แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ธรรมสวัสดีค่ะ มีคำถามอะไรบ้างไหมคะ เกี่ยวกับตัวกูของกู หรือความเห็นแก่ตัว ที่เราเคยพูดกันมาแล้วหลายครั้ง
ผู้ดำเนินรายการ : มันก็เป็นธรรมชาติที่สัญชาตญาณคนเรามันต้องมีบ้าง ในการดำรงชีวิต การทำมาหากิน หรือการป้องกันภัย ต้องมีความเห็นแก่ตัวบ้าง ทีนี้มันก็อยู่ไม่รอด การเห็นแก่ตัวที่มันแบบฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น จะมีขอบเขตในการแบ่งแยกอย่างไร
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็หมายความว่า เรามีความรู้สึกว่าเกิดเป็นคนมันย่อมจะต้องมีความเห็นแก่ตัว จะไม่มีความเห็นแก่ตัวเสียเลยนี่ ดูมันจะเป็นไปไม่ได้ ใช่ไหมคะ ทีนี้เราก็ไม่อยากจะเห็นแก่ตัวอย่างร้ายๆ ที่จะทำให้คนอื่นเขาเห็นว่า แหม มันร้ายไม่อยากคบ ไม่อยากเป็นเพื่อน แต่ก็ยังมีความเห็นแก่ตัวอยู่บ้าง เพราะฉะนั้นจะเห็นแก่ตัวอย่างไร มันถึงจะไม่เหลือเกิน อันนี้ก็พูดได้ว่าในขั้นแรกก็นึกถึงว่าเราจะต้องพยายามที่จะรักษาตัวอันนี้ คือเรามีความเห็นแก่ตัว แต่เห็นแก่ตัวเพื่อรักษาตัวอันนี้ อย่างที่บอกว่าจะรักษาให้มันรอด ก็คือให้รอดจากความหายนะ ให้รอดจากความชั่ว จากความผิดพลาดต่างๆ นานา
เช่น เป็นต้นว่าไม่ไปหลงเล่นการพนัน หรือว่าไม่ไปดื่มสุรายาเมา ไม่ไปติดยาเสพติดต่างๆ เหล่านี้ เราก็สามารถจะรักษาตัวของเราด้วยความเห็นแก่ตัวในทางที่ดีนี่ เพื่อให้ตัวเรานี้มีความความปลอดภัย มีร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพดีทั้งร่างกายทั้งจิตใจ และสิ่งที่จะเป็นปัญหาแก่ชีวิตมันก็เกิดขึ้นน้อย มันจะไม่เกิดขึ้นมาก
เพราะการที่เราจะไม่ไปทำสิ่งที่ผิดพลาดหรือว่าเหลวๆ ไหลๆ ดังกล่าวมาแล้วนั้น มันก็จะทำให้เราไม่ต้องไปพบกับสิ่งที่เป็นปัญหา เป็นปัญหาเช่น การขาดแคลนทรัพย์ เงินทองไม่มี ต้องไปกู้หนี้ยืมสินเขา หรือว่าเกิดปัญหาในการที่ขาดสติเพราะว่าไปเสพของมึนเมาต่างๆ ก็ไปลุแก่อำนาจของโทสะ ด้วยความหลงไปทำอะไรที่ผิดพลาด จนอาจจะเป็นเรื่องที่เป็นอาชญา อาชญากรรมต่างๆ ขึ้นมา อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นความเห็นแก่ตัวเพื่อรักษาตัวให้รอดพ้นจากความหายนะ อันนี้ก็ดีนะคะ ก็ดี แล้วก็เชื่อว่าทุกคนก็คงเข้าใจที่จะว่าเราจะมีความเห็นแก่ตัวในลักษณะนี้
