แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ธรรมะสวัสดีค่ะ ธรรมะสวัสดีทุกคน สบายดีหรือเปล่าคะ
ผู้เข้าร่วม : สบายดีค่ะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : สบายที่ไหนคะ
ผู้เข้าร่วม : ก็สุขก็ทุกข์บ้าง เป็นเรื่องปกติโลกครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : หมายความว่าจิตใจไม่หวั่นไหว
ผู้เข้าร่วม : ไม่หวั่นไหวกับสุขกับทุกข์ที่เกิดขึ้น
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ดี นี่พูดเล่นหรือพูดจริงก็ไม่รู้นะ อย่างไรเสียว่าถ้าพูดแล้วยังรู้ รู้แล้วไม่ช้าคงจะทำได้จริงๆ เราได้พูดถึงอานาปานาสติภาวนากันมา 3 หมวดแล้วใช่ไหมคะ หมวดที่ 1กายานุปัสสนา ซึ่งเราเน้นในเรื่องของลมหายใจ แล้วก็เมื่อรู้จักลมหายใจดีแล้ว ก็บังคับลมหายใจให้ได้ เพื่อที่จิตนี้จะพร้อมด้วยสติและสมาธิ หมวดที่2 ก็ เวทนานุปัสสนา ใคร่ครวญศึกษาเรื่องของเวทนาทุกลมหายใจเข้าออก จนรู้จักมันดี แล้วก็รู้จักความเป็นมายาหลอกหลวงของมัน มันไม่มีอะไรจริงเลยสักอย่างเดียว เวทนานี้ จนกระทั่งสามารถหลุดพ้นจากการเป็นทาสของเวทนา และก็กำราบเวทนาให้สงบระงับไปด้วยลมหายใจ ต่อไปก็หมวดที่ 3 จิตตานุปัสสนา ก็คือทำการศึกษาถึงสภาวะธรรมชาติของจิต ว่าจิตนี้เป็นอย่างไร มีอาการดึงเข้าดึงออก ดึงเข้าผลักออกหรือว่าหมุนเวียนไปมา ซึ่งมันแสดงถึงลักษณะของโลภะ โทสะ โมหะ ที่ครอบงำจิต แล้วเราก็แก็ไข รู้จักมัน แล้วก็ค่อยแก้ไข ขัดเกลา รู้จักมันดูมันทุกลมหายใจเข้าออก แล้วจากนั้นก็ลองฝึกทดลองดูสิว่าจิตของเรามีพลัง พอที่จะบังคับจิตให้เป็นอย่างไรก็ได้ตามต้องการไหม เคยลองหรือยังคะ เคยลองบังคับจิตหรือยัง
ผู้เข้าร่วม : มันไม่ค่อยเป็น
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ลองบังคับว่า
ผู้เข้าร่วม : คนที่ฝึกนานๆ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ลองบังคับว่าให้เป็นสมาธิ ลองบังคับว่าเอาล่ะ เป็นอิสระปล่อย เพื่อจะดูว่าที่เราฝึกมานี้ เราบังคับได้ไหม ถ้าผู้ใดสามารถบังคับจิตได้ ผู้นั้นก็
ผู้เข้าร่วม : บังคับโลกได้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : บังคับโลกได้ เป็นผู้ที่ไม่ต้องมีความวิตกหวั่นกังวลกับสิ่งใดในโลกเลย เพราะเป็นผู้ที่บังคับจิตให้เหนืออยู่กับสภาวะเหล่านั้นได้ ที่นี่จากการที่เราฝึกจิต อบรมจิต จนกระทั่งจิตมีความสงบ เยือกเย็น ผ่องใส แล้วก็เป็นสมาธิ ตั้งมั่น แล้วก็ว่องไวพร้อมที่จะทำการงาน ตอนนี้เราก็จะใช้จิตที่สงบเป็นสมาธิ เยือกเย็น ผ่องใส เพื่อที่จะใคร่ครวญในธรรม เราก็จะศึกษาใคร่ครวญธรรมในหมวดที่ 4 ที่เรียกว่าธรรมานุปัสสนา การใคร่ครวญธรรม