แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมะสวัสดีค่ะ
เราก็จะพูดกันถึงสิ่งที่เรียกว่า “นิพพาน” ต่อ ฟังๆ มาแล้วนี่..นิพพาน..น่ากลัวไหมคะ? ไม่น่ากลัวเลย สิ่งที่น่ากลัวคืออะไร? ความเห็นแก่ตัว คือเป็นอุปสรรค เป็นอุปสรรคของนิพพาน คือความรู้สึกเห็นแก่ตัวเพราะความยึดมั่นในตัวตนนี่สิเป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะทำให้จิตนี้วุ่นวายไปต่างๆ คิดปรุงแต่งไม่รู้หยุด และก็ทำให้ความเห็นแก่ตัวนี้ต้องเอาเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ เป็นใหญ่ในชีวิต คล้ายๆ กับเป็นเป้าหมายของชีวิต แล้วเสร็จแล้วก็ดิ้นรนอยู่นั่นเองไม่รู้จักจบ นอกจากนี้ยิ่งคิดไปยิ่งปรุงแต่งไป ก็ยิ่งลังเลสงสัยต่างๆ แล้วก็หาบทจบไม่ได้ คือหาบทสรุปไม่ได้ แก้ไขปัญหาไม่ได้ ผลที่สุดก็เกิดความเครียด เครียดขึ้นมา เพราะว่าวิตกกังวล หยุดไม่ได้ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ อาการประสาทก็ถามหา
เห็นไหมคะ..ความเห็นแก่ตัว ท่านไปนึกดูเถอะว่า ที่มีอาการของทางประสาทเกิดขึ้น ไม่ใช่อะไรเลย ความเห็นแก่ตัวทั้งนั้น นึกถึงแต่ตัวเอง คิดถึงแต่เรื่องของตัวเอง ไม่มีหู ไม่มีตา ที่จะนึกถึงคนอื่นเลย ถ้าดึงใจออกจากตัวเองเสีย หันไปมองรอบๆ ตัว นึกถึงเพื่อนมนุษย์บ้าง จิตใจจะเบาบางลง แล้วก็จะเป็นสุขขึ้น ที่เครียดนี่ไม่ใช่อะไร เพราะเครียดไม่ได้อย่างใจ อย่างที่เคยพูดกันแล้ว เครียดเพราะไม่ได้อย่างใจ เพราะไม่ได้มากอย่างที่ต้องการ ไม่ได้อย่างที่หวัง ไม่ได้เร็วอย่างที่ต้องการ ไม่ได้ตรงตามที่ต้องการ ได้..แต่ไม่ได้ตรงตามความโลภที่มีในจิต มันก็เลยยิ่งวุ่น ยิ่งเครียด ยิ่งร้อน ก็ไกลไปๆ จากนิพพาน จากความเย็นที่จะเกิดขึ้นในจิตทุกทีๆ นี่ก็เป็นอุปสรรค
ฉะนั้น สรุปแล้วที่เราพูดมาเป็นรายละเอียด สรุปลงอันเดียวคือ “ความเห็นแก่ตัว” และความเห็นแก่ตัวก็เกิดจากความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวเป็นตน ถ้าละลายความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวเป็นตนให้ออกไปเสีย เมื่อนั้นจิตนี้ก็จะมีความเย็น เย็นมากขึ้นตามลำดับ เพราะฉะนั้นท่านผู้รู้ท่านก็บอกหรือสอนว่า อุปสรรคอันนี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะมนุษย์เราไม่มองไม่ดู ไม่ดูลงไปจริงๆ ในสิ่งที่เป็นสัจจะตามธรรมชาติ ดูลงไปที่ไหนดูลงไปให้ชัด คือให้ชัดในเรื่องของธรรมชาติ ในเรื่องของ “กฎของธรรมชาติ”