แต่ทีนี้มันก็มีประเด็นอยู่อีกนิดหนึ่งที่จะต้องถามตัวเองต่อไปว่า ในขณะที่เรารักษาตัวของเราด้วยความเห็นแก่ตัวอันนี้ เพื่อให้เราเป็นคนดี ให้รอดปลอดภัยจากปัญหา จากความหายนะทั้งปวงนี่ แล้วถ้าเผอิญมีใครเขามาว่า เรานี้มันไม่ดี มันหน้าไหว้หลังหลอก มันใช้ไม่ได้ มันทำเป็นว่าดีแต่ต่อหน้า พอไม่มี ไม่มีใครเห็นน่ะ ไปดูมันสิ ไม่เหมือนต่อหน้าเลย เรารู้สึกเป็นอย่างไร
ผู้ดำเนินรายการ : เฉยๆ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เฉยๆ ถ้าเฉยๆ นี่ยกให้เลย ยกให้ได้เลย จเลิศไม่มีความเห็นแก่ตัวแล้ว จเลิศถึงไม่หวั่นวิตกไง ไม่หวั่นวิตกว่าใครเขาจะว่าอย่างไร ก็ว่าอย่างไรก็เห็นว่า อ๋อ เป็นเช่นนั้นเอง
ผู้ดำเนินรายการ : จริงๆ อาจารย์ต้องการให้เฉยๆ ไม่ใช่หรือ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : อะไรนะ
ผู้ดำเนินรายการ : อาจารย์ต้องการให้เฉยๆ ไม่ใช่หรือ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็อยากจะถามว่าจริงๆ จ้ะ ไม่ใช่ว่าแกล้งมาตอบ หลอกตัวเองนี่ ไม่ใช่อย่างนั้น หมายความว่าจริงๆ นี่เราเป็นอย่างไร จริงๆ ถ้าถูกเขาว่าเราเป็นอย่างไร แล้วก็ไม่ใช่เรื่องความต้องการของครู ครูจะไปต้องการอย่างไรนี่ ก็ไม่อาจจะไปทำให้ได้ ถ้าหากว่าเราไม่ทำเองใช่ไหม เพราะฉะนั้นเรารู้สึกอย่างไรถ้าถูกเขาว่า เราก็โกรธ ขัดใจ ไม่พอใจ แล้วก็เจ็บใจ อุตส่าห์ทำดีต่างๆ แล้วยังมาว่าเราไม่ดี นี่ประเด็นนี้
ฉะนั้นความเห็นแก่ตัวอย่างชนิดดีนี่ ถ้าเราไม่ระมัดระวังจิต สติมาไม่ทัน มันก็เป็นทุกข์ได้ มันไม่สบายได้ มันหงุดหงิด
ผู้ดำเนินรายการ : ถ้าเกิดเราทำแล้ว เกิดยังมีความขัดแย้ง มีคนเบียดเบียน จะหนีไปหรือว่าทำอย่างไรดี
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ถ้าเราจะหนีนะ ก็ลองนึกดูว่าหนีพ้นไหม เป็นประเด็น เป็นประเด็นที่ต้องคิดก่อนว่าหนีพ้นไหม ไม่พ้นจากอะไร
ผู้ดำเนินรายการ : ถ้าเกิดทำมาหากินอยู่แล้วเกิดมีคนมา มาแบบขัดแย้งกับเรา หรือมาเบียดเบียนการทำงาน แล้วเราเองก็ไม่ได้แบบตักตวงมากมายอยู่แล้ว แต่มันมีคนมาขัดขวางอยู่ ตัดขาเราอยู่ เราควรทำอย่างไรต่อ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : นั่นน่ะสิ ก็ถามว่า ถ้าอย่างเต็มที่บอกเมื่อกี้ จะหนีนะ จะหนีพ้นไหม ถ้าสมมุติว่าเราคิดว่าเราจะหนี เราก็ต้องถามตัวเองว่าหนีพ้นไหม ถ้าว่าหนีพ้นไหมนี่ มันต้องคิดอีกว่า พ้นจากอะไร มันไม่ได้คิดอย่างหยาบๆ ว่าพ้นจากสถานที่นั้น หรือว่าพ้นจากคนๆ นั้น ที่มาเบียดเบียนเรา คำว่าพ้นนี่ พ้นจากอะไร ลองนึกดูซิ
ผู้ดำเนินรายการ : พ้นจากความทุกข์