ก็คือศึกษาใคร่ครวญเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่าธรรมชาติ หรือสัจจะ สัจจะของธรรมชาติ เพื่อจะดูว่าสิ่งที่ เป็นสัจจะของธรรมชาตินั้นคืออะไร เราจะดูลงไปด้วยความรู้สึก ให้รู้จักสิ่งที่เป็นความเป็นจริงของธรรมชาติ ให้ชัดขึ้นๆ สิ่งที่เราควรจะนำมาดูนั้น ก็คือเรื่องของไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์ก็หมายถึงลักษณะอันเป็นธรรมดา 3 ประการ ประการแรกก็คืออนิจจัง ความไม่เที่ยง ความไม่คงที่ ประการที่ 2 ก็คือทุกขัง ทุกขังก็หมายถึงสภาวะของความน่าเกลียด ความขมขื่น เจ็บปวดทรมาน ความที่บังคับไม่ได้ มันจะต้องเป็นไปอย่างนั้น คือมันจะต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างนั้น ตามสภาวะของธรรมชาติ แล้วก็เมื่อผู้ปฎิบัติดูอนิจจังจนเห็นชัด เห็นสภาวะของทุกขัง ไม่ช้าก็จะเข้าถึงสภาวะของความเป็นอนัตตา อนัตตาก็คือความไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน อย่างที่เราพูด เรารู้สึกถือว่าอันนี้เป็นอัตตาเป็นตัวตน แต่เราศึกษาดูไปๆไม่ช้า เราจะได้เห็นว่าสิ่งนี้หาใช่ตัวใช่ตนไม่ มันสักว่าเท่านั้น มันเป็นเพียงสิ่งสักว่า ฉะนั้นเราใช้จิตที่สงบนี้ศึกษาไตรลักษณ์อยู่ตลอดเวลา โดยเพ่งที่อนิจจัง ที่นี้ก็อาจจะมีคำถามว่าจะเอาอะไรมาดูเรื่องของอนิจจังนะคะ ก็วิธีของอานาปานสติภาวนานี่ มีประโยชน์ตรงนี้ ตรงที่ว่าเราจะใช้ทุกอย่างจากหมวดที่ 1 หมวดที่ 2 หมวดที่ 3 มาเป็นอารมณ์ในการพิจารณาอนิจจังได้ เช่นเป็นต้นว่า ลมหายใจ ที่เราเคยทดลองกันแล้วใช่ไหมคะ
ผู้เข้าร่วม : ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เมื่อจิตสงบพอควรเราก็ดูลงไปที่ลมหายใจนี้ ดูด้วยความรู้สึกว่าแม้ลมหายใจนี้ก็ยังมีอาการของการเกิดดับๆ ใช่ไหมคะ ประเดี๋ยวมันก็เข้า ประเดี๋ยวมันก็ออก ประเดี๋ยวมันก็เข้า ประเดี๋ยวมันก็ออก มันไม่ได้คงที่อยู่อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือบางทีก็สั้นบางทีก็ยาว นี่มันมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ มันแสดงสภาวะให้เห็น เพราะฉะนั้นขณะที่จิตสงบ เราก็บังคับจิตให้อยู่กับลมหายใจ ก็ดูความไม่เที่ยงของลมหายใจไปพร้อมๆกัน ที่นี้ถ้าเบื่อที่จะดูลมหายใจก็ลองนึกถึงความไม่เที่ยงของสังขารร่างกายนี้ ของตัวเราเองนี้ อย่างที่เวลาเราอยากดูการเปลี่ยนแปลงร่างกายตัวเอง เคยบอกว่าเราส่องกระจกดูใช่ไหมคะ
