แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ธรรมะสวัสดีค่ะ เราได้พูดกันถึงเรื่องของนิวรณ์นะคะ สิ่งที่ปิดกั้นหนทางความเจริญทุกอย่างทุกชนิด ทั้งทางโลกและทางธรรม ยังจำได้ไหมคะว่านิวรณ์มีกี่อย่าง
ผู้ดำเนินรายการ : มี 5 อย่าง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ค่ะ มี 5 อย่าง อะไรบ้าง พอจะนึกได้ไหม
ผู้ดำเนินรายการ : กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ดีมากเลย ถ้าจะให้อธิบายสักหน่อยหนึ่งว่ามันเป็นอย่างไร
ผู้ดำเนินรายการ : เป็นลูกน้องของโลภ โกรธ หลง
อุบาสิกา คุณรัญจวน : เป็นลูกน้องของโลภ โกรธ หลง คือเป็นลูกน้องของกิเลสนั่นเอง ตัวไหนเป็นลูกน้องของอะไร
กามฉันทะ เป็นลูกน้องของโลภะ แล้วมันมีอาการ “ดึงเข้ามา” นี่คือสังเกตว่าอาการของกิเลสที่เรียกว่า โลภะ หรือ ราคะ คือมันชอบดึง ดึงเข้ามาหาตัว เกิดความรู้สึกอยากจะได้ แล้วก็อะไรเป็นลูกน้องของอะไรต่อไป
พยาบาท เป็นลูกน้องของโทสะ เพราะมีอาการ “ผลักออกไป” ตรงกันข้ามกับโลภะ
แล้วก็อีกสามตัว คือ ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา เป็นลูกน้องของโมหะ เพราะมันมีอาการวนเวียน เหมือนกับวิ่งตาม อย่างที่เรียกว่า สุนัขวิ่งไล่กัดหางตัวเอง ทำนองอย่างนั้น แล้วเสร็จแล้วก็กัดไม่ถึงสักที มันก็หงุดหงิด บางทีมันก็ห่อเหี่ยว ประเดี๋ยวมันก็ขึ้นลงฟุ้งซ่าน อะไรต่ออะไรต่าง ๆ เหล่านี้ เพราะฉะนั้นทั้งหมดนี้คืออาการของนิวรณ์ ซึ่งมันไม่รุนแรงเหมือนกิเลส แต่มันจะกรุ่น ๆ ๆ เหมือนแมลงหวี่ ตัวริ้น มาตอมตาให้พอรำคาญ รำคาญไม่ถึงตายแต่ก็ไม่สบาย ไม่มีความสบายใจเลย แล้วท่านก็อุปมา “นิวรณ์” นี้ เหมือนกับน้ำชนิดต่าง ๆ
กามฉันทะนั้น เหมือนน้ำเจือสีต่าง ๆ เป็นเหมือนสีรุ้งสวย สีเขียว สีแดง สีเหลือง สีฟ้า มองดูมันงดงาม เพราะฉะนั้นอะไรที่มันมีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่มันชวนให้เกิดกามฉันทะคือพอใจ มันก็สวยงาม มันล่อตา มันยั่วยวน คนก็อยากจะได้ ก็เลยหลงเพลิดเพลินไม่รู้ตัว
พยาบาท เหมือนน้ำเดือด มันร้อน ๆ รุม ๆ เหมือนกับมันเผาไหม้เกรียมนิด ๆ บางคนอาจจะบอกว่าเพราะอร่อย อร่อยดีอะไรที่มันเกรียม แต่เขาบอกว่าถ้ากินอะไรเกรียมมาก ๆ เขาว่าเป็นมะเร็ง มันสะสมเชื้อมะเร็งเข้าไปโดยไม่รู้ตัว พยาบาทจึงเปรียบว่าเหมือนกับน้ำเดือด
