แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ผู้ดำเนินรายการ
สวัสดีค่ะท่านผู้ฟังที่เคารพ พบกันในช่วงธรรมะชำระใจในการสนทนาธรรมะ หรือตอบข้อข้องใจของท่าน มีท่านผู้ฟังเขียนจดหมายถามปัญหาธรรมะเข้ามาในรายการนี้ ซึ่งท่านกรุณามาเป็นผู้ตอบปัญหาคือ ท่านศาสตราจารย์อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหงคะ และต่อจากนี้ไปท่านที่สนใจในรายการธรรมะจะได้รับฟังการตอบปัญหาธรรมะทุกๆวันพระนะคะ ขอเชิญติดตามรับฟังคะ สวัสดีค่ะคุณแม่คะ เมื่อวันพระที่แล้วคุณแม่ก็ได้พูดถึงวันอาสาฬหบูชา เกี่ยวกับมรรคมีองค์ 8 ซึ่งคุณแม่ก็ได้ตอบไปเพียงข้อเดียว คือสัมมาทิฏฐินะคะ อีก 7 องค์ ก็วันนี้ขอให้คุณแม่ได้ช่วยตอบให้ครบองค์ 8 ค่ะ
อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง
คราวที่แล้วพวกเราก็ได้พูดกันถึงเรื่องของทางสายกลาง ที่ถ้าหากว่าผู้ใดต้องการอยู่ในหนทางสายกลาง ก็ต้องพยายามสมาทานสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นองค์แรกหรือข้อแรกของอริยมรรคมีองค์ 8 ที่เป็นหนทางอันประเสริฐนะคะ วันนี้ก็จะขออนุญาตพูดต่อ เพื่อให้ครบทั้ง 8 องค์นะคะ องค์แรกคือสัมมาทิฏฐิ ก็คือความคิดเห็น อันนี้ก็ทำไมถึงมีความสำคัญมากจนเปรียบเทียบเหมือนกับเป็นรุ่งอรุณ เป็นเข็มทิศ เป็นแผนที่ ก็เชื่อว่าท่านพูดฟังคงมองเห็นแล้วว่า ไม่ว่าเราจะทำอะไรในชีวิตนี่ ถ้าจะให้ได้ผลดีให้เกิดประโยชน์ ประการแรกทีเดียวต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ความคิดเห็นที่ถูกต้องในสิ่งนั้นก่อนใช่ไหมคะ ถ้าหากว่าใครจะเริ่มทำอะไร โดยไม่ศึกษาจนกระทั่งมีความคิดเห็น ความเข้าใจถูกต้อง ผลีผลามทำไป โดยมากมันจะล้มเหลว หรือได้ผลในทางที่เสียหาย มากกว่าที่จะเกิดประโยชน์ ท่านจึงเน้นในเรื่องของสัมมาทิฏฐิ ว่าสำคัญมาก และที่จริงแล้ว สำคัญกับชีวิตทั้งในทางโลกและทางธรรม ถ้าหากว่าในทางโลก ก็สัมมาทิฏฐิในทางโลก ก็ตั้งแต่ยังเป็นเด็กนี่ เช่นเห็นว่าการศึกษาเล่าเรียนเป็นความจำเป็นของชีวิต นี่ก็เป็นสัมมาทิฏฐิระดับหนึ่งแล้ว แล้วก็เล่าเรียนศึกษาด้วยความถูกต้องของการเป็นนักเรียนนักศึกษาที่ดี ก็เป็นสัมมาทิฏฐิในอีกระดับของการปฏิบัติ แล้วก็ต่อๆไปก็ ชีวิตของคนนี่อยู่เฉยไม่ได้ต้องทำการงานที่เกิดประโยชน์ นี่ก็เป็นสัมมาทิฏฐิมาเรื่อยๆนะคะ หรือเป็นคนดีมีศีลธรรม ที่จะไม่เบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อยู่ด้วยกันด้วยความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน นี่ก็เป็นสัมมาทิฏฐิ อย่างที่เรียกว่าเป็นโลกียธรรม คือในระดับของโลกียธรรม แต่ที่เราพูดกันในวันนี้และที่ได้พูดมาแล้วนั้น ก็พูดถึงสัมมาทิฏฐิในระดับที่สูงขึ้นไปอีก หลังจากที่เป็นคนดี