ผู้เข้าร่วม : ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : นั่นละ ก็ลองใคร่ครวญดูในจิตให้มองเห็นความเปลี่ยนแปลงของสภาวะร่างกายนี้ ถ้าหากยังนึกไม่ออกก็อาจจะหยิบเอารูปถ่ายที่เราเคยถ่ายมาแล้วตั้งแต่เด็ก เมื่อเวลาที่เราว่างนะ เอามาเรียงแถวเข้า แล้วลองดู ก็ย่อมจะเห็นอนิจจังของร่างกายของเราเอง ไม่ใช่ของคนอื่นนะคะ นอกจากนั้นก็ดูเวทนา ถ้าสมมุติว่าเบื่อที่จะดูร่างกาย ก็เปลี่ยนเป็นดูเวทนา เวทนาที่ประเดี๋ยวก็เปลี่ยนเป็นสุขเป็นทุกข์ เป็นดีใจเสียใจเป็นชอบใจไม่ชอบใจ มันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดูเวทนาที่เกิดขึ้น ก็จะเห็นความเป็นอนิจจัง ซึ่งไม่คงที่ หรือจากนั้นก็ดูสภาวะของจิตเอง ประเดี๋ยวก็เปลี่ยนเป็นจะเอา ประเดี๋ยวก็เปลี่ยนเป็นผลักออกไป ประเดี๋ยวก็วนเวียนขุ่นคิด เห็นไหมคะ แม้แต่สภาวะของจิตมันก็เปลี่ยนแปลง นี่เรียกว่าเป็นการศีกษาอยู่ภายใน ข้างในเพื่อจะดูเรื่องของอนิจจังอย่างเดียว
ผู้เข้าร่วม : ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เบื่ออย่างนี้ก็จะดูอย่างโน้น ก็จะทำให้ไม่ง่วงนอน จะทำรู้สึกว่าการปฎิบัตินี้มีรสชาต สนุกสนาน ไม่จำเจ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับศิลปะของการปฎิบัติ ที่ผู้ปฎิบัติควรจะต้องรู้จักวิธีการที่จะแก้ไขพลิกแพลงของตัวเอง เพื่อจะให้การปฎิบัติเป็นไปได้อย่างราบรื่น ที่นี่เมื่อดูอนิจจัง จึงเห็นชัดว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรคงที่ มันมีแต่ความเปลี่ยนแปลง แล้วก็บางทีดูข้างในมันเกิดความเบื่อหน่าย เพราะว่าเรายังใหม่อยู่ใช่ไหมคะ เราก็อาจจะอาศัยสภาวะข้างนอก สภาวะข้างนอกล้อมรอบตัวเรา เราก็มองเห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายของใบไม้ ของดินทราย ของต้นไม้ ที่เรามองอยู่รอบตัว นี่ก็แสดงถึงสภาวะของความเป็นอนิจจัง เราเห็นทุกขัง เห็นความน่าเกลียด เห็นความน่าเกลียด ความน่าเกลียดที่มันแสดงให้เราเห็นอยู่ใช่ไหมคะ เนี่ยเมื่อมันออกมาใหม่ๆ อุ้ย.มันน่ารัก แต่เสร็จแล้วความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย นี่ มันก็นำเอาความน่าเกลียด ถ้าหากว่าเผอิญได้ใบไม้ดอกไม้นี้ เป็นใครที่รักสักคนหนึ่งได้ให้มา แล้วเขาบอกว่าให้เก็บไว้ให้ดีๆนะ ถนอมไว้ให้ดีๆ
ผู้เข้าร่วม : เป็นดอกกุหลาบ แฟนให้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใช่ แล้วเราไปทับเอาไว้นะ ทับเอาไว้เพื่อให้มันอยู่นาน พอเปิดขึ้น มันเปลี่ยนไปสะแล้ว มันไม่เหมือนเดิม นี่มันก็จะนำความรู้สึก ขมขื่น เจ็บปวด ใจหาย วังเวงขึ้นมาเชียว เกิดความรู้สึก อ้างว้าง นี่ถ้าเขารู้ เขาจะโกรธเราสักเพียงไหน แล้วถ้าสมมุติเขาเกิดโกรธเรา เขาทิ้งเราไปจะทำอย่างไร นี่จิตที่ขาดสติ มันจะฟุ้งซ่าน แต่ถ้ามีสติอยู่ มันจะมองเป็นสภาวะของทุกขังที่เกิดขึ้น แม้แต่ความว่างที่เกิดขึ้นนี้ มันก็เป็นความว่าง อย่างชนิดที่ ไม่ใช่เป็นความว่างเพราะว่าปราศจากกิเลส แต่วันว่างเพราะมันอ้างว้าง มันจึงเป็นความว่างที่น่าเกลียด เหมือนอย่างรู้สึกเหมือนกับว่าคนที่รัก เขาทิ้งเราไป เมื่อก่อนนี้มีใครคนหนึ่งอยู่ด้วย มันก็อบอุ่นเป็นสุข พอความคิดรู้สึกว่าไม่มีสะแล้วนี่ มันว่างอย่างอ้างว้าง มันโว้งในอก นี่คือทุกขัง
