แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฉะนั้นก็ไม่มีเวลาพูดได้ตลอด ก็อยากจะขอแนะนำหนังสือสักเล่มนึงนะคะ แทนที่ดิฉันจะพูดต่อจนจบ เพราะว่าเป็นหนังสือที่รู้สึกว่าให้ประโยชน์มาก หายไปไหนแล้ว ชื่อสอนลูกให้รวย ชื่อสอนลูกให้รวยนี่ฟังดูเหมือนกับว่าเป็นเรื่องของวัตถุนิยม แต่ที่จริงคนแต่งเขาเขียนไปอย่างนั้นเอง จริง ๆ แล้วหนังสือนี้สอนลูกให้รวย วงเล็บรวยความสุข รวยเงินด้วย รวยความสุขด้วย เพราะว่าเป็นชีวิตที่มีสัมมาทิฏฐิ และข้อที่สำคัญก็คือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงนะคะ เป็นชีวิตจริงของบุคคลหนึ่ง ซึ่งดิฉันจะไม่บอกหรอกว่าเป็นใคร แล้วเขาก็เขียนเป็นจดหมายสอนลูกชายเขา ในคำสอนต่างๆ นั้น ทั้งๆ ที่เขาไม่ใช่พุทธศาสนิกชน แต่ล้วนแล้วแต่อธิบายให้รู้ถึงความมีชีวิตตามทางสายกลาง มีทั้งความรู้ มีทั้งความฉลาด มีทั้งปฏิภาณแก้ไขปัญหาชีวิต เป็นบุคคลพิเศษแล้วก็หาได้ยากจริงๆ เพราะฉะนั้นดิฉันก็เขียนไปบอกสำนักพิมพ์ บอกว่าน่าจะใส่วงเล็บด้วย ตามหลังว่าความสุข เขาบอกว่าเขาทำอย่างนี้หนังสือขายดี เพราะอะไร เพราะเหตุว่าคนเราอยากรวยเงินมากกว่า ก็เลยซื้อหนังสือ แต่ว่าเมื่ออ่านไปแล้วก็จะได้ประโยชน์ เพราะว่ามีคุณธรรม มีจริยธรรมอย่างสมัยใหม่ คนโลกๆ ไม่มีคำพระอะไรอยู่เลยสักคำเดียว แต่น่าอ่านมาก ของสำนักพิมพ์ผีเสื้อนะคะ อยู่ที่ 5/4 ถ้าท่านผู้ใดสนใจนะคะ 5/4 สุขุมวิทซอย 24 กรุงเทพฯ 10110 เป็นหนังสือที่ดิฉันอ่านแล้วรู้สึกจับใจมาก ชอบมาก ก็เลยขอแนะนำว่า ทั้งเล่มนี่เป็นเรื่องของคุณภาพชีวิตทั้งนั้นเลย
02:26ก็ขอสรุปโดยย่อเลยนะคะว่า การที่เราพูดเรื่องคุณภาพชีวิตในวันนี้ เนื่องด้วยเป็นวันประสูติของสมเด็จพระบรมราชชนนี ผู้ทรงแสดงแบบอย่างอันประเสริฐของความมีชีวิตอย่างมีคุณภาพ จนทรงเป็นสุดที่รักที่บูชาของประชาราษฎรชาวไทย แล้วก็วันนี้เป็นวันพยาบาลแห่งชาติ เป็นวันของบุคคลที่อยู่ในวิชาชีพของผู้ให้ ดิฉันเรียกอย่างนั้น ทั้งหมอ แพทย์ พยาบาล เป็นผู้ให้แก่เพื่อนมนุษย์ ด้วยความเมตตา ความกรุณา ความเสียสละอย่างปราศจากความเห็นแก่ตัว กล่าวได้ว่าเป็นการนำคุณภาพชีวิตมาสู่เพื่อนมนุษย์ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่นำความสุขมาสู่ทั้งผู้รับและผู้ให้ เป็นสิ่งจรรโลงโลกให้สวยงาม ทำให้โลกนี้เป็นสถานที่ที่เชิญชวนให้น่ามีชีวิตอยู่ ผู้ที่มีคุณภาพชีวิตเป็นบุคคลที่ไม่น่าเบื่อ รับรองไม่น่าเบื่อ อย่างคุณที่เขียนเรื่องสอนลูกให้รวย