แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมะสวัสดีค่ะ
วันนี้เราก็จะได้พูดกันถึงเรื่องของหนทางอันประเสริฐต่อไปนะคะ หนทางอันประเสริฐก็คือ อริยมรรค ที่เป็นทางที่จะนำให้ถึงซึ่งความดับทุกข์คือถึง นิโรธ อันเป็นสิ่งที่จะต้องทำให้แจ้ง และเราก็ได้พูดกันมาแล้วว่า อริยมรรคนั้น มี ๘ องค์ด้วยกัน อันหมายถึงความถูกต้อง ๘ ประการ ถ้าหากว่าเราได้ดำเนินชีวิตไปตามหนทางของความถูกต้อง ๘ ประการแล้ว ก็เชื่อว่าชีวิตนี้จะมีแต่ความสุขสงบเย็น ไม่มีอย่างอื่น ทีนี้อาจจะมีคำถามว่าแล้วจะสังเกตได้ยังไงว่า การดำรงชีวิตหรือการดำเนินชีวิตนี้อยู่ในหนทางของอริยมรรคหรือเปล่านะคะ ก็จะมีสิ่งที่เป็นข้อสังเกตว่า ถ้าเป็นอริยมรรค คือการดำเนินอยู่บนหนทางที่ถูกต้องนี้แล้วละก็ จะมีลักษณะของความถูกต้องทั้งทางกาย ทางวาจา ทางจิต และก็ทางสติปัญญา ทางกายทางวาจาคงไม่สงสัยใช่ไหมคะ ทีนี้ทางจิตละคะสงสัยไหมคะ ความถูกต้องทางจิตก็คือ จิตนี้จะมีความเป็นปกติ ปกติสงบเย็นอันเนื่องจากสติปัญญานั้นถูกต้อง สติปัญญาถูกต้องก็คือว่า คิดถูกเห็นถูก อันคิดถูกเห็นถูกนี่ก็เพราะว่า มีความเข้าใจที่ถูกต้องไตร่ตรองแล้ว สรุปลงมาเป็นความเห็นที่ถูกต้อง แล้วเราก็ดำเนินไปในทางนั้น
เพราะฉะนั้น ในเรื่องของการที่จะดำเนินตามหนทางของอริยมรรคนั้น จำเป็นที่เราจะต้องพัฒนาในเรื่องของสติปัญญาที่ออกนอกลู่นอกทางให้เข้ามาสู่หนทางของความถูกต้อง แล้วก็ถ้าหากว่าอยู่ในหนทางของความถูกต้องเช่นนี้แล้ว ตั้งเป้าหมายคือจุดหมายปลายทางอย่างไรจะต้องเดินไปจนสุดหนทางนั้น คือถึงจุดหมายปลายทางเป็นแน่นอน ถ้าดำเนินตามหนทางนี้ นอกจากนี้ ถ้าเป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็จะสังเกตได้อีกอย่างหนึ่งว่า จะต้องมีลักษณะของความเป็นกลาง คือไม่สุดโต่งไปในทางซ้ายหรือทางขวา เรียกว่าไม่หย่อนเกินไป แล้วก็ไม่ตึงเกินไป นี่เป็นที่สังเกตนะคะ ที่ว่าเป็นกลางนี่ กลางอย่างไร เพราะถ้าหากว่าให้เราว่ากันเองแต่ละคนเราอาจจะมีความเป็นกลางตามใจของเราหรือความความเข้าใจของเราหลายอย่าง แต่ท่านให้เป็นข้อสังเกตว่า ความเป็นกลางหรือทางสายกลางนั้นก็คือ ไม่หย่อนเกินไป ไม่ตึงเกินไป คำว่าไม่หย่อนก็หมายความว่า ไม่เป็นความสบาย ไม่เป็นความสะดวกสบายจนเกินความพอดี และก็ตึง..