ผู้เข้าร่วม : แค่ห่างกันก็โว้งเว้งแล้วครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : นั้นล่ะ ทุกขัง อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลง อนิจจังที่มันเกิดขึ้นทุกขณะ นี่ถ้าเราดูอนิจจังให้มากเข้าๆ เราจะเห็นสภาวะของทุกขังที่มันซ้อน เกิดขึ้นมาซ้อน แสดงตัวมาให้เราเห็น แล้วก็ดูลงไป ดูลงๆไปให้ชัด ไม่ช้าก็จะเห็นว่าแล้วอนัตตา อัตตานั้นอยู่ที่ไหน ไอ้ที่ว่ามันเป็นตัวเป็นตนมันอยู่ที่ไหน แท้ที่จริงมันเป็นสิ่งสักว่า มันหาใช่ตัวใช่ตนไม่ ความรักที่เราบอกว่าเวลาที่เรารักกันเหมือนกับจริงจัง เหมือนกับเป็นเนื้อเป็นตัว ยึดมั่นถือมั่นเป็นจริงเป็นจัง พอความรักจางคลาย ไหนล่ะ มองหา
ผู้เข้าร่วม : หายไปไหนแล้วก็ไม่รู้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : มันเป็นอนัตตา ทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรม ไม่มีสิ่งใดที่คงที่เลยสักอย่างเดียว นี่ฝึกดูทุกลมหายใจเข้าออก ทุกขณะ ทุกลมหายใจเข้าออก ดูไตรลักษณ์ ให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้าเราเห็นมากเท่าไร จิตใจของเราที่เคยเต็มไปด้วยความยึดมั่นถือมั่น ยึดมั่นถือมั่นในลูกหลาน ยึดมั่นถือมั่นในบ้านช่อง ทรัพย์สินเงินทอง บริวาร ยึดมั่นถือมั่นในชื่อเสียง ตำแหน่ง เกียรติยศ ยึดมั่นถือมั่นในลาภยศ สรรเสริญ สุข มันจะค่อยจางคลาย แล้วจะค่อยมองเห็นว่า ไม่มีอะไรเป็นตัวตนให้เรายึดถือเอาได้จริงๆทุกอย่าง นี่พอดูไปๆๆ ความจางคลาย วิราคะ วิราคะความจางคลาย จะค่อยๆเกิดขึ้นในจิต เพราะมันเหนื่อยหน่าย มันไม่รู้จะเอามาทำไม ได้มาแล้วมันก็จากไป ไม่มีอะไรคงที่สักอย่าง แล้วเราก็กำหนดจิตดูที่ความจางคลายที่เกิดขึ้นในจิต พอมีความรู้สึกจางคลาย เหนื่อยหน่าย นิพพิทา เหนื่อยหน่าย ไม่นึกอยากจะได้อะไร ไม่นึกอยากจะได้ไม่ใช่เพราะว่า กลัว รำคาญ ไม่เอาแล้ว ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เพราะมันมองเห็นความเป็นจริงของธรรมชาติ ได้มาก็ไม่อยู่ เพราะมันตกอยู่ภายใต้กฎของธรรมชาติ มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่มีอะไรให้เรายึดได้ ความจางคลายที่เกิดขึ้นนี้ เพราะเห็นสัจจะของธรรมชาติ ก็ดูลงๆๆ จนกระทั่งความจางคลายนี้ ค่อยลึกเข้าๆๆ แล้วที่นี้ความรู้สึกที่มันจะดับ ที่เขาเรียกเป็นนิโรธ ความยึดมั่นถือมั่นที่เคยมี