พออ่านจบแล้วดิฉันอยากพบตัวเขาเหลือเกิน อยากพบตัวเขา อยากคุยกับตัวเขา รู้สึกว่าคุยกับเขาแล้วจะทำให้เราฉลาดขึ้นอีกเยอะ จะเห็นโลกแจ่มใส จะมีกำลังใจที่จะก้าวเดินไปอีกมาก เพราะฉะนั้นผู้ที่มีคุณภาพชีวิตเป็นบุคคลที่ไม่น่าเบื่อ ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น เคยไหมคะบางทีพูด ฉันเบื่อตัวเองเหลือเกิน นี่จะไม่มีวันเบื่อตัวเองถ้าเป็นผู้ที่มีคุณภาพชีวิต แล้วเมื่อถึงเวลาที่เกษียณแล้ว ยามชรา ถึงเวลาแก่ก็จะแก่อย่างสง่า ผู้มีคุณภาพชีวิตจะแก่อย่างสง่า ถึงเวลาจะจากไป ก็จะจากไปอย่างสงบ เย็น สบาย ไม่ห่วง ทั้งแก่ผู้อยู่หลังก็ไม่ต้องเป็นกังวลอีกด้วย เขามีคำพูดเอาไว้ในสอนลูกให้รวยนี่ เขามีคำคมเยอะๆ แต่ดิฉันชอบอันนี้ก็ขอเอามาฝาก เขาบอกว่า เพราะผู้ที่เป็นอย่างนั้นได้นี่ เขาเป็นผู้ชื่นบานเมื่อวานวัน เมื่อวานวันนี้ เมื่อวานวันนั้น เขาเป็นผู้ชื่นบาน และแข็งขันมั่นใจในพรุ่งนี้ เมื่อวานวัน เขาเป็นผู้ชื่นบานเมื่อวานวันและแข็งขันมั่นใจในพรุ่งนี้ เพราะฉะนั้นจะมีอะไรเบื่อล่ะ มีอะไรน่าเบื่อ เมื่อวานวันก็ชื่นบาน หลับตาพรุ่งนี้มาถึงมีแต่ความแข็งขันมั่นใจที่จะก้าวต่อไป เพราะฉะนั้นก็หวังว่าทุกท่านที่นั่งอยู่ในที่นี้ จะมีความชื่นบานเมื่อวานวันและมีความแข็งขันมั่นใจในพรุ่งนี้ด้วยกันทุกท่าน
05:33ธรรมะสวัสดีสำหรับตอนนี้นะคะ ธรรมะสวัสดีก็หมายความว่าขอได้มีความสวัสดีด้วยพระธรรม ทีนี้ต่อไปนี้ก็ตามที่ได้กำหนดเอาไว้ก่อนที่จะหมดเวลาที่ให้ไว้กับดิฉัน ก็คือว่าเราจะพูดกันถึงเรื่องการพักใจ การพักใจนั่นก็คือด้วยการทำสมาธิ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตนะคะ เชื่อว่าท่านที่นั่งอยู่ในที่นี้ส่วนมากจะเข้าใจวิธีการทำสมาธิแล้ว และเวลาก็ไม่อำนวยมาก ดิฉันจึงจะขอพูดแต่เพียงสั้นๆ ว่าการทำสมาธินั้นคืออะไร แล้วก็จะใช้เวลาที่เหลืออยู่นั้นตอบคำถามนิดหน่อย โปรดนั่งตามสบายค่ะ เพราะนั่งมาแล้วเกือบสองชั่วโมง จะขยับเนื้อขยับตัวบ้างก็ได้นะคะ ให้หายเมื่อยแข้งขา เมื่อยต้นคอ เมื่อยไหล่ จะนวดคอ นวดศีรษะ นวดไหล่ก็ได้ค่ะ เพื่อพร้อมที่จะพักใจกัน พร้อมหรือยังคะ ทำตัวพร้อมหรือยังคะ คือการที่เราจะทำสมาธินั้นต้องมีความพร้อม แล้วความพร้อมนี้ต้องพร้อมทั้งกายและใจ คือกายต้องสบาย ไม่อึดอัด ไม่แน่น ไม่เหนื่อย ไม่ง่วงเหงาหาวนอน ไม่เพลีย กายต้องพร้อม ใจก็ปลอดโปร่ง ไม่อึดอัด ไม่รำคาญ ไม่กระวนกระวาย นิ่ง ใจที่มันเพ่นพ่านไปไหนๆ ก็สาวมันกลับมา สาวมันกลับมาในที่ที่มันควรอยู่ การทำสมาธิคืออะไร จุดประสงค์ของการทำสมาธิก็คือ เพื่อรวบรวมจิตที่กระจัดกระจาย ซัดส่าย เพ่นพ่าน ไปโน่นไปนี่ทั้งวันทั้งคืน ให้มันนิ่งเสียที ให้มันกลับมารวมกัน เพราะการที่มันกระจัดกระจาย ซัดส่าย เพ่นพ่าน ไปโน่นไปนี่ มันก็ไม่มีแรงใช่ไหมคะ มันแตกแขนงออกไป มันก็ไม่มีแรง เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าใจที่ไม่มีแรง แล้วร่างกายมันจะมีแรงได้อย่างไร มันก็เปลี้ยไปด้วย มันทำให้ความคิดความอ่านก็ไม่ฉลาดแหลมคม ทั้งๆ ที่เคยเป็นคนฉลาดมีความรู้มาก เพราะฉะนั้นสมาธิจึงหมายถึงจุดมุ่งหมาย หนึ่ง เพื่อรวบรวมใจที่กระจัดกระจายให้มาสงบนิ่ง มั่นคง เข้มแข็ง บริสุทธิ์ สะอาด กระฉับกระเฉงว่องไวด้วยนะคะ ทั้งๆ ที่นิ่งเฉยน่ะแหละ แต่มีความกระฉับกระเฉง ว่องไว พร้อมที่จะทำการงาน พร้อมที่จะทำการงานทั้งภายนอกและภายใน นี่คือจุดประสงค์ของการทำสมาธิอันแรกนะคะ เพื่อสงบ แล้วอันที่สอง ก็เพื่อใช้จิตที่สงบแล้วนั้นพิจารณาใคร่ครวญธรรม พิจารณาใคร่ครวญธรรมคือธรรมะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ เช่น ชีวิตจะเป็นฉันใดก็เกิดจากเหตุปัจจัยที่ได้กระทำ คือมันมีเหตุปัจจัย ใคร่ครวญดู จริงไหม พูดก็ฟังเข้าใจดีหรอก แต่ใจจริงๆ นี่สัมผัสไหม สัมผัสหรือเปล่าว่าชีวิตนี้มันมีเหตุปัจจัย และจะเป็นอย่างไรต่อไปก็ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยที่ได้กระทำ นี่อันนึงนะคะ ใคร่ครวญธรรมในเรื่องนี้
10:02อีกเรื่องนึงก็คือเช่นท่านบอกว่า โลกนี้มันมีลักษณะธรรมดาอยู่สามประการ ที่เรียกว่าไตรลักษณ์ ลักษณะอันเป็นธรรมดาสามประการ อนิจจัง ความไม่เที่ยง ไม่มีอะไรเที่ยง ไม่มีอะไรคงที่ มันจะเปลี่ยนแปลงไป แต่ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงเอง มันมีเหตุปัจจัยให้เปลี่ยนแปลงใช่ไหมคะ อนิจจังนี่เกิดจากเหตุปัจจัยเหมือนกัน เปลี่ยนบ้าน เปลี่ยนการงาน เปลี่ยนรถ หรือเปลี่ยนอะไรก็แล้วแต่สารพัด นี่ยกตัวอย่างที่เห็นง่ายๆ มันมีเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นอนิจจังนี่เป็นกฎของธรรมชาติ เกิดมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ตั้งแต่ก่อนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นด้วยซ้ำไป ตั้งแต่มีโลกขึ้นมานี่นะคะ มันก็ Apply มีกฎอนิจจังนี้ขึ้นมาแล้ว มันมีประจำอยู่ในโลก จึงเรียกว่ากฎธรรมชาติ และเมื่อมันเป็นอนิจจัง ความไม่เที่ยง มันก็แสดงต่อไปถึงทุกขัง คือความทนได้ยาก