มีการ มีงาน มีศีลธรรมพอสมควรแล้ว แต่ยังไม่รอดพ้นจากความทุกข์ ยังร้องห่มร้องไห้ เสียใจ ดีใจ ตื่นเต้นอยู่เรื่อย เราก็ควรมาศึกษาสัมมาทิฏฐิในระดับที่สูงขึ้นไป คือสูงกว่าโลกียธรรม ที่เรียกว่า โลกุตรธรรม ก็โปรดอย่านึกว่าฉันไปไม่ไหวหรอก สูงเกินไป เราไม่ต้องตั้งความหวัง แต่เราต้องค่อยๆทำของเราไป ถ้าเรารู้สึกว่าชีวิตที่เกิดมานี้ แล้วต้องมาเป็นทุกข์เกลือกกลิ้งอยู่กับความทุกข์มันไม่คุ้มค่าเลย ของการที่เกิดมา ถ้าเรารู้สึกอย่างนี้ ก็จะมองเห็นว่า ก็ในขณะที่ยังมีลมหายใจอยู่ ทำไมไม่ลองล่ะ ลองทดลองดูซิ ลองฝึกปฏิบัติอย่างนี้ซิ เดินตามอริยมรรคมีองค์ 8 แล้วขาดทุนอะไร เสียหายอะไร ใช่ไหมคะ มันมีแต่กำไร นี่แหละที่พูดว่าไม่ยึดติดในสิ่งคู่ แต่นี่เพื่อจะเปรียบเทียบให้เห็น ว่ามันมีแต่ได้ ไม่มีเสีย มันมีแต่เกิดประโยชน์แก่ชีวิต ในการที่เราจะลองศึกษา แล้วก็ฝึกปฏิบัติดู ใช่ไหมคะ โดยเราไม่หวัง โดยเราไม่เอา แต่เราฝึกทำในสิ่งที่ถูกต้อง ฉะนั้นสัมมาทิฏฐิในที่นี้ เราก็พูดกันถึงสัมมาทิฏฐิในเรื่องของอยู่ในหนทางสายกลาง ซึ่งจะนำความสุข สงบ เย็น ให้เกิดขึ้นแก่ชีวิต ก็เริ่มต้นด้วยการมีความคิดเห็นเข้าใจถูกต้อง ถึงคุณค่าของมัชฌิมาปฏิปทา คือความมีชีวิต ดำเนินอยู่ในหนทางสายกลาง
ทีนี้พอมีความคิดเห็น ความเข้าใจถูกต้องอย่างนี้แล้ว องค์ที่ 2 หรือข้อที่ 2 ที่ตามมา หรือเกิดขึ้นทันทีโดยอัตโนมัติ นั่นก็คือ สัมมาสังกัปปะ หรือความตั้งใจ ความตั้งใจความปรารถนา ที่จะต้องทำให้ได้ เราเห็นแล้วว่า การดำเนินชีวิตอยู่ในทางสายกลางนี้ มีคุณประโยชน์เหลือหลาย มากมายทีเดียว ประมาณค่าไม่ได้ที่จะเกิดขึ้นแก่ชีวิต เพราะฉะนั้นก็ตั้งใจปรารถนา ที่จะต้องทำให้ได้ เรียกว่ามีกำลังใจ มีความใฝ่ใจ ใฝ่ดี ตั้งใจปรารถนาที่จะทำให้ได้ ซึ่งท่านเรียกว่า สัมมาสังกัปปะ สัมมาสังกัปปะมันก็อาจจะฟังดูคล้ายกับว่า ก็อยากจะทำให้ได้ แต่ในความอยากอันนี้มันเป็นอยากด้วยสติปัญญา ไม่ใช่อยากด้วยกิเลส ท่านจึงเรียกว่า สัมมาสังกัปปะ ทั้งสององค์นี้ คือทั้ง 2 องค์แรกนี้ สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะ ท่านเรียกว่าเป็นองค์ของปัญญา คือยังไม่ได้ลงมือทำ แต่มีความคิด ความเห็น ความเข้าใจ ที่จะทำ อย่างถูกต้อง เพื่อเกิดประโยชน์ ให้อยู่ในหนทางสายกลาง ยังไม่ได้ลงมือ ท่านเรียกว่าเป็นองค์ของปัญญา ปัญญามาก่อนมันจึงสำคัญมาก สำคัญที่ปัญญามาก่อน เพราะอะไร เพราะจะเป็นแสงสว่าง ส่องให้เห็นทางที่จะดำเนินต่อไป ว่าดำเนินอย่างไรจึงจะถูกต้อง จึงจะเกิดประโยชน์นะคะ เพราะฉะนั้นพอสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้น สัมมาสังกัปปะ มีปัญญาขึ้นในใจว่าต้องเดินทางนี้แน่นอน องค์ที่ตามมาก็คือ สัมมาวาจา