มันนอกจากจะจางคลายแล้ว มันจะค่อยๆสลายหายไป เขาเรียกว่ามันดับ มันดับจากความยึดมั่นถือมั่นที่จะเอาๆ กอดรัดไว้ แม้แต่ตัวนี้ ตัวฉันนี้ ก็จะเห็นว่า ไม่เห็นมีอะไรจริง ที่ให้เรายึดมั่นสักอย่าง ก็ดูลงไปอีกทุกลมหายใจเข้าออก ที่นิโรธคือความดับของความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวงที่เกิดขึ้นในจิต ดูลงไปทุกขณะ ดูไปๆๆๆ จนกระทั่งจิตมันอ่อนโยน มันถึงความรู้สึกที่ว่าไม่เอาอะไรเลย เป็นอตัมมยตาโดยแท้ ไม่เอาอะไรเลย จิตนิ่งคงที่ พร้อมที่จะคืนทุกอย่างให้กับธรรมชาติ จำได้ไหมคะ
ผู้เข้าร่วม : อตัมมยตา
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ที่เราพูดถึงกฏเกณฑ์ของธรรมชาติว่า กฏเกณฑ์ของชีวิตว่า ชีวิตนี้เป็นสิ่งที่ยืมเขามา ตอนนี้ไม่ต้องมีใครมาพูดกรอกหูอีกแล้ว มันเห็นเอง มันเห็นว่ายืมเขามาจริงๆ มันพร้อมที่จะคืนให้ทุกอย่าง เพราะจิตมันเข้าถึงสภาวะของอตัมมยตาอย่างเต็มที่ มันนิ่ง มันมั่นคง มันแข็งแกร่ง เหมือนเพชร ที่ไม่มีอะไรจะมาตัดหรือทำให้หวั่นไหวได้อีกเลย มันยืนยงอยู่กับความที่ว่า เห็นแล้ว พอแล้ว ยอมพร้อมที่จะสลัด สลัดคืนให้กับธรรมชาติ แล้วกำหนดจิตอยู่กับจุดของความที่สลัดคืนให้กับธรรมชาติ ทุกขณะๆ จนลึกเข้าๆๆ แล้วจิตนี้ก็จะถึงซึ่งความว่างที่เป็นสุญญตา นี่เป็นความว่างของสุญญตาธรรม คือความว่างที่อยู่เหนือความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง แม้แต่ร่างกายนี้ชีวิตนี้ก็เห็นแล้วว่าเป็นเพียงสิ่งสักว่า ไม่มีความหมายแห่งความเป็นตัวตน ให้ยึดมั่นถือมั่นได้เลยสักอย่างเดียว ที่นี้จิตนี้ก็จะเป็นจิตที่เป็นอิสระ เป็นจิตที่เขาเรียกว่าสภาวะของจิตนี้มันอยู่เหนือ อยู่เหนือโลก อยู่เหนือโลกธรรม 8 เหมือนพร้าวเนฬิเกต้นนั้น อะไรเกิดขึ้นก็ไม่ต้อง ไม่ถือ แม้ว่าจะยังรู้อยู่ว่าเป็นอย่างนั้น แต่ว่ามันไม่เอาแล้ว แต่ควรจะจัดการอย่างไรก็ทำ นี่ล่ะ จุดหมายปลายทางของการฝึกจิตหรือการปฎิบัติจิตภาวนา การพัฒนาจิตเพื่อสิ่งนี้ คือเพื่อพัฒนาจิตที่ไปเต็มไปด้วยความวุ่นให้ถึงความว่างที่แท้จริง คือว่างจากการเอา ว่างจากการยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นตัวเป็นตนแล้วก็จนกระทั่งทำให้จิตนี้เป็นทุกข์ แต่ให้ว่างอยู่เหนือความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง เพราะจิตนี้เป็นจิตที่ได้รับความรู้ที่ถูกต้องซึ่งเราพัฒนามาตามลำดับที่เกิดขึ้นในจิตมาตามลำดับ จนกระทั่งสามารถที่จะส่งให้การกระทำที่ถูกต้องนี้ เกิดขี้นได้ทั้งทางกาย วาจา เพราะใจนั้นมันพร้อมอยู่แล้วกับความสุข อันนี้ล่ะค่ะ ที่เป็นจุดหมายปลายทางของการปฎิบัติอานาปานสติภาวนา ครบทั้ง 4 หมวด
ผู้เข้าร่วม : ฟังดูเบา