ทุกขังในไตรลักษณ์อธิบายถึงลักษณะของความที่ทนอยู่ไม่ได้ เหมือนอย่างดอกกุหลาบนี่มองดูเดี๋ยวนี้ก็สวยดี แต่ทิ้งไว้อีกสักสามวัน ไม่ต้องเอาน้ำมาพรม ทิ้งเอาไว้อย่างนี้ ก็จะเห็นทั้งอนิจจัง เห็นทุกขัง ความทนอยู่ไม่ได้ เริ่มเหี่ยว เริ่มแห้ง เริ่มเฉา เริ่มร่วงโรย ดูร่างกายของเรานี้เป็นต้น เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด ส่องกระจกเมื่อไหร่ ก็เห็นทั้งอนิจจัง เห็นทั้งทุกขัง แล้วในที่สุดก็จะนำไปสู่อนัตตา ความเข้าใจในอนัตตา อนัตตาคือความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ตรงกันข้ามกับอัตตา อัตตาคือตัวตน เราทั้งหลายส่วนมาก มนุษย์ทั้งหลายจะรู้จักแต่อัตตาทั้งนั้น ตัวของฉัน ตัวของฉัน อะไรๆ ก็ของฉันก่อน แล้วก็เพราะยึดมั่นอยู่ในของฉันนี่แหละ มันจึงเกิดปัญหาขึ้น ความทุกข์จึงตามมา ท่านจึงทรงสอนให้เข้าใจถึงอนัตตา ไม่มีอะไรเป็นตัวตนที่เที่ยงจริงๆ เลยสักอย่างเดียว เพราะฉะนั้นก็จงอย่าไปยึดมั่นถือมั่นในมันเลย
12:23นี่เป็นสัจธรรมสองอย่างนะคะ เป็นสัจธรรมสองอย่างที่เราจะต้องใคร่ครวญ คือ เรื่องของไตรลักษณ์ แล้วก็เรื่องของเหตุปัจจัย นี่ก็คือจุดหมายของการทำสมาธิ หนึ่งเพื่อสงบ สองเพื่อทำวิปัสสนา คือใคร่ครวญธรรมด้วยการใช้ปัญญา ทีนี้ในการทำสมาธินั้นเพื่อให้จิตสงบก็ต้องหาอะไรมาผูกจิต จิตที่ไม่มีตัว ไม่มีรูป ไม่มีสี ไม่มีกลิ่นนี่ แต่มันมีความเก่งกล้าเหลือเกิน แล้วมันดื้อด้านด้วย ต้องใช้คำว่าดื้อด้าน เล่ห์เหลี่ยมมาก หลุกหลิก มันมีอุบายต่างๆ นานา เราจึงต้องดึงมัน ก็จึงต้องใช้อะไรสักอย่างหนึ่งผูกมัน ผูกมันมา ดังที่ท่านทราบ ก็ใช้คำบริกรรมกัน เช่นคำว่าพุทโธ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ พุทโธๆ ๆ ตลอดเวลาอย่างนี้เป็นต้นนะคะ อันนี้ก็อย่างหนึ่ง หรือจะใช้ลมหายใจ จะไม่บริกรรมอะไรเลย แต่จะเอาจิตจดจ่ออยู่ตรงแถวช่องจมูกนี่นะคะ เอาสติเข้ามา เพื่อจะคอยรับสัมผัสกับลมหายใจที่ผ่านเข้า พอลมหายใจมันไม่มีรูปร่าง แต่มันมีความเคลื่อนไหวใช่ไหมคะ มันมีความเคลื่อนไหว พอเราหายใจแรงๆ ความเคลื่อนไหวของมันนี่จะกระทบจุดแรกก็คือแถวช่องจมูกนี่ค่ะ แต่จะเป็นจุดไหนก็โปรดดูเอาเอง ไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะริมซ้าย ริมขวา ตรงกลาง หรือว่าเหนือริมฝีปาก เอาแต่เพียงว่าจุดไหนเป็นจุดที่การกระทบของลมหายใจชัดที่สุดในความรู้สึกของเรา เอาจิตจดจ่ออยู่ตรงจุดนั้น พอเข้าเราก็รู้สัมผัส เช่นสมมติว่าอยู่ช่องจมูก