อุบาสิกา คุณรัญจวน : พ้นจากสิ่งที่เรียกว่าเป็นปัญหา ที่เราเรียกว่าเป็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นในจิต ที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกเดือดร้อนดิ้นรน เราพ้นไหม สมมติว่าเราทิ้งจากที่นี่ ถอนไป ไปตั้งที่อื่น แล้วเราก็ไปพบคนอย่างนั้นอีกน่ะ แล้วเราก็จะหนีจากที่นั่นน่ะก็หนีไปอีก มันจะหนีได้สักกี่ครั้งในชีวิต ใช่ไหม เราหนีไม่พ้น เราหนีไม่พ้นใจที่จะทำให้ใจของเรานี่เป็นทุกข์ เพราะเรายังมีความเห็นแก่ตัวที่เราจะนึกถึงตัวเราเองว่าเราไม่ได้เป็นอย่างนั้น แล้วทำไมเราถึงเขาถูกเบียดเบียน ถ้าเราหันมาตั้งหลักเสียใหม่ ว่าเมื่อเกิดการเบียดเบียนขึ้นเช่นนี้ เราจะแก้ไขปัญหาอย่างนี้ได้อย่างไร
ในทางธรรม ในทางพุทธศาสนา ท่านก็สอนว่าหันมาดูเหตุปัจจัย ว่านี่เราประกอบเหตุปัจจัยอะไร หรือสิ่งแวดล้อมที่อยู่ใกล้ๆ เรานี่ มันมีเหตุปัจจัยอะไรมันจึงให้ ทำให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ เกิดเหตุการณ์ที่เบียดเบียนกันอย่างนี้ แล้วเสร็จแล้ว เราก็มาแก้ไขเหตุปัจจัยอันนั้น ด้วยความถูกต้อง ความถูกต้องนี่ก็ต้องแก้ไขด้วยความไม่เห็นแก่ตัว แต่ด้วยเหตุด้วยผลของความเป็นธรรมที่เราจะพูดกัน แล้วเสร็จแล้วเราก็อาจจะได้มิตร แทนที่เราจะเพิ่มศัตรู หรือศัตรูคนนั้นก็อาจจะกลายเป็นมิตร แล้วอย่างนี้ก็เรียกได้ว่าเราแก้ปัญหาอันนั้นโดยเราไม่ได้ถือใจเราเป็นที่ตั้ง
ถ้าเราแก้ปัญหาด้วยการถือใจเราเป็นที่ตั้ง ยากที่เราจะได้ศัตรูเป็นมิตร มีแต่จะมีศัตรูเพิ่มขึ้น เพราะเมื่อเราเห็นแก่ตัว เขาก็มีความเห็นแก่ตัว แล้วเขาคงมีความเห็นแก่ตัวมากกว่าเรา เขาจึงเบียดเบียนเรา เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาด้วยความเห็นแก่ตัวต่อความเห็นแก่ตัวจึงไม่มีวันสำเร็จ ยกเว้นว่าเราจะแก้ปัญหาตามเหตุปัจจัย โดยไม่เอาความเห็นแก่ตัวเข้าไปเกี่ยวข้อง ตอบอย่างนี้ไม่ทราบว่าเข้าใจชัดไหม หรือเห็นทางว่ามันพอจะเป็นไปได้หรือเปล่า
ผู้ดำเนินรายการ : แล้วในทางกลับกันนะครับ อาจารย์บอกว่าให้เราไม่เห็นแก่ตัว อย่างที่ว่านี่นะครับ แล้วมีท่านผู้ชมที่ดูอยู่บอกว่านี่ คือสาเหตุก็เพราะอาจารย์ปฏิบัติธรรมแล้ว อาจารย์บอกได้ว่าไม่เห็นแก่ตัว แต่เขาก็ยังต้องเห็นแก่ตัว เพราะต้องมีคนที่ต้องเลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน ต้องอยู่ข้างหลัง ที่เขาต้องตักตวงหาผลประโยชน์นั้นไปเพื่อคนข้างหลังเขาอีก รู้ว่าเห็นแก่ตัวแหละไม่ใช่ว่าไม่รู้ เข้าใจแหละไม่ใช่ว่าไม่เข้าใจ แล้วจะให้เขาทำอย่างไรครับ ในภาวะสังคมอย่างนี้นี่นะ จะให้เขาลดความเห็นแก่ตัวอย่างนั้นหรือ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ถ้าหากว่า จะถามว่าให้ทำอย่างไร ถ้าตอบอย่างที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านจะต้องทรงตอบก็คือว่า รู้จักความทุกข์ไหม แล้วก็พอใจที่จะคลุกเคล้า เกลือกกลิ้งอยู่กับความทุกข์ไหม นี่ก็ตอบตัวเอง รู้จักไหมว่าความทุกข์คืออะไร ถ้ารู้จักแล้วว่าความทุกข์คืออะไร ก็คือความอึดอัด ขัดใจ ความหงุดหงิด ความขัดเคือง ตลอดไปจนกระทั่งถึงความโกรธ ความพยาบาท อาฆาตแค้น ซึ่งล้วนแล้วแต่ทำให้จิตใจนี่ ดิ้นรนเดือดร้อนอยู่ทุกเวลา นอนสบายไหม นอนหลับไหม กับการที่มีจิตใจอย่างนั้น ที่ต้องดิ้นรนเดือดร้อนตลอดเวลา
ถ้าหากว่ามันนอนก็ไม่หลับ แล้วพอใจไหมที่จะเป็นคนนอนสะดุ้งอย่างนั้นตลอดเวลา ถ้าเราบอกเราไม่เอา เราไม่ต้องการ เราอยากจะนอนหลับให้สบาย เราอยากจะมีชีวิตที่สงบ มีจิตใจที่เยือกเย็นผ่องใส อันนี้แหละเราก็ต้องมาศึกษาว่าอะไรเป็นเหตุล่ะ อะไรเป็นเหตุที่ทำให้จิตใจเราน่ะไม่สามารถจะทำมาหากิน หรือว่าตั้งบ้านตั้งเรือน เลี้ยงลูกเลี้ยงหลานด้วยความสุขสงบได้ ก็ดูว่าอะไรเป็นปัญหา
ถ้าปัญหาที่มันเกิดขึ้นนั้น เพราะเรานึกถึงแต่ตัวของเราเองเป็นใหญ่ ความเห็นแก่ตัวคือความนึกถึงแต่ตัวเองเป็นใหญ่ อยากจะได้อย่างที่เราต้องการมากกว่า มากกว่าที่เราจะคิดแบ่งปันต่อผู้อื่น ถ้าอย่างนี้แล้วมันก็ต้องแก้ไข ก็ต้องแก้ไขเพราะว่าถ้าหากว่าเราหาสิ่งต่างๆ เหล่านี้มาเพื่ออะไร เพื่อให้ชีวิตเป็นสุข เพื่อให้มีความเยือกเย็นผ่องใส ใช่ไหม แต่ถ้าหามาแล้ว ได้มาแล้ว ชีวิตกลับยิ่งร้อน ยิ่งเดือดร้อน แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร ที่เราจะไปเหน็ดเหนื่อยตรากตรำเพื่อหามาได้ เพื่ออะไร มันก็ไม่ตรงสิ ไม่ตรงกับว่าจุดหมายเพื่ออันนี้ แต่การกระทำนั้นก็มุ่งไปสู่จุดนี้แต่มันไม่ถึง มันไม่ได้ มันมีอะไรเป็นตัวขัดขวาง นึกดู อะไรเป็นตัวขัดขวางที่ทำให้จิตเยือกเย็นไม่ได้ ผ่องใสไม่ได้ ทั้งๆ ที่ได้มาแล้ว ก็เพราะความเห็นแก่ตัว นึกถึงตัวก็เลยทำให้เกิดความโลภ กิเลสคือความโลภ เข้ามาครอบงำจิต ทำให้อยากได้มาก อยากได้เร็ว อยาก อยากได้ยิ่งกว่าคนอื่น นี่จุดอันนี้ จุดของความเห็นแก่ตัว
เพราะฉะนั้นก็เปลี่ยน เรียกว่าหมุนสวิตซ์มันซะใหม่ แทนที่จะทำด้วยความเห็นแก่ตัว ทำเต็มตามสติกำลังความสามารถให้ดีที่สุดเลย เขาบอกว่าอะไรดีเราไปศึกษาหาความรู้มา เทคนิคในการที่จะทำมาหากินในเรื่องอย่างนี้ ต้องใช้ศิลปะอย่างนี้ วิธีการอย่างนี้ไปศึกษามา แล้วกระทำไปให้ดีที่สุดให้เต็มที่ โดยไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นเพื่อนึกถึงแต่ตัวเองอย่างเดียว ผลมันจะได้เท่ากันไหม ถ้าเราทำเต็มที่เต็มความสามารถ ผลมันย่อมเท่ากัน เมื่อผลมันย่อมเท่ากันอย่างนี้แล้ว แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นที่จะได้รับในจิตนี่มันต่างกัน ใช่ไหม
ในขณะที่ผลเท่ากันพูดง่ายๆ ว่าได้เงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาทเท่ากัน แต่ ๑๐๐,๐๐๐ นี่อยู่บนกองไฟ กับอีก ๑๐๐,๐๐๐ เนี่ยอยู่บนความสุขสงบเย็น จำนวนเงินนั้นเท่ากัน จะเอาเงินไหน จะเอาเงินอย่างชนิดเผาไหม้ หรือจะเอาเงินอย่างเย็น ถ้าจะเอาเงินอย่างเย็นนั้นก็คือ ทำอย่างที่ไม่ต้องนึกถึงตัวเอง ทำอย่างชนิดไม่เห็นแก่ตัว เมื่อถึงเวลาจะแบ่งปันก็แบ่งปันไปตามความถูกต้อง เมื่อถึงเวลาที่เราควรจะได้ เราก็ได้อย่างชนิดเต็มที่ เพราะเราได้ลงทุนลงแรงทุกอย่างอย่างเต็มที่ โดยรักษาใจเอาไว้
ถ้าเผอิญมันจะต้องมีเบี้ยบ้ายรายทางเสียหายไปบ้าง เราก็ดูตามเหตุปัจจัยที่มันเกิดขึ้น ถ้าหากว่าส่วนเสียที่เสียนี้มันพอจะเสียได้ โดยที่ไม่ถึงกับสูญหายเสียสลาย เราก็ยอม ยอมเพราะอะไร เพราะเหตุปัจจัยของสังคมในทุกวันนี้มันเป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้เพราะทุกคนก็บอกว่าฉันต้องเห็นแก่ตัวก่อน ฉันต้องเอาตัวรอดก่อน ต่างคนต่างพูดอย่างนี้ เพราะฉะนั้นความที่จะยอมกันนี่ ก็ยอมกันไม่ได้ มันก็เลยร้อนด้วยกันทั้งนั้น
ถ้ามีคนสักกลุ่มหนึ่งเกิดมาศึกษาเรื่องความเห็นแก่ตัว แล้วก็มีความรู้สึกว่า ถ้าเรายอมกันสักหน่อยนี่นะ มันจะมีความโล่ง ความโปร่ง ความเบาสบาย ความเยือกเย็นผ่องใสเกิดขึ้น คนกลุ่มนี้เริ่มต้น เรียกว่าจุด จุด จุดประกายของความสว่างในเรื่องนี้ให้เกิดขึ้น จิตใจของคนกลุ่มนี้มีความสุข มีความเยือกเย็นใจ มีความสำเร็จในชีวิต แล้วก็แสดงตัวอย่างเหล่านี้ให้คนอื่นเห็น คนอื่นทั้งหลายที่ยึดมั่นว่าต้องทำอะไรเพื่อความเห็นแก่ตัวเท่านั้น มันจึงจะสมกับการที่เกิดมาเป็นคน