คำพูด ในเรื่องที่จะพูดจาปราศรัยอะไรกัน ก็จะนึกถึง ปรึกษาหารือ ในเรื่องของทางธรรม นี่เราพูดถึงระดับของโลกุตระนะคะ ถ้าเป็นระดับของทางโลก โลกิยะ ก็แล้วแต่เรื่อง จะเป็นเรื่องการ เรื่องงาน เรื่องครอบครัว หรือว่าเรื่องช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ช่วยเหลือสังคม คือเป็นสิ่งที่เกิดประโยชน์ในระดับของโลกียธรรม นั่นเป็นอีกระดับ นี่เรากำลังพูดกันถึงในระดับของโลกุตรธรรม ที่เราจะพยายามเดินไปทีละน้อย ถึงหรือไม่ถึงไม่สำคัญ ขอท่านผู้ฟังได้โปรดเข้าใจตามนี้นะคะ ว่านี่เรากำลังพูดถึงสิ่งที่เป็นไปได้และทำได้ โดยเราไม่หวัง แต่เราหวังว่าจิตใจของเราจะมีความสงบเย็นยิ่งขึ้น ถ้าเราสามารถอยู่ในทางสายกลางได้ ฉะนั้นสัมมาวาจา ก็จะพูดจา พูดคุย สนทนา ปรึกษา หาหนทาง ทำอย่างไรถึงจะพยายามปัดกวาดสิ่งที่เป็นอุปสรรค ที่มันจะมาดึงถ่วงจิตไม่ให้อยู่ในทางสายกลาง มันจะมาดึงไปสู่สิ่งคู่ ให้ออกไปอยู่ทางสุดโต่ง ตกขอบอยู่เรื่อยๆ ทำอย่างไรจะใช้วิธีไหน ก็สนทนาปรึกษากัน แล้วสัมมากัมมันตะ คือการกระทำที่ถูกต้อง ก็จะเกิดตามมา การกระทำที่ถูกต้อง ก็จะปรึกษากันอีก แล้วเราจะทำยังไง ก็อาจจะมีการแนะนำ ก็ฝึกสมาธิภาวนาสิ ใช่ไหมคะ ฝึกปฏิบัติสมาธิภาวนา พอจิตมีสมาธิ เป็นสมาธิเข้า หนักแน่น มั่นคง บริสุทธิ์ ว่องไว พร้อมที่จะทำการงาน มีสติ รู้จักยั้งคิด จะไม่ไปตกขอบอยู่ในซ้ายหรือในขวา หรือลบหรือบวก แล้วก็จะมีปัญญา ที่สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ ก็จะช่วยกันให้มีการกระทําที่อยู่ในหนทางของทางธรรมยิ่งขึ้นๆ หนักแน่นยิ่งขึ้น แล้วสัมมาวายามะองค์ที่ 5 นะคะ ก็จะตามมา สัมมาวายามะ อ้อขอโทษ ก็จะมีสัมมาอาชีวะก่อน
พอสัมมาวาจาเป็นองค์ที่ 3 สัมมากัมมันตะ เป็นองค์ที่ 4 สัมมาอาชีวะ เป็นองค์ที่ 5 สัมมาอาชีวะ แม้จะมีคำว่าอาชีวะ ก็มิได้หมายความแต่เพียงว่า จะต้องมีอาชีพการงานที่สุจริตถูกต้อง ไม่ได้หมายความเพียงแค่นั้น แต่มีความหมายกว้างถึงว่า จะต้องมีการครองตนที่ถูกต้อง คือการครองตนหรือการครองชีวิตที่ถูกต้อง ก็เริ่มต้นตั้งแต่ประกอบสัมมาอาชีพที่สุจริต ไม่เบียดเบียนคนอื่น และในขณะเดียวกัน ก็รู้จักครองตน ให้อยู่ในหนทางของความงดงาม เช่นไม่พาตัวเองไปตกอยู่ในห้วงของอบายมุข ไม่คบคนพาล รู้จักคบบัณฑิตเป็นมิตร เพื่อที่จะได้ช่วยแนะนำให้สู่หนทางที่ถูกต้อง งดงาม เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น นี่คือสัมมาอาชีวะ เป็นองค์ที่ 5 ทั้ง 3 องค์นี้ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ เป็นองค์ของศีล ในขณะที่สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ เป็นองค์ของปัญญา แต่ว่า 3 องค์ องค์ที่ 3, 4, 5 เป็นองค์ของศีล