พอเข้าสัมผัสช่องจมูก พอออกสัมผัสช่องจมูก กำหนดจิตรับรู้ทั้งเข้าและออก เข้าและออก เอาอย่างเดียวเท่านั้น อย่างใดอย่างหนึ่ง นี่ง่ายๆ นะ พูดอย่างง่ายๆ แล้วก็การนั่ง เรานั่งเก้าอี้อย่างนี้ก็สบาย แต่ว่านั่งอย่างสำรวม ไม่นั่งอย่างปล่อยอิริยาบถ แล้วมือจะซ้อนกันหรือจะวางที่ขาทั้งสองข้างก็สุดแล้วแต่ ฉะนั้นการพักใจด้วยการทำสมาธิก็เพื่อที่จะเรียกใจให้มีกำลัง ให้มีความสดชื่น ให้ผ่อนคลาย แล้วก็ให้มีความสงบ เพื่อเกิดความมั่นคงที่จะมีเรี่ยวแรงในการดำเนินชีวิตต่อไป และในขั้นสูงต่อไปก็คือ สามารถมีปัญญาที่จะมองทะลุแจ้งไปถึงความจริงของธรรมชาติ จนสามารถเกิดความสลัดสิ่งที่รัดรึง ผูกพัน เกี่ยวข้องให้ต้องเป็นทุกข์ทั้งหลายออกไป จะรู้สึกเป็นผู้มีอิสระ ก็เข้าสู่ระดับเบื้องสูงของคุณภาพของชีวิต เราจะนั่งสมาธิกันสักสิบห้านาทีดีไหมคะ มากไปไหมคะสิบห้านาที มากไปไหมคะ ถ้ามากก็ลดลงเหลือสิบนาที โปรดนั่งสบายๆ ค่ะ คำว่าสบายๆ คือนั่งตัวตรงด้วย เมื่อเราจะทำสมาธิต้องมีความสำรวม สำรวมกายข้างนอกก่อน แล้วก็สำรวมใจ แล้วก็ในขณะที่นั่งดิฉันอาจจะพูดอะไรไปบ้างสำหรับท่านที่ยังไม่คุ้นเคยแก่การนั่งสมาธิ เพื่อที่จะช่วยชวนใจที่กำลังจะเตลิดให้กลับมาสู่ลมหายใจหรือสู่คำภาวนา สำหรับท่านที่เคยทำสมาธิมาแล้วก็โปรดอย่าใส่ใจกับคำพูดของดิฉัน คงอยู่กับการภาวนาที่ท่านคุ้นเคยแล้วนะคะ พร้อมหรือยังคะ
16:19ในตอนเริ่มต้นจะหลับตาก็ได้ ไม่หลับตาก็ได้ ไม่จำเป็น ถ้ารู้สึกว่าเรายังไม่พร้อมและบังคับให้หลับตาจะรู้สึกปวดคิ้วนะคะ ปวดคิ้วตึงเขม็งทีเดียว เพราะฉะนั้นเอาแต่เพียงว่าหลบตาลงต่ำ ทำจิตให้สำรวม กำหนดจิตอยู่ตรงแถวช่องจมูก และเมื่อจิตสงบเมื่อใด ตาจะหลับเองเป็นธรรมชาติ แล้วจะไม่ปวดไม่เมื่อย พร้อมนะคะ เริ่มด้วยการหายใจยาวช้าๆ ก่อน หายใจเข้า รู้ลมหายใจเข้า เมื่อหายใจออก ก็รู้ลมหายใจออก เพื่อไม่ให้จิตขาดจากลมหายใจ ก็ตามมันเข้าไป พอลมหายใจเข้ามันเคลื่อนไปถึงไหน ก็เอาใจตามไป สติตามไป พอมันเริ่มจะออก ก็เอาจิตหรือสติตามออก ถ้าตามเข้าตามออกอยู่อย่างนี้เรื่อยๆ จิตก็จะอยู่นิ่งได้มากขึ้น ขณะนี้เป็นเวลาที่เราจะพักใจ เป็นโอกาสให้ใจได้พักผ่อน ใจที่ทำงานหนักเหน็ดเหนื่อยมาตลอดชีวิต ต้องการการบำรุงรักษา การพักใจคือการบำรุงรักษาใจ เป็นสิ่งจำเป็นของชีวิต เป็นงานที่ต้องทำเพื่อประโยชน์แก่ชีวิต ความเหน็ดเหนื่อย ความอ่อนล้า ความตึงเครียดที่เกิดจากความผิดหวัง ความไม่ได้ดังใจ ความสูญเสีย หากจะมีมันก็ผ่านไปแล้ว