แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
จับมันให้ได้ นิวรณ์ตัวไหนกำลังรบกวน จับมันให้ได้ด้วยสติแล้วขับไล่มันไป อย่าให้มันอาศัยอยู่นาน มันจะเคย มันจะกลายเป็นอนุสัย แล้วจะแก้ไขลำบาก ดึงจิตกลับมาอยู่กับลมหายใจ ขณะนี้เรากำลังศึกษาทำความรู้จักกับลมหายใจยาวแต่อย่างเดียว ต่อไปนี้ลองเปลี่ยนเป็นปฏิบัติในขั้นที่2 ตามลมหายใจสั้น เปลี่ยนจากลมหายใจยาว เป็นลมหายใจสั้น สั้นแรงบ้าง สั้นเบาบ้าง สั้นถี่ๆ บ้าง ลองหายใจสั้นดู พร้อมกับตามลมหายใจสั้นนั้นทั้งเข้าและออก เมื่อเหนื่อยก็หันกลับมาหายใจธรรมดาเพื่อเป็นการพัก แล้วกลับไปตามลมหายใจสั้นใหม่ ลมหายใจสั้น ปรุงแต่งกายอย่างไร พอสัมผัสได้หรือไม่ ขณะนี้เรากำลังศึกษาลมหายใจสั้น ผู้ปฏิบัติจะสังเกตได้ว่า ลมหายใจสั้นปรุงแต่งกายไม่สู้สบายนัก การตามลมหายใจสั้นก็ตามได้ยากเพราะมันสั้น ผู้ปฏิบัติหลายคนจะตามได้แต่ตอนเข้า แต่พอออกตามไม่ทัน เหมือนกับมันหายไป ไม่ต้องสงสัย ไม่ต้องท้อใจ เราต้องการความชำนาญให้มากขึ้น แล้วจะตามได้ ทั้งเข้าและออก พยายามกำหนดจิตจดจ่ออยู่กับลมหายใจสั้น เหนื่อยก็กลับมาหายใจธรรมดา เพื่อพักเพื่อไม่ให้เหนื่อยเกินไป ขอให้ผู้ปฏิบัติกลับไปปฏิบัติขั้นที่1 อีกครั้งโดยผ่อนลมหายใจสั้นนั้นให้ค่อยๆ ยาว ไปทีละน้อยๆๆ ให้เป็นธรรมชาติ ให้มันยาวไปอย่างสบายๆ ไม่ต้องบังคับจนเกินไป เพื่อไม่ให้เครียด แต่กำลังหายใจยาวอย่างไหน ให้รู้ด้วยสติ รู้สึกด้วยสติ จดจ่อจิต ตามลมหายใจยาว ที่กำลังหายใจอยู่นั้น แล้วก็เปลี่ยนเป็นหายใจยาวชนิดต่างๆ ตามมาด้วยความรู้สึก ด้วยสติ ลมหายใจยาวอย่างใดปรุงแต่งกายอย่างไร ลมหายใจยาวอย่างไหนมีประโยชน์อย่างไร สัมผัสมัน สังเกตมันด้วยความรู้สึก ไม่ใช่คิด รู้สึกมัน ก็มันเกิดขึ้นจริงๆ มันปรุงแต่งกายอย่างนั้นจริงๆ รู้สึกด้วยใจ หายใจยาวธรรมดาบ้าง ยาวธรรมดาช้าๆ เบาๆ บ้าง ยาวลึกบ้าง ยาวแรงบ้าง สลับกันไปมา ให้รู้จักมันดียิ่งขึ้น อย่าหายใจอยู่อย่างเดียว ถ้าความง่วง กำลังจะเข้ามา จะใช้ลมหายใจอย่างไหนขับไล่ความง่วงไป ถ้าความอ่อนเพลียกำลังจะเกิดขึ้น ยืดตัวตรง หายใจยาวลึกช้าๆ เพื่อให้มีแรง แรงจะเกิดขึ้นภายใน อย่าเบื่อกับการที่จะต้องหายใจยาว ยิ่งตามลมหายใจยาวทุกชนิดให้นาน ให้มากๆ ได้เพียงใด จะสามารถควบคุมมันได้ เพราะรู้จักมันดี จะควบคุมให้เกิดเมื่อไรก็ได้ จะควบคุมไม่ให้เกิดเมื่อไรก็ได้ จะนำมันมาใช้เพื่อประโยชน์ตามที่ต้องการในขณะใดก็ได้
ฉะนั้นจงศึกษามันให้มาก รู้จักมันให้มาก จนชัดใจ ว่ามันปรุงแต่งกายอย่างไร มันมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์อย่างไร รู้สึกว่าควบคุมมันได้หรือยัง การที่จะควบคุมได้ หรือไม่ได้ ก็ดูที่ว่า จะหายใจชนิดนั้นได้ทันทีเมื่อต้องการ และเมื่อมันมา จะหยุดมันได้ทันทีถ้าไม่ต้องการ นี่คือเป็นเกณฑ์วัดว่าควบคุมได้ หรือไม่ได้ ยังไม่ต้องสงบนะคะ เรากำลังศึกษาเครื่องมือของเรา ที่เราจะใช้เป็นเครื่องกำหนด หรือเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติธรรมต่อไป จนถึงที่สุดแห่งการปฏิบัติ ถ้ารู้จักมันดีอย่างทั่วถึง ชำนาญ แล้วเราจะไม่ต้องหวนกลับมาเสียเวลาเพื่อศึกษามันอีก จะใช้มันได้อย่างทันท่วงที ทันใจ ต่อไป ขอให้เปลี่ยนเป็นการปฏิบัติขั้นที่2 เปลี่ยนเป็นหายใจสั้น ก็ค่อยๆ ผ่อนลมหายใจยาวนั้น ให้สั้นเข้าๆ ทีละน้อย และกำหนดจิตตามลมหายใจสั้น ด้วยความรู้สึกที่มีสติ สัมผัสด้วยความรู้สึกว่าเป็นลมหายใจสั้นอย่างไหน ปรุงแต่งกายอย่างไร เพ่งจิตให้จดจ่ออยู่กับลมหายใจสั้น ที่กำลังเข้าสู่ภายใน ตามมันออก รู้จักมันทุกขณะที่เข้าและออก ถ้าเหนื่อยก็หายใจธรรมดาเพื่อพักแล้วกลับไปตามลมหายใจสั้นใหม่ พยายามนั่งกายตรงจะช่วยกำจัดความง่วง ความเพลีย แล้วลมหายใจจะเดินได้สะดวก แต่ไม่ต้องแข็งจนเกินไปนะคะ กายตรงให้เป็นธรรมชาติ มีความสบาย แต่มีความสำรวมอยู่ด้วย หน้าไม่ต้องก้ม ถ้ารู้สึกง่วงตาไม่ต้องหลับ ต่อไปนี้สมมุติว่าผู้ปฏิบัติสามารถตามลมหายใจยาวขั้นที่1 ตามลมหายใจสั้นขั้นที่2 ได้พอสมควร ขอให้ลองปฏิบัติในขั้นที่3 นั่นคือหายใจได้ทุกอย่าง สลับกันได้ทั้งยาวทั้งสั้น แต่ตามลมหายใจที่กำลังหายใจนั้นให้รู้ชัดว่าเป็นยาวหรือสั้น ถ้ายาว ยาวอย่างไหนปรุงแต่งกายอย่างไร ถ้าสั้น สั้นอย่างไหนปรุงแต่งกายอย่างไร ในขั้นที่3 เป็นขั้นของการหาความชำนาญ เพื่อรู้จักลมหายใจทุกอย่าง ทุกชนิด ให้ทั่วถึง ฉะนั้นเรียกว่าเล่นให้เต็มที่ เล่นกับลมหายใจให้เต็มที่ สั้นบ้าง ยาวบ้าง สลับกันไป ถ้าผู้ใดเล่นได้จริง เล่นเป็น ความง่วงจะไม่เข้ามาเลย จะสนุก หายใจสลับไปสลับมา เพื่อให้เกิดความชำนาญ พร้อมกับตามมันให้ตลอดสาย นี่เป็นจุดสำคัญ ถ้าไม่ตาม ปล่อยให้ลมหายใจไปตามบุญตามกรรม ผู้ปฏิบัติจะไม่มีวันรู้จักมันจริง เล่นให้สนุกนะคะ เล่นกับมันให้ทุกอย่าง ไม่ต้องสงบ เรายังไม่สงบในขั้นนี้ ถ้าเราไม่ชำนาญในขั้นที่1 2 โดยเฉพาะในขั้นที่3 เราจะไม่สามารถควบคุมมันได้ เมื่อไปปฏิบัติในขั้นที่4 แล้วก็จะไม่สามารถสร้างสรรค์ หรือพัฒนาสมาธิ คือจิตที่จะรวมนิ่ง มั่นคงให้เกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นขั้นที่3 คือขั้นทำงาน ต้องปฏิบัติ เพื่อความมีประสิทธิภาพในขั้นที่4 มีประสิทธิภาพในการควบคุมลมหายใจได้อย่างใจนึก อย่างที่ใจต้องการ เล่นกับมันให้สนุก ยอมเหนื่อย อดทน ที่จะต้องทำซ้ำๆ ซากๆ เพื่อผลที่จะเกิดข้างหน้าตามกฎอิทัปปัจจยตา สั้นบ้าง ยาวบ้าง สั้นหลายๆ อย่าง ยาวหลายๆ อย่าง อย่าไปติดใจอยู่อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้นนะคะ
ค่ำนี้เราเพียงแต่เรียนรู้วิธีการปฏิบัติขั้นที่1 ขั้นที่2 ขั้นที่3 ว่ามีวิธีที่จะปฏิบัติอย่างไร แต่เราจะต้องหาความชำนาญต่อไปอีก เพราะฉะนั้นตั้งแต่พรุ่งนี้ ลืมตาขึ้นทำกิจส่วนตัวแล้ว ขอได้ลองอยู่กับการปฏิบัติตามขั้นที่1 2 3 เมื่อมีโอกาส แต่สำหรับตอนนอนจงอยู่กับลมหายใจปกติ คือตามรู้ลมหายใจธรรมดา ที่สบายๆ เพื่อไม่ให้จิตต้องตื่น จะได้มีลมหายใจเป็นเพื่อนที่ชวนให้นอนหลับสบาย พร้อมด้วยสติ หายใจธรรมดา ให้เป็นธรรมชาติ และกำหนดจิตจดจ่อตามลมหายใจนั้น ตามรู้ว่ามันเข้า ออก เข้า ออก สบายๆ โดยไม่ต้องบังคับ แล้วเราจะหลับสบายพร้อมกับลมหายใจนั้น ธรรมะสวัสดีนะคะ ขอให้มีลมหายใจเป็นเพื่อนนอนหลับด้วยความสบาย ปลอดโปร่ง แจ่มใส