ศีลคืออะไร ศีลคือความปกติ รักษาคำพูดปกติ การกระทำปกติ การดำรงชีวิต ดำรงตนปกติ นี่เป็นองค์ของศีล มีศีลพร้อมอยู่ในอยู่ในอริยมรรคมีองค์ 8 พอองค์ต่อไป องค์ที่ 6 ก็คือสัมมาวายามะ สัมมาวายามะก็คือความพากเพียร ความพากเพียรอุตสาหะพยายามมีเท่าไหร่ทุ่มลงไป ทุ่มลงไปที่จะเดินตามหนทางสายกลาง ให้ยิ่งขึ้นๆๆ ให้จงได้ จะไม่วอกแวกออกไปอย่างอื่น สิ่งใดที่จะเป็นอุปสรรคบั่นทอน จะพยายามตัดออกไป ปัดกวาดออกไปให้เกลี้ยง แต่จะเพิ่มพูนสิ่งที่จะสนับสนุนให้อยู่ในหนทางของทางสายกลางให้ยิ่งขึ้นๆ จากนั้นก็สัมมาสติ เป็นองค์ที่ 7 สัมมาสติก็คือความระลึกรู้ที่ถูกต้อง ความระลึกรู้ที่ถูกต้อง นั่นก็คือจะสามารถนำปัญญาที่มีอยู่แล้วนั้น เข้ามาใช้ได้อย่างถูกต้อง ถ้าหากเผอิญจะพลั้งพลาด สติก็จะเตือนทันทีให้ยับยั้ง ให้กลับเข้ามาสู่ในหนทางที่ถูกต้อง คืออยู่ในหนทางสายกลาง ไม่ออกไปสุดโต่ง ไม่ไปหลงติดขอบของสิ่งคู่ สัมมาสติในอริยมรรค จะเป็นสิ่งที่สำคัญ แล้วก็ช่วยเหลือได้หนักแน่นทีเดียว และองค์สุดท้าย องค์ที่ 8 ก็คือสัมมาสมาธิ
สัมมาสมาธิในองค์ที่ 8 นี้ หมายถึงความหนักแน่น หนักแน่น มั่นคง อย่างชนิดไม่ถอยเลยสักก้าวเดียว ก้าวเดียวยาวไป สักนิ้วหนึ่งก็ไม่ถอย สัมมาสมาธิในอริยมรรคมีองค์ 8 หนักแน่นมั่นคงถึงขนาดนั้น เพราะฉะนั้นท่านจึงเปรียบสัมมาสมาธินี่ เหมือนกับแม่ทัพหลวงในอริยมรรค สัมมาสมาธิเหมือนกับแม่ทัพหลวงที่จะตั้งตรึงอยู่กับที่ใช่ไหมคะ ส่วนสัมมาทิฏฐิท่านเปรียบเหมือนแม่ทัพหน้า ที่จะส่งออกไปเพื่อสอดแนม ดูซิว่าข้าศึกนี่แอบแฝงอยู่ตรงไหนบ้าง แล้วก็เชื่อว่าท่านผู้ฟังก็ทราบแล้วว่า ทัพหน้ามีความสำคัญอย่างไรต่อทัพหลวงนะคะ ทัพหลวงจะแพ้ชนะก็อาศัยความเฉลียวฉลาด ความว่องไว มีสติปัญญา ปฏิภาณไหวพริบของทัพหน้า ที่จะสอดส่องจนกระทั่งรู้ ได้ความจริง แล้วก็มารายงานให้ทัพหลวงทราบ เพราะฉะนั้นสัมมาสมาธิท่านจึงเปรียบเหมือนทัพหลวง เป็นทัพที่จะหนุนหนักแน่นอยู่กับที่พร้อมที่จะเอาชัยต่อข้าศึกได้ 3 องค์หลังนี้ คือสัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี่ก็คือองค์ของสมาธิ ทั้ง 3 องค์รวมกันแล้ว เป็นองค์ของสมาธิ เพราะฉะนั้นก็จะมองเห็นว่า ในอริยมรรคมีองค์ 8 นี้ มีไตรสิกขาอยู่พร้อมเลยใช่ไหมคะ ไตรสิกขาก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าหากว่าพูดกันโดยนิตินัย นิตินัยก็คือตามแบบแผน เราก็จะพูดกันว่า ต้องมีศีล สมาธิ ปัญญา แต่โดยพฤตินัย คือโดยการปฏิบัติ ปัญญามาก่อน แล้วนี่เป็นคำตรัสขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ที่พระองค์ทรงแสดงเอาไว้ในปฐมเทศนา หรือในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ท่านทรงเอ่ยถึงสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะก่อน ซึ่งเป็นองค์ของปัญญา เพื่อจะแสดงให้เห็นว่า ในการที่จะกระทำทุกสิ่งในชีวิตนั้น จะต้องเริ่มด้วยปัญญา และต้องเป็นปัญญาที่เป็นที่ถูกต้อง ที่เป็นสัมมาอีกด้วย โดยเฉพาะการปฏิบัติธรรมะในทางธรรม ต้องมีสัมมาทิฏฐิ มีปัญญาที่ถูกต้อง คือเข้าใจเรื่องของธรรมะอย่างถูกต้อง ตรงตามคำสอนที่เป็นแก่นของชีวิต เป็นแก่นของหัวใจของคำสอน ที่พระองค์ได้ทรงนำมาสอน เพราะฉะนั้นท่านจึงได้นำเรื่องของปัญญาขึ้นมาก่อน เพื่อจะได้ส่องทางดำเนินเข้าไปสู่หนทางสายกลางให้ได้สมปรารถนา และในขณะเดียวกัน เมื่อมีปัญญา การที่จะรักษาศีล ก็จะรักษาได้ถูกต้อง คือจะเป็นการสมาทานศีล ซึ่งถ้าหากว่าท่านผู้ฟังที่ได้ติดตามรายการ ก็คงจะนึกได้ เราได้เคยพูดกันถึงเรื่องการ ถ้าพูดตามคำชาวบ้านก็บอกรักษาศีล แต่จะรักษาศีลอย่างสมาทานศีล หรืออย่างอุปาทานศีล จำได้ไหมคะ เราเคยพูดกัน ถ้าหากว่าไม่ใช้ปัญญา ก็จะเป็นอุปาทาน คือรักษาศีลอย่างยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นศีลของฉัน ศีลของฉันดี ศีลของฉันบริสุทธิ์ ศีลของฉันงามกว่าคนอื่น แล้วก็กลายเป็นเอาศีลมาเชิดชูตัวเอง แล้วบางทีก็เหยียบย่ำเพื่อนฝูง นั่นเป็นเพราะอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่น ไม่ได้ใช้สติปัญญา แต่ถ้าหากว่ารักษาศีลด้วยสมาทาน ก็คือถือเอาไว้ด้วยความถูกต้อง ศีลนั้นคือความปกติ คือช่วยรักษาความปกติของชีวิต ความปกติของชีวิตจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็ตามที่ศีล 5 พื้นฐาน เป็นศีลพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ ที่บอกว่า ก็อย่าเบียดเบียนทำร้ายชีวิตผู้อื่น จนกระทั่งถึงกับอย่าเอาถึงชีวิต ถึงกับเขาเจ็บป่วย เจ็บปวด เบียดเบียนเขา นี่ก็ไม่สมควร ไม่ลักขโมยของผู้อื่นไม่ล่วงล้ำของรักของผู้อื่น แล้วก็ไม่พูดจาที่ไม่เป็นความจริง ซึ่งไม่เฉพาะไม่เป็นความจริง แม้แต่เรื่องเลื่อนเปื้อน เหลวไหล ส่อเสียด ยุยง คำหยาบอะไรต่างๆเหล่านี้ ตลอดจนกระทั่งไม่เสพสุรายาเมา นั่นก็คือไม่หลงใหลมัวเมาในสิ่งใด จนขาดสติ ถ้าไม่ทำ เว้นการกระทำที่ไม่สมควร 5 ประการเสีย ศีลก็จะปกติ โดยเราไม่ต้องไปเปรียบเทียบ คือชีวิตก็จะปกติ โดยเราไม่ต้องไปเปรียบเทียบศีลที่รักษาเอาไว้กับของใคร แต่รู้ว่าสมาทานศีลด้วยความถูกต้อง คือการนำความปกติมาสู่ชีวิตตน
