัมมาวาจา ไพเราะ น่าฟัง เกิดประโยชน์อยู่เสมอ เพราะฉะนั้นก็มารับศีลเพื่อจะได้มีอะไรสักอย่างเป็นกรอบคอยเตือนใจ คอยบังคับตัวเอง ให้มีความปกติในการกระทำและในการพูด เพราะฉะนั้นความหมายของศีลนั้นคือ..ปกติ แต่แน่นอนนะคะ..ต้องมาจากใจ ถ้าหากว่าไม่มาจากใจ มันก็จะมีแต่เพียงรับตามพิธีรีตอง หรือมิฉะนั้นก็รับด้วยอุปาทานแบบต้องรับเพื่อว่าฉันจะได้เป็นผู้มีศีล ให้ใครๆ ก็นับถือ
ฉะนั้น ใจนี่ก็ต้องมีความหมายอยู่ในการรับศีลด้วย แม้ท่านจะพูดว่าศีลนี่จะช่วยให้กายกับวาจาปกติ แต่มันต้องคุมไปถึงใจ และใจอันนี้จะต้องประกอบไปด้วยอะไร? ก็คือประกอบด้วยปัญญา จะต้องมีปัญญาที่จะต้องเข้าใจว่า ศีลนี้คืออะไร มีความหมายว่าอย่างไร และเราจะรับศีลนี้ด้วยวิธีใด ศีลนั้นจึงจะช่วยให้มีความปกติขึ้นแก่ใจของเราได้ แล้วก็มีความหมดจด ไม่ด่างพร้อย ฉะนั้นศีลนี่ก็คือ..ความปกติ ทีนี้ความหมายของศีลทั้ง ๕ ข้อ เข้าใจชัดเจนดีหรือยังคะ? เราเคยพูดกันครั้งหนึ่งแล้วเหมือนกัน
ข้อที่ ๑ ปาณาติปาตา เวระมะณี หมายความว่าอะไร? ไม่ประทุษร้ายชีวิตร่างกายของผู้อื่น ผู้อื่นก็รวมทั้งคนทั้งสัตว์ ทุกอย่างนั่นแหละ ไม่ประทุษร้ายชีวิตของเขา
ข้อที่ ๒ อะทินนาทาน ไม่ลักขโมย ไม่หยิบฉวยของอื่นของผู้ใด โดยไม่ได้รับอนุญาตไม่ว่าของเล็กนิดหน่อยเพียงใดก็ตาม
ข้อที่ ๓ กาเมสุมิจฉาจาร ไม่ล่วงของรักของผู้อื่น นี่ความหมายของข้อนี้นะคะ เพราะที่บอกว่า ไม่ล่วงสามีภรรยา ก็เพราะสามีเป็นที่รักของภรรยา ภรรยาเป็นที่รักของสามี ไม่ชอบให้ใครมาล่วงของเรา ฉะนั้นท่านก็รวมความไปถึงไม่ล่วงของรักของผู้อื่น อะไรที่เป็นของรักของเขา จะเป็นลูกเต้า จะเป็นข้าวของ สิ่งของ จะเป็นรถยนต์ จะเป็นบ้านสวยๆ จะเป็นสวนดอกไม้งามๆ อย่างนี้เป็นต้นนะคะ ไม่ไปล่วงของรักของเขา รู้ว่าเขารักก็ไม่ไปแกล้ง ทำให้มันช้ำ ทำให้มันเสียหาย ถ้าหากไปแกล้งทำนี่ก็รวมอยู่ในข้อ ๓ นี้ด้วย
ข้อที่ ๔ มุสา รู้สึกเราเคยพูดกันแล้วใช่ไหมคะ? ไหนลองทวนอีกสักนิดหนึ่งซิ นอกจากไม่พูดปดแล้วก็คือ ไม่ควรจะพูดเพ้อเจ้อ ส่อเสียด คำหยาบ ต่างๆ เหล่านี้ มันรวมความไปหมดนะคะ แล้วก็