ก็ไม่ตึงเครียดจนเกิดความทุกข์ทรมานยากลำบาก เรียกว่าอยู่ในทางสายกลาง นอกจากนั้นหนทางนั้นก็ไม่เปียกแฉะ และก็ไม่ไหม้เกรียม คือหมายความว่าในทางธรรมที่ท่านจะแสดงให้เห็นหรือชี้ให้เห็นก็ว่า มันไม่เปียกและก็ไม่ไหม้ เพราะว่าความเปียกหรือความไหม้ล้วนแล้วเป็นทางสุดโต่ง มันพอดีๆ นึกถึงข้าวเปียกก็กินไม่ค่อยอร่อย ยกเว้นว่าเราตั้งใจจะกินข้าวต้มใช่ไหมคะ ข้าวไหม้ก็กินไม่อร่อยอีกเหมือนกัน มันต้องกำลังสวยละมุนละไม นุ่มกำลังดี นี่แหละเรียกว่า ไม่เปียกแฉะไม่ไหม้เกรียม แต่อันนี้ที่ยกตัวอย่างขึ้นมาในเรื่องข้าวเป็นเรื่องของวัตถุ แต่ในเรื่องของทางใจก็เหมือนกัน คือใจไม่ชุ่มเปียกอยู่กับสิ่งที่เป็นกามคุณ ๕ ถ้าจะว่าไป และก็ในขณะเดียวกันก็ไม่ไหม้เกรียมอยู่กับความทุกข์ทรมานเผาไหม้ เคี่ยวเข็ญตนเองในเรื่องของการทำทุกข์โทษให้แก่ตัวเองนี่จนเกินไป เหมือนอย่างเป็นต้นว่าอย่างที่เราเคยได้ยิน บางคนที่พยายามฝึกปฏิบัติถึงกับนอนบนตะปู เคยได้ยินไหม ทำตัวนอนบนตะปู หรือว่าปล่อยเล็บให้ยาวแล้วก็ฝังลงไปในมือจนทะลุมาถึงหลังมือ อย่างนี้เขาเรียกว่าเป็นทางที่ตึงเกินไปและก็เป็นทางที่ไหม้เกรียมเกินไป
ฉะนั้น สรุปแล้วถ้าพูดกันตามคำสมัยใหม่ก็คงจะพูดได้ว่า หนทางสายกลางนั้นไม่เอนไปทางบวกหรือไม่เอนไปทางลบ คือในทางพอใจยินดีปลาบปลื้มจนลิงโลด หรือไม่เป็นในทางลบก็คือในทางยินร้ายที่ทำให้จิตใจเศร้าหมองขุ่นมัว เรียกว่าจิตใจนั้นจะมีความรู้สึกเยือกเย็น ผ่องใส สงบสบาย นี่เป็นทางสายกลาง ฉะนั้นอันนี้ก็คือว่ามันจะเกิดขึ้นได้ ก็อยู่ที่การสามารถทำหน้าที่นี่ ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ได้ อย่างที่เราพูดกัน และถ้าหากทำได้โดยไม่หวัง ทำจนดีที่สุดอยู่เสมอนี่คือ “มัชฌิมาปฏิปทา” นี่คือหนทางแห่งมัชฌิมาปฏิปทา เพราะฉะนั้นถ้าจะถามว่า ทางสายกลางอย่างไร ก็คือทางสายกลางที่กระทำแล้วเกิดผลเป็นความสบายใจ อิ่มใจที่ได้กระทำ โดยไม่มีผลที่เกิดจากความหวังอันจะทำให้จิตนี้ถูกกระทบกระเทือน นอกจากนี้ อริยมรรค ก็อาจจะแบ่งออกได้เป็น ๒ ระดับ
ระดับแรกเราก็อาจจะเรียกว่า “โลกิยมรรค” โลกิยมรรค ก็หมายความถึง การเดินหรือหนทางของการปฏิบัติของผู้ที่ยังอยู่ในโลก และก็ยังอยู่ในระหว่างทางของการปฏิบัติเรียกว่า โลกิยมรรค หนทางของการปฏิบัตินี้ ก็พยายามหรอกที่จะเดินตามหนทางของอริยมรรค แต่เนื่องจากว่ายังไม่สามารถจะปฏิบัติได้อย่างดีถึงที่สุด ก็ยังอยู่ในภาวะของความขึ้นๆ ลงๆ แต่ขณะเดียวกันผู้ปฏิบัติที่รู้หนทางก็พยายามที่จะดึงจิตที่บางครั้งหลุดไปในทางสุดโต่งบ้าง คือบวกไปบ้าง หรือลบไปบ้าง จะพยายามดึงให้มาอยู่ในตรงกลาง ก็รู้ตัวอยู่ อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นหนทางที่ยังอยู่ในฝ่ายของทางโลก เป็นฝ่ายของผู้ที่กำลังปฏิบัติอยู่ แล้วก็ถ้าไม่ทอดทิ้ง ก็แน่นอนวันหนึ่งจะบรรลุผล จะถึงซึ่งจุดหมายปลายทางที่กำหนดเอาไว้