ถ้าดูลงไปแล้วก็จะมองเห็นว่า มนุษย์เรานี้ทำผิดความประสงค์ของธรรมชาติ ธรรมชาติไม่ได้ประสงค์ที่จะให้มนุษย์นี้มีความเห็นแก่ตัว เบียดเบียนกัน อิจฉาริษยากัน ธรรมชาติไม่ประสงค์อย่างนั้น แต่ธรรมชาตินี่บอกมาให้รู้เลย แต่มนุษย์เราอ่านไม่ออกฟังไม่เข้าใจว่า เราควรต้องเป็นเพื่อนกัน อย่างที่เจ้าประคุณท่านอาจารย์ท่านพูดบ่อยๆ มนุษย์เราต้องเป็นเพื่อนกัน ถ้าเราเป็นเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตาย เราจะไปเห็นกันในตอนสุดท้าย ที่ถึงเวลาใครตายจะไปร้องไห้ ไปรดน้ำศพ ไปอาลัย ไปเสียดายว่า โถ..เมื่อเขายังอยู่นะฉันควรจะดีกับเขา ฉันควรที่จะเห็นใจเขา ฉันควรที่จะช่วยเหลือเขา แต่มันก็สายไปแล้ว เพราะฉะนั้นขณะที่ยังหายใจอยู่นี่ รีบเห็นแก่กันเสีย นึกถึงกันและกันในฐานะเป็นเพื่อน เป็นเพื่อนมนุษย์ เพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตาย จะได้ช่วยกันแก้ปัญหา
ปัญหาที่ควรแก้คือแก้ยังไง? คือปัญหาอะไร? ร่วมเกิดแก่เจ็บตายก็คือว่า ดูสิว่าเกิดอย่างไรที่เป็นทุกข์ นี่ที่เราควรจะมาช่วยกันแก้ไข เกิดอย่างไรที่เป็นทุกข์? ตอบได้ไหมคะ เกิดอย่างไรที่เป็นทุกข์? ถูกแล้ว..เกิดความรู้สึกเป็นตัวฉัน เป็นตัวกู ยึดมั่นถือมั่นในความเป็นอัตตานี้ นี่แหละช่วยกันดู ช่วยกันประชุมปรึกษาหารือสนทนากันในเรื่องนี้ว่า ทำอย่างไรถึงจะให้ความรู้สึกที่เป็น “ตัวฉัน” ที่เกิดขึ้นมาแต่ละครั้งนี่ ค่อยสลายๆ ไป
เพราะอะไร? ก็เพราะว่ายิ่งรู้สึกอยู่กับสิ่งนี้เท่าไรก็เป็นทุกข์เพียงนั้น อย่างที่เราพูดกันมาแล้ว แล้วก็ลองมาช่วยกันปรึกษาหารือสิว่า แก่อย่างไรถึงจะเป็นสุข ฟังได้ไหมคะว่าแก่อย่างไรถึงจะเป็นสุข เรามีแต่พอความแก่ย่างเข้ามาชักจะเป็นทุกข์แล้ว ไม่สบายเลย เพราะฉะนั้นมันก็เป็นปัญหา นี่ทำให้ชีวิตเป็นปัญหา เราไม่ต้องการเป็นทุกข์ ฉะนั้นเราจึงควรมาช่วยกันคิดว่า เออ..แก่อย่างไรถึงจะเป็นสุข มีความสุขสบาย มีความเบิกบาน มีความรู้สึกเป็นธรรมดาในความแก่ที่เกิดขึ้น นี่เราควรมาช่วยกันคิดอย่างนี้ ในฐานะเป็นเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ในเรือลำเดียวกัน ถ้าเราช่วยกันคิดอย่างนี้แล้ว เราก็จะมีความเห็นอกเห็นใจต่อกันยิ่งขึ้นๆ หรือว่าเจ็บอย่างไรถึงจะไม่ทนทุกข์ทรมาน พอเจ็บเข้าล่ะ โอย..ทำไมฉันเจ็บ ทำไมไม่เป็นคนอื่น ทำไมต้องเป็นฉัน แล้วจิตนี้มันก็เจ็บปวด ก็ทนทุกข์ทรมาน อันที่จริงความเจ็บก็เป็นธรรมชาติ เป็นอาการของธรรมชาติ แต่ความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน..ใช่ไหม ก็ไปยึดว่าฉันเจ็บ และฉันก็เป็นทุกข์นัก ลำบากนัก เพราะฉะนั้นทำยังไง เราควรจะปรึกษากัน เออ..