ข้อที่ ๕ สุราเมระยะ ง่ายๆ ที่เรารู้กันก็คือ ไม่ดื่มน้ำเมา แต่การดื่มน้ำเมาแล้วก็คือ ทำให้เกิดความประมาท ท่านใช้คำว่า เป็นการทำร้ายหรือประทุษร้ายสมปฤดีของตนเอง สมปฤดีก็คือความรู้สึกรับผิดชอบ ความรู้สึกถูกต้อง อะไรถูกต้อง อะไรผิด พอไปโดนสิ่งที่หลงใหลมัวเมาเข้า ความรู้ผิดรู้ชอบไม่มี เพราะฉะนั้นอันนี้ท่านจึงบอกว่าต้องระมัดระวัง
ศีลทั้ง ๕ ข้อนี้ถือว่าเป็นแม่บทของศีลอื่นๆ จะเป็นศีล ๘ จะเป็นศีล ๒๐๐ จะเป็นศีล ๓๐๐ เช่นอย่างของภิกษุณีนี่ ๓๑๑ ข้อ จะเป็นศีลแตกออกไปเท่าไหร่ก็ตาม ล้วนแล้วแต่แตกออกไปจากศีล ๕ ทั้งสิ้น ถ้าหากว่าผู้ใดสนใจก็ลองไปเปิดพระไตรปิฎกดูนะคะ ที่เล่มที่ชื่อว่า ศีลขันธวรรค ท่านจะมีศีล อย่างศีล ๕ นี่ก็อยู่ในจุลศีล แต่จุลศีลนี่ท่านจะแตกรายละเอียดออกไป เพื่อให้ระมัดระวังถี่ยิบยิ่งขึ้นถึง ๒๖ ข้อ และท่านเรียกว่าจุลศีล พอต่อจากจุลศีลไป ก็จะเป็นมัชฌิมศีล ท่านก็อธิบายแยกแยะไปอีก ก็ออกไปจาก ๕ ข้อนี่แหละ อีกถึง ๑๐ ข้อ พอไปถึงมหาศีล จากมัชฌิมศีลก็จะไปถึงมหาศีล ท่านก็แตกออกไปอีกเหมือนกัน แต่จะไปเน้นในเรื่องของเดรฉานวิชาในลักษณะต่างๆ อีก ๗ ข้อ
ฉะนั้น เวลาที่พระพุทธองค์ท่านทรงสอนเรื่องศีล ท่านจะจาระไนอย่างละเอียดเลยทีเดียว จุลศีล ๒๖ ข้อ มัชฌิมศีล ๑๐ ข้อ มหาศีล ๗ ข้อ แล้วต่อจากนี้ไปท่านก็จะอธิบายรายละเอียดต่างๆ เพื่อให้ผู้ฟังนี่ได้เข้าใจถึงความสำคัญของศีล ว่าศีลนี้ทำไมจึงสำคัญ เพราะเป็นบาทฐานของสมาธิ นี่ละค่ะถ้าหากว่าสมาธินั้นไม่สามารถจะรวมได้ บางทีก็เป็นเพราะว่าความด่างพร้อยของศีลที่ได้ประพฤติปฏิบัติในวันหนึ่งๆ เผอิญนึกขึ้นมาได้มันตะขิดตะขวงใจ นึกขึ้นมาได้มันก็กลายเป็นนิวรณ์ไปโดยไม่รู้ตัว พอกลายเป็นนิวรณ์ไปโดยไม่รู้ตัวจิตใจนี่ก็วุ่นวาย ระส่ำระสาย ไม่สามารถจะรักษาความสงบได้ ฉะนั้นการรักษาศีลจึงควรจะรู้จักว่าจะต้องรักษาด้วยการสมาทาน คือรักษาไว้ให้ถูกต้อง ด้วยการมีปัญญาเป็นตัวนำ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของปัญญา พระพุทธเจ้าจะทรงใช้ปัญญานำในทุกเรื่อง แม้แต่ในการรับศีล ถ้ารับศีลโดยไม่ใช้ปัญญาก็จะเป็นอุปาทาน หรือมิฉะนั้นก็เจตนาอย่างเคร่งครัด แล้วก็เอามาเป็นทุกข์ทีหลัง ไม่ยอมปล่อย เพราะฉะนั้นอันนี้ถ้าใช้ปัญญาแล้วก็จะดูที่เหตุปัจจัยในการประพฤติปฏิบัติที่เหมาะสม ที่ควรกระทำ นอกจากนั้นธรรมะที่จะช่วยประคับประคอง ให้การปฏิบัติต่อศีลนั้นเป็นไปได้โดยสะอาดหมดจด และก็ไม่ด่างพร้อย ก็ควรจะมีประจำใจ