ถีนมิทธะ เหมือนกับน้ำที่มีจอกแหนปกคลุม แล้วมันห่อเหี่ยว ซึมเซา มืดมัว สลัวอยู่เรื่อย แห้งแล้ง เพราะฉะนั้นมันก็เลยเหมือนกับจอกแหนที่ปกคลุม ทำให้มองไม่เห็นว่าน้ำนั้นใสหรือขุ่น ก็คือจิตในขณะนั้นมันมีลักษณะมัวสลัว มึนซึม ไม่มีความเบิกบานเลย มันมีแต่ความห่อเหี่ยว ตกต่ำ ท่านจึงเปรียบเหมือนน้ำที่มีจอกแหนปกคลุม
อุทธัจจกุกกุจจะ เหมือนกับน้ำที่มีระลอกเป็นพลิ้ว ๆ ๆ สวยดี เพลิน มองดูแล้วมันเหลือบฟุ้ง มันมาเป็นริ้ว ๆ น้อย ๆ น่าเอ็นดู สวยงาม เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นสิ่งที่ชวนให้เพลิดเพลิน เพราะอุทธัจจกุกกุจจะ คือความคิดฟุ้งซ่าน ยิ่งคิดยิ่งเพลิน ยิ่งคิดยิ่งสนุก ยิ่งคิดยิ่งอร่อย มันก็เลยเปรียบเหมือนกับน้ำที่มีระลอกพลิ้ว ๆ เป็นอย่างนั้น
ส่วนวิจิกิจฉา ท่านเปรียบเหมือนน้ำที่อยู่ในที่มืด มองไม่เห็น ถ้าจะว่าไปแล้วน่ากลัวยิ่งกว่าน้ำอื่น ๆ คือน้ำชนิดอื่น ๆ เรายังมองเห็น แต่วิจิกิจฉาที่เป็นน้ำอยู่ในที่มืด เรามองไม่เห็น น้ำดี น้ำใส น้ำสะอาด สกปรก เป็นน้ำโคลนครำ หรือว่ามีสัตว์ร้ายมีพิษซ่อนตัวอยู่ หรือว่ามีหมาเน่าตายอยู่ เราไม่รู้เลย เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกว่า น่ากลัวมากน้ำที่อยู่ในที่มืด อาการวิจิกิจฉา คือ ลังเล สงสัย ถอยหน้า ถอยหลัง เอา ไม่เอา คิดไปคิดมา จนจิตใจเกิดความประหวั่นพรั่นกลัว เกิดความไม่แน่ใจในทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต จนรู้สึกเหมือนกับอยู่ในหนทางตัน ถูกต้อนเข้ามุมมืด ท่านจึงเปรียบเหมือนน้ำที่อยู่ในที่มืด ซึ่งมีความน่ากลัวอย่างยิ่ง
เพราะฉะนั้นในลักษณะอย่างนี้ เมื่อเราอยู่ในที่มืด เราก็ต้องการแสงสว่าง ต้องการแสงสว่างเข้าไป แสงสว่างที่จะสาดเข้าไปเพื่อจะไล่วิจิกิจฉา ก็คือ “แสงสว่างของปัญญา” ปัญญาที่ว่านี้ต้องเป็น ปัญญาภายใน ไม่ใช่เป็นปัญญาจากการศึกษาข้างนอกที่เรียนในโรงเรียน หรือวิทยาลัย มหาวิทยาลัย แต่เป็นปัญญาที่เกิดจากข้างใน ที่เราศึกษาด้วยการดู ดูลงไปจนกระทั่งเรามองเห็นจริง มองเห็นสิ่งที่เป็นสัจจะ เป็นธรรมชาติอย่างแท้จริง แล้วเสร็จแล้วจิตนี้ก็ค่อยฉลาดขึ้น ๆ เพราะรู้แล้วว่าทุกสิ่งนั้นมันเป็นเพียง “สิ่งสักว่า”ทุกอย่างนั้นมันเป็นเพียง“สิ่งสักว่า” ไม่มีอะไรที่ควรยึดมั่นถือมั่นเลยสักอย่างเดียว พอมองเห็นอย่างนี้ จิตที่กำลังลังเลสงสัยมันหยุด มันหยุดเพราะรู้แล้วว่า มันแค่นี้เอง เดี๋ยวมันก็เกิดดับ เกิดดับ เปลี่ยนแปลง มาไป จะมีประโยชน์อะไรที่จะสงสัย ทำให้ถูกก็คือ หันไปดูเหตุปัจจัย แล้วประกอบเหตุปัจจัยเสียใหม่ให้ถูกต้อง ทำดีที่สุดแล้ว ผลมันก็ย่อมจะต้องออกมาในทางที่ถูกต้องเช่นเดียวกัน