เจ็บนี่มีใครล่วงพ้นได้ไม่มากก็น้อย เราจะทำอย่างไร เราถึงจะเจ็บแล้วไม่เป็นทุกข์ เราเห็นความเจ็บเป็นธรรมดา ช่วยกันคิดอย่างนี้จะได้ผ่อนปรนกัน แล้วก็ช่วยกันให้ได้อยู่เย็นเป็นสุขทั่วหน้ากัน หรือถึงเวลาตาย ตายยังไงถึงจะเป็นสุข ไม่ต้องประหวั่นพรั่นใจเมื่อความตายมาถึง นี่ต่างหากที่เราควรจะช่วยกันคิด นี่ถ้าหากว่าเราอย่างนี้ ช่วยคิดกันในเรื่องอย่างนี้ว่า ตายอย่างไรถึงจะเป็นสุข มองเห็นความตายเป็นธรรมดา อย่างนี้ก็เรียกว่า ทำถูกต้องตามความต้องการของธรรมชาติ และเราก็จะไม่ต้องทำร้ายตัวเอง ไม่ต้องฉีดยาพิษฆ่าตัวเองทีละน้อยๆๆ เราจะอยู่ได้อย่างร่มเย็นเป็นสุข
แต่ก็น่าเสียดายนะ น่าเสียดายจริงๆ ที่มนุษย์เรานี่ทำตรงกันข้ามกับธรรมชาติจริงไหมคะ ก็ขอให้ท่านผู้ชมลองใคร่ครวญดู ที่ดิฉันพูดอย่างนี้นี่มีความจริงอยู่บ้างหรือเปล่า? ที่มนุษย์เราทำตรงกันข้ามกับธรรมชาติ เราพยายามนึกถึงแต่ตัวของเราเองเป็นใหญ่ เป็นศูนย์กลาง แล้วเสร็จแล้วก็สิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเราคือ ลูกของเรา พ่อแม่พี่น้องของเรา เพื่อนฝูง ญาติของเรา ตลอดจนอะไรๆ ที่เป็นของเรา เราจะนึกถึงก่อน นี่เราก็เกิดการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ก็ด้วยความเห็นแก่ตัวอีกเหมือนกัน เป็นเพราะอะไรที่เป็นอย่างนี้? เป็นเพราะอะไร? มนุษย์เราจึงมีความรู้สึกเห็นแก่ตัวยิ่งทวีอัตรายิ่งขึ้นตามวัยที่ผ่านไป ตามอายุที่ผ่านไป..เพราะอะไร? ลดความเห็นแก่ตัวไม่ได้เพราะอะไร? ก็เพราะเราได้รับการศึกษาอบรมมาใช่ไหม? เผอิญนี่เราต้องนึกถึงตัวเรานะ “เราต้องนึกถึงตัวเรา” พ่อแม่ก็สอนอย่างนั้น ต้องนึกถึงตัวเรา การศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียน ในวิทยาลัยก็สอนอย่างนี้ใช่ไหมคะ?
ไม่มีการศึกษาอะไรทั้งทางบ้าน ทางโรงเรียน หรือทางครอบครัว ทางโรงเรียนทางมหาวิทยาลัย ที่จะสอนให้มนุษย์เรานี่ คือให้นักเรียน ให้นักศึกษา ดำรงชีวิตอยู่โดยรู้จักทำหน้าที่ ทำหน้าที่นะ ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ทำหน้าที่ให้ถูกต้อง แล้วไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีความสำเร็จ เคยมีไหมจบมาในมหาวิทยาลัยมีคำสอนอันนี้..ไม่มี มีแต่ว่า ต้องให้ได้รับความสำเร็จในวิชาชีพนี้นะ ต้องให้ได้ก้าวหน้านะ และก็วิธีที่จะทำให้ได้รับความสำเร็จในอาชีพมากยิ่งกว่าคนอื่นๆ ต้องทำอย่างนี้ๆๆ และวิธีที่สอนในการกระทำนั้นมันก็จะมีศิลปะต่างๆ ล้วนแล้วแต่เป็นศิลปะที่เอาเปรียบคนอื่น เบียดเบียนคนอื่นผลักคนอื่นให้กระเด็น ข้ามหัวคนอื่น จะเป็นวิธีไหนช่าง ขอให้ได้รับความสำเร็จ คือขอให้ฉันยืนอยู่ข้างหน้า