อีกระดับหนึ่งก็เรียกว่า โลกุตตระ “โลกุตตรอริยมรรค” โลกุตตรอริยมรรคนั้นก็เรียกว่าเป็นหนทางของพระอริยเจ้า คือท่านที่ปฏิบัติอยู่บนหนทางนี้แล้วเป็นหนทางที่อยู่เหนือโลก คำว่าอยู่เหนือโลกก็ไม่ได้ลอยขึ้นไปจากโลก แต่จิตนี้อยู่เหนือความรู้สึกอันเป็นบวกและเป็นลบ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในหนทางใดอันเป็นทางสุดโต่งเลย และก็โลกุตตรอริยมรรค..ท่านผู้ใดอยู่บนหนทางก็หมายความว่าท่านกำลังฝึกปฏิบัติไป และก็จะได้บรรลุถึงซึ่งหนทางที่สูง สูงยิ่งขึ้นจนกระทั่งบรรลุมรรคผลที่สูงสุด อันเป็นสิ่งที่พึงปรารถนา หรือเรียกว่าเป็นยอดปรารถนา
ถ้าหากจะพูดว่า แล้วอริยมรรคจะมีอะไรเป็นที่สังเกตอีก ก็คือว่าในการปฏิบัตินั้นจะต้องครบองค์ ๘ ประการเสมอ ถ้าดูให้ดีๆ สำรวจดูให้ดีๆ จะไม่ขาดเลยสักองค์ เริ่มต้นตั้งแต่ สัมมาทิฏฐิ เรียงลงไปจนถึง สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ แล้วก็ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ จะรวมกันทั้ง ๘ องค์นี้ และก็ปฏิบัติรวมกันเป็นหนึ่ง จะเป็นเช่นนี้อยู่เสมอ และก็ลักษณะของการปฏิบัตินั้น จะเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความลดความละยิ่งขึ้น จะไม่มีเพื่อสิ่งอื่น ถ้าจะพูดให้เป็นทางธรรม หรือเป็นคำในทางธรรมะก็จะบอกว่า ในขณะที่ปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ จะมีจุดกำหนดอยู่ในใจว่าจะต้องเพื่อความวิเวก ความวิเวกก็คือ ความสงบ ความไม่คลุกคลี..ไม่คลุกคลีไม่มั่วสุม อันจะทำให้เกิดความฟุ้งขึ้นภายในและความสงบเย็นก็จะไม่เป็นที่เป็นไปได้ ฉะนั้นจะมีจุดหมายว่า เป็นไปเพื่อความวิเวก นอกจากความวิเวกแล้วก็จะมุ่งไปสู่ความเป็นวิราคะ วิราคะก็คือ ความจางคลาย จางคลายจากความยึดมั่นถือมั่นลงตามลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน ในความมีอัตตา ในความรู้สึกว่ามีอัตตา เป็นตัวตน มันจะค่อยจางคลายลงๆ จนกระทั่งรู้สึกเหมือนจะไม่มี จนกระทั่งไม่มีนั่นแหละในที่สุด เมื่อถึงในที่สุดของวิราคะ ก็จะมุ่งสู่จุดของนิโรธะ คือความดับ ดับอย่างสิ้นเชิง ดับนี่สลัดทิ้งลงในที่สุด เพราะถึงแล้วซึ่งวิราคะ จางคลายลงๆ และก็นิโรธะ ดับลงไปแล้วไม่ยึดมั่นถือมั่น ผลที่สุดมันก็ทิ้งลงไปเองโดยไม่ต้องมีใครมาฉุดหรือว่ามาแกะมือว่าให้ทิ้ง ทิ้งลงไปเอง ทิ้งของหนักนี่ที่แบกอยู่ ทิ้งลงไปเอง เพราะมองเห็นเสียแล้วว่าไม่มีอะไรให้ยึดมั่นถือมั่นเลยสักอย่างเดียว