ถ้าไม่ทำอย่างนี้แล้วมันโง่ ก็จะเกิดฉลาดขึ้น รู้ไหม คนเหล่านั้นน่ะจะเกิดฉลาดขึ้น เพราะมองเห็นคนกลุ่มหนึ่งเขารู้จักยอมได้ ยอมได้ แบ่งได้ ให้ได้ แต่ก็ทำเต็มฝีมือความสามารถของเขาอยู่เสมอ เขาไม่ได้ลดละความรู้ เขาไม่ได้ลดละฝีมือ ไม่ได้ลดละประสบการณ์ ทำอย่างเต็มที่อยู่เสมอ แล้วเขาก็มีความสุขสำราญ เบิกบานใจ รื่นเริง แจ่มใส พอใจในการงานที่จะทำ เพราะเขาไม่หวัง เขาไม่เบียดเบียน แต่เขาทำอย่างเต็มที่ คนเหล่านั้นน่ะที่เคยมองๆ ดู มันต้องทำอะไรด้วยความเห็นแก่ตัว แล้วก็คิดว่าสิ่งนั้นคือความฉลาด บัดนี้จะค่อยๆ ฉลาดขึ้นจริงๆ ทีละน้อย ถ้าเขาเปลี่ยนวิธีการที่เขาทำ
ผู้ดำเนินรายการ : แต่เราก็ยังไม่พบนี่ครับ ในสังคมไทยหรอก
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ก็เราก็เริ่มทำเองไม่ได้ที่นั่งอยู่นี่ ที่นั่งอยู่นี่นี่ ทำไมไม่เริ่มทำเอง ทำไมเราไม่เริ่มจากกลุ่มนี้ ทำไมต้องไปคอยคนอื่นเขาทำก่อน นี่แหละคือจุดปัญหาของสังคม ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ ไม่สามารถที่จะเสียสละเพื่อยอมตน ออกเป็นคนริเริ่มที่จะกระทำสิ่งที่ดีเพื่อประโยชน์แก่ตนเองและเพื่อนมนุษย์ ใช่หรือเปล่า เพราะฉะนั้นน่ะสิ ถ้าอะไรที่เป็นสิ่งดีที่ต้องเสียสละ ยกให้คนอื่นทำก่อน ฉันทีหลัง แต่ถ้าอะไรจะได้เอามา ฉันขอรับก่อน เพราะความเห็นแก่ตัว อย่างนี้ใช่ไหม มันถึงทำลายชีวิตของมนุษย์
ผู้ดำเนินรายการ : สมมติว่าเราเริ่มนะครับ เราเริ่มทำ เพื่อนก็บอกว่าเราก็ยังโง่เหมือนเดิม
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ถ้าหากว่า เราสมมตินะ เราก็โง่เหมือนเดิม แต่ถ้าเราทำเดี๋ยวนี้เราจะฉลาดทันที เชื่อหรือไม่เชื่อ ขอท่านผู้ชมได้โปรดลองคิดดู นี่คือสิ่งที่ท้าทาย ท้าทายความเป็นมนุษย์ของคน ว่าเราจะทำหรือเปล่า ถ้าเราสามารถทำได้นี่แหละ เราถึงซึ่งความเป็นมนุษย์อันประเสริฐ สมแห่งความเป็นมนุษย์จริงๆ เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะเป็นความดีนะคะ ถ้าจะว่าไปแล้วมันยิ่งกว่าความดี ทำไมเราถึงต้องสมมติกัน ทำไมเราถึงต้องรอคอยกัน ให้คนอื่นเขาทำก่อน แล้วเราจะรอดูความเดือดร้อนวุ่นวาย ความร้อนเผาไหม้ทุกหัวระแหงที่เราเป็นอยู่อย่างนี้หรือ หรือเราจะช่วยกันก่อสร้าง สร้างสรรค์ความเย็น ความสงบให้เกิดขึ้น เกิดขึ้นในใจเรา
ลูกหลานเราก็ได้รับเพื่อนฝูงที่น้อง คนรักใคร่ทั้งหลายได้รับ นี่เราก็ต่อ ต่อ ต่อกันไป เราช่วยกันแผ่ความเย็น ไม่ดีกว่าแผ่ความร้อนหรือ แล้วมันเรื่องอะไร ในเมื่อทุกคนเกิดมาเพื่อหวังความสุข ความสงบ ความเย็น แล้วในขณะเดียวกันนี่ กลับมาพ่นพิษของความร้อนเข้าใส่กัน อย่างที่เอามลพิษใส่กันทุกวันนี้ ทำไมถึงไม่คิดให้ถูกต้อง พอจะทำอะไรให้ถูกต้อง ให้คนอื่นทำก่อน เราจะคอยเสวยผล แต่พอเวลาที่อะไรเป็นความได้ ฉันจะเอาก่อน อย่างนี้น่ะเหรอ ก็จบลงด้วยการฆ่ากันตาย จนไม่เหลือมนุษย์สักคนหนึ่งในโลกนี้ ถ้าเราไม่ยอมเริ่มต้น
