แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ธรรมะสวัสดีค่ะ เป็นยังไงค่ะ เรามานั่งกันอยู่ในที่นี้
รู้สึกว่าตอนนี้ถ้าจะได้อะไร เราคงจะทำเป็นหมดทุกอย่าง พอใจไหมค่ะที่เรานั่งอยู่ที่นี่
ผู้ฟัง: พอใจครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ทำไมถึงพอใจ
ผู้ฟัง: บรรยากาศเป็นธรรมชาติดี
อุบาสิกา คุณรัญจวน: รู้สึกเป็นธรรมชาติ และเราก็มีที่นั่งกันอย่างเรียกว่ากระจายเป็นอิสระดี
ผู้ฟัง: เหมือนชั้นเรียน
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ครับ ทีนี่แต่เดิมเป็นโรงเรียนหิน เป็นโรงเรียนหินที่ท่านอาจารย์ท่านได้จัดไว้ สมัยยังแข็งแรง ก็จะพาบรรดาผู้ที่มาศึกษาธรรมะมาที่นี่ แล้วก็จะใช้ แต่ว่าจะใช้ก้อนหินนี้เป็นม้านั่ง หรือ เป็นม้าเขียน แล้วก็ที่นั่งนี่ คือนั่งกับดิน แต่นี่ของเรา มานั่งที่บนม้าเรียนนะนี่ แล้วก็เขียนหนังสือบนตัก นี่เรียกว่าเปลี่ยนวิวัฒนาการตามสมัย แต่ก่อนนี้ใช้อย่างนี้ แล้วก็นั่งกะดินเรียน แล้วก็เรียกว่าโรงเรียนหิน เพราะว่ามันมีก้อนหินอย่างที่เราเห็นนี้น่ะค่ะ จัดได้ว่าเป็นโรงเรียนธรรมชาติ
เราได้พูดกันถึงเรื่อง อยากยามไหนก็ได้ มาหลายครั้งแล้ว ก็ไหนๆพูดมาแล้ว ก็ลองพูดเสียให้จบน่ะค่ะ เราได้พูดกันถึงว่า ยามจะได้ ได้ให้เป็น ไม่เป็นทุกข์ ยามจะเป็น เป็นให้ถูก ตามวิถี ทีนี้ก็ ยามจะเป็นนี่เป็นอะไร ก็พูดง่ายๆว่า จะเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นครูบาอาจารย์ เป็นข้าราชการ หรือเป็นลูก หรือเป็นนักเรียน หรือว่าเป็นพี่เป็นน้อง เป็นผู้บังคับบัญชา เป็นหัวหน้าทุกอย่าง จะเป็นอะไรก็เป็นให้ถูก กุญแจของการเป็นให้ถูกต้อง มีนิดเดียวคืออะไร คือเป็นแล้วทำอะไร
ผู้ฟัง: ทำหน้าที่
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ทำหน้าที่ ทำหน้าที่ให้ถูกต้อง แล้วก็ทำหน้าที่โดยอย่างไรนะ
ผู้ฟัง: ไม่เห็นแก่ตัว
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม่เห็นแก่ตัว โปรดจำไว้เถอะ อันนี้แหล่ะเป็นเคล็ดลับของความสุข หรือจะเรียกว่าเป็นเคล็ดลับของความสุขสงบ ความสำเร็จในชีวิตทุกอย่าง ถ้าทำสิ่งใดโดยไม่เห็นแก่ตัว ทำตามหน้าที่ทุ่มเทความสามารถลงไปให้ที่สุด ผลที่ได้รับมันย่อมที่จะพอใจ ใครๆก็มองเห็น แล้วก็มองเห็นแล้วก็นิยม นับถือในน้ำใจนะ แล้วถ้าความไม่เห็นแก่ตัว มันไม่เข้ามาเกาะกุมจิตใจ อาการกระทำที่ทำออกมาก็จะเต็มไปด้วยความจริงใจ เต็มไปด้วยความอ่อนน้อม เต็มไปด้วยความนุ่มนวล อ่อนโยน ความแข็งกระด้าง ที่มองดูแล้วยโสโอหัง มันจะไม่ปรากฎ ถ้ามีความยโสโอหังปรากฎนั่นคือเห็นแก่ตัว