ข้อแรก เมื่อตั้งใจรับศีลแล้วควรจะมีอะไร? อันนี้ละสำคัญ สำคัญกับชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรม เมื่อตั้งใจรับศีลแล้วควรจะมีอะไร? อ้าว..เรารับปากใครว่าจะทำอะไรสักอย่าง เราควรจะมีอะไร? สัจจะ สัจจะ..อย่าลืม เราต้องมีสัจจะ เอาละรับศีล ๕ จะรับศีล ๕ ให้บริสุทธิ์สะอาดหมดจดตลอดพรรษานี้ ต้องมีสัจจะ ตั้งใจเอาจริง พอจะพลาดพลั้งต้องรีบดึงกลับมา
ข้อที่สอง ทมะ (ท-ทหาร ม-ม้า ะ-สระอะ) ความข่มขี่บังคับใจ เพราะการทำความดีนี่ยากใช่ไหมคะ? มันไม่เหมือนการทำตามกิเลสมันง่าย โลภโกรธหลงนี่มันง่าย แต่พอจะทำตรงกันข้ามนี่มันยาก มันจึงต้องมี..ทมะ คือการข่มขี่บังคับใจ กัดฟันกัดลิ้นเอาไว้ ไม่ยอมๆๆ เอาให้มันผ่านพ้นให้ได้ เพื่อความหมดจด บริสุทธิ์ ไม่ด่างพร้อย ท่านจึงบอกว่า มี..สัจจะ..แล้วต้องมี..ทมะ.. ความข่มขี่บังคับใจ แล้วก็ต้องมี นึกออกไหมใกล้ๆ กันกับ..ทมะ คืออะไร อันนี้พูดถึงกันบ่อยๆ .. ใกล้ๆ กับ..ทมะ คืออะไร?
ขันติ .. ขันติ ความอดกลั้น ความอดทนต่อสิ่งที่จะมายั่วยุ มายั่วยุให้ศีลแตกนะ ให้ศีลสกปรก ไม่ยอม ขันติคืออดทนอดกลั้น ไม่ยอม ไม่ยอมแพ้ต่อความยั่วยวนของสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น แล้วก็
ข้อที่สี่ต่อไปก็คือ จาคะ จาคะคือบริจาค แต่บริจาคอันนี้ไม่ต้องบริจาควัตถุ สิ่งของ เงินทอง บริจาคอะไร? ไม่ต้องควักกระเป๋าเลย บริจาคสิ่งที่จะเป็นอุปสรรคต่อการที่จะรักษาศีลให้สะอาดบริสุทธิ์ เช่น ความโลภ โลภะใช่ไหมคะ? ถ้าเกิดโลภขึ้นมามันอาจจะทำข้อไหนได้ ใน ๕ ข้อนี่ค่ะ ไม่ใช่ข้อเดียวด้วย อาจจะทำได้ตั้งแต่..ปานาฯ อทินนาฯ มุสาฯ ได้หมดนะ เกือบจะว่าได้หมดทุกข้อ เพราะฉะนั้น..จาคะ คือบริจาคนี่ ก็คือจาคะกิเลสทั้งหลายนั่นเอง ความโลภ ความโกรธ พอโกรธขึ้นมาศีลข้อไหนหลุดโดยไม่รู้ตัว ข้อ ๔ ใช่ไหมคะ? ผรุสวาจาออกมาโดยไม่รู้ตัว ความหลง .. ความหลง โมหะ เกิดขึ้นมาได้หมดทุกตัว ทั้ง ๕ ข้อเลย เพราะฉะนั้น..จาคะ..