เพราะฉะนั้น การปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ จึงมีพร้อมทั้งสมถะและวิปัสสนา ดังที่เราได้เคยพูดแล้วในคราวก่อนโน้น..จำได้ไหมคะ นี่แหละถ้าหากว่าไม่มีสมถะคือไม่มีความสงบพร้อมด้วยสติสมาธิอยู่ดังกล่าวแล้ว ไม่มีวิปัสสนาคือความใคร่ครวญในธรรม พิจารณาธรรมจนเห็นแจ้งประจักษ์ชัดแก่ใจ ก็จะถึงซึ่งนิโรธหรือว่าโวสสัคคะไม่ได้ แต่นี่เพราะมีอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเริ่มต้นจากวิราคะ..ความจางคลาย และก็นิโรธ..ความดับ โวสสัคคะ..ความสลัดทิ้งลง คือว่าโยนทิ้งลงไปเลย นี่จึงเกิดขึ้นได้โดยอัตโนมัติ แต่ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยความวิเวก และโดยเฉพาะความวิเวกในที่นี้ ก็โปรดเข้าใจว่าความวิเวกที่เกิดขึ้นในใจ ที่เราพยายามสร้างสม เพราะว่าบางท่านหรือท่านผู้ชมอาจจะบอกว่า ทำยังไงละ ฉันออกไปอยู่ป่าไม่ได้นี่ จำเป็นต้องอยู่บ้านอยู่กับครอบครัว หรืออยู่ในที่ชุมนุมชน ก็ไม่เป็นไรนะคะ แต่พยายามฝึกที่จะให้มีความรู้สึกวิเวกเกิดขึ้นข้างใน แม้ว่าจะอยู่ท่ามกลางผู้คนมากมายก็ตาม แต่สร้างความรู้สึกหรือพัฒนาฝึกฝนอบรมความรู้สึกนี้ให้รู้สึกเหมือนกับว่า มีก็เหมือนไม่มี จะมีคนอยู่ล้อมรอบตัวสักเท่าไหร่ จะมีสิ่งแวดล้อมที่จะมีเหตุการณ์ที่อาจจะกระทบ มีเสียง มีความรบกวน ก็พยายามฝึกจิตให้รู้สึกเหมือนกับไม่มี ถ้าทำได้วิเวกก็จะเกิดขึ้น และจิตตวิเวกอย่างนี้เป็นสิ่งที่ถ้าทำได้แล้วก็น่าจะอิ่มอกอิ่มใจได้ เพราะไม่ใช่ของทำง่ายๆ เลย การไปอยู่ป่า สิ่งแวดล้อมช่วยได้มาก เพราะฉะนั้นถ้าจะว่าไปก็ยังมีฝีมือครึ่งเดียวยังไม่ใช่ฝีมือทั้งหมด แต่ท่านผู้ใดที่สามารถกระทำหรือสร้างความวิเวกให้เกิดขึ้นได้ในท่ามกลางความชุลมุนวุ่นวาย นี่แหละเป็นฝีมือแท้นะคะ เพราะฉะนั้นก็ลอง ลองปฏิบัติดู ลองทดลองดู อย่าเพิ่งเสียกำลังใจ หรืออย่าเพิ่งคิดว่าไม่มีโอกาส ด้วยวิธีอานาปานสตินี่ได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นนี่ก็เป็นเครื่องแสดงว่า การปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้นจะต้องมีจุดหมายปลายทาง แล้วจุดหมายปลายทางนี้คือว่า เพื่อความสงบ ความลด ความละ ความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวงให้น้อยลงตามลำดับ แล้วก็ถ้าพูดถึงคำที่จะพูดเป็นธรรมะก็คือ เพื่อความวิเวก..ความสงบสงัด เพื่อวิราคะ..ความจางคลาย เพื่อนิโรธะ..ความดับ เพื่อโวสสัคคะ..ความสลัดทิ้งลงไปเอง ไม่ต้องมีใครบอกมันสลัดทิ้งเอง เมื่อมองเห็นแล้วว่าไม่มีค่าอะไรที่จะควรแก่การแบกเอาไว้นอกจากหนักเปล่าๆ อย่างเดียว