ยังมีความเป็นตัวเป็นตนออกมาอยู่ เพราะฉะนั้น ธรรมะที่ท่านสอนในเรื่องของอนัตตา ให้มองเห็นความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนนี้ เป็นคำสอนที่ลึกซึ้งมากจริงๆ พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนในเรื่องนี้ ก็เพราะท่านทรงเห็นแล้วว่า มนุษย์เรานี้จะไม่หลุดล่วงพ้นไปจากความทุกข์ได้เลย ถ้าไม่ยอมดูที่จุดนี้ คือไม่ทำลายความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน ถ้าการกระทำใดก็ตาม มีตัวตนเข้าไปแอบแฝงอยู่ เมื่อนั้นมันจะออกมาในผลที่ไม่พอใจทุกครั้ง เพราะมันไม่ได้สมใจ และมันก็จะมีอาการต่างๆสอดแทรกออกมาในทางที่ไม่น่าดู เพราะฉะนั้น “ยามจะเป็น เป็นให้ถูกตามวิถี” ตามวิถีของธรรมะนั่นเอง แล้วก็ตามวิถีแห่งหน้าที่ ที่จะพึงเป็น
ทีนี้ต่อไปที่ว่า “ยามจะตาย ตายให้เป็น เห็นสุดดี” ตอนนี้เป็นยังไง ให้ตายให้เป็น ลองนึกถึงซิค่ะ ตายยังไงถึงจะตายให้เป็น เห็นสุดดี..
ผู้ฟัง: ตายอย่างสงบ ไม่กระวนกระวายเวลาตาย
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม่กระวนกระวายเวลาตาย บางทีอาจจะไม่มีแรงก็ได้ ไม่มีแรงจะดิ้นรน ก็เลยมองดูสงบๆ ไม่กระวนกระวาย อย่างนั้นใช่หรือเปล่า ที่ว่าตายให้เป็น มันเป็นยังไงที่ว่าตายให้เป็น เห็นสุดดี ได้เคยอ่านหนังสือ นวนิยายรู้สึกว่าจะเคยเล่าแล้ว เรื่อง เงา ของโรสลาเรนนะ ที่เขาพูดถึงตอนที่ผู้หญิงผู้มีอายุสองคนที่เป็นตัวละครในเรื่องนั้นจะตายจำได้ไหม พี่เลี้ยงของชาลินี ที่ไม่ใช่ตัวเอกนะ แล้วก็แม่ คุณย่าของชาลินี ซึ่งคุณย่านี่ก็เป็นผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่อยู่ในบ้านใครๆก็ต้องเกรงกลัว มีอำนาจ อย่างที่เราพูดเรื่องอำนาจกันคราวที่แล้ว ก็ใช้อำนาจชี้นิ้วตลอดเวลา แล้วก็ฉันใหญ่เพราะฉะนั้นต้องเชื่อฟังฉัน ฉันจะบอกผิดบอกถูก ฉันถูกคนเดียว เพราะฉะนั้น ตอนที่คุณย่าจะสิ้นใจนี่ ตามที่เขากล่าว คือเขาเล่ามาเพื่อจะให้มองดูว่า มันน่ากลัวก็ได้ มีท่านชายที่เราก็รู้อยู่ในรูป ที่ว่าเป็นยมบาลว่างั้นเถอะ พยายมราช ก็มายืนอยู่ที่หัวนอนแล้วก็ทำท่าคุกคามเต็มที่ ไปซะที คือจะเอาตัวไป จะไม่คอยให้อ้อยอิ่งเลย แล้วคุณย่าก็มีท่าทางที่ประหวั่นพรั่นใจ แต่พี่เลี้ยงนางนม ก็เป็นผู้หญิงอายุพอๆกับคุณย่าในบ้านนั่น พูดง่ายๆก็เหมือนกับคนใช้ถึงจะเป็นพี่เลี้ยงนางนม ก็ไม่มีใครมาคอยเอาอกเอาใจ แต่ตลอดเวลา ตลอดชีวิตที่แกมีชีวิตอยู่นี่ แกเป็นคนเย็น คนสงบ ใครๆเข้าไปคุยด้วยก็มีความสุขใจ พอถึงเวลาที่พี่เลี้ยงนางนมคนนี้จะสิ้นใจ ท่านชายองค์นั้นที่ในร่างสมมุติ ก็มายืนอยู่ปลายเท้า แล้วก็ยืนอย่างสงบ รอคอย ไม่เร่งร้อน พร้อมที่จะไปเมื่อไหร่ก็พร้อมที่จะรับไป อันนี้ก็เป็นอุปมาอุปไมย ที่จะบอกให้เห็นว่า ตายให้เป็นนี่ ตายยังไง เพราะฉะนั้นที่บอกว่า ตายให้เป็น เห็นสุดดี นี้ก็คือหมายความว่า ตายอย่างสงบ อย่างอาจหาญ เพราะรู้แล้วว่า ไอ้ความตายนี่เป็นอะไร”