อันนี้อยากจะขอให้จำเอาไว้ ผู้ใดต้องการปฏิบัติธรรมพยายามฝึกข่มขี่บังคับใจของตนให้จาคะ คือบริจาคความโลภ ความโกรธ ความหลง แล้วก็ที่จะนำอะไรต่อมา พอโลภเข้าอยากหรือไม่อยาก .. อยาก .. พอโกรธเข้าอยากหรือไม่อยาก .. อยาก .. แต่มันอยากตรงกันข้ามใช่ไหมคะ? พอหลงเข้าอยากหรือไม่อยาก .. อยาก .. วนเวียนอยู่นั่นๆ จิตก็วนเวียนอยู่กับเรื่องนี้ นอนก็วนเวียนอยู่กับเรื่องนี้ ทำอะไรก็วนเวียนอยู่กับเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นถ้าผู้ใดหมั่นบริจาคอันนี้ออกไป นี่แหละเป็นการประพฤติธรรมสูงสุด บรรลุไม่รู้ตัว ไม่ใช่พูดเล่นๆ นะคะ ลองดู บรรลุไม่รู้ตัวจริงๆ หมั่นบริจาค เพราะฉะนั้นที่บอกว่าพุทธศาสนาวิเศษนี่ วิเศษอย่างนี้ไม่ต้องเป็นเศรษฐีละ บริจาคได้หมดเท่าๆ กันเลย บริจาคโลภะ โทสะ โมหะ ตัณหา อุปาทาน บริจาคไปเถอะทีละเล็กทีละน้อย บรรลุไม่รู้ตัว แล้วก็ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องศีล ศีลนี่จะสะอาดหมดจด ชื่นอกชื่นใจ นึกขึ้นมาเมื่อไหร่แล้ว..ปีติ ปราโมทย์ ภาคภูมิ อิ่มใจ ไม่ต้องมีเงินทำบุญเลยก็ได้ เขาจะสร้างโบสถ์สร้างวิหารให้เขาสร้างไป เราไม่มีเงินไม่เป็นไร แต่เราทำบุญอันนี้เราบริจาคอันนี้ยิ่งใหญ่กว่า..เชื่อไหม? ถ้าเชื่อก็ลองทำดู ถ้าเชื่อก็ลองทำดูไม่ต้องเอาเงินไปบริจาคอะไร เราไม่มีก็ไม่เป็นไร ทีนี้นอกจากจะมี สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ นะคะ ที่ควรจะมีอีกก็คือ...
หิริและโอตตัปปะ ใช่ไหม? นี่สำคัญมาก เป็นธรรมะทั้งคู่ทีเดียว ที่ไม่ควรปล่อยเลย..หิริและโอตตัปปะ ต้องมีความละอาย ตั้งสัจจะไว้แล้วนะ ถึงไม่มีใครเห็นเราก็รู้ เราก็รู้อยู่กับตัวเอง แล้วเราจะไปพูดกับใครได้ว่า ฉันนี่นะถือศีลตลอดพรรษา มันก็พูดไม่ได้ มันก็อายเขา ยกเว้นคนไม่อายก็ไม่ต้องมารับศีลหรอก ไม่ต้องมีดีกว่าไม่ต้องรับดีกว่า เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้นะก็เป็นสิ่งที่ควรที่จะคิดให้มากๆ ในเรื่องของศีล แล้วก็ให้ระลึกอยู่ว่า อย่ารับศีลประกวดกัน แล้วก็ไม่ต้องรับศีลด้วยเจตนาจะเอาให้เคร่ง แล้วเสร็จแล้วก็มารู้สึกว่าเป็นทุกข์ เพราะไม่ได้ใช้ปัญญา