ทีนี้ถ้าสมมติว่าเป็นกามฉันทะเกิดขึ้น อย่างวิจิกิจฉาเราแก้ไขด้วยการใช้ปัญญา ใช้แสงสว่างของปัญญาสาดลงไป ทีนี้ถ้าสมมติว่าเป็นกามฉันทะเกิดขึ้นในจิต เราจะใช้อะไรมาแก้ไขกามฉันทะ ความรู้สึกยินดี พอใจ ในรูป เสียง กลิ่น รส
“หิริโอตตัปปะ” คือมีความละอายไม่ยื้อแย่งอะไรของเขาอย่างนั้นก็ได้ แต่ก็ยังอดไม่ได้ นั่นก็สวยนี่ก็สวย นี่ก็อร่อย นี่ก็เพราะ อยากกิน กลิ่นก็หอม เมื่อเราเห็นอะไรสวย ๆ งาม ๆ เพื่อจะให้เกิดความรู้สึก “สิ้นอยาก” มันก็เท่านั้นเอง ท่านก็แนะนำว่าให้ไปดูสิ่งที่เรียกว่า “อสุภะ” จำได้ไหมอย่างที่เคยบอกว่า อาหารที่เขาจัดไว้สวย ๆ งาม ๆ ก่อนที่เราจะกินอาหาร เขาจัดวางไว้ใส่จานเชิง ใส่ชามโคม ในถาดสวยงาม สีก็สวย กลิ่นก็หอม มองดูรสชาติน่ากิน พอเราตักใส่จาน แล้วเราก็มาตักใส่ปาก แล้วก็เคี้ยวกลืนไป อย่างช้าพรุ่งนี้เช้ากลายเป็นอุจจาระ เราเข้าห้องน้ำมันก็กลายมาเป็นอันนั้นแหละ แล้วเราบอกได้ไหมว่าอันนี้คนละอย่าง สิ่งที่อยู่ในห้องน้ำกับสิ่งที่อยู่ในจานที่เราเคี้ยวกลืนไปคนละอย่าง บอกได้ไหม ไม่ได้ มันอย่างเดียวกัน เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกว่า ถ้าจิตของผู้ใดติดหลงใหลอยู่ในสิ่งสวย ๆ งาม ๆ น่ารัก น่าชม หอมหวาน จงดูสิ่งที่มันน่าเกลียด มันสะอิดสะเอียน มันน่าขยะแขยง หรือง่าย ๆ ท่านบอกว่า “จงดูอสุภะ”
อสุภะ ก็คือสิ่งที่เน่าเปื่อย แต่อย่างเรื่องของการกิน คือลิ้นลิ้มรสเนี่ย เรามองเห็นชัดเลย คือ เราดูขยะ ดูความเน่าเปื่อยของซากหมาเน่า หรือเมื่อเวลาที่คนตายที่เราไปเผาศพ แล้วเราก็เห็นซากศพที่เกิดขึ้น แล้วก็นั่งพิจารณา ถ้าเราดูสิ่งเหล่านี้แล้วเราก็จะค่อยรู้สึกว่า ที่เราหลงรูปสวย หรือว่าหลงเสียงเพราะ หรือว่ากลิ่นหอม หรือว่ารสชาติที่อร่อย หรือสัมผัสทางกายที่นุ่มนวลอ่อนโยน มันก็เท่านั้นเอง หรือแม้แต่กามารมณ์ที่มีความใคร่กันมาก มันก็เท่านั้นเอง มันไม่ได้มีอะไรยั่งยืนคงทน มันงามแล้วเสร็จแล้วมันก็สลายไป มันเกิดความงามความสวยแล้วมันก็ดับไป มันก็กลายเป็นสิ่งน่าเกลียด น่าขยะแขยง กลายเป็นปุ๋ยคืนสู่ธรรมชาติ แล้วมันก็หมุนเวียนกลับมาอีก มันมีเพียงแค่นี้เอง
ผู้ดำเนินรายการ : พอตายแล้วก็ไม่อยากกอด