ฉะนั้นเมื่อมีปัญญา ก็จะสามารถสมาทานศีลได้ถูกต้อง แล้วในขณะเดียวกัน เมื่อจะปฏิบัติสมาธิ นี่พูดในเรื่องของสมาธินะเมื่อมีปัญญา ก็จะสามารถปฏิบัติสมาธิได้ ด้วยความถูกต้อง ตรงหนทางของการปฏิบัติสมาธิ โดยไม่มาหวังว่าจะมีอิทธิฤทธิ์อะไรเกิดจากการปฏิบัติสมาธิ จะมีหูทิพย์ ตาทิพย์ จะรู้จิตใจคนอื่น จะทำนายอะไรได้แม่นยำ อันนั้นถ้าหากว่า จะเผอิญเกิดขึ้น ถ้าเผอิญนะคะ ถ้าจะเผอิญเกิดขึ้น มันก็เป็นแต่เพียงอยากจะเรียกว่าผลพลอยได้ แต่ไม่ใช่จุดหมายปลายทาง หรือไม่ใช่เป้าหมายของการทำสมาธิ การทำสมาธิเพื่อความสงบ เพื่อรักษาจิตใจให้เกิดความสงบ ให้มีสติ แล้วก็มีความหนักแน่น เข้มแข็ง บริสุทธิ์ ว่องไว พร้อมที่จะทำการงาน ทั้งทางโลกและทางธรรม ทางธรรมก็คือจะได้ใคร่ครวญ คิด พิจารณาธรรมให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เช่นในเรื่องของกฎไตรลักษณ์ กฏอิทัปปัจจยตา หรือว่าโทษทุกข์ของการติดสิ่งคู่เป็นอย่างไร อย่างนี้เป็นต้น นั่นก็คือการทำสมาธิด้วยปัญญา ทีนี้เมื่อปฏิบัติไปอย่างนี้แล้ว ผลที่สุดปัญญาสูงสุดก็จะเกิดขึ้นมาเอง ปัญญาสูงสุดนั่นคืออะไร นั่นก็คือมองเห็นแล้วว่า การยึดมั่นถือมั่นในตัวตนนี่แหละ คือรากเหง้าของความทุกข์ทั้งปวง ถ้าไม่ถอดถอน คือไม่ขุดถอนรากถอนโคนของความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตน มันก็จะมีแต่ความเห็นแก่ตัวตลอดเวลา เห็นแก่ตัว เห็นแก่ลูกหลาน เห็นแก่พี่น้องของตัวเอง แล้วก็เบียดเบียนคนอื่น อย่างที่เห็นตัวอย่างมากหลาย แพร่หลายทั่วไปในสังคมทุกวันนี้ จนอยู่เย็นเป็นสุขกันไม่สู้จะได้ เพราะฉะนั้นนี่มองเห็นแล้ว ปัญญาสูงสุดก็เกิดขึ้น เพราะมองเห็นโทษทุกข์อันนี้ นั่นก็คือหมายความว่า ค่อยๆเข้าถึงอนัตตา อย่างที่เราได้เคยพูดมาแล้ว พิจารณาไตรลักษณ์ลึกซึ้ง จนปล่อย สละ ความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน เห็นโทษทุกข์ของมันจางคลาย ไม่เอา ดับเสียได้ซึ่งความยึดมั่นถือมั่นนั้น นี่ก็จะเป็นปัญญาสูงสุด เกิดขึ้นมาทีละน้อยๆๆโดยไม่หวั่น นี้ก็คือการปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ 8 แต่เมื่อพูดทีละองค์ๆนี่นะคะ บางทีอาจจะทำให้คิดว่า เดินไปทีละขั้น คือปฏิบัติทีละองค์ๆ เหมือนกับเดินขึ้นบันไดทีละขั้น เอาสัมมาทิฏฐิซะก่อน สัมมาสังกัปปะตามมา สัมมาวาจาตามมา ไม่ใช่ ไม่ใช่อย่างนั้นนะคะ โปรดเข้าใจว่า การปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ 8 นี้ พระองค์ได้ทรงสอนเอาไว้ว่า จะต้องปฏิบัติพร้อมกัน เหมือนกับที่ท่านเรียกว่ามรรคสมังคี คงจะเคยได้ยินครูบาอาจารย์พูด นั่นก็คือทั้ง 8 องค์นี้ รวมกำลังกัน ทำงานพร้อมกัน 8 องค์ ก็เหมือนกับเชือก 8 เส้น ถ้าเราจะเปรียบเหมือนกับเชือก 8 เส้น มาฝั้นรวมกันเป็นเชือกเกลียวเดียว ซึ่งจะเหนียว เหนียวเหลือเกิน เหนียวหนักไม่มีอะไรจะมาตัดขาดได้ ความเหนียวหนักของอริยมรรคมีองค์ 8 ถ้าหากว่าปฏิบัติอย่างนี้มันจะเกิดขึ้นพร้อมกัน พูดง่ายๆก็คือว่า พอมีสัมมาทิฐิเกิดขึ้นในใจเท่านั้น สัมมาสังกัปปะมันก็ปุ๊บขึ้นมา สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ มันจะปุ๊บพร้อมขึ้นมาทันที มันจะมีกำลัง ถ้าหากว่าไปทีละองค์ๆ วันนี้เอาสัมมาวาจาเสียก่อน วันต่อไปเอาสัมมาอาชีวะเสียก่อน มันไม่ได้ มันแตกออกเป็นแร่งๆ เป็นเบี้ยน้อยหอยน้อย มันก็เลยรวมกำลังกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ 8 จะต้องพร้อมกันอย่างนี้ ไม่ทราบว่าคุณประสบพรรู้สึกชัดเจนพอหรือยังค่ะ [คุณประสบพร: ก็ได้ความรู้มากนะคะ]
ก็พอสมควรสำหรับเราพูดกันครั้งแรกนะคะ เพราะว่ามันคงจะมีรายละเอียดเมื่อหากว่าท่านผู้ฟังได้ลองปฏิบัติดู ก็อาจจะมีรายละเอียด อาจจะมีคำถาม แต่นี่ความหมายของอริยมรรคมีองค์ 8 ซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงนำมากล่าวไว้ในปฐมเทศนา คือธัมมจักกัปปวัตตนสูตร หลังจากที่ได้ทรงแสดงถึงเรื่องของทางสายกลาง ว่าเป็นสิ่งที่สมณะควรเดิน และก็หลีกเลี่ยงการเดินทางสายตึงเกินไป หรือหย่อนเกินไป แล้วก็ทรงแนะนำว่า นี่แหละวิธีที่จะเดินทางสายกลางทำอย่างไร ก็คือเดินตามอริยมรรคมีองค์ 8 เริ่มต้นด้วยการสมาทานสัมมาทิฏฐินะคะ ทีนี้จากนั้น ก็ได้ทรงอธิบายถึงเรื่องของอริยสัจ 4 ซึ่งเป็นหลักสำคัญในเรื่องของพุทธศาสนา เป็นหลักธรรมที่สำคัญในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งก็เชื่อว่า ท่านผู้ฟังส่วนมากก็คงจะรู้จักอริยสัจ 4 แล้ว ที่ได้ทรงพูดถึงว่า ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการที่ต้องรู้คืออะไร ก็คือเรื่องของความทุกข์ อันแรกทุกขสัจ ต้องรู้เรื่องของความทุกข์ อาการของความทุกข์ สิ่งที่ลักษณะของความทุกข์มันเป็นยังไง อาการกริยาที่เกิดขึ้น ต้องรู้จัก ความทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องรู้จัก จากนั้นก็ต้องรู้จักเหตุของความทุกข์ คือตัณหา อุปาทาน นี่คือเหตุของความทุกข์ พอรู้แล้วก็ต้องละ อาการของความทุกข์นั้นต้องรู้ ต้องกำหนดรู้ ว่านี่อาการอึดอัด ขัดใจ หงุดหงิด รำคาญ ไม่สบาย นี่คืออาการของความทุกข์ จิตใจที่ผิดจากปกติ เมื่อใดที่มันปกติ มันไม่เย็น มันไม่สงบ ไม่ว่าง ให้รู้เถอะ สังเกตลงไปว่านี่คือความทุกข์เกิดขึ้นแล้ว นี่พูดอย่างสั้นที่สุด แล้วก็ดูสาเหตุ อ๋อมันก็มาจาก โลภ โกรธ หลง มาจากตัณหาความอยาก มาจากอุปาทานความยึดมั่น สมุทัยต้องละ ต้องละมันให้ได้ พออันที่ 3 ละแล้วจะได้อะไร อริยะสัจข้อที่ 3 ก็คือได้นิโรธ คือความดับซึ่งทุกข์นั้น แล้วก็ข้อที่ 4 แล้วจะดับได้อย่างไร ด้วยวิธีใด ก็คือมรรค อริยมรรคนี้ก็เป็นสัจจะข้อที่ 4 ในเรื่องของอริยสัจ ที่เราได้พูดไปแล้ว ว่าถ้าอยากจะดับความทุกข์ ต้องเดินตามอริยมรรคมีองค์ 8 คือให้อยู่ในหนทางสายกลาง นี่ก็ย่นย่อที่สุดนะคะ