นี่วันนี้เราก็ได้พูดกันถึงเรื่องของทาน เรื่องของศีล มาพอสมควรแล้วนะคะ ที่จะให้เห็นถึงความสำคัญ และก็รวมถึงเรื่องของนิวรณ์ มีอะไรจะต้องการจะพูดคุยสนทนาซักถามเชิญได้ เดี๋ยวจะเบื่อฟัง สมาทานเองนี่ดีที่สุดเลย เพราะอะไร? เราจะยิ่งมีสัจจะกับตัวเอง และก็จะรู้สึกว่ารับผิดชอบ ๑๐๐% อย่างหลวงพ่อท่านอาจารย์ชาที่เคยเล่าให้ฟังไว้ บ่อยๆ ท่านจะบอกญาติโยมที่เข้ามาที่วันพระนะค่ะ แล้วท่านก็จะบอก วันนี้อาตมาไม่ให้ศีลแล้วนะ..ว่ากันเอง ท่านบอกว่า..จะได้รับได้ด้วยความหนักแน่นมั่นคง มีอะไรอีกคะ นี่พอจะนั่งสมาธิ..เออ วันนี้เราพิจารณาศีลซิ พอพิจารณาแต่ละข้อๆๆ ไม่มีด่างพร้อย จิตสงบ สบาย เพราะฉะนั้นพอดำเนินในเรื่องสมาธิตามวิธีการที่ได้เรียนศึกษามา ปฏิบัติมา มันจะไปได้เลย ไปได้คล่อง จิตสงบเย็นได้ เพราะไม่มีนิวรณ์อย่างไรคะ นิวรณ์ไม่เข้ามากางกั้น สงบเย็นได้ ท่านจึงบอกศีลเป็นบาทฐานของสมาธิ และสมาธิเป็นบาทฐานของปัญญา เป็นบาทฐานของปัญญาตรงไหน ก็เพราะว่าเมื่อจะพิจารณาในธรรมะที่เป็นสัจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ต้องใช้จิตที่สงบนิ่ง เป็นสมาธิที่ใสสะอาด จึงจะสามารถพิจารณาสิ่งที่เป็นสัจธรรม เช่น เรื่องของไตรลักษณ์ เรื่องของอิทัปปัจจยตา โดยเฉพาะเรื่องของอริยสัจ ๔ ที่ท่านถือว่าเป็นประธาน เป็นหลักของพระพุทธศาสนาที่จะทำให้บุคคลนั้นนี่ได้บรรลุถึงธรรมในขั้นสูงได้หรือไม่ ท่านจึงบอกว่าเป็นบาทฐานซึ่งกันและกัน ก็ศีล ๕ นี่ค่ะเป็นศีลพื้นฐาน ที่ท่านบอกว่าเป็นแม่บทของศีลทุกอย่าง ทีนี้ส่วนอีก ๓ ข้อในศีล ๘ นั่นก็คล้ายๆ กับเพื่อที่จะให้ระมัดระวังยิ่งขึ้น หรือท่านเรียกว่าเป็นศีลที่จะทำให้งามมากขึ้น..ว่าอย่างนั้นเถอะค่ะ อย่างศีล ๕ นี่ก็เรียกว่าเป็นข้อปฏิบัติที่ควรต้องกระทำ แต่ถ้าหากว่าเราไปรับศีล ๘ อีก ๓ ข้อ เช่นอย่างข้อนัจจะ คีตะฯ อะไรนั่นนะคะ แล้วเราไม่ทำสิ่งเหล่านั้น มันก็ทำให้งาม งามขึ้น ไม่ผิดศีล ๕ แล้วก็งามขึ้น เพราะฉะนั้นอย่างที่พูดถึงจุลศีลที่ท่านแจกแจงออกมาตั้ง ๒๖ ข้อนะคะ ไปดูเถอะล้วนแล้วแต่อธิบายออกมาจาก ๕ ข้อ แต่ท่านละเอียด ท่านแจกแจงให้ละเอียด จะได้เข้าใจดียิ่งขึ้น แต่ถ้าหากว่าผู้ใดตั้งใจที่จะรับศีล หรือเป็นผู้มีศีลอย่างชนิดที่เรียกว่าตลอดไปนะคะ ก็น่าจะพยายามหลีกเลี่ยงที่ที่เป็นอโคจร อโคจรคือที่ที่ไม่ควรไป โคจรแปลว่าไป อโคจรก็ที่ที่ไม่ควรไป ถ้าเราไม่มีเจตนาที่จะล่วงศีลในข้อนั้นนะคะ ก็ถือว่าไม่เป็นไร รับศีลแล้วจิตใจก็สบาย สงบนะค่ะ ถ้าเรามีรับแล้วรู้สึกสะอาด สบาย ปกติ คือใช้ได้ ที่บ้านละควรรักษามากๆ