ผู้ฟัง: เป็นธรรมดาโลก
อุบาสิกา คุณรัญจวน: สิ่งที่เป็นธรรมดา มันเป็นอาการตามธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นเท่านั้นเอง อย่างที่บอกแล้วว่า แก่ เจ็บ ตาย เป็นอาการของธรรมชาติ จะต้องเกิดขึ้นวันหนึ่งแก่ทุกชีวิตไม่ช้าก็เร็ว เพราะฉะนั้น ถ้าหากผู้ใดในขณะที่มีชีวิตอยู่ ไม่รู้จักที่จะกระทำ หรือดำรงชีวิตอย่างถูกต้อง ตามหน้าที่ ในทุกหน้าที่ที่พึงมีแล้วละก็ พอความตายมาถึงแน่นอนเลย ตายเป็นหรือไม่เป็น
ผู้ฟัง: ไม่เป็น
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม่เป็นแน่ๆ เพราะใจมันจะอยู่กับสิ่งที่เป็นตะกอนอยู่ในใจ ตะกอนที่มันจะคอยเตือนอยู่เรื่อยว่า ถึงแม้ว่าจะได้มา เพราะใช้อำนาจตามที่ตัวใช้ ตามจิตตามอำนาจของกิเลสก็ตาม แต่รู้อยู่ตลอดเวลาว่า ไม่ใช่สิ่งที่ควรได้ แต่เพราะต้านทานอำนาจของกิเลสไม่ได้ ก็ดึงเอาจนได้ เพราะฉะนั้นพอถึงเวลาที่จะหยุดหายใจ บางทีสิ่งที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึก อาจจะโผล่เข้ามารุมล้อมก็ได้ เพราะฉะนั้นความสงบจึงไม่เกิดขึ้น และยิ่งมีความเชื่อว่า ตายแล้วเดี๋ยวจะไปพบ โน้น นี่ เดี๋ยวจะเป็นเปรต เดี๋ยวจะเป็นสัตว์นรก ความกลัวนาทีสุดท้ายนี่จะมีมาก นี่ก็เพราะไม่นึก หรือไม่ระมัดระวัง ไม่กลัวซะในขณะที่ยังหายใจ กลัวการเป็นเปรต กลัวการเป็นสัตว์นรก กลัวการเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรืออสุรกาย ในขณะที่ยังหายใจอยู่ ไม่นึก แล้วก็เป็นอยู่ตลอดเวลาก็ยังไม่รู้อีก ในขณะที่ออกงิ้ว ทั้งท่าทาง ทั้งสุ้มเสียง คือสัตว์นรกทั้งนั้น มันร้อน ในขณะที่อยากจะได้จนตัวสั่น จะเบียดเบียนใครมา จะโกงกินใครมา ก็ขอให้ได้จนตัวสั่น นั่นก็ไม่รู้ว่านี่คือเปรต ไปกลัวเอาเมื่อตาย ทั้งๆที่เป็นมาแล้ว และพอถึงเวลาตายก็ยิ่งสั่นใหญ่ เพราะอวิชชามันครอบงำจิตตลอดเวลา ไม่รู้ในสิ่งที่ควรรู้ เพราะฉะนั้นถ้าอยากตายให้เป็นนะค่ะ ตายอย่างสงบ อย่างอาจหาญ อย่างสบายๆ เยือกเย็นผ่องใส เพราะเห็นแล้วว่า ความตายนี้เป็นธรรดา เป็นกฎของธรรมชาติ ก็จงพยายามฝึกทุกขณะจิต ไม่ว่าจะอยู่ในหน้าที่ใด ในตำแหน่งใด เป็นให้ถูก เป็นให้เป็น แล้วก็ถึงเวลาตายก็จะตายเป็น เพราะรู้แล้วว่า ความตายมันก็เช่นนั้นเอง