แล้วกันคนอื่นไปอยู่ข้างหลัง นี่เป็นการศึกษาที่จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตามที แต่เป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้มาเรื่อยโดยตลอดตั้งแต่เล็กจนโต คือตั้งแต่เติบโตจำความได้ก็ได้ยินได้ฟังอย่างนี้ แล้วก็เลยยิ่งเห็นว่า สิ่งสำคัญต้องรักษาคือตัวนี้ คือความปลอดภัยของชีวิตนี้ ความสำเร็จของชีวิตนี้ ความมีความเป็นของชีวิตนี้ ความได้ของชีวิตนี้ พอนึกถึงแต่ชีวิตนี้จะต้องได้อย่างนั้นมีอย่างนั้น มันก็ต้องกีดกันไม่ให้ชีวิตอื่นเขาได้เลย นี่ก็เรียกว่า อะไรนี่เป็นต้นเหตุที่ส่งเสริมให้ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์นี้ ยิ่งทวีคูณอัตราความแรง และก็ความน่ากลัวมากขึ้นถึงเพียงนี้ ก็ต้องพูดว่า “เพราะการศึกษา”
เพราะการศึกษานี่เอง การศึกษาที่มีเป้าหมายผิด บอกว่าต้องอยู่ด้วยความหวัง และความหวังนี้ต้องเอาให้ได้ เพื่อความหวังที่ว่าชีวิตนี้จะต้องได้ จะต้องมี จะต้องเป็นอย่างนั้นๆๆ การที่เราได้เรียนรู้กันมา ที่ประพฤติปฏิบัติกันมา แล้วก็ต้องมี ต้องเป็น ต้องได้ ให้มากกว่าคนอื่นด้วย สูงสุดด้วย เพราะฉะนั้นอันนี้จึงเรียกว่า มันเป็นต้นเหตุที่ทำให้ชีวิตนี้ทุรนทุราย กระเสือกกระสน แล้วก็ไม่รู้ว่านี่คือสาเหตุ เพราะความเห็นแก่ตัว ก็มัวแต่คิดว่าทำอย่างนี้เราเห็นแก่คนอื่น เราเสียสละเพื่อคนอื่น แต่ในความเสียสละนั้นก็มีความเห็นแก่ตัวแฝงอยู่ตลอดเวลา ตัวเองนี่จึงเป็นทุกข์ ก็เลยถึงความเย็นไม่ได้ เราไม่มีเวลานะคะที่จะมาสนทนากันถึงเรื่องของการศึกษาทั้งทางบ้านและทางโรงเรียนว่า เราควรจะให้การศึกษาอย่างไร ถึงจะช่วยที่จะให้ความเห็นแก่ตัวนั้นลดลง แต่เราอาจจะพูดได้สั้นๆ นิดเดียวว่า ทั้งพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย จะสอนให้ลูกหลานรู้จักทำหน้าที่ คือทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดอยู่เสมอโดยไม่ต้องหวัง และก็อย่าป้อนอะไรแก่ลูกหลานให้มากนัก จนลูกหลานกลายเป็นคนอ่อนแอ มือง่อย เท้าง่อยทำอะไรไม่ได้ แต่พยายามฝึกให้เขาช่วยตัวเอง ด้วยการสอนให้รู้จักทำหน้าที่ ในหน้าที่ของลูกให้เต็มที่ ในหน้าที่ของศิษย์เมื่อเป็นนักเรียนไปโรงเรียนให้เต็มที่ ในหน้าที่ของเพื่อนให้เต็มที่ ในหน้าที่ของพลเมืองดีที่จะรักษาชาติรักษาสังคมเอาไว้ได้ และในขณะเดียวกันพ่อแม่ก็ทำตัวอย่าง แล้วทางโรงเรียนก็เสริมให้ลูกศิษย์รู้จักทำหน้าที่ของตนให้ถูกต้อง ไม่ใช่ทำหน้าที่เพื่อแข่ง ไม่ใช่ทำหน้าที่เพื่อหวัง แต่ว่าทำหน้าที่ให้ถูกต้องเพื่อให้เกิดประโยชน์ให้สมปรารถนา
