แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เหมือนกับเรานั่งสบายๆ อยู่คนเดียวที่อากาศโปร่ง หรือว่าในสวน แล้วก็หายใจยาวลึกสบายๆ ดื่มเอาความสบายของข้างนอก บรรยากาศรอบนอกเข้าภายใน แต่ตาม ตามรู้ กำหนดจิตตามรู้ลมหายใจยาวลึกนั้นด้วยสติ ด้วยสติ ต่อไปนี้เราจะเปลี่ยน ค่อยๆ ผ่อนลมหายใจยาวลึกนั้นให้สั้นเข้า ให้สั้นเข้า ทีละน้อยเพื่อให้มันเป็นไปอย่างธรรมชาติ อยู่ในความควบคุมบังคับของสติ ให้สั้นเข้า เป็นยาวสั้น เป็นสั้นเบาๆ ตามรู้ลมหายใจสั้นเบาๆ ต่อไปนี้เปลี่ยนเป็นสั้นถี่ เปลี่ยนเป็นสั้นแรง เปลี่ยนเป็นยาวลึก เปลี่ยนเป็นยาวธรรมดา ยาวธรรมดา ตามรู้ยาวธรรมดาพอสบายๆ สังเกตด้วยความรู้สึก ปรุงแต่งกายอย่างไร มีลักษณะธรรมชาติที่แตกต่างกันอย่างไร สังเกตด้วยความรู้สึกที่สัมผัสลงไปในลมหายใจนั้น ต่อไปนี้ขอให้ทุกท่านลองปฏิบัติเองในขั้นที่ 3 ทำให้มาก เล่นให้สนุกกับลมหายใจ จะได้มีความชำนาญ จะเปลี่ยนสลับอย่างไรได้ตามใจเพื่อหาความชำนาญ ให้รู้ว่า 1 เป็นลมหายใจชนิดไหน ถ้าถ้ายาวๆ อย่างไหน ถ้าสั้นๆ อย่างไหน 2 มีธรรมชาติลักษณะอาการอย่างไร 3 ปรุงแต่งกายอย่างไร
ในชั้นแรกถ้ายังไม่ถนัดที่จะสังเกต สังเกตแล้วมันอึดอัด มันสับสน ก็ยังไม่ต้องสังเกต เอาแต่เพียงตามให้ได้ ตามให้ได้ทั้งเข้าและออก จนรู้สึกสบาย พอสบายแล้วจึงค่อยเพิ่มการสังเกตลงไป ในอาการที่สัมผัสกับการเคลื่อนไหวของลมหายใจ แต่ละอย่างนั้น อย่าเครียดนะคะ อย่าเครียด เมื่อความเครียดเกิดขึ้น จะใช้ลมหายใจอย่างไหน ขับไล่มันไปให้ทันที ไม่ต้องเกรงใจเพื่อนนะคะ ไม่ต้องเกรงใจว่าเดี๋ยวเขาจะหนวกหูเสียงลมหายใจของเรา ถ้าต่างคนต่างปฏิบัติของกัน ก็จะไม่ใส่ใจกับผู้ที่อยู่ใกล้เคียงเลย ถ้าเราจะยุ่งอยู่กับลมหายใจของเราอย่างเดียว หน้าที่ของเราคือใส่ใจตามลมหายใจของเราอย่างเดียว ฉะนั้นไม่ต้องเกรงใจค่ะ เต็มที่ ฝึกให้เต็มที่ เพราะขณะนี้เรายังไม่ต้องการความสงบ เรายังไม่ได้ตั้งใจที่จะพัฒนาความสงบ เรากำลังศึกษา ทำความรู้จักลมหายใจทุกอย่างทุกชนิดอย่างทั่วถึง ไม่ต้องเกรงใจนะคะ ถ้ารู้สึกว่าท่านั่งจะไม่สบายก็เปลี่ยนได้นะคะ เปลี่ยนท่านั่งได้ แต่เปลี่ยนด้วยสติ ในขณะที่กำลังเปลี่ยนท่าให้รู้สึกด้วยสติ เปลี่ยนท่านั่งได้ ไม่อยากให้ลำบาก ไม่อยากให้เครียด พยายามให้เป็นธรรมชาติ ยิ้มแย้มแจ่มใสเข้าไว้ก่อน แล้วปัญหาจะผ่อนคลาย ความเหน็ดเหนื่อยง่วงเหงาก็จะผ่อนคลาย เรากำลังทำความรู้จักกับเครื่องมือของเรา ที่เราจะใช้เป็นอุปกรณ์ของการปฏิบัติต่อไป จนตลอดชีวิต ถ้าต้องการใช้อานาปานสติภาวนานะคะ ฉะนั้นก็ยอมเสียเวลากับมันหน่อย