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เบา ถ้าทำแล้วจะยิ่งเบา สมมุติถ้าทำได้แล้วจะยิ่งเบา แล้วก็จะเป็นความเบาอย่างแท้จริงด้วย เพราะเหตุว่าการที่เราปฎิบัติธรรมนี้นะคะ ถ้าสมมุติว่าเราเข้าถึง เราปฎิบัติธรรมในหมวดธรรมานุปัสสนา หมวดที่ 4 การปฎิบัติธรรมมานุปัสสนานี้ล่ะ คือการปฎิบัติของสิ่งที่เราเรียกว่าวิปัสสนาอย่างแท้จิรง การปฎิบัติวิปัสสนานี่ คือการพัฒนาปัญญาข้างใน ที่เราเรียกว่าดวงตาของธรรมะ จะเกิดขึ้นอย่างนี้
ผู้เข้าร่วม : ที่ว่าดวงตาเห็นธรรม
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใช่ ดวงตาเห็นธรรม มันจะเกิดขึ้นด้วยการใคร่ครวญในธรรม จนกระทั่งมองเห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นแต่เพียงกระแสของการปรุงแต่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกัน ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ๆ มันมีอยู่เพียงแค่นี้เอง มันเป็นเพียงกระแสของการปรุงแต่ง แล้วเราก็รู้จักกระแสนี้เท่านั้นแล้ว จิตของเรานี้ก็จะขึ้นถึงความว่างที่แท้จริง คือสุญญตาธรรมได้ แล้วเมื่อนั้นล่ะ เป็นจิตที่เป็นอิสระ เป็นจิตที่มนุษย์เราแสวงหา และความสุขที่ว่าความสุขนั้นคืออะไร เราจะรู้ตรงนี้ รู้จักว่านี่เป็นความสุข เป็นความสุขที่แท้จริง ซึ่งพอมาพบ มาถึงเข้า ไม่ต้องเดินไปแสวงหาต่อ มันหยุดแค่นี้เอง เพราะไม่มีสุขอะไรที่จะสุขยิ่งกว่านี้อีกแล้ว คือเป็นความเย็นอย่างถึงที่สุด
ผู้เข้าร่วม : อิ่มเอบด้วยตัวเอง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่ะ อิ่มเอบ พึงพอใจ ที่นี่ก็อาจจะมีคำถามว่า แล้วถ้าอย่างนั้นล่ะ ไม่ต้องทำอะไรสิ นั่งกินลมห่มฟ้าไปอย่างเหรอ ไม่ต้องทำอะไร
ผู้เข้าร่วม : นั่งสมาธิทั้งวันทั้งคืนเลย
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เปล่า ไม่ใช่เลยนะ จิตที่สงบ นิ่ง เงียบ ไม่ใช่นิ่งเงียบ หมายความว่า นิ่งอยู่ด้วยความว่างเช่นนี้ จะพร้อมด้วยสติและปัญญา สิ่งใดเกิดขึ้นรู้ ว่าอะไรเกิดขึ้น แล้วรู้เหตุที่ในเกิดขึ้นด้วย แล้วก็รู้ว่าควรจะแก้ไขอย่างไรด้วย
ผู้เข้าร่วม : ค่ะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นถูกหรือผิดก็สามารถที่จะบอกได้ด้วย แล้วก็ปฎิบัติได้ กระทำได้อย่างถูกต้อง
ผู้เข้าร่วม : เพราะเราฝึกแล้ว
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่ะ เพราะฝึกแล้ว เป็นจิตที่ฝึกดีแล้ว ไม่จะเป็นจิตที่เมื่อจะแก้ไขจะอะไร จิตนั้นก็ไม่ร้อง มันมีแต่การกระทำ เรามีความรู้อย่างไร เรามีประสบการณ์อย่างไร เรามีสติปัญญาอย่างไร เราก็ทุ่มเทลงไปในการกระทำนั้นอย่างเต็มที่