และนอกจากนั้นแล้ว ในวิทยาลัยในมหาวิทยาลัยก็ไม่ควรหยุดในเรื่องการที่จะเน้นเรื่องการทำหน้าที่ จริงอยู่สอนให้ได้รับความสำเร็จนั้นดี แต่ความสำเร็จนี้ควรจะอยู่บนพื้นฐานของความเอื้ออาทร ความเป็นเพื่อนกัน ความเห็นอกเห็นใจกัน ไม่ใช่การเบียดเบียนกันเพื่อแย่งให้ฉันอยู่ ฉะนั้นความสำเร็จในชีวิตจึงควรจะเน้นการรู้จักทำหน้าที่เพื่อความถูกต้อง แล้วเราจะลดปัญหาต่างๆ ในสังคมลงได้อย่างมากมาย ปัญหาครอบครัวด้วย ปัญหาสังคมด้วย และก็ปัญหาของชาติบ้านเมืองด้วย ทุกคนจะรู้จักการทำหน้าที่ของตน แล้วก็ไม่ต้องห่วงหรอกว่าใครจะไปเป็นอะไร ใครจะไปเป็นรัฐมนตรี ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี ใครจะไปเป็นผู้อำนวยการ หรืออธิบดี หรือเป็นประธานบริษัท ไม่ต้องห่วงเลย ในเมื่อทุกคนได้รับการศึกษาอบรมมาว่า สิ่งที่มนุษย์พึงกระทำคือการปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด ให้เต็มความรู้ความสามารถโดยไม่ต้องหวัง ถ้าหากว่าทุกคนทำอย่างนี้ นึกดูสิคะว่า ปัญหามันจะมีที่ไหน แล้วเราจะมาอิจฉาเบียดเบียนกันด้วยเรื่องอะไร ไม่มีเลย มันก็จะมีแต่ใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใสทั่วกันไปหมด มองไปทางไหนมันก็มีแต่ความอิ่มเอิบเบิกบาน มีแต่ความรู้สึกเป็นเพื่อน พร้อมที่จะยื่นมือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และอันนี้ท่านบอกว่าคือโลกพระศรีอาริย์..ใช่ไหมคะ?
เรานึกว่าโลกพระศรีอาริย์นี่จะต้องคอยไปอีกชั่วระยะเวลานาน เมื่อพระศรีอาริยเมตรัยท่านจะเสด็จมา อันที่จริงแล้วเจ้าประคุณท่านอาจารย์ท่านบอกว่า โลกพระศรีอาริย์อันที่จริงนั้นอยู่ตรงปลายจมูก แต่ถ้าเรามองไปนี่ ลองมองดูสิคะเห็นไหมคะปลายจมูก ไม่เคยเห็นนะ มีใครจมูกแบนลงไปหน่อยยิ่งมองไม่เห็นใหญ่ จมูกโด่งขึ้นมาบ้างก็ค่อยเห็นไรๆ แต่เราก็ไม่สนใจ นี่เพราะเราไม่สนใจ ความเห็นแก่ตัวนี่คือรากเหง้าของความทุกข์ หรือของปัญหาของชีวิต เราก็เลยไปโลดแล่นหาอย่างอื่น หากว่าเราหันมามองดูแล้วเราก็แก้ไขเสีย โลกพระศรีอาริย์ก็จะเกิดขึ้นทันทีที่ตรงนี้ พอความไม่เห็นแก่ตัวเกิดขึ้น ความเห็นแก่ตัวหายไป โลกพระศรีอาริย์ขึ้นมา เพราะว่าเรามีแต่ความช่วยเหลือกัน ไม่เบียดเบียนกัน นี่ก็มีแต่ความสุขสงบ เพราะฉะนั้นรูปกัลปพฤกษ์นะที่เป็นรูปไม้ศักดิ์สิทธิ์ ที่ว่าเอาอะไรได้ไม่ต้องไปหาที่ไหน อยู่ตรงนี้ ทำจิตให้สะอาดสว่างสงบเย็นเป็นนิพพานได้ เมื่อนั้นก็มีแต่เห็นแต่หน้าที่ ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่อย่างเดียว เพราะฉะนั้นความหวังนี่เราก็พูดกันบ่อยๆ เรื่องของ “ความหวัง” ความหวังนี่ก็อยากจะพูดว่า เป็นคำอันตราย ความหวังนี่เป็นคำอันตราย ทำไมถึงเป็นอันตราย เพราะว่าส่วนใหญ่มนุษย์เราหวังด้วยอวิชชา หวังเพราะอวิชชาครอบงำ จึงเป็นความหวังด้วยตัณหา หรือด้วยความอยากที่มีความเห็นแก่ตัวเป็นรากฐานที่เป็นเบื้องต้น ดังนั้นจึงอันตราย อันที่จริงก็ไม่ได้ถึงกับปิดกั้นว่าไม่ให้หวังเสียเลยละ จะหวังก็หวังเถิด แต่จงฝึกเปลี่ยนความหวังอันนั้นให้เป็นความหวังด้วยอะไร? ด้วยวิชชา ด้วยสติปัญญา เปลี่ยนความหวังที่เคยหวังด้วยตัณหานั้น ให้เป็นความหวังที่เกิดขึ้นด้วยสติปัญญา คือหวังโดยไม่ต้องอยาก แต่หวังด้วยการที่จะกระทำตามหน้าที่ให้ดีที่สุด ให้เต็มฝีมือความสามารถ เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น
หวังอย่างนี้แล้วมันก็เหมือนกับหวังอย่างไม่หวัง และก็ลงมือทำ ทำอย่างถูกต้อง ทำอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นจะต้องมีความสงสัยไหมคะว่า นิพพานจะมีได้ไหม? ไม่ต้องสงสัยมีได้หรือไม่ได้? มีได้ ทำเดี๋ยวนี้ก็มีเดี๋ยวนี้ ถึงแม้ว่าจะชั่วประเดี๋ยวเดียว จะมีความเย็นชั่วประเดี๋ยวเดียว เหมือนอย่างพอเรานึกถึงว่า อ้อ..นี่มันทำได้ พอหยุดคิดแล้วจิตนี้ก็สงบเย็น นั่นละเราได้ลิ้มรสของความเย็นแล้ว และก็ถ้าเราฝึกต่อไป ฝึกในการทำจิตนี้ให้เป็นสมาธิด้วยอานาปานสติอยู่เสมอ ถ้าเราฝึกได้นานเท่าใด คือหมายความว่าสามารถรักษาจิตให้รู้อยู่กับลมหายใจได้นานเท่าใด จิตนั้นก็มีพลังของสมาธิคือความตั้งมั่น ความตั้งมั่น ความนิ่ง ความไม่ซัดส่าย ไม่วอกแวก อยู่อย่างมั่นคง สติก็ว่องไว ระลึกรู้ ขณะนั้นความสงบเกิดขึ้นนั่นก็เป็นนิพพานอีกระยะหนึ่งเหมือนกัน อาจจะยาวนานกว่าชั่วขณะกว่าชั่วอึดใจ แล้วก็เมื่อใดที่สติหลุด ไม่อยู่กับลมหายใจ วิ่งไปอยู่กับความคิดปรุงแต่ง และก็มีความวิ่งเข้ามาแทนที่ แต่ถ้าเราฝึกอยู่เสมอ จิตนี้ก็จะค่อยๆ มีความรู้สึกสงบเย็นมากขึ้นและก็ระลึกรู้ที่จะดึงจิตให้กลับมาให้อยู่กับลมหายใจได้เร็วขึ้น ความรู้สึกสงบเย็นก็เกิดมากขึ้น นี่เรียกว่าอย่างน้อยก็ได้ลิ้มรสของนิพพานแล้ว และเรื่องของนิพพานก็ไม่เป็นเรื่องน่ากลัว เป็นเรื่องที่ไม่สุดเอื้อม เป็นสิ่งที่เราก็น่าจะทำได้ ถ้าเพียงแต่เรามองเห็นว่า เอือมเต็มทีแล้ว ระอาเต็มทีแล้วกับความวุ่นวาย ความร้อนรนความกระเสือกกระสน เหน็ดเหนื่อยเต็มทีแล้ว ไม่เอาอีกแล้ว เราก็จะหยุด แล้วเราก็หันมาลองดู อยู่กับลมหายใจ รู้ลมหายใจทุกขณะที่เข้าออก พร้อมๆ กับศึกษากฎของธรรมชาติ มองให้เห็นว่าทุกสิ่งแล้วไม่มีอะไรที่ให้ยึดมั่นถือมั่นเลยสักอย่าง มีแต่ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามเหตุตามปัจจัยเท่านั้นเอง
