แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
...มีต่ำสูงใช่ไหมคะ ไม่มีว่าพ่อทำไมถึงถือสิทธิ์ออกไปกินข้างนอกบ่อยๆ ไปกินข้างนอก แหม กินอาหารใหญ่ๆ กินไม่พอยังดื่ม ยังมีคลุกเคล้าเสียงดนตรี นารีประกอบอีกด้วย แล้วปล่อยให้ลูกกินอดๆ อยากๆ อยู่ที่บ้าน ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงมันเกิดขึ้น มันไม่มีความเสมอภาคในการกิน แต่สมัยก่อนโน้นมันไม่มี เพราะฉะนั้นปัจจัยสี่ที่มีอยู่ มันจึงเพียงพอสำหรับสมัยก่อนโน้น เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ไม่ต้องบรรยายนะคะ ดูจากหน้าหนังสือพิมพ์ทุกวัน นี่เราก็มองเห็นแล้วว่า มันพอเพียงแก่ความจำเป็นหรือมันเกินความจำเป็น หรือบางทีมันขาด ทั้งๆ ที่เสื้อผ้ามันแพง แต่เรามองดูแล้ว เอ๊ะนี่มันขาด เพราะมันปิดไม่มิด เห็นไหมคะ นี่ปัจจัยสี่ที่ใช้กันอยู่ ที่มีกันอยู่ มันเกินความจำเป็น เกินความจำเป็นทั้งสิ้น มันจึงเกิดเป็นค่านิยมที่เป็นมิจฉาทิฐิ แต่แล้วคนในสังคมปัจจุบันก็เห็นว่า นี่แหละมันถูกต้องแล้ว มันเป็นความธรรมดา ใครๆ เขาก็แต่งกันอย่างนี้ ใครๆ เขาก็เป็นกันอย่างนี้ เขากินกันอย่างนี้ เขาอยู่กันอย่างนี้ บ้านราคาที่พอสบายๆ ไม่พอ ต้องหลังใหญ่ยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น แล้วก็ประกวดประขันกัน รถยนต์เขามีไว้เพียงเพื่อเป็นพาหนะ แต่ก็มีเห็นประกาศในข่าวสังคม รถยนต์คันละสามสิบกว่าล้าน ห้าสิบล้าน ก็ไม่ทราบว่านั่งแล้วจะมีชีวิตที่เป็นทิพย์ หรืออย่างไร เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้เรียกว่า เพราะคนเดี๋ยวนี้เมินปัจจัยสี่ ก็เลยเกิดปัญหาที่แสวงหาปัจจัยอื่นๆ เพื่อสนองตัณหา ความอยาก กลายเป็นปัจจัยที่ห้า หก เจ็ด แปด เก้า สิบ ยี่สิบขึ้นมาก็แล้วเดี๋ยวนี้ ถ้าเราจะนั่งลงเขียนดูเราจะเห็นว่ามีมากเกินความจำเป็น แต่ทั้งๆ ที่เที่ยวเพิ่มเติมปัจจัย ก็ไม่มีใครที่จะนึกถึงปัจจัยที่ห้า ถ้าอยากจะเติม อันเป็นปัจจัยที่สำคัญ และมีค่าที่สุดต่อชีวิต ปัจจัยที่ห้าที่มนุษย์พึงแสวงหานั่นก็คือสิ่งที่เรียกว่า “ธรรมะ” หรือ “คุณธรรมในจิต” ฉะนั้นที่บอกว่าการศึกษาเป็นบ่อเกิดแห่งทิฐิ จึงเป็นคำพูดที่ดิฉันมีความรู้สึกว่า ไม่รู้จะเถียงที่ตรงไหน เป็นคำพูดที่มีความถูกต้องอย่างยิ่ง เพราะทิฐินั้นจะเป็นทิฐิที่ถูกต้อง คือ เป็นสัมมาทิฐิ ความคิดเห็นที่ถูกต้อง หรือเป็นมิจฉาทิฐิ ความคิดเห็นที่ไม่ถูกต้อง มันก็มาจากการศึกษา การศึกษาที่ได้รับทั้งจากทางบ้าน ทางโรงเรียน จากสิ่งแวดล้อม แต่อย่างไรก็ตามมันต้องเริ่มมาจากการให้การศึกษาในจุดแรก และมันก็กระจายออกไปในสิ่งแวดล้อมรอบตัว สังคม และก็ครอบครัว