อย่าเอามาเป็นอุปสรรคในขณะที่ต้องการพักใจ ให้ใจได้พักเต็มที่ ความสำเร็จ ความปีติยินดีใดๆ ที่เคยได้ ที่เคยมี มันก็ผ่านไปแล้ว อย่านำสัญญานั้นมาให้เป็นเครื่องกังวลแก่จิตอีก ปล่อยไป การพักใจคือการปล่อยสิ่งที่เกี่ยวข้อง หมักดองอยู่ในจิตทั้งมวล ปล่อยมันออกไปให้หมด อย่าเก็บไว้ มันเป็นขยะที่ไม่มีประโยชน์ มีแต่ความเน่าเหม็น ถ้าเก็บมันไว้มันก็จะกัดกินจิตใจให้กร่อน ให้หมดแรง ให้เป็นทุกข์ ไม่มีประโยชน์ จงอยู่กับลมหายใจ ตามรู้ลมหายใจเข้า ตามรู้ลมหายใจออก ให้ทุกขณะของลมหายใจ หายใจยาวช้าๆ ให้เป็นไปตามธรรมชาติ อย่าบังคับให้เคร่งเครียด การทำสมาธิคือการควบคุมใจให้กลับไปสู่ความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ เหมือนดังที่มันเคยเป็น ใจเป็นสิ่งที่เปราะบาง เป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งยวดของชีวิต เป็นสิ่งที่ต้องทะนุถนอม รักษาให้แข็งแรง ให้สมบูรณ์ เพื่อความมีคุณภาพของชีวิต เหมือนกับให้อาหารใจ ไม่ต้องเสียเงินไปซื้อหา เพียงแต่ให้มีศรัทธาที่จะทำ เพราะเห็นคุณค่ายิ่งยวดที่มีแก่ชีวิต หายใจสบายๆ ให้เป็นธรรมชาติ อย่าบังคับ แต่สำรวม จดจ่อ ถ้าจิตหลุดจากลมหายใจ ดึงกลับเข้ามาใหม่ ดึงกลับเข้ามาใหม่ ให้แนบแน่นอยู่กับลมหายใจที่ผ่านเข้าผ่านออก ในขณะพักใจอย่ากังวลกับผู้อื่น ดูแลเฉพาะลมหายใจของเราเอง แล้วจิตจะสงบนิ่ง ได้ยินเสียงก็สักแต่ว่าเสียงเท่านั้นหนอ หาใช่สิ่งจริงไม่ มันเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ ไม่มีสิ่งใดคงที่ หน้าที่ของเราเพียงแต่บำรุงรักษาใจ ให้เป็นใจที่นิ่ง สงบ มั่นคง ปกติ เพียงเท่านี้ก็คุ้มค่าแก่การมีชีวิต เพราะจะมีใจที่สามารถนำชีวิตไปสู่ความเป็นปกติที่น่าปรารถนา ถ้ารู้สึกง่วงจะหลับ ยืดตัวตรง หายใจยาวแรง ขับไล่ความง่วงไป ถ้าหากปล่อยให้ความง่วงเกิดขึ้นในขณะทำสมาธิ จะกลายเป็นนิสัยแล้วจะแก้ลำบาก เพราะฉะนั้นแก้ทันทีเมื่อรู้สึกง่วง ลืมตาขึ้นก็ได้ ถ้าไม่สามารถจะตามลมหายใจได้อย่างเดียว ก็เพิ่มคำภาวนา พุทเข้า โธออก พุทโธๆ หรือจะนึกถึงบทสวดมนต์ที่ชอบมาก แล้วก็จิตจดจ่ออยู่กับบทสวดมนต์นั้นตลอดเวลา ไม่หลุดออกไปไหน ใจก็ได้พักเหมือนกัน โปรดเลือกวิธีที่เหมาะสมกับอัธยาศัยที่สุด โปรดใช้โอกาสขณะนี้พักใจให้เต็มที่ คงจะพักใจได้พอสมควรแล้วใช่ไหมคะ ค่อยๆ ลืมตาช้าๆ ไม่ต้องรีบร้อน แต่คงรักษาความสงบที่มีอยู่ในใจนั้นเอาไว้ ถ้ารู้สึกว่าได้สัมผัสกับความสงบ พยายามรักษามันเอาไว้ให้นานที่สุด...