อุบาสิกา คุณรัญจวน : แน่นอน ถ้าเวลาที่พอหยุดหายใจอาจจะยังอยากกอด พอสามวันกลับไปใหม่ไม่แน่ใจ แม้แต่คนที่นอนอยู่ด้วยกันทุกวัน ๆ ก็ไม่กล้าที่จะเข้าใกล้ ยิ่งเจ็ดวันขอไกล เพราะฉะนั้นบางคนก็บอกว่าเผาเร็ว ๆ เท่าไหร่ยิ่งดี ใจก็ระลึกถึง แต่ระลึกถึงในอีกรูปหนึ่งที่ยึดมั่นถือมั่น
“ความยึดมั่นถือมั่น”นี่เองเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ เพราะฉะนั้นเมื่อกามฉันทะเข้ามาสิงสู่อยู่ในจิตมาก ๆ ท่านก็แนะนำว่า จงดูอสุภะ จงดูสิ่งสกปรก สิ่งที่น่าเกลียด สิ่งที่น่าขยะแขยง มองให้เห็นว่ามันเป็นสิ่งเดียวกัน ก็เหมือนกายนี้ เวลานี้สะอาดหอมเพราะเพิ่งอาบน้ำมาใหม่ ๆ พอถึงตอนบ่ายตอนเย็นกายนี้มีกลิ่นแล้ว กลิ่นเหงื่อ กลิ่นไคล ต้องไปอาบน้ำ ต้องถูสบู่ บางคนอุตส่าห์เอาเกล็ดน้ำหอม เกล็ดสบู่หอม ใส่ลงไปในน้ำแช่ ก็ตัวนี้รักทะนุถนอมให้สะอาด แต่มันก็หาพ้นจากความที่จะเน่าเปื่อยเป็นอสุภะไม่ นี่แหละดูอันนี้ แม้แต่ผู้ที่พึงพอใจในสิ่งที่เรียกว่ากามารมณ์ ก็ดูอันนี้ ดูมาก ๆ แล้วจิตจะค่อย ๆ ถอย ถอยจากนิวรณ์ตัวที่เรียกว่า กามฉันทะ
หรือถ้าพยาบาทเกิดขึ้น หงุดหงิด รำคาญ พยาบาทนี้หมายถึง อาการทั้งหงุดหงิด รำคาญ ไม่ใช่ว่าอาฆาต เข่นแค้น ฆ่าฟัน แต่หงุดหงิด อึดอัด รำคาญ เพราะไม่ชอบใจ อันนั้นก็ไม่ชอบ ไม่ชอบนิดไม่ชอบหน่อย มันไม่ชอบอยู่เรื่อย มันไม่ถูกหู ไม่ถูกใจ จะแก้ได้อย่างไร ไม่ถูกใจใคร
ผู้ดำเนินรายการ : “ฉัน” ครับ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ไม่ถูกใจฉัน ที่จริงก็ไม่ได้หมายความว่า เขาไม่ดีหรือเขาไม่ถูก เขาก็อาจจะทำดี ทำถูก แต่มันไม่ถูกใจฉัน เพราะฉะนั้นอันที่ไม่ถูกใจฉัน เพราะมันไม่เข้ามาตรฐานของฉัน มันไม่ดีเท่าที่ฉันคิด มันไม่เก่งเท่าที่ฉันต้องการ เพราะฉะนั้นในกรณีนี้วิธีที่อาจจะทำง่าย ๆ ถ้าเผอิญเขาเป็นคนไม่ฉลาด วิธีที่ทำท่านก็แนะว่า “จงแผ่เมตตา” แผ่เมตตาให้มาก เพราะอันที่จริงถ้าเขารู้เขาจะทำ ใคร ๆ ก็อยากให้ใครรัก อยากให้ใครพอใจ อยากให้ใครชมว่าเก่ง แต่นี่เพราะว่ามันได้แค่นั้น นี่พูดถึงว่ามันได้แค่นั้น บางทีก็เลยดูเหมือนว่าเป็นประหม่า เป็นมักง่าย แต่ก็มีเหมือนกันบางคนฉลาดมีสติปัญญาแต่มักง่าย มักง่าย ขี้เกียจ ชุ่ย ๆ อย่างนี้เมตตา แต่เมตตาไปพร้อม ๆ ไปกับ ไม้เรียว คือ ต้องให้ความเมตตาด้วย และต้องให้ไม้เรียวด้วย คือต้องขนาบด้วย