ทิฐิ มีความสำคัญอย่างไร ท่านที่สนใจในพระธรรมเทศนา คำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็คงจะนึกได้ว่า พระองค์ทรงสอนถึงเรื่องของทิฐิ ในพระธรรมเทศนากัณฑ์แรก ที่ชื่อว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” ซึ่งเป็นพระธรรมเทศนาที่ทรงแสดงเป็นกัณฑ์แรกหลังจากที่ตรัสรู้แก่พระปัญจวัคคีย์ห้าองค์นั้น และในพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั้นก็ได้ทรงกล่าวถึงเรื่องของ “มัชฌิมาปฏิปทา” คือ ทางสายกลาง และทางสายกลางนั้นก็ต้องอาศัยอริยมรรคมีองค์แปดเป็นหลัก และอริยมรรคมีองค์แปดที่เรียกว่าทางดำเนินอันประเสริฐแปดประการนั้น ก็เริ่มต้นด้วยองค์แรกว่า สัมมาทิฐิ ก่อนอื่นทีเดียวที่ชีวิตจะดำเนินหรือกระทำในสิ่งใดจะต้องเริ่มด้วยการมีสัมมาทิฐิ คือ ความคิดเห็นที่ถูกต้อง ความคิดเห็นที่ถูกต้องคืออย่างไร อธิบายง่ายที่สุดเข้าใจง่ายที่สุดก็คือความคิดเห็นที่ไม่เกิดจากความเห็นแก่ตัว ความคิดเห็นที่ไม่เกิดจากความเห็นแก่ตัวก็คือ ไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ฉันว่าอย่างนี้ถูก ฉันว่าอย่างนั้นใช้ไม่ได้ ฉันว่าต้องทำอย่างนี้ ไม่เอา “ฉัน” เป็นที่ตั้ง แต่เอาประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นเป็นที่ตั้ง เพราะถ้าเอาทิฐิของฉัน ทิฐินี้มาจากไหน โปรดคิดดู แต่ละคนมีทิฐิว่า ฉันเห็นอย่างนี้ ฉันว่าอย่างนี้ ฉันเชื่ออย่างนี้ ฉันอะไรต่ออะไร ทิฐินั้นมาจากไหน ก็มาจากสิ่งที่เราเคยเรียนรู้มาแต่เล็กแต่น้อย ศึกษามาจากโรงเรียน มหาวิทยาลัย จากประสบการณ์ที่เราเคยทำมา เพราะได้รับการอบรมมาอย่างนั้น จนกระทั่งมันเคยชิน พอเห็นกับข้าวมาตั้งตรงหน้า ทิฐิจะบอกเลยว่า นี่ไข่เจียวอันนี้ใช้ได้ เพราะว่ามองดูก็รู้เลยว่าเจียวไม่อมน้ำมัน เจียวหอม กินอร่อย แต่พออีกจานหนึ่งมา นี่เจียวไข่แค่นี้ก็ไม่เป็น เจียวมาอย่างนี้เหม็นคาวกินไม่รู้เรื่อง นี่ทิฐิมันมาจากไหน มาจากความเคยชิน เคยชินที่เกิดจากการอบรม สิ่งแวดล้อม การศึกษา ประสบการณ์ในชีวิต ทีนี้แต่ละคนมีสิ่งแวดล้อมเหมือนกันไหม ภูมิหลังเหมือนกันไหม การเล่าเรียนศึกษาเหมือนกันไหม ประสบการณ์ในชีวิตเหมือนกันไหม ก็แตกต่างกันไป ใช่ไหมคะ คล้ายกันบ้าง แตกต่างกันมากบ้าง แตกต่างกันน้อยบ้าง แต่ยังไม่เคยเห็นเหมือนกันเลยแม้แต่ลูกแฝด พี่น้องลูกแฝดที่ออกต่างกันมาสักนาที ครึ่งนาที สามนาที ก็ยังไม่เหมือนกันเลย เมื่อเวลาที่เขาเติบโตขึ้นมา เขามีทิฐิของเขายังไม่เหมือนกันเลย เพราะฉะนั้น ทิฐินี่แหละ คือ บ่อเกิดของปัญหา
ท่านจึงบอกว่า ชีวิตที่จะอยู่ในหนทางสายกลาง หรือมัชฌิมาปฏิปทานั้น จะต้องเริ่มต้นด้วยสัมมาทิฐิ คือ ความคิดเห็นที่ถูกต้อง ความคิดเห็นที่ถูกต้องคือความคิดเห็นที่ไม่เกิดจากความเห็นแก่ตัว ไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้งในการตัดสินสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น หรือการตัดสินบุคคล เหตุการณ์ ไม่ว่าอะไรทั้งนั้น ไม่ตัดสินจากตัวเอง คือจากทิฐิของตัวเอง แต่ตัดสินจากเหตุปัจจัยหลายอย่าง พร้อมกับที่สำคัญที่สุดก็คือดูประโยชน์ที่เกิดขึ้น ที่จะเกิดขึ้นจากการพูด