ผู้เข้าร่วม : แล้วการฝึกจิตที่ท่านอาจารย์สอนทั้งหมดก็ใช้ในการทำงานได้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ได้อย่างดียิ่งเลย แล้วจะทำให้การทำงานของเรานั้น ไม่มีปัญหา หมดปัญหา ที่เคยบ่นว่า ไม่รู้จะทำไปทำไม เบื่อจะตาย ก็ไม่เบื่อ เพราะมันรู้แล้วว่าไม่ได้ทำเพื่ออะไร
ผู้เข้าร่วม : มันเป็นกระแส
อุบาสิกา คุณรัญจวน : มันเป็นพียงการกระทำอันถูกต้อง เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น เกิดขึ้นแก่ใคร ก็เกิดขึ้นแก่งาน เกิดขึ้นแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งตัวผู้กระทำก็ไม่เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นมันก็จะเป็นความสุขที่แท้จริง ใครที่คิดว่าการปฎิบัติสมาธิแล้ว จะทำให้กลายเป็นคนขี้ขลาด ถอยหนี ไม่สู้ปัญหา ไม่สู้ชีวิต เป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่งเลย ถ้าหากเป็นการปฎิบัติจิตภาวนาที่ถูกต้องแล้วนะคะ กลับจะยิ่งทำให้เป็นผู้ที่มีจิตกล้าหาญ หรือเรียกว่าอาจหาญอย่างยิ่ง ไม่เกรงกลัวภัยอันตรายอะไร เพราะว่าพร้อมอยู่ด้วยสติและปัญญา แต่ไม่ใช่คนบ้าบิ่นนะ ไม่ใช่คนบ้าบิ่น คือกล้าหาญ อาจหาญพร้อมด้วยสติและปัญญา เมื่อมีสิ่งใดเกิดขึ้นก็จะรับสถานการณ์นั้นด้วยความเยือกเย็น เพราะพร้อมด้วยสติ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงบอกว่าการปฎิบัติสมาธิ ไม่มีความเสียหาย หรือไม่มีอะไรจะขาดทุน ไม่มีอะไรสูญเสียเลย มันมีแต่จะได้ ถ้าเราต้องการจะใช้พลังของสมาธิเพื่อประโยชน์ในทางโลก เช่นเพื่อประโยชน์แก่การเรียน การศึกษา การทำงาน เพื่อประโยชน์แก่ชีวิตครอบครัว ส่วนตัว ได้ทั้งนั้น หรือจะมาใช้เพื่อประโยชน์ทางธรรม เพื่อฝึกจิตนี้ให้ละเอียด บางเบา ปราณีตยิ่งขึ้นก็ได้ แล้วแต่ว่าเราต้องการจะใช้ในระดับไหน เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าการปฎิบัติจิตภาวนานี้ เป็นงานของมนุษย์ที่เจริญแล้ว และหวังความเจริญที่แท้จริง เพราะความเจริญที่แท้จริงนั้น อยู่ที่จิตเจริญ ไม่ใช่อยู่ที่กายเจริญ หรือไม่ได้อยู่ที่วัตถุเจริญ กายเจริญ วัตถุเจริญล้วนแล้วแต่จะกระตุ้นความอยากให้ดิ้นรน ชีวิตนี้จะดิ้นรนยิ่งขึ้น แต่จิตเจริญนั้น มันจะช่วยให้ชีวิตมีแต่ความเยือกเย็น ผ่องใส เพราะมันจะหยุดความดิ้นรนได้ ก็ขอให้ลองใคร่ครวญดูนะคะ แล้วก็ลองปฎิบัติดู พิจารณาเอง ประโยชน์นั้นต้องเห็นเอง ถึงแม้ผู้อื่นบอกก็ต้องประจักษ์ด้วยตนเอง จึงจะเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าที่แท้จริง
ผู้เข้าร่วม : ต้องฝึกให้หนักนะ อย่างนี้
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ใช่ค่ะ ธรรมะสวัสดีสำหรับวันนี้นะคะ ธรรมะสวัสดีค่ะ