ต้องสั่งสอนด้วย ต้องอบรมด้วย แต่สั่งสอนด้วยเมตตา คือถึงแม้ว่าบางครั้งข้างนอกจะมองดูเหมือนกับดุหรือเหมือนกับว่า แต่ในใจนั้นเมตตา คือหมายความว่าไม่มีอาการขึ้งโกรธ แต่ต้องทำในฐานะกัลยาณมิตร ต้องทำเพื่อช่วยให้เขาดีขึ้น แต่ถ้าสมมติว่าปล่อยไป อะไรก็ได้ไม่เป็นไร อย่างนี้ถูกหรือผิดในฐานะของความเป็นเพื่อนหรือเป็นกัลยาณมิตร
ผู้ดำเนินรายการ : ผิด
อุบาสิกา คุณรัญจวน : ผิด นี่ไม่ใช่กัลยาณมิตร อย่างนี้ต้องเรียกว่า เป็นอมิตร เพราะว่าส่งเสริมให้ทำผิดยิ่งขึ้น ส่งเสริมให้ทำชั่วยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นกัลยาณมิตรนี้ไม่ต้องกลัวว่าเพื่อนจะโกรธจะขัดใจ ในเมื่อถือว่าสิ่งที่เราพูด เรากระทำ เพื่อสร้างสรรค์ เพื่อขัดเกลา เพื่อช่วยเหลือ และถือความถูกต้องเป็นสำคัญ อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าผู้ที่เป็นกัลยาณมิตรนั้นอันที่จริงแล้วต้องมีความกล้า มีความกล้าในการที่จะพูดจะทำในสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อประโยชน์แก่เพื่อน
ฉะนั้นถ้าพยาบาทเกิดขึ้นจงใช้ความเมตตาให้มาก นอกจากนั้นอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า หันมาดูตัวเอง โดยมากเราไม่ค่อยดู เราเห็นแต่คนอื่นเขาพูดไม่ดี ทำไม่ถูก คนนั้นก็เลอะเทอะ คนนี้ก็ไม่ได้ใอย่างใจ แต่ลืมหันมาดูว่าเราเคยพูดไม่เพราะอย่างนี้ไหม เราเคยทำท่าไม่น่าดูกิริยามารยาทไม่งดงามอย่างนั้นไหม เราว่ายายคนนี้งกเห็นแก่ได้ บางครั้งเราเคยไหม เราเคยงกบ้างไหม บางทีไม่งกอะไร งกนิด ๆ หน่อย ๆ มองดูเหมือนไม่สำคัญ งกอยากได้ส้มลูกงาม ๆ ลูกนั้น งกอยากได้ผ้าเช็ดหน้าผืนสวย แล้วมีเสื่อหลาย ๆ ผืน แหม งกอยากนั่งเสื่อที่มันงาม ๆ อะไรอย่างนี้เป็นต้น นิดหน่อย ๆ อะไรอย่างนี้เป็นต้น ทีละน้อย ๆ ลองหันมาดูบ้างว่าเราเคยเป็นไหม ดูอย่างใจเป็นธรรม เผอิญเราก็เคยเป็น ใจรู้สึกอย่างไร เกิดความเห็นใจ เห็นใจคนที่เราหงุดหงิดที่เราหมั่นไส้เมื่อกี้นี้ว่า เขาก็ไม่ได้ต่างกับเราหรอก ไม่ใช่ว่าเลวกว่าเรา เราเองบางครั้งก็เลวแบบนั้นเหมือนกัน เราก็ไม่ดีอย่างนั้นเหมือนกัน เกิดความเห็นใจเพราะอยู่ในเรือลำเดียวกัน นี่เป็นวิธีที่จะแก้ไข ด้วยการมองดู มองดูจิตของเราภายในมันเกิดสิ่งนี้เพราะอะไร แล้วก็อยากจะแก้ไข ก็เพิ่มความเมตตาและก็หันมาดูตัวเอง