จากการกระทำนั้น ถ้าประโยชน์ที่เกิดขึ้นนั้นมันเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่ประโยชน์แก่ตัวฉัน หรือว่าพวกของฉัน พี่น้องฉันแต่ฝ่ายเดียว นั่นเป็นสัมมาทิฐิ แต่ถ้าหากว่าเป็นความคิด คำพูด การกระทำที่มันเกิดขึ้นเพื่อฉัน เพื่อพี่น้องลูกหลานฉัน เพื่อพรรคพวกของฉัน นั่นเป็นมิจฉาทิฐิ เพราะเป็นทิฐิที่เกิดจากความเห็นแก่ตัว เอาแต่ได้เพื่อตัวเอง พวกพ้อง พี่น้อง เพื่อนฝูง พรรคพวก มิใช่เพื่อประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ แล้วมันก็จะก่อให้เกิดปัญหาตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทิฐิที่เกี่ยวกับค่านิยมผิดๆ เช่น นิยมว่าเกียรติยศ อยู่ที่คนมีเกียรติ อยู่ที่ความมีตำแหน่งหน้าที่การงานสูง มีอำนาจ มีบริวาร หรือมีเงินในธนาคารร้อยล้าน พันล้าน หมื่นล้าน นั่นคือเกียรติจริงหรือเปล่าก็นึกดู ความเจริญก็อยู่ที่การมีสิ่งเหล่านี้อีกเหมือนกัน มีบ้านใหญ่ มีรถยนต์คันยาว มีเงินในธนาคารมาก บริวารล้อมหน้าล้อมหลัง และก็อื่นๆ สิ่งเหล่านี้มันล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งลวงตามนุษย์ทั้งนั้น แต่เพราะค่านิยมที่เราหลงทำตามมันมา แล้วก็กลัวว่าถ้าไม่ทำตามจะไม่มีคนยอมรับเป็นสมาชิกของสังคม ก็ต้องทำตามเขาไป บางคนเหนื่อยเหนื่อย เหนื่อยแสนเหนื่อยนะคะ ในขณะที่กลับมาบ้าน เราก็ต้องแต่งตัวล่ก ล่ก ล่ก ล่ก เพื่อไปร่วมกิจกรรมโน้น กิจกรรมนี้ บางทีนึกแช่งด่าโชคชะตาวาสนา และคนที่ชวนที่บังคับให้ไป แต่แล้วก็ต้องก้มหน้าก้มตาไป พอไปถึงเข้าก็ยิ้ม ปั้นยิ้ม ทั้งที่ข้างในมันแห้ง เคยไหมคะ ที่ประสบกับกิจการกิจกรรมอย่างนั้น แล้วทำไมต้องทำ ทำทำไม ทรมานตัวเองทำไม ก็เพราะค่านิยมนี่แหละ กลัวเขาจะไม่ยอมรับว่าเราเป็นสมาชิก กลัวจะไม่มีเพื่อน มีพ้อง มีผู้รับรองยอมรับ ก็เคี่ยวเข็ญตัวเองให้ทรมานไป เห็นไหมคะ เห็นความร้ายกาจของทิฐิที่มันเป็นมิจฉาไหม มันพาตัวให้ต้องทรมานถึงเพียงนี้ ไม่ใช่คนอื่นทำให้เลย เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกว่า การศึกษาเป็นบ่อเกิดแห่งทิฐิ เมื่อเราถือว่าการศึกษามีความสำคัญแก่ชีวิต ก็แน่นอนที่สุด เราต้องการจัดการศึกษาที่จะให้แก่เด็กๆ และเยาวชน พัฒนาเขาให้เป็นผู้ที่มีสัมมาทิฐิ ถ้ามีสัมมาทิฐิแล้ว นั่นแหละชีวิตจึงจะรอด รอดทั้งทางกาย ทางจิต เพราะมีวิญญาณคือสติปัญญาที่ประกอบด้วยสัมมาทิฐิ
ข้อที่สาม ท่านบอกว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือป้องกัน และกำจัดสัญชาตญาณอย่างสัตว์ เราก็ทราบแล้วนะคะ ถ้าหากว่าใครถูกด่าว่าเป็นสัตว์ ก็หมายความว่า เขาทำอะไรที่มันต่ำกว่าคนทำ แล้วถ้าหากว่าคนไหนทำอะไรที่น่ายกย่องชมเชย เออ ค่อยสมเป็นมนุษย์หน่อย ขึ้นมาแล้ว สูงขึ้นมาแล้ว เพราะฉะนั้นอันนี้การศึกษาเป็นเครื่องมือป้องกัน สัญชาตญาณอย่างสัตว์ ก็เพราะเรารู้ว่าสัตว์มันไม่มีการยับยั้งชั่งใจในการกระทำ จะทำไปตามสัญชาตญาณดิบ อยากกัดกัด อยากกินกิน อยากแย่งแย่ง อยากสมสู่ก็สมสู่ เมื่อไรที่ไหนไม่เลือก เป็นใครเคยเป็นแม่กันมาก่อน เคยเป็นพ่อกันมาก่อน ไม่คิดทั้งนั้น นี่คือสัญชาตญาณอย่างสัตว์ หรือสัญชาตญาณที่ป่าเถื่อน แล้วเดี๋ยวนี้เป็นอย่างไรในสังคม เราพบบ้างไหมคะ การกระทำที่เป็นสัญชาตญาณอย่างสัตว์ หรือการกระทำอย่างป่าเถื่อน ทุกท่านทราบดีอยู่แล้ว จากสื่อมวลชน จากหนังสือพิมพ์ จากเหตุการณ์ที่ประสบด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นการศึกษาที่ถูกต้องจะช่วยป้องกันสัญชาตญาณอย่างสัตว์ และเวลานี้มันก็กำลังเริ่มจะรุนแรง รุนแรงดุเดือดขึ้นทุกที ทุกที จากกรณีต่างๆ ที่เราพบ ทั้งในเรื่องทางเพศ ในเรื่องการฆ่า ในเรื่องการเบียดเบียนทำร้ายกันทุกวงการ ไม่ว่าการเมือง การศึกษา การเศรษฐกิจ อีกเยอะแยะไม่ต้องพรรณนา น่าอ่อนใจ น่าเหนื่อยใจ ถ้าเราไม่นึกคิดที่จะช่วยแก้ไขกัน เราจะต้องมานั่งแก้ไขปัญหาปลายเหตุจนหมดแรง แล้วก็ตายอยู่กับมัน ถ้าเราไม่คิดที่จะแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุคือที่การศึกษาเสียแต่เดี๋ยวนี้ ที่ค่อนข้างจะสายไปเสียแล้ว แต่ก็ยังไม่สายเกินไป เพราะฉะนั้นการศึกษาเป็นเครื่องมือป้องกัน และกำจัดสัญชาตญาณอย่างสัตว์ที่จะเกิดขึ้นครอบงำมนุษย์ด้วยอะไร ก็ด้วยคุณธรรมที่ชื่อว่า “หิริโอตตัปปะ” ด้วยการให้การศึกษาที่จะพัฒนาสติปัญญาของเขาให้เป็นสติปัญญาที่เป็นสัมมาทิฐิ แล้วหิริโอตตัปปะ ความละอายในการที่จะทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ความกลัวอย่างที่เรียกว่ากลัวบาป ก็จะเกิดขึ้นในใจ ไม่ใช่ว่าต้องกลัวกฎหมาย แต่เป็นความกลัวที่มันกลัวเอง กลัวว่าทำแล้วจะต้องละอายใจ จะต้องมาสำนึกบาปในภายหลัง และความสำนึกบาปในภายหลังนี่แหละ มันเป็นความเจ็บปวดขมขื่นในใจของมนุษย์เหลือเกินใช่ไหมคะ พอนึกขึ้นทีไร มันสะท้อนเหมือนใจหาย เหมือนกับใจวูบลงเหว เพราะอะไร เพราะมันตามกลับไปแก้ไม่ได้ สัมมาทิฐิ หรือทิฐิที่ถูกต้องจะช่วยป้องกันใจในลักษณะนี้
ข้อที่สี่ ก็คือท่านบอกว่า การศึกษาคือการปลุกธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะที่มีอยู่แล้วในทุกคน คือในใจของทุกคนให้ตื่นขึ้นมา การศึกษาคือการปลุกธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะซึ่งมีอยู่แล้วในใจของทุกคนให้ตื่นขึ้นมา ก็ต้องดูว่า คำว่าธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ หมายความว่าอะไร พุทธะก็คือ ปัญญา ความฉลาด อย่างชนิดที่เป็นแสงสว่าง เป็นความรู้ที่ถูกต้อง ซึ่งท่านบอกว่าโดยปกติแล้วมันมีอยู่ในใจของมนุษย์ มนุษย์ทุกคนมีเมล็ดพืชของพุทธะอยู่ในใจ แต่เมื่อเมินมอง ไม่ใส่ใจ เมล็ดพืชของพุทธะก็ซ่อนตัวเงียบอยู่ที่มุมใดมุมหนึ่ง แล้วถ้าหากว่าหลงลืมมากๆ แล้วก็เอาสิ่งเน่า สิ่งเหม็น ทับถมลงไปในมันมากๆ มันก็เลยตายเฉาไป ไม่มีโอกาสที่จะเบ่งบาน