ผู้ฟัง: เห็นบางคนบอกว่า ไหนๆก็จะตายแล้ว ช่างหัวมัน ตายแล้วช่างมัน มันไม่ตายก็เอาไว้ก่อน กอบโกยไว้ก่อน มันยังไม่ตาย จะตายท่าไหนก็ช่างมัน อะไรอย่างนี้”
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ก็ช่างมันแล้วก็เอาไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็นึกดูให้ดีก็แล้วกันนะ ความช่างมันอันนี้ มันจะได้ประโยชน์อะไรบ้างน่ะค่ะ
เพราะฉะนั้นตายให้เป็นก็คือ ตายอย่างสว่าง ตายเย็น ไม่ใช่ตายร้อน ไม่ใช่ตายมืด นี่เรา ถ้าเราจะขืนพูดอย่างยามไหนก็ได้นี่ เราพูดได้อีกยาวเลย เราพูดสัก 20 ครั้งก็ได้นะ แต่ทีนี้ บางทีท่านผู้ฟังก็จะเบื่อ ทีนี้ยามจะมี ที่ท่านบอกว่ “มีอะไร มีไม่เป็น ก็เป็นทุกข์” มีเงินมีไม่เป็นก็เป็นทุกข์เพราะเงิน มีความดีมีไม่เป็นก็เป็นทุกข์เพราะมีความดี ถึงมีสุข ก็ยิ่งทุกข์ เพราะสุขนัก’ สุขใครๆก็ใฝ่หา แต่พอมีสุขเขาก็เป็นทุกข์เพราะสุขนั้น “ดูให้ดี อย่าเสียที ให้กับมัน จะพากัน มาเพิ่มทุกข์ให้ทุกที” เพราะอะไร มีอะไรทีไรเป็นทุกข์ทุกที มีความสุขก็ยังเป็นทุกข์เพราะความสุข แปลกไหม และมันจะสุขจริงได้ยังไง ทำไมเป็นอย่างนั้น เพราะอะไร มีทรัพย์ก็เป็นทุกข์เพราะทรัพย์ มีชื่อเสียงก็เป็นทุกข์เพราะชื่อเสียง เพราะยึดมั่นถือมั่น ยึดมั่นถือมั่นก็เกิดความกลัวเดี๋ยวมันจะหมด มีเงินก็กลัวเงินหมด มีชื่อเสียงก็กลัวชื่อเสียงจะมลายไป จะไม่มีเพิ่มมากขึ้น มีอำนาจก็กลัวอำนาจหมดอีกเหมือนกัน กลัวอำนาจหาย มีความสุขก็กลัวว่าเดี๋ยวมันจะไม่สุขอย่างนี้ เพราะฉะนั้นในขณะที่กลัวจะไม่สุข มันก็เลยหาใช่สุขจริงไม่มี มันกลายเป็นสุก ก.ไก่ เผาไหม้เกรียม ใช่ไหม เพราะใจมันร้อนรน ร้อนด้วยความยึดมั่นถือมั่น กลัวสุขจะหาย สุขของใคร
ผู้ฟัง: ของฉัน
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ของฉัน นี่ก็เห็นไหม น่ากลัวเท่าไหร่นะ ไอ้ตัวตนนี่ ถูกกัดกินอยู่ ของฉัน ของฉัน ของฉัน อยู่ตลอดเวลา แต่เราก็ไม่นึก ก็ยังพยายามที่จะเอาเป็นของฉัน ท่านผู้ฟังอาจจะบอกว่า แล้วมาพูดว่าทำไมล่ะว่า ฉันว่าของฉัน ว่าท่าน ว่าเธอ อันนี้เราต้องพูดกัน เพื่อความหมายที่จะเข้าใจได้ เพื่อให้สื่อสารกันได้ เพราะถ้าหากว่าเราไม่มีคำพูดตามสมมุติเพื่อความเข้าใจในการสื่อสาร มันก็จะเกิดยุ่งกันใหญ่ จะยุ่งยิ่งกว่าเดี๋ยวนี้ แต่ท่านสอนว่า สิ่งที่เราบัญญัติขึ้นตามสมมุตินั้น เราก็ต้องรู้จักมันว่า มันเป็นเพียงสมมุติสัจจะ เป็นสิ่งที่สมมุติขึ้นเท่านั้น อย่าไปยึดมั่นถือมั่นเอาเป็นจริงเป็นจัง แต่ให้เราอยู่กับความจริง คืออยู่กับกฎของธรรมชาติ ให้รู้จักกฎของธรรมชาติ ปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับกฎของธรรมชาติ แล้วเราก็จะใช้สิ่งที่สมมุติ เพียงสักแต่ว่าใช้ เพื่อประโยชน์เท่านั้นเอง แต่เราไม่ยึดมั่นถือมั่น และเสร็จแล้ว จิตนี้ก็จะอยู่เหนือสิ่งที่เป็นสมมุติสัจจะนั้น เพราะฉะนั้นที่บอกว่า ยามจะมี มีอะไรก็มีเถอะ แต่มีอย่าง ไม่ยึดมั่นถือมั่น มันจะ
ผู้ฟัง: เป็นทุกข์
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไม่ยึดมั่นถือมั่น อย่ามีอุปาทาน ถ้าตัณหานั้น ไม่ใช่ตัณหาด้วยอำนาจของอวิชชา มันก็จะไม่มีอุปาทาน ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น เพราะมันมีสติปัญญาที่จะรู้ว่า อะไรคืออะไร อะไรคือสิ่งจริง อะไรคือสิ่งสมมุติ มันก็ไม่ไปหลงยึดมั่นถือมั่น เพราะฉะนั้นมันก็ไม่เป็นทุกข์ เช่นเดียวกับ “ยามจะใช้ ใช้ให้เป็น ไม่เป็นทุกข์ ยามจะกิน กินให้ถูกตามวิถี ยามจะถ่าย ถ่ายให้เป็น เห็นสุดดี” ถ้าอย่างนี้ ไม่เป็นทุกข์ ทุกคืนวัน ท่านผู้ฟังอาจจะบอกว่า ต้องมาพูดอะไรเรื่องกิน ก็รู้แล้วก็มีอะไรก็กินใส่ทางปากเคี้ยวกลืนไป ยามจะถ่ายก็เข้าห้องน้ำไป ไม่เห็นจะต้องมาบอกเลยว่า ต้องถ่ายให้เป็น กินให้เป็น มิฉะนั้นมันจะเป็นทุกข์ มองเห็นไหมค่ะเนี่ย มันจะเป็นทุกข์ยังไง
ผู้ฟัง: กินมากก็ทุกข์
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ใช่ กินมากก็อิ่มอืด ง่วงนอน ถ้าไปกินของที่ไม่ควรกิน ยิ่งทุกข์หนักเข้าไปอีก ใช่ไหมค่ะ หรือถ้าจะไปถ่าย ไม่ถ่ายให้ถูกต้อง มันก็เลอะเทอะ มันก็เดือดร้อน น่าอาย เพราะฉะนั้น แม้แต่สิ่งเล็กๆน้อยๆในชีวิตประจำวัน ที่เราจะต้องทำอยู่นี้ ถ้าทำให้ถูกต้องแล้ว มันก็จะไม่เกิดความทุกข์ขึ้น นี่คือสิ่งที่ท่านบอกว่า ยามไหนก็ได้ ยามไหนก็ได้ทั้งนั้น ถ้าหากว่า เราอยากแล้วล่ะก็ไม่เป็นไรหรอก ก็อยากเถอะ ถ้ารู้จักอยากด้วยสติปัญญาใช่ไหม ถ้ารู้จักอยากด้วยสติปัญญาแล้วก็อยากเถอะ เพราะอยากแล้ว ไม่เป็นไร อยากแล้วไม่เป็นทุกข์ อยากจะหวังก็หวังเถอะ แต่ให้หวังด้วยสติปัญญาอีกเหมือนกัน ใช่ไหมค่ะ ถ้าเราหวังด้วยสติปํญญา เราก็ไม่มีความทุกข์ เพราะฉะนั้นอันนี้ ท่านจึงแนะนำเอาไว้ว่า อยากยามไหนก็ได้ ได้ทั้งนั้นเลย แต่ทว่าขอให้ใช้สติปัญญา สติปัญญานี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร
ผู้ฟัง: ไตร่ตรอง พิจารณา
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ไตร่ตรอง พิจารณาที่ไหน
ผู้ฟัง: ที่จิตของเรา
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ที่จิต ก็คือไตร่ตรอง พิจารณาข้างใน ก็อยากจะให้เป็นข้อสังเกตุสักนิดหนึ่งน่ะค่ะว่า การที่เราจะไตร่ตรอง พิจารณาข้างในนี้ มันต่างกับการศึกษาข้างนอกตรงที่ว่า ถ้าศึกษาข้างนอก เราใช้อะไร