ทีนี้ถ้าถีนมิทธะ ง่วงเหงา มึนงง ซึมเซา ห่อเหี่ยว เหมือนตุ๊กตาล้มลุกตั้งไม่เป็น อยู่ตรงไหนก็ล้มลุกเหมือนจะมีแต่สันหลัง ไม่มีก้น ไม่มีขา ไม่มีตัว มันแผละเพราะมันห่อเหี่ยว มันมัวซัว มันอ่อนเปลี้ยอยู่ภายในไม่มีแรงเลย จะแก้ไขอย่างไร อันนี้ต้องอาศัยความเร้าใจ เติมพลัง เร้าใจตัวเอง อย่างน้อยแข็งใจ ลองนึกถึงไล่หลังย้อนหลังไปดูสิว่า ในชีวิตที่ผ่านมานี้เราได้ทำอะไรที่พอเรานึกขึ้นมาแล้วมันปลื้ม ปลื้มใจ ปีติ ยินดี เพื่อใจนี้จะได้เกิดกำลังใจ เกิดกำลังใจแล้วก็ลุกขึ้นได้ แล้วก็เชียร์ตัวเอง เชียร์ตัวเอง ปลุกใจตัวเอง เร้าใจตัวเองให้นึกถึงสิ่งที่ตนได้กระทำมาแล้วด้วยดี ก็จะมองเห็นว่าอันที่จริงเรานี้ไม่ได้ไร้ความสามารถ เรามีความรู้ เรามีความสามารถ เรามีอะไรดี ๆ ที่จะเป็นประโยชน์กับตัวเอง ประโยชน์คนอื่น ก็เกิดกำลังใจ หยิบโน่นหยิบนี่ขึ้นมาทำ นั่นก็อย่างหนึ่ง นอกจากนี้ก็ลองนึกถึงสัจจะหรือคำปฏิญาณอะไรที่เราได้เคยปฏิญาณไว้ บอกกับตัวเอง สัญญากับตัวเอง หรือแม้แต่สัญญากับผู้อื่นว่าจะทำอย่างนี้ จะไม่ทำอย่างนั้น เพื่อประโยชน์อะไรที่รู้อยู่แล้ว ก็พยายามที่จะรักษาสัจจะอันนั้นไว้ให้ได้ แล้วก็ให้เกิดหิริโอตตัปปะประกอบไปด้วย มีความละอายแม้จะไม่มีใครเห็น แต่เราก็จะต้องพยายามกระทำด้วยความรู้สึกที่เคารพตนเอง อย่างนี้เป็นต้น
แต่ถ้าเผอิญง่วงเหงาหาวนอน มันง่วงเหงาหาวนอน นั่งที่ไหนก็หวอด ๆ ก็ไปหาหมอสักหน่อยว่าเป็นโรคอะไรหรือเปล่า เพราะมีโรคชนิดนี้จริง ๆ ใช่ไหม ถ้าเผอิญเป็นโรคนี้ก็ไปหาหมอรักษา อย่ามานั่งหาวหวอด ๆ แล้วก็มึนงง หาแต่หมอนอยู่ท่าเดียว ถ้าเป็นโรคก็รักษา นี่ก็คือจิตว่าง หรือถ้าเผอิญเราง่วงนอนจริง ๆ เพราะว่าอดหลับอดนอนมามากจากการทำงาน ก็ไปนอน จะนอนสักชั่วโมงสองชั่วโมงก็นอนให้อิ่ม แต่พออิ่มให้ลุก ไม่ใช่พลิกไปพลิกมา ถ้าอย่างนั้นมันเกิน เกินการแก้ไข เรียกว่ากำลังปล่อยให้ชีวิตมักง่าย และจะเกิดเป็นความเคยชินที่ทำตามกิเลส เรียกว่า “อนุสัย” มันจะเป็นการสั่งสมอนุสัย ซึ่งจะเป็นคลังของอาสวะแล้วก็ไหลออกมา และนิวรณ์นี่แหละมันก็มาจากอนุสัย
ทีนี้ถ้าสมมติว่าอุทธัจจกุกกุจจะ คือ ความคิดฟุ้งซ่าน เลื่อนลอย เพ้อเจ้อไปเรื่อย ๆ ตลอดเวลา ไม่มีหยุด จนกระทั่งจิตใจรู้สึกว่าวุ่น วุ่นมาก จะแก้ด้วยอะไร จิตใจที่มันวุ่น มันวุ่นมันลอยไปเรื่อย แสดงว่าจิตนั้นขาด “สมาธิ” สมาธิ คือ ความตั้งมั่น ให้มีความตั้งมั่นอยู่ในจิต จิตนั้นมันจึงล่องลอยไปเรื่อยไม่รู้จบ เพราะฉะนั้นวิธีแก้ไขก็จงฝึกสมาธินั่นเอง ฝึกสมาธิง่าย ๆ ด้วยอะไร