แต่ถ้ารู้จักที่จะให้ปุ๋ย พรวนดินให้น้ำให้ถูกต้อง เมล็ดพืชของพุทธะก็มีโอกาสที่จะเบ่งบานขึ้นมาได้ ถ้าจะอธิบายให้ชัดขึ้นอีกสักนิด ก็จะขออนุญาตเล่านิทานเซน (Zen) ซึ่งบางท่านอาจจะเคยได้ยินแล้ว ที่เล่าถึงท่านพระโพธิธรรมที่เป็นท่านองค์แรก เป็นพระภิกษุองค์แรกที่ได้นำพุทธศาสนาจากอินเดียมาประเทศจีน แล้วเสร็จแล้วก็มาสั่งสอน แต่ว่าเพราะว่าเป็นครั้งแรก ก็เป็นของใหม่ บรรดาพวกผู้คนที่ฟัง ฟังแล้วก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง พูดง่ายๆ ว่า เอาธรรมะมาให้ก็ฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง เปิดใจรับธรรมะไม่ได้ ท่านพระโพธิธรรมก็คงจะเหนื่อยอ่อนใจ ก็เลยหนีเข้าป่า แล้วก็ไปฝึกปฏิบัติด้วยตัวของท่าน คือท่านก็ฝึกปฏิบัติอยู่แล้วนะคะ จนกระทั่งท่านก็บรรลุธรรมในระดับหนึ่ง แต่ว่าท่านก็เหนื่อยอ่อนใจ ท่านก็คงนึกว่า ไปเสียเวลาทำไม เรามาฝึกปฏิบัติธรรมของเราให้ยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น หรือรักษาใจที่สะอาดอยู่แล้วให้สะอาดยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น ไม่ดีกว่าหรือ ท่านก็เข้าป่าแล้วก็ไปหาถ้ำได้ถ้ำหนึ่ง ก็นั่งหันหน้าเข้าผนังหินนั่นตลอดเวลา ไม่ยอมหันหน้าออกมาพูดจากับมนุษย์คนไหนทั้งนั้น แล้วก็มีท่านองค์หนึ่งซึ่งสนใจ เป็นพระภิกษุธรรมดา สนใจในการที่จะศึกษาธรรมะ ก็อยากจะหาครูบาอาจารย์ที่รู้จริง แล้วก็สามารถสอนให้เข้าถึงธรรมะได้ ก็ได้ทราบเรื่องของท่านพระโพธิธรรม ก็อุตส่าห์ติดตามไปเที่ยวค้นหาแสวงหาจนพบ พอไปพบก็ขอร้องอ้อนวอน กราบมือกราบเท้าเท่าไรว่าโปรดให้สอนสักทีหนึ่งเถิด ก็ไม่ยอม ไม่ยอมสอน ไม่ยอมพูดด้วย ไม่ยอมหันหน้ามามอง จนกระทั่งผลที่สุด ท่านพระภิกษุองค์นั้นก็ถึงกับเอามีดตัดแขนตัวเอง แล้วก็ยื่นแขนให้ เพื่อจะให้เห็นว่า นี่แสดงความอุตสาหะ พยายาม ยอมอุทิศทุกอย่างเพื่อให้ได้ซึ่งพระธรรม ท่านโพธิธรรมก็คงจะเห็นใจ ก็เลยหันมาถามว่าจะให้ทำอะไร จะให้สอนอะไร นั่นก็บอกว่าช่วยชำระจิตให้ผมด้วย พระโพธิธรรมก็บอกว่า จิตอยู่ไหน เอาจิตออกมาสิ ท่านพระภิกษุองค์นั้นก็นึกอยู่สักครู่แล้วก็ตอบว่า “จิตไม่มี” นี่เป็นวิธีเซน บรรลุแล้วซึ่งเมล็ดพืชของพุทธะ หรือโพธิที่อยู่ในใจ
ไม่มี หมายความว่าอะไร ต้องขยายความไหมคะ ก็คืออย่างที่เราพูดกันทีแรกว่าการจัดการศึกษานั้นต้องให้สอดคล้องกับธรรมชาติความเป็นจริงของชีวิตที่ประกอบด้วย กายและจิต และเราก็ให้การศึกษา เพื่อให้ความรอดทางกายอย่างที่พูดกันแล้วนี่นะคะมาเรื่อยๆ แต่เราไม่เคยนึกถึงจิต เพราะจิตนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีรูป ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น เป็นนามธรรมอย่างยิ่งเลย ด้วยเหตุที่มองไม่เห็นตัวจิตนี้เอง มนุษย์จึงละเลยจิต แล้วก็มาพุ่งเอาที่กาย คือที่เนื้อที่ตัวนี้ เพื่อมองเห็นหน้าเห็นตา แล้วยังแถมชื่อเสียงนามสกุล