นอกจากนี้ ในขณะที่ปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น จะต้องรวมกันหมดอย่างที่เราพูดแล้ว ทั้ง ๘ องค์นี้รวมกันหมด เป็นหนทางสายเดียว ไม่ใช่แยกออกเป็น ๘ ทาง แต่ทั้ง ๘ องค์จะรวมเป็นทางสายเดียว และก็ของบุคคลคนเดียวด้วย จะมาหาเพื่อนเดิน เพื่อนร่วมทางเดิน เหมือนอย่างกับเราเดินเที่ยวป่า เดินไปเที่ยวในที่ต่างๆ จะหาเพื่อนเป็นเพื่อน..ไม่ต้อง ไม่มี และก็ถ้าหากว่ามี ก็ยังไม่ใช่อริยมรรคมีองค์ ๘ เพราะเหตุว่าจะต้องเป็นทางสายเดียว สำหรับบุคคลคนเดียว และก็เพื่อจุดหมายอันเดียว ไม่ใช่จุดหมายหลายทาง แกว่ง โดยไม่แน่ใจว่าจะไปทางไหนกันแน่ จะต้องเป็นจุดหมายอันเดียวเท่านั้น และจุดหมายอันนี้ไม่มีอย่างอื่น จุดหมายอันนั้นคืออะไร ความสงบเย็นอันเป็นนิพพานนั่นเอง เป็นความเย็นที่จะเกิดขึ้นตามลำดับ ตามลำดับจนกระทั่งเป็นความเย็นถึงที่สุด เป็นนิพพานที่เที่ยงแท้แน่นอนไม่มีวันเปลี่ยนแปลงอีก ถ้ามีอยู่อย่างนี้อยู่ในใจ เป็นจุดเป้าหมายอยู่ในใจ นี่แหละเป็นการปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ นอกจากนั้นสิ่งที่จะสังเกตในการปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็จะต้องเริ่มต้นด้วยการมีปัญญาหรือสัมมาทิฏฐิ..ความเห็นถูกต้องเป็นสิ่งนำ เป็นสิ่งนำทาง เป็นเสมือนกับแผนที่ เป็นเสมือนกับเข็มทิศ เป็นแสงสว่างที่จะสาดส่องออกไปให้เดินทางนั้นถูกต้อง แล้วมรรคทั้ง ๘ องค์คืออริยมรรคทั้ง ๘ องค์ ก็จะทำงานร่วมกันอย่างกลมกลืน ที่ท่านเรียกว่าเป็น “ธรรมสมังคี”
ธรรมสมังคี หรือเป็นมรรคสมังคีก็คือ ทั้ง ๘ องค์นี่ทำงานประสานกันกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียว เหมือนกับเชือกเส้นเดียวที่ฟั่นจากเชือกเล็กๆ ๘ เกลียว เหมือนดังที่กล่าวแล้ว และก็แต่ละองค์ก็ทำตามหน้าที่ตามสัดส่วนที่จะพึงมี ฉะนั้นความประเสริฐของอริยมรรคคืออะไร พอมองเห็นไหมคะ ความประเสริฐของการเดินทางตามหนทางของอริยมรรคคืออะไร ก็คือนำไปสู่ความดับทุกข์นั่นเอง เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เรียกว่าดับไม่เหลือแห่งทุกข์คือจะไม่มีเศษของความทุกข์นี่เหลืออยู่ในจิตเลย ถ้าหากว่าเราปฏิบัติตามหนทางแห่งอริยมรรคดังกล่าวแล้วจะไม่มีเศษของความทุกข์เหลืออยู่ในจิต จิตนี้จะมีแต่ความเกลี้ยง สะอาดสว่างสงบอยู่เป็นนิจ แล้วก็ในขณะที่เดินไปตามหนทางของอริยมรรคนี้ ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกว่ามีการสอน มีการชี้ทาง และก็มีการเห็นแจ้งตามลำดับ ตามลำดับในขณะที่ปฏิบัติไป มีการสอน มีการชี้ทาง มีการเห็นแจ้ง เข้าใจไหมคะว่าหมายความว่าอย่างไร