ดูอยู่อย่างนี้ ลองดูสิคะลองดู จิตจะสงบได้ จะสงบได้แน่นอน จะสงบมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถรักษาจิตให้อยู่ในสภาวะของความมีสติ สมาธิ และปัญญา ได้มากน้อยเพียงใด นี่แหละคือลิ้มรสแล้ว ได้รสชาติแล้ว เพราะฉะนั้นถ้ารู้สึกลิ้มรสได้รสชาติเมื่อไหร่ รักษาเอาไว้ เรียกว่าดื่มซึมซาบอยู่กับรสชาตินั้นให้นานที่สุดที่จะนานได้ แล้วก็จะรู้สึกชุ่มชอุ่มเย็น ก็จะได้พอใจในรสชาตินั้น แล้วก็ฝึกมากขึ้น ปฏิบัติมากขึ้น ไม่หยุดยั้ง ไม่ว่าจะทำอะไรทุกขณะจิตในชีวิตประจำวัน จะยืน เดิน นั่ง นอน หรือทำการงานก็ตาม คุมรู้อยู่อย่างนี้ ว่าจิตนี้จะเย็นหรือจะร้อน แน่นอน..ก็อยู่กับความเย็น ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ก็แน่นอนที่สุดจะค่อยจางคลายลงๆ ปัญหาใหญ่ก็กลายเป็นปัญหาเล็ก ปัญหาเล็กก็หายไป แล้วอย่างนี้แล้วชีวิตเราก็จะมีแต่ความเย็นมากขึ้น จนถึงที่สุดวันหนึ่ง ทำได้เด็ดขาดไม่หันกลับมาสู่ความคิดปรุงแต่ง ไม่หันกลับมาสู่ความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนนี้อีกต่อไป เมื่อนั้นก็คือนิพพานอันแท้จริง จะถึงซึ่งความสุขสงบอันแท้จริงเป็นแน่นอน
ก็จึงหวังว่า “นิพพาน” นี้ ไม่ใช่สิ่งที่เกินเอื้อม หรือเป็นสิ่งที่สุด..สุดสายรุ้ง แท้จริงแล้วรุ้งอยู่ตรงนี้ อยู่ที่ตรงข้างในนี้เอง อยากจะสะอาด สว่าง สงบเมื่อไหร่ก็จงหยุดคิดวุ่นวาย หยุดยึดมั่นถือมั่น ลองอยู่กับลมหายใจนะคะ ให้รู้ลมหายใจทุกขณะที่เข้าออก พร้อมกับศึกษากฎของธรรมชาติ เมื่อนั้นจิตจะมีแต่ความเย็น แล้ววันหนึ่งเราก็คงจะถึง..ไม่ใช่ถึงละ จะมีสิ่งอันเป็นยอดปรารถนาแก่มนุษย์ และก็สมแก่ความเป็นมนุษย์ที่จะดำรงชีวิตอยู่ด้วยความสุขสงบเย็นตลอดไป และก็ยังเป็นตัวอย่างแก่ลูกแก่หลาน แก่เด็กๆ แก่เยาวชน และนี่แหละคือคำสอนอบรมที่ดีที่สุด สิ่งที่เราต้องการในปัจจุบันนี้ไม่ใช่อะไรอื่น คือตัวอย่าง เด็กๆ ของเรา ลูกหลานของเรา ที่ขาดอย่างยิ่งก็คือตัวอย่าง ตัวอย่างของความสงบเย็นที่จะให้แก่เด็กๆ แก่ลูกหลาน ถ้าเราให้เขาได้เราไม่ต้องเป็นห่วง ว่าเขาจะวิ่งไปด้วยความร้อนหรือกระเจิดกระเจิงไปด้วยความทุรนทุราย ที่เขาวิ่งกระจายกระเจิดกระเจิงไปทั่วสารทิศเพราะเขาไม่รู้ว่า ความเย็นอยู่ที่ไหน และตัวอย่างของความเย็นเป็นอย่างไร จึงหวังว่าเราทั้งหลายนะคะ จะพยายามช่วยกันสร้างสรรค์ความเย็นให้เกิดขึ้น แล้วความเย็นก็จะแผ่กระจายสู่ทุกชีวิตที่ยังดำรงอยู่ในโลกนี้
ธรรมะสวัสดีค่ะ