แถมตำแหน่งการงานเข้าไปอีก มันก็เลยยิ่งทำให้ความเป็นตัวตนนี่ มันชัดขึ้น ชัดขึ้น ชัดขึ้น ก็เลยยึดมั่นถือมั่นอยู่ในความเป็นตัวตน แล้วก็ทุกข์ แต่ก็ไม่รู้ว่ามันทุกข์ที่ตรงไหน แต่ว่าพระภิกษุองค์นั้นนี่ ก็รู้ว่ามันทุกข์ที่จิต คือพอคงจะได้ฝึกอบรมมาเองพอสมควร แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรกับจิตที่เต็มไปด้วยปัญหา เต็มไปด้วยความทุกข์ เต็มไปด้วยความร้อนรนกระวนกระวาย ไม่รู้จะชำระล้างมันอย่างไร ถ้ากายสกปรกเดี๋ยวก็ไปอาบน้ำเสีย ถูสบู่เสีย ใส่น้ำหอมเข้าหน่อย มันก็สะอาดหอมหวนไป ใช่ไหมคะ แต่จิตไม่รู้มันอยู่ตรงไหน ไม่รู้จะทำอย่างไร อยากจะชำระมันให้สะอาด เพราะมันสกปรกอยู่ด้วยความโลภความโกรธความหลง ด้วยตัณหา ก็มาหาท่าน เพราะฉะนั้นท่านพระโพธิธรรมแบบเซน ท่านก็บอก อ้าว จะให้ชำระจิตก็เอาจิตออกมาสิ ส่งจิตมา จะได้ชำระให้ นี่ก็นึก เอาตรงไหนละให้ท่าน หัวใจเหรอ เอาหัวใจยื่นไปให้ ไม่ใช่นี่ หัวใจนี่เป็นอะไร เป็นวัตถุ ใช่ไหมคะ มีหน้าที่สูบฉีดโลหิตเพื่อหล่อเลี้ยงร่างกาย หัวใจไม่ใช่ใจ หัวใจไม่ใช่จิต ตับ ปอด แขน ขา มือ ไม่ใช่สักอย่าง จิตนั้นไม่มี ถ้ามนุษย์เราเห็นว่าจิตไม่มี มันมีสักแต่ความรู้สึกที่ถูกต้อง คือความรู้สึกที่เป็นสัมมาทิฐิเท่านั้นเอง หมดปัญหา เพราะฉะนั้นเมล็ดพืชของพุทธะของท่านพระภิกษุองค์นั้น ซึ่งเผอิญตอนนี้นึกชื่อไม่ออก นั่นแหละก็เบ่งบาน ตื่นขึ้นมาทันที อ๋อ จิตไม่มี ที่มันมีจิตมันมีความทุกข์ เพราะเราไปยึดมั่นมันเอง เราไปยึดมั่นมันเองว่าเพราะชอบ อย่างนี้ใช่ ชอบ พอเห็นว่าดี ใช่ อันนี้แหละดี ถึงจะเรียกว่าดี พอชั่ว โอ้ อันนั้นชั่ว ชั่วชาติ คบไม่ได้ นี่คือจิตที่เต็มไปด้วยความยึดมั่นถือมั่นอันเป็นมิจฉาทิฐิ พอมองเห็นว่าจิตไม่มี ก็เลยมองเห็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นทั้งหลายทั้งปวง ทั้งดีทั้งชั่วนั้น ล้วนเป็นแต่เพียงมายา หาใช่ของจริงไม่ ของจริงมันก็คือไม่มีอะไรที่เป็นจริงเลยสักอย่างเดียว เพราะทุกอย่างนั้นเป็นอนัตตา ตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอน ซึ่งการศึกษาที่ถูกต้องเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการศึกษาข้างใน จะช่วยปลุกธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะซึ่งมีอยู่แล้วในใจของมนุษย์ทุกคนให้ตื่นขึ้นมาได้ นี่คือความลับหรือความสำคัญของการศึกษา
ถ้าจะพูดถึงระดับของการศึกษาอย่างง่ายๆ ก็คงทราบแล้วก็เริ่มต้นด้วยการจำ ฟัง หรืออ่าน ได้ยิน แล้วก็เป็นความจำ จำแล้วก็ทำความเข้าใจ จนกระทั่งรู้เรื่องเหมือนอย่างในการเรียนวิชาในโรงเรียน ในศาสตร์ต่างๆ ก็เราจำ จำแล้วก็ทำความเข้าใจ แล้วก็ประมวลเอาไว้เป็นความรู้ แล้วเมื่อถึงเวลาที่จะต้องสอบ ก็หยิบเอาสิ่งที่ได้รู้ ได้จำ ได้เข้าใจนั้นมาเขียนตอบ เป็นความรู้ จะด้วยการเขียน หรือด้วยปากก็แล้วแต่ จะทำมาหากิน ทำการทำงานก็ใช้สิ่งนี้ไป แต่ว่าอีกระดับหนึ่งซึ่งคนส่วนมากไม่ค่อยได้สนใจ แล้วก็ละเลย นั่นก็คือระดับของความเห็นแจ้ง ความเห็นแจ้งในที่นี้หมายถึง ความประจักษ์ชัด ประจักษ์ชัดด้วยใจ ไม่ได้ประจักษ์ชัดด้วยการคิด แต่ประจักษ์ชัดด้วยใจอย่างที่ท่านพูดกันตามภาษาคนปฏิบัติว่า มันโพลงขึ้นมาที่ใจ มันโผล่ขึ้นมาที่ใจ หรืออีกนัยหนึ่งคือมัน อ๋อ!