ผู้ดำเนินรายการ : กำหนดลมหายใจ
อุบาสิกา คุณรัญจวน : กำหนดลมหายใจตามวิธีของอานาปานสติ ถ้าสมมติว่ายังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรในวิธีอานาปานสติที่ถูกต้อง ก็จงรู้ลมหายใจที่เราหายใจอยู่ทุกขณะ รู้อะไร คือรู้สึกสัมผัสทุกขณะที่มันกำลังหายใจเข้าหายใจออก ดูให้รู้จุดที่ลมหายใจแตะหรือสัมผัสที่ชัดเจนที่สุด และกำหนดสติให้รู้อยู่ตรงนั้น เช่น สมมติว่าจุดที่ลมหายใจผ่านเข้าที่ชัดที่สุดตรงช่องจมูกจุดใดจุดหนึ่ง ผ่านออกก็ตรงจุดใดจุดหนึ่ง โดยทดลองหายใจแรง ๆ ลองหายใจแรง ๆ ดูสิคะ รู้สึกไหมว่าจุดไหนที่เวลาลมหายใจผ่านเข้าออกแล้วจุดนั้นแตะชัดที่สุด นั่นแหละกำหนดจุดนั้น กำหนดจุดที่มันชัด แล้วก็กำหนดสติให้รู้อยู่ที่จุดนั้น เฝ้าดูอยู่ตรงจุดนั้นทุกขณะที่เข้าและออก นี่เรียกว่าเป็นการรู้ลมหายใจเข้าออก ไม่ใช่คิดนะ ถ้าคิดก็อย่างที่เราคิด อ้อ เรารู้เรายังหายใจอยู่เท่านั้นเอง แต่เสร็จแล้วก็เป็นการหายใจอย่างไม่มีสติ แต่ถ้าเรารู้อย่างนี้อยู่ก็จะเรียกว่า เรามีสติ มีสมาธิ จิตนั้นมันก็มั่นคง มันก็จะไม่วอกแวก เพราะจิตนั้นอยู่กับลมหายใจ มันก็จะคิดซ่านเพ้ออะไรไม่ได้ ความคิดก็จะหยุดไป จงฝึกอานาปานสติ ถ้ารู้สึกว่าจิตนี้หยุดคิดไม่ได้ จนจิตนี้วุ่นวายสับสน นอกจากนั้นก็หมั่นดูไตรลักษณ์ แล้วก็หมั่นประกอบเหตุปัจจัยให้ถูกต้อง แล้วจิตนี้ก็จะหยุดได้ แต่อานาปานสตินี้จะช่วยได้มากทีเดียว ส่วนวิจิกิจฉานั้นก็ใช้ปัญญาดังที่กล่าวแล้ว
เพราะฉะนั้นเรื่องของ “นิวรณ์” นี้ เป็นเรื่องที่ปิดกั้นขวางความเจริญของมนุษย์เป็นอย่างยิ่งในทุกหนทางเลย มันจะมีแต่ความห่อเหี่ยว ซึมเซา ชีวิตนี้อยู่ในความมืด ชีวิตนี้หมดหวัง ชีวิตนี้วุ่นวาย เพราะฉะนั้นท่านผู้ใดที่มักจะบอกว่าฉันไม่มีอะไร แต่ว่านอนไม่ค่อยหลับ ใจมันก็ไม่ว่าง มันก็ไม่เย็น ก็ขอจงรู้เถอะว่ากำลังถูกรบกวนอยู่ด้วยสิ่งที่เรียกว่า นิวรณ์ นี่เอง ไม่ใช่อย่างอื่นเลย เพราะฉะนั้นก็จงฝึกด้วยการรู้อยู่กับลมหายใจ กำหนดสติให้อยู่กับลมหายใจ เพื่อที่จะไม่ให้นิวรณ์มีโอกาสเข้ามาแทรกแซงได้ แล้วจิตนี้ก็จะเป็นจิตที่ว่าง สงบเย็น เป็นจิตที่มีพลัง พลังพร้อมทั้งพลังใจ และพลังสติปัญญาภายใน แล้วเช่นนี้ชีวิตนี้ก็จะก้าวไปสู่ความเจริญเหมือนดั่งที่ต้องการได้ ทั้งทางโลกและทางธรรม ธรรมะสวัสดีค่ะ