ทีนี้ก็อยากจะขอพูดอีกข้อนึงก็คือว่า แล้วในวันอาสาฬหบูชา ซึ่งก็จะเป็นการเริ่มต้นเข้าพรรษาต่อไป ในฐานะที่เป็นพุทธบริษัทควรจะปฏิบัติอย่างไรในวันอาสาฬหบูชา เชื่อว่าท่านผู้ฟังคงจะทราบแล้วว่า การบูชาที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญที่สุดนะคะ คือการบูชาการทำบุญมีหลายอย่าง หลายวิธี ทำบุญกุศลทั้งหลายอย่างที่ทราบๆกันแล้ว แต่การบูชาที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญก็คือปฏิบัติบูชา คือการปฏิบัติธรรมนั่นเอง ปฏิบัติธรรมด้วยการขัด เกลา ขูด ถอนรากถอนโคน ของเจ้ากิเลสปัญหาที่มันฝังอยู่ในใจออกไป ให้เบาบางที่สุด เท่าที่จะเบาได้ จึงเกลี้ยงเกลาสะอาดได้ ท่านทรงอนุโมทนา เรียกว่าทรงประทานสาธุการ จะทอดกฐินก็ดี สร้างโบสถ์มันก็ดี หรือว่าทำบุญ ให้ทาน ตักบาตรก็ดี ดีทั้งนั้น แต่ที่ทรงสรรเสริญอนุโมทนาที่สุด ก็คือการปฏิบัติบูชา นี่แหละคือการเป็นพุทธสาวกที่แท้จริง ไม่ได้หมายความว่าให้ละเว้นการที่จะทำบุญต่างๆ ในลักษณะต่างๆที่กล่าวแล้ว คงทำอยู่ แต่ไม่ควรละเลยการปฏิบัติบูชา คือการปฏิบัติธรรมที่ใจ การปฏิบัติธรรมที่ใจจะเกิดผลนั้น ข้อแรกต้องศึกษาทำความเข้าใจในเรื่องของธรรมะให้ถูกต้อง อย่างที่เราพูดกันมาทั้งหมดนี้ เพื่อที่การปฏิบัตินั้นจะได้ตรงตามประสงค์ ตรงตามพระพุทธประสงค์ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะอะไรการศึกษา ทำความเข้าใจให้ถูกต้องจึงสำคัญ ก็อย่าลืมว่าในพุทธศาสนานั้นมี 3 ส่วน ส่วนแรกคือปริยัติใช่ไหมคะ ท่านได้กล่าวว่าต้องมีปริยัติที่ถูกต้อง คือศึกษาเข้าใจที่ถูกต้อง แล้วก็นำมาปฏิบัติ ถ้าเพียงแต่ปริยัติอย่างเดียวไม่ปฏิบัติไม่ได้ ไม่เกิดผล เรารู้ปริยัติเพื่อเอามาปฏิบัติ พอมาปฏิบัติแล้วก็จะเป็นการทดสอบพิสูจน์อีกด้วยว่า ปริยัติที่ได้เรียนรู้มานั้นใช่หรือเปล่า ถูกต้องไหม มันจะมารู้กันตรงปฏิบัตินี่แหละ แล้วส่วนที่ 3 ก็คือปฏิเวธ ก็จะเกิดผลขึ้นเอง คือเห็นชัดที่ใจ เพราะฉะนั้นก็จึงอยากจะขอเชิญชวนท่านผู้ฟัง ผู้เป็นพุทธบริษัททุกท่านนะคะ ว่าสิ่งที่เราควรกระทำที่สุดในการเข้าพรรษานี้ นั่นก็คือการปฏิบัติบูชา การปฏิบัติบูชาต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยการปฏิบัติธรรมที่ใจ นั่นก็คือการหยุดการเบียดเบียนตนเอง การหยุดการเบียดเบียนตนเองอย่างไร ก็หยุดการเบียดเบียนตนเองให้มีความทุกข์ สิ่งใดที่จะเป็นต้นเหตุของความทุกข์ ดังที่ท่านทราบแล้ว และที่ได้กล่าวมาแล้ว หยุดการยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลาย อันเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ทั้งปวงนั้น เพื่อจิตนี้จะได้หลุดพ้นออกมา เป็นอิสระในความยึดมั่นเป็นตัวตน อิสระจากความยึดมั่นในตัวตน นั่นก็คือ ความเป็นผู้เป็นอิสระอยู่เหนือความทุกข์ทั้งปวงนั่นเอง