ขึ้นมาเอง มันอ๋อขึ้นมาเอง พอพบอ๋อมันเป็นอย่างนั้นเอง โดยไม่ต้องคิดไม่ต้องมีใครมาบอก อ๋อมันเป็นอย่างนั้นเอง นี่คือมันความประจักษ์แจ้ง เช่นอย่างที่เราได้ฟังเรื่องของไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราก็พูดได้คล่องแคล่วปากเลย เขียนก็ได้ แต่เราเคยเห็นแจ้งในความเป็นอนิจจังแล้วหรือยัง เห็นแจ้งในความเป็นทุกขังแล้วหรือยัง เห็นแจ้งในความเป็นอนัตตาแล้วหรือยัง เห็นแจ้งหรือยังคะ ก็ไม่ทราบจะมีท่านผู้เห็นแจ้งบ้างหรือเปล่า แต่ถ้าเห็นแจ้งแล้ว อ๋อ อนิจจัง แล้วก็หยุดคิดนะคะ หยุดคิด หยุดนึก หยุดโกรธ หยุดอยาก หยุดจะวิเคราะห์วิจารณ์ มันหยุด เพราะว่ามันเป็นอย่างนี้เอง มันไม่เที่ยง มันเกิดแล้วก็ดับ มันมาแล้วก็ไป มันเป็นอย่างนี้เอง มันหยุดทันที พอมันอ๋อแล้ว เพราะมันจริงแล้ว มันประจักษ์แจ้งแล้ว มันเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มันก็จริงอย่างนี้อีกเหมือนกัน มันมองเห็นชัด
เพราะฉะนั้นการศึกษาก็มีระดับของความจำ ความเข้าใจ ความเห็นแจ้ง แล้ววิธีการศึกษาที่คุ้นเคยกันมา ที่เราได้รับคำสอนมาแต่ผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งหลายก็ การศึกษาโดยสังเขปก็ต้องมี “สุ จิ ปุ ลิ” ใช่ไหมคะ สุ ก็ สุตตะ คือ การฟัง ฟังเสียก่อน ใช้หูให้ถูกต้อง ก็คือฟังอะไรฟังให้ถูกต้อง ฟังแล้วเก็บใจความให้ได้ ฟังให้รู้เรื่อง อย่าฟังแล้วคิดอะไรให้มันเผลอไผลไปจากใจความที่ถูกต้อง ฟังแล้วก็เอามา จิ จินตนา คิด คิดให้อยู่ในวงของความถูกต้อง จากการฟังนั้น อย่าคิดนอกเรื่องนอกราว เอาความคิดเห็นของตัวที่ยังไม่เข้าท่าไปผสมผสาน มันจะทำให้ผิดเพี้ยนไป คิดแล้วสงสัยก็ ปุจฉา ไต่ถาม ถามผู้รู้ ถามครูบาอาจารย์ ถามผู้ใหญ่ที่แน่ใจว่าจะให้คำตอบที่ถูกต้อง แล้วก็ ลิขิต จดจำเอาไว้ จดจำไว้ในสมุดไม่เพียงพอ จดจำไว้ในใจ จดจำไว้ในสมอง นี่คือการเรียนอย่างที่เราเรียนกันธรรมดา แต่การเรียนที่จะให้เรียนอย่างสมบูรณ์เพื่อให้เกิดความรอดทั้งสามประการ คือ รอดทางกาย ทางจิต และก็ทางวิญญาณนั้น ท่านบอกว่าจะต้องเป็นการศึกษาแบบสิกขา ส-สระอิ-ก-ข-สระอา “สิกขา” ซึ่งเป็นคำบาลี ท่านบอกว่าความหมายของคำว่า สิกขา ที่ภาษาไทยเรามาใช้คำว่า “ศึกษา” นั้น ให้วิธีการสอนแบบศึกษาที่ทำกันอยู่มันแคบไป เพราะความหมายของสิกขาดั้งเดิมนั้นมีความหมายกว้างละเอียดลออว่า นอกจาก สุ จิ ปุ ลิ แล้วนั้น มันจะต้องเป็นการศึกษาที่เริ่มด้วยการดู ดูตัวเองไม่ใช่ดูคนอื่น ดูตัวเองด้วยตัวเอง ไม่ใช่คนอื่นเขาดู เหมือนอย่างที่จะบอก