ผู้ดำเนินรายการ : ก็เลยทำให้น่าสงสัยว่าคำพูดที่เคยว่าศาสนาเสื่อมลงนะค่ะ ท่านอาจารย์ คงจะไม่ใช่เสียแล้ว มันน่าจะเป็นเพราะว่าคนเราเสื่อมลงต่างหาก
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ศาสนาไม่มีวันเสื่อมลง พระพุทธศาสนาเคยผ่องแผ้ว บริสุทธิ์ งดงามอย่างไรก็คงเป็นเช่น อยู่เช่นนั้นตลอดกาลเวลา แต่คนที่เข้ามานับถือศาสนาแล้วก็ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของสมเด็จพระบรมศาสดา ผู้เป็นพระบรมครูของเรา แล้วกลับไปดึงคำสอนนั่นเอามาพลิกพลิ้วจากสิ่งถูกให้เป็นสิ่งผิด จากสิ่งที่เป็นหัวใจอันบริสุทธิ์ เป็นคำสอนของศาสนา กลับไปพลิกพลิ้วเอาอย่างอื่นเข้ามา เพราะฉะนั้นก็เลยมาพูดว่าศาสนาเสื่อม
ศาสนาไม่มีวันเสื่อม แต่ถ้าจะว่าไปแล้วก็อาจจะพูดได้ว่า ทุกวันนี้คนยอมให้กิเลสเข้าครอบงำจิตมากยิ่งขึ้นๆ เพราะฉะนั้นก็เลยดูเหมือนกับว่า คนนี้ก็เสื่อม เสื่อมจากศีลธรรม เสื่อมจากความมีธรรมะเข้าครอบครองจิต ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดาย แล้วก็เมื่อยอมให้ธรรมะนี่หายไป ไกลไปจากจิตใจเท่าไร ความเห็นแก่ตัวก็ยิ่งเข้าครอบงำจิต แล้วความเห็นแก่ตัวเข้าครอบงำจิต มันก็ดึงเอากิเลสต่างๆ โลภะ โทสะ โมหะ มันก็เต็มอยู่อัตราในจิตด้วยอำนาจของตัณหาคือความอยาก
อยากจะเอาให้ได้อย่างใจตน แต่ถ้าเราไม่คิดที่จะเอาได้อย่างใจตัว แม้ว่าปัญหาจะมีเกิดขึ้นเฉพาะหน้า ให้น่ากลัวเพียงใดก็ตาม มันจะสามารถคลี่คลายได้ คลี่คลายได้ที่จะมองเห็นผลชัดที่ไหน คือที่ใจของตัวเอง ใจของเราเองจะมีความสุขสงบ เยือกเย็นผ่องใสยิ่งขึ้นทุกวันๆ เพราะความร้อนมันเกิดตรงไหน เกิดตรงใจที่จะเอา ใช่ไหม เพราะขณะใดที่ใจมันคิดจะเอา ฉันจะเอาให้ได้อย่างที่ฉันชอบ อย่างที่ฉันต้องการ ร้อนทันที แล้วก็มันก็มึนตื้อไปหมด มันคิดอะไรไม่ออก
แต่ถ้าหากว่าเรานึกเสียว่า เออ เราจะทำอะไรที่จะถูกต้อง ที่มันจะเกิดประโยชน์ โดยเอาตัวเองออกไปเสียจากในการคิดในขณะนั้น ไม่เอาตัวเองเข้ามาเป็นจุดศูนย์กลางของความคิด ความคิดมันจะแจ่มใส สมองมันจะแจ่มใส จิตใจมันจะแจ่มใส มันจะมองเห็นหนทางทะลุปรุโปร่ง ปัญหาใหญ่ก็เป็นปัญหาเล็ก ปัญหาเล็กก็หมดไปเลย กำลังใจก็มีที่จะแก้ไข นี่ความเห็นแก่ตัวมันทำลายหมด มันทำลายกำลังสมอง กำลังสติปัญญา กำลังแรง กำลังใจ มันทำลายหมดเลย ความเห็นแก่ตัวนี่มันทำให้มนุษย์กลายเป็นคน แล้วมันทำให้คนนี่กลายเป็นไม่ใช่คน ไม่ใช่คนเป็นอะไรก็คงทราบนะ
นี่ที่เราต้องพบกันอยู่ในทุกวันนี้ ที่เราพูดกันว่าบางทีทำไมมันถึงเป็นอย่างนี้นะ นี่เพราะความเห็นแก่ตัวอย่างเดียว มันทำให้คนเราลืมหมดว่าความดีงามของชีวิต ความงดงามของชีวิตมันคืออะไร มันอยู่ที่ไหน จุดหมายปลายทางของเราที่เราหวังนี้คืออะไร อยู่ที่ไหน ลืมหมดจำไม่ได้ เพราะความที่มันจะเอาอย่างใจตัวของตัวอย่างเดียว เห็นไหม นี่พิษร้ายน่ะ หรือความเลวร้ายของความเห็นแก่ตัว ไม่ว่าคนจะอยู่ในฐานะไหน ไม่ว่าจะเป็นนักอะไรต่อนักอะไร ตราบใดที่มีความเห็นแก่ตัว จะไม่มีวันประสบความสำเร็จที่แท้จริงของชีวิต นอกจากความสำเร็จตามสมมติกันตามประสาคน หรือประสาของชาวโลก สำเร็จข้างนอกแต่ข้างในนั้นคือความล้มเหลว
ผู้ดำเนินรายการ : คือทำอย่างที่ท่านอาจารย์แนะนำนะครับ พิจรณาจิตอะไรต่างๆ มันมีการยื้อกันระหว่างความถูกกับความเห็นแก่ตัว กับความไม่เห็นแก่ตัวของจิตขึ้นมา อย่างนี้จะทำอย่างไรครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : มันต้องมีแน่นอน ก็ปล่อยให้มันสู้กันอยู่อย่างนั้น ให้มันสู้กันดีกว่ามันไม่มีการต่อสู้ ถ้าไม่มีการต่อสู้นี่หมายความว่าความเห็นแก่ตัวมันชนะ มันชนะสงครามแล้ว มันเข้าครอบครอง กดขี่เราเป็นทาสเต็มที่เลย เพราะฉะนั้นเมื่อมันมีการต่อสู้แสดงว่ามันมีการตื่นตัว มันมีการตื่นตัวเกิดขึ้น เริ่มจะรู้สึก เพราะฉะนั้นให้มันต่อสู้ ให้มันยื้อยุดกันให้เต็มที่อย่างนั้นน่ะ แล้วผลที่สุดมันจะค่อยๆ ชนะ ความไม่เห็นแก่ตัวซึ่งเป็นสีขาว เป็นความขาว มันจะค่อยๆ สว่างขึ้น แล้วความเห็นแก่ตัวซึ่งเปรียบเสมือนความดำมืด มันจะค่อยๆ จางคลาย
ถ้ามีการเริ่มต่อสู้เรียกว่าเป็นนิมิตที่ดี นิมิตที่ดีของการเปลี่ยนแปลงจะไปสู่หนทางสร้างสรรค์ หรือการพัฒนาที่แท้จริง ขอให้ลองคิดดู ลองใคร่ครวญดู แล้วก็จะมองเห็นว่าแม้จะยาก แต่ไม่ใช่สิ่งที่เหลือวิสัยเป็นสิ่งที่ทำได้ เมื่อผู้ใดรู้ทางแล้วก็จงรีบเดิน อย่ามัวรอรั้งคนอื่นเขาเดินหน้า เรารีบเดิน เรารีบเดินทันที ถ้าเราเดินเร็ว ตั้งต้นเดินเร็ว เราก็จะถึงก่อน แต่ถ้าเราไม่รีบเดิน เราก็จะล้าหลัง ล้าหลังแล้วก็จมอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ตลอดเวลา
สำหรับวันนี้ก็คงจะจบเพียงเท่านี้ก่อนนะคะ แล้วพบกันใหม่ในคราวหน้า ธรรมสวัสดีค่ะ