ผู้ฟัง: ตาเนื้อ
อุบาสิกา คุณรัญจวน: ตาเนื้อ ใช้สมอง ใช้สมอง มันสมองนั้นน่ะ แล้วเราก็คิดใคร่ครวญและก็ตามที่ตาเนื้อเห็น หรือพูดง่ายๆว่า ตามที่อายตนะของเรามี เราบอกเราเห็นอะไร ให้วิญญาณที่มันก็รับรู้ไป เพราะฉะนั้นการศึกษาข้างนอกนี้ สติปัญญาข้างนอกนี้ มันเกิดจากการคิด พอเราคิดจากที่เราได้ศึกษามา ได้ฟังมาอย่างที่เราพูดกันมาแล้วนี้ เราก็ใช้เหตุผล ใช้เหตุผลประกอบ พอใช้เหตุผลประกอบแล้ว เราก็มีการวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์ มีการตัดสิน มีการแบ่งแยก มีการ เอบอกว่า อันนี้ดี อันนี้ไม่ดี อันนี้ใช่ อันนี้ไม่ใช่ ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง โดยถือเอามาตรฐานออกไปจากตัวฉันเป็นสำคัญ นี่เรียกว่า ศึกษาข้างนอกเราใช้อย่างนั้น แล้วการศึกษาข้างนอกนี้ ถ้าจะว่าไปแล้วมันก็ ก่อให้เกิดปัญหาเหมือนกัน ถ้าหากว่า ผู้ที่ศึกษาแต่ข้างนอกฝ่ายเดียว โดยไม่รู้จักศึกษาข้างใน เรียกว่าศึกษาด้านเดียว มันก็สุดโต่งไปข้างเดียว เพราะฉะนั้นมันก็จะมีแต่การมองข้างนอก วิพากษ์วิจารณ์ข้างนอก ตัดสินข้างนอก คือ ตัดสินผู้อื่น แต่ไม่เคยหันมาดูเลยว่า แล้วเราล่ะทำอะไร เราเคยว่าคนอื่นพูดไม่เพราะ เราพูดไม่เพราะบ้างไหม เราว่าคนอื่นทำไม่ถูกต้อง เราทำไม่ถูกต้องบ้างไหม เราว่าคนอื่นไม่ยุติธรรม เราไม่ยุติธรรมบ้างไหม นี้ล่ะค่ะ มันจะลืมหันมาดู เพราะฉะนั้นการศึกษาข้างนอก จะเกิดประโยชน์แก่ชีวิตมนุษย์อย่างเต็มที่ ถ้าผู้นั้นรู้จักศึกษาข้างในประกอบไปด้วย เพื่อให้เกิดความสมดุลย์ และการศึกษาข้างใน ได้เคยพูดหลายครั้งแล้วคงจะจำได้ว่า การศึกษาข้างใน หลีกเลี่ยงการที่จะคิด คิดในที่นี้หมายความว่า คิดด้วยสมอง พอคิดไปแล้วเ มันเกิดจากการคิดเหตุ คิดผล สมมุติฐานว่าเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ แล้วก็เอาความรู้ เอาประสบการณ์เข้ามา ใคร่ครวญต่อไป แล้วก็บอกว่า สองบวกสองมันจะต้องเป็นสี่ มันไม่มีวันที่จะเป็นอื่นไปได้ แต่อันที่จริงบางที หนึ่งบวกกับสาม มันก็เป็นสี่ ขึ้นมาได้เหมือนกัน อย่างนี้ เป็นต้น แต่จะต้องถือว่า สองบวกสองเท่านั้นจะต้องเป็นสี่ ไปเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้นการศึกษาข้างนอก จึงต้องระมัดระวัง เพราะว่ามันจะทำให้วิพากษ์ วิจารณ์ผู้อื่น และการวิพากษ์วิจารณ์ข้างนอกแต่ฝ่ายเดียว ผลที่สุดมันก็ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท ขัดแย้ง โต้เถียงกัน เกิดความแตกแยก ฉะนั้นการศึกษาข้างในนี้ เราก็ต้องเปลี่ยนจากการคิดเป็นการดู ดูด้วยความรู้สึก สัมผัสด้วยใจ ฉะนั้นการศึกษาข้างในต้องดู การคิดกับการดูต่างกัน การคิดก็คิดใคร่ครวญด้วยเหตุด้วยผล ก็จะมีความรู้ตามวิชา คือ ช ตัวเดียวมากขึ้น ทำมาหากินเป็นหลักเป็นฐานช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ถ้าหากว่าเราฝึกการดู ดูด้วยความรู้สึกใคร่ครวญจนสัมผัสที่ใจมากขึ้น คือดูข้างใน เราก็จะพบกับความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็พบกับสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ พบกับสิ่งที่เรียกว่า ธรรมชาติ พบกับสิ่งที่เรียกว่า กฎของธรรมชาติ แล้วทีนี้ สติปัญญาภายในก็จะเพิ่มมากขึ้นๆ จนผลที่สุดจะสามารถที่จะบังคับใจของตนนี้ให้รู้จักทำอะไรตามหน้าที่ได้ เพราะการปฎิบัติตามหน้าที่นี้มันจะเป็นการสอดคล้อง ให้กับกฎของธรรมชาติพร้อมกับจิตที่มีสติ ระลึกรู้อยู่เสมอว่า ไม่มีสิ่งใดเที่ยง ไม่มีสิ่งใดคงทน มันจึงเหลืออยู่แต่เพียงการทำหน้าที่ให้ถูกต้อง เพราะทำหน้าที่ถูกต้องอย่างดีที่สุด เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแล้ว จิตก็ไม่ต้องไปประหวั่น ไม่ต้องเป็นห่วงว่าผลจะเป็นอย่างไร เพราะได้ทำอย่างเต็มที่ดีแล้ว เพราะฉะนั้นผลที่เกิดขึ้นมันก็จะเกิดขึ้นตามกฎอิทัปปัจจยตา ประกอบเหตุอย่างใดผลอย่างนั้น เพราะฉะนั้นผลที่เกิดขึ้นก็คือ ผลที่จะมีแต่ความสุขสงบ แล้วก็เยือกเย็นผ่องใสอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นที่เรียกว่า เป็นการอยาก เราจึงบอกว่า อยากด้วยสติปัญญา หวังด้วยสติปัญญา แล้วจะไม่นำสิ่งที่เป็นความทุกข์ หรือสิ่งที่เป็นปัญหา ให้เกิดขึ้นในจิต มันจะมีแต่ความรู้สึกอิ่มใจ พอใจ แล้วก็เบิกบานผ่องใสอยู่เป็นนิตย์ แล้วอย่างนี้น่ะค่ะ จำกัดไหมว่า จะต้องเป็นเศรษฐี ไม่จำกัดเลย ไม่จำกัดจะต้องเป็นเศรษฐี ไม่จำกัดว่าจะต้องนั่งรถเก๋งคันยาวๆ แม้แต่มีรถจักรยานเก่าๆสักคันหนึ่ง นี่พูดถึงว่าในต่างจังหวัดน่ะค่ะ แต่ถ้าในกรุงเทพ รถจักรยานเก่าๆก็ไปถีบไม่ได้ นอกจากในซอย ในบ้านเรานะ ขึ้นรถเมล์ดีกว่า แต่ถ้าหากว่าเราทำหน้าที่อย่างนี้อยู่เสมอ มันก็จะมีแต่ความผาสุก นี่แหล่ะถ้าจะว่าไปแล้วก็บอกว่าเป็นส่วนดี เป็นส่วนดีหรือเป็นสิ่งพิเศษของพุทธศาสนา ที่ทุกคนสามารถจะเป็นเศรษฐีได้ เศรษฐีคือผู้ที่มีความสุขใช่ไหม ถ้าเรารู้สึกว่าคนเป็นเศรษฐีก็ซื้ออะไรๆก็ได้ ก็มีอะไรจะซื้อได้ แต่เรานี่สามารถจะซื้อสิ่งที่เรียกว่าความสุขที่แท้จริง คือความอิ่มเอิบ ความเบิกบานใจ ให้เกิดขึ้นในจิตทุกขณะ เพราะการทำหน้าที่อย่างถูกต้อง เพราะฉะนั้น อยากก็อยากเถอะ แต่อยากด้วยสติปัญญา แล้วเราก็จะเป็นเศรษฐีได้ทุกเวลา ธรรมะสวัสดีน่ะค่ะ