ไหนเธอลองทายสิ เธอดูสิว่าฉันนี่เป็นคนอย่างไร คนอื่นเขาบอกไม่ได้หรอก เพราะว่าเขาเกรงใจบ้าง หรือบางทีเขาเกลียด เขาแกล้งพูดเอาไปบ้าง หรือบางทีเขาก็ไม่อยากจะพูด ไม่มีใครดูใครได้ เพราะฉะนั้นต้องดูตัวเอง และก็ด้วยตัวเอง เพราะเราเองนี่แหละเราจะสัมผัสกับความเป็นจริงข้างในของเรา และดูตัวเองด้วยตัวเองที่ไหน ดูเข้าไปข้างใน ไม่ต้องดูข้างนอก ดูเข้าไปข้างใน ย้อนความรู้สึกเข้าไปในความรู้สึก
นี่แหละค่ะที่มีคำถามว่า ดูจิตอย่างไร คือเอาความรู้สึกย้อนพุ่งเข้าไปข้างใน พุ่งเข้าไปที่ความรู้สึกที่เกิดขึ้น มันร้อนอย่างไร มันร้อนเพราะอะไร มันเย็นอย่างไร มันเย็นเพราะอะไร ทำไมมันถึงร้อน ทำไมมันถึงเย็น หาสาเหตุ เอาความรู้สึกย้อนเข้าไปในความรู้สึก จะหลับตาก็ได้ ไม่หลับตาก็ได้ นั่งเฉยๆ มองดูดอกบัว มองดูต้นหญ้า มองดูทัศนียภาพรอบตัวก็ได้ แต่ใจนั้นมันไม่ได้อยู่กับสิ่งข้างนอก มันจะย้อนเข้าไปข้างใน สัมผัสกับความรู้สึกที่ข้างในจนกระทั่งเห็นตัวเอง เห็นความรู้สึกที่มันเกิดขึ้นเหมือนกับเห็นด้วยตาเนื้อ คือตาเนื้อนี่ไม่ได้มองเห็น แต่ความรู้สึกนี่มันสัมผัส เหมือนกับเห็นด้วยตาเนื้อ มันเห็นเลยเชียวว่า ใจที่ร้อนมันเป็นอย่างนี้ ใจที่จะเอามันเป็นอย่างนี้ ใจที่มันดิ้นรน เพราะความหลงมันเป็นอย่างนี้ ใจที่เย็นสงบมันเป็นอย่างนี้ นี่มันเห็นเห็นชัดด้วยความรู้สึกที่สัมผัส แล้วก็เกิดความรู้จักตัวเองขึ้นมา รู้จักอย่างชัดเจนว่า เรามันคนชนิดไหนกันแน่ คนชนิดไหนคือใจชนิดไหนกันแน่ ใจนี้มันเป็นอย่างไรกันแน่ เป็นใจที่หยาบ ที่กระด้าง หรืออ่อนโยน นิ่มนวล เมตตากรุณาแท้จริง อะไรต่างๆ เหล่านี้ มันจะค่อยๆ รู้จักจนกระทั่งสามารถวิจัยวิจารณ์ตัวเองได้ และเมื่อทำได้อย่างนี้การวิจัยวิจารณ์นั้นจะถูกต้อง เพราะว่าจิตเริ่มซื่อตรงต่อจิตเอง จิตเริ่มซื่อตรงต่อจิตเอง เมื่อมันเริ่มซื่อตรง การวิจัยวิจารณ์ก็ไม่เข้าข้าง ไม่เข้าข้างจิตของตน จะไม่งามไม่ดี ไม่อะไรก็ว่ากันไปตามเนื้อผ้า เพื่อจะได้รู้แล้วก็แก้ไขมันได้ ฉะนั้นการศึกษาโดยสมบูรณ์จะต้องรู้จักดูตัวเองด้วยตัวเอง ดูในตัวเองจนเห็นตัวเอง รู้จักตัวเอง และก็วิจัยวิจารณ์ตัวเองได้ เมื่อวิจัยวิจารณ์ออกมา ผลเป็นอย่างไร แก้ไขขัดเกลา ที่ยังขรุขระอยู่ ที่ยังใช้ไม่ได้ให้มันเกลี้ยงเกลางดงาม ส่วนใดที่งดงามแล้วดีแล้ว รักษาไว้ แล้วกระทำเพิ่มพูนให้ยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ก็เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดแก่ตนเองและผู้อื่น
นี่ก็คือ พูดถึงว่าการศึกษามีกี่ระดับ และวิธีการศึกษานั้นโดยสังเขปและโดยสมบูรณ์อย่างไร ต้องขออภัยด้วยนะคะที่พูดถึงเรื่องของชีวิต และก็เรื่องของการศึกษาค่อนข้างยาว เพราะมันเป็นสิ่งสำคัญของชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรม ยังไม่จบ ยังมีที่จะต้องพูดเพิ่มเติมอีกนิดหน่อย ก็ขอเอาไว้ต่อในตอนบ่าย...