จะได้รู้จักมันให้ดี และก็ใช้มันได้ตลอด จนสามารถควบคุมมันอยู่ในอำนาจได้ ควบคุมให้เกิดก็ได้ ควบคุมไม่ให้เกิดก็ได้ จะเรียกใช้เมื่อไหร่ ก็เรียกใช้ได้ ใจเย็นๆ ทำไปเรื่อยๆ แล้วจะเห็นผลเอง ไม่ต้องอยาก ไม่ต้องหวัง อย่าไปติดใจอยู่กับลมหายใจสบายนะคะ ตอนนี้ยังไม่ต้องการให้สบาย ต้องการให้ลำบากนิดหน่อย ไม่ต้องการสงบ ถ้าจะอยู่กับลมหายใจสบายเราก็ขาดทุน เราก็จะไม่รู้จักลมหายใจทั่วถึงนะคะ
ลองฝึกอีกสักนิดเดียวค่ะ ไม่ต้องนึกว่าเมื่อไหร่จะระฆัง ถ้านึกก็จะไม่เคาะ ถ้าไม่นึกเดี๋ยวเสียงระฆังดังไม่รู้ตัว ขณะนี้มีหน้าที่ตามลมหายใจทุกอย่าง เราก็ทำของเราไป ไม่ต้องเกรงใจเพื่อนที่นั่งข้างเคียง ทำให้เต็มที่นะคะ สบายๆ นะคะ อย่าเครียด อย่านึกโกรธตัวเอง แล้วอย่าไปโกรธความร้อน เมื่อยก็นวดบ้างก็ได้ นวดคอ นวดคิ้ว นวดศีรษะ ให้เกิดความผ่อนคลาย จะได้สบาย แต่คงพยายามรู้ลมหายใจอยู่ ขยับเนื้อขยับตัวก็ได้ แต่ให้รู้ลมหายใจอยู่ ฝึกให้เป็นธรรมชาติ เสียงระฆังสวรรค์ดังขึ้นแล้วค่ะ เชิญพักได้ ซึ่งทั่วไปนะคะ แล้วก็อาจจะเกือบเหมือนกันทุกคน นั่นก็คือ อยากสงบ เมื่อไหร่จะได้สงบ ก็ที่จริงก็พูดนับครั้งไม่ถ้วนแล้ว บอกเวลานี้ยังไม่ใช่เวลาสงบ พอต่อจากนี้ไปเธอจะสงบเต็มที่ แล้วเดี๋ยวก็จะไม่สงบขึ้นมาอีก เห็นไหมคะความอยาก ขณะที่บอกว่ายังไม่ต้องสงบ อุ๊ย อยากสงบ สงบได้แล้ว พอถึงเวลาก็ทีนี้รวมจิต ทำให้จิตรวมให้สงบนะ ก็เกิดวุ่นวายสับสนสงบไม่ได้ นี่แหละให้เห็นตัวนิวรณ์ ตัวนิวรณ์ความอยากที่มันเข้ามาขัดขวางอยู่ตลอดเวลา และก็ไม่ยอมฟังว่าตอนนี้ไม่ต้องสงบ เพราะเรากำลังอยู่ในระหว่างการศึกษา เราต้องศึกษาให้รู้จักเรื่องของลมหายใจของเรา เราจึงไม่สงบ ตอนนี้เราไม่สงบ ไม่ต้องไปอยากได้ความสงบ การที่เราศึกษาเรื่องของลมหายใจอย่างนี้ ก็เพื่อที่เราจะได้สามารถใช้มัน ควบคุมมันได้ จนกระทั่งควบคุมมันให้ปรุงแต่งกายสบายแล้วก็สะท้อนไปถึงใจซึ่งสงบขึ้น เยือกเย็นขึ้น แล้วผลที่สุดจิตก็จะรวมเป็นสมาธิ สมาธิที่แน่วแน่ จิตเป็นเอกัคคตาได้ในที่สุด เพราะฉะนั้นปัญหาทั่วไปที่เกิดทุกคนนะคะ ก็คืออันนี้ โปรดเข้าใจว่าเราจะฝึกปฏิบัติขั้นหนึ่ง สอง สาม เนี่ย เราต้องฝึกปฏิบัติตลอด แม้ว่าเราจะเลื่อนไปปฏิบัติในหมวดที่ 2 หรือที่ 3 หรือที่ 4 หลักของการปฏิบัติอานาปานสตินั้น เราจะต้องเริ่มต้นขั้นที่ 1 เสมอ เราต้องเริ่มต้นขั้นที่ 1 แล้วค่อย ๆ ไปตามลำดับเพื่อเป็นการอุ่นเครื่องให้จิตนี้สงบ เราจะต้องทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แต่ในตอนนี้เราก็เน้นการปฏิบัติในลักษณะนี้มากขึ้น