ในขณะที่เราปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ และการเห็นแจ้งนี้ไม่ใช่คนอื่นบอก เห็นด้วยตัวเอง ก็เหมือนอย่างตัวอย่างที่เราบอกว่า สมมติว่าเราใคร่ครวญในสิ่งที่เราได้ยินว่า คนเราเป็นทุกข์ชีวิตมีปัญหาเพราะความอยาก มันดิ้นรนเพราะความอยากที่ถูกครอบงำด้วยอำนาจของอวิชชา ถ้าลองฝึกสลัดทิ้งความอยาก ลดละความอยากลง จนสามารถทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ได้โดยไม่หวังแล้วละก็ นี่แหละชีวิตจะสงบเย็น..ใช่ไหมคะ นี่เราเอานี้มาเป็นจุดเรียกว่าเป็นจุดที่เราจะลองฝึกฝนอบรม แล้วเสร็จแล้วเราก็ฝึกไป บางขณะเราก็ลดละความอยากแล้วเราก็มองเห็นผล คือประจักษ์แจ้ง..ใช่ไหมว่า สิ่งที่เป็นสัมมาทิฏฐิ..เห็นถูกแล้วนี่ ถูกจริงๆ แต่ในบางครั้งเพราะว่าเรายังอยู่ในโลกีย์อริยมรรคคือยังอยู่ในทางโลก คือหมายความว่ายังอยู่ในระหว่างการปฏิบัติ เพราะฉะนั้นบางครั้งมันก็ได้บ้าง บางครั้งมันก็ไม่ได้บ้าง ที่ไม่ได้บ้างนี่ บางครั้งอนุสัยนี่เกิดขึ้น พออนุสัยที่มีความเคยชินแก่ความอยาก ความอยากบางอย่างเราละได้ แต่ความอยากบางอย่างเราละไม่ได้ เพราะมันฝังจิตฝังใจว่าอย่างนี้ชอบมาก ชอบมาแล้วตั้งแต่เล็กแต่น้อยตั้งแต่เกิด และก็ใฝ่ฝันเหลือเกินว่าต้องเอาให้ได้ เพราะฉะนั้นพอมาพบสิ่งนี้เข้า มันลดละไม่ได้ จะต้องทำให้ได้ ความที่เป็นอนุสัยฝังมาอยู่นานแล้ว เป็นอาสวะไหลออกมาก็เลยตะกรุมตะกรามออกไปโดยลืมตัว แล้วผลก็เป็นยังไงละ..ก็เป็นทุกข์ ตัณหาเกิดขึ้น ร้อน ดิ้นรน ทุรนทุราย แต่เพราะเราฝึกอยู่เสมอจิตนี้ก็ว่องไว รู้ได้ทัน รู้ได้ทันก็ได้บทเรียนแล้วใช่ไหม นี่แหละคือการสอน จะสอนให้เรารู้ แล้วในขณะเดียวกันก็ชี้ทางด้วยว่า ขืนเดินตามทางนี้คือตามความอยากด้วยอำนาจของตัณหา เพราะอวิชชา มันต้องเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าหากว่าเปลี่ยนเสีย ลดละความอยาก แล้วก็เดินไปโดยไม่ต้องอยู่ใต้อำนาจของความอยาก แต่ทำหน้าที่ให้ถูกต้อง ก็จะมีแต่ความสงบเย็น ก็จะประจักษ์แจ้งยิ่งขึ้นด้วยตนเอง..ใช่ไหมคะ
นี่แหละคือการปฏิบัติตามอริยมรรค แล้วเราจะมองเห็นผล สิ่งเหล่านี้จะเป็นข้อสังเกต แล้วผลที่สุดก็จะเห็นชัดด้วยตัวเองว่า แม้จะไม่หวังก็ต้องถึงจุดหมายปลายทางอยู่ดี ถึงอยู่นั่นเองไม่มีหลงทางไปอีก..ใช่ไหมคะ เพราะเราเดินอยู่บนหนทางเช่นนี้ และกระทำอย่างดีที่สุด เต็มที่ด้วยความสามารถ ด้วยหน้าที่ นี่คือสิ่งที่จะถือเป็นกฎเกณฑ์ในใจหรือเป็นข้อสังเกตว่า เรากำลังปฏิบัติอยู่บนหนทางของอริยมรรคมีองค์ ๘ หรือไม่นะคะ ก็ลองใคร่ครวญดู
ธรรมะสวัสดีค่ะ